.
ชุมชนนิยมกับประชาธิปไตยแบบไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.
ในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ทุนไทยเติบโตทางการเมืองอย่างรวดเร็ว บางส่วนตั้งพรรคการเมืองของตนเอง บางส่วนให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง หรือการรัฐประหาร แล้วแต่พรรคการเมืองพรรคใด หรือการรัฐประหารครั้งใด จะให้ประโยชน์แก่ตนมากที่สุด
อำนาจทางการเมืองนี้ นอกจากใช้เพื่อการครอบครองสัมปทานจากรัฐ และผูกขาดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นหลักประกันว่ารัฐจะดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจของตนตลอดไป
ในช่วงเดียวกันนี้ ทุนยังบุกทะลวงเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรในชนบทมากขึ้น ทั้งเพื่อธุรกิจพลังงาน, การท่องเที่ยว และการตักตวงทรัพยากรใต้ดิน นับตั้งแต่น้ำ, เกลือ, จนถึงสินแร่อื่นๆ
ทั้งหมดนี้ทำได้ภายใต้ระบบการเมือง ที่อาศัยกลไกและรูปแบบของประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ
การที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม จะขยายอำนาจและผลประโยชน์ของตน ภายใต้กลไกและรูปแบบของการเมืองชนิดใดชนิดหนึ่งนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ยิ่งอำนาจและผลประโยชน์ของตนขยายออกไปมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความจำเป็นจะต้องหาเหตุผลทาง "ศีลธรรม" ให้แก่กลไกและรูปแบบของระบบการเมืองที่เอื้อต่ออำนาจและผลประโยชน์ของตนมากขึ้น
ภาระนี้ทุนไทยไม่ได้ทำ หรือไม่สนใจจะทำ ดูเหมือนทุนไทยจะอาศัยแต่วิธี "ขู่กรรโชก" สังคม เพราะในช่วงนี้เป็นต้นมาเหมือนกันที่ทุนเอกชนจะเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่สุดของประเทศ ฉะนั้น เมื่อชนบทกำลังล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถเลี้ยงดูประชากรในชนบทได้ต่อไป สังคมจะอยู่สงบได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับกำลังการจ้างงานของทุนเอกชน ฉะนั้น หากทุนไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมกำลังการจ้างงานของทุนก็จะไม่เติบโตได้ทันการณ์กับจำนวนประชากรที่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงาน
แต่ในขณะเดียวกัน ทุนไม่สนใจจะอธิบายในเชิง "ศีลธรรม" กับค่าแรงราคาต่ำ, การปลดคนงานที่กินเงินเดือนสูงเกินไป, การไม่จัดสวัสดิการแรงงานอย่างเพียงพอ, การลดต้นทุนการผลิตด้วยการกันให้คนงานส่วนหนึ่ง (ที่ใหญ่มาก) ไปไว้นอกระบบ, การไม่ยอมลงทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน, การไม่ลงทุนในการวิจัยและพัฒนา, การติดสินบาทคาดสินบนเพื่อเลี่ยงกฎหมาย, ฯลฯ
กล่าวโดยสรุปก็คือ ทุนไม่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมมากไปกว่าจ้างงาน (ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขอย่างไร) หากการจ้างงานลดลง สังคมก็จะปั่นป่วน ดังนั้น จึงเป็นการ "ขู่กรรโชก" ไม่ใช่ให้คำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แก่อำนาจและผลประโยชน์ของตนที่ขยายตัวขึ้นอย่างมากและรวดเร็วในกลไกและรูปแบบการเมืองนี้
น่าประหลาดที่ว่า ความชอบธรรมในการเอารัดเอาเปรียบของทุนไทยนั้น ยิ่งนับวันก็ยิ่งต้องผูกพันรัฐมากขึ้น สัมปทานนี้ได้มาจากรัฐ โครงการนี้ริเริ่มหรืออนุมัติโดยรัฐ โครงการจัดประมูลพืชผลการเกษตรซึ่งให้ผลกำไรอย่างสูงแก่นายทุน ก็เริ่มมาจากรัฐเอง ฯลฯ และดูเหมือนจะเป็นความชอบธรรมเพียงอย่างเดียว กล่าวคือเมื่อรัฐอนุญาตแล้ว จะถอนคำอนุญาตนั้นไม่ได้ เพราะจะทำให้ไม่มีใครกล้าลงทุนในประเทศไทย
ความชอบธรรมนี้ไม่เกี่ยวกับ "ประชาธิปไตย" หรือแม้แต่กลไกและรูปแบบของประชาธิปไตย ทุนไทยเป็นนักรัฐนิยม (statist) ขนานแท้ รัฐคือข้ออ้างทาง "ศีลธรรม" เพียงอย่างเดียวของทุน ไม่ว่ารัฐนั้นจะฉ้อฉล, เผด็จอำนาจ, หรือ "ตกยุค" อย่างใดก็ตาม (น่าเศร้าด้วยที่ว่า ทั้งความฉ้อฉล, อำนาจนิยม และความตกยุคของรัฐไทย กลับประสานเข้าหากันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างสนิทแนบแน่น)
ทุนไทยจึงไม่มีส่วนในการสร้างเสริมฐานทาง "ศีลธรรม" ของประชาธิปไตย อย่างที่พบได้ในหลายสังคมทั่วโลก
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ รัฐไทยเองเป็นผู้เผยแพร่อุดมการณ์ที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยแก่ประชาชนของตน หลังจากที่สรุปกันได้ว่า วิธีจัดการกับการแข็งข้อของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่น่าจะได้ผลที่สุด คือสถาปนาประชาธิปไตยแบบไทยขึ้นให้มั่นคง ราชการก็ได้ลงทุนกับการเผยแพร่อุดมการณ์นี้ในชนบท (ซึ่งเชื่อว่าเป็นฐานกำลังคนที่สำคัญของ พคท.)
ตำรา "คู่มือประชาธิปไตย" หลายสำนวนที่ราชการพิมพ์แจกผู้นำหมู่บ้าน และในภายหลังแจกและเปิดอบรมประชาชนทั่วไปด้วย กลับเป็นผู้สร้างคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แก่ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของรัฐ หรือประชาธิปไตยที่มุ่งหมายให้เกิดความมั่นคงเป็นหลัก เช่น แม้จะยอมรับในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ย้ำเตือนว่าสิทธิเสรีภาพนั้นมีจำกัด คือเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดความแตกแยก ทำลายความสามัคคีในชาติอันเป็นแหล่งที่มาของสิทธิประชาธิปไตยต่างๆ
ในสำนวนหลังๆ ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของนักคิด กอ.รมน. ถึงกับระบุลงไปเลยว่า เสรีภาพมีอยู่ได้ก็แต่ในรัฐเท่านั้น ฉะนั้น บุคคลย่อมบรรลุเสรีภาพสูงสุดได้ก็ต่อเมื่อทำตามที่รัฐสั่ง
ในด้านการปกครอง ราชการก็เน้นอย่างเดียวกันคือ "ระเบียบ" ด้วยเหตุดังนั้น การปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย จึงหมายถึงการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนเองเท่านั้น ซ้ำยังมีผู้แทนที่มีมาโดยวัฒนธรรมทางการเมืองซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วย เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม หรือแม้แต่กองทัพก็ตาม ย่อมเป็นตัวแทนของประชาชนด้วย เพราะต่างเป็นสถาบันที่เข้าถึง "เจตนารมณ์ทั่วไป" ของสังคมอยู่แล้วโดยประเพณี (ตามทฤษฎีรุสโซแบบเบี้ยวๆ)
รัฐนิยม (statism) คือประชาธิปไตยแบบไทย เพราะการสยบยอมต่อรัฐต่างหากที่เป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตยแบบไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจ-สังคมไทยเปลี่ยนไป ประชาธิปไตยแบบสยบยอมเช่นนี้ขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ชาวบ้านประสบอยู่ เช่น รัฐซึ่งควรเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองประชาชน กลับกลายเป็นเครื่องมือของทุนในการแย่งชิงทรัพยากร รัฐไม่ใช่คนนอกที่คอยเข้ามาสร้างความเป็นธรรม แต่รัฐกลับเป็นพื้นที่เปิดเฉพาะสำหรับอภิสิทธิ์ชน แม้แต่ในหมู่บ้าน ก็มีคนที่เข้าถึงพื้นที่นี้ได้เพียงไม่กี่คน และใช้อำนาจรัฐในการเบียดเบียนคนอื่น
ประชาธิปไตยแบบไทยกำลังต้องการคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" ใหม่ มิฉะนั้น ก็ไม่สามารถกำกับให้ประชาชนสยบยอมได้ต่อไป
และคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แบบใหม่ที่ถูกหยิบมาใช้คือ "ชุมชนนิยม"
ที่จริงแล้ว แนวคิดชุมชนนิยมเกิดมานานแล้ว (ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เช่นกัน) ดูเหมือนในระยะแรก ไม่ได้ถูกใช้เป็นคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" ให้แก่ประชาธิปไตยแบบสยบยอม ในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ดูเหมือนจะเป็นฐานของพลังให้แก่การต่อรอง ทั้งกับตลาดและกับรัฐ ชุมชนนิยมให้ความสำคัญแก่ฐานทาง "ศีลธรรม" ที่มีพลังสูงมาก เพราะมีความหมายแก่ทุกคน เช่น ฐานทรัพยากร, ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์, ความมั่นคงด้านอาหาร และแน่นอนความมั่นคงด้านสังคม ซึ่งได้จากความสัมพันธ์ในชุมชน ใครๆ ย่อมให้คุณค่าแก่สิ่งเหล่านี้เหนือกำไรของบริษัทเอกชน และเหนือเขื่อนไฟฟ้า หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน
แต่นับจากสมัยทักษิณเป็นต้นมา ผู้ต่อต้านทักษิณโน้มนำให้ชุมชนนิยมมีความหมายเชิงสยบยอมมากขึ้น จนดูประหนึ่งว่าชุมชนมีความกลมกลืนในตัวเอง และแข็งแกร่งในตัวเองเสียจนไม่ต้องพึ่งทั้งตลาดและรัฐ ทุกคนสามารถหันกลับไปผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง เพราะชุมชนมี "ภูมิปัญญา" ทำได้ ซ้ำยังมีระบบความสัมพันธ์ภายในที่ช่วยประกันความอยู่รอดของทุกคนด้วยการ "พึ่งตนเอง" กลายเป็นการ "พึ่งตนเอง" ในเงื่อนไขของสังคมที่ได้ล่วงเลยไปแล้ว และคงไม่มีวันหวนคืนกลับมา
พระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของปี 2540 อาจเข้าใจได้เป็นสองอย่าง
อย่างแรก เศรษฐกิจพอเพียง เป็นกลวิธีสร้างพลังต่อรองให้ตนเอง ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยเพิ่มสัดส่วนการผลิตของตนเพื่อการบริโภคในครัวเรือนให้มากขึ้น จึงมีพลังพอจะพึ่งพาตลาดน้อยลง และย่อมต่อรองได้มากขึ้น รัฐก็สามารถทำอย่างเดียวกัน โดยจัดระบบเศรษฐกิจของตนให้ต้องพึ่งพาต่างประเทศน้อยลง เช่น ทำให้เกิดตลาดท้องถิ่นที่ครบวงจร พอที่จะประหยัดค่าขนส่งได้ เป็นต้น
ความเข้าใจอย่างแรกนี้ทำให้เห็นเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกลวิธีอย่างหนึ่ง ในการเพิ่มพลังต่อรองของผู้คนและประเทศชาติ ไม่ต่างไปจากจุดยืนของชุมชนนิยมในระยะแรก และต้องไม่ลืมด้วยว่า พลังต่อรองนั้นใช้ได้ทั้งกับตลาดและรัฐ เศรษฐกิจพอเพียง ในความหมายนี้ไม่ได้ปฏิเสธตลาด (หรือรัฐ) เพียงแต่จะเข้าตลาด (หรือรัฐ) โดยมีพลังต่อรองมากขึ้นได้อย่างไร นอกจากเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังมีกลวิธีอื่นอีกมาก เช่น สหกรณ์, การลงทุนด้านวิชาการของภาครัฐ, การจัดการทรัพยากรทั้งโดยชุมชนและรัฐ อย่างเป็นธรรม เพื่อเพิ่มพลังการผลิต, การมีสื่อของตนเอง, การมีพรรคการเมืองของตนเอง ฯลฯ
ความเข้าใจอย่างที่สอง ซึ่งถูกชูขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นปรัชญา ซึ่งอาจนำไปใช้ได้กับทุกกรณีและในทุกเงื่อนไขของการประกอบการ ทั้งในทางเศรษฐกิจหรือสังคม ในขณะเดียวกัน ก็ใช้ฐานทาง "ศีลธรรม" อย่างเดียวกับชุมชนนิยมในระยะเริ่มต้นได้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงด้านอาหาร, ฐานทรัพยากร, หรือความเอื้ออาทรของคนในชุมชน
แต่เศรษฐกิจพอเพียงในความเข้าใจอย่างนี้ กลับไม่ได้มุ่งจะเพิ่มอำนาจต่อรอง โดยเฉพาะอำนาจต่อรองทางการเมือง เหมือนยกรัฐให้คนอื่นไปจัดการอย่างเป็นธรรมหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงและเป็นสุขได้ ไม่มียูทูบในเศรษฐกิจพอเพียงแบบนี้ ทั้งๆ ที่ยูทูบเป็นพื้นที่สำหรับการรวมกลุ่มและต่อรองที่มีพลังในโลกปัจจุบัน
นี่คือการสยบยอมทางการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง ชุมชนนิยมซึ่งเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจให้ประชาชน กลายเป็นลัทธิที่จะปลดอำนาจของประชาชน ภายในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย (หรือในชื่ออื่น)
++++
บทความของปี 2553
ความอ่อนแอของสังคม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1579 หน้า 20
ถ้าเกิดน้ำท่วมใหญ่ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ผมเชื่อว่าประชาชนในชุมชนท้องถิ่นน่าจะได้รับความเดือดร้อนน้อยกว่าปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้นน่าจะมีและรวบรวมทรัพยากรมาช่วยเหลือกันน้อยกว่าสมัยนี้อย่างเทียบกันไม่ได้
ส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน (ยกเว้นภาคใต้) มักตั้งอยู่บนที่ดอน นอกจากมีป่าช่วยชะลอน้ำเป็นอันมากแล้ว ยังไม่มีอะไรขวางทางน้ำ ฉะนั้น น้ำท่วมในสมัยนั้น ถึงแม้จะท่วมไปกว้างขวางแต่ก็ไม่สู้จะลึกนัก ทำให้ไม่สูญเสียข้าวในท้องนาไปหมด (แม้ส่วนที่อยู่ห่างแม่น้ำจะไม่ได้ใช้พันธ์ข้าวที่ชูคอเหนือน้ำได้เร็วเหมือนแถบอยุธยาก็ตาม)
นอกจากนี้ น้ำก็คงลดลงในไม่กี่วัน จนมักเรียกกันว่าน้ำหลากมากกว่าน้ำท่วม
แต่เงื่อนไขทางกายภาพยังมีความสำคัญน้อยกว่าเงื่อนไขทางสังคม ที่อาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คน รวมทั้งช่วยฟื้นฟูให้พ้นความเสียหายได้มากกว่ามาก
นั่นคือความสามารถในการจัดองค์กร หรือจัดตั้งเพื่อจัดการให้ความช่วยเหลือเท่าที่พอจะหากันมาได้ กระจายไปยังผู้คนอย่างทั่วถึงและเหมาะสม
นายบ้านกับหลวงพ่อที่วัดอาจร่วมมือกัน เพราะวัดก็มักตั้งบนที่ดอนเช่นกัน จึงอาจเป็นแหล่งพักอาศัยชั่วคราวได้ทันที ทั้งยังเป็นคลังเก็บวัสดุอุปกรณ์หลายอย่างของชุมชนอยู่แล้ว ถึงนายบ้านไม่มีแผนที่ให้กาง ก็พอนึกภาพออกว่าใครจะโดนหนักที่สุด เพราะเจนกับสภาพภูมิศาสตร์ของบ้านอยู่แล้ว
ซ้ำยังรู้ว่าคนแก่คนพิการอยู่บ้านไหน กำลังคนของนายบ้านทั้งที่มีอยู่แล้ว และที่มาสมทบเพื่อช่วยเหลือกัน คงถูกใช้เพื่อไปแก้ปัญหาได้ทันที โดยไม่ต้องรอกล้องทีวี
ความรู้ในการจัดการเพื่อแก้ปัญหาของชุมชน เป็นความรู้ที่ขาดไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะของนายบ้านเท่านั้น แต่รวมถึง "ชนชั้นนำ" ของชุมชนทั้งหมดด้วย และการจัดองค์กรก็ไม่ได้มีลักษณะเดียว แต่แปรเปลี่ยนไปตามแต่วิกฤตที่ชุมชนต้องเผชิญ น้ำท่วมก็อย่างหนึ่ง โจรจะเข้าปล้นก็อีกอย่าง นาล่มและฝนแล้งก็อีกอย่าง ฯลฯ เป็นต้น
น้ำท่วมครั้งนี้ มีแต่ข่าวความระส่ำระสายทั่วไป แม้น้ำใจของคนไทยทั่วประเทศหลั่งไหลเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่น้ำใจอย่างเดียวไม่พอแก้วิกฤตได้ ความสามารถในการจัดการวิกฤตในท้องถิ่นเองมีความสำคัญเสียยิ่งกว่า ปราศจากความสามารถนี้ ยายแก่ตาแก่ย่อมถูกทิ้งอยู่บนชั้นสองอย่างเดียวดาย, คนทั้งหมู่บ้านอดอาหารเป็นวันเพราะความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง หลายครอบครัวไม่ได้รับของแจก บางครอบครัวได้มากเกินกว่าจะบริโภคได้หมด ฯลฯ ยังไม่พูดถึงมาตรการฟื้นฟูซึ่งคงก่อให้เกิดปัญหามากกว่านี้
สื่อกระทบกระเทียบว่า คุณสรยุทธ สุทัศนจินดา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้มีประสิทธิภาพกว่านายกรัฐมนตรี
ผมก็ไม่ได้ดูรายการของคุณสรยุทธระหว่างน้ำท่วม จนกระทั่งมีเสียงกระทบจากสื่อ จึงได้ดูบ้าง และเก็บข้อมูลจากสื่อสิ่งพิมพ์ว่าคุณสรยุทธทำอะไรบ้าง
ผมพบว่า สิ่งที่คุณสรยุทธทำก็คือ การจัดการด้วยการจัดตั้งหรือจัดองค์กรหลวมๆ สำหรับทำให้สามารถประกอบภารกิจที่จำเป็นผ่านพ้นไปได้
เช่น ในตอนหนึ่งที่ผมได้ดูคุณสรยุทธคุยกับชาวบ้าน เสนอแนะว่า วิธีแก้ปัญหาเรื่องอาหาร เพื่อให้ได้กันทั่วถึงโดยเฉพาะเด็กและคนแก่ โดยไม่เสียของกับวัสดุที่ได้รับบริจาคมาด้วย คือการตั้งโรงครัวกลาง ชาวบ้านเห็นด้วย แล้วในที่สุดก็เกิดโรงครัวกลางขึ้น
สำเร็จประโยชน์ได้โดยคุณสรยุทธไม่ต้องลงมือจับตะหลิวผัดอะไร (ที่อาจไม่น่ากินเท่าที่ชาวบ้านปรุงเอง) เลยสักอย่าง
ที่ผมออกจะประทับใจก็คือ การตัดสินใจเปิดโรงครัวกลางก็ไม่ใช่ความคิดของคุณสรยุทธคนเดียว แต่มาจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านด้วย แน่นอนว่า คุณสรยุทธในฐานะตัวกลางผู้เชื่อมโยงความช่วยเหลือเข้ามาคงได้รับฟังมากหน่อยเป็นธรรมดา แต่เพียงเพราะชาวบ้านเห็นพ้องด้วย ที่เหลือชาวบ้านย่อมทำได้ดีกว่าคุณสรยุทธซึ่งเป็นคนนอก เช่น จะตั้งโรงครัวกลางที่ไหนดี จะจัดใครเข้ามาทำงานตรงนี้ จะส่งอาหารสำเร็จถึงครอบครัวที่ไม่สามารถเดินทางมาได้อย่างไร
การจัดการเชิงสังคม เป็นทั้งความจำเป็นในการเผชิญภัยพิบัติ และเป็นทั้งศิลปะ คือผู้จัดต้องรู้ว่าควรทำแค่ไหน และเปิดให้ผู้อื่นมีบทบาทร่วมด้วยได้อย่างไร ที่สำคัญ คือจะเกิดประสิทธิภาพในการบรรเทาทุกข์ได้อย่างไร
แต่การจัดองค์กรเพื่อจัดการอย่างมีประสิทธิภาพได้หายไปในชุมชนไทย และที่จริง ในสังคมไทยทั้งหมดด้วย ผลก็คือ เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นแต่ละครั้ง จึงช่วยอะไรกันไม่ได้มากไปกว่าถุงยังชีพ อันเป็นความช่วยเหลือที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีการจัดองค์กร และไม่มีความสามารถในการจัดการทางสังคมมากไปกว่าช่วยให้ต่างคนต่างช่วยตัวเองไปตามยถากรรม
หลายชุมชนบ่นว่า เรือที่ทางการช่วยมาไปอยู่กับบางครอบครัวที่เป็นเครือญาติของผู้นำหมู่บ้าน คนอื่นไม่ได้ใช้ จะแก้ปัญหานี้ได้ก็เพียงวิธีเดียวคือ แจกเรือครอบครัวละลำ ซึ่งเป็นไปไม่ได้
ผมฟังด้วยความเห็นใจกำนันผู้ใหญ่บ้านนะครับ เมื่ออำเภอเอาเรือมาส่ง ปราศจากการจัดองค์กรเพื่อจัดการทรัพยากรที่จำเป็นอันนี้ ผมจะทำอย่างไรเล่าครับ นอกจากเอาไปให้แม่ยายใช้
ทั้งหมดที่ผมคุยมานี้ ไม่ได้ต้องการให้เราพากันหวนกลับไปอยู่ในสมัยโบราณกันใหม่ เพราะเป็นไปไม่ได้แล้ว กว่าครึ่งของคนไทยปัจจุบันมีชีวิตอยู่ในเขต "เมือง" และการจัดองค์กรในเมืองเพื่อจัดการอะไรก็ตามนั้น เป็นประสบการณ์ใหม่ซึ่งคนไทยไม่เคยมี เพราะถูกกีดกันไม่ให้มีตลอดมา
แม้ในหมู่บ้านที่ยังเหลืออยู่ หมู่บ้านก็เปลี่ยนไปแล้ว มีความหลากหลายในวิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านไม่น้อยไปกว่าเมือง โอกาสที่จะร่วมกันเพื่อจัดการอะไรก็แทบไม่มี แม้แต่งานศพก็ยังเป็นภาระหน้าที่ของเจ้าภาพอย่างเดียว คนอื่นเป็นเพียงแขกที่มาร่วมงาน เราทั้งสังคมนั่นแหละครับที่ต่างคนต่างอยู่ และไม่เคยมีโอกาสร่วมกันจัดองค์กรเพื่อจัดการอะไรเลย
ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า นี่ไม่ใช่ลักษณะธรรมชาติของสังคมสมัยใหม่ทุกแห่ง แต่เป็นลักษณะที่เกิดกับสังคมไทยโดยเฉพาะ (และคงในสังคมอื่นๆ ที่ผ่านรัฐรวมศูนย์มาอย่างยาวนานเหมือนเรากระมัง) ในสังคมสมัยใหม่บางแห่ง มีการจัดองค์กรเพื่อร่วมมือกันแบบถาวรด้วยซ้ำ เช่น โบสถ์ในเมืองฝรั่งก็ยังเป็นศูนย์กลางของการจัดการระดับชุมชนอยู่ ยังไม่พูดถึงการประชุมชาวเมือง (เล็กๆ) เพื่อร่วมกันตัดสินใจ เรื่องที่กระทบต่อชีวิตของชุมชนทั้งหมด
เรามักคิดว่าฝรั่งมีความเป็นปัจเจกสูง ก็อาจจะจริงในวิธีคิดของฝรั่ง แต่ในวิถีชีวิตของเขา การปฏิบัติการเชิงกลุ่มกลับมีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว (ซึ่งหลายครั้งก็อาจก่อให้เกิดความโหดร้ายด้วย เช่น การลงประชาทัณฑ์เพื่อนบ้านเพราะผิวของเขาดำเกินไป เป็นต้น)
ผมคิดว่าคนไทยปัจจุบันต่างหากที่เป็นปัจเจกมากกว่า ทั้งในวิธีคิดและในวิถีชีวิต
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีความสามารถในการจัดองค์กรเพื่อจัดการทรัพยากรอย่างไร คนในรัฐสมัยใหม่ก็ยังต้องการรัฐอยู่นั่นเอง เพราะรัฐกระจุกเอาทรัพยากรนานาชนิดไว้ในมือเป็นอันมาก หากรัฐเองไม่มีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรในยามวิกฤต ความเดือดร้อนก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นอีก
และระบบของการจัดองค์กรเพื่อจัดสรรทรัพยากรของรัฐไทยนั้นไร้ประสิทธิภาพในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะดูเรื่องที่ดิน, น้ำ, อากาศ, โอกาส, การศึกษา, หรืองบประมาณ ฯลฯ ก็ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น ยิ่งต้องมาจัดการทรัพยากรในยามวิกฤตยิ่งเละ เพราะในยามวิกฤต กระทรวง ทบวง กรม ต้องประสานงานกันเพื่อระดมและจัดการทรัพยากรอันหลากหลาย ให้สามารถบรรเทาทุกข์ได้โดยเร็ว
การประสานงานนั่นแหละครับคือความอ่อนแอที่สุดของหน่วยราชการของรัฐ และลามไปถึงระบบการเมืองไทยด้วย ว่ากันไปแล้ว ก็เป็นความอ่อนแอของระบบราชการทั้งโลก
นั่นคือเหตุผลที่เราต้องมีนายกรัฐมนตรีไงครับ
หนังสือพิมพ์ประชดว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปเยี่ยมผู้ประสบภัยโดยเท้าไม่เปียกเลย นั่นผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกครับ การไปเยี่ยมผู้ประสบภัย จะลอยเรือไปหรือจะยืนบนรถจีเอ็มซีก็ตาม เป็นความจำเป็นทางการเมืองในฐานะนายกฯ อย่างไรก็ต้องไปเยี่ยมและออกข่าวทีวี
ที่สำคัญกว่าไปเยี่ยมก็คือ การจัดให้เกิดการประสานงานอย่างกระฉับกระเฉงของหน่วยราชการ ภายใต้การกำกับอย่างเอาจริงเอาจังของนายกฯ อาจประชุม ครม. ฉุกเฉินที่นครสวรรค์ หรือบุรีรัมย์ เพื่อส่งสัญญาณให้ราชการรู้ว่า นายกฯ เอาจริงนะโว้ย นอกจากนั้น ก็ต้องคอยตามดูตามจิกอย่างไม่ลดละ ไม่ต้องมาเกี่ยงงอนว่าของมีแล้ว แต่เรือไม่มี เข้าไม่ถึงเพราะน้ำลึกเกินไป ก็จะมีกองทัพเรือและกองทัพอากาศไว้ทำไม หมอไม่พอที่ใด ก็ต้องระดมกันลงไปให้พร้อมพรั่ง ฯลฯ
หัวส่ายหางก็กระดิกครับ
แต่คุณอภิสิทธิ์ทำแค่ความจำเป็นทางการเมืองเบื้องต้น ปล่อยให้งานที่สำคัญกว่าคืออำนวยให้เกิดการประสานงานระหว่างหน่วยราชการเละเทะเหมือนเดิม สมกับเป็นนายกฯ โดย "อำมาตย์" ของ "อำมาตย์" และเพื่อ "อำมาตย์" โดยแท้
ความสามารถในการจัดองค์กรเพื่อจัดการทางสังคมของไทยปัจจุบันนั้น ถือได้ว่าอ่อนแอที่สุด เทียบไม่ได้แม้แต่พม่า, ลาว และเวียดนามด้วยซ้ำ จะหวังพึ่งแต่รัฐก็พึ่งไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะเมื่อได้คนอย่าง ดร.เฟาสต์มาเป็นนายกฯ (ซึ่งก็มักได้นายกฯ ประเภทนี้อยู่บ่อยๆ)
เหตุที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะคนไทยจัดองค์กรเพื่อจัดการทางสังคมไม่เป็น แต่เพราะสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว การจัดองค์กรอย่างเก่า ไม่สามารถจัดการอะไรได้อีกต่อไป แต่เราก็ไม่มีโอกาสได้ปกครองตนเองเหมือนเดิม จึงไม่ได้พัฒนาการจัดองค์กรแบบเดิมให้เหมาะกับสังคมสมัยใหม่ เวลานี้ความสามารถในการจัดองค์กรทางสังคมของไทยมีไม่มากไปกว่าระดับครอบครัว ซึ่งก็ว่ากันว่า กำลังล่มสลายลงเสียอีก (ไม่งั้นเราจะปล่อยให้พ่อเฒ่าแม่เฒ่าโดดเดี่ยวเดียวดายและไร้อาหารได้เป็นแสนเป็นล้านอย่างไร)
ทำไมเราจึงต้องเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อ "ชิง" รัฐกันถึงขนาดนี้ ก็เพราะเราไม่มี "สังคม" ล่ะสิครับ ชีวิตที่ปราศจากการจัดองค์กรเพื่อจัดการทางสังคมนั้นเป็นไปไม่ได้
รัฐเท่านั้นที่ผูกขาดการจัดองค์กรดังกล่าวอยู่ฝ่ายเดียว จึงจำเป็นต้องชิงเอารัฐนั้นมาอยู่ในกำกับของตนให้ได้
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย