http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-09-14

สถานการณ์เริ่มเปลี่ยน โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

.
บทความ 2 : สัญญาณเตือนรัฐบาล จาก"วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์"  ระวัง! กับดักองค์กรอิสระ
..........................................................................................................................................................

สถานการณ์เริ่มเปลี่ยน
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1379063946
วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 22:08:04 น.

( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12   มติชนรายวัน 13 ก.ย.2556 )


คอฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกระดับอ่านหนังสือ "ข่าวสดไทยซอกเกอร์ลีก" เป็นประจำไม่เคยขาด บอกว่า แค่เห็นรูปคู่ระหว่างดาราสาว "น้องมะนาว" กับอดีตนายกฯบรรหาร ศิลปอาชา เพียงแวบเดียว ก็รู้ได้ทันทีว่าถ่ายในขณะชมและเชียร์ฟุตบอล

เพราะเห็นเสื้อทีมเหย้าของสุพรรณบุรี เอฟซี ที่อดีตนายกฯสวมใส่อย่างเด่นชัด ขณะที่น้องมะนาวใส่เสื้อของสุพรรณบุรี เอฟซี เช่นเดียวกัน แต่เป็นเสื้อทีมเยือน
อบอวลด้วยบรรยากาศของเกมลูกหนัง ไม่มีอื่นใดเจือปน 
ยิ่งต่อมาได้ฟังคำแถลงของดาราสาวคนดังก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ โดยยังได้เข้าแจ้งความตำรวจให้ตามล่าตัวมือมืดที่จงใจแพร่ภาพนี้ด้วยเจตนาร้าย

ขณะที่ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมีเป้าหมายเพื่อดิสเครดิตทางการเมือง เชื่อมโยงกับการที่นายบรรหารกำลังทำหน้าที่ผู้ประสานงานสภาปฏิรูปประเทศนั่นเอง



ข้อสังเกตของบุตรสาวนายบรรหาร น่าสนใจทีเดียว

เพราะนายบรรหารยิ่งเดินสายพบปะทุกฝักทุกฝ่าย ยิ่งทำให้บรรยากาศปรองดองทางการเมืองดูดีขึ้น แต่ก็อาจจะขัดแย้งกับทิศทางของบางกลุ่มการเมืองเป็นอย่างมาก

บางกลุ่มที่เคยได้ดิบได้ดี ในท่ามกลางความไม่ปกติทางการเมือง อาจเริ่มหวั่นเกรงว่าจะสูญเสียโอกาสนั้นไปได้

จะว่าไปแล้ว สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ เริ่มเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า เงื่อนไขที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยวิธีการพิเศษนั้น

นับวันจะเหลือน้อยนิดเต็มที

โดยเห็นได้จากการวางท่าทีของบางขุมกำลังอำนาจ เริ่มนิ่งเฉย ลดบทบาททางการเมืองลงไป ถอยกลับเข้าสู่ที่ตั้งของตนเอง กลับเข้าอยู่ในแนวอยู่ในแถวอย่างสงบเรียบร้อย




ถ้าพูดอย่างเป็นรูปธรรม สถานการณ์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในวันนี้ คลายความตึงเครียดไปมาก

เหลือแนวรบที่ต้องระแวดระวังแค่ไม่กี่แนว

แค่องค์กรอิสระบางองค์กรเท่านั้น


ส่วนแนวรบฝ่ายค้านและม็อบต่างๆ กลับไม่น่าหวาดหวั่นอะไร

การชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงระยะนี้ ไร้พลังอย่างชัดเจน ม็อบที่เคยใหญ่ก็ถึงวันต้องสลาย

ขณะที่พรรคการเมืองซึ่งควรจะเป็นคู่ต่อสู้สำคัญ กลับทุ่มเก้าอี้ใส่ตัวเองกลางสภา กลับเผลอประจานตัวเองผ่านการพูดจาปราศรัยอัน "ไร้ความฉลาด"

หมดประสิทธิภาพไปแล้ว


มีความเป็นไปได้มากที่บ้านเมืองเรากำลังค่อยๆ กลับคืนสู่ความสงบเป็นลำดับ


หลังจากขัดแย้งแตกแยกมา 8-9 ปี มีการระดมทั้งแม่ทัพนายกองเหล่าขุนน้ำขุนนางยันเปาบุ้นจิ้น ออกมาเปิดหน้าสู้รบในทางการเมืองแบบแตกหัก ผลก็คือ บอบช้ำไปตามๆ กัน

ทุกฝ่ายอาจเริ่มสรุปบทเรียนได้แล้วว่า สถานการณ์สงครามนั้นผ่านเลยไปแล้ว ถึงเวลาต้องถอยกลับเข้าสู่ถิ่นที่ปกติของตนเองกันถ้วนหน้าแล้ว


อาจเริ่มยอมรับว่า การเมืองประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง เป็นกระแสใหญ่ที่ไม่มีใครขัดขวางได้

ทุกอย่างต้องเป็นไปตามธรรมชาติ จะเอาอำนาจพิเศษมากำหนดไม่ได้อีกแล้ว อำนาจประชาชนยังยิ่งใหญ่เสมอ



ถ้าทุกฝ่ายยอมรับเช่นนี้จริงๆ บ้านเมืองเราก็คงจะกลับเข้าที่เข้าทางเสียที

พรรคการเมืองบางพรรคเห็นจะต้องกลับมาปฏิรูปตัวเองครั้งใหญ่ เพื่อหันมาหาประชาชน ไม่ใช่เอาแต่อิงอำนาจนอกระบบ

มุ่งสู่สนามเลือกตั้ง ไม่ใช่เดินวนอยู่แถวย่านสำนักงานองค์กรอิสระ




* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline




+++

สัญญาณเตือนรัฐบาล จาก"วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ระวัง! กับดักองค์กรอิสระ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1379151505
วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 23:01:13 น.

( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ 13-19 ก.ย.2556 ปี33 ฉ.1726 น.1726 )


ตลอดเวลา 2 ปีเศษของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ต้องเผชิญแรงเสียดทานจาก 3 ประสาน คือ พรรคฝ่ายค้าน กับ ส.ว.จำนวนหนึ่ง มวลชนนอกสภา และองค์กรอิสระ

จนไม่สามารถเดินหน้าได้สะดวกราบรื่น

ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรม จำนำข้าว โครงการ 2 ล้านล้าน
ตลอดจนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ทั้งที่ประเทศไทยเพิ่งประสบมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554



ท่ามกลางสมรภูมิต่อสู้ทางการเมือง การหักล้างกันด้วยประเด็นข้อกฎหมายยังเป็นอาวุธแหลมคม และสร้างอันตรายให้ฝ่ายรัฐบาลทุกฝีก้าว

ดังคำปาฐกถาของ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่"ฟันธง"ว่าตอนนี้รัฐบาลทำขัดรัฐธรรมนูญแล้ว หลายเรื่อง คือ

การไม่แถลงผลงานรัฐบาลปีละ 1 ครั้ง ต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 
โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (5) ซึ่งบัญญัติให้นโยบายที่รัฐกำหนดต้องให้มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

"โครงการรับจำนำข้าวถือว่ารัฐผูกขาดตัดตอนเสียเอง ขัดหลักการรับจำนำ การจำนำคือเอาทรัพย์ไปประกันหนี้กับเจ้าหนี้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งต้องไถ่ถอนหรือมีการต่อรอง แต่นี่กลับตั้งโต๊ะรับซื้อทั้งหมด ถือเป็นการโกหกตั้งแต่ต้น"
นายวสันต์ ยังแสดงอาการหงุดหงิดต่อโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ล่าช้าจนเลยกำหนดการกู้เงินตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา
พร้อมกันนั้น ยังท้วงติงร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ว่าขัดต่อหลักความเสมอภาคทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เนื่องจากการนิรโทษกรรมจะยกเว้นใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ต้องนิรโทษกรรมทั้งยวง



ภายหลังการ"โยนระเบิด"ใส่รัฐบาล
ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบต่อรัฐบาลที่กำลังรับศึกหลายด้านทั้งในและนอกสภา

ว่ากำลังถูกกระชับพื้นที่จากองค์กรอิสระตามแผน 3 ประสานหรือไม่



การฟันธงของนายวสันต์ ไม่ต่างจากการ"ชี้โพรง"ให้ฝ่ายค้านและเครือข่ายต้านรัฐบาล

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากคำพูดของอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะถูกหยิบยกไปขยายผลโจมตีรัฐบาล


นายชัยวัฒน์ บรมานันท์ นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความเห็นว่า
บทบาทของนายวสันต์ เมื่อครั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่ามีลักษณะมองรัฐบาลในแง่ลบ เมื่อลาออกจากตำแหน่งแต่ยังแสดงความคิดเห็นในลักษณะเดิม ทำให้สังคมเชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล 
การออกมาพูดในลักษณะโยนระเบิดใส่รัฐบาล กระทำได้ แต่ควรแน่ใจแล้วว่ารัฐบาลมีความผิดตามข้อกล่าวหา ด้วยการนำหลักฐานเอกสารมายืนยัน


ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่านายวสันต์เคยเป็นถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นบุคคคลน่าเชื่อถือ นายวสันต์พูดเมื่อไหร่ ทุกคนต้องเงี่ยหูฟังเมื่อนั้น
ซึ่งกรณีนี้ นอกจากจะ"เข้าทาง"ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ยังถือเป็นการชี้นำ สร้างแรงกดดันให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังวินิจฉัยตีความเรื่องต่างๆ ของรัฐบาล

ในทางกลับกัน ถึงจะอ้างว่าเป็นการแสดงความเห็นในฐานะประชาชนคนธรรมดา 
แต่นายวสันต์ต้องถูกฝ่ายหนุนรัฐบาลตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อครั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางจริงหรือไม่

คำถามประเภทนี้ เมื่อดังขึ้นมาก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรโดยรวมอย่างไม่อาจเลี่ยง



ในแง่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ยังถูกโต้แย้งจาก นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายพนัส มองว่าการไม่แถลงผลงาน 1 ปี หรือแถลงล่าช้า ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง การไม่แถลงผลงานไม่ใช่การบริหารงานล้มเหลวที่จะนำไปสู่การล้มรัฐบาลได้ 
ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระบางแห่งไม่ได้รายงานผลการปฏิบัติงานตามเวลาที่กำหนดไว้ บางองค์กร 3-4 ปี ไม่ได้แถลง แต่ก็ไม่เป็นปัญหา

สำหรับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม นายพนัสยืนยันว่าสามารถยกเว้นตัวบุคคลได้
หากใช้ตรรกะเหมือนที่นายวสันต์ตีความ กฎหมายอาญาของไทยทั้งฉบับที่กำหนดบทลงโทษแตกต่างกันหลายระดับ ก็จะใช้ไม่ได้ เพราะขัดหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 30"




มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายวสันต์ออกมาแสดงความเห็นเชิงลบต่อรัฐบาล

จะด้วยบังเอิญหรือจงใจ เหมือนเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้พรรคประชาธิปัตย์ในความพยายามโค่นล้มรัฐบาล ว่าโอกาสไม่ถึงกับสิ้นหวังเสียทีเดียว

หลังไม่ประสบความสำเร็จนักในการทดลอง"เป่านกหวีด" เดินนำม็อบใต้ทางด่วนอุรุพงษ์มายังรัฐสภา เพื่อคัดค้านการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม

หรือความพยายามขัดขวางที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ให้ผ่านวาระ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไปได้ง่ายๆ

แต่แล้วภาพการก่อกวนตีรวนตั้งแต่ต้นจนจบตลอดช่วงเวลากว่า 10 วัน ทำให้ภาพลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ติดลบชนิดกู่ไม่กลับ ทั้งยังสร้างความเบื่อหน่ายให้ประชาชนแสนสาหัส

ขณะที่แกนนำพันธมิตรฯ ก็ประกาศแยกเดินทางใครทางมัน ไม่ขอกอดเกี่ยวร่วมหัวจมท้ายกับพรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป

ม็อบสวนยางภาคใต้ก็ถูกสังคมจับตาว่ามีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องตรงไหน อย่างไร ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่กล้าลงไปคลุกเต็มตัวมากนัก


นอกจากเตรียมยื่นตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายนิรโทษกรรมต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่นายวสันต์ชี้ช่องให้บนเวทีปาฐกถา

รวมถึงการยื่นวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2557 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีรัฐบาลหั่นงบฯ องค์กรอิสระออกถึงร้อยละ 40 ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.รวม 114 คน ดำเนินการไปแล้ว

ความหวังยังฝากไว้ตรงการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว ในมือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.

เหมือนกรณีศาลปกครองเคยมีคำสั่ง"ติดเบรก"โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

เหมือนกรณี กกต. มีมติให้ดำเนินคดีอาญา นายศิริโชค โสภา กรณีโพสต์ภาพเผาบ้านเผาเมืองช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่กลับไม่สั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่

เหล่านี้ สะท้อนถึงการพลิกเหลี่ยมมุมข้อกฎหมายคลี่คลายวงล้อมให้ฝ่ายค้าน ขณะเดียวกันก็ใช้เหลี่ยมมุมข้อกฎหมายตีโอบกระชับพื้นที่ ไล่ต้อนรัฐบาลเข้าสู่กับระเบิด



แต่หากมองในมุมกลับ
กรณี นายวสันต์ เปรียบเสมือนเป็นสัญญาณเตือนภัยให้รัฐบาลรีบคิดค้นเกมรับมือ

หาทางออกจาก"กับดัก"เหล่านี้เสียแต่เนิ่นๆ




* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly



.