http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-07-09

พิชญ์: นักรัฐศาสตร์ในโลกตอนนี้เขาคุยอะไรกัน?

.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : นักรัฐศาสตร์ในโลกตอนนี้เขาคุยอะไรกัน?
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1404832716
. . วันพุธที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 09:31:08 น.
( ที่มา:  นสพ.มติชนรายวัน 8 ก.ค.57 )


เพิ่งได้รับจดหมายข่าว Comparative Democratization ฉบับล่าสุด คือ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็เลยอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังสักหน่อยว่า ตอนนี้วงการรัฐศาสตร์ระดับโลกเขาคุยอะไรกัน เพราะแต่ละวงการวิชาการเขาก็จะมีชุมชนของเขาที่จะพยายามตอบคำถามบางอย่างด้วย การเป็นนักวิชาการก็จะต้องรู้ "กระแส" เหล่านี้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องตามกระแสไปทั้งหมด เพราะเรื่องที่เราสนใจอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ใครหลายคนสนใจก็ได้ และก็ไม่แน่ว่าเรื่องที่เราสนใจแล้วคนอื่นไม่ค่อยจะสนใจนั้น อาจจะกลายเป็นเรื่องที่คนอื่นสนใจในอนาคตก็ได้

เรื่องแรก ที่ต้องเข้าใจก่อนนะครับ ว่าเมื่อพูดถึงวงการรัฐศาสตร์ในระดับโลกแล้ว ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา อย่างน้อยก็เพราะเป็นประเทศใหญ่ เป็นประเทศมหาอำนาจ ที่มีการเรียนการสอนรัฐศาสตร์มากมาย รวมทั้งเป็นหนึ่งในตัวแบบสำคัญของการเมืองการปกครองที่เรียกว่าระบอบประธานาธิบดี รวมทั้งให้กำเนิดลักษณะการศึกษารัฐศาสตร์ในแบบที่อิงกับการค้นคว้าวิจัยด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อยู่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

และในสาขาที่สำคัญของรัฐศาสตร์ก็คือสาขาที่ชื่อว่า "การเมืองเปรียบเทียบ" (comparative politics) ซึ่งให้ความสนใจกับการเปรียบเทียบพัฒนาการและโครงสร้างทางการเมืองทั้งโลก ไม่ใช่ของอเมริกาเองเท่านั้น
และที่จะพูดถึงเรื่องนี้ก็เพราะจุลสาร Comparative Democratization ซึ่งอาจจะแปลว่า ประชาธิปไตยภิวัฒน์ เปรียบเทียบ หรือการจรรโลงประชาธิปไตย หรือการเปรียบเทียบกระบวนการการทำให้เกิดประชาธิปไตย นี่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งพิมพ์ของ The American Political Science Association หรือสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน ซึ่งเป็นสมาคมที่เป็นเสาหลักของวงการรัฐศาสตร์โลก ที่มีการประชุมประจำปีเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการรัฐศาสตร์ของโลกนั่นแหละครับ สมาคมนี้ก่อตั้งตั้งแต่ปี ค.ศ.1903 และมีสมาชิกมากกว่า 80 ประเทศครับ


เรื่องที่สอง คือ ในจดหมายข่าวฉบับล่าสุดนี้ เป็นการรวบรวมตีพิมพ์ข้อเสนอและข้อค้นพบทางวิชาการจากการสัมมนาที่ว่าด้วยเรื่อง democratic consolidation ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สำคัญมากในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบในสมัยนี้ ซึ่งถ้าจะแปลกว้างๆ เป็นภาษาไทย ก็น่าจะแปลว่า การผนึกประสานประชาธิปไตยให้เป็นหนึ่งเดียว
ซึ่งในแง่นี้ก็เป็นหนึ่งในการตีความว่าเราจะมีความสามัคคีในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร ในความหมายว่า เราจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยนั้นเป็น "กฎกติกาเดียวที่ใช้ในบ้านเมืองของเรา" (the only game in town) โดยไม่หันไปหากฎกติกาอื่น

หรืออีกทางหนึ่ง ผมจะขออนุญาตเสนอและแปลว่า เราจะสร้าง "สามัคคีประชาธิปไตย" ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

อธิบายเพิ่มขึ้นอีกนิด หลายคนอาจจะ "ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย" จากระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งในอดีตเราก็คงจะพบกับทฤษฎีแบบที่ว่าด้วยการปฏิวัติอยู่มาก แต่สิ่งที่วงการรัฐศาสตร์สมัยหลังเขาสนใจก็คือ ในหลายประเทศที่เพิ่งได้มาซึ่งประชาธิปไตยนั้น เขาจะรักษาประชาธิปไตยให้มันสถิตสถาพรได้อย่างไร ไม่ใช่มาแล้วก็พัง คือพังในลักษณะที่ใช้ไม่ได้ และ/หรือ นำไปสู่การพังทลายลงด้วยการใช้กฎกติกานอกประชาธิปไตยมาทำลายมันลงไป

เอาเป็นว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ที่นั้น บางคนก็จะสนใจว่าคนที่ทำลายนั้นผิดหรือไม่ผิด แต่บางคนก็พยายามมองต่อไปว่าจะไม่ทำให้มันเกิดขึ้นอีกได้อย่างไร

และนอกจากปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายนอก เช่น ความเข้มแข็งของทหารเองที่มีอำนาจเหนือกว่าในทางกำลังแล้ว เราจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยที่เราได้มานั้นมันแข็งแรง ยืนนาน กว่าสีทาบ้านที่ชอบโฆษณากันนั่นแหละครับ



ผมขออนุญาตกล่าวถึงบทความสี่ชิ้นในจดหมายข่าวประชาธิปไตยภิวัฒน์เปรียบเทียบฉบับนี้ (พฤษภาคม 2014) ซึ่งประกอบด้วยงานสี่ชิ้นคือ "คุณภาพของรัฐบาลและการสร้างสามัคคีประชาธิปไตย" "รากฐานทางรัฐธรรมนูญ/การจัดการอำนาจของการสร้างสามัคคีประชาธิปไตย" "ทำไมนักวิชาการด้านประชาธิปไตยจำเป็นต้องเรียนรู้มากขึ้นเรื่องการสร้างรัฐ" และ "ผนังทองแดงกำแพงเหล็กแห่งรัฐ และการทำให้ประชาธิปไตยนั้นลงหลักปักฐาน"

1. คุณภาพของรัฐบาลและการสร้างสามัคคีประชาธิปไตย (Quality of Government and Democratic Consolidation) เป็นงานของศาสตราจารย์ Bo Rothstein แห่งมหาวิทยาลัย Gothenburg ประเทศสวีเดน ซึ่งโบเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในเรื่องของการศึกษาเรื่องของการสร้างสามัคคีประชาธิปไตย ซึ่งประเด็นที่โบนำมาวิเคราะห์ก็คือการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของสงครามกลางเมืองสองเหตุการณ์ที่นำไปสู่การล่มสลายลงของระบอบประชาธิปไตยในยูโกสโลวาเกีย เมื่อ 1991 และสงครามกลางเมืองในสเปน เมื่อ 1936 ในฐานะที่ความขัดแย้งทางการเมือง (ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่มีเป็นธรรมชาติและเป็นปกติอยู่แล้ว) ได้ยกระดับขึ้นมาจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง และทำให้เห็นว่า การพยายามสร้างกฎกติกาประชาธิปไตยให้เป็นทางออกของปัญหานั้นล้มเหลว

กล่าวโดยสรุปจากบทเรียนประวัติศาสตร์ของสงครามกลางเมืองทั้งสองกรณีนั้น โบเห็นว่าความชอบธรรมทางการเมืองที่ลดลงของรัฐบาลและระบอบการเมืองโดยรวม
รวมไปถึงความล้มเหลวในการสร้างสามัคคีประชาธิปไตยนั้นล้วนได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยทางด้าน "ปัจจัยนำออก" ของระบบการเมือง (output) มากกว่า "ปัจจัยด้านนำเข้า" ของระบบการเมือง


พูดแบบที่นักรัฐศาสตร์ทุกคนต้องร้องอ๋อ ก็คือ ถ้าเราตั้งหลักการเข้าใจรัฐศาสตร์ในแบบที่ David Easton อธิบายว่า ระบบการเมืองคือการทำงานของการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าโดยใช้สิทธิอำนาจ (ขอโทษผู้อ่านทั่วไปสักหน่อย แต่บางครั้งก็ต้องชี้แจงบ้างว่ารัฐศาสตร์เขาร่ำเรียนกันจริงจังเหมือนกัน ไม่ใช่มั่วไปเรื่อย)
โดยระบบการเมืองนั้นอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและมีทั้งส่วนที่เป็นปัจจัยนำเข้า (ข้อเรียกร้องและการสนับสนุน) ส่วนของกระบวนการตัดสินใจ และปัจจัยนำออก (นโยบาย) ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการสะท้อน (feedback) กลับไปยังปัจจัยนำเข้าอีกทีเป็นรอบๆ ไป ก็จะพบว่า ประชาธิปไตยนั้นจะยั่งยืนและเป็นกฎกติกาที่ทุกคนใช้มันร่วมกันในบ้านในเมืองได้ และความชอบธรรมทางการเมืองจะมีอยู่ได้หรือไม่

สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่เรื่องของสิทธิในทางการเมืองแบบประชาธิปไตย หรือการมีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่จะมาเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ต้องหมายถึงการทำให้เราสามารถตรวจสอบ ควบคุมการทำงานของระบอบการเมืองนั้นได้ เช่น การปราบปรามคอร์รัปชั่น ประสิทธิภาพของรัฐบาล และหลักนิติรัฐ


ทั้งหมดนี้จากงานวิจัยพบว่าประชาชนในหลายๆ ประเทศนั้นเห็นว่าสำคัญกว่าการอ้างสิทธิประชาธิปไตย (เช่น การเลือกตั้ง) หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ การที่ประชาชนจะพอใจกับระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เพียงเพราะว่าเป็นระบอบที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องหมายถึงประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และการมีระบบราชการที่ไม่เข้าข้างนักการเมือง และมีประสิทธิภาพต่างหาก

ส่วนหนึ่งในคำอธิบายของโบก็คือว่า ทำไมประชาชนให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการประเทศมากกว่าเรื่องของการเลือกตั้งในฐานะเงื่อนไขสำคัญของความชอบธรรมของระบอบการเมือง และความยั่งยืนของประชาธิปไตย ก็เพราะว่า อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งไม่ไปเลือกตั้ง หรือรู้สึกว่าพรรคที่ตนชอบ คนที่ตนชอบยังไงก็ไม่ได้รับเลือก ดังนั้น การไปเลือกตั้งในฐานะการส่งปัจจัยนำเข้าไปสู่ระบบการเมืองนั้นไม่ได้มีความหมายกับพวกเขาขนาดนั้น หรือแม้กระทั่งเด็กที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับส่วนปัจจัยนำเข้า

แต่กระนั้นก็ตามไม่ว่าคุณจะไปเลือกตั้งหรือเปล่า นโยบายทุกอย่างก็จะส่งผลกระทบย้อนกลับมาหาทุกคนในระบบการเมืองอยู่ดี ทั้งการศึกษา การสาธารณสุข หรือความปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดนี้ชี้ว่าการพิจารณาประชาธิปไตยจากปัจจัยนำออกก็เป็นเรื่องสำคัญที่เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งนั่นก็คือที่มาของการพยายามสร้างตัวชี้วัดในเรื่องหลักธรรมาภิบาล (good governance)


อย่างไรก็ตาม การจะทำความเข้าใจงานของโบให้ลึกซึ้ง เราต้องเข้าใจว่าโบมุ่งมั่นที่จะทำให้ประชาธิปไตยนั้นทำงานได้ ซึ่งการตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น และการป้องกันการคอร์รัปชั่น และการสร้างตัวชี้วัดที่ดีในการทำงานของรัฐบาลนั้นจะเป็นสิ่งที่ประชาชนรู้สึกว่าระบบนี้เป็นธรรม แต่โบไม่ได้บอกว่าไม่ต้องมีเลือกตั้ง หรือถ้าจะมองกันอีกแบบก็คือ โบต้องการชี้ว่าแม้ในพื้นที่ที่ผู้สมัครนั้นไม่ได้เป็นรัฐบาล การให้บริการสาธารณะอย่างทั่วถึง และไม่มีการคอร์รัปชั่น หรือเล่นพวกนั้นต่างหากที่จะทำให้คนทั้งหมดนั้นรู้สึกว่าประชาธิปไตยมันมีคุณค่ากับทุกคน อาทิ คนกลุ่มน้อยที่ยังไงก็ไม่มีทางจะได้เป็นรัฐบาล แต่เขาก็ยังรู้สึกว่าเขาได้รับสิ่งต่างๆ จากรัฐบาล

ดังนั้นในแง่นี้ ผมคิดว่าจากเดิมที่รัฐศาสตร์อาจจะสนใจเฉพาะเรื่องปัจจัยนำเข้าก็คงจะต้องสนใจเรื่องปัจจัยนำออกอย่างจริงจัง แต่ไม่ใช่ว่าจะมองว่าแก้ด้านเดียวแล้วจะจบ หรือเราจะต้องมองคนที่เห็นต่างจากเราว่าเน้นกันคนละด้านของการสร้างสามัคคีประชาธิปไตยมากกว่า


2. รากฐานทางรัฐธรรมนูญ/การจัดการอำนาจของการสร้างสามัคคีประชาธิปไตย (The Constitutional Foundations of Democratic Consolidation) เป็นงานของศาสตราจารย์ Jose Antonio Cheibub จากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งพยายามชี้ประเด็นที่สำคัญในข้อถกเถียงหนึ่ง ซึ่งแทบจะถือว่าเป็นทฤษฎีหลักของการพูดถึงการสร้างสามัคคีประชาธิปไตย ที่พยายามจะบอกว่าระบอบประธานาธิบดีนั้นเป็นระบอบที่นำไปสู่ความแตกแยกและล่มสลายของสังคมได้มากกว่าระบอบรัฐสภา (นายกรัฐมนตรี) ในกรณีประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ ซึ่งถือว่า Juan Linz นั้น เป็นเจ้าพ่อทฤษฎีนี้ และก็มีอิทธิพลอยู่มากในการถกเถียงในเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญของบ้านเราเช่นกัน สำหรับนักรัฐศาสตร์หลายคนที่สมาทานความคิดนี้ ที่แปลงความคิดต่อมาว่า ฝ่ายบริหารไม่ควรมีอำนาจมากเกินไป และกินรวบได้

แนวคิดแบบ Linzian ชี้ว่าฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงนั้น อาจจะมีความเข้มแข็งมาก แม้อาจจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีในแง่ของความนิยมและความชอบธรรมที่ได้จากการเลือกตั้ง แต่หากการทำงานของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติไม่สอดประสานกันแล้ว หรือสอดประสานกันมากเกินไปจนขาดการเจรจาต่อรองประนีประนอมกับอำนาจอื่น เพราะระบบฝ่ายบริหารเข้มแข็งและมาจากการเลือกตั้งทางตรงนั้น อาจจะทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการแสวงหาความร่วมมือกับฝ่ายอื่นๆ เพราะขาดกลไกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายใน อาทิ ระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติ เช่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือฝ่ายที่ไม่มีอำนาจอาจเลือกใช้กลไกนอกสภา เช่น ประท้วงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล หรือใช้กำลังทหารในการจัดการ

อย่างไรก็ตาม โฮเซ่เสนอว่า การจะพิจารณาเรื่องของปัญหาของฝ่ายบริหารมีอำนาจมากในแบบประธานาธิบดีในฐานะที่ทำให้เกิดความเปราะบางของประชาธิปไตยนั้น ในวันนี้อาจจะต่างจากเดิม ที่ในยุคเก่านั้นประเทศที่ประชาธิปไตยพังทลายเพราะมีประธานาธิบดีหรือฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งนั้นมักจะไปโดยรัฐประหาร โดยเฉพาะในลาตินอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970
แต่ในวันนี้ การรัฐประหารโดยทหารนั้นไม่ค่อยจะเกิดขึ้นแล้ว แต่จะพบว่าการพังทลายลงของประชาธิปไตยในวันนี้เกิดจากระบอบเผด็จการที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเอง ซึ่งพยายามที่จะสร้างความได้เปรียบของพวกตน และลดโอกาสแข่งขันจากคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งหากจะทำให้เกิดสามัคคีประชาธิปไตยได้นั้น จะต้องทำให้รัฐบาลที่อยู่ในตำแหน่งนั้นไม่ลดโอกาสคนกลุ่มอื่นๆ ในกระบวนการเลือกตั้ง

นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยใหม่ๆ ยังพบว่า ประชาธิปไตยจะยั่งยืนได้นั้นรัฐบาลจะต้องไม่มีเสียงสนับสนุนมากเสียจนไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้ทำงาน หรือในบางครั้งความมหัศจรรย์ของประชาธิปไตยอาจจะเกิดขึ้นได้จากการมีรัฐบาลเสียงข้างน้อย และการมีการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐบาลกับสภาเสียอีก เพราะทำให้จะต้องเจรจาต่อรองกัน หรือหมายถึงว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการเข้าใจว่าการทำงานที่ดีนั้นไม่ได้หมายถึงความรวดเร็วและไม่มีข้อขัดแย้ง มาสู่การทำให้เกิดการเจรจาและทำให้เกิดความขัดแย้งกันในอำนาจบริหารกับนิติบัญญัติที่สามารถใช้กฎกติการ่วมกันได้

ซึ่งในแง่นี้ไม่สามารถบอกได้ง่ายๆแล้วว่า ระบอบประธานาธิบดีหรือฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งนั้นจะเป็นพวกที่สร้างปัญหาเท่านั้น แต่อาจจะต้องมองว่าทุกฝ่ายจะต้องเข้มแข็งทั้งหมด และไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัวว่าระบอบไหนดีกว่าระบอบไหนแบบง่ายๆ อีกต่อไป


3. ทำไมนักวิชาการด้านประชาธิปไตยจำเป็นต้องเรียนรู้มากขึ้นเรื่องการสร้างรัฐ (Why Democratic Scholars Need to Learn More about State-Building) เป็นงานของศาสตราจารย์ Sheri Berman จากวิทยาลัย Barnard ซึ่งพยายามชี้ให้เห็นความสำคัญในการเข้าใจประวัติศาสตร์การเกิดรัฐสมัยใหม่ของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะการพยายามทำความเข้าใจเงื่อนไขในการรวมศูนย์อำนาจของแต่ละรัฐในฐานะปัจจัยสำคัญในการสร้่างรัฐสมัยใหม่ ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจนั้นเป็นฐานของการเกิดรัฐสมัยใหม่ และกองทัพในช่วงรวมศูนย์อำนาจในยุโรปนั้นเอาเข้าจริงใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการจัดการกับความขัดแย้งภายในประเทศในนามของการปราบกบฏไม่น้อยไปกว่าการต้อสู้กับศัตรูจากภายนอกประเทศ นับตั้งแต่ศควรรษที่ 17-19 ซึ่งก็หมายถึงการรบรากันเป็นระยะเวลาข้ามศตวรรษกันทีเดียว
และก็ยังยืนยันให้เห็นข้อเสนอของนักวิชาการยุคก่อนอย่าง Tilly ที่ว่า รัฐนั้นไม่ได้สร้างสงครามเท่านั้น แต่สงครามหรือเงื่อนไขการมีสงครามต่างๆ นั้นก็สร้างรัฐด้วย
ดังนั้น ลักษณะบางอย่างในทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามในแบบไก่กับไข่ว่า ตกลงสงครามหรือการรวมอำนาจนั้นเป็นเหตุ หรือ เป็นผลกันแน่ และศาสตราจารย์เชอริเห็นว่าในกรณียุโรปนั้นความพยายามของผู้นำในการรวมอำนาจและสร้างรัฐเป็นเงื่อนไขให้เกิดสงคราม ความวุ่นวาย และความรุนแรงมากกว่าที่จะบอกว่า ความวุ่นวายและความรุนแรงนั้นเป็นเหตุที่จะต้องรวมอำนาจและใช้กำลังทหาร และที่สำคัญเป็นข้อสรุปก็คือ การพยายามรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางนั่นแหละคือหัวใจของการสร้างรัฐสมัยใหม่นั่นเอง
ซึ่งเราก็คงจะต้องคิดต่อไปว่ารัฐสมัยใหม่นั้นจะสามารถกระจายอำนาจได้มากน้อยเพียงใด เพราะมันกระทบรากฐานของตัวของมันเองตั้งแต่แรก


4. ผนังทองแดงกำแพงเหล็กแห่งรัฐ และการทำให้ประชาธิปไตยนั้นลงหลักปักฐาน (State Firewalls and Democratic Deepening) ของทีมนักวิชาการจาก University of Gothenburg และ Arrhus University ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะทีมวิจัยนี้เสนอประเด็นที่น่าสนใจ(แต่ต้องใช้ให้ถูก)ว่า เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการสร้างสามัคคีประชาธิปไตยได้นั้นจะต้องพิจารณาในส่วนของการพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างการกำหนดนโยบาย และการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างความเป็นอิสระของฝ่ายข้าราชการออกจากฝ่ายการเมือง

เรื่องนี้ไม่ง่ายแค่ว่าห้ามแทรกแซงข้าราชการ แบบที่หลายคนฝันเอาไว้ แต่จะต้องหาความพอเหมาะพอดีให้ได้ต่างหาก เพราะถ้าไม่แทรกแซงเลยเราก็จะไม่มีหลักประกันในสังคมประชาธิปไตยว่าข้าราชการจะทำงานภายใต้การตรวจสอบของประชาชน แต่ในอีกด้านก็คือถ้าควบคุมมากเกินไป ในแง่ให้นักการเมืองมาคุมข้าราชการ สิ่งที่จะได้ตามมาอาจไม่ใช่การบริหารที่ดี
แต่จะเกิดการอุปถัมภ์ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการมากกว่าเรื่องการบริหารตามนโยบาย เพราะนักการเมืองจะเลือกข้าราชการเข้ามาเป็นพวก มากกว่านักการเมืองจะทำงานในระดับนโยบาย และจะทำให้การเมืองแทรกเข้ามาในระบบราชการ และอาจทำให้เป้าหมายทางนโยบายจริงๆ เสียไป เพราะมีแต่คน "สนองงาน" แต่อาจไม่ได้เป็นเรื่องของเป้าหมายในระดับหลักการที่จะต้องไม่ก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์และการคอร์รัปชั่น และทำให้ฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งต้องรอมาแบ่งเค้กในรอบต่อไป หรืออาจจะหันไปชุมนุมโค่นรัฐบาลแทน 
คำถามก็คือทำเช่นนี้แล้วจะมีรัฐบาลไปทำไม?


คําตอบของทีมวิจัยนี้ก็น่าสนใจ เขามองว่าต้องมีประชาสังคมหรือภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เพราะภาคประชาชนจะคอยตรวจสอบข้าราชการ แล้วนักการเมืองเองก็ทำงานคู่กันไป
ในกรณีนี้ภาคประชาสังคมเองก็จะไม่ต้องวิ่งเข้าหารัฐบาลแบบมายื่นหมูยื่นแมวเพื่อให้มาคุมระบบราชการ แต่หมายถึงว่าภาคประชาชนนั่นแหละจะเป็นตัวคานอำนาจและความรู้เชิงเทคนิคของระบบราชการที่ชอบอ้างนักอ้างหนาว่ามีเช่นกัน ทีนี้สังคมก็จะเห็นทั้งสองด้าน นักการเมืองก็จะได้ตัดสินใจแบบไม่แทรกแซงข้าราชการรายคน หรือไปสัญญาแบบอุปถัมภ์กับภาคประชาชนเพราะมีอำนาจเหนือระบบราชการแบบอำเภอใจ ดังนั้น ดุลอำนาจก็จะเกิดได้ แล้วประชาธิปไตยก็จะยั่งยืน และผลประโยชน์ก็ตกอยู่ทุกกลุ่ม ไม่ใช่อยู่แต่คนที่ชนะเลือกตั้ง
ดังนั้น คนที่จะชนกับระบบราชการคือภาคประชาชน ที่จะต้องสู้แบบมีส่วนร่วม ผ่านการตรวจสอบคุณภาพที่ทุกฝ่ายจับตามอง ไม่ใช่สู้แบบคุยกับนักการเมืองและได้ตำแหน่ง และนักการเมืองก็มาจากการนำเสนอนโยบายภาพรวมให้ประชาชนซึ่งเป็นทั้งคนในระบบราชการและภาคประชาชนตัดสิน

นั่นแหละครับ สิ่งนี้ก็จะทำให้รัฐมีสมรรถนะที่ดีและการมีส่วนร่วมทำอย่างจริงจัง และประชาธิปไตยทั้งปัจจัยนำเข้าและนำออกนั้นพัฒนาขึ้นและยั่งยืน

ยาวแล้วครับขอจบเท่านี้แล้วกันครับผม สรุปสั้นๆ ก็คือเราจะปฏิรูปหรือเลือกตั้งก่อนกันไม่ใช่ประเด็นเท่ากับต้องทำกันอย่างต่อเนื่องครบวง เพื่อให้เกิดสามัคคีประชาธิปไตยนั้นแหละครับ



........................................................................
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline


.