http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-09-23

นิธิ : เกาะเสม็ดในลูกโลกสีเขียว

.

เกาะเสม็ดในลูกโลกสีเขียว 
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1379940140
วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 21:30:39 น.
( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 23 ก.ย. 2556 )


ผมไม่เคยคิดว่า ปตท.เป็นบริษัทที่มีประวัติดีในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนั่นคือเหตุผลที่โฆษณาของบริษัทต้องเน้นแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม

แม้กระนั้น ผมก็ไม่เข้าใจปฏิกิริยาของคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่มีต่ออุบัติการณ์น้ำมันรั่วจนกระทบเกาะเสม็ด จะเว่อร์ไปหน่อยหรือไม่ เว่อร์บ้างก็ไม่เป็นไรนะครับ คนเราควรมีโอกาสเว่อร์บ้างเป็นครั้งคราว อย่างน้อยก็เพื่อสร้างอัตลักษณ์ตัวเองให้ชัดขึ้น แต่ถ้าเราเอาแต่เว่อร์อย่างเดียว จะหาคนรับผิดชอบไม่ได้ หรือถึงหาได้ เขาก็รับผิดชอบไม่ทั่วถึง


น้ำมันรั่วในการขนถ่ายเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีฝ่ายใดอยากให้เกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นบ่อยทั่วโลก อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุสองอย่าง หนึ่งคือพระเจ้าสาปหรือซวย พูดให้ฟังดูน่าเชื่อถือขึ้นก็คือเกินขีดความสามารถมนุษย์จะควบคุมได้ตลอดไป และสอง เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อ

ถ้าเป็นประการหลัง ก็ต้องสืบสวนสอบสวนให้ได้ความว่า ใครเลินเล่อ และจะพบเสมอว่า คนไม่ได้เลินเล่อ หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นฝ่ายเดียวที่เลินเล่อ แต่ระบบต่างหากที่เลินเล่ออย่างไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง

ในกรณีน้ำมันรั่วครั้งนี้ ปตท.ได้จัดการสืบสวนแล้วพบว่า มีเหตุมาจากท่ออ่อนท่อแข็งอะไรสักอย่างที่ต้องใช้ในการขนถ่ายน้ำมันเข้าแท็งก์เกิดฉีกขาด และด้วยเหตุดังนั้น ปตท.จึงมีแผนที่จะเปลี่ยนท่อดังกล่าว จากอ่อนไปหาแข็ง หรือจากแข็งไปหาอ่อน (ผมก็ฟังไม่รู้เรื่อง) เพื่อจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก

กลายเป็น วัสดุเป็นผู้ก่ออุบัติเหตุ

ถามว่าถึงที่สุดของการสอบสวนที่สมควรหรือยัง ผมคิดว่ายัง เพราะความรู้เพียงเท่านี้แก้ได้แต่เปลี่ยนวัสดุ ทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ต้นเหตุจริงอาจไม่ได้อยู่ที่วัสดุเพียงอย่างเดียว


การสอบสวนน่าจะไปถึงคำถามว่า ปตท. (ผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบการขนถ่ายน้ำมัน) เคยรู้มาก่อนหรือไม่ว่า ท่อประเภทนี้อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลในการขนถ่ายน้ำมันได้ง่าย ถ้าบอกว่าไม่รู้ ก็ต้องถามว่าทำไมไม่รู้ ในเมื่อประสบการณ์การขนถ่ายน้ำมันมีอยู่ทั่วโลก ไม่เคยสนใจศึกษามาก่อนเลยหรือ จึงเพิ่งมารู้เมื่อน้ำมันรั่วไปแล้ว (และก็รู้ได้เร็วมาก จนน่าเชื่อว่าความรู้นั้นต้องแพร่หลายอยู่พอสมควรแล้ว)

หากทำงานโดยไม่สนใจจะรู้อะไรที่ต้องรู้อย่างนี้ ยังสมควรทำงานต่อไปหรือไม่


หากตอบว่ารู้อยู่แล้ว ก็ต้องถามว่า ถ้าอย่างนั้นเหตุใดจึงตัดสินใจใช้ท่อที่อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลได้ง่าย หรือท่อนั้นมีอายุการใช้งานแล้วไม่เปลี่ยนตามกำหนด ถ้าฝ่ายขนถ่ายน้ำมันรู้ แต่ฝ่ายบริหารไม่รู้ ก็แสดงว่าระบบการทำงานของบริษัทใช้ไม่ได้ เพราะข่าวสารข้อมูลไม่ไหลภายในบริษัทอย่างสะดวก จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรก็ทำเสีย แค่เปลี่ยนท่ออย่างเดียวไม่ประกันว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก

หากฝ่ายบริหารก็รู้ แต่ตัดสินใจใช้ท่อที่มีข้อบกพร่องอย่างนี้ หรือไม่อนุมัติให้เปลี่ยนท่อตามกำหนด ทำไมถึงตัดสินใจอย่างนั้น ถ้าพบว่าเหตุผลของการตัดสินใจคือผลกำไรของบริษัทและเงินปันผลผู้ถือหุ้น เรื่องก็ใหญ่มากขึ้น เพราะนี่เป็นระบบการบริหารธุรกิจของเสรีนิยมใหม่ ซึ่งรัฐและสังคมต้องเข้าไปควบคุมมิให้ผู้บริหารรับใช้แต่ผู้ถือหุ้น โดยไม่รับใช้สังคมเลยไม่ได้ (ไม่ว่าผู้บริหารจะเชื่อว่ามี "สังคม" อยู่จริงหรือไม่ก็ตาม)
และการนำประเทศไปสู่รัฐเสรีนิยมใหม่นั้นมีอันตรายแค่ไหน ประชาชนก็จะได้เห็นถนัดขึ้น และเพิ่มความระมัดระวังการทำเอฟ ที เอ อย่างมืดบอดไปพร้อมกัน (เพราะนี่ขนาดเป็นบริษัทไทยนะครับ)



การสอบสวนนี้อาจทำให้ต้องปลดผู้บริหารหรือพนักงานบางส่วนที่รับผิดชอบออก จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อการลงโทษเท่ากับการทำให้ตัวระบบประกันความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น เพราะผมเชื่อว่าตัวระบบนั่นแหละ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าคน (นับตั้งแต่โรงงานลูกชิ้นขึ้นไปถึง ปตท.)

ผมจึงเห็นว่า เว่อร์ก็เว่อร์ได้ แต่ต้องเว่อร์อย่างมีสติ เหลือส่วนที่ไม่เว่อร์ไว้กดดันไปสู่ความรู้และการแก้ปัญหาให้สังคมโดยรวมไว้ด้วย กดให้ถูกจุด ทั้งเว่อร์ๆ อย่างนี้แหละครับ


สิ่งที่ ปตท.ทำหลังอุบัติเหตุต้องถือว่าฉลาดมาก (คือมากกว่าสังคมไทยและนักเว่อร์ครับ) นั่นคือขมีขมันรับผิดชอบกับสองส่วน คือสิ่งแวดล้อม และคนที่ได้รับผลกระทบ ปตท.จะทำเพื่อรักษาภาพพจน์ทางธุรกิจของตนอย่างไรก็ช่างเถอะ ควรได้รับการสนับสนุนชมเชย (โดยหลักการ) แต่ทำแล้วได้ผลอย่างไร ปตท.เป็นคนบอกให้เรารู้ว่าได้ผลดีมากเลย

ปตท.บอกโดยสองช่องทาง หนึ่งคือโฆษณาของบริษัท ซึ่งย่อมไม่น่าเชื่อถือนักเป็นธรรมดา แต่ทางที่สองคือแทรกเข้าไปในข่าวของสื่อประเภทต่างๆ อันนี้ฟังดูน่าเชื่อถือกว่ากันแยะเลย แต่คิดอีกทีก็ดูแปลกๆ  เช่น ตอนเกิดเรื่องขึ้น มีการสัมภาษณ์ชาวประมงท้องถิ่น ที่ไม่สามารถออกจับปลาได้ เพราะไม่มีตลาดรับซื้อ ครั้นเมื่อ ปตท.เอาเงินไปชดเชยค่าเสียหายซึ่งก็เป็นข่าวใหญ่อีกเหมือนกัน ไม่เห็นมีใครกลับไปสัมภาษณ์ชาวบ้านอีกว่า เงินนั้นพอชดเชยค่าเสียหายหรือไม่ และปัจจุบันกับอนาคตการทำกินของเขาเป็นอย่างไร ชาวบ้านหายตัวไปจากข่าวพร้อมกับเงินชดเชยเสียเฉยๆ อย่างนั้น

ในส่วนสิ่งแวดล้อม ก็มีข่าวการระดมกำลังทั้งจาก ปตท.และหน่วยงานของรัฐไปล้างชายหาดและทะเลกันยกใหญ่ ได้ผลอย่างไร ปตท.เป็นคนบอกว่า ฟื้นธรรมชาติกลับคืนมาได้แล้ว ไชโย แต่ไม่มีหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ (ซึ่งน่าจะมีคนและเครื่องไม้เครื่องมือดีกว่าองค์กรพัฒนาเอกชน) ออกมาศึกษาประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน แล้วรายงานให้ประชาชนได้รับรู้เลย
โดยสรุปก็คือ การออกมารับผิดชอบและแก้ปัญหาของ ปตท.นั้น ไม่มีการตรวจสอบที่ดีพอ เพราะ ปตท.เป็นคนตรวจสอบเอง และรายงานเอง ผมคิดว่าเราควรเว่อร์ไปและกดดันรัฐและสื่อให้ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ไปอย่างเป็นกลาง (แม้ยังรับเงินโฆษณาของ ปตท.อยู่ก็ตาม)


ความรู้ที่ได้จาก ปตท.และการตรวจสอบที่เป็นกลาง จะมีประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง เพราะสักวันหนึ่งก็จะต้องเกิดอุบัติเหตุต่อสิ่งแวดล้อมอีกจนได้ - - เราจะพัฒนาดรรชนีชี้วัดการฟื้นตัวของธรรมชาติและชีวิตผู้คนซึ่งเป็นของพื้นถิ่นประเทศไทยเอง เราจะรู้ว่าผลกระทบที่ผู้คนได้รับจากการเปลี่ยนระบบนิเวศนั้นมีอะไรบ้าง เกิดมาตรฐานที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในชีวิตผู้คนมากขึ้นว่า การชดเชยเยียวยาต้องทำแก่อะไรบ้าง - อย่าลืมว่า จะชอบหรือไม่ก็ตาม เรากำลังเปลี่ยนระบบนิเวศใหญ่บ้างเล็กบ้าง เพื่อการ "พัฒนา" อีกมาก - แต่ทั้งหมดนี้จะได้มาก็ต้องไม่เว่อร์เพียงอย่างเดียว ต้องมีสติเหลือไว้สำหรับผลักดันไปสู่ความรู้ที่สร้างสรรค์เหล่านี้ไปพร้อมกัน

จะคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวดีหรือไม่ ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า คุณไปรับมันมาทำไมแต่แรก คุณไม่รู้หรือว่า ปตท.ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลนี้ทำอะไรอยู่ คุณเห็นชอบกับการกระทำของ ปตท.ที่ผ่านมาหรือ ถ้าอย่างนั้นก็ควรยอมรับด้วยว่า กิจการของ ปตท.ย่อมเสี่ยงต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับตั้งแต่การสำรวจ, ขุด, ขาย และใช้

แต่ก็อย่างที่กล่าวข้างต้นนะครับ อยากคืนก็คืน อย่างน้อยก็เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตัวเอาไว้ แต่แค่นั้นไม่พอหรอกครับที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ดีไว้จากบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น ปตท.
เรากำลังเผชิญกับปัญหาการทำกำไรอย่างมโหฬารจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ที่มุ่งจะแย่งยื้อทรัพยากรทุกชนิด (รวมแม้แต่รัฐและชาติ) ไปหากำไร โดยไม่คำนึงถึงชีวิตผู้คน และสิ่งแวดล้อม


มีอะไรที่เราต้องร่วมกันทำมากกว่านี้อีกมาก นอกจากคืนรางวัล



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.