http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-05-16

เรากำลังทำลายระบบ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

.

วีรพงษ์ รามางกูร : เรากำลังทำลายระบบ
ใน www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1400217158
. . updated: 16 พ.ค. 2557 เวลา 12:10:13 น.
( ที่มา :  นสพ.มติชนรายวัน 15 พ.ค.57 )


ทุกวันนี้เวลาไปพบกับใครที่รู้จักไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง ผู้ร่วมงานในงานแต่งงาน งานศพ งานพบปะเพื่อปรึกษาหารือธุระการงาน คำถามที่ทั้งตัวเราเองถามหรือถูกถามจากผู้ที่พบปะกัน ก็คือ "แล้วบ้านเมืองของเราจะไปทางไหน" หรือไม่ก็ถามว่า "แล้วบ้านเมืองเราจะลงอย่างไร"

คำถามยอดนิยมเหล่านี้เป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะอยู่ใน "วงใน" หรือ "วงนอก" ขนาดไหนก็ตาม มีหลายคนพยายามจะตอบคำถามเหล่านี้ แต่เมื่อถูกซักหรือถูกตั้งคำถามกลับก็ตอบไม่ได้ เพราะ "ตรรกะ" ที่ใช้ในการหาคำตอบเป็น "ตรรกะ" ที่ไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง


เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่ง 9 ข้อ รับรองความถูกต้องชอบธรรมของกลุ่มผู้ชุมนุมในการเข้ายึดหรือเข้าล้อมสถานที่ราชการ เช่น ทำเนียบรัฐบาล กระทรวง ทบวงกรม หรือที่ทำการรัฐวิสาหกิจ ปิดถนนหนทางโดยใช้ "กองกำลังส่วนตัว" กระทำการตรวจค้นผู้คนที่สัญจรไปมา ขับไล่ข้าราชการพนักงานให้หยุดทำงาน หยุดปฏิบัติหน้าที่ ห้ามตำรวจและเจ้าพนักงานติดอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธประจำกาย หรือแม้แต่กระบอง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่อาจจะใช้กำลังในการปฏิบัติหน้าที่ได้

การเรียกร้องให้กองกำลังตำรวจมาดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับ"กองกำลังส่วนตัว" ของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่กำลังเดินทางไปปิดสถานที่ราชการ ข่มขู่ให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในสายตาของคนทั่วไป กลับรู้สึกว่าเป็นสิ่งถูกต้อง แต่การขัดขวางหรือการสลายการชุมนุมกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

เพราะคำสั่งของศาลแพ่ง 9 ข้อได้ห้ามเอาไว้

เมื่อคำสั่งของศาลแพ่ง เป็นคำสั่งที่ขัดต่อสามัญสำนึกทางรัฐศาสตร์ที่จะทำให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย จึงเป็นคำสั่งที่ขัดต่อสิ่งที่จะทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เหตุการณ์ความไม่ปกติก็จะดำรงต่อไปได้อีกนาน



เห็นได้ชัดว่า กลุ่มผู้ชุมนุมขนคนมาจากต่างจังหวัดเพียง 2 หมื่นคน ก็สามารถสร้างสถานการณ์ยึดสถานีโทรทัศน์ช่องพื้นฐาน ไว้ได้โดยง่าย กองกำลังตำรวจจำนวนเท่าๆ กัน ถูกส่งเข้ามาดูแลสถานการณ์แต่ห้ามติดอาวุธ สถานีโทรทัศน์ก็ยังคงออกอากาศไปตามปกติ เหตุการณ์เช่นว่านี้คงจะดำเนินไปได้เรื่อยๆ ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายังไม่ได้ถอนคำสั่งของศาลแพ่ง

ผู้คนคาดเหตุการณ์เอาไว้แล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงจะมีคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรีที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ามารับหน้าที่
แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีอีก 9 คนเท่านั้นที่พ้นจากสภาพรัฐมนตรี แต่ก็ยังคงเหลือรัฐมนตรีอีก 25 คน ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ช่องว่างจึงยังไม่เกิด สร้างความงุนงงสงสัยกับผู้คนหลายคนเพราะศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรก็ได้ เลิกถกเถียงกันเรื่องประเด็นกฎหมายได้แล้ว


วุฒิสภาเปิดประชุม เพื่อพิจารณารับรองคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช.ใหม่ และที่ปรึกษาตุลาการศาลปกครอง ก็ยังสามารถหาเหตุผลเอาเองให้ดำเนินการประชุมนอกระเบียบวาระการประชุมเพื่อเลือกประธานของตน โดยแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าเมื่อ "มีช่องว่าง" ก็จะได้ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร เสนอชื่อ "คนกลาง" เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งๆ ที่การประชุมนอกระเบียบวาระการประชุมนั้นทำไม่ได้ ถ้าผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็คงจะถูกกล่าวหาว่า "ละเว้น ไม่ปฏิบัติหน้าที่" มีความผิดตามมาตรา 157 แพ่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อทูลเกล้าฯและทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วมีผู้ร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะวินิจฉัยว่าทำได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แล้วก็คงจะไม่มีใครทำอะไรได้ แต่สถานการณ์ก็คงไม่หยุดอยู่กับที่หรือมีความ "เสถียร" แต่จะดำเนินไปสู่ความ "ไม่มีเสถียรภาพ" ทางการเมืองต่อไป

ที่เกี่ยวพันกับความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองก็คือความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเพราะการเมืองที่มุ่งไปสู่สภาวะที่ไม่มีเสถียรภาพ ย่อมดึงภาวะเศรษฐกิจออกจากจุด "ดุลยภาพ" และเคลื่อนไปสู่สภาวะไร้เสถียรภาพ อันเป็นพื้นฐานที่ทำให้การบริโภคและการลงทุนทั้งของภาครัฐบาลและของเอกชนหดหายไป

ภาวะเศรษฐกิจก็จะเคลื่อนเข้าสู่ภาวะ "ชะงักงัน" ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นจากเครื่องชี้ต่างๆ เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การส่งออกการนำเข้า อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวอย่างรวดเร็ว พลวัตเหล่านี้จะส่งผลกลับไปที่เสถียรภาพทางการเมืองอีกทีหนึ่งเป็นวัฏจักร

ยิ่งฝ่ายที่รู้สึกว่าฝ่ายตนเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันความเข้มข้นของความรู้สึกก็เพิ่มทวีขึ้นตามการปฏิบัติหรือการกระทำขององค์กรที่เชื่อว่าเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจหรือตัวแทนของชนชั้นปกครองในบ้านเมือง การจัดตั้งขบวนการประชาชนในต่างจังหวัดจึงประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เพราะมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก


ถ้าฝ่ายนี้สามารถทำให้เกิดภาวะสุญญากาศ ทำให้เกิดช่องว่างเพื่อสามารถตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งก็น่าจะบานปลายจนเกิดการปะทะกัน ระหว่างผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคใต้และกรุงเทพฯ กับอีกฝ่ายที่มาจากต่างจังหวัดจากภาคเหนือและภาคอีสาน

เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้ ซึ่งน่าจะเป็นความต้องการของผู้ที่ชุมนุมอยู่ในกรุงเทพฯ และพรรคประชาธิปัตย์ ทางกองทัพก็คงจะไม่มีทางเลือก นอกจากต้องเข้ามาแทรกแซง ด้วยการทำปฏิวัติรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ตั้งสภานิติบัญญัติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สถานการณ์ดังกล่าวไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบอาจจะต้องเกิดขึ้นอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

หลังการปฏิวัติรัฐประหารสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเคลื่อนของมวลชนฝ่ายเสื้อแดง เข้ามาทำการประท้วงในกรุงเทพฯ แทนผู้ที่ทำการประท้วงที่ดำเนินการอยู่ที่สวนลุมพินี หรือที่ทำเนียบรัฐบาล และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย



ถ้าเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นจริงก็จะเกิดสภาวะอนาธิปไตยจะจบลงอย่างไรก็คงคาดเดาได้ อาจจะเหมือนกับกรณี 6 ตุลาคม 2519 หรืออาจจะไม่เหมือนกันก็ได้

กล่าวคือฝ่ายผู้ประท้วงจากต่างจังหวัดถูกปราบปรามเหมือนกับกรณี 6 ตุลาคม 2519 แล้วมีการสถาปนารัฐบาลเผด็จการทหารมาทำการปกครอง แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อีกทางหนึ่งก็คือมีการตกลงกันให้มีรัฐบาลที่ฝ่ายทหารแต่งตั้ง อาจจะเป็นพลเรือน ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ซึ่งเคยเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็น "มรดกอสูร" ควรจะยกเลิกเสีย แล้วกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 แทน โดยการปรับปรุงแก้ไขบางมาตรา

หากจะให้บ้านเมืองกลับไปสู่ภาวะปกติต้องมีการปฏิรูปองค์กรอิสระทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง วุฒิสภาและอื่นๆ เพราะเห็นได้ชัดว่าวิธีคิดขององค์กรอิสระเหล่านี้ หรือแม้แต่ตุลาการบางท่านในศาลยุติธรรมมีวิธีคิดที่เป็นปัญหา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมให้เหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติและสามารถดำเนินการตามขบวนการประชาธิปไตยได้

แต่ถ้าหลังจากการปฏิวัติคณะทหารต้องการจะอยู่ในอำนาจเป็นเวลานาน หรือพยายามเข็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าฉบับปี 2540 ปัญหาทางการเมืองก็ไม่มีวันจบ คงจะยืดเยื้อต่อไปอีกเป็นเวลานาน และอาจจะจบลงโดยการล้มลงของระบบการเมืองทั้งระบบก็ได้ ซึ่งไม่ใช้ผลดีต่อประเทศชาติในระยะยาว


สิ่งที่น่ากลัวซึ่งถ้าไม่ระมัดระวังก็คือ การล้มลงของระบบการเมืองทั้งระบบ ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศมาแล้ว จะประมาทไม่ได้

เมื่อระบบล้มลงทั้งระบบ จะมีระยะเวลาหนึ่งที่สังคมจะพยายามแสวงหาจุด "ดุลยภาพ" ใหม่ ที่มีเสถียรภาพ ที่เป็นที่รับได้จากประชาชนทุกฝ่าย ซึ่งไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร การลดราวาศอก "ยกรถไฟที่ตกรางกลับขึ้นไปไว้บนราง" กล่าวคือสิ่งใดที่ออกนอกลู่นอกทาง จากระบอบนิติรัฐหรือ Rule of Law นอกรัฐธรรมนูญ นอกระเบียบแบบแผน ที่สามารถอยู่ด้วยกันอย่างสันติแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เหตุการณ์ก็อาจจะไม่เปลี่ยนไปในเชิงพลวัต จากจุดที่ "ไร้เสถียรภาพ" ไม่ไปสู่จุดดุลยภาพที่มีเสถียรภาพ ที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ไม่เพิ่ม "พลังการทำลาย" จนกระทั่งระบบทั้งระบบพังทลายลง

เป็นสิ่งที่น่ากลัวถ้าไม่ระมัดระวัง แต่ก็หวังว่าจะไม่เกิดภาวการณ์เช่นนั้น



.