http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-10-01

นิธิ : Digital Divide แบบไทย

.

Digital Divide แบบไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380540161
วันอังคารที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 09:25:04 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 30 ก.ย.2556 )


คิดดูก็น่าประหลาดนะครับ ไม่เคยมีครั้งไหนที่คนไทยสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างกว้างขวางเท่าปัจจุบัน ทั้งเนื้อหาที่สื่อสารกันก็ถูกปิดกั้นน้อยลง หรือถูกคนบางกลุ่มผูกขาดได้น้อยลง
แต่นี่กลับเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีครั้งไหน ที่คนไทยขัดแย้งกันเองได้เท่าครั้งนี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ลามไปถึงทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรม เช่น หนังละคร หรือเพลง และเครื่องแต่งกาย


ใช่แล้วครับ ผมกำลังนึกถึงเครื่องมือการสื่อสารสมัยใหม่ ซึ่งขอเรียกกว้างๆ ว่าดิจิตอลก็แล้วกัน เปิดโอกาสของการสื่อสารได้กว้างขวางอย่างที่เป็นอยู่ อีกทั้งเป็นการสื่อสารในแนวระนาบด้วย ไม่ได้บนลงล่างเพียงอย่างเดียวดังที่เคยเป็นมาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า นอกจากโอกาสดังกล่าวซึ่งสื่อดิจิตอลสร้างขึ้น ยังมีโอกาสอื่นๆ อีกมากที่เกิดขึ้นเพราะมัน ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็แล้วแต่กิเลสของมนุษย์จะชวนให้เห็นไป

แต่สิ่งที่ผมสงสัยอย่างยิ่งก็คือ สื่อดิจิตอลนั่นแหละ ที่ทำให้ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้น ความสามารถในการเชื่อมโยงคนได้กว้างขวาง กลับไม่ก่อให้เกิดทัศนคติที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้แต่ละคนสามารถสร้างกำแพงกีดกันคนที่ไม่เหมือนตัวเข้ามาใกล้ได้ แต่เปิดประตูดึงดูดคนที่เป็นเหมือนเงาของตนเองให้มาแวดล้อมได้เต็มไปหมด

กล่าวโดยสรุปก็คือ สื่อดิจิตอลขยายการสื่อสารไปตามแนวระนาบ แต่ไม่ขยายไปตามแนวดิ่ง คนต่างกันไม่ได้สื่อสารกัน แต่คนเหมือนกันได้สื่อสารกันเข้มข้นขึ้น



ขออนุญาตเตือนไว้ก่อนว่า ข้อสังเกตนี้มาจากคนที่ใช้สื่อดิจิตอลเพียงแค่ค้นหาข้อมูลที่ประสงค์ และใช้แทน กสท.เท่านั้น ใช้เครือข่ายสังคมไม่เป็น และไม่รู้ว่าจะเปิดเว็บไซต์หรือบล็อกได้อย่างไร ไม่พร้อมที่จะสละเวลาให้แม้แต่เรียนรู้เพื่อทำได้ ฉะนั้นจึงเป็นข้อสังเกตของคนที่รู้เรื่องสื่อดิจิตอลไม่จริง บางส่วนก็จำขี้ปากผู้รู้มาพูด บางส่วนก็เข้าใจเอาเอง ซึ่งไม่แน่ใจว่าผิดหรือถูก

ผู้ที่รู้ดีกว่าผมให้ข้อมูลว่า ในบรรดาพื้นที่บนเน็ตซึ่งผู้สร้างตั้งใจทำเป็นสาธารณะนั้น อาจแบ่งออกได้เป็นสองอย่าง หนึ่งคือพื้นที่ของความสนใจเฉพาะ เช่น การเดินป่า, การท่องเที่ยว, ดนตรีไทย, การขี่จักรยาน หรือสาธารณะไปกว่านั้น เช่น ต่อต้านเขื่อน, ต่อต้าน ปตท., ต่อต้านเอฟทีเอ, ต่อต้านยิ่งลักษณ์ ฯลฯ พื้นที่เหล่านี้จะดึงดูดคนคอเดียวกันเข้าไปร่วมรับรู้และแบ่งปันข้อมูล(ความรู้สึกก็เป็นข้อมูลอย่างหนึ่งนะครับ) แม้มีนักป่วนเข้าไปบ้าง แต่นั่นเป็นส่วนน้อยและมักไม่สามารถอยู่ร่วมกับเขาได้ยืนนานนัก

อีกประเภทหนึ่งคือพื้นที่ซึ่งเจตนาจะให้ข้อมูลสาธารณะอย่างกว้างๆ หรือถึงแม้โดยเฉพาะเรื่อง ก็เป็นเรื่องที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกี่ยวกับความสนใจโดยส่วนตัวของบุคคล แม้กระนั้น พื้นที่ประเภทนี้ก็ดึงดูดเฉพาะคนคอเดียวกันอยู่นั่นเอง เพราะพื้นที่เหล่านี้มีสีหรือสมมติฐานเบื้องต้น (presupposition, predilection, theoretical framework) บางอย่างอยู่ด้วย ดังนั้น ประชาไท, ไทยอีนิวส์, สยามอินเทลลิเจนซ์ ก็จะดึงคนอ่านประเภทหนึ่ง เอเอสทีวี, ไทยพับลิกา, ประสงค์ดอทคอม ก็จะดึงคนอ่านอีกประเภทหนึ่ง

(ข้อนี้ผมไม่เห็นเป็นความเสียหายอย่างไรนะครับ ข้อเท็จจริงโดดๆ ไม่มีความหมายหรือแม้แต่ไม่มีประโยชน์อะไร และเราคงไม่สามารถพูดถึงข้อเท็จจริงใดๆ ได้ โดยไม่มีสมมติฐานเบื้องต้นบางอย่างในใจ 
สถิติว่าประเทศไทยมีผู้หญิงกี่คน ผู้ชายกี่คน ถูกแจงนับก็เพราะมีสมมติฐานเบื้องต้นว่า ความต่างเพศของประชากรมีนัยยะสัมพันธ์กับเรื่องอื่นที่ผู้แจงนับคิดว่าสำคัญชิบเป๋ง ไม่งั้นจะไปนั่งแจงนับมันทำไม )

คำถามที่อยู่ในใจผมก็คือ เฉพาะในสังคมไทยนั้น งานอดิเรกก็ตาม รสนิยมก็ตาม จินตนาการถึงสังคมที่ดีและเป็นธรรมก็ตาม ความสนใจ ส่วนตัวก็ตาม ฯลฯ สัมพันธ์หรือไม่กับชนชั้น(ในความหมายของมาร์กซ์ หรือของใครก็ได้) หรืออย่างน้อยก็สัมพันธ์กับสถานภาพทางสังคมหรือไม่

ผมตอบเองโดยปราศจากการวิจัยรองรับว่า สัมพันธ์อย่างยิ่ง และอย่างน่ากลัวด้วย



ทั้งนี้เพราะความสืบเนื่องทางสังคมของไทยนั้นมีสูงมาก (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนด้วยกัน) แม้เราจะเคยผ่านความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ทางการเมือง, การปกครอง, วัฒนธรรม และเศรษฐกิจมาไม่น้อย แต่โครงสร้างทางสังคมของเราไม่ค่อยเปลี่ยนมากนัก คนที่อยู่ในช่วงชั้นอะไรเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ลูกหลานของเขาก็ยังอยู่ในช่วงชั้นนั้น บางคนอาจนึกถึงอาเสี่ยเชื้อสายจีนที่เปลี่ยนสถานภาพจากพ่อค้าย่อยมาเป็นเจ้าของบริษัทข้ามชาติ และต่างมีเมียเป็นคุณหญิงเกือบทั้งนั้น ก็จริงในระดับหนึ่ง แต่ดูให้ดีเถิดว่า การสะสมทุนของตระกูลเสี่ยเหล่านี้ เริ่มมาตั้งแต่เกือบ 100 ปีมาแล้ว โตขึ้นๆ จนกลายมาเป็นเสี่ยใหญ่ในทุกวันนี้
เทียบไม่ได้กับร็อคกี้เฟลเลอร์ ฟอร์ด หรือเศรษฐีในสหรัฐ ซึ่งพลิกผันจากคนธรรมดามาสู่มหาเศรษฐีในชั่วคนเดียว ทั้งนี้ยังไม่นับมหาเศรษฐีในปัจจุบันอีกมากซึ่งยังเล่าถึงสลัมที่เขาเกิดมาได้เป็นฉากๆ


ความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่กล่าวแล้ว ทำให้รัฐสามารถขยายบริการออกไปได้กว้างขวางขึ้น เช่นขยายการศึกษาออกไปได้กว้างขวาง แต่ใครเล่าที่ได้เรียนหนังสือจนถึงขั้นสูงๆ ใครที่ต้องออกจากโรงเรียนเมื่อจบ ป.4 หรือ ม.3 ก็คนหน้าเดิมที่มีรอยสักบนใบหน้ามาแต่กำเนิดแล้วว่า คนนี้ต้องจบมหาวิทยาลัย คนนี้ต้องจบแค่ ป.4


เมื่อรัฐธรรมนูญบังคับให้รัฐต้องจ่ายเงินให้คนได้เรียนฟรี 12 ปี อิทธิพลทางการเมืองของเขา ก็ทำให้กระทรวงศึกษาต้องบริหารโรงเรียนในลักษณะที่กันโรงเรียนไว้สามร้อยกว่าโรง เป็นโรงเรียนของคนในสถานภาพสูง มีคุณภาพการศึกษาที่แข่งกับใครในโลกก็ได้ ลูกหลานของเขาจึงได้เตรียมตัวสำหรับสืบทอดสถานภาพทางสังคมของเขาต่อไปได้สบายๆ

ในบรรดาปัจจัยต่างๆ ที่กำหนด งานอดิเรกก็ตาม, รสนิยมก็ตาม, จินตนาการถึงสังคมที่ดีและเป็นธรรมก็ตาม, ความสนใจส่วนตัวก็ตาม ฯลฯ นั้นอะไรสำคัญที่สุด ผมคิดว่าครอบครัวและการศึกษามีส่วนสำคัญที่สุด จึงเป็นธรรมดาที่คนในสถานภาพ (หรือชนชั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะให้นิยามแก่คำนี้อย่างไร) ต่างๆ หันเข้าหาพื้นที่บนเน็ตที่ต่างกัน



ฟังอีกครั้งหนึ่งนะครับ สื่อดิจิตอลในสังคมไทยขยายการสื่อสารได้กว้างขวางในแนวระนาบ แต่ไม่ขยายการสื่อสารในแนวดิ่ง คนต่างสถานภาพจึงต่างกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ (แปลตามตัวคือคนละฝ่าย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึกเป็นศัตรูเสมอไป)กันตลอดมา ความปรองดองจึงเกิดไม่ได้

ความปรองดองหรือไม่ปรองดองมีฐานทางสังคมครับ ไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่จับเข่าคุยกัน หรือทะเลาะกัน ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องทำให้สังคมมีพื้นที่แห่งความปรองดอง (ซึ่งแปลว่าขัดแย้งกันโดยสงบ) สื่อดิจิตอลไม่ใช่พื้นที่นั้น หรือยังไม่ใช่ ที่เรียกกันว่า digital divide นั้น ในเมืองไทยยังมีความหมายมากกว่าเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้หรือไม่ แต่ต้องรวมถึงการแบ่งแยกพื้นที่ดิจิตอลเอาไว้ให้คนต่างสถานภาพกันอย่างค่อนข้างตายตัวด้วย


ยิ่งไปกว่านั้น ได้พบกันมานานแล้วว่า เมื่อคนไปสื่อสัมพันธ์กับคนอื่นบนเน็ต เขามักจะเปลี่ยนบุคลิกภาพไปจากปรกติของความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้คน เช่น เขาไม่เคารพมารยาททางสังคม (civility), อวดตัวมากเป็นพิเศษ, ข่มผู้อื่นอย่างออกหน้า, ตัดสินใจเร็ว, ไม่รับผิดชอบกับคำพูดของตนเอง ฯลฯ
หนักขึ้นไปอีกก็คือ นักเล่นเน็ตเริ่มสับสนอัตลักษณ์ของตนบนเน็ตกับอัตลักษณ์จริงในชีวิต ไปเอาอัตลักษณ์บนเน็ตมาใช้กับความสัมพันธ์ในชีวิตปกติ อย่างที่คุณอภิสิทธิ์ด่าคู่แข่งทางการเมืองของตนว่า อีโง่ (ไม่ว่าจะออกจากปากของคุณอภิสิทธิ์หรือหม่อมอะไรก็ตาม) เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า เกิดความสับสนด้านอัตลักษณ์ของผู้พูดเสียแล้ว... เล่นเน็ตมากไป


พื้นที่บนเน็ตซึ่งทำให้คนไทยสื่อสารกันได้กว้างขวาง จึงยิ่งทำให้เราเหม็นขี้หน้ากันมากขึ้น


ผมไม่มีความเห็นว่าเราควรควบคุมพื้นที่ดิจิตอลหรือไม่ และอย่างไร ที่คิดเร็วๆ เวลานี้คือปล่อยมันไปก่อนดีกว่า อย่าไปละเมิดเสรีภาพของผู้คน เพราะผู้คนจะใช้เสรีภาพอย่างไร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการควบคุมของรัฐ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพที่เป็นจริงทางสังคมซึ่งเขามีชีวิตอยู่ต่างหาก ในสังคมที่เต็มไปด้วย social divide จะไม่ให้มี digital divide ได้อย่างไร

พื้นที่ดิจิตอลเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง เทคโนโลยีแก้ปัญหาได้ก็ต่อเมื่อเรารู้แล้วว่า เราต้องการคำตอบอะไร หากเราไม่มีคำตอบเลย เทคโนโลยีก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่เชื่อก็เหลียวดูเขื่อนทั่วประเทศไทยสิครับ



.