http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-10-19

วิจารณ์ บทความ“คนเดือนตุลา..มีทั้งคนดีและคนชั่ว!” โดย อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

.

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์: วิจารณ์ บทความเรื่อง "คนเดือนตุลา..มีทั้งคนดีและคนชั่ว!"
ใน http://prachatai3.info/journal/2013/10/49325 . . Fri, 2013-10-18 23:20 


อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้สนใจศึกษาวิชาการเมืองการปกครองเปรียบเทียบจนถึงระดับที่พออ้างได้ว่าตนมีความรู้ในด้านนี้พอกล้อมแกล้ม และเมื่อได้อ่านบทความที่ชื่อ "คนเดือนตุลา..มีทั้งคนดีและคนชั่ว!" ของคุณชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย ในเว็บไซต์ของผู้จัดการแล้วรู้สึกว่าอยากจะใช้ความรู้ที่ศึกษามาวิเคราะห์วิจารณ์นักเขียนท่านนี้บ้าง

ผู้เขียนใคร่อยากชี้ว่าบทความของคุณชัชวาลย์ค่อนข้างเขียนกำกวม ขาดการอ้างอิง (แน่นอนว่าบทความเช่นนี้ก็ไม่มีการอ้างอิงเท่าไรนักแต่ผลก็คือการยกขึ้นลอยๆ  โดยไม่ทราบว่าจริงหรือไม่จริง)  และได้นำอคติมาชี้นำหรือรองรับประโยคที่ตนเขียนไว้เรียบร้อยแล้ว เช่นมีประเด็นที่น่าสนใจว่าท่านมักจะนำคุณค่าคำว่า "ดี" หรือ"เลว"มาใช้ในการเขียนบทความอยู่เสมอ ซึ่งการเป็นการขัดกับหลักการศึกษารัฐศาสตร์ที่พยายามไม่ใช้คุณค่าทั้ง 2  อย่างซึ่งเป็นจิตวิสัยมาตัดสินหรือเกี่ยวข้องให้มากนัก

เช่นท่านเขียนบทความเป็นนัยว่าการปกครองเผด็จการและประชาธิปไตยดูไม่แตกต่างกันเท่าไรเพราะ

"เผด็จการทหารในโลกใบนี้..มีทั้งดีและเลว! ประชาธิปไตยเลือกตั้งแบบตะวันตก..มีทั้งดีและเลว! ระบอบการปกครองที่มิใช่เผด็จการทหารและเผด็จการเลือกตั้งฯ บนโลกใบนี้..ก็มีทั้งดีและเลวเช่นกัน!"


ตรรกะเช่นนี้ก็ไม่ได้ผิดเพราะมันเป็นเป็นประโยคทำนอง “คนมีทั้งดีและเลว” ซึ่งพูดกันเกร่อ (cliché)  แต่ผู้เขียนคิดว่าในเรื่องมิติทางการเมือง เกณฑ์เช่นนี้น่าจะซับซ้อนไปกว่านั้น  ถ้าเป็นจริงอย่างที่คุณชัชวาลย์ได้ว่าไว้ข้างบน การประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในวันที่  14 ตุลาคม 2516  ก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นนักเพราะเราสามารถอ้างได้ว่าเผด็จการในช่วงของจอมพลถนอมเป็นเผด็จการที่ดีจากในหนังสือหลายเล่มหรือในหลายเว็บไซต์เองก็ยกย่องจอมพลถนอมนั้นเป็นคนซื่อสัตย์และยังทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองมากมาย (1) ดังนั้นการที่คุณชัชวาลเปิดฉากมาว่า

 “นักศึกษา-ประชาชน ฯลฯ เสียสละชีวิตต่อสู้เอาชนะรัฐบาล “เผด็จการทหารชั่ว”

คนที่สนับสนุนจอมพลถนอมอาจจะใช้ตรรกะของคุณชัชวาลย์เองมาแย้งกับคุณชัชวาลย์ในประเด็นนี้ก็ได้    เช่นเดียวกับการประท้วงหรือการเชิดชูคุณค่าประชาธิปไตยในหลายวาระเช่น 6 ตุลาคม  2519  หรือแม้แต่พฤษภาทมิฬ  2535  ก็ไม่มีความหมายอีกเช่นกันเพราะจะมีคนแก้ต่างให้กับเผด็จการในสมัยนั้นได้เหมือนกันหมด (เอาง่ายๆ อย่างหนังสือเรียนวิชาสังคมในโรงเรียนอย่างไร)   นอกจากนี้อาจมีผู้ที่นำเอาหลักตรรกะนี้มาใช้ในหลายกรณีที่น่าขนลุกเช่น   "เผด็จการนาซีและฮิตเลอร์มีทั้งดีและเลว" เป็นต้น

นอกจากนี้คุณชัชวาลย์ยังเขียนแบบตีขลุมเอาเองอย่างเช่น

"ระหว่างคนกับระบอบการเมืองนั้น บ้างว่า-คนสำคัญกว่าระบอบการเมือง บ้างว่า-ระบอบการเมืองสำคัญกว่าคน บ้างว่า-ทั้งคนและระบอบการเมืองสำคัญทั้งคู่!
แต่คอการเมืองส่วนใหญ่ฟันธงว่า คนสำคัญกว่าระบอบการเมือง!"


ประเด็นความขัดแย้งนี้เป็นประเด็นทางสังคมศาสตร์ที่ว่ามนุษย์ในฐานะปัจเจกชนกับกรอบทางสังคมหรือการเมืองสิ่งไหนมีอิทธิพลมากกว่ากันหรือว่ามีอิทธิพลควบคู่กันไป  ซึ่งคำถามนี้ยังมีการถกเถียงกันอีกมามาย แต่ท่านก็ได้สรุปไปแล้ว โดยที่ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบเหมือนว่าท่านไปทำวิจัยสำรวจ “การฟันธง” ที่ไหน กลุ่มคอการเมืองกลุ่มใด   หรือว่าที่จริงเป็นความคิดของท่านเอง เข้าทำนองเหมือนโฆษณาที่อ้างว่า "คนส่วนใหญ่เลือกใช้ยาสีฟันยี่ห้อ......." และยิ่งเป็นบาปมหันต์อย่างยิ่งสำหรับวงวิชาการัฐศาสตร์เพราะการวิเคราะห์เฉพาะตัวบุคคลจะทำให้ปัจจัยทางการเมืองอื่นๆ เช่นโครงสร้างทางการเมือง สถาบันทางการเมือง คุณค่าทางการเมืองด้อยค่าไปเสีย มุมมองเช่นนี้เองยังทำให้วงวิชาการประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะแบบเรียนของเยาวชนย่ำอยู่กับที่คืออยู่กับทฤษฎี "บุรุษผู้ยิ่งใหญ่" (Great man theory)


ในส่วนของทหารนั้น ท่านแสร้งเขียนเป็นกลางแต่ถ้าอ่านให้ดีจะทราบว่ามีแนวคิดบางอย่างแฝงอยู่

"ดังนั้น หากผู้นำเผด็จการทหารเป็นคนดี ชาติและประชาชนย่อมได้ประโยชน์ ถือว่าทำคุณมากกว่าโทษให้กับชาติบ้านเมือง ทว่าหากผู้นำหรือรัฐบาลเผด็จการทหารเป็นคนชั่ว โกงชาติบ้านเมืองด้วยความเห็นแก่ได้ ก็จะถูกสังคมประณามสาปแช่งชั่วลูกชั่วหลานตราบทุกวันนี้"

หากอ่านในบริบทของสังคมไทย ก็จะทราบว่าแบบเรียนหรือการให้คุณค่าแก่บุคคลในประวัติศาสตร์นั้นมักจะเป็นอนุรักษ์นิยมที่เอียงข้างเข้าสถาบันสำคัญๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยจะพบการก่นด่าประณามผู้นำทางทหารเท่ากับนักการเมืองเท่าไรนัก ดังกรณีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่มีความชั่วค่อนข้างชัดเจนเช่นประหารชีวิตคนตามอำเภอใจ ฉ้อราษฎรบังหลวงเป็นเงินจำนวนมหาศาล แต่ก็มีสื่อแนวอนุรักษ์นิยมจำนวนที่ยังเข้าข้างจอมพลผ้าขะม้าแดงท่านนี้เพียงเพราะเป็นผู้นิยมเจ้า  ดังนั้นหากผู้อ่านใช้ความรู้สึกที่ถูกปลูกฝังจากสื่อหรือบทเรียนก็จะรู้สึกว่าไม่มีผู้นำเผด็จการทหารคนไหนชั่วเท่าไรนัก (อันเป็นเหตุที่ทำให้มักมีคนมาแก้ต่างแทนเผด็จการเหล่านั้นอยู่เรื่อยๆ และก็ยังมีคนเชื่ออีกเรื่อยๆ )

 ดังนั้นประโยคของท่านที่ต้องการโต้กับเสื้อแดงที่มักประณามทหารว่า

"บทสรุป-คือ-เผด็จการทหารชั่ว และเผด็จการรัฐสภาทุนสามานย์ ล้วนเป็นระบอบการปกครองอันไม่พึงประสงค์ของประชาชน เพราะโกงชาติและชั่วร้ายด้วยกันทั้งคู่!"

ประโยคเช่นนี้จึงเบาหวิว เพราะ "เผด็จการทหารชั่ว" นั้นดูลอยๆ ไม่มีน้ำหนักเท่าไรนัก ไม่มีตัวตน ใครก็ไม่ทราบแต่รัฐสภาทุนสามานย์นี่ทักษิณโดนเต็ม ๆ



จากนั้นคุณชัชวาลย์ก็รีบเขียนโจมตีประชาธิปไตยตะวันตกทันที

"ส่วนระบอบการเมืองเลือกตั้งแบบตะวันตก ซึ่งนักการเมืองทุนสามานย์ใช้เป็นช่องทางทุ่มเงินซื้อเสียงการเลือกตั้ง จนได้ ส.ส.เข้าสภาฯ เกินกึ่งหนึ่ง ก่อนที่สภาฯ เผด็จการจะตั้งนายกฯ ชั่วบริหารชาติบ้านเมือง"

บทความนี้อาจจะไม่ผิดถ้าท่านระบุประเทศ (เช่นประเทศไทยตามความคิดของท่าน)  แต่การเขียนลอยๆ เช่นนี้ย่อมทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นการเลือกตั้งแบบตะวันตกทั้งหมด แถมยังพยายามโยงไปยังสหรัฐอเมริกา ทั้งที่สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศเพียงประเทศเดียวในโลกที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย  ที่สำคัญสหรัฐฯ นั้นได้ถูกจัดอันดับของการเป็นประชาธิปไตยได้เพียงอันดับที่ 17 เอง   การตีขลุมของคุณชัชวาลจึงทำให้คนอ่านมองข้ามประเทศที่มีการเลือกตั้งแบบตะวันตกอีกมากที่โปร่งใส และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอย่างเช่นนิวซีแลนด์  ประเทศในย่านสแกนดิเนเวียอย่างเช่นเดนมาร์ก หรือสวีเดนซึ่งมีลำดับความเป็นประชาธิปไตยอันดับต้นๆ (1)

นอกจากนี้คุณชัชวาลยังพยายาม justify หรือสร้างความถูกต้องแก่เผด็จการอย่างตรงไปตรงมาโดยการเปรียบเทียบสหรัฐฯ กับจีน เช่น

"อเมริกาที่เป็น “มาเฟีย” แห่งการเลือกตั้ง ก็มีปัญหาโกงการเลือกตั้ง มีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมากมาย สังคมอเมริกาจึงเต็มไปด้วยความอยุติธรรมทุกหัวระแหง

ระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกา ไม่อาจแก้ปัญหาคนรวยเอาเปรียบคนจนได้ และนับวันปัญหาเลวร้ายทุกมิติของสังคมอเมริกัน จึงเป็นปัญหา “ดินพอกหางหมู” มากขึ้นเรื่อยๆ

จีน-ในอดีตที่มีพลเมืองยากจนกว่าพันล้านคน จนชาวจีนบางส่วนต้องหนีความอดอยากไปอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เมื่อการปฏิวัติชนะและ “เหมา เจ๋อตุง” สิ้นชีพ จีนที่นำโดย “เติ้ง เสี่ยวผิง” ได้นำสังคมนิยมเข้าผสมพันธุ์กับทุนนิยม พัฒนาประเทศจีนในทุกมิติให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว"

คิดว่าคุณชัชวาลย์คงไม่ได้ศึกษาหรือเข้าใจประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ เช่นทำให้คนอ่านสับสนเข้าใจว่าประชาธิปไตยของสหรัฐฯ นั้นเป็นสิ่งเดียวกับระบบทุนนิยม ปัญหาสำคัญของสหรัฐฯ คือระบบทุนนิยมที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน และถึงแม้ระบบทุนนิยมจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองของสหรัฐฯ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่ต้องตำหนิเพียงประการเดียว 


นอกจากนี้ที่ท่านชอบประณามว่าสหรัฐฯ เต็มไปด้วยการโกงการเลือกตั้งนั้นก็ไม่หลักฐานมายืนยันชัดเจน  คำว่า "เต็ม" นั้นยังคลุมเครือไม่ระบุเวลาแน่นอนซึ่งคนอ่านอาจะเข้าใจว่าในรอบ 200 ปีที่ผ่านมานั้นสหรัฐฯ จึงเต็มไปด้วยการซื้อขายเสียงอย่างน่าละอายใจดังนั้นสหรัฐฯก็คงจะไม่ได้อยู่ในลำดับประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยในลำดับต้นๆ  หากจะเขียนอย่างรัดกุมกว่านี้ก็น่าจะเขียน “สหรัฐฯ ก็พบกับสภาวะเช่นนี้เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมทั่วไป แม้แต่อังกฤษ ฝรั่งเศส “

ส่วนประวัติศาสตร์ของประเทศจีนถือว่าเป็นส่วนที่ให้อภัยไม่ได้เพราะคุณชัชวาลย์ซ่อนเร้นข้อมูลหลายส่วนไว้ไม่ยอมเขียนรายละเอียดลงไปด้วยวัตถุประสงค์คือเชิดชูจีนและเหยียบสหรัฐฯ  เช่นท่านไม่ได้บอกว่า คนจีนจำนวนมากก็ได้หลบหนีจากประเทศในช่วงหลังพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมามีอำนาจอีกเช่นกัน นอกจากนี้เหมา เจ๋อตงนั้นมีส่วนไม่มากก็น้อยในการทำให้คนจีนเสียชีวิตไปหลายสิบล้านคนจากนโยบายการก้าวกระโดดไกล (Great Leap forward) และการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural revolution) ซึ่งเกือบทำให้ประเทศจีนแตกเป็นเสี่ยงๆ จนผู้เขียนเคยคิดว่าถ้าจีนเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมและทุนนิยมมาตั้งแต่ปี 1949  จีนอาจจะเจริญและยิ่งใหญ่กว่าจีนในปัจจุบันหลายเท่านักไม่ต้องรอให้เติ้งเปิดประเทศเพราะจีนเพียบพร้อมด้วยทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติอยู่แล้ว  นอกจากนี้คุณชัชวาลย์ซึ่งเชิดชูวีรกรรม 14 ตุลาคมยังมองข้ามวีรกรรมของเติ้ง เสี่ยวผิงซึ่งปราบปรามนักศึกษาที่ประท้วงในจตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 1989 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนได้และยังไปอ้างทฤษฎีแมวจับหนูซึ่งก็ถือว่าเป็น cliché อีกเช่นกัน 

ถึงแม้ว่าจีนจะกลายเป็น
"ผู้นำทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก เป็นเจ้าหนี้อันดับ 1 ของอเมริกา ปัจจุบันจีนเป็นมหาอำนาจที่กำลังพัฒนากองทัพให้ทัดเทียมอเมริกาอย่างเร่งด่วน!"

แต่ปัญหาของจีนก็ยังมีอีกมายที่อยู่ภายใต้ความยิ่งใหญ่ของมวลผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) หรือการเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐ  จีนยังมีความด้อยความสามารถในการกระจายความมั่งคั่ง ดัชนี Gini coefficient ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้หรือการกระจายความร่ำรวยของจีนนั้นพุ่งสูงขึ้น (2)  ความร่ำรวยยังคงกระจุกตัวอยู่กับเศรษฐีและนายทุนซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคคอมมิวนิสต์ จีนยังเต็มไปด้วยการฉ้อราษรบังหลวงของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับตั้งแต่ล่างจนถึงระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์  รวมไปถึงการล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทำให้ประชาชนจีนต้องเดินขบวนประท้วงรัฐบาลกันเป็นแสนๆ ครั้งต่อปี (3) ส่วนศักยภาพกองทัพของจีนยังห่างไกลสหรัฐฯ อยู่มากแม้ว่าจะใช้งบประมาณทางการทหารเป็นอันดับ 2 ของโลกก็ตาม (4) นอกจากนี้จีนในปัจจุบันก็มีคุณสมบัติบางส่วนดังที่ท่านได้โจมตีสหรัฐฯ หากเราติดตามข่าวของจีนอยู่เสมอ ดังนี้

"เพราะอภิมหาเศรษฐีอเมริกันไม่กี่ตระกูล เอาเปรียบคนอเมริกันทั้งชาติอยู่ตลอดเวลา สวัสดิการชาวอเมริกันผู้ยากไร้-ถูกตัด"


แนวคิดของคุณชัชวาลจึงเป็นแนวคิดที่มีหลักตรรกะที่ขัดแย้งกันเองคือพยายามรักษาสปิริตของ 14 ตุลาคมไว้  แต่ก็พยายามสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการโดยอาศัยเครื่องมือ คือการโจมตีทักษิณอย่างรุนแรงและการพยายามนำเสนอเป็นเชิงบิดเบือนข้อมูลดังที่ได้กล่าวมาแล้วจนเป็นเหตุให้เกิดบทความที่เกิดปัญหาบทนี้ขึ้นมา

อนึ่ง ถ้าจะมีการแก้ต่างว่าข้อมูลเหล่านี้ที่ผู้เขียนอ้างเป็นการใส่ร้ายจากสื่อตะวันตก อันนี้ก็ผู้เขียนคงจะช่วยอะไรไม่ได้!



เชิงอรรถ

(1) http://th.wikipedia.org/wiki/ถนอม_กิตติขจร
และ
http://www.thaiswatch.com/politician/info/pid/POL0000002524

(2)   http://graphics.eiu.com/PDF/Democracy_Index_2010_web.pdf

(3)  http://english.caixin.com/2012-12-10/100470648.html

(4) http://en.wikipedia.org/wiki/Protest_and_dissent_in_the_People's_Republic_of_China

(5) http://www.foreignpolicy.com/articles/2010/02/22/think_again_chinas_military



.