.
มีโพสต์เพิ่มเติม หลังบทความหลัก :
- แผนที่ภูมิประเทศไทย ไม่มีขายให้ประชาชนทั่วไป โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
สิทธิธรรมสองประเภท
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
อุทกภัยอาจทำให้มองไม่เห็นการช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองระหว่างสิทธิธรรมสองประเภท เพราะความร่วมมือกันในการเผชิญอุทกภัยระหว่างรัฐบาลและกองทัพ เป็นไปอย่างแข็งขันและราบรื่น
สิทธิธรรมหนึ่งของฝ่ายรัฐบาลก็คือคะแนนเสียงท่วมท้นที่ได้จากการเลือกตั้ง อีกสิทธิธรรมหนึ่งคืออำนาจตามประเพณี เช่นกองทัพมีความชอบธรรมที่จะแทรกแซงทางการเมือง หรือในทางกลับกัน กองทัพมีความชอบธรรมที่จะป้องกันมิให้ถูกการเมืองแทรกแซง
เมื่อเราพูดถึงกองทัพ มิได้หมายความถึงอำนาจที่มาจากปากกระบอกปืนของกองทัพเพียงอย่างเดียว มีอำนาจอื่นๆ ที่สนับสนุนและอยู่เบื้องหลังกองทัพอีกมากมาย รวมทั้งประเพณีนิยมที่ประชาชนทั่วไปยอมรับด้วย ทั้งหมดเหล่านี้รวมกันย่อมเป็น "สิทธิธรรม" อย่างหนึ่งในสังคมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้
หลัง 2490 เป็นต้นมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกรัฐบาล ต้องเผชิญการแย่งพื้นที่จากสิทธิธรรมตามประเพณี โดยมีกองทัพเป็นหัวหอกสำคัญ และผลบั้นปลายในทุกครั้ง ก็คือสิทธิธรรมที่ได้จากคะแนนเสียงของประชาชน ไม่เพียงพอที่จะรักษาพื้นที่ทางการเมืองเอาไว้ได้ บทพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงเป็นรัฐบาลทักษิณ ซึ่งได้คะแนนเสียงสนับสนุนท่วมท้น (ยิ่งกว่ารัฐบาล พท.เสียอีก) ก็ยังถูกรัฐประหารโดยความเห็นชอบของประชาชนจำนวนไม่น้อย
รัฐบาลพลเรือนทุกรัฐบาลจะขยายพื้นที่ทางการเมืองซึ่งถูกจำกัดด้วยสิทธิธรรมตามประเพณี โดยมีกองทัพเป็นหัวหอกได้อย่างไร เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และจัดการได้ยากมาก ส่วนใหญ่มักใช้วิธีผลักดันคนที่ตนไว้วางใจไปคุมหัวกระบวนกองทัพ แต่ก็เป็นวิธีที่พิสูจน์มาหลายครั้งแล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ
รัฐบาลชาติชายถูกยึดอำนาจ ขณะที่กำลังจะนำรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ ซึ่งกองทัพไม่ยอมรับ ไปถวายสัตย์ปฏิญาณ รัฐบาลทักษิณทนแรงเสียดทานจากกองทัพและสังคมที่ตั้งญาติขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ไม่ไหว ในที่สุดก็ต้องย้ายขึ้นเล่าเต๊งไปเป็น ผบ.สส. เปิดให้ตำแหน่ง ผบ.ทบ.ตกเป็นของคนที่ไม่ใช่คนของตน
นอกจากเป็นวิธีที่ไม่สำเร็จแล้ว หลังรัฐประหาร 2549 รัฐบาลที่ คมช.ตั้งขึ้น ยังออก พ.ร.บ.กลาโหม ตัดอำนาจของฝ่ายการเมืองในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารไปเด็ดขาด ทำให้กองทัพกลายเป็นรัฐอิสระอย่างชัดเจน (ทำลายความมั่นคงของรัฐเสียยิ่งกว่ารักษาความมั่นคงของรัฐ...ถ้าเรายังเชื่อว่าความมั่นคงของรัฐนั้นไม่ใช่ความมั่นคงของกองทัพ)
รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำอย่างไรกับการแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองกับอำนาจตามประเพณี
ดูเหมือนทางเลือกมีอยู่เพียงสาม หนึ่งคือฝ่าไปข้างหน้า เป็นไรเป็นกัน แก้ไขหรือยกเลิก พ.ร.บ.จัดราชการในกระทรวงกลาโหม กระทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สิทธิธรรมจากการเลือกตั้งนั้นเป็นอำนาจที่รัฐบาลสามารถเข้าไปจัดการได้ในทุกพื้นที่ (แต่พร้อมจะเปิดให้สังคมตรวจสอบได้ด้วย)
สองคือเกี้ยเซี้ย ยอมรับว่าอำนาจตามประเพณีย่อมมีอยู่ในบางพื้นที่ซึ่งสงวนเอาไว้ ประคองตัวให้อยู่รอดในพื้นที่แคบๆ ซึ่งช่วงชิงมาได้จากการเลือกตั้ง แม้เป็นวิธีที่ปลอดภัยดี แต่ดูเหมือนทำได้ยากมากสำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลจะไม่สามารถทำอะไรให้แก่ประชาชนได้มากนัก จึงเท่ากับทำลายคะแนนเสียงของตนเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า
และสามคือทางสายกลาง คือยอมถอยในบางเรื่อง แต่รุกในบางเรื่อง ทางเลือกนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลต้องคอยอิงแอบมติมหาชนในการต่อสู้ตลอดเวลา และเพราะต้องอาศัยมติมหาชน จึงต้องวางแผนการรณรงค์อย่างรอบคอบ ไม่ปล่อยให้พูดกันไปคนละทิศคนละทาง
ขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในกรณีของทางเลือกที่สาม รัฐบาลยอมตามข้อเสนอการซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ของกองทัพทั้งหมด ยกเว้นแต่เรือดำน้ำ แต่แทบจะไม่มีการรณรงค์จากรัฐบาลเลยว่า กองทัพเรือไทยไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ในภารกิจที่จะต้องมีเรือดำน้ำ (ไม่ว่าจะซื้อจากเซียงกงหรือของใหม่)
มีแต่บทความของคอลัมนิสต์บางท่านซึ่งคัดค้านเรื่องนี้มาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว และด้วยพลังที่ไม่เพียงพอของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในที่สุดก็คงไม่อาจทนแรงกดดันของกองทัพเรือได้
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ตัดสินใจใช้ทางเลือกใดๆ ในการเผชิญกับอำนาจตามประเพณี นอกจากการหลีกเลี่ยงไม่เผชิญหน้าโดยตรง แม้แต่เมื่อถูกพรรคฝ่ายค้านท้าทายให้ท่านนายกฯ แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในเรื่อง พ.ร.บ.กลาโหม ท่านนายกฯกลับเลือกที่จะไม่พูดถึงเลย
อันที่จริงเรื่อง พ.ร.บ.กลาโหมนี้ หากรัฐบาลจะรณรงค์เพื่อสร้างมติมหาชนมาหนุนหลัง ก็ทำได้ไม่ยากนัก กองทัพต้องรับผิดชอบกับใครหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง จะอยู่เป็นอิสระลอยๆ ไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบการปกครองแบบใดก็ตาม
แต่เมื่อไทยปัจจุบันอยู่ในระบอบประชาธิปไตย กองทัพก็ต้องรับผิดชอบกับสถาบันที่ยึดโยงอยู่กับประชาชน เช่นฝ่ายบริหาร หรือรัฐสภา (เฉพาะที่มาจากการเลือกตั้ง)
ฉะนั้น การรณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างจริงจัง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไป และเมื่อได้มติมหาชนหนุนหลังแล้ว การจะออกกฎหมายยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนั้นก็ทำได้ง่ายในสภาอยู่แล้ว
แต่นักการเมืองของพรรค พท.กลับเลือกจะใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อล้ม พ.ร.บ.ฉบับนี้ กล่าวคือ สนช.มีองค์ประชุมไม่ครบในการผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ วิธีการนี้กลับยากกว่า เพราะจะเป็นผลให้กฎหมายฉบับอื่นอีกหลายเรื่องต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยายด้วย
แต่ผลเสียที่ร้ายแรงกว่านั้นก็คือ สังคมไม่ได้ร่วมกันในการยืนยันว่า ในระบอบประชาธิปไตย พลเรือนต้องมีอำนาจสูงสุดเหนือกองทัพ (civilian supremacy)
การยอมจำนนอย่างราบคาบต่อผลประโยชน์ของกองทัพ ยังอาจหมายถึงความล้มเหลวของรัฐบาลเองในการแก้ปัญหาของประเทศด้วย
อันจะส่งผลถึงคะแนนเสียงของพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ไม่นานมานี้เอง รัฐบาลเพิ่งให้ความเห็นชอบแผนปรับโครงสร้างการบริหารงานในภาคใต้ ตามข้อเสนอของ กอ.รมน. ซึ่งทำให้กองทัพยังเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในการปฏิบัติงานตามเดิม
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา นับจากรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นต้นมา กอ.รมน.ได้แบ่งภาระหลักของการต่อสู้กับการแข็งข้อของกลุ่มก่อการไว้เป็นสองด้าน หนึ่งคือการรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน มิให้เกิดเหตุร้ายเป็นรายวัน และสองคือพัฒนา
ผบ.ทบ.อ้างว่าเป้าหมายการแบ่งภารกิจนี้ตรงตามที่นายกฯอภิสิทธิ์ได้แถลงว่าจะใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร แต่กองทัพมีวิธีตีความคำว่า "การเมือง" ที่แตกต่างจากรัฐบาล
"การเมือง" ของกองทัพหมายถึงกิจกรรมด้านพลเรือนซึ่งมีจุดมุ่งหมายทางการทหาร คือเอาชนะผู้ก่อการ ด้วยเหตุดังนั้น กอ.รมน.จึงถือเป็นภารกิจของกองทัพทั้งสองด้าน กล่าวคือ การใช้กำลังปราบปรามก็ใช่ การ "พัฒนา" ก็ใช่ ดังนั้นงบประมาณจำนวนมหาศาล และอำนาจบังคับบัญชาจึงอยู่ในมือของแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ กอ.รมน.ภาค 4 ทั้งหมด
ในปลายสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยได้ผลักดัน พ.ร.บ.บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้ง ศอ.บต.เป็นผู้รับผิดชอบด้าน "พัฒนา" แทนกองทัพ โดยมีสภาที่ปรึกษาซึ่งเลือกมาจากกลุ่มอาชีพและผู้นำด้านต่างๆ ในพื้นที่ หาก พ.ร.บ.ใหม่นี้อาจดำเนินงานไปได้ อำนาจและการบริหารงานของรัฐในภาคใต้อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งย่อมกลับมาอยู่กับราชการพลเรือน
ในรัฐบาลชุดนี้ กอ.รมน.จึงเสนอการปรับโครงสร้างบริหารใหม่ โดยตั้ง ศบก.จชต. (ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) โดยไม่แยกการปราบปรามกับการพัฒนาออกจากกันอย่างเด็ดขาด หากนำทั้งสองด้านมาอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานใหม่นี้
แม้ว่าหน่วยงานใหม่นี้จะมีกรรมการบริหารต่างหาก แต่กรรมการเหล่านี้ก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการบังคับบัญชาของตนมากนัก เพราะหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ยังเป็น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (แม่ทัพภาค 4) อยู่นั่นเอง สามารถกำกับดูแลควบคุมทั้งด้านการทหาร ตำรวจ และฝ่ายพลเรือนเบ็ดเสร็จ อันรวมถึง ศอ.บต.ซึ่งกลายเป็นส่วนแยกของ กอ.รมน.ไปด้วย
4 ปีมาแล้วที่ กอ.รมน.หรือกล่าวโดยสรุปคือกองทัพ เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดการกับปัญหาในภาคใต้ แต่ก็แทบไม่มีความคืบหน้าไปในทางที่ดีขึ้นแต่อย่างไร การปรับโครงสร้างบริหารในพื้นที่ใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่รัฐบาลก็เลือกจะปรับไปในทางที่ไม่ทำให้กองทัพเสียอำนาจและผลประโยชน์
การแก้ไข พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ซึ่ง ค.ร.ม.เพิ่งอนุมัติไปไม่นานมานี้เอง กลับให้อำนาจแก่ ผบ.ตร.เพียงผู้เดียวที่จะออกคำสั่งห้ามพิมพ์ ห้ามเผยแพร่ หรือห้ามนำเข้าซึ่งสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคง และศีลธรรมอันดี
ก็ไม่นานมานี้เอง ประชาชนเพิ่งเผชิญกับอำนาจเซ็นเซอร์ที่รัฐนำมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อและเหี้ยมโหดในหลายกรณี รัฐบาลไม่คิดที่จะตั้งกรรมการที่ประกอบด้วยคนนอกหลายฝ่าย เพื่อใช้อำนาจนี้แทนบ้างเลยหรือ เพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิการรับรู้ของประชาชนไทย
อย่าลืมว่าอำนาจที่ถูกรวบไว้ศูนย์กลางยิ่งมากเท่าไร ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้การรัฐประหารทำได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ยึดศูนย์กลางได้เมื่อไร ทุกอย่างก็ราบรื่น
จริงอยู่อำนาจตามประเพณีซึ่งมีกองทัพเป็นหัวหอกนั้น เป็นอำนาจที่ใหญ่มากในเมืองไทย บางครั้งก็ต้องถอย แต่บางครั้งก็ต้องรุกอย่างชาญฉลาด ความระมัดระวังและรอบคอบเป็นสิ่งสำคัญแน่ แต่ระมัดระวังและรอบคอบไม่ใช่การถอยกรูด หากต้องมีหลักมีแนวที่ชัดเจน เพื่อสร้างมติมหาชนมาหนุนหลัง
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องคิดให้ดีว่า หลักและแนวของตนอยู่ตรงไหน แล้วเริ่มสร้างความแข็งแกร่งของแนวนั้นแต่บัดนี้
++
ศาสนาผี
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 28
ท่านผู้ว่าฯ กทม. จะจัดพิธีบัดพลีผีครั้งใหญ่ เพื่อให้ผีช่วยป้องกันกรุงเทพฯ จากน้ำท่วมใหญ่ ผู้คนเสียขวัญกันไปหมดและกลายเป็นเรื่องตลกของสื่อ ท่านผู้ว่าฯ จึงจัดพิธีให้เล็กลงและทำเป็นส่วนตัว
ลูกน้องของท่านเรียกพิธีนี้ว่า "ไล่น้ำ" เพื่อดึงเอาพิธีกรรมโบราณมาสร้างความชอบธรรม แต่คนธรรมดาอย่างท่านผู้ว่าฯ จะเอาบารมีอะไรไป "ไล่น้ำ" ซึ่งภูมิเทวดาผลักลงมาได้ล่ะครับ พิธีกรรมโบราณอันนี้เป็นพระราชพิธีนะครับ คือต้องสมมติเทพเท่านั้นที่จะเจรจาต้าอ่วยกับเหล่าเทพด้วยกันได้
โชคดีที่ท่านผู้ว่าฯ ไม่มีศัตรูทางการเมืองที่ร้ายกาจ ไม่อย่างนั้นก็อาจโดน 112 เข้าไปอีกดอกหนึ่ง
การไหว้ผี, บัดพลีผี, ข่มขู่ผี ฯลฯ หรือการ "ต่อรอง" กับผี เพื่อขจัดปัดเป่าภัยใหญ่อันจะคุกคามสังคม กระทำกันมาแต่โบราณ มักจะอธิบายกันว่า พิธีเหล่านี้จะปกป้องได้จริงหรือไม่ก็ตาม แต่ปลุกปลอบใจข้าราษฎรได้ดี พูดภาษาสมัยใหม่ก็คือ มีคุณค่าในเชิงจิตวิทยาสังคม
แต่ก็แปลกดีนะครับ ตกมาถึงสมัยปัจจุบัน พอผู้ว่าฯ บอกว่าจะบัดพลีผีเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ เท่านั้น ผลทางจิตวิทยาสังคมกลับเป็นตรงกันข้าม ชาวกรุงเทพฯ เสียขวัญทันที เพราะเท่ากับบอกว่าอุโมงค์ระบายน้ำก็ตาม, ประตูน้ำก็ตาม, ผนังกั้นน้ำก็ตาม, เรือผลักน้ำก็ตาม, สรรพบรรดาเครื่องไม้เครื่องมือและมาตรการที่เป็นวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่ได้เตรียมไว้ ไม่มีสมรรถนะจะต่อสู้กับน้ำเหนือได้อีกแล้ว เหลือก็แต่ผีเท่านั้น
จะไม่ให้เสียขวัญแก่คนกรุงเทพฯ สมัยใหม่นี้ได้อย่างไร คราวนี้ก็ตัวใครตัวมันสิครับ
ดูเหมือนเป็นการปะทะกันของพลังสองศาสนา คือศาสนาผีกับศาสนาวิทยาศาสตร์ ชวนให้เข้าใจว่าคนไทยปัจจุบันหันมานับถือศาสนาวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่าศาสนาผีเสียแล้ว
อันที่จริง ศาสนาผีเคยมีบทบาทสำคัญทีเดียวในเรื่องที่เกี่ยวกับสังคม นับตั้งแต่คุ้มครองพฤติกรรมทางเพศของลูกหลาน โดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิง ไปจนถึงรักษาสาธารณสมบัติต่างๆ เช่น บ่อน้ำ, ป่า, ธรณีประตูวัด,ฯลฯ และความสัมพันธ์ทางสังคมและทางเศรษฐกิจ เช่น ลูกหลานทะเลาะกันทำให้ผีบรรพบุรุษโกรธขึ้งและมักทำร้ายผู้ใหญ่ในตระกูล หรือการขอปันผลิตผลของไร่นาหรือสวนคนอื่น
ผู้ปกครองเอาศาสนาผีไปใช้ในการผดุงอำนาจของตนเอง และในการปกครองอยู่มาก ผมออกจะสงสัยว่ามากกว่าพุทธศาสนาเสียอีกก็เป็นได้ ผมหมายความว่ามิติของศาสนาผีเป็นแกนหลักของพระราชพิธีต่างๆ แต่เอาพุทธศาสนาหรือศาสนาพราหมณ์มาฉาบข้างหน้ามิติหลักนั้นให้ขลังขึ้นเท่านั้น
ขอยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจนะครับ ในสมัย ร.2 เมื่อเกิดอหิวาต์ระบาดในกรุง ก็ไม่รู้จะปราบอย่างไรเพราะเป็นโรคใหม่ไม่เคยมีมาก่อน
(โรคห่าในสมัยอยุธยา หมายถึงกาฬโรค ไม่ใช่อหิวาตกโรค) จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีขับไล่ผี "ห่า" ในครั้งนี้ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นไปนั่งสวดอาฏานาบนกำแพงเมือง แล้วก็ยิงปืนใหญ่ (ไล่ผี) ทำบุญทำทานกันขนานใหญ่-ถามว่านี้เป็นพิธีพุทธหรือพิธีผี ผมคิดว่าแกนหลักเป็นผี แต่เอาพุทธมาทำให้ขลังมากขึ้นไปอีกเท่านั้น
เช่นเดียวกับที่เคยลงโทษคนเอาเท้าชี้พระราชวังถึงกับตัดตีนทิ้ง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพุทธหรือพราหมณ์ แต่เป็นเรื่องของผีแท้ๆ คือป้องกันมิให้ผีที่ปกปักรักษาวังเสื่อม ห้ามหญิงสามัญคลอดลูกในเขตพระราชฐาน ก็ทำนองเดียวกัน
โดยสรุปก็ตรงกับนักมานุษยวิทยาไทยท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า ความเชื่อเรื่องผีมีหน้าที่รักษากฎเกณฑ์ทางสังคม ในขณะที่ความเชื่อพุทธทำหน้าที่รักษากฎเกณฑ์ทางจิตวิญญาณของบุคคล (จิตวิญญาณเป็นคำไทยประเภทคำผสม เหมือนคำว่าลูกเสือหรือแม่น้ำ ไม่ใช่คำบาลีสองคำคือจิตและวิญญาณบวกกัน)
สองความเชื่อนี้มาผสมผสานกันจนกลายเป็นพุทธศาสนาแบบไทยๆ อย่างที่มักจะพูดกันอยู่เสมอ คำอธิบายของนักมานุษยวิทยาช่วยแบ่งเขตให้ว่า ส่วนไหนเป็นผีและส่วนไหนเป็นพุทธ และทำให้เราสามารถอธิบายศาสนาไทยได้ราบรื่นขึ้นเป็นกอง
อย่างไรก็ตาม นักพุทธศาสนาทั้งไทยและเทศในปัจจุบันได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า แท้ที่จริงแล้ว พุทธศาสนานั้นมีคำสอนหรือมิติที่เกี่ยวข้องกับสังคมอยู่ด้วย การพ้นทุกข์ของบุคคลและการพ้นทุกข์ของสังคมเป็นสองมิติที่แยกออกจากกันไม่ได้ ไม่ใช่แยกด้วยความเป็นเถรวาทและมหายานอย่างที่เคยอธิบายกันมา เพราะแม้แต่ในพุทธเถรวาทก็มีคำสอนเกี่ยวกับมิติทางสังคมอยู่มากทีเดียว เพียงแต่การปฏิรูปศาสนาในสมัย ร.4 ลงมาต่างหาก ที่ทำให้พุทธศาสนาแบบไทยตัดเอามิติทางสังคมออกไป เหลือแต่มิติทางจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคลเท่านั้น
คำอธิบายของนักมานุษยวิทยาดังกล่าว จึงไม่ทำให้เราอธิบายศาสนาไทยได้ราบรื่นเสียแล้วสิครับ อย่างน้อยก็ในทัศนะของผม เพราะทั้งศาสนาผีและศาสนาพุทธต่างมีคำสอนที่เกี่ยวข้องกับสังคม ซึ่งซ้อนทับกันอยู่และน่าจะแย่งกันเป็นคำอธิบายของผู้คนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคม
แล้วแต่ใครจะเลือกเอาหลักความเชื่ออะไรมาอธิบาย เช่นการคิดล้างครูนั้นบาปแน่ เพราะไม่ "ผิดครู" ก็ผิดคำสอนเรื่อง "ทิศหก" แต่จะมีบ้างไหมที่คำสอนของทั้งสองหลักความเชื่ออาจขัดกันเอง? ผมว่าน่าจะมีนะครับ และเมื่อมี ศาสนาไทยซึ่งเป็นทั้งผีและพุทธ จะแก้ความขัดแย้งตรงนี้อย่างไร
ผมเข้าใจเอาเองว่า ความสับสนไม่ลงรอยกันของสองหลักความเชื่อ (ในหัวสมองของผม) นั้น เกิดขึ้นจากที่ผมไปยอมรับว่า ศาสนาไทยมีพุทธศาสนาเป็นหลัก แล้วกลืนศาสนาผีและพราหมณ์เฉพาะส่วนที่ไม่ขัดกับหลักพุทธเข้ามาเสริม หากผมไม่ยอมรับทฤษฎี "พุทธ พราหมณ์ ผี" แต่กลับเสียใหม่เป็น "ผี พราหมณ์ พุทธ" ความสับสนนั้นก็ไม่มี
"ผี พราหมณ์ พุทธ" ก็คือ ศาสนาไทยนั้นที่จริงแล้วคือศาสนาผี รับเอาพราหมณ์และพุทธที่ไม่ขัดกับหลักผีมาไว้เป็นศาสนาของตน
ผมขออนุญาตอธิบายอย่างนี้ครับ
หากเราไม่เอาขั้วตรงข้ามระหว่างสังคมกับบุคคลมาเป็นหลักในการวิเคราะห์ แต่เอาสองขั้ว "โลกนี้" และ "โลกหน้า" มาเป็นกรอบการวิเคราะห์แทน บางทีอาจอธิบายพัฒนาการของศาสนาผีของไทยได้ดีกว่า
จะว่าไป "โลกนี้" เป็นมิติสำคัญของทุกศาสนาในโลกนี้ เพราะความทุกข์, ความไม่มั่นคง, ความแปรเปลี่ยนเวียนผัน, ฯลฯ ล้วนเกิดใน "โลกนี้" ทั้งนั้น ทุกศาสนาจึงต้องตอบปัญหาของ "โลกนี้" ส่วน "โลกหน้า" เป็นเพียงคำตอบอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่อาจเป็นคำตอบที่บางศาสนาถือว่าสำคัญที่สุด
ศาสนาผีของไทยเป็นศาสนาของ "โลกนี้" แต่ก็ไม่ใช่ถึงกับไม่มีอะไรเกี่ยวกับ "โลกหน้า" เอาเลย (เพราะไม่มีศาสนาในสังคมใด ที่ไม่มีมิติของ "โลกหน้า" แฝงอยู่ด้วย) คนเก่ง, คนร้ายกาจ, หรือคนมีอำนาจมากๆ ตายไปแล้วล้วนไปเกิดเป็นเจ้าพ่อ (หรือผีแถน) คอยคุ้มครองป้องกันลูกหลาน นี่ก็เป็นมิติของ "โลกหน้า" เพียงแต่ไม่บอกหนทางที่ชัดเจนว่าจะเชื่อมต่อจาก "โลกนี้" ไป "โลกหน้า" ได้อย่างไร
แต่มิติที่เป็น "โลกนี้" ของทุกศาสนาถูกบ่อนทำลายลงด้วยศาสนาใหม่คือศาสนาวิทยาศาสตร์ ศาสนาใหม่สอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนมีเหตุปัจจัยมาจากพลังที่เกิดขึ้นใน "โลกนี้" ทั้งนั้น ถ้าเราเข้าใจกระบวนการทำงานของเหตุปัจจัยนั้น เราก็สามารถบังคับให้เกิดผลใน "โลกนี้" ตามความต้องการของเราได้
ศาสนาผีของไทยซึ่งเน้นเกี่ยวกับ "โลกนี้" อย่างมาก จึงถูกศาสนาใหม่โจมตีหนักสุด นับตั้งแต่ชนชั้นนำของไทยเริ่มรู้จักศาสนาใหม่จากฝรั่ง ก็เริ่มตำหนิติเตียนความเชื่อในศาสนาผี แล้วพยายามแยกพุทธศาสนาออกมาจากศาสนาผี โดยหันไปแอบอิงกับศาสนาใหม่คือวิทยาศาสตร์แทน
แต่คนไทยก็ไม่ได้เลิกนับถือศาสนาผี เพราะเป็นรากฐานทางความเชื่อที่แน่นหนามาแต่โบราณ ในขณะเดียวกัน ศาสนาผีก็มีพลังที่จะปรับตัวให้อยู่รอดในโลกสมัยใหม่ด้วย
และวิธีปรับตัวที่ผมอยากกล่าวถึงมีสองอย่าง อย่างแรกคือศาสนาผีดึงเอาพุทธศาสนามาคลุมตัวให้เหลืองอ๋อยมากขึ้น อันที่จริง ศาสนาพุทธกับศาสนาผีไม่ได้กลมกลืนกันสนิทนักในสมัยโบราณ มีร่องรอยหลักฐานที่ชี้ให้เห็นความเป็นอริระหว่างกันอยู่ไม่น้อย ทั้งในพิธีกรรมและในวิถีชีวิตของ "ครู" ในศาสนาผี แต่เมื่อศาสนาวิทยาศาสตร์โจมตีศาสนาผีหนักข้อขึ้น ซ้ำไม่มีทางต่อสู้ เพราะศาสนาวิทยาศาสตร์ได้อำนาจรัฐไว้เป็นฝ่ายตน ศาสนาผีจึงหลบซ่อนตัวในศาสนาพุทธใกล้ชิดให้กลายเป็นเนื้อเดียวกันไปเลย
ที่ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านบ่นว่า ไสยรุกเข้าไปในวัดพุทธมากขึ้น ผมอยากกราบเรียนว่าไม่ได้รุกนะครับ แต่ต้องหลบเข้าวัดมากกว่า เพราะพื้นที่ของผีนอกวัดเหลือน้อยลง
พื้นที่ในสังคมของศาสนาผีที่ถูกศาสนาวิทยาศาสตร์และรัฐแย่งเอาไป คือพื้นที่ซึ่งเคยให้บทบาททางสังคมแก่ศาสนาผี
และนี่คือการปรับตัวอย่างที่สองของศาสนาผีที่ผมอยากพูดถึง
ถ้าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ อย่าเซ่นผี เพราะจะทำให้ผู้คนเสียขวัญ ไข้หวัดนกระบาด ก็ต้องฆ่าเป็ดฆ่าไก่ อย่าเซ่นผีอีกเช่นกัน ขโมยขึ้นบ้าน ควรไปแจ้งความ อย่าไปขอหมอดูทำนายว่าของที่หายจะไปทางทิศใด
บทบาทของศาสนาผีในการตอบปัญหาให้สังคมหมดไปแล้ว ศาสนาผีจึงหันมาเน้นบทบาทในการตอบปัญหาของปัจเจกบุคคลมากขึ้น
พิธีกรรมของศาสนาผีเพื่อตอบปัญหาของบุคคลได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างสลับซับซ้อน ในช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา เจ้าพ่อเจ้าแม่ในปัจจุบันอาจช่วยให้สอบเข้ามหาวิทยาลัย, เข้าโรงเรียนเตรียมทหาร, สอบเลี่อนขั้น, ปัดคดีความ, ใบ้หวย, ไล่เมียน้อย ฯลฯ ได้ทุกเรื่องที่เป็นปัญหาชีวิตของคนปัจจุบัน
ศาสนาผีจึงยังมีพลังในสังคมไทยไม่ต่างจากสมัยโบราณ ว่ากันที่จริง คนไทยในปัจจุบันอาจ "ปฏิบัติ" ศาสนาผีในสัดส่วนที่มากกว่าคนไทยโบราณด้วยซ้ำ
มีอะไรอีกหลายมุมเกี่ยวกับศาสนาผีที่ผมอยากพูดถึง และคงนำมาคุยอีกในโอกาสหน้า
+ + + +
โพสต์เพิ่มเติม
แผนที่ภูมิประเทศไทย ไม่มีขายให้ประชาชนทั่วไป
โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมน์ สยามประเทศไทย
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:30:00 น.
น้ำท่วมใหญ่ 2554 ต้องมีโครงการใหญ่ๆ แก้ไขป้องกันไม่ให้น้ำหลากท่วมอีก หรือถ้าจะหลากท่วมก็ลดระดับความรุนแรงลง จะคัดข่าวจากสื่อมาเผยแพร่ ดังนี้
แม่น้ำท่าจีนคดเคี้ยวมาก ทำให้การไหลของน้ำช้าไม่ทันการ กรมชลประทานเสนอแผนพัฒนาคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ คือขุดคลองลัดพร้อมประตูระบายน้ำ บนพื้นที่นครปฐมและสมุทรสาคร ได้แก่
1) คลองลัดบริเวณงิ้วราย-ไทยาวาส อยู่อำเภอนครชัยศรี 2) คลองลัดบริเวณหอมเกร็ด-ท่าตลาด อยู่เหนือคลองสามพราน 3) คลองลัดบริเวณสามพราน-กระทุ่มแบน และ 4) คลองลัดบริเวณบ้านแพ้ว อยู่ใต้คลองกระทุ่มแบนฝั่งตะวันตก มีโครงการสร้างทางด่วนน้ำหรือฟลัดเวย์ เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำทำเกษตรกรรมและระบายน้ำจากเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลงอ่าวไทย
ฝั่งตะวันออก มีโครงการขยายก้นคลองชัยนาท-ป่าสัก และขุดคลองแนวใหม่ต่อจากป่าสักมาลงอ่าวไทยและแม่น้ำบางปะกง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพคลองเดิมให้ระบายน้ำได้มากขึ้น โดยแยกเป็น 2 แฉก จะใช้แนวคลองเดิม กับขุดแนวใหม่ โดยต้องพิจารณาว่าจะใช้แนวทางไหน ที่จะกระทบมวลชนน้อยที่สุด
อ่านข่าวแล้วไม่รู้ว่าคลองลัด 4 แห่ง ที่จะขุดทางแม่น้ำท่าจีน กับคลองแนวใหม่ต่อจากแม่น้ำป่าสัก ลงอ่าวไทย อยู่ตรงไหน?
เลยไปขอซื้อแผนที่ภูมิประเทศ 1:50000 ที่กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ข้างกระทรวงกลาโหม ตรงข้ามวัดพระแก้ว ใกล้สนามหลวง ที่ผมซื้อประจำนานนับหลายสิบปีมาแล้ว
เพราะแผนที่มาตราส่วนระดับนี้ ไม่มีเอกชนทำขาย จึงมีที่กรมแผนที่ทหาร แห่งเดียวในโลก
โชคร้ายเพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าแผนที่พิกัดที่เห็นแม่น้ำท่าจีนตั้งแต่นครปฐมถึงสมุทรสาคร ไม่มีขายและไม่มีอนาคตว่าจะมีขายหรือไม่
มีแผนที่ละเอียดกว่านั้น แต่ขายให้เฉพาะหน่วยราชการ ไม่ขายให้เอกชน ถ้าจะซื้อก็ต้องทำจดหมายราชการมาด้วย
ผมเลยไม่มีแผนที่ดูภูมิประเทศที่กรมชลประทานมีโครงการขุดคลองลัดและฟลัดเวย์ตามที่เป็นข่าว เพราะผมไม่มีสังกัดราชการ
สังคมไทยไม่ให้ความสำคัญเรื่องภูมิประเทศและภูมิศาสตร์ จึงศึกษาประวัติศาสตร์อย่างตาบอดคลำช้าง คือไม่มีแผนที่ แล้วไม่เคยไปทำความเข้าใจภูมิประเทศจริง เช่น
ท่องจำอย่างภาคภูมิที่สุดว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย แต่ไม่รู้กรุงสุโขทัยอยู่ตรงไหน? แม่น้ำอะไร? ต้นน้ำอยู่ไหน? ภูเขาอยู่ไหน? ทุ่งนาอยู่ด้านไหน? ฯลฯ
กรุงศรีอยุธยาที่เรียนมาจึงไม่รู้ว่าในเกาะเมืองมีคลองตัดกันไปมาเหมือนตารางหมากรุก แล้วมีแม่น้ำล้อมรอบ มีที่ราบลุ่มต่ำเป็นทุ่งล้อมกรุงทุกด้าน เช่น ทุ่งอุทัย ที่มีนิคมอุตสาหกรรม จึงถูกน้ำท่วม
ระบบการศึกษาของไทยไม่มีท้องถิ่นและไม่มีแผนที่ คนจึงไม่รู้จักท้องถิ่นตัวเอง แล้วไม่รู้ว่าหน้าตาหมู่บ้านของตัวเองเป็นอย่างไร? ตั้งอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศไทย? มีแม่น้ำลำคลองอยู่ตรงไหน? ตรงไหนที่ลุ่มน้ำท่วม ที่ดอนน้ำไม่ท่วม? ฯลฯ
แผนที่ประเทศไทยวางขายทั่วไปมีเส้นแสดงถนนรถยนต์เท่านั้น แต่ไม่มีแม่น้ำลำคลอง เพราะสังคมไทยไม่ให้ความสำคัญแม่น้ำลำคลอง จึงปล่อยปละละเลยตื้นเขินทั่วประเทศ
กรมแผนที่ทหาร ทำแผนที่ภูมิประเทศ มีแม่น้ำลำคลองหนองบึงบุ่งทาม และทิวเขาทุ่งราบ แต่ไม่มีวางตลาดขายทั่วไป ใครต้องการก็เดินทางไปซื้อเองที่กรม
บางกรณีไม่ขายให้ประชาชน (ทั้งๆ ได้เงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชน) แต่ขายให้หน่วยราชการเท่านั้น ทำเสมือนยังอยู่ในยุคสงครามเย็น
รัฐราชการย่อมอยู่เหนือประชาชน
แผนที่ภูมิประเทศไม่มีบริการประชาชนทั่วไป อนาคตไทยจะรอดจากน้ำหลากท่วมใหญ่อีกไหมนี่ ?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย