.
มาร์กซิสต์ที่ไม่มีชนชั้น
โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1378738264
วันจันทร์ที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 21:52:03 น.
( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 9 ก.ย.2556 )
ผมนับถือ อาจารย์ประเวศ วะสี เป็นอย่างยิ่ง แต่นับถือเฉพาะอาจารย์ประเวศคนเดียว ไม่รวมถึงสาวกจำนวนมากที่เกาะอาจารย์ประเวศไปสู่เงิน, อำนาจ, ตำแหน่ง หรือเกียรติยศ นั่นต้องว่ากันไปเป็นคนๆ
เป็นเวลาต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี ท่านอาจารย์ประเวศได้เสนอทางออกของประเทศไทย ที่ปลอบประโลมคนอึดอัดขัดข้องกับสภาพการณ์ต่างๆ ในเมืองไทย ให้รู้สึกว่าสภาพการณ์นั้นจะคลี่คลายไปได้ไม่ยาก เพียงแต่ทุกภาคส่วนในสังคมเดินก้าวข้ามมันไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเท่านั้น คำปลอบประโลมที่เต็มไปด้วยวาทศิลป์และองค์ความรู้ (ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงไม่มอบพระเกี้ยวทองคำแก่ท่าน ในฐานะผู้ใช้ภาษาไทยที่ทรงพลังได้ขนาดนั้น) แม้ไม่ทำให้สังคมไทยก้าวพ้นสภาพการณ์ที่น่าอึดอัดนั้นไปได้ แต่ก็ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยมองชีวิตด้วยความหวัง และอยู่ได้ในสภาพการณ์นั้นต่อไป
อาจารย์ประเวศคือนักปฏิรูปตัวจริง (อาจจะ) คนเดียวของไทย ที่ผลักดันการปฏิรูปต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ข้อเสนออันเปี่ยมด้วยความหวังของท่านมีพลังในสังคมไทยน้อยลงในระยะหลัง (สัก 1 ทศวรรษที่ผ่านมา) ทั้งๆ ที่เป็นข้อเสนอปฏิรูปที่ครอบคลุมกว้างขวางขึ้น (เช่น ไม่เน้นแต่เรื่องปัญหาสาธารณสุข หรือการเมืองในแบบ หรือการวิจัย ฯลฯ) และด้วยภาษาไทยอันดีเยี่ยมเหมือนเดิม... และทั้งๆ ที่เมืองไทยมีปัญหามากขึ้นและหนักขึ้น
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่าท่านอาจารย์ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่เมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว
ผมอ่านข้อเสนอปฏิรูปการเมืองของท่านอันหลังสุดด้วยความเข้าใจเช่นนั้น และโดยอาศัยข้อเสนอนั้น ผมอยากวิเคราะห์ให้เห็นว่า เหตุใดข้อเสนอที่แสนงามของท่านจึงมีพลังน้อยลงในสังคมไทย ผมไม่ปรารถนาจะวิพากษ์ข้อเสนอของท่านอย่างสาดเสียเทเสีย เพราะมีอะไรที่ถูกต้องอย่างปฏิเสธไม่ได้ในนั้นอยู่ไม่น้อย เช่น อย่าสับสนระหว่างการปรองดองกับการปฏิรูป เพราะปรองดองคือการแก้ไขอดีตซึ่งทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลย ในขณะที่ปฏิรูปคือการมองอนาคต (โดยไม่จำเป็นต้องลืมอดีต)
คำถามง่ายๆ ประการแรกที่มีต่อข้อเสนอของท่านก็คือ มีสังคมในรัฐสมัยใหม่ใดหรือ ที่เคยประสบความสำเร็จในการปฏิรูปตามแนวที่ท่านเสนอ ดูเหมือนท่านจะมีคำตอบอยู่แล้วในตอนท้าย เมื่อท่านกล่าวว่า หากประเทศไทยสามารถปฏิรูปตามแนวนี้ได้สำเร็จ ก็จะเป็นแบบอย่างให้ประเทศ อื่นๆ ได้เรียนรู้ แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งกำลังติดขัดและต้องการปฏิรูปเช่นกัน
ทำไมการปฏิรูปในแนวนี้จึงไม่เคยมีใครทำในโลกมาก่อน ด้วยสติปัญญาเท่าหางอึ่ง ผมคิดว่าก็เพราะสังคมในรัฐสมัยใหม่ไม่ได้เล็ก, แคบ, และบรรสานสอดคล้องในวิถีชีวิตเหมือนสังคมหมู่บ้านไงครับ จึงไม่สามารถชักชวนกวีประจำหมู่บ้าน, นักเศรษฐศาสตร์ทีดีอาร์ไอ, คุณบรรหาร ศิลปอาชา, และเอ็นจีโอ ฯลฯ มานั่งร่วมกันคิดถึงอนาคตที่ดีของประเทศได้ ชวนมานั่งร่วมกันนั้นง่าย แต่มาร่วมคิดในสิ่งเดียวกันนั้นยากหรือเป็นไปไม่ได้เอาเลย
ความฝันถึงอนาคตของคนเหล่านั้นต่างกันอย่างไม่สามารถประสานให้ลงรอยกันได้ ไม่ใช่เพราะมีใครบางคนในนั้นเห็นแก่ตัวนะครับ ทุกคนเห็นแก่ตัวพอๆ กันทั้งนั้น อนาคตสังคมของแต่ละฝ่ายจึงตั้งอยู่บนอคติที่มาจากผลประโยชน์ และอย่าได้คิดเป็นอันขาดว่า วิชาการใดๆ (ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์, รัฐศาสตร์, หรือศาสตร์อะไรก็ตาม) จะมีคำตอบที่สามารถก้าวข้ามพ้นอคติได้ วิชาการก็เป็นอคติอีกประเภทหนึ่ง ซ้ำเป็นอคติที่ถูกเกลาให้เนียนเสียจนหลอกนักวิชาการได้ว่ามันบริสุทธิ์
สังคมในรัฐสมัยใหม่มีความสลับซับซ้อน มีผลประโยชน์และอุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันเอง แม้แต่จะแยกระหว่างทรัพย์สินส่วนตัวกับทรัพย์สินสาธารณะ ก็มีเส้นแบ่งที่ต่างกันมาก มีระบบเกียรติยศที่มากกว่าหนึ่งระบบ คนที่ได้รับการยกย่องจากฝ่ายหนึ่ง จึงกลับถูกประณามจากอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีนโยบายเศรษฐกิจอะไรที่ตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย คิดไปเถิดครับ จะเห็นเหตุแห่งความขัดแย้งในสังคมประเภทนี้เต็มไปหมด
ความขัดแย้งและการต่อสู้ในวิถีทางต่างๆ เพื่อ "ต่อรอง" กับฝ่ายอื่น เป็นลักษณะสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ของสังคมในรัฐสมัยใหม่
ผมไม่ปฏิเสธว่า สังคมในรัฐสมัยใหม่ทุกแห่งมีองค์กรหรืออุดมการณ์บางอย่างที่ช่วยประสานฝ่ายต่างๆ ให้อยู่ร่วมกันได้ในความขัดแย้ง ที่สำคัญที่สุดคือชาติและศาสนา (ซึ่งกำหนดคุณค่าพื้นฐานบางอย่างอันเป็นที่ยอมรับ-อย่างน้อยด้วยปาก-จากทุกฝ่าย)
แต่ก็ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เสรีนิยมใหม่และโลกาภิวัตน์ทำให้องค์กรและอุดมการณ์ดังกล่าวมีพลังประสานน้อยลง ทุกคนรู้สึกตัวว่าเป็นคนไทย แต่ไม่ใช่คนไทยแบบมึง
การเอาลักษณะตายตัวของ "คนไทย" ไปครอบทุกคน เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว
ข้อเสนอชิ้นล่าสุดของท่านอาจารย์ ยังคงเหมือนข้อเสนออื่นๆ ซึ่งผ่านมาแล้ว นั่นคือปฏิเสธที่จะมองความขัดแย้งที่แฝงฝังเป็นส่วนหนึ่งของระบบ (inherent) ในสังคมสมัยใหม่ และรัฐสมัยใหม่ การปฏิเสธความขัดแย้งประเภทนี้ (คือมากกว่าเสื้อสี) ยิ่งทำให้ข้อเสนอของท่าน ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมไทยมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในเศรษฐกิจและสังคมไทยทำให้กลุ่มคนซึ่งเคยอยู่นอกความขัดแย้ง ได้แก่กลุ่มคนที่เรียกกันว่า "รากหญ้า" เข้ามาร่วมในความขัดแย้งอย่างเปิดเผยและเอาจริงเอาจัง ในขณะเดียวกัน กลุ่มผลประโยชน์อื่นเช่น ทหาร, ขุนนาง, เจ้าสัว, เสี่ยในต่างจังหวัด, คนงานคอปกขาว, สหภาพแรงงาน ฯลฯ ก็ยังต้องขัดแย้งกันอยู่ต่อไป แม้ว่าพวกเขามีกลไกการจัดการกับความขัดแย้งที่ได้ผลพอสมควร แต่กลไกนั้นไม่อาจใช้ได้เสียแล้ว เมื่อมีกลุ่มใหม่เข้ามาร่วมอย่างมโหฬารเช่นนี้
นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงประการแรกของสังคมไทย ซึ่งถูกละเลยไปในข้อเสนอปฏิรูปของท่านอาจารย์
ผมทราบดีว่า แนวทางส่วนตัวของท่านอาจารย์คือ ไม่ปล่อยตัวเข้าไปสู่ความขัดแย้งกับใคร และไม่ไปเสริมความขัดแย้งของคนอื่น นี่เป็นวัตรปฏิบัติส่วนตัวที่น่ายกย่อง แต่เป็นวัตรปฏิบัติที่เอามาใช้ในการวิเคราะห์สังคมไม่ได้ เพราะดังที่ผมกล่าวแล้วว่า ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมในรัฐสมัยใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้ อนาคตของสังคมไทยก็คงเหมือนสังคมอื่นทั่วโลก กล่าวคือเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับมันอย่างไรต่างหาก
หากมองจากแง่ความขัดแย้งในสังคมดังกล่าวข้างต้น พลเมืองที่กัมมันตะ (active citizen-ผมชอบคำแปลนี้จังเลย สมาสแบบไทยๆ เป็นกัมมันตพลเมืองจะได้ไหม?) ทำอะไรได้หลายอย่าง การเข้ามาร่วมปฏิรูปกับท่านอาจารย์ประเวศก็เป็นวิถีทางหนึ่ง แต่การยึดมัฆวาน, ทำเนียบ, สนามบิน, ราชประสงค์, แยกอนุสาวรีย์และดินแดง ฯลฯ ก็เป็นการแสดงความเป็นพลเมืองที่กัมมันตะเหมือนกันไม่ใช่หรือ
เขากัมมันตะกันไปตั้งนานแล้ว ซ้ำกัมมันตะอย่างที่เอ็นจีโอไม่ชอบเสียด้วย (เพราะแหล่งทุนไม่ชอบให้กัมมันตะแบบนี้) และนี่เป็นความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งของสังคมไทย ผมออกจะเชื่อด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงทั้งสองอย่างนี้ ถอยกลับไม่ได้แล้ว หมายความว่าไม่ว่าอนาคตของสังคมไทยจะเป็นอย่างไร คนระดับล่างได้กลายเป็นพลเมืองที่กัมมันตะไปแล้ว เขาจะไม่หยุดผลักดันนโยบายสาธารณะอย่างแน่นอน
ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงของสังคม-เศรษฐกิจไทย ทำให้ข้อเสนอของท่านอาจารย์ในเรื่องต่างๆ อ่อนพลังลงในระยะหลังๆ นี้ เพราะคนจำนวนมากเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง (อย่างน้อยก็ความเป็นจริงในชีวิตของตนเอง) ฟังไพเราะ แต่เอาไปทำอะไรไม่ได้มากนัก (แต่โดยส่วนตัวผมยังเห็นว่าฟังให้ดี ก็อาจเอาไปทำอะไรได้บ้างเหมือนกัน)
ปัญหาก็คือ จะมีพื้นที่แห่งการต่อรองโดยสงบในระบบการเมืองไทยตรงไหน ที่จะทำให้พลเมืองหน้าใหม่ที่กัมมันตะเหล่านี้ได้ใช้เพื่อต่อรองบ้าง แทนที่จะต้องยึดโน่นยึดนี่ให้เป็นข่าวเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าข้อเสนอปฏิรูปต้องคิดเรื่องนี้ให้หนักมากกว่าการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปเพียงอย่างเดียว
ว่าที่จริง ผมเห็นว่าความขัดแย้งนั่นแหละ นำไปสู่การปฏิรูปโดยตัวของมันเอง การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเกิดขึ้นในความขัดแย้ง ไม่ใช่ในที่ประชุมของคณะกรรมการปฏิรูประดับต่างๆ ฉะนั้นต้องเปิดเสรีความขัดแย้ง (อย่ากดมันไว้ด้วย "ความสามัคคี" อีก) มีเวทีแห่งความขัดแย้งหลายรูปแบบ การจัดให้เกิดพื้นที่สำหรับการต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน (ไม่เฉพาะแต่ในระบบการเมือง แต่ต้องรวมถึงการศึกษา, สื่อ, สังคม และวัฒนธรรมด้วย) ต่างหาก น่าจะเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป เพียงแต่ต้องทำให้เวทีความขัดแย้งมีกรอบซึ่งไม่นำไปสู่ความรุนแรง เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ผู้มีกำลังมักเลือกใช้กำลังในความขัดแย้ง อนาคตที่ดีของสังคมไทยเกิดขึ้นได้จากความขัดแย้งที่มีกรอบกติกา จนนำไปสู่ความลงตัวชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อสังคมเปลี่ยนไปอีก ก็ต้องขัดแย้งกันอีกเพื่อหาความลงตัวใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ภายใต้กรอบกติกาที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง แต่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ผมไม่ใช่คนแรกที่คิดว่าความขัดแย้งนำไปสู่การอภิวัฒน์ มีนักคิดจำนวนมากรวมทั้งคาร์ล มาร์กซ์ ที่คิดมาก่อนนานแล้ว แม้ท่านอาจารย์ประเวศมองข้ามความขัดแย้งในการปฏิรูปไปเลย แต่ท่านก็คิดเหมือนมาร์กซ์ว่า หากปฏิรูปสำเร็จจะกลายเป็นแบบอย่างให้แก่ทั้งโลก เหมือนการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ หากทำได้สำเร็จในสังคมใดสักแห่ง (มาร์กซ์คิดว่าน่าจะเป็นอังกฤษ) ก็จะเป็นแบบอย่างแก่ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกได้เรียนรู้และทำตาม
ชนชั้นเป็นกรอบอ้างอิงที่ขาดไม่ได้สำหรับวิเคราะห์ความขัดแย้งในทุกสังคมของมาร์กซิสต์ ไม่จำเป็นที่ท่านอาจารย์ต้องใช้กรอบอ้างอิงเดียวกัน แต่ความคิดที่จะสร้างแบบอย่างให้โลกเรียนรู้โดยไม่มองความขัดแย้งเลย จึงดูเหมือนเป็นมาร์กซิสต์ที่ไม่มีชนชั้น
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เคยมีบทความที่กล่าวถึง อาจารย์หมอประเวศ วะสี
..ฯลฯ.. อุดมการณ์สื่อ:..ถึง สสส. โดย ใบตองแห้ง
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/11/bt5tens.html
( ไทยอีนิวส์ : คานอำนาจสื่อ, อุดมการณ์สื่อ:..ถึง สสส. โดย ใบตองแห้ง )
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย