.
ความแตกต่างระหว่างเขื่อนและรถเมล์ฟรี
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 21:10:00 น.
22 ปีมาแล้วที่เริ่มก่อสร้างเขื่อนปากมูล ชาวบ้านต่อต้านคัดค้านโครงการนี้อย่างหนัก ถึงขนาดลงไปนั่งประท้วงตรงที่จะระเบิดหินก้นแม่น้ำ แต่ก็ถูกตำรวจขับไล่จับกุม เข้าร่วมประชาพิจารณ์ในจังหวัด ก็ถูกนักเลงไล่ชก แถมยังถูกตำรวจจับเสียอีก
การใช้อำนาจเถื่อนของผู้ต้องการก่อสร้าง ไม่ได้เกิดจากความต้องการไฟฟ้า แต่เกิดจากผลประโยชน์จำนวนมหึมาที่ได้จากการก่อสร้างโครงการ แบ่งปันกันในหมู่นักการเมือง, ข้าราชการ และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น
แล้วโครงการนี้ก็ดำเนินไปจนสำเร็จ ท่ามกลางความเดือดร้อนแสนสาหัส และการประท้วงต่อต้านของชาวบ้าน โดยมีกำลังผลิตติดตั้งเพียง 136 เมกะวัตต์ (กำลังผลิตติดตั้งพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ "ตามแผน" ไม่ใช่ผลิตได้จริง) ไฟฟ้าจำนวนน้อยนิดนี้มีไว้เพื่อประกันความมั่นคงด้านไฟฟ้าของอีสานใต้ ทั้งๆ ที่มีทางเลือกได้อีกหลายอย่าง แต่ที่เลือกทางนี้เพราะคาดว่าจะมีราคาถูกสุดแก่ผู้ผลิต
แลกกับแม่น้ำสายที่ยาวสุดของอีสานไปหนึ่งสาย รวมถึงชีวิตของผู้คนที่เกาะเกี่ยวกับแม่น้ำสายนี้ไปตลอดเส้นทาง
แต่ในความเป็นจริง เขื่อนปากมูลให้ "กำไร" น้อยมาก ระหว่าง 2547-2552 เขื่อนปากมูลผลิตไฟฟ้าได้มีมูลค่าเท่ากับ 324 ล้านบาทต่อปี แต่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถึงปีละ 225 ล้านบาท ปีหนึ่งจึงทำ "กำไร" ได้เพียง 99 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ของเขื่อนปากมูล จากการคำนวณใน พ.ศ.2543 อยู่ในระดับ 7.88 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ของประเทศไทย
กฟผ.อาจได้ "กำไร" แต่ประเทศไทย "ขาดทุน"
ผู้ที่ขาดทุนที่สุดคือชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านปากมูล เพราะเขื่อนทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำมูลบริเวณนี้ลงอย่างย่อยยับ พันธุ์ปลาจำนวนมากหายไป ทั้งๆ ที่บริเวณนี้คือแหล่งเพาะพันธุ์ปลาที่ใหญ่มากของระบบแม่น้ำโขง พืชอีกหลากหลายชนิดไม่อาจขึ้นได้เมื่อน้ำท่วมหลังเขื่อนตลอดปี ที่บุ่งทามซึ่งชาวบ้านเคยใช้ปลูกพืชระยะสั้นอันตรธานไป พร้อมกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของวัชพืชเช่นไมยราบยักษ์ เขื่อนดันน้ำให้เอ่อล้นไปท่วมจนถึงอำเภอวารินชำราบและบางส่วนของอำเภอเมือง อุบลราชธานีในปลายฤดูฝนทุกปี โดยสรุปก็คือ เขื่อนได้ยึดเอาทรัพยากรทุกอย่างของชาวบ้านไปผลิตกำไรให้ กฟผ.เพียงปีละ 99 ล้านบาท
