http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-09-27

ยุทธศาสตร์ ปท.ไทย ศูนย์กลางการกระจายความเจริญของภูมิภาค โดย พิชัย นริพทะพันธุ์

.
บทความ 2 - ทำไมลาวยังไม่ได้สร้าง รถไฟความเร็วสูง? โดย ธีรภัทร เจริญสุข

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ยุทธศาสตร์ ประเทศไทย ศูนย์กลางการกระจายความเจริญของภูมิภาค
โดย พิชัย นริพทะพันธุ์ 
อดีต รมว.พลังงาน
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380189088
วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 21:32:04 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 26 ก.ย.2556 )


คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปี 2555 ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ชาติต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และผู้นำเหล่าทัพ ในวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยผู้เขียนเป็นผู้ร่วมคิดและเป็นผู้ร่วมนำเสนอด้วย พร้อมกับ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล จากสภาพัฒน์ และ ดร.โชคชัย เดชอมรธัญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมี พลโท พฤษภะ สุวรรณทัต เจ้ากรมการพลังงานทหาร เป็นประธานฝ่ายวิชาการ ซึ่งเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการที่จะนำมาใช้พัฒนาประเทศไทยในอนาคต จึงขอนำเสนอรายละเอียดและข้อคิดเห็นดังนี้

จากการวิเคราะห์ภาวะแวดล้อมของโลกที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน รวมถึงขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูง ซึ่งสามารถที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีโลกได้ ประเทศไทยที่มีความได้เปรียบในที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ประกอบกับมีการพัฒนาที่มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม)

ดังนั้นจึงขอเสนอจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ให้ "ประเทศไทย เป็น ศูนย์กลางการกระจายความเจริญของภูมิภาค? เพราะเห็นว่าจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านยอมรับและเห็นด้วย โดยประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศที่มีความเจริญสูงสุดเพื่อที่จะกระจายความเจริญไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เสมือนว่ามีบทบาทเป็นผู้ให้มากกว่าจะเป็นผู้รับ หากไปกำหนดว่าจะเป็นผู้นำของภูมิภาค อาจจะเกิดแรงต่อต้านและไม่เห็นด้วยได้ แต่ที่จริงแล้วการที่ประเทศไทยยิ่งให้เท่าไหร่ ประเทศไทยก็จะยิ่งได้รับกลับมามากกว่า เพราะในอนาคต ประเทศเพื่อนบ้านนอกจากจะเป็นตลาดสำหรับสินค้าและบริการให้กับประเทศไทยแล้ว ยังเป็นฐานการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มน้อยและใช้แรงงานมากที่ประเทศไทยจะโยกย้ายไป อีกทั้งจะเป็นแหล่งผลิตห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ให้กับอุตสาหกรรมหลักที่จะเป็นอนาคตของประเทศไทย

โดยภาพรวมคือ การที่จะต้องทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้เป็นประเทศที่รายได้สูงขึ้น

คาดหวังว่า อีกสิบปีข้างหน้าจะเพิ่มรายได้ต่อหัว ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 6,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ให้ขึ้นเป็น 13,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งหมายถึงการต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งที่จะโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ภาคบริการที่จะทำให้มีรายได้สูงขึ้น



คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรปี 2555 เห็นด้วยอย่างยิ่งกับรัฐบาลใน พ.ร.บ.ลงทุน 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม โดยจะต้องพัฒนาระบบคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศให้สอดประสานกัน และมีข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดสำหรับการลงทุนเหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในทางบก ขอเสนอการพัฒนาเชิงพื้นที่

หลังจากที่รัฐบาลได้มีแนวทางการพัฒนาการคมนาคมทางบก ระบบราง ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง และระบบถนน พร้อมจุดเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว การพัฒนาในเชิงพื้นที่ตามแนวเส้นทางคมนาคมเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน โดยเริ่มจากพื้นที่ในจังหวัดที่มีการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านจะต้องมีการพัฒนารองรับ การค้า การลงทุน ที่จะเกิดขึ้น และหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาคต่างๆ ก็จะต้องพัฒนาให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะต้องมีเมืองใหม่มารองรับการเจริญในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่ย้ายการลงทุนมากจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก และกระจายสินค้าในภูมิภาค หรือเมืองสำหรับให้บริการในด้านต่างๆ เช่น ด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น

การพัฒนาเชิงพื้นที่ในเมืองต่างๆ ตามแนวระบบคมนาคมนี้ จะทำให้เกิดการกระจายความเจริญเข้าสู่ภูมิภาคและเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

ในทางน้ำ ขอเสนอ Energy Bridge

ประเทศไทยมีพื้นที่ติดทะเลเป็นระยะทางยาวทั้งสองฝั่งทะเล รัฐบาลมีแนวทางที่จะลงทุนทำท่าเรือหลายแห่งเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมทางน้ำ แต่โครงการเพิ่มเติมที่เห็นว่าน่าจะเกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุดคือโครงการ Energy Bridge ที่จะทำท่อส่งน้ำมันเชื่อมต่อสองฝั่งของมหาสมุทร ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานอย่างถาวร

ปัจจุบันการขนส่งน้ำมันดิบทางเรือได้ใช้ช่องแคบมะละกา ที่ปัจจุบันมีความหนาแน่นมาก เป็นเส้นทางหลัก หากประเทศไทยทำ Energy Bridge จะช่วยให้ร่นระยะเวลาการขนส่งน้ำมันได้ถึง 3-4 วัน ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อย่างมาก ดังนั้น การขนส่งน้ำมันดิบจะมาใช้ Energy Bridge ของไทยอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้มีน้ำมันดิบผ่านประเทศไทยตลอดเวลา ปีละหลายล้านบาร์เรล

นอกจากนี้ Energy Bridge จะไม่ใช่แค่ท่อส่งน้ำมัน แต่จะมีโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่พร้อมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร ซึ่งจะสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศ จากเดิมที่ ปตท.มียอดขายปีละประมาณ 3 ล้านล้านบาท และธุรกิจปิโตรเคมีของไทยที่ปัจจุบันอยู่อันดับ 8 ของโลก ก็คงจะได้ไต่ขึ้นมาอยู่อันดับต้นๆ และโครงการดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางพลังงานในภูมิภาคอย่างแท้จริง โดยจะเป็นศูนย์กลางของน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า หลังจากที่มีข้อตกลงของอาเซียนในการเชื่อมต่อทางท่อก๊าซและเชื่อมต่อทางไฟฟ้าโดยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์อยู่แล้ว และยังจะช่วยแก้ปัญหาให้กับพี้นที่ภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบเพราะจะนำความเจริญเข้าสู่พื้นที่ อีกทั้งรายได้ส่วนหนึ่งของทุกโครงการในพื้นที่จะต้องถูกนำมาพัฒนาพื้นที่ในภาคใต้นี้

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเชื่อมต่อถึงการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนของภูมิภาค และแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการทำเกษตรโซนนิ่งเพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชพลังงานและพืชอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม ผลผลิตพืชพลังงานจะสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลและไบโอดีเซล เพื่อส่งออกร่วมกับน้ำมันที่กลั่นได้

อีกทั้งหน่วยธุรกิจของประเทศไทยยังสามารถไปทำคอนแทรกฟาร์มมิ่งในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อปลูกพืชพลังงาน ซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนของภูมิภาคด้วย

ทางอากาศ ขอเสนอการบริหารห้วงอากาศ

เมื่อพูดถึงการปรับปรุงระบบคมนาคมทางอากาศ คนส่วนใหญ่จะนึกถึง การสร้าง การปรับปรุง การขยาย สนามบิน แต่ความจริงก็คือ การพัฒนาห้วงอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน

ปัจจุบันประเทศไทยรองรับเที่ยวบินประมาณ 600,000 เที่ยวบินต่อปี และมีการขยายตัวปีละประมาณ 10% ทุกปี ซึ่งอีกไม่เกิน 10 ปี จะต้องรองรับเที่ยวบินถึงปีละ 1.2 ล้านเที่ยวบิน แต่ปัจจุบัน รูปแบบการจัดการแบบเดิมทำให้การบินหนาแน่นแล้ว หากไม่ปรับปรุงแก้ไขก็จะเป็นปัญหาในอนาคต

หากมองประเทศเยอรมนีที่เป็นศูนย์กลางการบินของยุโรป ปัจจุบันรองรับเที่ยวบินถึง 3 ล้านเที่ยวบินต่อปี ซึ่งวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าหากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน และด้วยความเจริญทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ โอกาสที่ไทยจะรองรับเที่ยวบินในปริมาณเดียวกันก็เป็นไปได้สูง ดังนั้น การแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสนามบินจึงเป็นสิ่งต้องเร่งดำเนินการ

การสำรวจพบว่า 90% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยใช้ระบบคมนาคมทางอากาศ ซึ่งหากมีปัญหาการรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นไม่ได้ก็จะส่งผลถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต


อุตสาหกรรมที่จะน่าเป็นอนาคตของประเทศไทยคือ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เกษตรแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ แฟชั่น พลังงานและพลังงานทดแทน ปิโตรเคมี เป็นต้น โดยประเทศไทยจะต้องโยกย้ายอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มน้อยและใช้แรงงานมากให้ไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน

ในขณะเดียวกันก็จะต้องย้ายแรงงานจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมให้เข้ามาสู่ภาคบริการเพื่อให้ได้รายได้เพิ่มขึ้นตามที่กล่าวมาแล้ว
ธุรกิจบริการที่น่าจะเป็นอนาคตของประเทศไทย เช่น การท่องเที่ยว ที่อาจจะเห็นนักท่องเที่ยว เฉพาะจากประเทศจีนและประเทศอินเดียที่มีประชากรมากและมีเศรษฐกิจพัฒนาขึ้น มาเที่ยวเมืองไทยถึงปีละ 50 ล้านคน ศูนย์กลางเมดิคัลฮับที่ไทยมีความชำนาญและมีบุคลากรพร้อมอยู่แล้ว ศูนย์กลางให้บริการทางการเงิน และเป็นศูนย์กลางตลาดทุน ศูนย์กลางการให้บริการทางพาณิชย์ เช่นการรับคำสั่งซื้อมากระจายการผลิตในภูมิภาค หรือการรับสินค้ามากระจาย ศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานและพลังงานทดแทน ศูนย์ให้บริการทางโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายสิบปีที่ตั้งไว้


นอกจากนี้ ยังมีอีกนโยบายสำคัญที่เป็นการแสดงวิสัยทัศน์อย่างยอดเยี่ยม ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิดไว้แล้วคือ การใช้เงินบาทเป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาค ซึ่งหากสามารถยกระดับเงินบาทให้เป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาคได้ ก็เหมือนกับว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมระบบการเงินในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังสามารถลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนให้กับภาคธุรกิจของไทย

ประเทศไทยยังจะสามารถให้เงินกู้ในรูปเงินบาทแก่ประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาประเทศ โดยอาจจะจัดตั้งกองทุนในรูปเงินบาทเพื่อพัฒนาเฉพาะด้าน เช่น กองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนพัฒนาพลังงานและพลังงานทดแทน เป็นต้น โดยหวังว่าเงินบาทจะถูกนำไปใช้เป็นเงินทุนสำรองสำหรับประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าเมื่อประเทศไทยพัฒนาไปมากและเริ่มมีภาวะถดถอย ประเทศไทยก็ยังสามารถที่จะออก QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนที่สหรัฐและญี่ปุ่นดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

การใช้เงินบาทเป็นเงินสกุลหลักในภูมิภาคยังเป็นตัวบังคับให้ประชาชนไทยจะต้องประพฤติปฏิบัติตัวให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมเพื่อให้ไม่กระทบกระเทือนต่อค่าเงิน จะมาสร้างความวุ่นวายแบบในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการที่จะต้องปรับวิธีคิดและการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทยให้ทันกับสถานการณ์เพื่อรองรับกับนโยบายนี้




ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หากประเทศไทยสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศของภูมิภาค ศูนย์กลางพลังงานและพลังงานทดแทน ศูนย์กลางการให้บริการในรูปแบบต่างๆ และมีเงินบาทเป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาคแล้ว เชื่อได้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีความเจริญมากที่สุด และจะเป็นศูนย์กลางการกระจายความเจริญของภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้การเตรียมพร้อมของประชาชนไทยเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างประเทศนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก การพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาทางความคิดเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะไม่สามารถพัฒนาได้เลย หากประชาชนไทยไม่พร้อม

ผู้เขียนเห็นว่า แนวทางทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยรัฐบาลที่มีแนวความคิดในการพัฒนาก้าวไปข้างหน้า และเป็นการพัฒนาต่อยอดจากการลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม

พรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการลงทุนนี้และยังจะมีแนวความคิดย้อนหลังจะกลับไปอาศัยอำนาจนอกระบบเพื่อแสวงอำนาจ ไม่น่าจะสามารถพัฒนาประเทศในแนวทางนี้ได้ น่าจะเปลี่ยนความคิดและหันมาแข่งกันคิดนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศน่าจะดีกว่ามาก



+++

ทำไมลาวยังไม่ได้สร้าง รถไฟความเร็วสูง?
โดย ธีรภัทร เจริญสุข  คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380255953
วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 11:49:47 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน ฉบับ พุธ 25 ก.ย.56 หน้า 20 )


วันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ของร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง หรืออีกชื่อคือ พ.ร.บ.สร้างอนาคตไทย 2020 ซึ่ง ส.ส. ก็ได้อภิปรายกันอย่างเข้มข้น
แต่มีข้อเท็จจริงสองประการที่ทั้ง ส.ส. สำนักข่าวและบุคคลทั่วไป ยังเข้าใจไม่ค่อยถูกต้อง คือการร่วมทุนกับเอกชน โดยเฉพาะเอกชนจากประเทศจีน และสภาพการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงกับ ส.ป.ป.ลาว ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน


เดิมทีนั้น โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในลาวโดยบริษัทเอกชนของจีน มีแผนเริ่มก่อสร้างในปี 2010 และจะแล้วเสร็จในปี 2014 โดยการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาว กับบริษัทเอกชนของจีน แต่เมื่อได้ดำเนินการสำรวจเส้นทางเพื่อสร้างรถไฟ พบว่า 2 ใน 3 ของเส้นทางจากแขวงซำเหนือถึงนครหลวงเวียงจัน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางเวียดนามที่เมืองวินห์ ต่อไปถึงชุมทางรถไฟที่เมืองหนานหนิงนั้น เป็นภูมิประเทศป่าเขาสูงชัน ต้องขุดอุโมงค์และทำสะพานกันต่อเนื่อง ส่งผลให้งบประมาณที่ประเมินกันว่า เดิมจะใช้งบก่อสร้างไม่ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ ทวีขึ้นเป็น 7,000 ล้านดอลลาร์ และรัฐบาลจีนก็ประสบปัญหา

การหาบริษัทเอกชนมาดำเนินโครงการตาม MOU ที่ทำไว้กับรัฐบาลลาว จนต้องตั้งข้อเสนอเพื่อความคุ้มทุนและรับประกันรายได้ของเอกชนในการก่อสร้างต่อรัฐบาลลาวล่าสุดในเดือนเมษายน 2013 ดังต่อไปนี้

ข้อแรก รัฐบาลลาวต้องค้ำประกันเงินกู้ทั้งหมดที่บริษัทเอกชนของจีนมาร่วมลงทุน 100%

ข้อสอง รัฐบาลลาวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ประการ คือ

1. ต้องตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารจัดการรายได้จากโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยมีสถานะเป็นลูกหนี้รัฐบาลจีน

2. ต้องจ่ายดอกเบี้ยหนี้สินในอัตรา 2% เป็นเวลา 30 ปี โดยมีระยะปลอดการชำระหนี้ (แต่ยังคิดดอกเบี้ย) 10 ปีแรก

3. รัฐบาลลาวต้องค้ำประกันเงินกู้ทั้งหมดด้วยทรัพย์สินของโครงการ รวมรายรับในอนาคตต่อรัฐบาลจีน ซึ่งหมายถึงที่ดินตลอดแนวทางรถไฟ

4. รัฐบาลลาวต้องค้ำประกันเพิ่มเติมด้วยรายได้จากเหมืองทองคำ 2 แห่งในแขวงเซโปน



เงื่อนไขดังกล่าวนั้นชวนให้คิดถึงสัญญาสร้างทางรถไฟที่บริษัทยูไนเต็ด ฟรุตส์ ของสหรัฐอเมริกาทำกับประเทศในเขตอเมริกากลาง ที่สร้างทางรถไฟให้แลกกับที่ดินตามแนวรถไฟ เพื่อนำไปปลูกกล้วย จนบริษัทสามารถแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศต่างๆ ตามอำเภอใจ เป็น "สาธารณรัฐกล้วย : Banana Republic" ซึ่งหากลาวยอมแลกแบบเดียวกัน คงไม่พ้นที่สองข้างทางรถไฟความเร็วสูง จะถูกตัดทำลายป่าเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา และถูกแทรกแซงจนกลายเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนยาง : Rubber′s People Democratic Republic" บ้างในไม่ช้า


รัฐบาลลาวจึงเปลี่ยนแนวคิดจากการพึ่งพาการลงทุนจากจีนฝ่ายเดียว มาเป็นการเปิดเจรจาร่วมกับไทยให้ช่วยต่อรองกับรัฐบาลจีน โดยมีการเจรจากันในการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วม ไทย-ลาว ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และแสวงหาการลงทุนเพิ่มเติมจากประเทศอื่น เช่น สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

โดยล่าสุด ได้มีแผนการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อสะหวันนะเขด-ลาวบาว เพื่อเชื่อมไปสู่ท่าเรือด่าหนัง (ดานัง) ของเวียดนาม โดยมีกลุ่มทุน ไจแอนท์ คอนโซลิเดต สัญชาติมาเลเซียและสถาบันการเงินริช แบงโก เบอร์ฮัดที่จดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เข้ามาลงนามข้อตกลงการสำรวจและก่อสร้างแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ความคืบหน้าทั้งหมดก็ยังต้องชะลออยู่ เพราะสิ่งสำคัญคือ แผนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของลาวไม่ว่าจะสายไหน ก็ต้องต่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟของไทย ลำพังเพียงแค่การขนส่งหรือโดยสารในลาว ซึ่งมีประชากรเพียง 6.5 ล้านคน ย่อมไม่อาจขยายตัวจนถึงจุดคุ้มทุนได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจหรือด้านเศรษฐกิจมหภาค


ดังนั้น "การร่วมทุนกับเอกชน" จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องมี "ค่าตอบแทน" ที่ต้องจัดหาให้อย่างคุ้มค่า ซึ่ง "ค่าตอบแทน" นั้น อาจจะมากกว่าผลที่ได้รับซึ่งผู้ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อนอาจไม่รู้และไม่เคยเข้าใจ



.