http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-06

ทวงคืน "น้ำแต้ม ลายคำ ลำปาง" อนุสติกรมศิลปากร อนุรักษ์หรือทำลาย? (1) โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

ทวงคืน "น้ำแต้ม ลายคำ ลำปาง" อนุสติกรมศิลปากร อนุรักษ์หรือทำลาย? (1)
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1651 หน้า 76


สองสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวใหญ่เกิดขึ้นในแวดวงศิลปกรรมล้านนา เมื่ออาจารย์ท่านหนึ่ง แห่งภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร้องทุกข์ต่อกรณีที่กรมศิลปากรมอบหมายให้บริษัทจ้างเหมาดำเนินการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง ภายในวิหารพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี เสียจนเละตุ้มเป๊ะใหม่เอี่ยมเรี่ยมเร้ ผิดหูผิดตาไปจากหลักฐานภาพถ่ายเก่าดั้งเดิม

แต่แล้วเมื่อเรื่องนี้กระหึ่มขึ้น กลับกลายเป็นว่า จำเลยตัวจริงหาใช่กรมศิลป์ไม่ แต่กลับกลายเป็นเจ้าอาวาสวัดที่ถือวิสาสะดำเนินการละเลงพอกทองเพิ่มเติมเพราะอยากให้โดดเด่นแวววาวสะดุดตา ภายหลังจากที่กรมศิลป์ตรวจรับงานเสร็จไปแล้ว

ที่น่าแปลกใจก็คือไยบริษัทรับเหมาที่เคยร่วมงานกับกรมศิลป์มากว่า 10 ปี ก็พลอยสนองความต้องการของพระเดชพระคุณเจ้าตามไปด้วย

เรื่องนี้ไม่ว่าวัดหรือว่ากรมศิลป์จักเป็นจำเลยของสังคมก็ตาม แต่เชื่อว่ากรมศิลป์ย่อมได้อนุสติเตือนใจ ให้เร่งทบทวนผลงานภายใต้ชื่อโครงการอนุรักษ์ที่ผ่านมาหลายสิบปี และที่กำลังดำเนินการอยู่หลายร้อยกว่าโครงการนั้น ว่าแท้จริงแล้วผลลัพธ์ของมัน บรรลุเป้าหมายของการอนุรักษ์มากน้อยเพียงไร

ฤๅยิ่งอนุรักษ์ยิ่งกลับกลายเป็นการทำลาย?



คำท้วงติงที่ต้องขอบคุณ

โชคดีเพียงไรหนอ ที่สังคมไทยยังมีคนกล้าออกมารับบท "หนังหน้าไฟ" วิพากษ์วิจารณ์ความไม่ชอบมาพากลขององค์กรรัฐอย่างตรงไปตรงมา

เพราะหลังจากข่าวนี้ได้แพร่สะพัด พลันเสียงซุบซิบแห่งความคับข้องใจที่เก็บกดไว้จากหลายฝักหลายฝ่าย ต่างกล้าระเบิดระบายตามติดมาไม่ขาดระยะ ในทำนองว่า นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรก และไม่ใช่เหตุการณ์เดียวแห่งความผิดพลาดของกรมศิลปากร

ไปถามใครดูก็ได้ ว่ารู้สึกรำคาญหูรำคาญตากับรูปทรงเพรียวชะลูดแหลมสูงผิดปกติของ "พุ่มปรางค์" ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ กันมากน้อยแค่ไหน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าการบูรณะนั้น เคยมีทรวดทรงองค์เอวงดงามพอเหมาะพอเจาะไม่เตี้ยไม่สูงจนเกินไป

หรือกรณีของการบุทองจังโก (แผ่นทองเหลืองผสมทองแดง) หุ้มองค์ระฆังของพระธาตุหริภุญไชย ก็เคยได้รับคำติฉินนินทามาจนแสบแก้วหูว่า ทำให้สัดส่วนโค้งมนขององค์เจดีย์ที่เคยค่อยๆ ลาดลงทีละน้อย กลายเป็นเส้นหักโค้งแบบเฉียบพลันจนดูกระด้าง

"บาดแผลอันอัปลักษณ์" ที่ได้รับภายหลังจากการซ่อมบูรณะโบราณสถานทั่วราชอาณาจักรนั้น สามารถจำแนกได้เป็นสามกรณี

ข้อแรก ซ่อมไม่ผิดรูปแบบ แต่ฝีมือหยาบกระด้าง ขาดความวิจิตรประณีต ทำแบบสุกเอาเผากิน ก็เพราะต้องเร่งรีบให้เสร็จทันก่อนปิดงบประมาณเดือนกันยายน ตามข้อกำหนดสัญญา มิเช่นนั้นจะถูกปรับ

ข้อสอง ซ่อมผิดรูปแบบโดยเจตนา ทั้งๆ ที่มีหลักฐานต้นฉบับก่อนซ่อมให้ดูอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ฝีมือไม่ถึง ไม่ลงทุนจ้างช่างที่มีความรู้ ซ้ำยังเขียมต้นทุนเนื่องจากประมูลมาในราคาดัมพ์สุดๆ ผลงานที่ออกมาจึงผิดเพี้ยนไปจากเดิมโดยคิดว่าคงไม่มีใครสังเกต

ข้อสาม ซ่อมเสร็จแล้วดูแปร่งๆ ชอบกล กรณีนี้เกิดขึ้นกับโบราณสถานที่อยู่ในสภาพเกือบพังทลาย จนไม่มีใครทราบรูปแบบเดิม แต่แล้วเมื่อซ่อมเสร็จดันอุตริเพิ่มนู่นเพิ่มนี่จนดูแล้วสับสนไม่รู้ว่าตรงกับศิลปะสมัยไหนกันแน่

ความผิดพลาดทั้งสามข้อนี้ ไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่งมักปรากฏขึ้นเสมอภายหลังจากการโครงการอนุรักษ์โบราณสถานเสร็จสิ้น

ทั้งๆ ที่กรมศิลปากรเคยประกาศ "กฎเหล็ก" อยู่เสมอว่า หัวใจของการอนุรักษ์นั้น ต้องอนุรักษ์ให้ครบองค์ 4 คือ อนุรักษ์รูปแบบศิลปกรรม อนุรักษ์วัสดุ อนุรักษ์ฝีมือช่าง และอนุรักษ์บรรยากาศสิ่งแวดล้อม

การอนุรักษ์รูปแบบศิลปกรรมเพื่อไม่ให้ผิดไปจากเดิม หากไม่แน่ใจต้องขอคำปรึกษาจากนักประวัติศาสตร์ศิลป์ และนักประณีตศิลป์ที่เป็นช่างเฉพาะทางคือ จิตรกร ประติมากร และสถาปนิก

การอนุรักษ์วัสดุ ทำได้ไม่ยากหากผู้รับเหมานั้นเลิกคิดค้ากำไรเกินควร ไม่ใช่เอาสีกระป๋องแดงแปร๊ดไปใช้แทนสีชาด หรือปิดหูปิดตาเอาอิฐมอญสำเร็จรูปก้อนละไม่กี่สตางค์คุณภาพต่ำ ไปใช้บูรณะแทนที่อิฐโบราณยุคทวารวดี ซึ่งใช้วิธีเผาแบบผสมแกลบต้องสุมไฟนานหลายคืน ก้อนหนึ่งอาจต้องลงทุน 30 บาท

เช่นเดียวกับการอนุรักษ์ฝีมือช่าง กรมศิลป์มักบอกกับใครๆ เสมอว่า อย่าเอาช่างภาคกลางไปอนุรักษ์งานศิลปกรรมภาคเหนือ งานของภูมิภาคไหนๆ ก็ให้ใช้ช่างพื้นถิ่นนั้นๆ เพราะมีกลิ่นอาย อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกัน

ทำให้สงสัยยิ่งนักว่า ช่างที่เอามาเขียนซ่อมภาพ "ลายคำน้ำแต้ม" บนฝาผนังวิหารพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวงนั้น ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของช่างให้ตรงตามกฎที่วางไว้นี้หรือไม่?

ประเด็นสุดท้ายคือ การอนุรักษ์บรรยากาศรายรอบ ก็อีกนั่นแหละวัดแห่งนี้นึกอย่างไรมิทราบถึงได้โค่นต้นลานขนาดใหญ่อายุหลายร้อยปี พร้อมๆ กับเริ่มเอาอิฐตัวหนอนไปปูทับลานทราย อ้างว่าเอื้อเฟื้อให้คนเดินสะดวก

มิรู้หรือไรว่าได้ทำลายสัญลักษณ์ของนทีสีทันดรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ (องค์พระธาตุเจดีย์) ซึ่งเคยเป็นจุดเด่นสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวลำปางมาแต่ไหนแต่ไร เพราะเหลืออยู่ไม่กี่แห่งแล้ว

การปูอิฐตัวหนอนสีแปร๋แปร้นทับลานทรายนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับวัดทั่วประเทศไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งๆ ที่แนวโน้มเรื่อง "ภูมิทัศน์วัฒนธรรม" กำลังอินเทรนด์ เรื่องของเรื่องก็คือ เพราะวัดต้องการลานรับฝากรถ หารายได้คันละ 20 บาท สาธุ!



ศักดิ์ศรีของนักโบราณคดีกับปัญหาระดับชาติ

เมื่อมีคนถามกรมศิลป์ว่า ทำไมต้องให้บริษัทจ้างเหมาเป็นผู้บูรณะ นักโบราณคดีหรือนายช่างศิลปกรรมของกรมศิลป์ หายไปไหนหรือ ทำไมจึงไม่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง

คำตอบก็คือ กรมศิลปากรมีนักโบราณคดีในสังกัดน้อยเต็มทน สำนักศิลปากรทั่วประเทศมีเพียง 15 เขต แต่ละเขตดูแลพื้นที่ปาไป 5-6 จังหวัด คุณจะเชื่อหรือไม่ว่าแต่ละสำนักศิลปากรมีนักโบราณคดีไม่เคยเกิน 3 คน

อุแม่เจ้า! นักโบราณคดีคนหนึ่งๆ ต้องแบกรับงานด้านวิชาการคนละ 2-3 จังหวัด แต่ละจังหวัดมีปัญหาร้อยแปดพันเก้า มิพักต้องมาเรียกร้องให้นักโบราณคดีทำหน้าที่อนุรักษ์โบราณสถานด้วยมือตัวเอง เท่าที่เห็นและเป็นอยู่สามารถเจียดเวลามาตรวจรับงานจากบริษัทจ้างเหมาได้ก็บุญโขแล้ว

นับแต่ภาครัฐมีนโยบายพิเรนทร์ ด้วยการไม่เพิ่มจำนวนบุคลากรในหน่วยงานของกรมศิลป์ คนที่มีอุดมการณ์เหมือนถูกจับสตั๊ฟ

ทางออกเดียวที่กรมศิลป์ทำได้คือการหันไปจ้างเหมาบริษัทเอกชนให้มาดำเนินการอนุรักษ์โบราณวัตถุโบราณสถานแทน

ผ่านไปเป็นระยะเวลานานกว่าสามทศวรรษ ปัญหาด้านคุณภาพที่ไร้มาตรฐานของบริษัทรับเหมาหาใช่เรื่องเดียวที่ส่งผลสะเทือนต่อกรมศิลป์

หากแต่ยังเกิดผลเสียอย่างร้ายแรงอีกเรื่องคือ ทำให้แวดวงวิชาการย่ำอยู่กับที่ไร้ความก้าวหน้า บรรยากาศของการนำเสนอผลงานที่ได้จากการขุดค้น ขุดแต่งโบราณสถานพลอยหายเข้ากลีบเมฆ

แต่เดิมนั้นคนที่ทำงานในกรมศิลป์ถือว่ามีศักดิ์ศรีสูงส่ง ได้เปรียบกว่านักวิชาการในมหาวิทยาลัย เพราะอยู่ใกล้ชิดแหล่งข้อมูลใหม่ๆ มากกว่า

สมัยก่อนคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ต้องเป็นฝ่ายงอนง้อข้อมูลจากกรมศิลป์ ไม่ว่าจะคอยติดตามฟังการจัดสัมมนา หรือรออ่านบทความตามนิตยสารต่างๆ

แต่ปัจจุบันสถานการณ์กลับพลิกผัน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต้องเป็นฝ่ายไปตามหาผลสรุปจากเอกสารรายงานการขุดค้นของบริษัทจ้างเหมาเอง แล้วเอาข้อมูลมาวิเคราะห์จัดสัมมนา จากนั้นเชิญนักโบราณคดีให้มาร่วมฟัง


เรื่องนี้เป็นความผิดของใครหรือ?

ในนามของบริษัทรับเหมาบูรณะโบราณสถาน กว่าจะชนะ ต้องแข่งขันกันยื่นซองเสนอราคาประมูลให้ต่ำอย่างน่าเกลียดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เช่น งบฯ 15 ล้านบาท สมัยนี้เขากล้ากดราคาลงต่ำถึง 8 ล้าน เล่นเอาบริษัทที่มีคุณภาพดีแต่เสนอราคาสูงกว่าต้องถอยกราวรูดไปยืนพิงฝาตามๆ กัน

เกณฑ์การคัดเลือกบริษัทจ้างเหมาของภาครัฐไม่ได้ดูที่คุณภาพ แต่กลับกำหนดให้เอาบริษัทที่เสนอราคาต่ำที่สุด มิเช่นนั้นแล้วต้องชี้แจงต่อ สตง. ว่าทำไมถึงไปเอาบริษัทอื่นในเมื่อเขายืนยันว่าสามารถทำได้ในวงเงินนี้ นอกจากจะไม่ช่วยรัฐประหยัดงบฯ แล้ว ยังส่อพิรุธถึงนอก-ใน คล้ายว่ามีเอี่ยวกับบริษัทที่มิได้เสนอราคาต่ำที่สุดหรือเช่นไร

ปัญหาเรื่องการอนุรักษ์จิตรกรรมหรือโบราณสถานผิดรูปแบบของกรมศิลปากรโดยผ่านบริษัทจ้างเหมานั้น หาใช่เป็นปัญหาระดับท้องถิ่นไม่ หากมันคือปัญหาระดับชาติที่เกิดขึ้นกับทุกองค์กรของรัฐ ที่รวมหัวกันบีบบังคับให้แต่ละหน่วยงานคุมกำเนิด มิให้มีบุคลากรมากเกินไปโดยไม่ได้ดูเนื้องานบนหน้าตัก แต่สรุปเอาดื้อๆ ว่าหากตำแหน่งไหนไม่เพียงพอต่อปริมาณงานก็ให้ใช้วิธีจ้างเหมาเอกชนเอา

ใช่เพียงแต่ประชาชนคือผู้ถูกรังแกเมื่อต้องมองยอดปราสาทพนมรุ้งที่ดูยืดยาวผิดปกติ หรือรู้สึกเซ็งๆ เมื่อเห็นภาพจิตรกรรมที่เคยงามละเมียดกลับฉาบสีสันแสบตาเท่านั้น ทว่า ประชาชนยังต้องเจ็บปวดอยู่ในชีวิตประจำวันที่ไม่อาจหลีกเร้น กับ ปูน หิน ดิน ทราย ที่ไม่ได้มาตรฐานของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั่วบ้านทั่วเมือง

ฉบับหน้าจะว่าด้วยความคืบหน้าและทางออกของเรื่องนี้ ว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ ใช้งบฯ จากไหน คนไทยทั้งประเทศยังมีความหวังที่จะทวงคืน "น้ำแต้ม ลายคำ ลำปาง" ให้กลับคืนมาดุจเดิมหรือไม่



* * * * * * * * * * * * * * * * * *
อ่านตอนที่ 2 - ทวงคืน "น้ำแต้ม ลายคำ ลำปาง" อนุสติกรมศิลปากร อนุรักษ์หรือทำลาย? (จบ) โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/04/plklp2.html



.