http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-08-16

ความนอบน้อมถ่อมตน, วีรบุรุษตายแล้ว โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ความนอบน้อมถ่อมตน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ขณะที่เขียนบทความนี้ ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรี ฉะนั้นจึงไม่ทราบรายชื่อ ครม.มากไปกว่าโผที่สื่อเป็นผู้จัดให้

มีข่าวจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะมักกุข่าวเอาเองเพื่อรณรงค์ทางการเมืองอยู่เสมอว่า พรรคเพื่อไทยกำลังดิ้นรนที่จะหา "อำมาตย์" มาร่วมงาน แต่ฝ่ายอำมาตย์ไม่ยอมร่วมมือด้วย พท.จึงพากันวิ่งจนหัวหมุนเพื่อหาอำมาตย์มานั่งคุมบางกระทรวง แหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือยกกรณีที่มีข่าวลือมาก่อนหน้านั้นว่า ผู้บริหารธนาคารแห่งหนึ่งซึ่งได้ตัดสินใจรับคำเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลแล้ว แต่ถูกผู้ใหญ่ฝ่ายอำมาตย์เตือนว่า หากรับตำแหน่งทางการเมืองในครั้งนี้ อนาคตก็จะจบลงไม่สวย เขาจึงถอนตัว ด้วยความห่วงใยอนาคตของตนเอง

ผมไม่มีทางทราบว่า นี้เป็นข่าวกุหรือข่าวที่น่าเชื่อถือ แต่ก็นับว่าน่ายินดีแก่ พท.ที่มีข่าวเช่นนี้ แม้แต่เป็นข่าวกุก็ตาม เพราะรัฐบาล พท.จะมีอิสระยิ่งขึ้นในการดำเนินนโยบาย ท่านนายกฯได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนแล้วว่า ต้องการสร้างความปรองดองอย่างจริงใจ แม้แต่ในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องการให้ฝ่ายที่มีผลประโยชน์ปลูกฝังในโครงสร้างที่อยุติธรรมนี้ เข้ามาร่วมปรับปรุงแก้ไข แต่ฝ่ายอำมาตย์เองปฏิเสธที่จะร่วมมือ


ปัญหากลับมาอยู่ที่ว่า คุณยิ่งลักษณ์และ พท. จะใช้ประโยชน์จากอิสรภาพนี้อย่างไร

ก่อนอื่น ผมคิดว่าอย่าเสียกำลังใจเพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายอำมาตย์ในครั้งนี้ เพราะคนดีมีฝีมือไม่ได้อยู่กับฝ่ายอำมาตย์เพียงฝ่ายเดียวอย่างที่อำมาตย์มักพยายามทำให้คนอื่นเข้าใจเช่นนั้น ก็จริงว่าคนที่มีชื่อเสียงและความรู้ความสามารถอยู่กับอำมาตย์จำนวนมาก ทั้งนี้เพราะอำมาตย์ได้ยึดกุมอำนาจในบ้านเมืองมานาน ย่อมเปิดการศึกษาและประสบการณ์ให้วงศ์วารและเครือข่ายของตนเป็นธรรมดา

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวและอาจไม่ใช่เหตุผลที่สำคัญที่สุดด้วย เหตุผลที่สำคัญกว่าอยู่ที่มาตรฐานว่าอะไรคือความรู้ความสามารถ

และใครคือผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นสิ่งที่อำมาตย์เป็นผู้กำหนดขึ้นมานาน หากคุณยิ่งลักษณ์และพรรค พท.ชัดเจนในเรื่องนี้ ก็ต้องเลิกยึดถือมาตรฐานที่อำมาตย์ตั้งไว้ในสองเรื่องนี้ และมองหาคนที่มีความรู้ความสามารถอันเหมาะกับแนวทางและเป้าหมายของพรรคมาทำงาน จากคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่อำมาตย์ หรือไม่สยบยอมต่ออำมาตย์

คนที่มีความรู้ความสามารถเช่นนั้น ยังมีในสังคมไทยอีกมากมาย ทั้งที่อยู่ในสภาและนอกสภา

