http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-07-10

ความหวาดระแวง โดย วีรพงษ์ รามางกูร

.

วีรพงษ์ รามางกูร : ความหวาดระแวง
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1404985194
. . วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:20:02 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 10 ก.ค.57 )


ต่อจากความหวาดกลัวก็คือความหวาดระแวง ความหวาดระแวงว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง หวาดระแวงว่าจะเกิดความสูญเสีย หวาดระแวงว่าจะถูกทำร้าย หวาดระแวงว่าจะถูกแย่งชิง ย่อมเป็นสภาพที่ทำให้เกิดความตึงเครียด หมดความสุข และเป็นบ่อเกิดของพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนอย่างไม่มีเหตุผล

ครอบครัวที่มีความหวาดระแวงกันเป็นที่ทำให้เกิดความตึงเครียด เป็นต้นว่าสามีภรรยามีความหวาดระแวงกัน ไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะซื่อสัตย์ต่อตนเองหรือไม่ ครอบครัวนั้นก็จะมีความตึงเครียด โอกาสที่จะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันก็จะมีสูง

อาจารย์กับลูกศิษย์บางทีก็เกิดความหวาดระแวงกันก็มี เช่น อาจารย์ของอหิงสกะ เกิดความระแวงเพราะเหตุลูกศิษย์เกิดในฤกษ์ดาวโจร จึงหลอกให้ลูกศิษย์ไปฆ่าคนให้ครบพันคน แล้วจะสอนวิชาการอันวิเศษสูงสุดให้ เพราะคิดว่าถ้าอหิงสกะกลายเป็นโจรออกไปฆ่าคนได้สักพักก็คงจะถูกฆ่าตาย อหิงสกะจึงกลายเป็นองคุลิมาลไป เป็นพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปของผู้ที่เป็นอาจารย์ ซึ่งควรจะสอนให้ลูกศิษย์เป็นคนดีมีศีลธรรม แต่กลับทำในสิ่งตรงกันข้าม


การเมืองของโลกยุคหนึ่งก็เชื่อกันว่า ถ้าหากประเทศ 2 ประเทศมีอำนาจใกล้เคียงกันก็จะเกิด "ดุลแห่งอำนาจ" หรือ Balance of power ทั้งสองฝ่ายก็จะไม่กล้าทำสงครามกัน เพราะแต่ละฝ่ายไม่แน่ใจว่าตนจะเป็นฝ่ายแพ้หรือไม่ แต่ในที่สุดสงครามโลกก็เกิดขึ้น ทฤษฎีนี้ก็ไม่เป็นความจริง

ต่อมาเกิดความคิดว่า "ดุลแห่งความกลัว" ต่างหากที่ทำให้แต่ละฝ่ายไม่กล้าก่อสงคราม เพราะถ้าเกิดสงครามขึ้น ไม่ว่าฝ่ายใดที่เป็นฝ่ายแพ้หรือฝ่ายชนะย่อมจะได้รับความเสียหายล้มตายเป็นจำนวนมาก เสียหายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ด้วยเหตุนี้ระหว่างสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งค่ายโลกเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์จึงแข่งขันกันสร้างอาวุธบรรลัยกัลป์ เพื่อข่มขู่ให้แต่ละฝ่ายเกิดความเกรงกลัว และเมื่อทั้งสองฝ่ายเกิดความกลัว "ดุลแห่งความกลัว" ก็เกิดขึ้น โลกมนุษย์จึงรอดพ้นจากสงครามโลกมาได้จนบัดนี้ แต่ถ้าดุลแห่งความกลัวนี้เสียไป ฝ่ายหนึ่งไม่กลัวอีกฝ่ายหนึ่ง สงครามโลกก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าจะว่าไปแล้ว "ดุลแห่งความกลัว" ก็คือ "ดุลแห่งความระแวง" นั่นเอง

ความระแวงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองและเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ
ความที่การเมืองคือ "พฤติกรรมของการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง เพื่อการจัดสรรทรัพยากรของสังคม และพฤติกรรมในการรักษาอำนาจที่ได้มานั้นให้มั่นคงยืนนานต่อไปเท่าที่จะทำได้" ดังนั้นการต่อสู้เพื่อการแย่งชิงอำนาจ และการต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจที่ตนมีอยู่ ย่อมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นพฤติกรรมและสถานการณ์ปกติของการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองภายในท้องถิ่น การเมืองระดับชาติ หรือการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ความระแวงสงสัยระหว่างกลุ่มที่ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอำนาจ และกลุ่มที่ปกป้องรักษาอำนาจรักษาสถานะที่ตนมีอยู่จึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

เมื่อมองไปในระยะยาวความระแวงต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ตนไม่ต้องการซึ่งอาจจะกระทบกระเทือนสถานะที่เป็นอยู่ของฝ่ายตนที่มีความได้เปรียบอยู่แล้วในสังคม ความระแวงเกิดขึ้นได้เสมอสำหรับสังคมที่ระดับการพัฒนาทางการเมืองยังไปไม่ถึงระดับที่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจจะสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยสันติวิธีและอาจจะเกิดขึ้นในทิศทางที่ตนไม่ปรารถนาความวิตกกังวลดังกล่าวทำให้เกิดความหวาดระแวง

เมื่อความหวาดระแวงกับการเปลี่ยนแปลงระยะยาวเกิดขึ้นก็ทำให้เกิดจินตนาการไปต่างๆนานาไปในทางที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล ปฏิกิริยาตอบโต้จึงเกิดขึ้น โดยการสร้างกระแสจากการให้ข้อมูลที่ไม่จริง หรือบางครั้งก็เป็นข้อมูลเท็จ ความรู้สึกว่าสังคมต้องการ "วิศวกรการเมือง" หรือ "สถาปนิกการเมือง" ก็เกิดขึ้นจากความวิตกดังกล่าว

ในบรรดาประเทศที่ระบอบการเมืองยังไม่ลงตัว ยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มทวีปแอฟริกาและประเทศในแถบเอเชีย ที่กำลังดิ้นรนจากระบอบการปกครองที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ความที่ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยยังไม่หยั่งรากลึก ประชาชนยังไม่สามารถควบคุมรัฐบาลที่ตนเองเลือกเข้ามาบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในสถานการณ์อย่างนี้ ย่อมจะก่อให้เกิดความระแวงสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริต การเล่นพรรคเล่นพวก ความไม่มีมาตรฐานในการบริหารประเทศย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ความวิตกกังวลและความระแวงสงสัยในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนซึ่งมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วย่อมจะง่ายต่อการปลุกกระแสต่อต้านสร้างความเกลียดชังได้ง่าย ต่างก็เกิดขึ้นและเป็นอยู่เสมอโดยทั่วไปในหลายๆ ประเทศ



ในสังคมที่การเมืองยังไม่พัฒนา ประชาชนโดยทั่วไปย่อมมีความหวาดระแวง ว่าตนจะเป็นที่เพ่งเล็งของสังคมหรือไม่ การคิด การแสดงออก การกระทำ จะเป็นการกระทำที่กระแสสังคมถือว่าเป็นปฏิปักษ์กับความคิดของคนทั่วไปหรือไม่ จะเป็นภัยอันตรายกับตนเองหรือไม่ ถ้าหากตนมีความเห็น มีการกระทำหรือการแสดงออกที่แตกต่างออกไป สังคมที่สมาชิกในสังคมมีความรู้สึกอย่างนี้ ย่อมเป็นสังคมที่มองดูผิวเผินอาจจะรู้สึกว่ามีความสงบเงียบ แต่ภายใต้ความสงบเงียบนั้น ความระแวงซึ่งกันและกันก็คงยังดำรงอยู่ การที่ยังมีความระแวงสงสัยกัน ยังไม่ไว้วางใจ ก็เป็นเครื่องสะท้อนถึงความเป็นจริงของสถานการณ์อยู่นั่นเอง

ปฏิกิริยาตอบโต้ต่อความระแวงสงสัยกัน อาจจะเป็นปฏิกิริยาที่ตรงไปตรงมาอย่างง่ายๆ หรือเป็นปฏิกิริยาที่สลับซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมาก็ได้ เพราะหากจะทำแบบตรงไปตรงมาก็อาจจะขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี หรือแม้กระทั่งตัวบทกฎหมายที่ไม่อาจจะยอมรับได้ จึงต้องใช้วิธีทางอ้อมที่สลับซับซ้อนที่ไม่ต้องอธิบาย หรือไม่ก็อธิบายไปในทางอื่น เป็นประเด็นอื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่น ที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้การเปลี่ยนประเด็นและเปลี่ยนเป้าหมายทำได้ง่ายขึ้นในสังคมที่มีความคลุมเครือ ไม่โปร่งใส และไม่อาจจะตรวจสอบได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเอามิติของเวลามาพิจารณาด้วยเมื่อเวลาผ่านไป บางครั้งก็ใช้เวลาไม่นาน บางครั้งก็ต้องใช้เวลานาน ข้อมูลข่าวสารมีเพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะปรากฏอยู่เสมอว่า ความระแวงสงสัยนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ไม่มีความเป็นจริง หรือตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่เป็น "จินตนาการ" ที่สังคมสร้างกันขึ้นมาเอง หรือสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองบางอย่าง ที่เป็นเรื่องที่สร้างขึ้นจากจินตนาการทั้งนั้น


ตัวอย่างที่เห็นอยู่เสมอ เช่น ในเรื่อง "พลังงาน" ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คนจำนวนมากมีความ "ระแวง" ว่าประเทศไทยนั้นอุดมไปด้วยแหล่งพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แต่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยปิดบังข้อมูลอันแท้จริง ปตท.มิได้เป็นของรัฐ เหตุเพราะ ปตท.เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าโอนมาเป็นของรัฐเสียทั้งหมด ประชาชนก็จะสามารถใช้พลังงานในราคาที่ถูกลงกว่านี้เป็นอันมาก

ข้อมูลเหล่านี้คนจำนวนมากพร้อมที่จะเชื่อเพราะเป็นสิ่งที่ตนจะได้ประโยชน์โดยตรงอย่างง่ายๆ ไม่ได้ใช้เหตุผลสามัญสำนึกไตร่ตรอง แต่ใช้ความรู้สึกเป็นเครื่องตัดสินเพราะตรงกับความรู้สึก หรือตรงกับใจที่ตนมีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

ความรู้สึกและวิธีคิดอย่างนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศเช่นเยอรมนี ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง หรือในสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี 1965-1975 ซึ่งเหตุการณ์ที่ความรู้สึกเช่นนี้ถูกปลุกขึ้นมาได้สำเร็จ เพราะการใช้ความเกลียดชัง "ยิว" และความเกลียดชัง "ทุนนิยม" กลายเป็นกระแสความคิดหลักของสังคม และนำไปสู่ความหายนะอย่างใหญ่หลวง


ความระแวงอันเกิดขึ้นจากการปลุกปั่น จากการสร้างความเกลียดชัง จึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง และเกิดขึ้นง่ายในช่วงที่มีช่องว่างในการปกครองที่ตรวจสอบไม่ได้

สังคมที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงเป็นสังคมที่ไม่มีความสุข



.