.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ประชาธิปไตยของคอสตาริกา
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/07/54403
. . Fri, 2014-07-04 04:51
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ที่มา: โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 471 วันที่ 5 กรกฎาคม 2557
ในขณะที่ทีมฟุตบอลของคอสตาริกา ได้สร้างความแปลกใจด้วยการเข้ารอบสองเป็นที่หนึ่งในสายของฟุตบอลโลกครั้งนี้ และยังผ่านไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศแล้ว แต่ความจริงประเทศคอสตาริกามีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าอีกมาก โดยเฉพาะในฐานะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยถาวรของอเมริกากลาง
คอสตาริกาเป็นประเทศเล็กอยู่ระหว่างนิการากัวและปานามา มีเนื้อที่เพียง 51,000 ตร.กม.(ราว 1 ใน 10 ของประเทศไทย) มีประชาชนเพียง 4,5 ล้านคน มีค่ารายได้ต่อบุคคลราว 9,300 ดอลลาร์ต่อปี(ไทย 5,700) ดินแดนดั้งเดิมเป็นที่อาศัยของอินเดียนแดง 20 ชนเผ่าจำนวนราว 4 แสนคน คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสได้นำเรือของสเปนมาถึงคอสตาริกาครั้งแรกใน ค.ศ.1502 และเป็นผู้ตั้งชื่อดินแดนชายฝั่งว่า “la costa rica”ซึ่งหมายถึง”ชายฝั่งอันมั่งคั่ง” และจึงกลายมาเป็นชื่อประเทศในปัจจุบัน
ต่อมาสเปนเข้ายึดครองดินแดนนี้เป็นอาณานิคมราว ค.ศ.1524 โดยถือเป็นมณฑลหนึ่งขึ้นกับผู้ว่าการ”สเปนใหม่”ที่เม็กซิโก ซึ่งดินแดนอเมริกากลางจะแบ่งเป็น 5 มณฑล คือ กัวเตมาลา นิการากัว ฮอนดูรัส เอลซัลวาดอร์ และ คอสตาริกา ในระยะนี้ ชาวสเปนได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในคอสตาริกามากขึ้นและพบว่าไม่ได้เป็นดินแดนมั่งคั่งตามชื่อ ยิ่งกว่านั้น คอสตาริกาถือว่าอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางที่เม็กซิโก ถูกทอดทิ้งเพราะไม่มีทรัพยากรที่มีค่าเช่นโลหะเงินหรือทอง จึงถือเป็นดินแดนที่ยากจนและด้อยพัฒนาที่สุดในกลุ่มอาณานิคมของสเปน การผลิตในคอสตาริกาขึ้นกับเจ้าดินขนาดย่อย ไม่มีการสร้างไร่ขนาดใหญ่ที่ดินแดนนี้ พืชผลที่ปลูกคือข้าวโพด ถั่ว และปลูกอ้อยกับยาสูบสำหรับขายต่างประเทศ
ในระยะ ค.ศ.1810-1821 ดินแดนลาตินอเมริกาได้ก่อการปฏิวัติแยกตัวจากสเปน และนำมาซึ่งการประกาศเอกราชของเม็กซิโก เมื่อ.ศ.1810 อันนำมาซึ่งสงครามระหว่างสเปนกับเม็กซิโกจนถึง ค.ศ.1821 ดังนั้น ดินแดนอเมริกากลาง 5 มณฑลก็ได้ประกาศเอกราชจากสเปนในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1821 แต่ยังคงถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเม็กซิโก จนถึง ค.ศ.1823 กลุ่มรัฐอเมริกากลางจึงประกาศความเป็นอิสระและปกครองตนเองด้วยระบอบสาธารณรัฐ โดยตั้งเป็น”สหมณฑลอเมริกากลาง” หวังจะให้มีลักษณะการบริหารแบบสหรัฐอเมริกา แต่ความขัดแย้งระหว่างมณฑล ทำให้สหพันธรัฐล้มเหลว เมื่อนิการากัวและคอสตาริกา แยกตัวเมื่อ ค.ศ.1838 จากนั้น รัฐอื่นก็แยกตัวเป็นเอกราช
ในระยะนี้ คอสตาริกาเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะดินแดนที่ผลิตกาแฟ เพราะเขตเทือกเขาตอนกลางของประเทศ มีพื้นดินอันเหมาะสมที่จะปลูกกาแฟอาราบิกา ในที่สุด คอสตาริกากลายเป็นประเทศที่มีฐานะดีขึ้นด้วยการส่งออกกาแฟคุณภาพสูง อังกฤษกลายเป็นตลาดสำคัญของกาแฟจากคอสตาริกา และในขณะนั้น กาแฟกลายเป็นที่มาของเงินตราต่างประเทศถึง 90 % ของคอสตาริกา
ใน ค.ศ.1856 วิลเลียม วอล์คเกอร์ นักเผชิญโชคชาวอเมริกัน รวบรวมนักรบรับจ้างจำนวนหนึ่งเข้ายึดอำนาจในนิการากัว ตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดีและรื้อฟื้นระบอบทาส วอล์คเกอร์พยายามขยายอำนาจเข้าสู่คอสตาริกา รัฐบาลคอสตาริกาส่งกองทัพไปป้องกัน ทหารระดับพลคนหนึ่งชื่อ ฮวน ซานตามาเรีย ได้ถือไฟเข้าไปเผาค่ายของฝ่ายศัตรู ทำให้คอสตาริกาชนะในการสู้รบ แต่ซานตามาเรียสละชีวิต ปัจจุบันถือว่าเขาเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ สนามบินนานาชาติของคอสตาริกาจึงตั้งชื่อว่า สนามบินฮวนซานตามาเรีย
ต่อมาจากกาแฟ กล้วยหอมได้กลายมาเป็นสินค้าออกสำคัญ โดยรัฐบาลคอสตาริกาเปิดทางให้นักลงทุนจากอเมริกา มาลงทุนปลูกกล้วยหอมในประเทศ และเริ่มส่งออกไปยังอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ.1890 กลับกลายเป็นว่ากล้วยหอมคอสตาริกาเป็นที่นิยมในอเมริกาอย่างรวดเร็ว ในที่สุด สินค้ากล้วยหอมก็แซงหน้ากาแฟ และคอสตาริกากลายเป็นประเทศผลิตกล้วยหอมรายใหญ่ที่สุดของโลกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
คอสตาริกาในระยะแรกก็เริ่มต้นเหมือนประเทศอเมริกากลางอื่น คือ ฝ่ายขุนศึกจะทำรัฐประหารเพื่อคุมอำนาจ ค.ศ.1842 ฟรานซิสโก โมราซาน ผู้นำคนสุดท้ายของสหมณฑลอเมริกากลาง ยึดอำนาจในคอสตาริกา แล้วตั้งตนเป็นผู้เผด็จการ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประชาธิปไตยของคอสตาริกาเริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1869 เมื่อเกิดการเลือกตั้งเสรีครั้งแรก จากนั้นระบอบรัฐสภาของประเทศก็พัฒนาอย่างค่อนข้างราบรื่น มีเพียงเมื่อ 27 มกราคม ค.ศ.1917 พล.อ.เฟแดริโก ทิโนโก กราเนดอส รัฐมนตรีกลาโหม ก่อการรัฐประหารแล้วดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ถูกประชาชนทั่วประเทศต่อต้าน และสหรัฐอเมริกาก็ไม่รับรอง จนถึง 13 สิงหาคม ค.ศ.1913 เฟแดริโกต้องลาออกแล้วไปลี้ภัยต่างประเทศ กระบวนประชาธิปไตยจึงดำเนินต่อมา
จากนั้น ในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1948 ซึ่งพรรคเอกภาพแห่งชาติชนะเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่ถูกโจมตีว่าทุจริต และนำมาซึ่งสงครามกลางเมือง 44 วัน ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 2,000 คน ในปีต่อมา ผู้นำฝ่ายปฏิวัติ คือ โฮเซ่ ฟิแกเรส แฟรแร ได้ตั้งตนเป็นประธานาธิบดีรักษาการ เขาเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่ศัตรู และประเทศยังสามารถรักษาสันติภาพได้โดยไม่ต้องมีทหารประจำการ ดังนั้นจึงยกเลิกกองทัพทั้งหมด จึงเป็นการปิดฉากการแทรกแซงทางการเมืองของทหารมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้ประชาธิปไตยคอสตาริกามั่นคงกว่าประเทศลาตินอเมริกาอื่น ต่อมา การพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย ได้นำประเทศคอสตาริกาก้าวหน้าเหนือประเทศอื่นในอเมริกากลาง และเป็นประเทศที่ชื่อว่าสงบสันติที่สุด
การพัฒนาของลัทธิสังคมประชาธิปไตยในคอสตาริกา ยังนำมาซึ่งการสร้างสวัสดิการแก่ชนชั้นกรรมกร และคนยากจน และการเร่งนโยบายให้ประชาชนรู้หนังสืออย่างรวดเร็ว ทำให้คอสตาริกากลายเป็นประเทศที่มีสวัสดิการมากที่สุด และมีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุดในอเมริกากลาง และทำให้คอสตาริกาหลีกเลี่ยงสงครามปฏิวัติจากกลุ่มฝ่ายซ้าย ทั้งที่ขบวนการปฏิวัติในนิการากัว เอลซัลวาดอร์ และ กัวเตมาลา มีอิทธิพลอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา
เศรษฐกิจคอสตาริกาแต่เดิมขึ้นกับการส่งออกกาแฟ กล้วยหอม และเนื้อวัว แต่ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา สินค้าส่งออกทางเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้พัฒนามากขึ้น และกลายเป็นที่มาของรายได้หลักของประเทศแทนที่สินค้าเกษตร โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการขายบริการทางการแพทย์ระหว่างประเทศ กลายเป็นที่มาสำคัญของรายได้ของคอสตาริกาปัจจุบัน
สรุปตัวอย่างจากประเทศที่เคยด้อยพัฒนาอย่างคอสตาริกา เราก็จะเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง และปราศจากการรัฐประหาร ก็สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้ และการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีข้อดีเหนือระบบอื่นคือ สิทธิมนุษยชนก็ได้รับการเคารพ เสียงของประชาชนคนรากหญ้าก็จะมีความสำคัญ ระบบการเมืองที่ใช้อำนาจปืนยึดอำนาจ กำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องที่ล้าหลังอย่างยิ่ง ไม่สมควรจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และสมควรแล้วที่ประเทศอันมีระบบการเมืองเหลวไหลอย่างนั้น จะถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย