.
ชินทาโร่ ฮารา: “ทำไมคนมลายูไม่ภูมิใจภาษาของตัวเอง”
ใน www.prachatai3.info/journal/2013/07/47753 . . Wed, 2013-07-17 23:28
อ.ชินทาโร่ ฮารา เขียนในภาษามลายู
อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด ถอดความเป็นภาษาไทย
ชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาภาษามลายูยังมีจำนวนไม่ค่อยมากเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ใคร่ขออนุญาตที่จะเล่าเรื่องราวในฐานะที่เป็นชาวญี่ปุ่นมาแต่กำเนิดที่มีโอกาสได้สัมผัสกับภาษามลายู และมีความเป็นมาอย่างไรถึงได้มีความหลงใหลในภาษานี้ จนต้องศึกษาต่อเพิ่มเติมที่ประเทศมาเลเซีย
ชื่อบทความเดิม : “ภาษามลายูนำทางชีวิต” (Bahasa Melayu penentu perjalanan hidup)
ผมเริ่มเรียนรู้ภาษามลายูที่ประเทศญี่ปุ่น ณ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งที่ชื่อ มหาวิทยาลัยกิโอะ(Keio) ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมเองไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับภาษามลายูเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่ผมได้รู้จักมักคุ้นก่อนหน้านี้ก็คือ มาเลเซียนั้นเป็นประเทศหนึ่งที่มีการส่งออกยางพาราและแร่ต่างๆ ที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก
จากนั้นผมก็ได้เข้าไปศึกษาต่อที่คณะการจัดการนโยบาย (Pengurusan Dasar) ซึ่งเป็นคณะใหม่ที่เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยโชนาน ฟูจิซาว่า (Shonan Fujisawa) ซึ่งที่คณะดังกล่าวนี้เอง ได้บังคับให้นักศึกษาทั้งหมดต้องเลือกวิชาภาษาต่างประเทศ
ในขณะเดียวกันนั้นเองทางคณะได้เปิดให้เลือกภาษาต่างประเทศ คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน ภาษาเกาหลี และภาษามลายู ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วภาษาที่ถูกเสนอให้เลือกเรียน มักเป็นภาษาที่คนญี่ปุ่นจะเรียนเป็นปรกติอยู่แล้ว แต่มีอยู่ภาษาหนึ่งที่ดูเหมือนว่าค่อนข้างแปลก นั่นก็คือภาษามลายู
ในรอบๆ ตัวของผมเองไม่มีใครที่สามารถพูดภาษามลายูได้เลย หรือไม่มีแม้แต่คนที่เคยศึกษาภาษามลายู และผมเองก็ชอบที่จะเลือกทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ค่อยจะเลือกกัน ผมจึงตัดสินใจเลือกที่จะเรียนหลักสูตรภาษามลายูเป็นวิชาภาษาต่างประเทศ
คณะที่ผมศึกษาคือ คณะ Pengurusan Dasar ไม่ใช่คณะภาษามลายูแต่อย่างใด เพราะว่าหลักสูตรวิชาภาษามลายูเป็นแค่วิชาเลือกภาษาต่างประเทศวิชาหนึ่ง ที่ได้เปิดสอนตามหลักสูตรแบบเข้มเท่านั้น ทว่าผมไม่ได้มีพรสวรรค์ และไม่ค่อยชอบกับคณะนี้เท่าไหร่ แต่ผมเองกลับไปให้ความสนใจกับภาษามลายูเป็นอย่างมาก และความลุ่มหลงต่อภาษามลายูของผมนับวันก็ยิ่งมีมากขึ้นทุกขณะ
เมื่อประตูสู่โลกมลายูเปิด
