http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-05-06

ก่อการร้ายโดยรัฐเผด็จการ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ก่อการร้ายโดยรัฐเผด็จการ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1399352597
. . วันอังคารที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 12:10:10 น.

( ที่มา:  คอลัมน์ กระแสทรรศน์ นสพ.มติชน 5  พ.ค. 2557 )


โชคดีที่ข่าวคุณพอละจี รักจงเจริญ ถูกอุ้มหายไม่เงียบหายไป เพราะมีคนจากเกือบทั่วประเทศ รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือ ที่ออกมารณรงค์ให้รัฐสอบสวน และทำความกระจ่างกับกรณีนี้ หากคุณพอละจีถูกอุ้มหายไปจริง ก็นับเป็นการกระทำที่อุกอาจมาก เพราะหน่วยงานของรัฐกำลังถูกชาวบ้านฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กรณีละเมิดสิทธิ์อย่างร้ายแรง โดยบุกเข้าไปขับไล่ชาวบ้านออกจากป่า อีกทั้งเผาบ้านเรือนยุ้งฉางของชาวบ้านจนย่อยยับ

คุณพอละจีเป็นพยานปากสำคัญของคดี เพราะอยู่ในเหตุการณ์และได้เห็นการกระทำของหน่วยงานรัฐ หากถูกอุ้มหาย จึงไม่ใช่แต่เพียงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเท่านั้น ยังเท่ากับขัดขวางกระบวนการยุติธรรมอย่างอุกอาจด้วย

การอุ้มหายเป็นหนึ่งในวิธี "เก็บ" ศัตรูของผู้ถืออำนาจรัฐ ควบคู่กับการยิงทิ้ง การจับกุมและตั้งคดีใส่ร้ายอย่างฉ้อฉล (ซึ่งได้ผลดีในประเทศที่ไม่ให้ความเคารพแก่สิทธิการประกันตัวของจำเลย เพราะเท่ากับ "เก็บ" ศัตรูไว้ในที่ซึ่งไม่อาจมีบทบาททางการเมืองได้เป็นเวลานาน) และในบางครั้งที่โอกาสอำนวย ก็ยังอาจ "เก็บ" ศัตรูได้ด้วยการส่งไปรับการอบรมในค่ายกักกัน

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ถืออำนาจของรัฐไทยเคยใช้มาแล้วทั้งสิ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบและวิธีการไปด้วยตลอดมา ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้น่าสนใจ เพราะมันสะท้อนพัฒนาการทางการเมืองในประเทศไทยไปพร้อมกัน


วิธียิงทิ้งเคยใช้กันมากหลังรัฐประหาร 2490 ศัตรูทางการเมืองของคณะรัฐประหารซึ่งไม่ได้หนีออกนอกประเทศ มักถูกยิงทิ้งอย่างโหดร้ายทารุณ ดังเช่นการสังหารอดีตรัฐมนตรีแถวดอนเมือง โดยอ้างว่าเสียชีวิตจากการต่อสู้กับโจรจีนมลายู ขณะย้ายที่คุมขัง หรือนักการเมืองบางคนอาจถูกรัดคอจนเสียชีวิต แล้วยิงซ้ำศพทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้นำชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ถูกจับถ่วงทะเล

แม้ว่าใครๆ ก็ทราบว่าคนเหล่านี้ถูก "เก็บ" ด้วยกระบวนการนอกกฎหมาย แต่ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง จึงไม่มีการสอบสวนสาเหตุของการตายอย่างขาวสะอาด จนเมื่อคณะรัฐประหารหมดอำนาจไปอย่างสิ้นเชิงใน พ.ศ. 2500 แล้ว เบื้องหลังการเสียชีวิตของเขาจึงได้เปิดเผยขึ้นอย่างเป็นทางการ

อีกส่วนหนึ่งของศัตรูคณะรัฐประหารถูกนำไป "เก็บ" ไว้ในคุก ด้วยข้อหา "กบฏสันติภาพ" ส่วนใหญ่คือคนที่พอจะเก็งได้ว่าไม่มีกำลังในการต่อต้านคณะรัฐประหาร มากไปกว่าการเผยแพร่ความคิดแก่สังคม

เหตุใดคนไทยสมัยนั้นจึงยอมทนต่อความอยุติธรรมและไร้มนุษยธรรมที่คณะรัฐประหารก่อขึ้นได้ ผมหวังว่าพอจะให้คำตอบส่วนหนึ่งได้ในตอนท้าย


ที่น่าสนใจก็คือ ในการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 ศัตรูของคณะปฏิวัติ (ตามที่เขาเรียกชื่อกลุ่มของตนเอง) ไม่ได้ถูก "เก็บ" ด้วยการยิงทิ้ง ศัตรูที่ยังไม่ได้หนีเข้าป่า ถูก "เก็บ" ไว้ในคุกด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์บ้าง อันธพาลบ้าง โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม หากจะมีการ "เก็บ" ด้วยการสังหาร "คณะปฏิวัติ" ก็ทำให้การสังหารนั้นเป็นการประหารชีวิตตามกฎหมาย เพราะรัฐคุมสื่อไว้ในมือจึงสามารถสร้างกระแสให้ผู้คนในสังคมเห็นพ้องว่า บุคคลผู้นั้นเป็นอันตรายต่อส่วนรวมอย่างร้ายแรง

โดยเนื้อแท้แล้ว ไม่มีอะไรต่างกันระหว่างวิธี "เก็บ" ของคณะรัฐประหารกับคณะปฏิวัติ แต่สิ่งที่ต่างก็คือสังคมไทยต้องการความชอบธรรมในการ "เก็บ" มากขึ้น จำเป็นต้องมีคำอธิบายที่สังคมรับได้มากไปกว่าการแย่งชิงผู้ต้องหาโดยโจรจีนมลายา ดังนั้นความต่างตรงนี้ในทรรศนะของผมจึงมีความสำคัญ เพราะมันสะท้อนความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมไทยด้วย

การลอบสังหารยังใช้กันอยู่ตลอดมา แต่มักไม่ได้ทำโดยผู้ถืออำนาจรัฐโดยตรง เท่ากับเอกชนซึ่ง "ซื้อ" อำนาจรัฐมาเกื้อหนุนการลอบสังหารอีกทีหนึ่ง มี "ซุ้ม" มือปืนที่ขายบริการเพื่อการนี้อยู่มาก ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่จะเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้อย่างไร แต่อยู่ที่ว่าหลังจากใช้บริการไปแล้ว จะลอยนวลพ้นกฎหมายได้อย่างไร

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า รัฐไทยยุติการใช้ความรุนแรงแล้ว ตรงกันข้าม รัฐยังใช้ความรุนแรงสืบมาและอย่างเป็นระบบมากขึ้นด้วยซ้ำ การสังหารหมู่ผู้ประท้วงใน 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภามหาโหด 35, และเมษา-พฤษภามหาโหด 53 กระทำขึ้นเพื่อปราบปรามการจลาจลตามกฎหมาย นอกจากสังหารศัตรูของผู้ถืออำนาจรัฐซึ่งหน้าในการล้อมปราบแล้ว หากฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐเป็นฝ่ายชนะ ยังใช้วิธี "เก็บ" ศัตรูที่เหลือ ด้วยการตั้งข้อหาแล้วจับกุมคุมขังเป็นเวลานานๆ โดยคดีคืบหน้าไปอย่างช้าที่สุด การลอบสังหารถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในบางกรณี เช่นระหว่าง 2516-19 ผู้นำชาวนา, แรงงาน, และนักศึกษาถูกลอบสังหารไปหลายราย และจับมือใครดมไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน อีกวิธีหนึ่งที่ถูกนำกลับมาใช้คือการอุ้มหาย ดังเช่นคุณอารมณ์ พงศ์พงัน ผู้นำแรงงานซึ่งไม่ยอมจำนนต่อการยึดอำนาจของ รสช. และทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้เปิดโปงทารุณกรรมของตำรวจต่อผู้ต้องหาในสามจังหวัดภาคใต้ (ที่จริงยังมีรายอื่นอีกเช่น "ชิปปิ้งหมู" เป็นต้น)


อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามีความแตกต่างระหว่างการลอบสังหารกับการอุ้มหาย ในสภาวะที่ผู้ถืออำนาจรัฐต้องการทำให้เชื่อว่ารัฐอยู่ในสภาพปกติ อันเป็นสภาพที่น่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากกว่า
การลอบสังหารทำลายสภาพปกติลง ยิ่งทำบ่อยและทำมากก็ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ถืออำนาจรัฐ ในขณะที่การอุ้มหายแม้บ่อนทำลายสภาพปกติเหมือนกัน แต่ดู "เนียน" กว่า เพราะพิสูจน์ยากว่าหายจริงหรือไม่ เนื่องจากไม่พบศพ กว่าคนทั่วไปจะยอมรับว่าเป็นการอุ้มหาย ข่าวก็ซาลงจนไม่อยู่ในความสนใจของผู้คนไปแล้ว

การลอบสังหารและการอุ้มหายที่ใช้กันมากในโลกสมัยใหม่คือประเทศชิลี และอาร์เจนตินา (ภายใต้เผด็จการทหาร)
ขอยกตัวเลขจากกรณีอาร์เจนตินา ซึ่งเก็บรวบรวมขึ้นหลังจากเผด็จการทหารถูกโค่นไปแล้ว ระหว่าง 2518-21 มีคน 22,000 คนถูกสังหารหรืออุ้มหาย ในจำนวนนี้มี 8,625 คนที่ถูกจับกุมไปกักกันในค่ายลี้ลับทั่วประเทศแล้วก็หายไป ตัวเลขประมาณการอื่นๆ กล่าวว่า ระหว่าง 2519-2526 เมื่อเผด็จการถูกขับไล่ออกไป มีคนที่ถูกฆ่าและอุ้มหายตั้งแต่ 9089 คนไปถึง 30,000
ตัวเลขในชิลีก็สูงไม่แพ้กัน


คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมต้องทำลายล้างกันมากขนาดนี้ คำตอบของนักรัฐศาสตร์คนหนึ่งมีว่า เพราะทั้งอาร์เจนตินาและชิลีเป็นประเทศที่ระบอบประชาธิปไตย (อย่างน้อยก็โดยรูปแบบ) ได้ตั้งมั่นอยู่พอสมควรแล้ว คิดดูก็แล้วกันว่า ขนาดชิลีสามารถเลือกฝ่ายซ้ายขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ ก่อนที่นายพลปิโนเชต์จะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ (ตามนโยบายของคิสซินเจอร์ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ) ให้โค่นประชาธิปไตยลงอย่างเหี้ยมโหด ในประเทศที่ประชาธิปไตยตั้งมั่นพอสมควรแล้วเช่นนี้ เผด็จการทหาร (หรือเผด็จการชนิดอื่น)ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้แก่ระบอบของตนเองได้ นอกจากการใช้ความรุนแรงอย่างไม่เลือกหน้าเช่นนี้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือต้องใช้การก่อการร้ายโดยรัฐ ( "state terrorism" ที่จริงความหมายคือการใช้ความน่าสะพรึงกลัวเป็นเครื่องมือ) เท่านั้น จึงทำได้สำเร็จ 
การก่อการร้ายโดยรัฐนั้นให้ผลสองอย่าง หนึ่งคือทำให้ศัตรูถูก "เก็บ" ไปจนไม่มีเสียงอีก สองคือทำให้คนอื่นในวงกว้างรู้สึกกลัวกับความไม่แน่นอนจนต้องเงียบเสียงลง

กลับมาถึงเมืองไทยในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปไตยตั้งมั่นขึ้นในสังคมพอสมควรแล้ว และโอกาสที่เราจะต้องย้อนกลับไปสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้งก็เป็นไปได้สูง ด้วยเหตุดังนั้นจึงพึงสังวรไว้ด้วยว่า กลวิธีแบบเก่าของเผด็จการไทย เช่นทำให้การ "เก็บ" ปฏิปักษ์สามารถอิงกับกฎหมายได้บ้างก็ตาม การลอบสังหารและการอุ้มหายเฉพาะรายก็ตาม ไม่เพียงพอที่จะผดุงระบอบเผด็จการให้มั่นคงได้อีกแล้ว อย่างไรเสียก็จำเป็นต้องใช้การก่อการร้ายโดยรัฐ และเป็นไปได้ว่าอย่างไม่เลือกหน้าด้วย

อีกด้านหนึ่งซึ่งควรกล่าวไว้ด้วยก็คือ จากวิธีก่อการร้ายโดยรัฐซึ่งใช้ในละตินอเมริกานั้น ไม่แต่เฉพาะแกนนำสำคัญของฝ่ายปฏิปักษ์เท่านั้นที่จะถูก "เก็บ" แต่รวมคนเล็กคนน้อยทั่วไปอย่างไม่เลือกหน้า เอาเข้าจริงแกนนำเสียอีกที่มีโอกาสหลบหนีการก่อการร้ายโดยรัฐได้ เพราะมีเงินจะหนีหรือเพราะความปลอดภัยของเขาถูกโลกจับจ้องอยู่ก็ตาม คนที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่จึงไม่ใช่แกนนำ แต่เป็นคนธรรมดา (เช่นแม่ๆ จำนวนมากที่ถือกระทะตะหลิวออกมาประท้วงปิโนเชต์ในท้องถนนก่อนที่เขาจะหมดอำนาจ เพราะลูกผัวของเธอหายไปเฉยๆ) หรือคนมีชื่อเสียงขนาดกลางๆ เช่นนักวิชาการที่ยังกล้าต่อต้านเผด็จการอยู่




มีคำอธิบายที่ผมคิดว่าน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ การลอบสังหารหรืออุ้มหายแกนนำคนสำคัญนั้น จะเป็นที่รับรู้ทั่วไป และอาจก่อให้เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้าน แต่การลอบสังหารคนระดับกลางๆ หรือคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีใครรู้จัก เช่นการ์ดเสื้อแดงที่ถูกนำไปทิ้งแม่น้ำบางปะกง หรือ คุณไม้หนึ่ง ก.กุนที สร้างความน่าสะพรึงกลัวให้ขบวนการต่อต้านได้มากกว่า และจุดมุ่งหมายของการก่อการร้ายโดยรัฐคือการสร้างความสะพรึงกลัวแก่ศัตรู ไม่ใช่การตกเป็นข่าวไปทั่วโลก

การยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศจะช่วยยับยั้งการก่อการร้ายโดยรัฐเผด็จการได้หรือไม่ คงไม่ได้ในทันที ในชีลีมีคนที่ถูกฆ่า ถูกทรมาน ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ (แล้วตั้งทีมสังหารตามล่านอกประเทศด้วยการสนับสนุนของซีไอเอ) มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 35,0000 คน กว่านายพลปิโนเชต์จะถูกจับกุมและส่งตัวขึ้นศาล แต่ก็มีความสำคัญ เพราะอย่างน้อยผู้ที่ถูก "เก็บ" ทั้งหลายก็ยังวางใจได้ว่า ความยุติธรรมจะกลับคืนมาอย่างแน่นอน และลูกหลานของเขาจะไม่ต้องตกอยู่ใต้ชะตากรรมอันเลวร้ายเช่นนั้นอีก

หากคุณยิ่งลักษณ์จะตายในสนามประชาธิปไตย ก็อย่าตายเปล่า แต่ต้องทำให้น้องไปป์และลูกของน้องไปป์ไม่ต้องมาตายอย่างนี้อีก



.