.
เก็บความเสวนา หลัง 14 ตุลา : ฝ่ายซ้าย-นักกิจกรรมไทย
หลังยุคพคท. ทำไมหันหาแนวคิดอนุรักษ์นิยม
ใน http://prachatai.com/journal/2013/10/49090 . . Sat, 2013-10-05 14:20
ธิกานต์ ศรีนารา ระบุ หลังพฤษภาคม 2535 กระแสประชาธิปไตยกลายเป็นแบบพุทธ ส่วนประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็ประนีประนอม ไม่ผลักตัวเองไปสู่เสรีนิยมสุดขั้ว
อุเชนทร์ เชียงเสน วิเคราะห์ ปฏิบัติการของ “นักกิจกรรมทางการเมือง” ที่ไม่เคยจุดกระแสติด จนกระทั่งมีขบวนพันธมิตรฯ
www.youtube.com/watch?v=P61h5OIT7BI
Published on Oct 5, 2013
สัมมนา หลัง 14 ตุลา / วันแรก 5 ต.ค. 56 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ธิกานต์ ศรีนารา : การหันเข้าไปหาความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมของปัญญาชนฝ่ายค้านไทยภายหลังความตกต่ำของ พคท. ในช่วงระหว่างพ.ศ.2524-2534
ธิกานต์ ศรีนารา : การหันเข้าไปหาความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมของปัญญาชนฝ่ายค้านไทยภายหลังความตกต่ำของ พคท. ในช่วงระหว่างพ.ศ.2524-2534
กระแสของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ขึ้นสูงมากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นแนวความคิดที่เน้นการวิจารณ์เจ้าและทหาร เมื่อ พคท.ล่มสลาย กระแสการวิจารณ์เจ้าก็หายไป ขณะที่ทหารก็บทบาทน้อยลงไม่ได้รับความสนใจ เหลือเพียงแต่กระแสวิจารณ์ทุนนิยม ฐานคิดแบบนี้เป็นฐานทางความคิดในการวิเคราะห์การเมืองตั้งแต่หลัง 2535 เรื่อยมา
เราจะเห็นว่าหลัง 14 ตุลา กระแส พคท.เติบโตขึ้นและกีดกันเบียดขับกระแสความคิดอื่น หรือทำให้ความคิดอื่นเป็นเพียงแนวร่วม และครอบครองฐานะนำทางภูมิปัญญาฝ่ายค้านไปจนช่วงปี 2520 ซึ่งพคท.พังลง หลังจากนั้นก็มีกระแสคิด 7 กระแส ปรากฏขึ้นมา (2524-2534)ได้แก่ ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก ลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค ลัทธิตรอสกี้-เหมา ทฤษฎีพึ่งพา กระแสพุทธ กระแสวัฒนธรรมชุมชน และแนวคิดประชาธิปไตยรัฐสภา ทั้งหมดวางบนฐานต่อต้านทุนนิยม ต่อต้านทหาร ต่อต้านลัทธิสตาลิน-เหมา สนับสนุนประชาธิปไตยรัฐสภา ที่หายไปคือกระแสวิจารณ์ศักดินานิยม
ทั้งนี้ สำหรับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ภายใต้กระแสคิดที่ พคท.ยังมีบทบาทสูงพร้อมนำเสนอทฤษฎี กึ่งเมือขึ้น กึ่งศักดนา นั้น พคท.มองว่า ประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย และเห็นว่ารัฐสภาเป็นพื้นที่เปิดโปงระบอบเผด็จการร่วกันของชนชั้นเจ้าที่ดินใหญ่ กระฎีพีใหญ่ที่รับใช้จักรพรรดินิยม แนวคิดนี้หายไปพร้อมกับการพังของ พคท.
เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยน แนวคิดที่สำคัญเหลือแค่ 3 กระแสหลัง โดยกระแสพุทธเน้นประชาธิปไตยที่มีธรรมะเป็นแกนกลาง ขณะที่กระแสวัฒนธรรมชุมชนก็มีชุมชนเป็นแกนกลาง ไม่เหมือนกับกระแสประชาธิปไตยรัฐสภา หลังพฤษภาคม 2535 ประชาธิปไตยแบบพุทธและแนววัฒนธรรมชุมชนได้ผสมกันกลายเป็นกระแสที่มีจุดร่วมเดียวกัน ส่วนประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็ประนีประนอม ไม่ผลักตัวเองไปสู่เสรีนิยมสุดขั้ว กลายเป็นประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ สถาบันยังมีฐานะและอำนาจสูงในสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2529-2535 การแชร์กันระหว่างกระแสวัฒนธรรมชุมชนและพุทธ มีผู้นำสำคัญคือ หมอประเวศ วะสี , สุเมธ ตันติเวชกุล ซึ่งเริ่มมีนัยขัดแย้งประชาธิปไตยรัฐสภา หลังพฤษภาคม 2535 สองกระแสนั้นผลักดันไอเดีย การเมืองภาคประชาชนเพื่อต่อสู้กับประชาธิปไตยรัฐสภา ซึ่งมีอิทธิพลมาจนปัจจุบัน
www.youtube.com/watch?v=Qh0HSkCR6jA
Published on Oct 5, 2013
สัมมนา "หลัง 14 ตุลา"/ วันแรก 5 ต.ค. 56 มธ. โดย สนพ.ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์
อุเชนทร์ เชียงเสน :ประวัติศาสตร์ “การเมืองภาคประชาชน : ความคิดและปฏิบัติการของ “นักกิจกรรมทางการเมือง” ในปัจจุบัน
อุเชนทร์ เชียงเสน :ประวัติศาสตร์ “การเมืองภาคประชาชน : ความคิดและปฏิบัติการของ “นักกิจกรรมทางการเมือง” ในปัจจุบัน
การนำเสนอนี้เป็นชื่อเดียวกับวิทยานิพนธ์ โดยคำถามสำคัญในการทำวิทยานิพนธ์เริ่มจากการปราศรัยของ สมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้นำแรงงานที่ร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวเมื่อปี 2551ว่า “มาเลย ไอ้นรก นปก. มาเลย เดี๋ยวให้ลูกหลานแสดงฝีมือบ้าง...” ทำให้เกิดคำถามว่า พธม.เป็นจุดสูงสุดของภาคประชาชนแล้วทำไมจึงมีทัศนะเช่นนี้
ต่อคำถามดังกล่าวเราอาจเห็นคำตอบบางส่วนได้จากวิทยากร เชียงกูล ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ การเมืองภาคประชาชน -มุมมองจากชีวิตและงานของศรีบูรพา, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทำวิจัยเรื่อง การเมืองภาคประชาชนในประบอบปชต.ไทย รวมไปถึงแนวคิดแนวทางการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ซึ่งเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ จนกระทั่งมีบทบาทสำคัญใน พธม.โดย ครป.อธิบายว่าการเมืองภาคประชาชนเกิดจากความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตย
งานชิ้นนี้พยายามอธิบายภาคประชาชนที่เข้าไปมีส่วนจัดตั้งกับพธม. โดยเฉพาะแกนนำหลักของ ครป. เพราะพวกเขาสำคัญมากในการระดมเอ็นจีโอเข้าร่วม พธม. ทำให้การเคลื่อนไหวของสนธิ ลิ้มทองกุล เข้มแข็งและชอบธรรมมากขึ้น ช่วงเวลาศึกษาเน้นช่วงหลัง พคท.เจ๊ง และช่วงที่เกิดคำว่า การเมืองภาคประชาชน
