http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-09-27

เศรษฐกิจในมือที่สั่นของเฟด โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

.

เศรษฐกิจในมือที่สั่นของเฟด
โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ 
คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380276761
วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 21:30:08 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน  27 กันยายน 2556 )


ตําแหน่งประธานธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาเป็นที่สนใจอย่างมาก ปัจจัยสำคัญคงเป็นเพราะธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด มีบทบาทอย่างยิ่งยวดต่อตลาดหรือการเปลี่ยนแปลงของภาคการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาต้องพึ่งผลประโยชน์จากเฟดมากขึ้นเรื่อยๆ
ตลาดเข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดประธานคนใหม่ที่จะมาแทนศาสตราจารย์เบน เบอร์นันกี้ ถึงกับมีการเคลื่อนไหวทั้งในระดับการเมืองและระดับนักวิชาการที่คัดค้านมิให้ศาสตราจารย์ลอเรนซ์ ซัมเมอร์ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโอบามา

และซัมเมอร์ก็ต้องถอนตัวจากโอกาสนี้จริงๆ



การกำหนดผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปล่อยสภาพคล่องซื้อสินทรัพย์ประเภทพันธบัตรที่เรียกว่า QE ซึ่งมาตรการทางการเงินทั้งสองมาตรการนี้มีผลต่อภาคการเงินและเสถียรภาพของภาคการเงินที่จะส่งผลต่อเนื่องไปที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

โดยกระบวนการแห่งอำนาจหน้าที่แล้ว มาตรการดังกล่าวจะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการ FOMC ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 17 ท่าน ทว่ากรรมการเหล่านี้มีอิทธิพลและวาระเวลาไม่เท่ากัน กรรมการที่มีสิทธิออกเสียงและมีตำแหน่งประจำมี 3 ท่าน ที่เหลือต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทุกปี โดยส่วนที่หมุนเวียนกันนี้มีเพียง 4 ท่านที่มีสิทธิออกเสียง

และหนึ่งในสามท่านที่เป็นขาประจำก็คือ ประธานธนาคารกลางซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้นำของระบบธนาคารกลางนั่นเอง



วิกฤตเศรษฐกิจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงต้องพึ่งการทำงานของเฟด ทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤตและช่วงที่กำลังออกจากวิกฤต โดยต้นทุนจากการดำเนินนโยบายสภาพคล่องทั้งสองช่วงนี้จะตกอยู่ที่อนาคตอันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติแต่เสี่ยงต่อปัญหาใหม่อันได้แก่ปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง

ในช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพรม์ การล่มสลายของสถาบันการเงินหลายแห่งมาจากการขยายตัวของการก่อหนี้ที่ขยายตัวมากเกินกว่ามูลค่าสินเชื่อของภาคธนาคารที่ปรากฏให้เห็นในขณะนั้น
การล่มสลายนี้ทำให้ความต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในขณะการหมุนเวียนของสภาพคล่องล้มเหลวตามการทำงานที่ชะงักงันของระบบสถาบันการเงิน

เฟดจึงมีกลไกที่สำคัญเพียงกลไกเดียวที่สามารถเติมสภาพคล่องเข้าไปทดแทนส่วนที่ล่มสลายไปได้ และเฟดก็ได้ดำเนินบทบาทที่มีเหตุผลนี้ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นมาตรการที่ใช้กันเป็นปกติทั่วไป แต่ในระยะต้นนโยบายนี้ไม่ประสบผลสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟดจึงเพิ่มสภาพคล่องมากยิ่งขึ้นโดยต้องการให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับต่ำและยิ่งไปกว่านั้นก็คือต้องการให้ราคาสินทรัพย์ไม่ตกต่ำมากเกินไปจากภาวะฟองสบู่สินทรัพย์ที่แตกลง
นี่คือที่มาของมาตรการซื้อสินทรัพย์ที่เรียกว่า QE


การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการซื้อสินทรัพย์จึงเป็นการเติมสภาพคล่องเข้ามาทดแทนสภาพคล่องที่หดตัวไป

และเป็นมาตรการเติมสภาพคล่องจำนวนมหาศาล ที่ศาสตราจารย์เบอร์นันกี้ทำไปด้วยความรู้สึกที่ต้องดิ้นรนหาทางรอดให้ได้


ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว สภาพคล่องที่อัดฉีดเป็นจำนวนมหาศาลจึงเป็นภาระที่เฟดจะต้องทำให้ลดลง เพื่อประคับประคองให้ระบบการเงินไม่เข้าสู่ภาวะไร้เสถียรภาพ


ในช่วงออกจากวิกฤต สภาพคล่องยังมีความสำคัญแต่ก็เป็นช่วงที่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์เพราะช่วงระยะนี้อาจไม่นานเพียงพอต่อการดูแลสภาพคล่องให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจที่อาจเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว

ถ้าภาวะปกติมีความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามขนาดสภาพคล่องที่ล้นเกินและความต้องการสภาพคล่องที่ปกติจะต้องลดลง คนจนและคนชั้นกลางที่ขาดความสามารถในการปรับตัวก็จะต้องแบกรับภาระความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น 
ภาระนี้จะมีมากมหาศาลตามขนาดของสภาพคล่องที่เฟดปล่อยออกมาก่อนหน้านั้น

และหวังว่าโชคจะเข้าข้างให้เฟดรวมทั้งชาวบ้านชาวอเมริกันประมาณการสถานการณ์ในอนาคตไว้ได้อย่างถูกต้อง




ในทางทฤษฎี การถอนสภาพคล่องกลับ อาจไม่ใช่เรื่องซับซ้อน
และถ้ามีขนาดไม่มากเหมือนในตำรับตำรา การถอนสภาพคล่องค่อยดำเนินการเมื่อมีสัญญาณเงินเฟ้อก็ได้ และผลที่มีต่ออัตราดอกเบี้ยก็จะอยู่ในระดับที่รับได้เพราะสภาพคล่องที่ล้นเกินมีไม่มาก


ทว่าในทางปฏิบัติ เฟดไม่สามารถรู้อนาคตได้แน่นอนในขณะที่รอบนี้มีสภาพคล่องออกมามากมายมหาศาลโดยที่สถาบันทางการเงินยังทำงานไม่ปกติอย่างมาก ถ้าเกิดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อและการถอนสภาพคล่องจำนวนมหาศาลในช่วงเวลาอันสั้น จึงอาจนำไปสู่ปัญหาความไร้เสถียรภาพอย่างหนักได้

ในอดีต เฟดเคยเรียนรู้มาก่อนบ้างแล้วว่าการแก้ไขภาวะเงินเฟ้อนั้นยากเพียงใด หากทว่ายังไม่เคยมีประสบการณ์ในการลดสภาพคล่องจำนวนมากมายมหาศาลมาก่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะต้องลดให้อยู่ในระดับปกติภายในระยะเวลาที่ไม่นานนัก

การถอนปริมาณสภาพคล่องที่มาจากขนาดสินทรัพย์ที่เฟดถือครองจำนวน 3.66 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในขณะนี้ เทียบกับขนาดสินทรัพย์ของเฟดช่วงก่อนวิกฤตจำนวน 5-8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นเรื่องเครียดสำหรับเฟดถ้าไม่มีการค่อยๆดำเนินการล่วงหน้า


ทุกคนจึงต้องมุ่งส่งสายตาไปที่เฟด ตั้งแต่ผู้ที่ยังต้องการให้เฟดช่วยฟื้นเศรษฐกิจให้มีการจ้างงานมากๆ จนกระทั่งผู้ที่ห่วงภาวะเงินเฟ้อที่อาจสร้างความเสี่ยงในอนาคต แม้กระทั่งประเทศต่างๆ ที่ห่วงว่าเงินทุนที่เคยไหลเข้าประเทศตนอาจต้องไหลกลับออกไป

เศรษฐกิจจึงเปรียบเสมือนอยู่ในมือของเฟดซึ่งมีบทบาทครอบงำระบบการเงินและการถือครองสินทรัพย์มากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ซึ่งในระยะต่อไป เฟดต้องมีวิสัยทัศน์ และมีมือที่ปรับนโยบายการเงินด้วยความมั่นใจได้



ทำเนียบขาวนั้นคงเริ่มเป็นห่วงสถานการณ์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งจะมีความหมายต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป จึงต้องการผู้ที่ห่วงปัญหาเงินเฟ้อและไม่เน้นปัญหาที่ใกล้จะผ่านไปด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องมากจนสร้างปัญหา

ในขณะที่ตลาดยังต้องการมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนเพียงพอและไม่ต้องการให้ราคาหุ้นและราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่ตนเองลงทุนไปแล้วตกลงตามต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มสูงขึ้น

ตลาดและนักวิชาการที่ห่วงภาวะการว่างงานและการไม่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเพียงพอจึงไม่แปลกที่ไม่อยากได้ศาสตราจารย์ซัมเมอร์ผู้มีบุคลิกเฉพาะ แต่อยากได้ศาสตราจารย์แจนเนท เยนเลน ที่สนับสนุนมาตรการสภาพคล่องกระตุ้นการจ้างงานคล้าย (แต่หนักกว่า) ศาสตราจารย์เบอร์นันกี้



ในช่วงไม่นานมานี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าราคาสินทรัพย์ประเภทหุ้นและที่อยู่อาศัยเริ่มมีลักษณะอาการบางอย่างคล้ายฟองสบู่หรือมีราคาเกินระดับของปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น กรรมการเฟดก็ยอมรับมากขึ้นว่ามาตรการ QE ต้องมีระยะสิ้นสุด การประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมว่าเฟดอาจต้องเริ่มลดการซื้อสินทรัพย์ก่อนสิ้นปีจึงเป็นเรื่องที่เราเข้าใจความลำบากใจและการส่งสัญญาณที่สับสนของเฟดได้ ทั้งๆ ที่เมื่อตอนสิ้นปีที่ผ่านมา เฟดเองเพิ่งเพิ่มปริมาณการซื้อสินทรัพย์ตามโครงการ QE3 (ที่เรียกว่า QE Infinity) เป็น 85,000 ล้านเหรียญต่อเดือน

โครงการลดทอนขนาดของการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ที่คาดหมายกันว่าจะเริ่มต้นในเดือนกันยายนนี้แต่ต้องเลื่อนออกไปจึงเป็นครั้งที่สองที่เฟดสร้างความแปลกใจในเรื่องความไม่คงเส้นคงวาของเฟด


ความไม่แน่นอนของนโยบายที่เฟดส่งสัญญาณสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลงตัวทางความคิดของคณะกรรมการ FOMC ของเฟด ทั้งที่คณะกรรมการชุดนี้ส่วนใหญ่สนับสนุนมาตรการ QE แบบที่ไม่ถึงกับสุดซอยของเบอร์นันกี้


การถอนมาตรการซื้อสินทรัพย์จะราบรื่นถ้าเป็นการค่อยๆถอนซึ่งการเริ่มต้นเร็วย่อมหมายถึงการมีเวลาดำเนินการที่นานขึ้นและสร้างต้นทุนความเสี่ยงที่น้อยลงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่ไม่ลื่นของเฟดอาจมีมากขึ้นตามระดับความยากของการถอนมาตรการในยุคที่ภาคการเงินต้องพึ่งการตัดสินใจของเฟดและประชาชนได้เสพติดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและราคาสินทรัพย์ที่สูงมาอย่างยาวนานแล้ว

คณะกรรมการ FOMC ที่จะหมุนเวียนเข้ามาปีหน้านี้และต้องการหั่นมาตรการซื้อสินทรัพย์จะมีสามจากสี่ท่านซึ่งจะทำให้โครงสร้างเสียงก้ำกึ่งกันอย่างมาก
และถ้าศาสตราจารย์เยนเลนที่สนับสนุนมาตรการซื้อสินทรัพย์อย่างมากเป็นประธานแทน ก็จะเพิ่มความแตกต่างทางความคิดภายในคณะกรรมการนโยบายการเงินนี้ซึ่งจะมีผลต่อความไม่แน่นอนในการตัดสินใจของเฟด

นี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่บางคนอยากเห็นความคิดสายกลางในคณะกรรมการชุดนี้
ดังตัวอย่างเช่นที่นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ อยากเห็นการต่อวาระให้เบอร์นันกี้อีกเพื่อความราบรื่นในการแก้ไขวิกฤต (ซึ่งอาจสายไปแล้วสำหรับประธานาธิบดีโอบามา)


และที่สำคัญคือทำให้แผนการลดทอนการซื้อสินทรัพย์จำเป็นต้องเริ่มให้เร็วและชัด



.