.
ประชาธิปไตยในทรรศนะเสรีนิยมใหม่
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1381747065
วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 21:34:22 น.
( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 14 ต.ค.2556 )
คอลัมนิสต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก อันเป็นสำนักข่าวของพวกเสรีนิยมใหม่ แสดงความเห็นว่าผู้นำของชาติเอเชียอ่อนแอถึงขั้นวิกฤต และอาจถึงหายนะถ้าไม่แก้ไข (แก้อะไรก็ไม่ทราบ... แก้ไขผู้นำหรือ)
น่าสนใจที่จะตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้นำของเอเชียอ่อนแอหรือไม่ก็ตาม แต่เอเชียกำลังย่างเข้าสู่บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากบ้างน้อยบ้างในเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก แม้แต่จีนซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของประเทศระบบพรรคเดียว หรือแม้แต่สิงคโปร์ยักษ์เล็กในระบบเดียวกัน ทั้งนี้หากดูเสรีภาพของการสื่อสารซึ่งเพิ่มขึ้นในทั้งสองประเทศ
สามประเทศที่คอลัมนิสต์ยกขึ้นมาเพื่อแสดงความอ่อนแอของผู้นำ คือไทย, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
เป็นสามประเทศที่ความเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยเห็นได้ชัดที่สุดของอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในมาเลเซีย แสดงให้เห็นว่า พรรคที่ผูกขาดการนำมาตลอด ต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยก็เพื่อทำให้การแข่งขันทางการเมือง "ดูดี" มากขึ้น แก่พลเมืองของตนเอง
ระหว่างบรรทัดของคอลัมน์นั้นก็คือ บรรยากาศประชาธิปไตยทำให้ผู้นำไม่สามารถดำเนินนโยบายที่จะตอบรับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้ ตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นชัดๆ ก็คือกรณีไทย เขากล่าวว่านายกฯไทยล้มเหลวที่จะแก้ปัญหาราคาข้าวและยางพารา เพราะมัวแต่ทุ่มเทความสนใจไปแก้ปัญหาการเมือง
การเมืองของประชาธิปไตยนี่แหละที่เป็นปัญหา งานที่สำคัญกว่าก็ถูกละเลย มัวไปสนใจแต่เรื่องรักษาอำนาจทางการเมืองของตนเอง
ผมไม่ทราบว่าคอลัมนิสต์ผู้นี้ศึกษาเรื่องราคาข้าวและยางพารามาแค่ไหน ในฐานะผู้ศึกษาไม่มากเหมือนกันกลับเห็นว่า ราคาข้าวและยางพาราไม่เป็นปัญหาในตัวมันเอง ถึงเป็นก็เกินกำลังที่ไทยจะไปแก้ไขอะไรได้ แต่รัฐบาล พท.ได้ตัดสินใจที่จะประกันราคาข้าวในอัตราที่ "ยุติธรรม" แก่ผู้ผลิตมากขึ้น และก็ยังยืนยันที่จะทำเช่นนั้นต่อไป ท่ามกลางการคัดค้านต่อต้านอย่างเสรีของปฏิปักษ์ทางการเมือง และนี่คือการแก้ปัญหาที่ถูกจุด คือไม่ใช่แก้ปัญหาราคาข้าวในตลาดโลก แต่แก้ปัญหาความเสียเปรียบที่ชาวนาได้รับ อีกทั้งประเทศไทยก็อยู่ในฐานะทางการเงินที่จะทำได้ด้วย
ส่วนยางพารานั้น ปัญหาเป็นคนละเรื่องกับข้าว เป็นความผันผวนของราคาในตลาดโลกซึ่งไทยก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาความเหลื่อมล้ำเสียเปรียบของผู้ผลิตเท่ากับข้าว สิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้วก็คือช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนในระดับหนึ่ง ไม่ใช่และไม่ควรไปพยุงราคายางพาราในระดับที่เกษตรกรเรียกร้อง
อย่างนี้เป็นการ "แก้ไข" ปัญหาที่เกิดขึ้นหรือยัง?
เช่นเดียวกับกรณีอินโดนีเซีย ความพยายามของประธานาธิบดียุทโธโยโนในการขจัดคอร์รัปชั่น ซึ่งทำให้เขาเสียมิตรไปพอสมควร ตลอดจนยกเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ (อันเป็นนโยบายที่ทำมาอย่างเป็นล่ำเป็นสันสมัยเผด็จการ) จนต้องเผชิญการประท้วงขนานใหญ่ เป็นการ "แก้ไข" ปัญหาหรือไม่ หากไม่ทำอะไรเลย ค่าเงินรูเปียก็คงตกลงมากกว่านี้ก็เป็นได้
ความอ่อนแอในทรรศนะของคอลัมนิสต์นั้นอยู่ที่ผู้นำ หรืออยู่ที่ประชาธิปไตยกันแน่
ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของกระบวนการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายจะกระจายอำนาจต่อรองของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม แม้เกิดความล่าช้าและบางครั้งเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่โดยตัวของมันเองนั้นงดงาม การประท้วงปิดถนนของชาวสวนยางอาจเป็นการ "ต่อรอง" ที่เลยขอบเขตไปบ้าง แต่ทำให้สังคมโดยรวมได้เข้าใจความซับซ้อนของปัญหายางพารามากขึ้น เช่นเดียวกับเขื่อนแม่วงก์ หรือการฟ้องศาลปกครองต่อนโยบายขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ซึ่งในที่สุดศาลปกครองก็วินิจฉัยแล้วว่าไม่ให้ความคุ้มครองชั่วคราว (จึงไม่เกิดความเสียหายแต่อย่างใด)
กระบวนการประชาธิปไตยนี่แหละ ที่ทำให้การยึดสาธารณสมบัติของทุนนิยมสามานย์ หรือเสรีนิยมใหม่ ไม่อาจทำได้อย่างราบรื่น แม้สามารถผลักดันตัวแทนของตนไปถืออำนาจทางการเมืองได้ ด้วยเหตุดังนั้นทุนนิยมสามานย์หรือเสรีนิยมใหม่จึงรังเกียจประชาธิปไตย
ไม่ต่างจากพวกนีโอคอนฯ สีเหลืองและสลิ่มในเมืองไทย ที่ระแวงสงสัยประชาธิปไตยว่าอ่อนแอ และเปิดโอกาสให้คนชั่วได้ยึดอำนาจบ้านเมือง ก็เหมือนนีโอคอนฯ ทั่วโลก คือกลายเป็นเครื่องมือให้ทุนนิยมสามานย์ (ตัวจริง) อย่างไม่รู้ตัว
แต่ "ความอ่อนแอ" ของผู้นำไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเอเชีย วิกฤตการเงินของสหรัฐเวลานี้ เกิดจากการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ยอมให้มีการโหวตรัฐบัญญัติงบประมาณประจำปี ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องปิดสำนักงานของตนลง รวมทั้งอาจต้องงดชำระหนี้ตามกำหนดเป็นครั้งแรก (ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญสหรัฐเอง) ประชาธิปไตยทำให้ประธานาธิบดีทำอะไรไม่ได้ (ยกเว้นใช้อำนาจพิเศษ เพื่อปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ... แต่จนถึงเวลาที่เขียนประธานาธิบดียังไม่ได้ใช้อำนาจนี้) นี่เป็นความอ่อนแอด้วยหรือไม่
ถ้าถือทั้งหมดนี้ว่าเป็น "ความอ่อนแอ" ก็ไม่ใช่ความอ่อนแอของบุคคล คอลัมนิสต์กำลังพูดถึงความอ่อนแอของประชาธิปไตยต่างหาก
แต่ประชาธิปไตยอ่อนแอจริงหรือ
เพราะกระบวนการบังคับให้ประชาธิปไตยต้องเปิดการต่อรองแก่คนทุกฝ่าย จึงทำให้ประชาธิปไตยไม่สามารถตะบี้ตะบันใช้อำนาจเด็ดขาดที่มาจากการเลือกตั้งเสมอไป จำเป็นต้องร่วมต่อรอง ถอยบ้างรุกบ้าง ทั้งเพื่อรักษาคะแนนเสียง (ซึ่งโดยตัวของมันเองก็ไม่เสียหายอะไร) และทั้งเพื่อทำให้นโยบายผ่านออกไปใช้ได้ แม้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย (ซึ่งก็ดีแล้ว)
อำนาจเด็ดขาดที่มากับระบอบเผด็จการเข้ามาแทนที่เพื่อขจัด "ความอ่อนแอ" นี้ได้หรือไม่
หากคอลัมนิสต์มองลึกลงไปที่ระบอบเผด็จการทุกแห่ง ก็น่าจะเข้าใจได้ว่า ในโลกทุกวันนี้ โอกาสที่จะเกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) ในประเทศใดประเทศหนึ่งมีน้อยลงไปมาก (โดยเฉพาะหลังการถึงอสัญกรรมของท่านประธานเหมา) ทั้งนี้ เพราะมวลชนหาตัวตนของตนเองได้พบในสิ่งที่หลากหลายกว่าชะตากรรมของชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ หรืออุดมการณ์อันใด ไม่มีคลื่นความคิดของมวลชนใดเหลือให้ใครขี่ขึ้นไปสู่อำนาจสูงสุดได้อีกแล้ว
ยังเหลือรอดอยู่ได้คือเผด็จการคณาธิปไตยธรรมดาๆ แต่เผด็จการคณาธิปไตยหาได้กุมอำนาจเด็ดขาดจนไม่ต้องประนีประนอมกับใคร แม้สังคมตรวจสอบไม่ได้ แต่คณาธิปไตยจะสามารถรักษาอำนาจได้ ก็ต้องผนวกเอาคนหลากหลายประเภทมาเป็นพวก ดูการรัฐประหาร 2549 ในประเทศไทยเป็นตัวอย่างเถิด ทั้งตุลาการ, นักวิชาการ, พรรคการเมือง, ม็อบ, กองทัพ, สื่อ, และเหล่ากษัตริย์นิยม ต่างมีสิทธิมีเสียงในนโยบายสาธารณะทั้งสิ้น ไม่ว่า คมช.เห็นชอบด้วยหรือไม่
หากถือว่าความผ่อนปรน และการประนีประนอม (อย่างน้อยในบรรดาพรรคพวกของตนเอง) เป็น "ความอ่อนแอ" เผด็จการคณาธิปไตยก็ "อ่อนแอ" เหมือนกัน ซ้ำเป็นความอ่อนแอที่ให้ผลเสียแก่สังคมด้วย เพราะคนส่วนใหญ่ถูกกีดกันออกไปจากเวทีต่อรอง
ยิ่งหากเกิดรัฐประหารในประเทศไทยตอนนี้ รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร (แม้มีองคมนตรีเป็นผู้นำ) ก็ยิ่งต้อง "ซื้อ" การสนับสนุนมากเสียยิ่งกว่าพรรคการเมืองหาเสียงด้วยซ้ำ เพราะสังคมไทยได้แตก "ขั้ว" ออกไปเป็นสังคมที่มีพหุลักษณ์อย่างชัดเจน (มากกว่า 2 ขั้วอย่างที่เข้าใจกัน) จนกระทั่งไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเป็นประชาธิปไตย หรือฆ่าล้างโคตร
ผมคิดว่า อินโดนีเซีย, อินเดีย และมาเลเซีย ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน
ไม่ว่าจะนิยาม "ความอ่อนแอ" ของผู้นำอย่างไร นี่คือสภาพความเป็นจริงของเอเชียและของโลกที่เราต้องเผชิญ ประชาธิปไตยของโลกกำลังก้าวเข้าสู่สภาวะใหม่ ที่ไม่ต้องการการนำของ "ผู้นำ" เท่ากับการนำของสังคม
ปัญหาของประเทศประชาธิปไตยใหม่ของเอเชีย คือต้องสร้างเสริมเงื่อนไขที่จะทำให้สังคมสามารถ "นำ" ตัวเองได้ อย่างฉลาด และอย่างสุขุม โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของนักปลุกระดมต่างหาก
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย