http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-09-27

2 ล้านล้านแบบ ปชป. เมื่อไอ้เสือกลับใจ โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ

.
บทความ 2 - ดิสเครดิต-จิตสาธารณะ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
บทความ 3 - ชำแหละ“ไทยเข้มแข็ง”2020 ความแตกต่าง ยุค รบ.ปชป.“กู้เงิน”2009 
____________________________________________________________________________________

2 ล้านล้าน แบบประชาธิปัตย์ เมื่อไอ้เสือกลับใจ
โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ
  bcheewatragoongit@yahoo.com
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380253764
มติชนออนไลน์ วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 10:48:52 น.



เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควรทีเดียวครับ กับการโชว์วิสัยทัศน์ ชงอนาคตที่เลือกได้ของ หนุ่มมาร์ค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ...เห็นหรือยังว่าเมื่อคิดให้มันเข้าท่า พูดให้มันสุภาพ ก็สามารถเรียกเรตติ้งได้กระฉูดดีกว่ากล่าวคำผรุสวาทตั้งแยะ นี่จึงเป็น Lesson Learned ที่ท่านผู้นำฝ่ายค้านคงต้องเก็บไว้ใน Long Term Memory โดยมิพักต้องไปวิเคราะห์อะไรให้เสียเวลาอีก

อดคิดไม่ได้ว่าใครนะช่างใจร้ายเป็นกุนซือให้คุณอภิสิทธิ์ขึ้นไปแสดงบท "ผู้นำม็อบ" อยู่บนเวทีผ่าความจริงเสียเป็นวรรคเป็นเวร ช่วยตรวจสอบลึกๆ หน่อยว่านี่เป็นแผนฆ่าหัวหน้าพรรคที่อนาคตก็ไม่สู้จะสดใสนักให้จมดิ่งหนักข้อขึ้นไปอีกหรืออย่างไร ดีนะที่กลับลำทัน อย่างที่หน้า 3 ไทยรัฐฉบับวันที่ 24 กันยายน จั่วหัวว่า..."กลับฝั่งหลังออกทะเล" นั่นแหละครับ

Welcome back to the club ครับ ท่านอดีตนายกฯอ๊อกซฟอร์ด การนำเสนอสิ่งที่ (คิดว่า) ดีกว่านี่ต่างหากที่สังคมไทยเฝ้ารออยู่ พรรคประชาธิปัตย์มีขุนพลระดับยอดเยี่ยมก็หลายคน อย่างเรื่องโครงสร้างพื้นฐานนี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ก็ไม่แพ้ใครในตองอู เสียดายที่ถูกนำไปซุกไว้ตรงซอกไหนก็ไม่ทราบ แล้วงัดเอาตัวโกง หน้าดำ รูปร่างประหลาดๆ ออกมาอาละวาดบาดทะลวงทั้งในและนอกสภา เล่นเอาประดาแฟนานุแฟนสะดุ้งโหยงไปตามๆ กัน...!

ผินพักตร์กลับไปดูโครงการ "อนาคตที่เลือกได้ อนาคตไทยเข้มแข็ง 2020" ที่ต้องใช้เงินประมาณ 2 ล้านล้าน ใกล้เคียงกับเมกะโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ของรัฐบาล ก็พบว่าเป็นโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้าน คมนาคม ศึกษา สาธารณสุข และชลประทานเพื่อการเกษตร โดยเม็ดเงินกว่าครึ่งหนึ่งจะถูกจัดสรรลงไปในในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม (คล้ายของเพื่อไทย แต่ใช้เงินน้อยกว่าประมาณ 1.2 ล้านล้าน) ที่เหลืออีกแปดแสนล้าน เป็นการศึกษาเสีย 4 แสนล้าน การสาธารณสุขและชลประทานอีกอย่างละ 2 แสนล้านบาท

ผมชื่นชมตรงที่ข้อเสนอนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีในระบอบประชาธิปไตย เมื่อทำเป็นนโยบายแล้ว ประชาชนจะเลือกใคร ก็ให้เป็นอำนาจของประชาชน ข้อสำคัญ หลังเลือกตั้งเสร็จ คงต้อง (พยายาม) เคารพเสียงประชาชน นี่เป็น "จุดอ่อน-Weakest Link" ที่ชัดเจนที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ และก็แปลกที่พรรคไม่เคยรู้ตัว หลังแพ้เลือกตั้ง สมาชิกทั้งหัวหงอกหัวดำต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด ว่าพรรคแพ้เพราะเขาซื้อเสียง ...ถ้าประชาธิปัตย์ก้าวข้ามจุดนี้ไปได้อีกเปลาะหนึ่ง พรรคก็จะดูดีขึ้นอีกมากมายก่ายกอง

ในฐานะนักวิชาการด้านการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ ผมมองว่าโครงการไทยเข้มแข็ง 2020 ของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีจุดโฟกัสครับ ดูคล้ายการจัดงบประมาณประจำปีให้กับ 4 กระทรวง คือ คมนาคม ศึกษา สาธารณสุข และเกษตรฯ เสียมากกว่า เป็นงบประมาณในลักษณะงาน Routine แทนที่จะเป็นงานยุทธศาสตร์ โครงการหรือแผนงานเชิงกลยุทธ์ควรจัดทำงบประมาณแบบ Project Based Budgeting ที่มุ่งหวังผลลัพธ์ (Output) ที่ชัดเจนอันหนึ่ง

การไม่มีเป้าหมายที่แน่ชัด ขาดการศึกษาในรายละเอียด และยังไม่มีที่มาที่ไป ทำให้โครงการดูยังหละหลวมอยู่ ต่างจากของคุณชัชชาติซึ่งมีจุดมุ่งหมายชัดมากในการที่จะสร้างสมรรถนะ (Competencies)ด้านการคมนาคมขนส่งให้กับชาติ ในสถานการณ์ที่ AEC เปิด ภายใต้ยุทธศาสตร์ Connectivity เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มประเทศในแถบอุษาคเนย์เข้าด้วยกัน และวางตำแหน่งประเทศไทยเป็น "นครหลวงของอาเซียน-Capital of Asean" ทำนองเดียวกับประเทศเบลเยียมใน EU

โครงการลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณต่างหาก ไม่ใช่งบประจำ (Ongoing Budget) และประเมินโครงการด้วยผลประโยชน์ของชาติในองค์รวม (Overall Benefit) เทียบกับต้นทุนทั้งสิ้น (Overall Cost) ที่ลงไป ไม่ใช่การควบคุม Expense แบบงาน routine ครับ

อีกเหตุผลหนึ่งที่โครงการเชิงยุทธศาสตร์ ต้องใช้เงินนอกงบประมาณประจำปีก็เพราะโครงการเหล่านี้ต้องการเงินจำนวนมากในการพัฒนาความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง การกู้ก็เพื่อให้โครงการสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาที่เหมาะสม (คล้ายเรากู้เงินสร้างบ้าน) ถ้าจะให้รอจนเก็บเงินได้ครบแล้วจึงค่อยสร้าง โอกาสด้านเศรษฐกิจที่ประเทศของเราจะได้จากการเป็นศูนย์กลางอาเซียนคิดเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลก็อาจหลุดลอยไป...!

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันดูแลก็คือ "ความโปร่งใส" ของการใช้เงินขณะพัฒนาโครงการ เพราะนี่เป็นงานพัฒนาสมรรถนะชาติ (National Competencies) ของคนไทยทุกคน รัฐบาลถ้าฉลาดจะต้องทำเรื่องนี้ให้สะอาดบริสุทธ์เกินความคาดหมายของประชาชน อาจต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นหูเป็นตาในกระบวนการเบิกใช้เงิน ฝ่ายค้านเองก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นแบบสร้างสรรค์ ถ้ามีการทุจริตเกิดขึ้น ประชาชนไม่ว่าใครหน้าไหนก็ไม่ยอมทั้งนั้นแหละครับ

การออกมาแถลงนโยบาย 2 ล้านล้าน ไทยเข้มแข็ง 2020 ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการขานรับจากสื่อทุกแขนงแทบทุกฉบับ นี่อาจเป็นบาทก้าวแรกที่พรรคเก่าแก่พรรคนี้มีโอกาสที่จะ turn around ได้อย่างยิ่งใหญ่ต่อไปในกาลข้างหน้า ถ้าไม่ไปสะดุดขาตัวเองด้วยบทบาทนักเลงโตที่เล่นแล้วมีแต่เสีย ดังที่ก็เห็นๆ กันอยู่ 



+++

ดิสเครดิต-จิตสาธารณะ
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380189328
วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 22:51:08 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน  26 ก.ย.2556 )


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และคณะ ยกทีมแถลงแผนโครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020 ชี้ให้เห็นถึงจุดที่แตกต่างจากโครงการตาม พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดยสรุปคือ ประเด็นแรกใช้เงินลงทุนจากงบประมาณปกติ กรอบการจัดสรรภายในเวลา 7 ปี ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่ามีความโปร่งใสกว่า ในขณะที่ของรัฐบาลใช้เงินกู้ เป็นเงินนอกงบประมาณปกติ ประเด็นนี้ถูกตอกย้ำตลอดการประชุมสภามาตั้งแต่วาระแรก

ประเด็นต่อมา กระจายการใช้เงิน 2 ล้านล้าน ไปยังการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 1.2 ล้านล้าน การศึกษา การพัฒนาและการวิจัย 4 แสนล้าน การสาธารณสุข 2 แสนล้าน ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร 2 แสนล้าน ขณะที่ของรัฐบาลใช้ไปในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเป็นหลัก


ครับ โดยหลักการ การนำเสนอสิ่งที่แตกต่างเพื่อให้ประชาชนคนกลางตัดสินเป็นเรื่องที่ดีน่าสนับสนุน เพราะเป็นการเสนอทางเลือกใหม่ แข่งขันเชิงนโยบายที่เน้นเนื้อหาสาระของงานหรือโครงการที่จะดำเนินการเป็นสำคัญ

ไม่ใช่มุ่งแต่สำนวน โวหาร เอาชนะคะคาน เล่นเกมการเมืองยืดเยื้อ กระทั่งใช้ความรุนแรง ขว้างปาเอกสาร ทุ่มเก้าอี้ ตีรวนในที่ประชุมเพื่อป่วน ถ่วงเวลาการบัญญัติกฎหมายออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม ทำให้เกิดภาพลบต่อการทำหน้าที่ของ ส.ส.และภาพลักษณ์ของรัฐสภาโดยรวมมากกว่า

การปรับเปลี่ยนมานำเสนอสิ่งใหม่ที่ดีกว่า ด้วยท่าทีปกติธรรมดาแต่น่าเชื่อถือ ใช้เหตุใช้ผล ไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำก้าวร้าว กราดเกรี้ยว โกรธขึง น่าจะเป็นแนวทางที่ได้รับการตอบรับมากกว่า

ด้วยความหวังถึงผลได้อีกข้อหนึ่ง หากเกิดการยุบสภาขึ้นก่อนเวลาปกติ การนำแสนอเรื่องนี้ในขณะที่ พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ยังร้อนๆ อยู่ เท่ากับหาเสียงล่วงหน้าไปในตัว เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองสามารถทำได้ตลอดเวลา


แต่ประเด็นที่น่าพิจารณาคือทำอย่างไรแนวทางที่แตกต่าง ที่ว่าดีกว่านี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง ในเมื่อเพิ่งมานำเสนอเอาเมื่อกฎหมายผ่านวาระสามของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว กำลังจะเข้าสู่การประชุมของวุฒิสภา

เหตุนี้จึงเกิดคำถามว่า ทำไมถึงไม่เสนอก่อนหน้านี้ ก่อนกฎหมายเข้าสภาวาระแรก หรือในการพิจารณาวาระแรก หรือในขั้นกรรมาธิการแปรญัตติ เมื่อข่าวสารเผยแพร่ออกไป แรงกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงน่าจะมีมากกว่าเสนอเมื่อสายเสียแล้ว

ที่เป็นเช่นนี้ ผมคิดเองว่า พรรคประชาธิปัตย์คงคิดว่าเสนอก่อนหน้านี้หรือตอนไหนๆ ผลเหมือนกัน รัฐบาลคงไม่รับฟังและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิด ความตั้งใจที่มีอยู่เดิมแน่

อย่างน้อยการเสนอแนวทางใหม่ก่อนหน้านี้ ทำให้สังคมได้รับความคิดเห็น มีทางเลือกอีกทางหนึ่ง เมื่อเกิดภาพเปรียบเทียบ จะช่วยเพิ่มแรงกดดันที่มีต่อฝ่ายบริหารได้มากกว่ามาเสนอเอาภายหลัง

ถ้าเสนอขึ้นมาก่อนแล้วรัฐบาลไม่ฟัง ไม่รับ ไม่เปลี่ยนแปลงทั้งๆ ที่มีเหตุผลที่ควรรับฟัง ประชาชนเป็นคนตัดสินเอง ใครควรจะได้คะแนน ใครควรจะเสียคะแนน



แต่เพราะหวังผลต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต กับการบั่นทอนความน่าเชื่อถือรัฐบาลเป็นหลัก มากกว่าที่จะคิดร่วมกัน ทำร่วมกัน ในเรื่องอันเป็นประโยชน์ส่วนรวม ใช่หรือไม่

ด้วยความคิดและการปฏิบัติทำนองนี้ ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นฝ่ายค้าน ถึงทำให้เรื่องดีๆ นโยบายดีๆ ความคิดดีๆ หลักการดีแต่วิธีการแตกต่าง จึงไม่มีการสานต่อและปรับวิธีการเข้าหากัน


นอกจากนี้ มีประเด็นที่น่าคิดอีก ในเมื่อได้นำเสนอทางเลือกที่มั่นใจว่าดีกว่าแล้ว เหตุใดประชาธิปัตย์ยังเดินหน้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ขัดรัฐธรรมนูญหมวดที่ว่าด้วยวินัยทางการคลังหรือไม่

เพราะยังคงต้องการล้ม หรือขัดขวางไม่ให้กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ รัฐบาลไม่สามารถกู้เงินมาดำเนินโครงการได้ ฉะนั้น ที่พูดว่าเห็นด้วยกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นแค่หลักการ ไม่มีความหมายในทางปฏิบัติ

การเสนอทางเลือกเชิงนโยบายที่ดีกว่า แต่ต้องรอเวลาจนกว่าจะครบวาระให้ประชาชนตัดสินใจ นักการเมืองไทยวันนี้คงรอไม่ไหว

แนวทาง ขัดขวางทุกอย่างที่ขวางหน้า โค่นล้มทุกนาทีที่มีจังหวะโอกาส จึงเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองไทยถาวรไปแล้ว เพราะมาตรการในระดับ กำกับ ตรวจสอบ ควบคุม ใช้ไม่ได้ผลทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถทำให้ประชาธิปไตยไทยมีเสถียรภาพเพียงพอ จริงหรือไม่ น่าคิดนะครับ



+++

ชำแหละ“ไทยเข้มแข็ง”2020 ความแตกต่าง ยุค รบ.ปชป.“กู้เงิน”2009
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380187876
มติชนออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 19:46:08 น.



พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดตัว "อนาคตที่เลือกได้" ผ่าน "โครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020" ยืนยันใช้วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ด้วยการลงทุนด้วยเงินในระบบงบประมาณปกติ

เป็นวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เท่ากับการที่ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" กู้เงินผ่านร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินด้วยกฎหมายพิเศษนอกระบบงบประมาณ

ใน "โครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020" ให้รายละเอียดการใช้วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ใน 4 ด้าน ดังนี้

1.ด้านการคมนาคม 1,200,000 ล้านบาท ผ่านรถไฟความเร็วสูง 36,722 ล้านบาท รถไฟทางคู่ 507,933 ล้านบาท รถไฟฟ้ามหานคร 410,966 ล้านบาท ปรับปรุงระบบรถไฟ 19,303 ล้านบาท ถนนทั้งระบบและสถานีขนส่ง 198,423 ล้านบาท และท่าเรือ 26,623 ล้านบาท

2.ด้านการศึกษา 400,000 ล้านบาท ผ่านโรงเรียนวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิจัย 150,000 บาท อาชีวะสร้างชาติ 50,000 ล้านบาท ครูพันธุ์ใหม่ พัฒนาคุณภาพครูและ Excellence Centre 110,000 ล้านบาท ปรับปรุงอุปกรณ์ และสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 90,000 ล้านบาท

3.ด้านสาธารณสุข 200,000 ล้านบาท ผ่านการพัฒนาโรงพยาบาล 12,000 แห่ง 100,000 ล้านบาท และการพัฒนาบุคลากรและสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุข 100,000 ล้านบาท

4.ด้านการชลประทานเพื่อการเกษตร 200,000 ล้านบาท ผ่านระบบชลประทาน 75 ล้านไร่ ทั่วประเทศ


ไม่เพียง "ไทยเข้มแข็ง 2020" จะยืนยันไม่ต้องกู้เงิน เพราะเป็นการลงทุนในระบบงบประมาณปกติ จึงมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ พัฒนาระบบคมนาคม และโลจิสติกส์

พร้อมกันนี้ยังพัฒนาคนพัฒนาชาติ พัฒนาเรื่องน้ำ เพิ่มมูลค่าทางการเกษตร เป็นเงินวิจัยสร้างอนาคตชาติ ทำให้เงินถึงมือคนทุกกลุ่ม


หากย้อนไปเมื่อครั้งที่ "รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" บริหารราชการแผ่นดิน ได้เสนอร่าง พ.ร.ก.กำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552 และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดมีการถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ออกจากสภาผู้แทนราษฎร

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ได้ลงมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก.และร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552 มีผลบังคับใช้ บัญญัติไว้ในมาตรา 3 อำนาจกู้เงินในนามรัฐบาลตาม พ.ร.ก.นี้ให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 4 แสนล้านบาท และให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2553

ในมาตรา 4 ยังบัญญัติว่า "เงินที่ได้จากการกู้ตามมาตรา 3 ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้สมทบเป็นเงินคงคลัง"

จะเห็นได้ว่า ในสมัยรัฐบาล ปชป. มีการผลักดัน พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง 2552 หรือ 2009 ผ่านการกู้เงินโดยไม่ต้องนำส่งคลัง



ในขณะที่ "โครงการไทยเข้มแข็ง 2020" ซึ่ง ปชป. ประกาศสู้กับ "โครงการสร้างอนาคตประเทศ 2020" ของ รัฐบาลเพื่อไทย (พท.) ยืนยันอย่างชัดเจนจะใช้วิธีการผ่าน "งบประมาณปกติ"

เป็นความต่างของ "ไทยเข้มแข็ง 2009" และ "ไทยเข้มแข็ง 2020"

เมื่อ "ไทยเข้มแข็ง 2009" ให้กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ผ่านมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญเพราะเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน

เมื่อ "ไทยเข้มแข็ง 2020" ให้ตั้งวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ผ่านการจ่ายเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เพราะเห็นว่าสามารถใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีกระทำได้

หากพิจารณาตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0900/ล 384 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ซึ่งลงนามเสนอโดยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามอนุมัติร่าง พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552

ให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการเสนอกฎหมายกู้เงิน เพราะรัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ขึ้น หรือเอสพี 2 โดยเน้นการลงทุนในโครงการที่สำคัญและจำเป็นต่างๆ ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2552-2555 คิดเป็นวงเงินประมาณ 1.56 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพิ่มการกระจายการลงทุนด้านบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานสู่ชนบท ซึ่งจะเป็นการบรรเทาปัญหาการว่างงาน

นอกจากนี้ การออก พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง ในนาม "ครม." ยังระบุไว้ในหนังสือด่วนที่สุดดังกล่าว ว่าเงินที่ได้จากการกู้ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเว้นแต่ ครม.จะมีมติสมทบให้เป็นเงินคงคลัง

การที่ ปชป.เสนอโครงการสร้างอนาคตไทยเข้มแข็ง 2020 ด้วยการจัดสรรวงเงินในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 1.2 ล้านล้านบาท โดยไม่ต้องมีการกู้เงินหรือเฉลี่ย 7 ปี ใช้วงเงินต่อปี ปีละ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนตามงบประมาณปกติ จะสามารถลงทุนและได้รถไฟรางคู่ ระบบโลจิสติกส์ครอบคลุมทั้งประเทศได้หรือไม่

เพราะขณะที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต้องใช้เงินนอกงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ในภาวะที่ค่าครองชีพ และค่าแรงสูงขึ้น

ทำให้ นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. ในฐานะมือกฎหมาย พท. ตั้งข้อสังเกตถึงเมื่อครั้งที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เคยเสนอร่าง พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง พ.ศ.2552 ซึ่งขัดแย้งกับการที่ ปชป.เสนอโครงการไทยเข้มแข็ง 2020 ที่ไม่ผ่านการกู้เงินแต่ใช้วิธีการงบประมาณปกติ

"ผมขอสรุปใน 2 ประเด็น ว่า 1.ขอจับผิดเรื่องตัวเลขค่าใช้จ่ายเมื่อครั้งกู้เงินผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง 2552 ใน 3 ปีงบประมาณที่จะใช้เงิน 1.56 ล้านล้านบาท แต่ปีนี้ของแพง ค่าแรงแพง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเสนอในวงเงิน 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านคมนาคม และ 2.ผมจะชี้ให้เห็นว่าสมัยรัฐบาล ปชป.ไม่ตระหนักจะเงินในงบประมาณปกติเลย" นายพิชิตกล่าว

แม้ฝ่ายกฎหมาย พท. ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา169 แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้เสนอ พ.ร.ก.กู้เงิน หรือไทยเข้มแข็ง วงเงิน 4 แสนล้านบาท มีสาระสำคัญว่าไม่ต้องนำส่งคลังไม่ถือเป็นเงินแผ่นดิน ต้องเว้นไว้ตามมาตรา 169

ทำให้ "พิชิต" ตั้งคำถามไปยัง "ปชป." ว่าเหตุใดเมื่อครั้งเสนอ "ไทยเข้มแข็ง 2009" ไม่เสนอให้ใช้จ่ายเงินในระบบงบประมาณปกติ เหมือนที่เสนอ "ไทยเข้มแข็ง 2020" ในขณะนี้!



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.