ในบรรดาคนที่คุณยิ่งลักษณ์เลือกสรรนี้ อาจเป็นประชาชนธรรมดา หรืออาจเป็นอำมาตย์ที่กบฏต่ออำมาตย์ก็ได้ทั้งนั้น เงื่อนไขสำคัญคือเขาเหมาะกับตำแหน่งงานมากน้อยเพียงไร และสามารถบริหารงานเพื่อตอบสนองนโยบายของพรรคได้หรือไม่

คาดหวังไว้ได้เลยว่า เมื่อคุณยิ่งลักษณ์ประกาศรายชื่อ ครม.แล้ว จะถูกฝ่ายอำมาตย์เยาะเย้ยเหยียดหยันหนักขึ้นไปอีก รมต.แต่ละคนจะถูกแฉโพย "เบื้องหลัง" นานาชนิดออกมาให้เป็นที่น่าเย้ยหยันแก่สาธารณชน นับตั้งแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่นที่คุณยิ่งลักษณ์โดนมาเองคือแต่งงานโดยไม่จดทะเบียนสมรส ไปจนถึงเรื่องใหญ่อื่นๆ

ครั้นลงมือบริหารงาน ก็จะถูกกระหน่ำโจมตีติเตียนมากขึ้นว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่างๆ นานา แม้ประชาชนที่ไม่ใช่อำมาตย์อีกมาก ก็จะพากันวิพากษ์วิจารณ์แนวนโยบายและแนวการบริหารของรัฐบาล ทั้งโดยสุจริตใจและไม่สุจริตใจ

นี่เป็นสิ่งปรกติธรรมดาของการบริหารงานในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย เพราะพื้นที่ของการท้วงติงไปจนถึงต่อต้านรัฐบาลย่อมเปิดกว้าง ผู้คนสามารถเข้าไปใช้พื้นที่นี้ เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ส่วนรวมก็ได้ทั้งนั้น

ดังนั้น คุณยิ่งลักษณ์และรัฐบาลต้องน้อมรับฟัง ไม่ว่าเสียงติติงวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะมาจากฝ่ายอำมาตย์หรือไม่ใช่ก็ตาม เพราะแม้แต่คำติติงวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายอำมาตย์ ก็ใช่ว่าจะฟังไม่ขึ้นไปเสียทั้งหมด

อำมาตย์ย่อมรู้ดีว่า พลังของการต่อต้านรัฐบาลนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คำวิพากษ์วิจารณ์ของตนเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชนทั่วไป ดังนั้นเขาย่อมเสนอคำวิจารณ์ที่มีเหตุผลและข้อมูลรองรับ


ความแข็งแกร่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขในสภา แต่อยู่ที่ความนอบน้อมถ่อมตนอันเป็นอุปนิสัยของท่านนายกฯเอง ท่านนายกฯต้องทำให้คุณลักษณะข้อนี้เป็นของ ครม.ทั้งชุด ไม่จำกัดอยู่เฉพาะที่ตัวนายกฯเพียงคนเดียว

แทนที่จะทำอย่างพี่ชายท่านนายกฯ คือ ปัดคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายลงใต้โต๊ะอย่างไม่ไยดีไปหมด รัฐบาลยิ่งลักษณ์ควรน้อมรับฟังพยายามแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้เกียรติกับผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างนอบน้อมถ่อมตน แต่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนกันหลังฉากอย่างลับๆ

เพราะจะนำไปสู่การ "เกี้ยเซี้ย" ที่ละเลยประโยชน์ของประชาชน แต่ควรทำให้ประเด็นแลกเปลี่ยนนั้นเป็นของสาธารณะ เพื่อดึงให้กลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย

ครม.ของคุณยิ่งลักษณ์อาจต้องปรับเปลี่ยนแนวทางของนโยบายหรือการบริหารบางเรื่อง หลังการแลกเปลี่ยนในกระบวนการที่เป็นสาธารณะแล้ว ทั้งนี้จะทำให้ฝ่ายต่อต้านสูญเสียพลัง อีกทั้งแนวนโยบายและการบริหารที่นำมาปฏิบัติ ก็จะตอบสนองประโยชน์ของคนในวงกว้างขึ้นด้วยไปพร้อมกัน


ความนอบน้อมถ่อมตนนั่นแหละคือพลัง คุณยิ่งลักษณ์ต้องรักษาพลังนี้ไว้ และขยายให้กลายเป็นพลังของ ครม.ทั้งชุด

ดังนั้น คุณยิ่งลักษณ์ต้องเด็ดขาดในการอำนวยการนำให้แก่ ครม.อย่างนอบน้อมถ่อมตนด้วย คนที่คาดหวังว่าจะได้ตำแหน่งใน ครม.ของคุณยิ่งลักษณ์บางคน เป็นคนกร่างเพราะประสบความสำเร็จในชีวิตจากความกร่างตลอดมา คุณยิ่งลักษณ์ต้องเจรจากับคนเหล่านั้นด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ให้ลดความกร่างลงมา และพร้อมจะรับฟังคนอื่นอย่างนอบน้อมถ่อมตนบ้าง

หากเขาทำไม่ได้ ก็ต้องปลดเขาออกจากตำแหน่งอย่างนอบน้อมถ่อมตนเท่านั้น



โครงการขนาดใหญ่ของพรรค เช่นการถมทะเล ซึ่งได้รับเสียงคัดค้านจากคนหลายกลุ่ม หากยังยืนยันที่จะทำ ก็ต้องทำโดยผ่านการแลกเปลี่ยนในกระบวนการที่เป็นสาธารณะ ฟังเสียงจากคนอื่นให้มาก เปิดให้มีการโต้แย้งกันด้วยเหตุผลและข้อมูลจากทุกฝ่าย ในที่สุดก็จะทำให้รัฐบาลมีพลังพอจะกลับมาทบทวนโครงการ อาจทำในขอบเขตที่เล็กลง อาจยกเลิกไป อาจเปลี่ยนมาเป็นการรักษาชายฝั่งทะเลด้วยวิธีอื่น ซึ่งสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนน้อยกว่า ฯลฯ

แต่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการนี้ ต้องไม่ระรานผู้คัดค้าน ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่เอาเงินไปฟาดหัวชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ไม่ทำประหนึ่งว่าโครงการถมทะเลเป็นโครงการส่วนตัวประจำตระกูล ฯลฯ หากต้องนอบน้อมถ่อมตนในการรับฟัง แต่ก็พร้อมจะแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผลและข้อมูล

หากรัฐมนตรีทำไม่ได้ก็ต้องปลด


พลังของคุณยิ่งลักษณ์ต่อพรรค พท.ในวันนี้แข็งแกร่งขึ้นมาก ไม่ใช่เพราะแค่เป็นน้องสาวคุณทักษิณ ชินวัตร อย่างวันที่ได้รับเสนอชื่อให้เป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อหมายเลขหนึ่ง และไม่ใช่เพราะมีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกฯด้วย

ส่วนหนึ่งจำนวนไม่น้อยของคะแนนเสียงที่ประชาชนให้แก่พรรค พท.ในการเลือกตั้ง มาจากตัวคุณยิ่งลักษณ์เอง จนถึงวันที่ชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอย ความแคลงใจในเพศ อายุ และประสบการณ์ของคุณยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี มลายหายสูญไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีใครรู้หรอกว่า คุณยิ่งลักษณ์จะทำงานในตำแหน่งนี้ได้ดีแค่ไหน แต่ดูเหมือนเกิดความวางใจทั่วไปว่า ในมือของผู้หญิงคนนี้คงไม่มีอะไรเสียหายเกินไป

อำนาจต่อรองของคุณยิ่งลักษณ์ในพรรคจึงมีสูงขึ้น ไม่มีใครสักคนในพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้เป็นนายกฯ ยิ่งไปกว่าเธอ ทั้งนี้รวมแม้กระทั่งนักการเมืองที่ถูกห้ามทั้งหมด ซึ่งบางคนอาจกลับเข้าสู่พรรคหลังเดือนพฤษภาคมปีหน้าด้วย ดังนั้นจึงไม่มีอุปสรรคใดๆ ที่คุณยิ่งลักษณ์จะปลดรัฐมนตรีที่ขาดความนอบน้อมถ่อมตน

พลังที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วแก่บุคคลซึ่งเพิ่งเข้าสู่วงการเมืองไม่ถึง 4 เดือนนี้ มาจากอุปนิสัยนอบน้อมถ่อมตน และหากคุณยิ่งลักษณ์เข้าใจพลังสำคัญนี้ดี คุณยิ่งลักษณ์ก็จะสร้าง ครม.ที่นอบน้อมถ่อมตนเหมือนอุปนิสัยของเธอ

รัฐบาล พท.จะไม่ได้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเพราะมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ประชาธิปไตยที่พรรค พท.ภายใต้คุณยิ่งลักษณ์จะนำมาสู่สังคมไทย คือประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) อันเกิดขึ้นได้จากความนอบน้อมถ่อมตนของฝ่ายบริหาร ในขณะที่ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ จะเป็นปราการอันแข็งแกร่งป้องกันการแทรกแซงล้มกระดานของฝ่ายอำมาตย์ได้อย่างดี


ดังนั้น จึงโชคดีแล้วที่ฝ่ายอำมาตย์ซึ่งขาดความนอบน้อมถ่อมตน ไม่ยอมรับตำแหน่งใน ครม. เพราะห่วงแต่อนาคตของตนเอง ถึงเวลาแล้วที่เหล่า "ไพร่" จะมาสร้างอนาคตของสังคมโดยรวมร่วมกัน ภายใต้รัฐบาลที่มีความนอบน้อมถ่อมตนเสียที



++

วีรบุรุษตายแล้ว
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1617 หน้า 30


ผมเข้าใจเอาเองว่า ทุกวัฒนธรรมคงมีวีรบุรุษทั้งนั้น อาจเป็นคนที่ยังหายใจอยู่หรือไม่ได้หายใจแล้ว อาจเป็นเทวดา หรืออาจเป็นนักบุญ ฯลฯ

เพราะวีรบุรุษคือบุคลาธิษฐานของคุณสมบัติตามความใฝ่ฝันของสังคมในช่วงหนึ่งๆ คุณสมบัติเหล่านี้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นความยิ่งใหญ่หรือความดีนิรันดร เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ความใฝ่ฝันของสังคมก็เปลี่ยนตามไปด้วย คุณสมบัติที่เคยยกย่องว่าดีหรือสำคัญ ก็ไม่เหมือนเก่าอีกต่อไป

ดังนั้น วีรบุรุษจึงไม่ได้อยู่คงที่ หลายวีรบุรุษถูกลืม และเกิดวีรบุรุษใหม่ๆ ขึ้นอยู่เสมอในทุกวัฒนธรรม แม้แต่วีรบุรุษเก่าที่ยังเหลืออยู่ ก็ถูกตีความใหม่เพื่อเน้นคุณสมบัติอันเป็นที่ต้องการของสังคมในช่วงนั้นๆ

คนไทยภาคกลางและภาคใต้ แทบไม่รู้จักขุนเจืองเอาเลย เป็นต้น เพราะวีรกรรมของขุนเจืองนั้นไร้ความหมายแก่คนภาคกลางและใต้มานานแล้ว

และด้วยเหตุที่ผมพูดข้างต้น จึงมีเรื่องที่เราควรสำเหนียกไว้สองอย่าง

อย่างแรกก็คือ ในทุกสังคม ชนชั้นนำเป็นผู้กำหนดว่า อะไรคือคุณสมบัติที่จำเป็นและสำคัญในช่วงหนึ่งๆ และด้วยเหตุดังนั้น จึงมักเป็นผู้ปั้นวีรบุรุษขึ้น หรือแม้มีวีรบุรุษของประชาชนที่ชนชั้นนำไม่อาจปฏิเสธได้ ชนชั้นนำก็ปั้นคุณสมบัติใหม่ๆ ที่ตัวต้องการยัดลงไป

แม้กระนั้น ผมก็ยังเชื่อว่ามีวีรบุรุษที่ชนชั้นนำกลืนไม่ลงเหลืออยู่ในหมู่ประชาชนเสมอ

ผีปู่ตา (ซึ่งส่วนใหญ่คือผีบรรพบุรุษที่สร้างบ้านหรือแปงเมือง) ของหมู่บ้านต่างๆ ไม่เคยถูกชนชั้นนำเอามาปั้นใหม่ แล้ววางบูชาไว้บนหิ้งพระราชพงศาวดาร เป็นต้น

อย่างที่สองก็คือ ไม่จำเป็นว่าวีรบุรุษต้องเคยเป็นบุคคลจริง และไม่จำเป็นว่าชีวิตและการกระทำของเขาจะตรงกับที่เคยเกิดขึ้นจริงในอดีต จะเป็นวีรบุรุษทั้งที แล้วมีชีวิตที่จืดสนิทเท่ากับความจริง ก็ไม่รู้จะเป็นไปทำไม ก็อย่างที่บอกแล้วไงครับว่า วีรบุรุษถูกสร้างขึ้น ไม่ใช่ของจริง

ฉะนั้น ใครที่สนใจประวัติศาสตร์ อยากรู้เรื่องของวีรบุรุษจึงต้องระวังว่า ข้อมูลส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องแต่งขึ้นทั้งนั้น



รู้กันดีอยู่แล้วว่า รัฐประชาชาติไทยรับเอาวีรบุรุษของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามมาเป็นวีรบุรุษของชาติไว้เต็มเปา ดังนั้น เมื่อไรที่คนไทยปัจจุบันคิดถึงวีรบุรุษ จึงมักเป็นกษัตริย์หรือคนที่เชื่อมโยงกับราชสำนักทุกทีไป เพราะกว่าจะสร้างรัฐไทยโบราณขึ้นมาเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ ก็จำเป็นต้องสร้างวีรบุรุษชนิดใหม่ ที่ส่งเสริมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น หรือเอาวีรบุรุษเก่า เช่น พระร่วง หรือท้าวอู่ทอง มาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่เพื่อรับบทบาทเป็นกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งที่มีจริงในประวัติศาสตร์

คุณสมบัติของวีรบุรุษเหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นและสำคัญแก่สังคมไทยในทัศนะของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่นความรักชาติภายใต้อำนาจนำของกษัตริย์ จงรักภักดี และเทิดทูน "ความเป็นไทย" ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เพิ่งสร้างและนิยามขึ้นใหม่ในช่วงนั้น

แต่สังคมไทยก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ หลายเงื่อนไขของสังคมไม่ได้เอื้อต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกแล้ว แม้กระนั้น ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งก็คือ ไม่มีวีรบุรุษใหม่ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นอีกหลัง 2475 ในขณะที่วีรบุรุษเก่าจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็แทบไม่ถูกตีความใหม่ให้มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับความใฝ่ฝันของปัจจุบัน

อย่างที่ผมเคยยกเรื่องพันท้ายนรสิงห์ไว้ในคอลัมน์นี้นานแล้ว พันท้ายฯ ยอมตายเพราะอะไร? ในหนังที่พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ทรงสร้างไว้นั้น พันท้ายฯ ไม่ยอมรับการอภัยโทษของกษัตริย์ เพื่อถ่วงเวลามิให้ขบวนเรือเสด็จประพาสไปถึงจุดที่คนร้ายเตรียมจะปลงพระชนม์ แต่ในตำนานเดิมกลับเล่าว่า พันท้ายฯ ยอมสละชีวิตของตนเองเพื่อรักษา "กฎหมาย"

เรื่องใหญ่เลยนะครับ เพราะ "กฎหมาย" ที่พันท้ายฯ พยายามรักษาความศักดิ์สิทธิ์ไว้นั้น มีอำนาจเหนือพระราชา แม้ความประสงค์ของพระองค์ก็ไม่อาจอยู่เหนือ "กฎหมาย" ได้



ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย วีรบุรุษก็น่าจะตายเพื่อนิติรัฐและนิติธรรม มากกว่าเพื่อปกป้องชีวิตเจ้านายไม่ใช่หรือครับ แต่คุณสมบัติข้อนี้กลับถูกลดความสำคัญลงในตำนานวีรบุรุษในสังคมไทยสมัยใหม่

การที่ไม่มีวีรบุรุษเกิดขึ้นใหม่ในเมืองไทยหลัง 2475 ย่อมสะท้อนความอิหลักอิเหลื่อของเมืองไทยเองว่า จะก้าวต่อไปอย่างไร เช่น ในด้านหนึ่ง ต่างฝ่ายรู้ว่าเราต้องเป็นประชาธิปไตย (ซึ่งแต่ละฝ่ายแปลไม่เหมือนกัน) แต่ในอีกด้านหนึ่งเรามีแต่วีรบุรุษที่เน้นย้ำคุณสมบัติอันขาดไม่ได้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

อันที่จริง ไม่ใช่ไม่มีความพยายามจะสร้างวีรบุรุษใหม่ขึ้นมาเลย แต่ความพยายามนั้นประสบความล้มเหลวตลอดมา เพราะฝ่ายกุม

อำนาจรัฐขัดขวางไม่ให้วีรบุรุษได้เกิด เช่น ท่านปรีดี พนมยงค์ หรือ ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะวีรบุรุษ "ประชาธิปไตย"

แต่เพราะทั้งสองท่านเป็นวีรบุรุษของ "ประชาธิปไตย" ที่หมายถึงอำนาจสูงสุดย่อมเป็นของประชาชน จึงเป็นที่น่ารังเกียจแก่ผู้มีอำนาจในรัฐไทย ซึ่งกีดกันพื้นที่ของอำนาจไว้กับตนเองสืบมาจนถึงทุกวันนี้ จึงต่างช่วยกันทำให้ทั้งสองท่านถูกลืมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

หลังจากนั้น เราก็ไม่มีวีรบุรุษประชาธิปไตยอีกเลย ที่มีอยู่ก็ยกๆ กันเองอย่างน่าขำ เช่น เสาหลักประชาธิปไตยของเราคือคนที่ร่วมกับทหารในการทำรัฐประหาร และจ้างคนไปตะโกนกล่าวร้ายคู่แข่งทางการเมืองของตนเองในโรงหนัง วีรบุรุษประชาธิปไตยอีกท่านหนึ่งกลับร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสนอการเมืองใหม่ที่ครึ่งหนึ่งหรือกว่านั้นของ ส.ส. มาจากการเลือกสรรของกลุ่มวิชาชีพ

คุณทักษิณ ชินวัตร เวลานี้ก็เป็นวีรบุรุษประชาธิปไตยของคนจำนวนมาก แต่ก็น่าขำที่วีรบุรุษผู้นี้ยอมรับเองว่า สมัยตัวมีอำนาจได้ใช้ถุงมือเหล็กในการบริหาร จนทำให้มีผู้ถูกตัดตอนไปกว่า 2,000 ชีวิต และอีกนับพันชีวิตในภาคใต้



ผมอยากพูดว่า สังคมที่ไม่มีวีรบุรุษคือสังคมที่ไม่มีอุดมคติ เมืองไทยหลัง 2475 จึงเป็นสังคมที่ไม่มีอุดมคติ ผมพูดอย่างนี้อาจไม่ถูกทีเดียวนัก เพราะนักปราชญ์บางคนบอกว่าชีวิตจะเป็นสุขขึ้นมาก หากอยู่ในสังคมที่ไม่มีอุดมคติเลย เอาเข้าจริง สังคมไทยก็มีอุดมคติเหมือนกัน แต่เป็นอุดมคติรุ่นคุณทวด ซึ่งหาได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยเวลานี้

วีรบุรุษของเราเวลานี้จึงล้วนอายุมากๆ ทั้งสิ้น

ผมไม่ได้หมายความว่า วีรบุรุษแก่ๆ เหล่านั้นไม่ได้ถูกอัดฉีดความหนุ่มเข้าไปใหม่นะครับ มีความพยายามทำอย่างนั้นตลอดมา โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีการทำสารคดีเกี่ยวกับพระองค์ตลอดมา ทั้งในรูปบทความ, หนังสือ, ภาพยนตร์สารคดี, และการรื้อฟื้นรัชสมัยขึ้นในรูปต่างๆ นับตั้งแต่แฟชั่นไปจนถึงนิทรรศการ

แต่คุณสมบัติของความเป็นวีรบุรุษสิครับ ที่ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เช่น การเสด็จประพาสต้นเพื่อทรงทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของสามัญชน แล้วท่านก็ทรงตัดสินพระทัยเองว่าจะต้องจัดการอย่างไร จึงจะทำให้ราษฎรเป็นสุขตามทัศนะของท่าน ก็ดีนะครับ ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่คุณสมบัติข้อนี้จะมาแทนที่เวทีเปิด ที่ประชาชนเป็นผู้เข้ามาต่อรอง เพื่อจัดการบริหารเอง อย่างที่ควรเป็นในระบอบประชาธิปไตยได้หรือ

ปัญหาของเมืองไทยเวลานี้ก็คือ พื้นที่ตรงนี้ไม่มี หรือที่มีอยู่ก็ไม่ทำงานอย่างที่ควรเป็น ในฐานะวีรบุรุษของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงไม่ได้ตอบปัญหาอะไรเลย นอกจาก "คืนพระราชอำนาจ" ซึ่งเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยก็เพราะไม่มีใครยอมรับคืน



เช่นเดียวกับ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ละครับ ในฐานะภาพยนตร์ก็สนุกดี เพราะอลังการสุดประมาณ และความรักชาติก็ยังคงเป็นคุณสมบัติสำคัญของไทยในทุกวันนี้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า "ชาติ" ที่เราพึงรักนั้นคืออะไรเล่าครับ

ที่เราทะเลาะกันจะเป็นจะตายในทุกวันนี้ ก็เพราะต่างฝ่ายต่างนิยาม "ชาติ" ไม่ตรงกัน เพราะชาติที่หมายถึงพระมหาเศวตฉัตรอย่างสมัยพระนเรศวรนั้น ไม่มีปัญหาอะไรให้ต้องร้อนใจอีกแล้ว แต่ "ชาติ" ในความหมายถึงมวลประชาชนต่างหากที่พากันร้อนใจทั้งเหลืองทั้งแดง

สมเด็จพระนเรศวรในฐานะวีรบุรุษ ต้องให้คุณสมบัติบางอย่างที่ตอบสนองต่อความใฝ่ฝันของคนไทยปัจจุบัน ไม่ใช่ความใฝ่ฝันของคนสมัยที่เขียนพระราชพงศาวดาร (ประมาณต้นรัตนโกสินทร์)

ก็ไหนๆ จะสร้าง "ตำนาน" กันแล้ว ไม่ได้สร้างหนังประวัติศาสตร์ ผมคิดว่ามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนเรศวรบางตอนที่สามารถเอามาขยายเป็นคุณสมบัติของวีรบุรุษปัจจุบันได้แยะ เช่น การที่ท่านยอมให้น้องชายพระเจ้านันทบุเรงได้ครองเชียงใหม่ต่อไป เอามาขยายเป็นอำนาจในการปกครองตนเองระดับหนึ่งของท้องถิ่นก็ได้ ความเป็นจอมทัพที่ไม่ลูบหน้าปะจมูก ลูกน้องใกล้ชิดทำผิดก็โดนลงโทษไม่ต่างจากคนอื่น เป็นต้น

ทั้งเรื่องอำนาจของท้องถิ่นที่พอคานกับส่วนกลางได้ และเรื่องลูบหน้าปะจมูก ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งทำให้ต้องการวีรบุรุษที่ให้อุดมคติใหม่ทั้งนั้น



โดยสรุปก็คือ นอกจากไม่เกิดวีรบุรุษใหม่แล้ว วีรบุรุษเก่าก็ไม่สามารถให้คุณสมบัติใหม่หรืออุดมคติใหม่ที่จับใจคนปัจจุบันได้ด้วย

ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับการไม่เกิดวีรบุรุษ ซึ่งผมยังคิดไม่ออก นั่นก็คือ ในรัฐที่ยึดมั่นกับลัทธิพิธีบูชาบุคคล (personality cult)

รัฐนั้นยังมีความสามารถจะผลิตวีรบุรุษใหม่ได้หรือไม่ ?

ผมนึกถึงเกาหลีเหนือและจีน ภายใต้ประธานเหมา ซึ่งก็ผลิตวีรบุรุษออกมาจำนวนหนึ่ง (เช่น ลุงโง่ย้ายภูเขา) แต่ผมไม่มีทั้งความรู้และเวลาไปศึกษากระบวนการสร้างวีรบุรุษใหม่ภายใต้ลัทธิพิธีบูชาบุคคลทั้งสองกรณี


.