อาจารย์ที่มีส่วนช่วยในการเรียนภาษามลายูของผมสมัยที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้น เขาเป็นอาจารย์ชาวมลายูท่านหนึ่งชื่อ ท่านซัยฟูบาฮารีย์ อะฮ์หมัด ที่ผมมักจะเรียกท่านว่าอาจารย์ซัยฟูล ท่านเป็นชาวมลายูที่มีพื้นเพมาจากเมืองบาตูปาฮัต ซึ่งเป็นอาจารย์รุ่นแรกเลยก็ว่าได้ ที่ถูกส่งมายังประเทศญี่ปุ่น ภายใต้นโยบายของชาติที่ว่าด้วยการเหลียวมองสู่ภาคตะวันออกของรัฐบาล(มาเลเซีย)
ท่านมิเพียงแต่มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษามลายูอย่างเดียวเท่านั้นไม่ หากยังมีความรู้ความสามารถในด้านภาษาญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย การใช้ภาษาญี่ปุ่นของท่านอยู่ในขั้นดีมาก จนคนส่วนใหญ่นึกว่าท่านเป็นคนญี่ปุ่นโดยแท้ด้วยซ้ำ ประกอบกับรูปร่างหน้าตาของท่านจะดูเป็นคนเชื้อสายจีน ทำให้หลายคนอดใจไม่ได้ที่จะมองว่าท่านเป็นชาวจีนมากกว่า
ท่านยังสามารถอธิบายปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ภาษามลายูในภาษาญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีและชัดเจนอีกด้วย ในขณะนั้นผมเองก็ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการเรียนรู้ภาษามลายูอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นพจนานุกรมภาษามลายู-ญี่ปุ่นและคู่มือต่างๆ แต่การมาของท่านนั้น มาในฐานะนักพูดที่เป็นเจ้าของภาษามลายูโดยแท้ที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่วเป็นอย่างดี สามารถที่จะสร้างความกระจ่างชัดให้กับบรรดานักศึกษาได้เกือบหมด
บรรยากาศในห้องเรียนก็แสนสนุกอีกด้วย เพราะนักศึกษาจะถูกตั้งชื่อเล่นใหม่เป็นภาษามลายูทุกคน และจะใช้ชื่อที่ตั้งใหม่นั้นใช้เรียกในการเรียนการสอนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในห้องหรือนอกห้องเรียน
ในวันแรกของการเรียน ท่านอาจารย์ซัยฟูลจะเขียนชื่อภาษามลายูบนกระดานแล้วให้นักศึกษาเลือกชื่อเหล่านั้นที่ทุกคนชื่นชอบ ส่วนตัวนั้นได้เลือกชื่อว่า ‘Badiuzzaman’ เพราะชื่อดังกล่าว ท่านอาจารย์ได้บอกว่า เป็นชื่อของนักปราชญ์ท่านหนึ่ง และมีเพื่อนคนหนึ่งที่ขอใช้ชื่อตัวเอง โดยได้ให้ท่านอาจารย์ช่วยแปลชื่อเขาให้เป็นภาษามลายูให้หน่อย ซึ่งชื่อเพื่อนคนนั้นมีความหมายว่าเป็น‘mutiara’ (ไข่มุก) เขาจึงได้ตั้งชื่อว่ามูเตียรา
ภายหลังจากที่แต่ละคนได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษามลายูโดยครบถ้วนแล้ว ทำให้บรรยากาศในการเรียนดูเหมือนยิ่งสนุกไปกันใหญ่และมีความผูกพันยิ่งขึ้นกว่าเดิม ผมเองมีความรู้สึกซาบซึ้งในชื่อภาษามลายู จนบางครั้งผมเองเกือบจะลืมชื่อญี่ปุ่นไปด้วยซ้ำ
สัมผัสดินแดนมลายู
ความพิเศษของท่านอาจารย์ซัยฟูลก็คือ การที่มีความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ของท่านอย่างตั้งใจ เช่น ทุกๆ ปลายภาคเรียนประจำปี ท่านจะนำลูกศิษย์ไปเยี่ยมบ้านเกิดของท่านอยู่เป็นประจำ ที่หมู่บ้านตือโละบูโละฮ์ เมืองบาตูปาฮัต รัฐยะโฮร์ ซึ่งนักศึกษาจะได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นอย่างน้อยประมาณ 3 สัปดาห์ โดยที่พักอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ของแต่ละคนที่ได้จัดไว้ให้
โอกาสเช่นนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีและมีความหมายต่อนักศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะว่าที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น แทบจะไม่มีโอกาสในการใช้ภาษามลายูเลยแม้แต่น้อยนอกจากในชั้นเรียนเท่านั้น ในขณะเดียวกันนั้นผมเองก็ได้มีโอกาสในการเรียนรู้ภาษามลายูจากเจ้าของภาษามลายูโดยตรง
ผมเองก็ชอบที่จะไปเยี่ยมเยือนชาวบ้านและทำความรู้จักมักคุ้นกัน และพวกเขาเองก็ต้อนรับผมในฐานะลูกบุญธรรมคนหนึ่งด้วยดีมาตลอด ผมเองก็เรียกชื่อคนในครอบครัวด้วยชื่อที่ไพเราะ ที่เต็มไปด้วยความผูกพัน เช่น ดาโต๊ะ อีบู กากะ อาเดะ เป็นต้น ตัวผมเองก็ถูกเรียกในภาษามลายูเช่นกัน ในที่สุดผมก็ได้กลายเป็นสมาชิกของหมู่บ้านนั้นโดยปริยาย
ปกติแล้วผมเองอาจเดินทางไปที่นั่นหลังจากที่จบหลักสูตรวิชาภาษามลายู นั่นก็คือตอนปิดภาคเรียนที่สอง แต่ด้วยการที่มีความรู้สึกผูกพันที่ดีกับชาวบ้านที่นั่น ทำให้หลายคนรวมทั้งตัวผมเองด้วยที่มักจะกลับไปเยี่ยมหมู่บ้านนั้นอยู่เป็นนิจ
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสได้ร่วมเทศกาลเนื่องในวันตรุษอิดิ้ลฟิตรีย์ที่หมู่บ้านดังกล่าว ซึ่งจะมีทั้งญาติพี่น้องที่กลับมาจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีทั้งที่กลับจากสิงคโปร์และจากที่อื่นๆ พวกเขาก็จะชักชวนผมไปเยี่ยมเยือนครอบครัวของพวกเขาด้วย และโอกาสที่ผมจะได้ท่องแวะเยี่ยมเยือนก็พลอยมีมากขึ้นอีกด้วย ถ้าหากว่าผมได้ไปยังกรุงกัวลัมเปอร์หรือที่สิงคโปร์เมื่อใด ผมแทบไม่ต้องพักโรงแรมอย่างเช่นเคยอีก แต่จะเป็นบ้านพักของผู้คนที่ผมได้รู้จัก และยังได้ช่วยสอนการแนะนำในการเขียนงานอีกด้วย
ผมใคร่ต้องการที่จะพัฒนาแนวการเขียนภาษามลายูให้ดียิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงทดลองเขียนเป็นภาษามลายูดู และหัวข้อของวิทยานิพนธ์ผมก็เลือกเอง อย่างเช่นจะเป็นแนวปัญหาสังคมของคนญี่ปุ่น วัฒนธรรมของคนมลายู ความพิเศษของภาษามลายู เป็นต้น และทุกๆ งานเขียนของผม ผมจะส่งไปยังอาจารย์ซัยฟูลก่อนทุกครั้ง เพื่อทำการตรวจทานอย่างละเอียด และท่านจะช่วยสรุปให้อีกที
แหละนี่คือปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่ได้สร้างขวัญกำลังแก่ตัวผม ซึ่งงานเขียนดังกล่าวผมยังเก็บรักษาไว้อย่างดี ถ้าหากได้อ่านงานเขียนชิ้นดังกล่าวเมื่อใด จะพบว่ายังมีข้อบกพร่องอีกมาก แต่ว่านั่นคือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับตัวผมในการเขียนหนังสือภาษามลายู
ในช่วงที่ผมอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ผมก็ลองศึกษาเรียนรู้กับกลุ่มนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มาจากประเทศมาเลเซียอีกด้วย เพื่อเป็นเพื่อนพูดคุยเรียนรู้กับพวกเขา แต่ที่ค่อนข้างจะมีความสนิทสนมมากเป็นพิเศษก็คือ เห็นจะเป็นกลุ่มอดีตคณาจารย์มากกว่า ที่เข้ามาศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีอายุมากกว่าผมก็ตาม แต่พวกเขายินดีรับผมและเพื่อนๆ เป็นสมาชิกของพวกเขาอีกด้วย
การศึกษาต่อยังประเทศมาเลเซีย โอกาส และมิตรภาพ
ก่อนที่ผมจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น ผมก็ได้ตัดสินใจเลือกที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศมาเลเซีย แต่ในช่วงแรกนั้นค่อนข้างที่จะยุ่งยากนิดหน่อย เพราะยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน อย่างเช่น จะไปศึกษายังมหาวิทยาลัยใด? จะเรียนอะไรดี? และจะอยู่กับใคร? และประจวบกับโอกาสที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศมาเลเซียนั้นก็มาถึงพอดี
จากนั้นการเข้าออกประเทศมาเลเซียของผมจึงกลายเป็นเรื่องปกติ เมื่อครั้นที่ผมอยู่ที่ญี่ปุ่นผมก็ได้ทำงานไปด้วยเพื่อเก็บเงินไว้เป็นทุนเรียนต่อ ส่วนเงินที่เก็บสะสมมานั้นก็หมดไปกับการซื้อตั๋วเครื่องบินและค่าใช้จ่ายระหว่างทาง เหตุการณ์ที่ทำให้ผมไม่อาจลืมมันลงได้คือเป็นช่วงที่ผมไปยังมาเลเซีย แต่เป็นครั้งที่เท่าไหร่ผมจำไม่ได้แล้ว เพราะในช่วงที่ผมเป็นนักศึกษาอยู่นั้น ผมเข้าออกมาเลเซียไม่น้อยกว่าสิบครั้ง
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่ผมและเพื่อนๆ ที่มาจากญี่ปุ่นด้วยกัน ได้มีโอกาสติดตามชาวบ้าน ที่บ้านตือโละบูโละฮ์ ที่ได้เดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องของเขาที่บ้านบาตูปาฮัต ซึ่งผมเองก็ได้รู้จักเขามาแล้วก่อนหน้านั้น เพราะเขาเองก็เคยไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านที่เราเคยอยู่เป็นประจำ เขามีชื่อเรียกว่า กะนิ
ในระหว่างที่กำลังพูดคุยกันอยู่นั้น กะนิได้เอยถามผมว่า ยังจำชื่อแกอยู่ได้อีกไหม? แต่ที่รัฐยะโฮร์นั้นไม่เหมือนกับรัฐกลันตัน เพราะที่นี่คนที่มีชื่อนำหน้าด้วยคำว่านิ ไม่ค่อยมากเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเอ่ยคำว่า กะนิ หลายคนในหมู่บ้านนั้นมักจะเข้าใจเป็นเสียงเดียวกันว่าหมายถึงใคร
ผมเองก็ยังไม่ลืมชื่อเต็มของเขา เพื่อเป็นการหยอกเย้ากัน ผมก็ได้เรียกชื่อของเขาด้วยความชื่นชอบและความเคารพ นั่นก็คือท่านนิซาฟียะฮ์ การิม ซึ่งหนังสือไวยกรณ์ของเดวันบาฮาซา(Tatabahasa Dewan) ผมได้อ่านจนจบไม่น้อยกว่าสองครั้งไปแล้วในช่วงนั้น หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวบวกกับการที่ได้อ่านงานเขียนบทความของท่านในวารสารต่างๆ และในหนังสือพิมพ์ ผมจึงได้กลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ของท่านโดยปริยาย ผมมีความหลงใหลในสไตล์การเขียนของท่านที่มีความกระจ่างและมีลำดับความ
และแล้วผมก็ต้องสะดุ้งตกอกตกใจ เมื่อท่านได้ตอบการล้อเล่นของผมว่า นั่นคือชื่อของพี่เขา แรกๆ นั้นผมไม่อยากจะเชื่อหูตัวเองเท่าไหร่นักกับคำตอบที่ได้ยิน
“ท่านอย่าโกหกนะ มันไม่ดีรู้ไหม!” ผมถาม
“ฉันโกหกที่ไหนกัน” เขาตอบด้วยความสุขุม
ผมก็ได้บอกกับท่านว่า ผมมีความรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากกับคนที่ชื่อ นิซอฟียะฮ์ การีม และผมเองก็ได้ขอร้องให้ท่านแสดงออกมา เพื่อให้เห็นว่าท่านนั้นคือพี่น้องกันกับนักเขียนที่ผมชื่นชอบคนนั้นจริง
และแล้วท่านก็เอยถามผมว่า “คุณจะพูดกับเขาไหม?”
ใจผมตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยนึกไม่เคยฝันเลยว่าจะมีโอกาสได้คุยกับคนที่ผมให้ความเคารพและติดตามงานเขียนมาโดยตลอด ความหลงใหลของผมในช่วงนั้นมิได้เป็นนักร้องวงแอลล่า เฟาซียะฮ์ ลาตีฟ หรือแอรร่า ฟาซียะฮ์ แต่เป็นบุคคลทางด้านภาษาศาสตร์คนนี้ โดยความรวดเร็วผมตอบไปว่า “ก็ได้!”
กะนิ ก็ไม่รอช้า รีบกดโทรศัพทร์มือถือไปหาพี่เขา กะนิได้โต้ตอบกับคนที่อยู่ปลายสายด้วยสำเนียงการพูดแบบคนกลันตัน ด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความผูกพัน แน่นอนเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า กะนิคนนี้เป็นพี่น้องกันกับนักภาษาชื่อดังคนดังกล่าว
กะนิได้บอกกับคนที่อยู่ปลายสายว่า “ตอนนี้มีคนจากประเทศญี่ปุ่นอยากจะคุยกับเมาะจู”(ชื่อเรียกพี่ของกะนิ) จากนั้นกะนิก็ได้ยื่นเครื่องโทรศัพท์มาให้ผม
“อืม นี่พี่ฉันเอง” ด้วยการที่มีความตื่นเต้นมากเกินไป ทำให้ผมจำไม่ได้ว่าผมได้พูดอะไรกับบุคคลที่ผมชื่นชอบในขณะนั้น แต่ผมก็มีโอกาสได้กล่าวกับท่านว่า ผมมีความตั้งใจที่ต้องการอยากจะพบกับท่านสักครั้งหนึ่ง แล้วผมก็ได้ยื่นเครื่องโทรศัพท์ไปให้กะนิด้วยอาการที่ตื่นเต้นและมีความสุขที่สุด เพราะท่านเองก็ยินดีที่จะพบกับผม หากว่าผมเข้าไปยังเมืองหลวงในคราวหน้า
ผมมีโอกาสได้พบกับท่านศาสตราจารย์ นิซาฟียะฮ์ การีม สองครั้งด้วยกัน ณ บ้านพักของท่านที่ปือตาลิงจายา ในครั้งแรกนั้นท่านได้ต้อนรับผมเป็นอย่างดี และผมก็ได้บอกกับท่านว่า ผมมีความตั้งใจที่จะมาศึกษาต่อที่มาเลเซียแห่งนี้ และท่านก็ยังได้ชี้แนะและให้กำลังใจผมอีกด้วย
หลังจากนั้นผมก็ได้ศึกษาภาษามลายูอย่างขยันมากขึ้นกว่าเดิม อีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ผมก็ได้ไปเยี่ยมเยือนท่านอีกครั้ง และได้บอกกับท่านว่า ผมต้องการที่จะเข้าศึกษาต่อที่คณะศึกษาศาสตร์ภาษามลายู (APM : Akademi Pengajian Melayu) ที่มหาวิทยาลัยมาลายาหรือยูเอ็ม(UM)
และท่านก็ยังได้สอบถามอีกว่าอะไรคือสิ่งที่ผมต้องการ ซึ่งผมก็ได้อธิบายค่อนข้างที่จะยาว หลังจากที่ท่านได้รับฟังท่านก็ได้ตอบกลับมาว่า ถ้าอย่างนั้นเขาพร้อมที่จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ให้ ความรู้สึกของผมในตอนนั้นแทบไม่ต้องอธิบายอะไรอีกแล้ว หลังจากจบหลักสูตรปริญญาตรีที่ญี่ปุ่น ผมไม่ได้รอช้าอะไร รีบกรอกข้อมูลเพื่อเข้าศึกษาต่อที่ยูเอ็มทันที ด้วยการระบุชื่อผู้ดูแลตามที่ได้เตรียมไว้แล้ว ที่พร้อมจะรับนักศึกชาวญี่ปุ่นคนใหม่อีกคน
ภาษานำสู่อิสลาม ‘ไม่ใช่อิทธิของนักเผยแพร่’
นั่นคือภาษามลายูที่ได้นำพาชีวิตของผม ไม่เพียงแค่นั้นอย่างเดียวไม่ หากแต่ภาษามลายูยังมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับผม เพราะด้วยภาษามลายูนี้เองที่ทำให้ผมได้รู้จักกับศาสนาอิสลาม จนในที่สุดผมก็ได้เข้ารับอิสลามศาสนาที่บริสุทธิ์นี้จนได้
ผมรับอิสลามไม่ใช่ว่าได้รับอิทธิพลมาจากนักเผยแพร่ท่านใดเลย แต่สิ่งที่ทำให้ผมได้เข้ารับอิสลามก็คือด้วยวิถีชีวิตของคนมลายูที่มีรากฐานมาจากคำสอนของศาสนานั่นเอง ที่ได้ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวเป็นอย่างมาก การรักษาความสะอาดของร่างกายและมีความสมถะในการใช้ชีวิต ถ้าหากว่าผมไม่ได้ร่ำเรียนภาษามลายูบางทีผมอาจจะไม่มีโอกาสไดรู้จักกับศาสนาอิสลามได้อย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ภาษามลายูจึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับผม บางครั้งผมเองก็มีความรู้สึกที่ไม่ค่อยสบายใจเช่นกันกับคนมลายูบางคนที่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญต่อภาษาของตนเอง ไม่เหมือนกับบางภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน
ผมเองก็ยังได้มีโอกาสไปเยือนอินโดนีเซียหลายครั้งด้วยกัน ความจริงผมไม่เคยได้เรียนภาษาอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการเลย แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับผมแม้แต่น้อยในการพูดคุยกับคนอินโดนีเซีย ผมเองรู้สึกมีความยินดีทุกครั้งที่ได้ไปเยือนอินโดนีเซีย เพราะว่าคนอินโดนีเซียล้วนต่างก็มีความภาคภูมิใจในภาษาของตนเอง เมื่อพวกเขาได้ทราบว่าผมสามารถพูดภาษาอินโดนีเซียได้ แน่นอนเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าภาษาที่ผมใช้นั้นอาจจะไม่ใช่ภาษาอินโดนีเซียก็ตาม แต่เป็นภาษามลายู
ทำไมคนมลายูไม่ภูมิใจในภาษาของตัวเอง
บางครั้งสิ่งที่เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกันได้เกิดขึ้นที่มาเลเซีย ผมใคร่ขออนุญาตบอกเล่าเรื่องราวเล็กๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อบ่งบอกให้เรารู้ว่า ยังมีคนมลายูส่วนหนึ่งที่ไม่มีความภาคภูมิใจในภาษาของตนเอง
เมื่อครั้นที่ผมกำลังเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ แต่ยังหาสถานที่ไม่พบ ขณะนั้นเอง ก็ได้มีหญิงสาวมลายูท่านหนึ่งเดินผ่านมาพอดี ผมได้ให้สลามกับเขาเพื่อให้เขาช่วยบอกเส้นทางที่จะไปยังที่หมายให้หน่อยโดยใช้ภาษามลายู คำตอบที่ได้รับก็คือ “OK, you go straight, and then turn left, you’ll find...” ผมก็ได้กล่าวขอบคุณว่า “terima kasih” ทว่าคำตอบที่เขาได้ตอบมาคือ “welcome”.
และเหตุการณ์ต่อมาก็เกิดขึ้นที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินนานาชาติซูบัง มีผู้ชายมลายูวัยกลางคนท่านหนึ่งที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ได้สอบถามโดยใช้ภาษาอังกฤษว่า “What’s the purpose of your visit?” แต่ผมกลับตอบเป็นภาษามลายูว่า “Saya mahu melanjutkan pelajaran di Universiti Malaya. Ini suratnya” พร้อมกับการยื่นแบบฟอร์มจากทางมหาวิทยาลัยให้เขาดู
เขาก็ยังถามอีกว่า “So where’s your visa? You don’t have a student visa!” ผมก็ได้ตอบเขาไปว่าต้องการต่อวิซ่าในภายหลัง เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็ได้ถามคำถามที่สามด้วยภาษาอังกฤษเช่นเดิม ด้วยที่ว่าผมเองก็ไม่ได้ชำนาญภาษาอังกฤษเท่าไหร่ ผมจึงได้ขอร้องให้เขาพูดภาษามลายูแทน
“ท่านครับ ท่านสามารถใช้ภาษามลายูได้ไหม? เพราะภาษาอังกฤษผมไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่” แต่ว่าเขายังปฏิเสธด้วยเสียงที่แข็งกร้าวว่า “I speak English for you because you are a foreigner!” (ฉันพูดภาษาอังกฤษกับคุณเพราะคุณเป็นชาวต่างชาติ!)
แต่นั่นถือเป็นข้อดีสำหรับชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษามลายู แต่ถามว่าอะไรคือเหตุผลที่เจ้าของภาษามลายูโดยแท้ใช้ภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติที่อ่อนด้อยในภาษาอังกฤษ ทว่าสามารถพูดภาษามลายูได้? ผมเองก็รู้สึกหงุดหงิดเช่นกัน จึงพูดออกไปว่า “คนต่างชาติไม่ทั้งหมดหรอกที่พูดอังกฤษได้! อีกทั้งภาษามลายูเองก็เป็นภาษาทางการของมาเลเซียอีกด้วย แล้วมันผิดตรงไหนที่ผมจะพูดภาษามลายู?”
เขาเองมีอาการสีหน้าที่ไม่ค่อยดี และเริ่มชักช้าในการให้บริการด้วยการถามโน่นถามนี่ไปต่างๆ นานา ทั้งยังเป็นคำถามที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตรวจคนเข้าเมืองด้วยซ้ำ ทั้งหมดนั้นล้วนใช้ภาษาอังกฤษทั้งสิ้น คำตอบของผมยังเป็นในภาษามลายูเช่นเดิม หลังจากเสร็จสิ้นทุกอย่าง ผมก็รับพาสปอร์ตที่เขายื่นให้โดยที่ปราศจากคำขอบคุณใดๆ
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่คล้ายๆ กันก็คือ เมื่อตอนที่ผมได้เข้าประชุมสัมมนา เกี่ยวกับภาษาและงานวรรณกรรมมลายู เอกสารทุกชิ้นล้วนเป็นภาษามลายู ในช่วงพักแบรกเช้า ปรากฏว่าได้มีมุสลีมะฮ์มลายูท่านหนึ่งที่เข้าสัมนาด้วยกัน ได้เข้ามาหาและชมเชยในการนำเสนอของผมว่า “Your Malay is very good. I was so impressed by your presentation! Where did you study Malay?”
ผมก็มีความรู้สึกภูมิใจที่การนำเสนอของผมได้รับคำชื่นชมจากผู้คน แต่ผมไม่รู้สึกภูมิใจตรงที่ว่า คำเชยชมที่ถูกกล่าวออกมา ไม่ได้เป็นภาษาที่ผมใช้ในการสัมนาแต่อย่างใด ผมเองก็ตอบเขาไปโดยใช้ภาษามลายู
แค่นั้นยังไม่พอ ทุกครั้งที่ได้ดูโทรทัศน์ของมาเลเซีย จะเห็นได้ว่านักการเมืองที่ไม่ใช่มลายูจะใช้ภาษามลายูมากกว่านักการเมืองมลายู แต่กลับตรงกันข้ามกับนักการเมืองมลายูที่ไม่ค่อยได้ใช้ภาษามลายูหรือไม่ก็จะพูดปนกันกับภาษาอังกฤษ ผมไม่เคยเห็นนักการเมืองของญี่ปุ่นท่านใดที่ตอบคำถามของสื่อมวลชนท้องถิ่นในภาษาอังกฤษ แต่ว่าในมาเลเซียบ่อยครั้งที่คำถามภาษามลายูมักจะถูกตอบในภาษาอื่น ถือว่าเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าแปลกใจ
ความจริงยังมีเรื่องอีกมากมายที่ได้บันทอนกำลังใจของคนต่างชาติที่มีความตั้งใจที่จะเรียนในด้านภาษามลายู เพราะภาษาที่ผมกำลังศึกษาอย่างเอาจริงเอาจังอยู่นี้ เจ้าของภาษาที่แท้นั้นยังไม่ได้ให้ความสำคัญเอาเสียเลย
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาษาที่มีความสำคัญสำหรับผมนั้น จะสามารถแพร่กระจายบนเวทีโลกได้อย่างแน่นอน ผมเองก็ได้มีความพยายามในการเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันเพื่อเผยแพร่ภาษามลายู เพราะผมรู้สึกถึงการเป็นหนี้บุญคุณต่อสังคมมลายูเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบรรดาคณาจารย์และเพื่อนๆ ที่ช่วยเหลือในการเรียนภาษามลายูของผม แต่ในขณะเดียวกันสังคมมลายูเองจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนะคติในแง่ลบที่มีต่อภาษามลายูออกไปด้วย
ผมต้องการที่อยากจะเห็นภาษามลายูมีสถานะเท่าเทียมกับภาษาอื่นๆ ในระดับสากล ส่วนในแง่ระดับความสามารถของตัวภาษาเองนั้น ผมเชื่อเหลือเกินว่า ได้ประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง ทั้งหมดนั้นจะต้องไปพร้อมๆกันกับทักษะและอุปนิสัยของผู้พูดที่มีความภูมิใจในภาษาของตนเองอีกด้วย ผมมีความภาคภูมิใจต่อภาษามลายูที่ผมได้ศึกษามาก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีคนมลายูบางคนที่ไม่มีความภูมิใจต่อภาษามลายูทั้งๆ ที่ภาษามลายูนั้นเป็นภาษาภูมิบุตร(แม่)ของเขาเอง?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย