http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-05-08

ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1399546597
. . วันพฤหัสบดีที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 20:20:21 น.

( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ประจำ 2-8 พ.ค.57 ปี34 ฉ.1759 หน้า 30 )


ผมเชื่อมานานแล้วว่า หนึ่งในเครื่องมือการครอบงำสำคัญที่มนุษย์สามารถกระทำต่อกันได้คือความทรงจำเกี่ยวกับอดีต เพราะความทรงจำมีส่วนอย่างมากในการที่เราสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา หรือบอกแก่ตนเองและผู้อื่นว่า ฉันเป็นใคร มาจากไหน และพึงมีความสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร

ประวัติของตระกูล ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปของเรื่องราวเพียงอย่างเดียว อาจออกมาในรูปไม้คานเลี่ยมทอง รูปเล่ากงไว้เปีย หรือคำประกาศพระราชทานนามสกุล ฯลฯ ล้วนมีส่วนกำหนดอัตลักษณ์ของลูกหลานในตระกูล

กลุ่มคน ไม่ว่าในตระกูล สมาคม โรงเรียน มหาวิทยาลัย บริษัท ชนชั้น หรือชาติ ฯลฯ จึงต้องมีความทรงจำร่วมกัน หากมีความพยายามจะครอบงำสูง ก็ยิ่งมีความจำเป็นจะต้องยึดกุมความทรงจำนั้นให้มั่นคงปลอดภัยจากการแทรกแซงให้แข็งแรงเพียงนั้น


และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงมีความใฝ่ฝันมานานว่า สักวันหนึ่ง ผมคงสามารถเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ไทยได้สักเล่ม ซึ่งเหมาะที่คนทั่วไปจะอ่าน หรือเหมาะที่จะใช้อ่านแนะนำสำหรับนักเรียนที่ไม่ประสงค์จะเรียนประวัติศาสตร์ แต่ต้องรู้ประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐาน ผมหวังว่าจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เสนอความทรงจำอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มใดใช้อดีตเป็นเครื่องมือในการครอบงำคนอื่นอย่างง่ายๆ อีก เพราะความทรงจำสำนวนของผมจะเปิดพื้นที่ให้แก่คนทุกกลุ่มในประวัติศาสตร์ ได้เข้ามามีบทบาทตามที่เป็นจริงในอดีต

ไม่มีคำประณามพจน์ให้ใคร และไม่มีคำประณามหยามเหยียดให้ใครอีกเหมือนกัน แต่จะทำให้เข้าใจเงื่อนไขต่างๆ ที่แวดล้อมการกระทำและความคิดของบุคคล สถาบัน องค์กร และกลุ่มคนในอดีต

แต่ผมก็ไม่เคยสามารถทำความใฝ่ฝันให้เป็นจริงได้ เพราะรู้ว่าความรู้ความสามารถของตนยังไม่พอ ได้แต่ฝันๆ ไปโดยไม่ได้เตรียมตัวเองให้พร้อมจะทำได้มาหลายสิบปี




บัดนี้ถึงเวลาที่ผมไม่ต้องใฝ่ฝันแล้ว เพราะมีคนทำอย่างที่ผมอยากทำไปแล้ว ซ้ำทำได้ดีกว่าที่ผมจะมีความสามารถทำได้เองเสียอีก นั่นคือ อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร และอาจารย์คริส เบเกอร์ ได้เขียนประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยขึ้น แต่เดิมเขียนเป็นภาษาอังกฤษตามคำเชิญของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตอนนี้ท่านได้แปลออกเป็นภาษาไทย และจัดพิมพ์เรียบร้อยแล้วโดยสำนักพิมพ์มติชน

เวลาที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า "ร่วมสมัย" โปรดระวัง เพราะมันไม่ได้หมายความว่าเมื่อวานนี้ หนังสือเล่มนี้ครอบคลุมเนื้อหาอย่างสรุปๆ มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ แต่ตัวเนื้อหาไม่สู้มีความสำคัญเท่ากับความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา เช่น เข้าใจว่าคนไทยอพยพลงมาเป็นใหญ่เหนือคนชาติอื่นทั้งหมดในแหลมทอง ก็ทำให้เรามองบทบาทของ "ชาติ" เราในการปกครองไปอย่างหนึ่ง

หากเข้าใจว่า ที่เรียกคนไทยในปัจจุบันนั้นร้อยพ่อพันแม่ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายซึ่งอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ และทั้งอีกหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาหรือถูกกวาดต้อนเข้ามา เราก็มองบทบาทของ "ชาติ" ในการปกครองไปอีกอย่างหนึ่ง ความเข้าใจที่แตกต่างกันต่อประวัติศาสตร์โบราณ เป็นประเด็นหลักอันหนึ่งของการช่วงชิงความหมายของคำว่า "ชาติ" ในจินตนาการเกี่ยวกับชาติในสมัยหลัง จึงจำเป็นต้องพูดถึงไว้อย่างย่อๆ มาตั้งแต่ต้น


ส่วนใหญ่ของเนื้อหาประวัติศาสตร์ร่วมสมัยคือ ตั้งแต่ประมาณ 200 กว่าปีที่ผ่านมา อันเป็นเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทย ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ฯลฯ จนทำให้เกิดเมืองไทยที่เราพบเห็นอยู่ในทุกวันนี้ แม้ว่าพูดถึงความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน แต่ก็มองเห็นความสัมพันธ์ของด้านต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น ความจำเป็นที่จะต้องหาตลาดใหม่นอกจีนหลังสงครามฝิ่นไปแล้ว ทำให้เราต้องหันไปหาตลาดที่ฝรั่งครอบงำมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการ "เปิดประเทศ" ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ตอบสนองประโยชน์ของคนหลายกลุ่มในขณะนั้น ไม่ได้เกิดจากการมองการณ์ไกลของผู้นำเพียงอย่างเดียว

ความสามารถในการเชื่อมโยงปัจจัยหลากหลายด้าน ทั้งภายในภายนอก ทั้งที่มาจากชนชั้นนำและมาจากคนเล็กคนน้อยหลากหลายประเภทเช่นนี้แหละ ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยสร้างพลวัตหรือพลังขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ จากเนื้อหาของประวัติศาสตร์เอง (historicism) พลังขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทยในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นก่อน คือผู้นำหรือพระมหากษัตริย์ แต่พลวัตที่แคบอย่างนั้น หยั่งไม่ถึงความสลับซับซ้อนของความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ ฉะนั้น หากหนังสือเล่มนี้ถูกอ่านอย่างแพร่หลายมากขึ้น ก็จะเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของคนไทยจำนวนมาก

(ซึ่งก็จะยกระดับความขัดแย้งทางการเมืองไปสู่อะไรที่สร้างสรรค์กว่าปัจจุบัน เช่น เปลี่ยนไปสู่นโยบายแทนบุคคล)



ความหลากหลายจึงเป็นหัวใจสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ไม่แต่เพียงมีความหลากหลายของชาติพันธุ์เท่านั้น ที่ประกอบกันขึ้นเป็นพสกนิกร (subject) ของรัฐไทยโบราณหลายรัฐ แต่ยังมีความหลากหลายทางสถานะทางเศรษฐกิจ-สังคม (ชนชั้น?) อีกด้วย คนทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็น "ตัวละคร" ของเรื่อง มีบทบาทและมีส่วนในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย หรืออย่างน้อยก็ทำให้อนุชนเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ชัดขึ้น โดยที่เขาเหล่านั้นอาจไม่ได้คิดถึง "ชาติ" เลย เพียงแต่ตอบสนองต่อเงื่อนไขในชีวิตที่เปลี่ยนไปเพื่อรักษาหรือเพิ่มพูนประโยชน์ ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางอื่นๆ ของตนเอง กลายเป็นพลังขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมโดยไม่มีใครตั้งใจ

เหมือนความเปลี่ยนแปลงนานาชนิดที่เราพบได้ในชีวิตจริงของเราเอง


ดังนั้น นอกจากพระมหากษัตริย์ เจ้านาย เจ้าประเทศราช ขุนนาง เจ้าสัว ข้าศึก ฯลฯ แล้ว ยังมีตัวละครอีกมากมายในประวัติศาสตร์ พ่อค้าจีนที่เที่ยวเร่รับซื้อข้าวจากชาวนาก็เป็นตัวละครหนึ่ง กระฎุมพีข้าราชการที่ไร้เส้นในระบบราชการก็เป็นตัวละครหนึ่ง แรงงานอพยพชาวอีสานก็เป็นตัวละครหนึ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ สายัณห์ สัญญา สมรักษ์ คำสิงห์ จนแม้แต่ กษิต ภิรมย์ ก็มีบทบาทที่ต้องกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ไทยแบบนี้

บางครั้งก็กล่าวถึงบทบาทของเขา บางครั้งก็กล่าวถึงเขาในฐานะเป็นตัวแทนของแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง บางครั้งก็เป็นตัวแทนของกลุ่มคนประเภทเดียวกับเขา ... ใครๆ ก็มีชื่อในประวัติศาสตร์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นมหาบุรุษหรือมหาผู้ร้าย


กว่าจะเล่าประวัติศาสตร์ให้ครอบคลุมไปหมดทุกส่วน ทั้งไม่ทิ้งความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ด้วยได้เช่นนี้ อาจารย์ผาสุกและอาจารย์คริสต้องใช้หลักฐานมากมายและหลากหลายประเภทมาก หากนักเรียนประวัติศาสตร์อ่านหนังสือนี้ด้วยความสังเกตหลักฐานที่ถูกนำมาใช้ ก็คงได้ประโยชน์ เพราะไม่แต่เพียงเอกสารของทางราชการ หรือสิ่งพิมพ์ร่วมยุคสมัยเท่านั้นที่บอกให้เราประมาณได้ว่า ได้เกิดอะไรขึ้นในอดีต ภาพยนตร์ เรื่องสั้น เพลงลูกทุ่ง บทกวีร่วมสมัย วรรณคดี ตลกทีวี สำนวนภาษาวัยรุ่น ฯลฯ ล้วนแฝงนัยยะบางอย่าง ที่ทำให้เราเข้าใจความคิดและการกระทำของคนในแต่ละสมัย และสาเหตุหรือเงื่อนไขที่ทำให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็น และทำอย่างที่เขาทำ
ทั้งหมดเหล่านี้เขียนขึ้นด้วยภาษาเรียบง่าย ไม่มีศัพท์แสงวิชาการที่ยากแก่ความเข้าใจทั้งของผู้อ่าน (และบางครั้งผู้เขียนด้วย) อ่านสนุก เพราะเป็นเรื่องราวที่เป็นเหตุเป็นผลส่งทอดกันไปตามลำดับแห่งตรรกะธรรมดาของมนุษย์ปัจจุบัน (คือไม่ใช่สักแต่ตามลำดับของเวลา)




เป็นเรื่องน่ายินดีที่หนังสือนี้ได้ถูกแปล (และเขียน) ในภาษาไทยแล้ว ผมเชื่อว่าจะเป็นหนังสือที่ต้องถูกพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปอีกหลายปี คงปรากฏในบัญชีหนังสือต้องอ่านของนักศึกษาสายสังคมศาสตร์ทุกแขนง เป็นการปูพื้นความรู้ประวัติศาสตร์ไทยที่กระชับและดีที่สุด โดยไม่ต้องเสียเวลาพูดในชั้นเรียน ในขณะเดียวกัน ก็เหมาะแก่คนไทยทั่วไปจะอ่าน แม้แต่ที่จบการศึกษาไปแล้วก็ตาม เพราะเมื่อคนไทยมองอดีตไปในแนวนี้ ก็จะทำให้คนไทยต้องตั้งคำถามกับตนเองในเรื่องอื่นๆ อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม จริยธรรมและศีลธรรม ความยุติธรรม ระเบียบทางสังคม ฯลฯ อย่างน้อยก็ทำให้ต้องตั้งคำถามกับข้อสรุปที่ตัวถูกสอนให้ยึดถือมานาน แล้วอาจได้คำตอบเหมือนเดิมก็ได้ แต่จะเป็นครั้งแรกที่ทำให้ต้องคิดทบทวนอะไรต่อมิอะไรที่ถือๆ กันมาโดยไม่เคยตั้งคำถาม

ในโลกนี้มีหนังสืออยู่สองประเภท หนึ่งคือหนังสือที่อ่านแล้วทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็นหนักแน่นขึ้น รัดกุมขึ้น มั่นใจมากขึ้น ฯลฯ หนังสืออีกประเภทหนึ่งคือหนังสือที่อ่านแล้วทำให้เราอาจกลายเป็นคนใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บุคคล

ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เป็นหนังสือประเภทหลังนี้




.