หลังป่าแตก ลักษณะทางความคิดเป็นมรดกในเวลาต่อมาคือ ต่อต้านรัฐ ต่อต้านทุน สนับสนุนการเคลื่อนไหวองค์กรชาวบ้าน เปลี่ยนแปลงสังคมในระดับประชาสังคม
หลังพฤษภา 35 ในทางสถาบันการเมืองมีความเปลี่ยนแปลงชัดเจน อำนาจย้ายมาที่รัฐสภา การเลือกตั้งมีความสำคัญ ชนชั้นกลางและประชาสังคมเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตย เกิดกระแสเชียร์ชนชั้นกลาง แต่ก็มีแนวคิด “สองนคราประชาธิปไตย” ซึ่งเห็นว่าพวกชนบทเป็นปัญหาประชาธิปไตย ต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้ชนบทเติบโต นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเบ่งบานของม็อบจำนวนมาก ซึ่งในช่วงนั้นแม้นักกิจกรรมเห็นว่าประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นปัญหา แต่ก็ยังเห็นด้านดีว่าเป็นโอกาสให้ประชาชนมีปากเสียง มองรัฐสภาทั้งด้านบวกและด้านลบ
เมื่อพยายามค้นหาว่า คำว่า การเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นตอนไหน ก็พบว่าเริ่มใช้กันจริงจังในปี 2538โดยใช้บรรยายม็อบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ และอ้างจากจำนวนการชุมนุมที่รวบรวมโดยนักวิชาการมหาวิทยลัยเกริก
สำหรับในช่วงเคลื่อนไหวของพธม.คนที่มีบทบาทในภาคประชาชนที่งานนี้สนใจศึกษาวิธีคิดมี 3 คนใน 3 องค์กร คือ เลขาฯ สนนท. (ขณะนั้น) นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานกลุ่ม FOP และสุริยะใส กตะศิลา เลขาฯ ครป.โดยในที่นี้จะโฟกัสเฉพาะ ครป.
ครป.หลังผ่านเหตุการณ์ พ.ค.35 มุ่งหวังระดมเครือข่ายองค์กรที่มีกิจกรรมอยู่แล้วในสายต่างๆ ให้มารวมกันภายใต้ ครป. ในช่วงรณรงค์ผลักดันรัฐธรรมนูญ 2540 ครป.ก็ตกผลึก รณรงค์การเมืองเกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชนและประชาธิปไตยที่แท้จริงทั้งรูปแบบและเนื้อหา หนุนการต่อสู้ของคนรากหญ้า และมีบทบาทสำคัญในการสร้างวาทกรรมนี้ผ่านพื้นที่สาธารณะ
เวลาพูดถึงการเมืองภาคประชาชน การสถาปนาและการมีพลังของมันเอยู่บนฐานการวิพากษ์ประชาธิปไตยรัฐสภา-นักการเมือง โดยอธิบายว่านักเลือกตั้ง ระบบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือของนายทุน
เมื่อสู่ระบอบทักษิณ ช่วงแรกๆ นั้นยังมีสัมพันธ์ที่ีดีกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพราะเน้นคนจน แต่จุดแตกหักที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมทางการเมืองเหล่านี้คือ นโยบายที่ไปละเมิดสิทธิคนจน คนส่วนน้อยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่หลายรูปแบบ
จากนั้นมีการสรุปบทเรียนที่สำคัญของพวกนักเคลื่อนไหวออกมาในรูปของ “บททดลองการเมืองภาคประชาชน” นักกิจกรรมกลุ่มนี้วิจารณ์ทุกความคิดของสายประชาสังคม พวกเขาวิจารณ์เอ็นจีโอฝ่ายอื่นและองค์กรชาวบ้าน แต่ไม่วิจารณ์ตนเอง และพยายามแสวงหาทางเลือกไปด้วยในเวลาเดียวกัน
“เขาคิดว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมีข้อจำกัดในตัวมันเอง ทำให้มีการพูดเรื่องพรรคการเมืองซึ่งพูดกันตั้งแต่ปี2536 แต่หยุดไปเมื่อมีพันธมิตรฯ”
เมื่อกล่าวถึงเรื่องความจงรักภักดี เราไม่สามารถเรียก สุวิทย์ วัดหนู พิภพ ธงไชย นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ สุริยะใส กตะศิลา ฯ ว่าเป็นรอยัลลิสต์ได้ คนทั่วไปแม้ไม่รู้จักก็อาจพบร่องรอยเหล่านี้ได้จากคำพูดของพวกเขา เช่นครั้งหนึ่งพิภพวิจารณ์ศักดินาว่าสังคมไทยยังอยู่ในยุคซากเดนศักดินา และบอกว่าปี 2475 มีการวิจารณ์สถาบันยิ่งกว่าปัจจุบันเสียอีก
คำอธิบายการเคลื่อนไหวและแนวทางของพวกเขา อาจสรุปคร่าวๆ ได้ด้วยคำให้สัมภาษณ์ของนิติรัฐว่า การสร้างเครือข่ายร่วมกับพธม. นั้น เขาประสานกับเอ็นจีโอที่เคยทำงานร่วมกันมาแต่เดิม โดยมีการพูดคุยกับเอ็นจีโอในเครือข่ายว่า “การทำงานการเมืองภาคประชาชน ทำกันมาตั้งนานไฟไม่เคยติด แต่สนธิจุดไฟติด เราจะเข้าร่วมกับเขาไหม”
วิจารณ์ และแลกเปลี่ยน
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
40 ปีที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์14 ตุลาอย่างเป็นวิชาการ งานของประจักษ์ ก้องกีรติ ถือเป็นงานชิ้นแรกๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 7-8 ปีหลังรัฐประหาร ก็ได้จุดประกายให้นักศึกษารุ่นใหม่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองมากขึ้น และไม่ใช่เรื่องความทรงจำเท่านั้น แต่เป็นความคิดทางการเมืองที่สามารถต่อเนื่องเข้ากับปัจจุบันได้ด้วย ที่ผ่านมาเราไม่มีความต่อเนื่องทางภูมิปัญญาของประชาธิปไตยแบบใหม่ มีแต่ตัวบุคคล
งานของธิกานต์ ทำให้เห็นแนวคิดฝ่ายซ้ายว่าจบลงที่แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมได้อย่างไร หากตอบในแง่ประวัติศาสตร์ สิ่งนี้ไม่แปลก เป็นไปได้และเกิดแทบทุกที่ เพราะความคิดปฏิวัติไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็นปฏิกริยาต่อความคิดก่อนหน้าที่ครอบงำอยู่และคนเริ่มตระหนักถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผล ความคิดปฏิวัติเกิดเฉพาะในยุโรปช่วงหลังยุคเรเนอซองส์ ศตวรรษที่ 14-15 แต่ในโลกตะวันออกไม่มีประวัติศาสตร์นี้ นี่เป็นเหตุว่าทำไมฝ่ายซ้ายเลื่อน ลด ไถล ออกจากความคิดก้าวหน้าได้ นั่นเพราะไม่มีกิ่งก้านหรือรากอันใหม่ทางความคิดมากเท่าในตะวันตก รากอันเดียวที่มีอยู่คือ ศาสนา ซึ่งมีความคิดรวบยอดและมีลักษณะทั่วไปสูงที่สุด พุทธเถรวาทยังผสานกับรัฐไทยแล้วสร้างเหตุผลอธิบายชีวิตปัจจุบันที่ปฏิเสธยาก
กระบวนการต่อสู้ในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับยุค พคท. จะเห็นว่า กลุ่มเคลื่อนไหวรุ่นหลังไม่มี “เป้าหมาย” ของการเปลี่ยนแปลง ขณะที่รุ่นเก่าจะชัดเจนว่าเป้าหมายคืออะไร แล้วเครื่องมือ วิธีการต่างๆ จึงตามมา แต่รุ่นหลังไม่เอาทฤษฎีแบบพคท.ชี้นำ มีทฤษฎีการนำการต่อสู้แบบยืดหยุ่น
ส่วนคำถามว่า พวกไม่นิยมเจ้ามาร่วมกับพันธมิตรได้อย่างไร หากจะตอบก็จะตอบว่า เพราะมันไปโยงกับเป้าหมายของการเคลื่อนไหว ในเมื่อกระบวนการรุ่นหลังไม่ได้มีเป้าหมายการปฏิวัติหรือเปลี่ยนโครงสร้างแบบพคท. ก็ไม่มีความจำเป็นต้องโยงกับศักดินา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ทางโครงสร้างในวิธีคิดแบบเก่า ในขณะที่การวิจารณ์ทุนนิยมยังใช้ได้ และใช้ได้มากเพราะทุนนิยขยายใหญ่ขึ้นมาก วิจารณ์อะไรไม่ได้ก็วิจารณ์ทุนนิยมไว้ก่อน แล้วสื่อก็จะรับกับประเด็นนี้
วาทกรรมเรื่องประชาธิปไตยคือเครื่องมือของรัฐและทุนเป็นสิ่งที่ถูกตลอด อย่างไรก็ตาม ตรรกะอันนี้วาดภาพของปีศาจที่น่ากลัวกว่าเดิมที่โอบล้อมประชาธิปไตย ทำให้ต้นประชาธิปไตยกลายเป็นผลไม้พิษ นับเป็นการตอกฝาโลงให้กับการยอมรับระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอย่างสิ้นเชิง
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
อุเชนทร์นำเสนอว่า บางส่วนใน พธม.ไม่ใช่พวกเชียร์สถาบัน แต่ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การเชียร์ แต่อยู่ที่การไม่รับรู้ ไม่ตระหนักถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ของเหล่าปัญญาชนไทย ซึ่งสองอย่างนี้ต่างกัน และปัญหาของสถาบันก็ยังอยู่กับเราจนปัจจุบันซึ่งจะว่าไปก็เป็นช่วงสำคัญที่สุด เพราะจะมีการเปลี่ยนรัชกาลในไม่นานนี้ น่าสนใจว่า ขณะที่นักวิชาการเงียบ แล้วชาวบ้านตื่นตัวมากในช่วงปี 51-54 มาถึงวันนี้เมื่อทักษิณอิงกับกระแสเปลี่ยนรัชกาลเต็มที่ มวลชนส่วนใหญ่ซึ่งสนับสนุนทักษิณและเคยตื่นตัวกับการวิพากษ์วิจารณ์จะตีกลับเป็นกระแสปกป้องสถาบันอย่างสูงหรือไม่
หมายเหตุ
การสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่ามกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์
ในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดูกำหนดการที่ http://prachatai.com/activity/2013/09/48526
______________________________________________________________________________________________
หมายเหตุ admin บทความดี
หวังว่า ผู้อ่านจะได้ใช้เวลาเพิ่มขึ้น สนใจค้นคว้า หรือสังเกตุคลื่นประชามหาชนว่า พวกเขากำลังเรียนรู้อะไร อะไรเท็จ อะไรจริง อะไรเขาเชื่อถือพึ่งพาได้ อะไรต้องเก็บความชิงชังไว้ก่อน อะไรเขาถือเป็นมิตรขณะนี้ อะไรเขาเก็บเป็นศัตรูที่พร้อมสละบางอย่างเพื่อโค่นล้มการครอบงำ ...เมื่อประกอบกับพลังจัดตั้งของนักจัดการกำลังทางการเมือง-เศรษฐกิจที่เข้าใจวาระแห่งโลกทางวัตถุ ก็จะเกิดกำลังการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเป็นจังหวะหนึ่งๆในช่วงแต่ละ 5-15ปี เพื่อสังคมจะสร้างสรรค์ระบบประชาธิปไตยที่จัดสรรผลประโยชน์ของผู้คนในสังคมให้ยุติธรรมขึ้น ให้พลังนโยบายที่ต่างกันมีแพ้มีชนะจากการเลือกตั้ง ให้สังคมสามารถทะเลาะกันอย่างสันติได้สมบูรณ์ขึ้น
..ซึ่งเสียงของปัญญาชนและสื่อ แม้จะมีฐานะชี้นำ แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องถูกบังคับปรับเปลี่ยนตามเสียงคลื่นสาธารณะดังกล่าว แล้วแต่ผลประโยชน์คุ้นชินที่นักคิดเหล่านี้ตัดสินใจว่า อย่างไรคือคุณค่าดีงามที่คุ้มค่าที่สุดในสังคมของตน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย