http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-17

ไทยอีนิวส์ : คานอำนาจสื่อ, อุดมการณ์สื่อ:..ถึง สสส. โดย ใบตองแห้ง

.

ไทยอีนิวส์ : คานอำนาจสื่อ
โดย "ใบตองแห้ง" (บทความ-เนื่องในวาระครบรอบ 5 ปีของไทยอีนิวส์ )
จาก http://www.prachatai.com/journal/2011/11/37855 . . Mon, 2011-11-14 19:27
ภาพประกอบ:Gag Las Vegas

รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการติดต่อจากสำนักข่าวไทยอีนิวส์ให้เขียนลงในวาระครบรอบ 5 ปี เพราะไทยอีนิวส์เป็นเว็บไซต์ที่ผมติดตามอ่านอยู่เสมอเพื่อตรวจสอบตรวจทานข่าวสารที่ได้รับจากสื่อกระแสหลัก

ในทัศนะของผม ไทยอีนิวส์เป็น “เว็บเสื้อแดง” คือไม่ได้ “เป็นกลาง” แต่ “เลือกข้าง” แล้ว กระนั้นก็เป็นการเลือกข้างอย่างมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และมีความสามารถในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน จนมีผลงานชิ้นโบแดงมาหลายครั้ง เท่าที่จำได้ประทับใจก็เช่น ไทยอีนิวส์เป็นสำนักข่าวเดียวที่ตรวจจับการกระทำความผิดโฆษณาขายหุ้น NBC ในเครือเนชั่นเกินจริง ซึ่งน่าเสียดายว่าถ้าเนชั่นไม่ใช่สื่อทรงอิทธิพล หรือถ้าไทยอีนิวส์เป็นสื่อกระแสหลักด้วยกัน ไม่ใช่แค่เว็บไซต์ กลต.ก็คงดำเนินคดีถึงที่สุดไปแล้ว

หรืออย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่ “เอิน” กัลยกร วิจารณ์ยิ่งลักษณ์ ไทยอีนิวส์ก็ขุดคุ้ยมาแฉว่าที่แท้เธอคือลูก ผอ.ASTV “ลูกอำมาตย์รักชาติ ”

ข่าวสารทำนองนี้แหละที่ทำให้ผมต้องเปิดไทยอีนิวส์อ่านเพื่อตรวจทานอยู่เสมอๆ


ถ้าถามว่าไทยอีนิวส์ลำเอียงหรือไม่ คำตอบของผมคือไทยอีนิวส์เป็น “กระบอกเสียงอิสระของมวลชนเสื้อแดง” คำที่มีนัยสำคัญคือ “อิสระ” และ “มวลชน” เพราะแม้ไทยอีนิวส์ตอบโต้แก้ต่างให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ ทักษิณ หรือแกนนำเสื้อแดงอยู่บ่อยๆ (รวมทั้งแสดงความเกลียดชังเป็นศัตรูกับอำมาตย์ สลิ่ม และพรรคแมลงสาบอย่างโจ่งแจ้ง) แต่เท่าที่ตามอ่านมาหลายปี ก็มีหลายครั้งที่ไทยอีนิวส์วิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.

แม้การวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายเดียวกันจะไม่มากนัก เข้าใจว่าไทยอีนิวส์ต้องการรักษาขบวนไว้เป็นสำคัญ แต่ก็เป็นด้านที่สะท้อนให้เห็นว่าไทยอีนิวส์มีความเป็น “อิสระ” เป็นผู้สนับสนุน-แต่ไม่ได้ขึ้นต่อแกนนำ นปช.ไม่ได้ขึ้นต่อพรรคเพื่อไทย หรือรับท่อน้ำเลี้ยงจากทักษิณ ฉะนั้น ทัศนคติของไทยอีนิวส์ถ้าจะเอียงข้าง ก็สะท้อนทัศนคติของมวลชนเสื้อแดงอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ทัศนคติที่เอียงไปตามผลประโยชน์นักการเมือง

ยกตัวอย่างง่ายๆ คือผมเห็นว่าไทยอีนิวส์ชื่นชมนักคิดนักต่อสู้อย่างจักรภพ เพ็ญแข, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มากกว่าทักษิณ,จตุพร, ณัฐวุฒิ

นั่นสะท้อนถึงจุดยืนของไทยอีนิวส์ ที่มุ่งมั่นจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ปลอดการแทรกแซงของอำนาจพิเศษนอกระบบ ไทยอีนิวส์ยืนอยู่ข้างมวลชนที่ต้องการต่อสู้ถึงที่สุด ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งต่างกับนักการเมืองที่ต้องการเพียงได้อำนาจ ไทยอีนิวส์ให้ความรู้กับผู้อ่านตั้งแต่การปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 ยกย่องเชิดชู อ.ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร มาจนถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในช่วง 14 ตุลา2516 ถึง 6 ตุลา 2519 และสนับสนุนข้อเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 ตลอดจนการลบล้างผลพวงรัฐประหารของนิติราษฎร์ (ซึ่งไม่ใช่ว่าฝ่ายการเมืองจะยอมเอาด้วยใน 2 ประเด็นนี้)

นี่คือสิ่งที่ผมชื่นชมไทยอีนิวส์ในฐานะ “สื่อเสื้อแดง” ที่ไม่ต้องเสแสร้งเป็นกลาง แต่มีความแตกต่างและมีจุดยืนของตัวเอง นอกจากนี้ หลายๆ ครั้ง ไทยอีนิวส์ยังกล้าพูดความจริงทั้งที่ปล่อยไปก็จะส่งผลทางการเมืองมากกว่า เช่น ตอนที่สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ถูกจับ มีการอ้างว่าเพราะอ่านบทกวีที่สมัคร สุนทรเวช เขียนไว้ก่อนตาย แต่ไทยอีนิวส์แย้งทันทีว่าไม่ใช่ อย่าเข้าใจผิด เป็นบทกวีของจักรภพ เพ็ญแข ต่างหาก


บทบาทของไทยอีนิวส์ด้านสำคัญ ได้แก่การตรวจสอบสื่อกระแสหลัก ทั้งตอบโต้ แฉเบื้องหลัง และเปิดโปงพฤติกรรมสื่อ ซึ่งบางครั้งอาจถูกมองว่าไทยอีนิวส์อคติ ปลุกความเกลียดชัง แต่ผมว่าไม่เป็นไร เพราะสื่อกระแสหลักที่มีอคติและปลุกความเกลียดชังก็ควรจะโดนเสียบ้าง เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจพวกเขาด้วย

ผมมาจากสื่อกระแสหลัก แม้เคยทำแต่หนังสือพิมพ์ฉบับเล็กๆ แต่ก็มีเพื่อนมีน้องอยู่ค่ายใหญ่หลายค่าย จึงเห็นว่าความเข้าใจของมวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าสื่อกระแสหลักเป็นปรปักษ์ประชาธิปไตยเพราะได้ผลประโยชน์นั้นไม่จริง ถ้าจริงก็แค่ตัวเจ้าของสื่อ แต่ที่เห็นและเป็นอยู่มันคือทัศนคติของสื่อ ตั้งแต่บรรณาธิการข่าว หัวหน้าข่าว รีไรเตอร์ ลงมาจนถึงนักข่าวพื้นที่


ทำไมสื่อกระแสหลักจึงเป็นไปอย่างนั้น ในทัศนะผม สื่อเป็น “ฐานันดรที่สี่” เป็นอภิสิทธิ์ชนผู้ทรงอิทธิพล และเป็น “อำนาจพิเศษ” อย่างหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งต้องการคงอำนาจที่จะแทรกแซงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไว้ตลอดไป ไม่ต่างจากอำมาตย์

สื่อไทยมีบทบาทต่อต้านเผด็จการและต่อสู้เพื่อประชาธิปไคยอย่างเข้มแข็งมาตั้งแต่อดีต ในยุคของบรรพชนอย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์, อารีย์ ลีวีระ, อิศรา อมันตกุล, อุทธรณ์ พลกุล ฯลฯ ซึ่งสร้างเกียรติยศศักดิ์ศรีของคนหนังสือพิมพ์ไว้เป็นมรดกตกทอดให้คนรุ่นหลัง 14 ตุลา สื่อก็มีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มเผด็จการ แม้หลัง 6 ตุลา 2519 รัฐบาลหอยโดยสมัคร สุนทรเวช ใช้ ปร.42 ปิดหูปิดตาปิดปากสื่อ แต่ก็ปิดกั้นพัฒนาการสังคมไม่ได้ เมื่อรัฐบาลหอยถูกรัฐประหาร เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ธุรกิจหนังสือพิมพ์ก็เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม สื่อมีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์จนกระแสสังคมปฏิเสธ พล.อ.เปรมไม่ให้เป็นนายกฯอีก แต่ก็สื่ออีกนั่นแหละที่ตั้งฉายารัฐบาลชาติชายว่า บุฟเฟต์คาบิเนต จนถูก รสช.แล้วสื่อก็มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสุจินดา “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

พฤษภา 35 ได้ยกฐานะของฐานันดรที่สี่ขึ้นมาเป็นอำนาจชี้นำสังคม เป็นตัวแทนของพลังคนกรุงคนชั้นกลาง หรือ “ม็อบมือถือ” ตั้งแต่การแบ่งแยก “พรรคเทพ” “พรรคมาร” เย้ยหยันสมบุญ ระหงษ์ แต่งชุดขาวรอเก้อ ไปจนสุทธิชัย หยุ่น ตั้งรัฐบาลทางโทรทัศน์ ในคืนที่รู้ผลการเลือกตั้ง โดยใช้บทบาทสื่อผูกมัด “พรรคเทพ” ให้ร่วมกันสนับสนุนชวน หลีกภัย

จาก 2535 ถึง 2544 สื่อเป็นตัวแทนคนกรุงคนชั้นกลาง ทำหน้าที่ล้มรัฐบาลที่คนชนบทเลือกมา ตามทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ตั้งแต่รัฐบาลชวน กับกรณี สปก.4-01 รัฐบาลบรรหาร กรณีกลุ่ม 16 แบงก์บีบีซี และสัญชาติเตี่ย รัฐบาลชวลิต กับกรณีลดค่าเงินบาทและชูธงเขียวรับร่างรัฐธรรมนูญ 40 และรัฐบาลชวน 2 ซึ่งตอนแรกได้รับการโห่ร้องต้อนรับ แต่จบลงด้วยฉายา “ช่างทาสี” และ “ปลัดประเทศ”

ในภาพรวม ถือว่าสื่อได้ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้มีอำนาจตามบทบาทที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย จากต่อสู้เผด็จการมาถึงตรวจสอบนักการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบรัฐบาลทักษิณ ตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2549 หรือแม้แต่ไล่ทักษิณ ในฐานะผู้นำที่เหลิงอำนาจและสอบตกทางจริยธรรม ก็เป็นการทำหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย



แต่สื่อเปลี่ยนไป เมื่อเห็นว่าทักษิณได้คะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้ง จนยากที่จะล้มรัฐบาลตามระบอบ สื่อหันไปร่วมมือกับขบวนการให้ร้ายป้ายสี ม็อบสนธิสวนลุม ทั้งที่ตอนแรก เถ้าแก่เปลวของผมด่าสนธิเองว่า “แปลงสถาบันเป็นอาวุธสื่อร่วมมือกับพันธมิตร สร้างกระแส ม.7 ขอนายกพระราชทาน แล้วก็เตลิดเปิดเปิงกระทั่งสนับสนุนรัฐประหาร (อย่างเต็มอกเต็มใจไม่ต้องเอาปืนจี้) โดย 3 นายกสมาคมสื่อ พร้อมใจเข้าไปเป็น สนช.

หลังจากนั้นไม่ต้องพูดถึง สื่อกระแสหลักเลือกข้างเต็มตัว ช่วยสร้างกระแสความชอบธรรมให้พันธมิตร ยึดทำเนียบยึดสนามบินเป็นการใช้สิทธิประชาธิปไตยของประชาชน แม้เกินเลยไปบ้างต้องให้อภัย แต่ยึดราชประสงค์เอาไว้ไม่ได้ 7 ลาเป็นการปราบปรามประชาชน 19 พฤษภาเป็นการรักษาความสงบของประเทศ

ถามว่าทำไมสื่อจึงเปลี่ยนบทบาทจากผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จากกลไกที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในสังคมประชาธิปไตย ไปเป็นปรปักษ์ประชาธิปไตย ผมคิดว่าสื่อยึดติดในบทบาทและอำนาจของตัวเอง พูดง่ายๆ ว่าสื่อเคยชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ สังคมก็คล้อยตาม สื่อล้มรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย แต่ล้มทักษิณไม่ลง ทั้งที่สื่อรวมหัวกันชี้ว่ามันชั่วมันเลว คราวนี้ชาวบ้านโดยเฉพาะคนชนบทกลับไม่ฟัง

สื่อไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม พัฒนาการของประชาธิปไตย ที่นโยบายพรรคไทยรักไทยทำให้มวลชนตระหนักว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาได้ ไม่ใช่มวลชนไม่เข้าใจว่านักการเมืองทั้งหลายล้วนแสวงหาผลประโยชน์ แต่จะให้เขาเลือกใครระหว่างพรรคที่มีนโยบายสนองปากท้อง เปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ กับพรรคที่ดีแต่พูด

แต่สื่อกลับมองว่าชาวบ้านโง่ ถูกซื้อ ทักษิณจะผูกขาดอำนาจไปอีก 20 ปี ประเทศชาติจะหายนะ สื่อไม่อดทนรอการพัฒนาไปตามลำดับของมวลชน คิดแต่ว่าสังคมจะต้องเดินตามที่พวกตนชี้


พูดอีกอย่างก็พูดได้ว่าสื่อ “เหลิงอำนาจ” เคยตัวกับบทบาทชี้นำสังคม ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ได้เป็นไปตามตำรานิเทศศาสตร์ สื่อไทยไม่ได้ทำหน้าที่เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา แยกข่าวจากความคิดเห็นเหมือนสื่อฝรั่ง แต่สื่อไทยสอดแทรกการชี้นำเข้าไปในข่าว ใช้พาดหัวข่าวเป็นที่ประกาศวาทะกรรม แสดงการสนับสนุน ต่อต้าน รัก ชอบ เกลียด ชัง หรือถ้าเป็นสื่อทีวี ก็เรียกว่า “สื่อมีหาง(เสียง)”

แต่ที่ผ่านมามันเป็นการต่อสู้เผด็จการ หรือขับไล่นักการเมืองทุจริตคอรัปชั่นในช่วงที่ประชาธิปไตยยังอ่อนแอ สังคมไทยจึงยอมรับบทบาท (และอิทธิพล) ของสื่อ (รวมทั้งอภิสิทธิ์ของสื่อ) กระนั้นเมื่อประชาธิปไตยเติบโตขึ้น เป็นสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย ก็ไม่ยอมรับการชี้นำของสื่ออีกต่อไป

สื่อไทยเลย “วีนแตก” หน้ามืดตามัวเพื่อเอาชนะ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก เป็นผู้มีอุดมการณ์สูงส่ง ขาวสะอาด มีเกียรติมีศักดิ์ศรี สมควรที่จะยกไว้ในที่สูงเพื่อชี้นิ้วด่ากราดนักการเมือง

ถ้าให้เห็นภาพชัด “เนชั่นโมเดล” น่าจะเป็นตัวแทนสื่อกระแสหลักชัดเจนที่สุด สุทธิชัย หยุ่น ก่อตั้งเดอะเนชั่นเมื่อปี 2515 แล้วมาเปิดกรุงเทพธุรกิจในปี 2530 แล้วขยับขยายไปจัดรายการทีวี หลัง 2535 ก็ร่วมก่อตั้งไอทีวี ซึ่งแม้ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล แห่งแปซิฟิค จะเป็นผู้บุกเบิกข่าวทีวีสมัยใหม่รายแรก แต่ต้องถือว่าหยุ่นเป็น “ตัวพ่อ” ที่มีอิทธิพลต่อนักข่าว พิธีกร รุ่นต่อมามากกว่า

คนหนุ่มสาวที่เข้าไปเป็นนักข่าวพิธีกรค่ายเนชั่นในทศวรรษ 2530 คือตัวแทนคนชั้นกลางที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเศรษฐกิจในยุค 2520 ซึ่งกรุงเทพฯเริ่มก่อเกิดชุมชนบ้านจัดสรร กั้นรั้วแยกจากคนชั้นล่างและคนชนบท คนชั้นกลางที่เติบโตในยุคนี้ ถูกตัดขาดจากประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นสมัยคณะราษฎรหรือขบวนการนักศึกษายุค 14-6 ตุลา พวกเขาเห็นแต่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งสอนให้เชื่อความมีคุณธรรมจริยธรรมของ “ผู้หลักผู้ใหญ่” คนชั้นกลางรุ่นนี้เติบโตมาโดยมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จส่วนตัว และโดยเชื่อว่าสังคมไทยที่ดำรงอยู่เป็นสังคมที่ดีงามเป็นธรรมแล้ว ถ้าจะเลวร้ายอยู่อย่างเดียว ก็คือนักการเมือง

สื่อแบบ “เนชั่นโมเดล” จึงเป็นตัวแทนคนชั้นกลางที่เรียนจบมหาวิทยาลัย คล่องแคล่ว ฉาดฉาน ได้งานดี เงินดี ไม่เคยยากลำบากเหมือนสื่อในอดีต และไม่เหมือนค่ายหัวสีที่ต้องจับเนื้อกินเอง (เงินเดือนนักข่าวเพิ่มพรวดพราดแบบก้าวกระโดดในช่วงต้นทศวรรษ 2530 อานิสงส์จากสนธิ ลิ้มทองกุล ตั้งอัตราเงินเดือนให้นักข่าวผู้จัดการ) นอกจากนี้ยังได้รับการให้เกียรติจากทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ใช่แค่ไม่ต้องกลัวตำรวจแจกใบสั่ง แต่เป็นนักข่าว 2-3 ปี คุณก็ได้นั่งกินข้าวกับรัฐมนตรี ประธานบริษัท ได้บินตามนายกฯ ไปเมืองนอก หรือได้ขึ้น ฮ.ไปกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ เรียกพี่เรียกน้องกับนายพล

ไม่มีอาชีพไหนให้คุณอย่างนี้นะครับ ยกหูโทรศัพท์กริ๊ง อธิบดีรองอธิบดีต้องมารับ

สื่อจึงมีฐานันดรพิเศษ ที่ทำให้ทรนงและหลงตน ว่าข้านี่แหละคือตัวแทนคนชั้นกลางผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง สามารถชี้นิ้วผลักดันสังคมไปตามต้องการ นักการเมืองชั่วหรือ ถล่มมันซะ ข้าราชการมีแผล ก็บดขยี้ให้ไม่เหลือซาก คนเหล่านี้จึงต้องเกรงอกเกรงใจสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสื่อ


ที่ผมยก “เนชั่นโมเดล” อันที่จริงก็คล้ายกันทุกค่าย เพียงแต่หัวสีก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ฉบับเล็กก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ขณะที่ค่ายมติชน (รวมทั้งผู้จัดการ) ยังมีคนรุ่นเก่าสืบทอดมาจาก 14 ตุลา 6 ตุลา ไม่ใช่ภาพของคนชั้นกลางที่ตัดขาดจากประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเสียทีเดียว เนชั่นชัดเจนกว่ากับภาพลักษณ์นักข่าวพิธีกรขวัญใจคนชั้นกลาง ตั้งแต่หยุ่น หย่อง มาถึงสรยุทธ์ กนก สู่ขวัญ จอมขวัญ ฯลฯ (และเนชั่นก็เป็นแม่แบบให้ TPBS ปั๊มคนออกมาคล้ายๆ กัน)

ที่พูดมาทั้งหมดไม่ใช่ว่าสื่อไม่มีผลประโยชน์ ทั้งตัวค่ายและตัวบุคคล มี-แต่ไม่ใช่นักข่าวส่วนใหญ่ สาเหตุหลักที่สื่อกระแสหลักกลายเป็นปรปักษ์ประชาธิปไตย ก็คือความเหลิงอำนาจของสื่อ คือความเชื่อว่าตัวเองรู้มากกว่า เก่งกว่า ดีกว่า สมควรจะเป็นผู้ชี้นำประชาชนที่โง่เขลา ไม่ยอมรับว่าประชาชนมีสิทธิจะคิดต่างเห็นต่าง เมื่อชี้นำไม่ได้ เอาชนะไม่ได้ และกลายเป็นฝ่ายแพ้ โค่น “คนชั่วคนเลว” ในสายตาตัวเองไม่ลง แพ้ทักษิณ แพ้พรรคพลังประชาชน แพ้พรรคเพื่อไทย สื่อจึงหน้ามืดมุ่งเอาชนะคะคานโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ไม่ว่าเชียร์รัฐประหารหรือโยนหลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิเสรีภาพ ที่เป็นหัวใจของสื่อทิ้งไป

เห็นได้ง่ายๆ จากวิกฤติน้ำท่วมคราวนี้ ที่สื่อแปลงมาเป็นอาวุธโค่นรัฐบาล จนเห็นชัดเจนว่าเป็นการจ้องจับผิด มากกว่าวิจารณ์ตามเนื้อผ้า แม้ข้อวิจารณ์หลายส่วนเป็นจริง (รัฐบาลทำงานห่วยจริงๆ) แต่ก็ขยายปมจนเห็นเจตนา

สงครามสื่อต้องดำเนินต่อไป เพราะความต้องการคงอิทธิพล “อำนาจพิเศษ” ของสื่อกระแสหลัก กลายเป็นอุปสรรคประชาธิปไตย พลังประชาธิปไตยจะเติบโตได้ต้องทำลายอิทธิพลของสื่อกระแสหลักลง ถ่วงดุล คานอำนาจ ด้วยการสร้างสื่อที่หลากหลาย ทั้งเว็บไซต์ วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม หรือสื่อสิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก เป็นตัวแทนความคิดของประชาชนที่แตกต่าง ดิสเครดิตสื่อกระแสหลักด้วยการเปิดโปงพฤติกรรมอย่างที่ไทยอีนิวส์ทำ


การเปิดโปงสื่อกระแสหลัก ไม่ใช่เพียงพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์ (ซึ่งใช้ได้กับนักข่าวร้อยล้าน แต่ใช้ไม่ได้กับคนดีๆ อย่างเถ้าแก่เปลวของผม) ประเด็นสำคัญอยู่ที่อคติและความไร้หลักการของสื่อ ทั้งในการเสนอข่าวจริงบ้างเท็จบ้าง ให้น้ำหนักข่าว พาดหัวข่าวอย่างไม่เที่ยงธรรม วิพากษ์วิจารณ์มักง่าย (เอาคำทำนายหมอดูมาใช้ก็มี) ตวัดลิ้นกลับไปกลับมา สองมาตรฐานหน้าไม่อาย วันก่อน เดือนก่อน ปีก่อน พูดอย่าง วันนี้พูดอีกอย่าง (ยกตัวอย่างถ้าใครไปขุดข้อเขียนชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ สมัยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนถูกทหารตีหัว มาเทียบกับ “ท่านขุนน้อย” แล้วจะเซอร์ไพรส์ว่าคนเราเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ)

ผมเชื่อมั่นว่าไทยอีนิวส์จะสานต่อภารกิจอย่างเข้มแข็งในปีที่ 6 แต่ขณะเดียวกัน ภารกิจของสื่อฝ่ายประชาธิปไตยภายหลังชัยชนะของพรรคเพื่อไทยก็มีความยากลำบากและซับซ้อนขึ้น เพราะต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้าน นั่นคือด้านหนึ่งต้องปกป้องรัฐบาลจากการโจมตีให้ร้ายของพวกสลิ่มและฝ่ายแค้นที่มุ่งหวังฟื้นอำนาจนอกระบบ หวังโค่นล้มแทรกแซงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่อีกด้านก็ต้องไม่ละเว้นการทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ให้สมกับที่ได้ชัยชนะมาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดง

ซึ่งก็เป็นการปกป้องประชาธิปไตยในอีกมุมหนึ่งเช่นกัน


ใบตองแห้ง
5 พ.ย.54

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี เว็บไซต์ไทยอีนิวส์



++

บทความตั้งแต่เดือนมีนา 54 ( เพื่อจะไม่ลืมสื่อประเภท-ที่ไม่อดทนต่อการต่อสู้คดเคี้ยวของประชาธิปไตยที่มุ่งสู่อำนาจหลากหลายของคน90% -เฝ้าแต่อดทนผลักดันลัทธิ"คนดีผู้ประเสริฐสุด"ของตนที่ไม่มีทางถึง10%เพื่อครอบคนที่เหลือ ทั้งที่นับวันจะเห็นข้อจำกัด)


ใบตองแห้งออนไลน์: อุดมการณ์สื่อ Saga: จากชินคอร์ป ปตท. ถึง สสส.
โดย " ใบตองแห้ง " ในเวบไซต์ ประชาไท . . Thu, 2011-03-17 17:38


งานเข้าแล้วไหมล่ะ ใบตองแห้ง มีข่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สสส.เรียกประชุมด่วน แล้วมีกระรอกคาบข้อเขียนของผมเข้าไปในที่ประชุม ฉะนั้นที่จะเขียนเพิ่มเติมต่อไปนี้ ก็ถือว่าผมช่วยมองต่างมุมเพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์แล้วกัน

เปล่า มิได้สำคัญตนว่าสามารถเขียนจน สสส.กระเทือนซาง ผมมองมุมกลับต่างหาก ว่าหลายคนใน สสส.ก็รู้ปัญหาและพยายามจะแก้ไข พอผมเขียนไปก็ถือว่า “เข้าทาง” แม้แต่หมอประเวศเอง มีคนบอกว่าแกรู้ตัวอยู่เหมือนกัน ว่าการไว้วางใจกันเฉพาะในเครือข่าย ไปๆ มาๆ มันก็ทับซ้อนกับ “ลัทธิพรรคพวก”


ฉะนั้นที่จะเขียนเพิ่มเติมต่อไปนี้ ก็ถือว่าผมช่วยมองต่างมุมเพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์แล้วกันนะครับ อิอิ

แต่ก่อนเขียนถึง สสส.ก็ขอทิ้งท้ายถึงกรณีของสถาบันอิศราและสมาคมนักข่าวซักนิด ดูเหมือนจะมีคนกังขาสืบหาให้วุ่นว่าผมได้ข้อมูลจากใคร ทั้งที่ความจริงมันไม่ใช่เรื่องลี้ลับ เช่น เรื่องศูนย์ข่าวอิศรา กับบิลค่า “เลี้ยงแหล่งข่าว” ทุกเย็นย่ำ ตอนที่ภัทระ คำพิทักษ์ ขอมติสมาคมนักข่าวเข้าไปเป็น สนช.และถูกบีบให้ลาออก ก็มีคนยกเรื่องนี้มาโจมตีเป็นภาคผนวก (หรือหมัดแถม) เรื่องอบรม บสส.บสก.ก็เป็นข่าวอื้อฉาวในวงการ เมาท์กันมาเป็นปี แต่สื่อไทยถือคติ “แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน” เรื่องเน่าๆ ไม่เล่าสู่คนนอก เพื่อรักษาเกียรติภูมิของวิชาชีพไว้ สื่อไม่มีคอกอย่างผมเลยต้องเอามาพูด เพื่อให้สื่อสนใจตรวจสอบกันเองบ้าง คนดีๆ ในวิชาชีพนี้มีเยอะ อย่าทำตัวเป็นคนดีอย่างมานิจ สุขสมจิตร ซึ่งแกดีเกินไปมั้ง เห็นแก่น้องเห็นแก่รุ่นลูกรุ่นหลาน เกรงใจคนนั้นคนนี้จนทำอะไรไม่ได้ซักอย่าง ทั้งที่รับเป็นกรรมการทั่วไปหมด

ก็น่าเห็นใจนะครับ คนเราอยู่ในสังคมก็มีความผูกพัน ผมพูดได้เพราะมีความผูกพันน้อย แต่ไม่ใช่ไม่มีใครคบอย่างที่กล่าวหา ทุกคนที่ผมรู้จักก็ยังคบหากันดี เพียงแต่ผมไม่กว้างขวางในวงการ เพราะทำสื่อค่ายเล็กมาตลอด ตั้งแต่แนวหน้า INN สยามโพสต์ ไทยไฟแนนเชียล ไทยโพสต์ และไม่เคยเป็นนักข่าวภาคสนาม จึงรู้จักคนน้อย แต่ทุกคนที่รู้จักก็ไม่มีใครด่าผมได้ว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ยกเว้นเรื่องไปทำงานสาย กับไม่เป็นโล้เป็นพาย ถึงจะชอบดูหนังโป๊ แต่ไม่เคยเป็นสมภารกินไก่วัด ไม่เคยทำตัวให้น้องๆ นักข่าวสาวไม่ไว้วางใจ (ปัจจุบันไม่ใช่แค่สมภารกินไก่วัดนะครับ แต่กินไก่ตัวผู้ด้วย คริคริ นักข่าวสาวผู้ถูกแย่งแฟนสติแตกจนเตลิดเปิดเปิงไปทำอาชีพอื่น)

การรู้จักผูกพันกับคนน้อยมีด้านดี คือทำให้ไม่ต้องเกรงอกเกรงใจหรือเห็นแก่หน้าใครมากนัก สังคมไทยที่แก้ปัญหาคอรัปชั่นไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเห็นแก่หน้าญาติพี่น้อง พรรคพวก เพื่อนฝูง ซึ่งไม่ใช่ผมไม่มี บางเรื่องผมก็แตะไม่ได้เหมือนกัน เช่นใครจะให้ผมเขียนด่าไทยโพสต์ ผมทำไม่ได้ มันไม่ใช่แค่ผมยังทำงานให้ไทยโพสต์ จนวันตายผมก็ด่าไทยโพสต์ไม่ได้เพราะเราอยู่ในสังคมไทย ยังถือสาเรื่องของน้ำใจและบุญคุณ

มีคนโต้แย้งว่าผมอิจฉาหรือเปล่าที่นักข่าวบางคนรับเงินเดือนต้นสังกัดแล้วยังมารับเงินเดือนสถาบันอิศราด้วย อย่าถามผมสิครับ ต้องถามนักข่าวคนอื่นๆ ในสังกัดเดียวกันว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร ที่เพื่อนเอาเวลางานไปรับจ็อบ บ้างก็ยกตัวอย่าง บก.ศูนย์ข่าวอิศราว่าได้เงินเดือน 30,000 โดยยังได้เงินเดือนต้นสังกัดด้วย ก็น่าจะคุ้มเพราะต้องลงไปเสี่ยงอยู่ภาคใต้ ปัญหาคือเขาไม่ได้ลงไปอยู่ประจำนี่ครับ ถึงได้ถูกครหา

ที่ผมพูดเรื่องการรับเงินเดือนสองทาง ก็เพราะมีคำถามว่า เขาสามารถทำงานให้สถาบันอิศราตามโครงการของ สสส.อย่างเต็มที่หรือไม่ บางโครงการต้องการให้ลงพื้นที่ เปิดเวที นัดพบกลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ แต่นักข่าวติดงานที่ต้นสังกัดมอบหมาย แล้วไปไม่ได้ จะทำอย่างไร ซึ่งถ้าสถาบันอิศราจ้างนักข่าวรีไทร์มาทำหน้าที่สำคัญๆ ใช้นักข่าวที่มีงานประจำเพียงบางหน้าที่ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยง ค่ารถ ก็จะไม่ว่ากันเลย

นี่คือเรื่องที่พูดในหลักการทั้งหมด ส่วนที่ว่ามีการเล่นพรรคเล่นพวกหรือเปล่า เอาลูกศิษย์ลูกหาใครมาทำงาน เอาเมียใครมาทำวิจัย เป็นเรื่องที่ขี้เกียจพูด คนในวงการก็รู้ก็เห็น แต่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น


แทรกแซงสื่อ

ผมตั้งหน้าตั้งตาวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิประเวศและ สสส.ไม่ใช่เพราะเมาควันบุหรี่ฟิลิปมอร์ริสนะครับ เรื่องดีๆ ที่เครือข่ายหมอประเวศทำ ผมก็หนับหนุนอย่างจริงจังมาทั้งนั้น ยกตัวอย่างนโยบาย 30 บาท ผมไม่เอาทักษิณแต่ก็เชียร์เต็มที่ เพราะเชื่อมั่น “พี่หงวน” หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เชื่อมั่นแพทย์ชนบท สมัยทำไทยโพสต์ผมสัมภาษณ์แพทย์ชนบทตั้งแต่พี่หมอวิชัย โชควิวัฒน์ หมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ หมออำพล จินดาวัฒนะ หมอวิทิต อรรถเวชกุล ฯลฯ มาจนถึงหมอเกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ (ขาประจำซี้ย่ำปึ้ก) รวมๆ กันร่วมยี่สิบครั้งมั้ง สมัยหมอมงคลทำ CL ผมก็ไปสัมภาษณ์ สมัยรัฐบาลสมัครเด้งหมอศิริวัฒน์ ทิพธราดล ผมก็ไปสัมภาษณ์ จะปลดหมอวิชัยจากองค์การเภสัช ผมก็ไปสัมภาษณ์ ขณะที่พวกแพทยสภา แพทย์พาณิชย์ ไม่เคยได้โอกาสจากผมหรอก

คนในเครือข่ายลัทธิประเวศที่ผมได้เสวนาด้วย ล้วนเป็นคนดีๆ ทั้งนั้น รวมทั้งหมอพลเดช ปิ่นประทีป คุณสมสุข บุญญะบัญชา คุณสารี อ๋องสมหวัง เหล่านี้เป็นต้น แต่ทำไมผมต้องหันมาวิพากษ์วิจารณ์ ก็เพราะเวลาที่พวกท่านทำดีในขอบเขตที่เกี่ยวกับงานของพวกท่าน เช่น รณรงค์ต่อต้านเหล้าบุหรี่ คุ้มครองผู้บริโภค วางระบบหลักประกันสุขภาพ หรือพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง ล้วนเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน (ถึงมีจุดบกพร่องบ้างก็แล้วๆ ไป) แต่พอหมอประเวศยกระดับความคิด “ชุมชนนิยม” ของท่านขึ้นมาผลักดันเป็นแนวทางหลักในการ “ปฏิรูปประเทศ” โดยใช้สรรพกำลังทุกอย่างในเครือข่าย ทั้งเครดิต ทั้งแหล่งทุน ทรัพยากร ผมก็ต้องร้องว่า เฮ้ย มันไม่ใช่แล้ว มันเป็นเรื่องที่ต้องโต้แย้งแลกเปลี่ยนความคิดกันอีกเยอะ ไม่ใช่บอกว่าพวกท่านเป็นคนดีแล้วทุกคนจะต้องเห็นด้วยกับแนวทางนี้

ซ้ำร้าย ท่านยังเอาการปฏิรูปประเทศไทย มาสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบอภิสิทธิ์ชน โดย “แตะทุกปัญหา ยกเว้นปัญหาที่ควรจะแตะ” อย่างที่ธงชัย วินิจจะกูล พูดไว้เป็นวรรคทอง


เอ้า ยกเรื่องนี้ไว้ก่อนก็ได้ ต่อให้เป็นสถานการณ์ปกติ การที่เครือข่ายคนดีซึ่งมีบทบาทในกระแสรอง เป็นผู้รณรงค์เรื่องต่างๆ จะพลิกขึ้นมาเป็นกระแสหลัก เป็นผู้มีอำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ นั้น มันไม่ใช่ว่าคุณจะกำหนดอะไรได้ถูกต้องเสมอไปนะครับ ยกตัวอย่างเช่น สสส.รณรงค์ต่อต้านเหล้าบุหรี่ คุณจะรณรงค์ให้สุดขั้วสุดโต่งอย่างไรก็รณรงค์ไปเหอะ อะไรที่สังคมเห็นด้วยและยอมรับ ก็จะรับไปกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ร่วมกัน จาก 10 เรื่อง ก็อาจมีผล 4-5 เรื่อง ที่เหลือเอาไว้ก่อน ค่อยเป็นค่อยไป

แต่ถ้าพลิกกลับกัน ถ้า สสส.เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข คุณจะเอาให้ได้ตามที่ต้องการทุกอย่าง ก็ chip หายสิครับ หลายๆ เรื่องที่สังคมยังไม่เต็มใจก็จะถูกใช้มาตรการบังคับ หรือถ้า สสส.สามารถล็อบบี้ แทรกแซง มีทรัพยากร ...และมีสื่อในมือ จนทำอะไรได้ตามใจชอบ สสส.ก็จะกลายเป็นตัวปัญหา


พูดง่ายๆ คือผมหนุนเต็มที่ให้ NGO มีปากมีเสียงรณรงค์เสนอปัญหาสังคม เรียกร้อง ต่อต้าน ประท้วง อะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้า NGO เป็นนายกฯ ประเทศชาติคงวิบัติ

ผมเชียร์สุดตัวให้คุณสารี อ๋องสมหวัง แกรณรงค์ปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภค แต่ถ้าคุณสารีเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผมคงก่ายหน้าผาก (แค่รสนาเป็น สว.ก็ก่ายหน้าผากแล้ว อิอิ)

ฉะนั้นสิ่งที่ผมคัดค้าน ก็คือความพยายาม “ยัดเยียด” ลัทธิชุมชนนิยมให้กับสังคม โดยอาศัยเครือข่ายงบประมาณหลายพันล้าน ของ สสส. พอช. สช. สวรส.โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของชาวบ้าน “จากล่างขึ้นบน” ทั้งที่ความจริงมันเป็นการเอาความคิดหมอประเวศไปใส่ปากชาวบ้านผ่านงบสัมมนา เบี้ยประชุม ค่าเดินทาง ฯลฯ ชัดๆ

จำได้ไหมครับที่หมอประเวศไปพูดเรื่อง “เทศาภิวัฒน์” ที่ศูนย์ประชุมไบเทค ทราบไหมว่า “เทศาภิวัฒน์” ราคาเท่าไหร่ ก็ลองคูณดู จากการเอาสมาชิก อบต.เทศบาล และผู้นำชุมชน ร่วม 3,000 คนมาพักโรงแรมหรูอย่างโนโวเทล บางนา และอวานา 3 คืน พร้อมค่าอาหารค่าเดินทาง เพียงเพื่อให้หมอประเวศแกได้พูดเรื่อง “สภาผู้นำท้องถิ่นแห่งชาติ”

ได้ยินว่าก่อนหน้านั้นยังมีการจัดประชุม 4 ภาค พร้อมค่าอาหารค่าที่พักค่าเดินทางและเซ็นชื่อรับเบี้ยประชุม (สภาผู้นำท้องถิ่นจงเจริญ!)

หมอประเวศจึงขาดเงินไม่ได้ ในการขายความคิดดีๆ

ประเด็นที่ต้องพูดในปริมณฑลของผมคือ เครือข่ายลัทธิประเวศใช้เงินในการ “เซลส์ไอเดีย” ผ่านสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนในแง่จรรยาบรรณ


ดังที่ผมเคยเขียนมาก่อนแล้วว่า การโฆษณาในสื่อปัจจุบันได้เปลี่ยนจากการลงโฆษณาว่าสินค้าของตนดีอย่างนั้นอย่างนี้ มาเป็นการพีอาร์ภาพลักษณ์ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณจะให้นักเขียนดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ทรูมูฟ หรือขายไก่ซีพี ก็เสียศักดิ์ศรีหมด แต่พอคุณให้มาทำรายการวิทยุซีพีเอฟ เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน แบบนี้ค่อยรับทรัพย์อย่างถูกจริตหน่อย

มันก็อีหรอบเดียวกับที่นิตยสารสารคดีรับโฆษณา ปตท.นั่นละครับ ปตท.ก็ยินดีให้สัมภาษณ์เรื่องดีๆ เพื่อพีอาร์ภาพลักษณ์ เพราะการขายก๊าซขายน้ำมันจากโรงกลั่นของ ปตท.เป็นธุรกิจเกือบจะผูกขาดไม่ต้องกลัวคู่แข่งอยู่แล้ว ปตท.กลัวอย่างเดียวคือชาวบ้านด่า จึงต้องพีอาร์ว่าตัวเองเอาเงินไปทำเรื่องดีๆ อย่างนั้นอย่างนี้

นี่พูดด้วยความเห็นใจนิตยสารสารคดีนะ ถ้าผมเป็น บก.สารคดีผมก็ต้องเอา ค่าโฆษณาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอด นิตยสารเมืองไทยอยู่ได้ด้วยโฆษณา ถ้าไม่มีโฆษณาต่อให้ขายหมดก็ขาดทุน นิตยสารบ้านเราจึงต้องสมคบกับเอเยนซี ระบุยอดพิมพ์ยอดขายเกินจริงหลอกลูกค้า เช่นพวกนิตยสารผู้หญิงที่ชอบจัดงานตามโรงแรมหรู พิมพ์ 10,000 เล่มก็บอกว่าพิมพ์ 50,000 ไม่มีใครเค้าบอกตัวเลขจริงกันหรอก

เมื่อโฆษณาเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตสื่อ จึงเกิดกรณีที่ “สื่อถูกซื้อ” เหมือนสมัยทักษิณที่ใช้โฆษณาชินคอร์ปเป็นเครื่องมือแทรกแซงสื่อ ซึ่งอันที่จริงก็ว่าไม่ได้เต็มปาก ไปด่าพ่อเขาแล้วเขาไม่ลงโฆษณา ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เหมือนการเอางบประมาณแผ่นดินมาลงโฆษณา แปะหน้าสะเหร่อๆ ของนักการเมือง ซึ่งก็ริเริ่มในยุคทักษิณ และยิ่งหนักข้อในยุคขวัญใจจารีตนิยม


สื่อที่ไม่แคร์โฆษณาพวกนี้มีแต่ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ ซึ่งเอเยนซีต้องเข้าคิวกราบกรานถือพานดอกไม้ธูปเทียนขอลงโฆษณา นอกนั้นส่วนใหญ่สิบเบี้ยใกล้มือต้องเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเศรษฐกิจไม่ค่อยดี

ในสภาพอย่างนี้แหละ ที่ สสส.ก้าวเข้ามาเป็นสปอนเซอร์รายหนึ่งของสื่อต่างๆ และเป็นสปอนเซอร์ที่สื่ออ้าขาผวาปีกยินดีต้อนรับ เพราะเป็นโฆษณาไม่มีพิษไม่มีภัย สมัยก่อนไม่มีเงินให้ เราก็เต็มใจช่วยรณรงค์ต่อต้านเหล้าบุหรี่ รณรงค์เสริมสร้างสุขภาพอยู่แล้ว (แต่พอได้เงินแล้ว ต่อไปถ้าไม่มีเงินให้ เราก็อาจไม่เต็มใจ อิอิ)

สสส.จึงเป็นสปอนเซอร์รายสำคัญของสื่อเกือบทุกฉบับ ไม่เว้นแม้แต่หนังสือพิมพ์กีฬา 18 บาท (พื้นที่โฆษณา 9 บาท) หน้าข้างๆ แปะปั่ว ครึ่งควบลูก ลูกควบลูกครึ่ง แต่อีกหน้าดันพีอาร์กิจกรรม สสส.รณรงค์ให้เยาวชนสนใจกีฬา ห่างไกลอบายมุข เฉยเลย

ปัญหาก็คือ มันไม่มีพิษไม่มีภัยจริงหรือเปล่า หรือว่าทำให้สื่อทั้งหลายต้องเกรงใจ สสส.ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สสส. ยกตัวอย่างตอนที่มีรายงาน สตง.ท้วงติงการใช้จ่ายของ สสส.ว่าให้งบประมาณแต่องค์กรหน้าเดิมๆ ในเครือข่ายไปย้ำคิดย้ำทำ ถามว่ามีสื่อรายไหนเอามาลงบ้าง (ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนจะมีมติชนออนไลน์เจ้าเดียว)

พูดอย่างให้ความเป็นธรรมนะครับ สื่อส่วนหนึ่งก็สนับสนุน สสส.อย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะเชื่อว่าเป็นการทำความดี สนับสนุนเรื่องดีคนดี ไม่ว่าสุดขั้วสุดโต่งแค่ไหนก็ต้องเชียร์ไว้ก่อน (เราจะได้เป็นคนดีไปด้วย) ฉะนั้น สสส.ก็เลยสามารถผลักดันมาตรการหลายๆ อย่างที่มันเว่อร์ และละเมิดสิทธิเสรีภาพ เช่น ห้ามขายเหล้าวันพระใหญ่ (เมืองไทยกลายเป็นรัฐพุทธ) ห้ามใส่เหล้าในกระเช้าปีใหม่ หรือขยับอายุอนุญาตให้ซื้อบุหรี่จาก 18 ปีเป็น 20 ปี (มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่มีวิจารณญาณพอที่จะซื้อบุหรี่ ต่อไปน่าจะขยับอายุเป็น 25 ปีเท่าผู้มีสิทธิสมัคร ส.ส.)

แต่ขณะเดียวกัน ถ้ามีสื่อเสียงข้างน้อยอยากจะวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านมาตรการเหล่านี้บ้างล่ะ หรืออยากวิจารณ์การทำงานของ สสส.บ้างล่ะ นอกจากต้องทวนกระแสแล้ว ยังต้องสวนทางกับผลประโยชน์ของโรงพิมพ์ แบบเดียวกับนิตยสารสารคดี ก็คงไม่สามารถไปสัมภาษณ์รสนา ด่า ปตท.แม้ไม่ถูกห้าม แต่มันเป็นเงื่อนไขที่มองไม่เห็น ซึ่งคุณรับมาพร้อมสัญญาโฆษณา


หมอประเวศล้มรัฐบาลได้

ด้วยเงื่อนไขทั้งสองประการ สื่อจึงเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่วิพากษ์วิจารณ์ สสส.ซึ่งมีทั้งเงินทั้งกล่อง และต่อมามันก็ยังไม่ใช่แค่เรื่องรณรงค์เพื่อสุขภาพ ต่อต้านเหล้าบุหรี่ แต่ยังรวมถึงการเป็นสปอนเซอร์โฆษณา “ลัทธิการเมือง” ด้วย

อย่าเถียงนะครับว่าความคิดหมอประเวศไม่ใช่ลัทธิการเมือง แนวคิดปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังทำกันอยู่คือลัทธิที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง

งบโฆษณาของ สสส.จึงนำมาใช้ในการเผยแพร่ลัทธิประเวศ เผยแพร่แนวคิดปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งผิด ถ้าไม่มีส่วนที่ “ต่างตอบแทน” หรือทำให้สื่อเกรงใจ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ มีแต่สื่อฝ่ายสนับสนุนเสียงดังอยู่ฝ่ายเดียว

ตัวอย่างชัดๆ เลยคือการให้ทุนสถาบันอิศรามาจัดฝึกอบรมนักข่าว พูดในด้าน สสส.ไม่พูดด้านที่มีปัญหาในสถาบันอิศรา มันก็คือสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันก็มี “ผลประโยชน์ต่างตอบแทน” คือสถาบันอิศราต้องมาตั้ง “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” ให้หมอประเวศด้วย

บางคนอาจบอกว่าก็เขาทำเรื่องดีๆ สมาคมนักข่าว สถาบันอิศรา ควรสนับสนุน แต่ผมจะบอกว่า เฮ้ย คุณกำลังทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อ “ไม่เป็นกลาง” เพราะเอาตัวเข้าไปสนับสนุน “ลัทธิชุมชนนิยม” ซึ่งแม้มีส่วนดีแต่ก็ต้องมีการโต้แย้งถกเถียงกันให้ถึงแก่น ต้องผ่านการวิพากษ์ปรับเปลี่ยนกว่าจะนำมาใช้ได้จริง

ลักษณะเช่นนี้ไม่ได้ปรากฎอยู่เพียงแค่สมาคมนักข่าว แต่กระจายอยู่ในสื่อแทบทุกฉบับ ซึ่งก็แยกแยะไม่ออกเสียด้วยว่าเป็นการสนับสนุนอย่างสมัครใจ หรือว่าเป็นเนื้อที่โฆษณา หรือว่าต่างตอบแทน มันถึงได้มีข้อเขียนบทความของสาวกหมอประเวศ ข่าวสาร ข่าวพีอาร์ ไปปรากฏอยู่ในหน้านั้นหน้านี้ เพราะ สสส.ชอบทำให้สับสนระหว่างเนื้อที่โฆษณากับงานอาสาช่วยรณรงค์โดยไม่คิดสตางค์ ข่าวพีอาร์ หรือข้อเขียนบทความหลายๆ เรื่อง สสส.ไปจ้างลงโดยไม่ระบุว่าเป็นเนื้อที่โฆษณา แต่ทำเหมือนว่าเป็นข้อเขียนของกองบรรณาธิการ

เพราะชอบทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนอย่างนี้ไง มันถึงเกิดกรณีลักไก่ นักข่าว 5-6 คนรวมหัวกันรับโครงการ สสส.เอาเพื่อนนักข่าวรีไทร์มาอุปโลกน์เป็นผู้จัดการโครงการ แล้วนักข่าวพวกนี้ก็ช่วยกันผลักดันให้สื่อต้นสังกัดของตัวเองลงข่าว อย่างที่ผมแฉไปแล้ว

อิทธิพลของ สสส.และเครือข่ายหมอประเวศที่มีต่อสื่อ แน่นอนส่วนหนึ่งมาจากการที่หมอประเวศสร้างความสัมพันธ์กับสื่อมาเป็นสิบๆ ปี สร้างความเลื่อมใสศรัทธา จากนั้นก็ให้ความสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้ไปทำสิ่งดีๆ ต่างๆ

จึงอาจชี้ให้เห็นได้ยาก ว่าหมอประเวศมีอิทธิพลครอบงำสื่อ ซึ่งต้องแยก 2 ลักษณะ ครอบงำด้วยความคิดความเชื่อถือศรัทธาเราไม่ว่ากัน แต่ต้องแยกออกจากส่วนที่ให้ทุน ให้โฆษณา ให้ความช่วยเหลือแก่การทำงานของสื่อ ว่าต้องเป็นไปด้วยความปรารถนาดี และต้องให้สื่อคงความเป็นอิสระของตนไว้ แม้ความเป็นอิสระนั้นจะหมายถึงการมีความคิดเห็นแตกต่างจากเครือข่ายหมอประเวศก็ตาม

ปรากฏการณ์ที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงสถานการณ์แหลมคม ในช่วงที่พันธมิตรไล่รัฐบาลทักษิณ สมัคร สมชาย แน่นอน สื่อกระแสหลักให้ท้ายพันธมิตรด้วยสุคติและอคติของตัวเองอยู่แล้ว แต่เครือข่ายหมอประเวศก็มีบทบาทสำคัญอยู่ในนั้น ทำอย่างไรผมก็ไม่อาจลบภาพที่อดีตผู้จัดการ สสส.เดินเข้าทำเนียบควักกระเป๋าบริจาคเงินให้พันธมิตร ขณะที่ สสส.ใช้ Media Monitor เป็นเครื่องมือตัดเงินทุนสนับสนุนประชาไท ซึ่งมีทัศนะสวนทางพันธมิตร

อย่าปฏิเสธด้วยว่าในพันธมิตรก็มีเครือข่าย NGO ที่รับทุนจาก สสส.พอช.อยู่หลากหลายองค์กร บางองค์กรจัดเสวนาชาวบ้านในกรุงเทพฯ จ่ายค่าเดินทางค่าที่พักค่าเบี้ยประชุม เอาเข้าจริงเสวนาแป๊ปเดียว ที่เหลือพาไปทัวร์ตึกไทยคู่ฟ้า ใครจะไปรู้

นี่หมอประเวศยังมีแค่ สสส.สปสช.สวรส.สช. ทีวีไทย และ พอช.นะครับ ถ้า “รัฐซ้อนรัฐ” จัดตั้งขึ้นเต็มรูป มีทั้ง สสส.การศึกษา มีทั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งแต่ละองค์กรล้วนมีที่มาของงบประมาณอย่างอิสระ อัตโนมัติ จากภาษีเหล้าบุหรี่ ไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องผ่านสภา

ต่อไปภายภาคหน้า ถ้าหมอประเวศไม่เอารัฐบาลไหน ที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา พวกท่านก็มีทั้งเงินทั้งสื่อ ทั้งองค์กรเครือข่าย นักวิจัย นักวิชาการ และมวลชน ที่ล้มรัฐบาลได้จริงๆ นะครับ ไม่เชื่อคอยดู


เลือกปฏิบัติ?

ในขณะที่ประชาไทถูกตัดงบ ผมกลับได้ยินว่า สำนักข่าวทีนิวส์ ได้เงินไปกว่า 19 ล้านบาท เอาไปทำอะไรบ้างไม่ทราบ แต่เปิดดูเว็บทีนิวส์พบ “ศูนย์ปฏิบัติการสารสนเทศเชื่อมโยงองค์กรประชาชน” สนับสนุนโดย สสส.ซึ่งเป็นการจัดตั้งเครือข่ายวิทยุชุมชนทั่วประเทศ

ทีนิวส์เป็นของใคร ก็ของสนธิญาณ (หนูแก้ว) ชื่นฤทัยในธรรม เจ้าของฉายา “นักข่าวร้อยล้าน” ผู้บริหารสำนักข่าว INN ในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในสมัยที่ผมไปทำงานด้วย โดยมีสมชาย แสวงการ เป็นหัวหน้ากอง บก.(สนธิญาณเคยทำงานควบคุมระบบแบ่งผลประโยชน์อ้อยน้ำตาล 70-30 ให้ อ.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา สมัยเป็น รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าทีมคือ สุนทร โภคาชัยพัฒน์ ซึ่งต่อมาเป็นคนสนิทของตระกูลมาลีนนท์ ทำให้สนธิญาณและสมชายได้เข้าไปทำช่อง 3)

จุดยืนสนธิญาณเป็นอย่างไรเห็นได้ชัดเจนจากการที่เว็บทีนิวส์มีเซคชั่นพิเศษ “เจาะข่าวร้อนทักษิณและขบวนการเสื้อแดง” ไม่นับรายการของสนธิญาณเอง ที่โจมตีเสื้อแดงและเชียร์รัฐบาลอภิสิทธิ์สุดลิ่มทิ่มประตู

สสส.ช่วยตอบยืนยันผมด้วยนะครับ ว่าให้เงินทีนิวส์ไป 19 ล้านจริงไหม มากกว่าสมาคมนักข่าวอีกนะ เท่าที่ผมได้ยินมา เครือข่ายวิทยุชุมชนไปเสนอขอเงินมาทำโครงการรณรงค์ด้านสุขภาพ จะถูกปฏิเสธหมด โดย สสส.ให้ไปติดต่อขอกับทีนิวส์แทน (เออ ทียังงี้ไม่ให้สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์เป็นตัวกลาง กลับให้สนธิญาณเป็นหัวเบี้ย)


การให้เงินโครงการต่างๆ ของ สสส.มีปัญหาในเรื่องของการให้ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจคนกันเอง อย่างเช่น โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งหมอพลเดชเป็นผู้อำนวยการ ได้ยินว่าได้ไปกว่า 70 ล้านบาท โอเค ผมเชื่อใจหมอพลเดชเป็นคนสัตย์ซื่อสุจริต แต่ผมไม่รู้ว่าได้มรรคผลอะไรบ้าง เพราะหมอพลเดชแกก็มาอีหรอบเดียวกับหมอประเวศ คือทุ่มเงินลงไปอุ้ม “วิถีชุมชน” แล้วก็เชื่อเป็นตุเป็นตะว่าชาวบ้านศรัทธาในวิถีชุมชน มากกว่าค่าเบี้ยประชุม

หรืออย่างสถาบันส่งเสริมการจัดความรู้เพื่อสังคม ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (ผู้ก่อตั้ง สกว.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นบอร์ด สวรส.และ สช.) ได้เงินไปกว่า 200 ล้านบาท โอเค หลานชายท่านพุทธทาสก็เป็นที่เชื่อถือในความซื่อสัตย์สุจริต มีเกียรติประวัติการทำงานเพื่อสังคมที่ควรคารวะ แต่สถาบันของท่านทำอะไรได้มรรคผลแค่ไหน ผมเปิดดูเว็บไซต์เห็นมีแต่บทความของท่านเป็นตับ กับการจัดอบรมซึ่งผู้สมัครก็ต้องเสียค่าลงทะเบียนเหมือนอบรมกับสถาบันเอกชน


กรณีของสถาบันอิศรา แหล่งข่าวก็กระซิบบอกผมว่าจริงๆ แล้วมีปัญหาเรื่องเขียนโครงการไม่ชัดเจนในเป้าหมายและรายละเอียด แต่เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจสมาคมนักข่าวไงครับ ประกอบกับนายกสมาคมฯ ไปพรีเซนส์เอง ตอบเก่งชี้แจงเก่ง โครงการก็ผ่าน

มีคำถามว่า สสส.เขาอนุมัติเงินกันอย่างไร หะแรกผมยังเข้าใจว่าทุกโครงการต้องผ่านบอร์ด หรืออย่างน้อยผ่านผู้จัดการ สสส.ที่ไหนได้ ไม่ใช่ มีผู้รู้อธิบายว่า แต่ละสำนักใน สสส.สามารถอนุมัติเงินได้หมด โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5-6 คนเป็น Reviewer โครงการไหนเสนอเข้ามามีเนื้อหาสอดคล้องสำนักไหน ก็ดูแลอนุมัติกันไป ขณะที่ส่วนกลางของ สสส.เองก็มีการจัดแผนงานขึ้น 7 แผนงาน แต่ละแผนงานมีกรอบวงเงินไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท มีผู้จัดการแผนงานเป็นผู้ดูแล

สำนักใน สสส.มี 9 สำนัก ที่น่าจับตานอกจากสำนัก 5 รณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม ซึ่ง รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ เป็น ผอ.ยังได้แก่สำนัก 3 สนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน ซึ่ง ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ เป็น ผอ.เธอเป็นศิษย์ก้นกุฎีหมอประเวศมาตั้งแต่อยู่ สช.ตอนนี้สำนัก 3 มีแผนงานไปสร้างตำบลฝึกอบรม เช่น อบต.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราชได้รับงบ 20 ล้านไปเป็นตำบลต้นแบบให้กับอีก 20 ตำบล ในภาคเหนือใช้ตำบลนาบัว จ.พิษณุโลกได้รับงบ 20 ล้านเช่นกัน ตำบลเหล่านี้จะถูกนำมาโฆษณาว่าเป็นตำบลต้นแบบของการบูรณาการ และนำมวลชนมาร่วมเวทีปฎิรูปประเทศไทยของหมอประเวศ/อานันท์


* อ่านต้นฉบับและมีข้อคิดเห็นต่อท้าย ที่ http://www.prachatai.com/journal/2011/03/33601
และของบทความแรก ที่ http://www.prachatai.com/journal/2011/11/37855



.