ฝ่ายชาวบ้านหรือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกลับยิ่งประสบเคราะห์กรรมหนักกว่านั้นขึ้นไปอีก ในปี 2537รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนคือกว่า 6 หมื่นบาทต่อปี ครั้นถึง พ.ศ.2542 ลดลงเหลือเพียงกว่า 4 หมื่นบาท ใน พ.ศ.2533 ภาวะความยากจนของชาวบ้านคิดเป็นร้อยละ 32.7 ก่อนการสร้างเขื่อน ครั้นถึง พ.ศ.2543 ความยากจนของชาวบ้านกลับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 62.51 จึงไม่แปลกอะไรที่ก่อนการสร้างเขื่อน ชาวบ้านออกไปหางานทำนอกพื้นที่เพียง 14.2% แต่หลังการสร้างเขื่อนเพิ่มเป็น 63.3% พูดอีกอย่างหนึ่งคือเขื่อนปากมูลทำให้ผู้คนบ้านแตกสาแหรกขาดกว่า 4 เท่าตัว ทั้งหมดนี้เอาไปแลกกับไฟฟ้า ก็ได้ไฟฟ้ากลับมาอย่างไม่คุ้มทุนดังที่กล่าวแล้ว (ทั้งๆ ที่ไม่ได้นำเอาต้นทุนทางนิเวศและสังคมเข้าไปคำนวณด้วย)
เพื่อจะให้ กฟผ.ดึงดันปิดประตูเขื่อนต่อไป กรมชลประทานจึงลงทุนสร้างระบบชลประทานขึ้นด้วยเงินถึง 1,162 ล้านบาท แต่ระบบชลประทานสูบน้ำแต่ละสถานีก็สูบน้ำปริมาณที่ต่ำมาก เพราะพื้นที่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้ต้องการน้ำมากอย่างนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้ในการสูบน้ำมีราคาแพงกว่าที่ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่จะจ่ายได้
ต้นทุนของเขื่อนปากมูลนับวันก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นภาระแก่คนทั้งประเทศไม่สิ้นสุด เพื่อสังเวยความดึงดันของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจที่จะปิดประตูเขื่อนให้ได้ นับตั้งแต่บันไดปลาโจนซึ่งไม่มีปลาโจน ไปจนถึงการปล่อยกุ้งก้ามกราม ซึ่งขยายพันธุ์ได้ในน้ำกร่อยเท่านั้น จึงเป็นภาระต้องปล่อยลูกกุ้งทุกปี ด้วยปริมาณผลตอบแทนที่น้อยมากเพราะปริมาณของลูกกุ้งที่จะอยู่รอดมีน้อย ในระบบนิเวศที่ผิดแปลกนี้ จนมาถึงการชลประทานที่ทำงานได้ไม่คุ้ม และเงินจ้างนักเลงอันธพาลบ้าง ม็อบบ้าง เพื่อยกกำลังมาสู้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ (และก็คงต้องจ้างกันต่อไปทุกครั้งที่ชาวบ้านปากมูลเคลื่อนไหวให้เปิดเขื่อน)
ชาวบ้านได้เสนอให้เปิดเขื่อนถาวรมานานแล้ว หลายรัฐบาลที่ผ่านมาและรัฐบาลปัจจุบันได้ตั้งคณะกรรมการวิชาการขึ้นศึกษาหา ทางออก และคณะศึกษาไม่รู้จะกี่ชุดมาแล้ว ก็เสนอตรงกันว่าให้เปิดเขื่อนถาวร แต่ทุกรัฐบาลและรัฐบาลนี้ก็หาทางผัดผ่อนไม่ทำตามข้อเสนอตลอดมา ศึกษาแล้วศึกษาอีก ถึงได้ผลตรงกันอย่างไร ก็ไม่มีรัฐบาลใดกล้าตัดสินใจตามการศึกษาสักรัฐบาลเดียว
อย่างเก่งสุด คือรัฐบาลทักษิณ ที่ประนีประนอมด้วยการให้ปิดประตูเขื่อน 8 เดือน และเปิด 4 เดือน ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่ตอบสนองอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือฟื้นฟูระบบนิเวศ แต่อาจตอบสนองทางการเมืองบ้างเท่านั้น ใน พ.ศ.2544รัฐบาลยอมเปิดเขื่อนเป็นการทดลองเพื่อศึกษา 1 ปี
การศึกษาที่ตามมาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็ชี้ให้เห็นว่า ควรเปิดเขื่อนถาวร เพราะมีผลดีมากกว่าผลเสียในทุกทาง แต่แล้วรัฐบาลก็หันมาปิด 8 เปิด 4 เหมือนเดิม
ผมพยายามหาคำอธิบายว่า เหตุใดความรู้และเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเลขจึงไม่มีพลานุภาพแก่การตัดสินใจของรัฐบาลไทยเลย? หลังคิดและเรียนรู้มาหลายวัน ผมคิดว่ามีเหตุผลอยู่ 3 ประการ
1.หลายปีมานี้ เราพูดกันว่าระบบราชการ (รวมรัฐวิสาหกิจ) เสื่อมอำนาจลง จนเราไม่อาจพูดถึงการเมืองของรัฐราชการได้อีกแล้ว นี่ก็เป็นวิธีมองอย่างหนึ่ง แต่เราสามารถมองอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ระบบราชการไทยได้เปลี่ยนไปจากเดิม กล่าวคือมีความจำเป็นต้องผนวกเอาชนชั้นนำอื่นๆ นอกราชการมาไว้ใน "ระบบ" เดียวกัน ได้แก่ ทุน, คนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป, (หรือรวมแม้แต่คนชั้นกลางระดับล่างอีกจำนวนมากด้วย), คนชั้นกลางที่มีการศึกษาและนักวิชาชีพซึ่งเรียกว่าคนชั้นกลาง "ใหม่", อิทธิพลท้องถิ่น, นักการเมือง ฯลฯ
ภาวะการนำไม่รวมศูนย์กับราชการต่อไปก็จริง แต่ดูเหมือนจะกระจายด้วยการ "เกี้ยเซี้ย" ระหว่างกัน ทั้งหน้าฉากและหลังฉาก ทั้งโดยเปิดเผย และทั้งโดยนัยยะ โดยราชการยังเป็นศูนย์ของการ "เกี้ยเซี้ย" อยู่ เพราะราชการมีอำนาจที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามการ "เกี้ยเซี้ย"
นักการเมือง (ทั้งที่ได้อำนาจผ่านหีบบัตรเลือกตั้งและปากกระบอกปืน) มีอำนาจในทางทฤษฎี แต่เอาอำนาจนี้ไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบายหรืออุดมคติอะไรในทางปฏิบัติไม่ได้ ฉะนั้น แทนที่นักการเมืองจะกลายเป็นอัศวินรบกับกังหันลมให้เหนื่อยเปล่าๆ นักการเมืองจึงเข้ามาขอแบ่งปันผลประโยชน์ หรือทำให้การ "เกี้ยเซี้ย" มีประโยชน์ตกถึงนักการเมืองในสัดส่วนที่น่าพอใจ เช่นโครงการสร้างเขื่อน (เล่น) นี้ นักการเมืองก็ได้ส่วนหนึ่งเพราะเป็นผู้อุดหนุนให้สร้างตามคำแนะนำของราชการ คนในราชการก็ได้ (โดยตรงหรือโดยผ่าน กฟผ.หรือนักการเมืองก็ตาม) พ่อค้าผู้สร้างก็ได้ แม้แต่ผู้เจรจาขอกู้เงินมาสร้างยังได้ด้วยเลย
การที่ราชการ "ผนวก" คนอื่นเข้ามา จึงไม่ได้ทำให้ราชการเสื่อมลง อย่างน้อยก็ยังรักษาสัดส่วนของผลประโยชน์ที่ตนพึงได้รับไว้ในความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจนี้ แม้อาจเสื่อม "อำนาจ" ไปบ้าง เพราะต้องมีคนอื่นๆ เข้ามาร่วม "อนุมัติ" ด้วยอีกมาก
การตัดสินใจเปิดเขื่อนถาวร จึงไม่ใช่แค่ตัวเขื่อนซังกะบ๊วยอันหนึ่งจะถูกเปิดหรือเลิกใช้ไปเท่านั้น แต่หมายถึงการสั่นคลอนระบบอำนาจและผลประโยชน์ที่มีการจัดสรรกันอย่างลงตัว จะทำโครงการขนาดใหญ่อื่นๆได้ยากขึ้น เพราะจะถูกตรวจสอบมากขึ้นจากกรณีปากมูล
2.อำนาจในทางปฏิบัติของราชการนั้นยังมีมากอยู่ทีเดียว ราชการสามารถต่อต้านทัดทานนักการเมืองที่เข้ามาบริหารหน่วยงาน ในโครงการที่ไม่ได้ "เกี้ยเซี้ย" กันทุกฝ่ายได้ด้วยวิธีการอันหลากหลาย นับตั้งแต่แต่งดำไปทำงานพร้อมกันทั้งกระทรวง ไปจนถึงโกนหัว เกียร์ว่าง (แต่กรณีรัฐบาลสุรยุทธ์นั้น ผมไม่แน่ใจว่าราชการเกียร์ว่าง หรือรัฐบาลเข้าเกียร์ไม่เป็น) หรือแม้แต่ดื้อแพ่ง คือไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.เสียเฉยๆ (ซึ่งมีกรณีตัวอย่างให้ยกได้เป็นหนังสือทั้งเล่มยังไม่พอ)
ดังนั้น นักการเมืองจึงต้องกลัวราชการ และดังที่กล่าวแล้วว่า แทนที่จะขี่ม้ารบกับกังหันลม สู้แบ่งปันผลประโยชน์กันกับราชการและส่วนอื่นๆ ที่ถูก "ผนวก" อยู่ในระบบราชการไม่ได้หรอก
3.ลึกลงไปกว่าเหตุผลที่กล่าวข้างต้นก็คือ ใครกันที่จะให้เปิดเขื่อนปากมูลเป็นการถาวร ไอ๊หยา คนเล็กๆ กระจอกงอกง่อยที่เรียกว่า "ชาวบ้าน" นี่น่ะหรือ ที่สะเออะเข้ามาเสนอในเชิงนโยบายได้ มันจะมากไปหน่อยไหมที่ล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่หวงห้ามขนาดนี้ ยอมเปิดเขื่อนถาวร ก็คือยอมให้มีคนนอกเข้ามาในวง "เกี้ยเซี้ย" เกินกว่าที่ราชการจะ "ผนวก" ไว้ได้เต็มคอ ระบบทั้งระบบ (หรือระบอบกันหว่า) ก็จะพังลงโดยสิ้นเชิง เพราะพวกมันกำลังเรียกร้องให้ทุกฝ่าย "เกี้ยเซี้ย" กันได้อย่างเสมอภาค นับเป็นการเรียกร้องเกินระบอบ "ประชาธิปไตย" ซึ่งแปลว่า การปกครองของประชาชน, โดยประชาชน, และเพื่อประชาชน อันเป็นคำนิยามที่ไม่มีความหมายอะไรเลย
ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องเดียวกับสี่แยกราชประสงค์แหละครับ เพียงแต่เสื้อแดงไม่ได้เรียกร้องให้เปิดเขื่อน แต่ให้ยุบสภา อันเป็นพื้นที่ "เกี้ยเซี้ย" ซึ่งจำกัดให้ชนชั้นนำเท่านั้นเข้ามาต่อรองและใช้เดินเกมส์การเมือง ไม่ใช่พื้นที่ซึ่ง "ชาวบ้าน" จะมาเรียกร้องอะไรได้ ทำไมไม่เรียกร้องให้ประกันราคาข้าวเปลือก, นั่งรถไฟฟรี, หรือผ่อนผันหนี้สิน ฯลฯ ล่ะ เรื่อง "ขอ" อย่างนี้แหละที่อยู่ในพื้นที่ของมึง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย