.
รายงาน2 - สื่อนอกมองการชุมนุมไทย “Le Petit Journal”ในม็อบ“กปปส.” กับรายงาน“ตลกร้าย”ที่ขำไม่ออก
.......................................................................................................................................................................
จับจ้องมองไทย เมื่อโลกล้อมเมือง เสียงหนุนเลือกตั้ง
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391672238
. . วันพฤหัสบดีที่ 06 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 15:02:20 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 6 กุมภาพันธ์ 2557 )
โดยมาตรฐานของประเทศที่การพัฒนาประชาธิปไตยพัฒนาขึ้นไปถึงระดับที่ไม่ต้องวกกลับมาถกเถียงกัน ว่าพื้นฐานของประชาธิปไตยคืออะไรแล้ว
ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นแสดงถึงความรู้สึกระคนกันไป
ระหว่างแปลกประหลาดใจ หดหู่ และสมเพช
แต่มีจุดร่วมอย่างเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด
คือปัญหาในระบอบประชาธิปไตยต้องแก้ไขด้วยกติกาประชาธิปไตย
ไม่ใช่ด้วย "กติกู" ตามใจใคร
โดยมิได้นัดหมาย หนังสือพิมพ์ใหญ่ชั้นนำของโลก เขียนบทบรรณาธิการเรื่องการเมืองไทยโดยพร้อมเพรียงกัน
บทบรรณาธิการวอลล์สตรีต เจอร์นัล 4 ก.พ. เรื่อง "ประเทศไทยไปเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย รัฐประหารโดยตุลาการ จะถือเป็นการให้รางวัลแก่พฤติกรรมที่ย่ำแย่ของพรรคประชาธิปัตย์"
ระบุว่า การต่อสู้ขับไล่รัฐบาลด้วยกระบวนการกฎหมู่นั้นล้มเหลวลงแล้ว เห็นได้จากยอดผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ลดลง
จึงเหลือเพียงแค่หนทางเดียวที่จะล้มรัฐบาลคือการใช้กระบวนการศาล
กองทัพและชนชั้นสูงร่วมกันเพิ่มอำนาจให้แก่ตุลาการผ่านรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่หากศาลรัฐธรรมนูญหรือ ป.ป.ช.ใช้อำนาจของตนในการล้มรัฐบาลเพื่อไทย ก็อาจจะกลายเป็นอวสานขององค์กรเหล่านี้
เพราะประชาชนไทยในเขตชนบทกำลังเริ่มหมดความอดทนกับการกระทำที่ขัดขวางสิทธิในการเลือกพรรคการเมือง
ความเชื่อที่ว่าหนทางสู่อำนาจของตนจะต้องมาด้วยกฎหมู่บนท้องถนนและทนายความ แทนที่จะเป็นการเลือกตั้งคือรากของปัญหาในประเทศขณะนี้
พรรคการเมืองที่ประพฤติตนเป็นเด็กเสียคน และเอาแต่บอยคอตการเลือกตั้งนั้น สมควรถูกลงโทษด้วยการถูกจับไปนั่งข้างนอกสนามการเมือง
จนกว่าจะมีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่
บทบรรณาธิการของไฟแนนเชียล ไทมส์ สื่อทรงอิทธิพลสัญชาติอังกฤษ 4 ก.พ.2557 เรื่อง "ประเทศไทยเสี่ยงกลายเป็นประชาธิปไตยชั้นสาม" ระบุว่า
น่าเศร้าอย่างยิ่งที่การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่สามารถช่วยกอบกู้วิกฤตการเมืองไทยในปัจจุบันได้มากนัก เนื่องจากผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาล นอกจากจะประกาศบอยคอตการเลือกตั้งแล้ว ยังขัดขวางผู้อื่นไม่ให้ไปเลือกตั้ง
ทั้งหมดนี้ไม่ได้ส่งผลเสีย เฉพาะต่อประชาธิปไตยไทย แต่ยังเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
จริงอยู่ว่ารัฐบาลมีจุดบกพร่องหลายประการ เช่น การเร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม และนโยบายจำนำข้าว
แต่ก็ต้องโทษฝ่ายค้านด้วย เพราะฝ่ายค้านของไทยดูเหมือนกำลังมุ่งมั่นที่จะฉีกทำลายระบอบประชาธิปไตยไทย หลังแพ้การเลือกตั้งมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ถ้าหากนโยบายเช่นนี้สร้างผลเสียต่อประเทศชาติจริง ฝ่ายค้านของไทยก็ควรต่อสู้ประเด็นนี้ในรัฐสภา ไม่ใช่ด้วยการประท้วงบนท้องถนน
และถ้าหากรัฐประหารเกิดขึ้นจริง บรรดาผู้สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งพยายามอดทนอดกลั้นมาตลอดวิกฤตนี้ อาจจะตัดสินใจออกมาประท้วงบนถนนเสียเอง
และนำไปสู่ความย่อยยับในที่สุด
บทบรรณาธิการของนิวยอร์กไทม์ส 4 ก.พ.2557 เรื่อง "การขัดขวางประชาธิปไตยในประเทศไทย" มีใจความว่า
ไทยกำลังอยู่ในห่วงเวลาอันมืดมน หลังการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ถูกขัดขวางโดยกลุ่มผู้ประท้วงที่ต้องการเว้นวรรคประชาธิปไตย ซึ่งอาจนำพาประเทศสู่ความปั่นป่วนที่รุนแรงกว่านี้ได้
การประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้มีแกนนำเป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน ที่เป็นตัวแทนของบรรดาชนชั้นสูงในเมืองและประชาชนจากภาคใต้ ที่ปฏิเสธจะลงเลือกตั้ง เพราะทราบดีว่าจะแพ้แน่นอน
หากฝ่ายค้านในไทยมีใจมุ่งมั่นในการกำจัดคอร์รัปชั่นและเสริมสร้างประชาธิปไตยจริง ก็ควรหยุดการประท้วง พร้อมเสนอแผนการปฏิรูปที่ละเอียดและโปร่งใส
เพื่อผู้มีสิทธิจะได้เลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธเอง
จะมีใครตั้งข้อสงสัยอีกไหมว่า
ทักษิณซื้อสื่อใหญ่ในโลกไปหมดแล้ว?
____________________________________
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline
+++
สื่อนอกมองการชุมนุมไทย “Le Petit Journal”ในม็อบ“กปปส.” กับรายงาน“ตลกร้าย”ที่ขำไม่ออก
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391604733
. . วันพุธที่ 05 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 20:25:02 น.
( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ31 ม.ค. - 6 ก.พ. 2557 ปี34 ฉ.1746 หน้า16 )
รายงานพิเศษ
มหากาพย์การชุมนุมของ "มวลมหาประชาชน" ในขณะนี้ ใช่ว่าได้รับความสนใจจากเพียงสื่อมวลชนในประเทศเท่านั้น
หากสำรวจดูบรรดานักข่าวภาคสนามซึ่งลงพื้นที่ จะพบว่ามีสื่อมวลชนต่างชาติมากมายให้ความสำคัญกับการชุมนุมของ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ "กปปส."
โดยเฉพาะจากประเทศยุโรป ที่ระบอบประชาธิปไตยลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนักในบ้านเมือง
อย่างล่าสุด รายการ "Le Petit Journal" ซึ่งเป็นรายการข่าวช่องหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส มีผู้ดำเนินรายการซึ่งมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอย่างมาก คือ "ยาน บาร์เตช (Yann Barthe′s)" ได้ส่งนักข่าวมาลงพื้นที่ นำเสนอรายงานความเคลื่อนไหวการชุมนุมในประเทศไทยด้วย
แต่ทว่า ท่วงทำนองในการนำเสนอ กลับเต็มไปด้วย "คำถาม"
การตัดต่อที่ออกไปในแนวประชด เหน็บ จิก กัด บรรดาผู้ชุมนุมที่ร่วมกันเป่านกหวีด ซึ่งทำการ "ชัตดาวน์" กรุงเทพฯ อยู่ในขณะนี้
วิเคราะห์แล้วว่าเกิดขึ้นจากความ "ไม่เข้าใจ" ว่าเหตุใดผู้ชุมนุมที่อ้างว่าทำเพื่อ "ประชาธิปไตย" แต่ข้อเรียกร้องที่ต้องการคือ "ไม่เอาการเลือกตั้ง"
รวมถึงข้อเสนอ "สภาประชาชน" ที่ไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง
รายการ "Le Petit Journal" ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมของ กปปส. เริ่มต้นออกอากาศตอนแรกเมื่อวันที่ 20 มกราคม
ยาน บาร์เตช ซึ่งเป็นพิธีกรในห้องส่ง กล่าวเริ่มต้นรายการช่วงนี้ด้วยการแนะนำประเทศไทยว่า เป็นดินแดนในฝัน เป็นดั่ง "จุดหมายปลายทาง" ของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก มีน้ำทะเลใส สามารถดำผุดดำว่ายดูปลาเล็กปลาน้อย หลากสีสัน
ก่อนที่ภาพจะตัดไปรายการข่าวอื่นๆ ซึ่งนำเสนอการชุมนุมประท้วงของประเทศไทยในขณะนี้
พิธีกรจึงเริ่มนำสู่เรื่องราวการชุมนุมที่เกิดขึ้น ปูพื้นฐานให้ชาวเมืองน้ำหอมที่อาจยังไม่รู้ในแง่มุมนี้ จากนั้น ตัดภาพมาที่เหตุการณ์ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งมี "มาร์แต็ง แวย์ (Martin Weill)" นักข่าวผู้มาเกาะติดการชุมนุมกลุ่ม กปปส. เป็นคนรายงาน สลับถาม-ตอบ เล็กน้อย
ยาน บาร์เตช : คนที่มาประท้วงเป็นใคร?
มาร์แต็ง แวย์ : เป็นคนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่ง ระดับชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ
ยาน บาร์เตซ : ผู้ชุมนุมจะไม่ทำอะไรที่เป็นเหตุการณ์เลวร้ายใช่ไหม?
มาร์แต็ง แวย์ : บอกไม่ได้ ที่ตอบได้คือพวกเขาต้องการให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออก อ้างว่ามีการคอร์รัปชั่น ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ชุมนุมที่ไม่เอาการเลือกตั้ง เพราะคิดว่า เลือกตั้งอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็ชนะ เขาต้องการให้รัฐบาลลาออก เพื่อที่จะได้มีการตั้งสภาประชาชนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
บทสนทนาเปิดรายงานของ 2 พิธีกรออกมาในทำนองนี้
จากนั้น ภาพตัดไปที่การเคลื่อนขบวนของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. พิธีกรภาคสนามตรงเข้าไปถามผู้ร่วมเดินขบวนในวันนั้นว่า มีอุปกรณ์อะไรบ้าง หญิงสาวใส่แว่นบอกมีธงชาติ และมือตบ ขณะที่ชายสวมแว่นดำ เป่านกหวีดใส่ไมโครโฟนดังปรี๊ดแล้ว บอกว่า "เป่านกหวีดให้กรีดหัวใจ...เป่านกหวีดคัดค้าน"
จากนั้น มาร์แต็ง แวย์ ก็เข้าไปพูดคุยกับสุเทพ ถามถึงสิ่งที่ชาวต่างชาติหลายๆ คนเป็นห่วงว่า ที่กำลังต่อสู้อยู่นี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประชาธิปไตย?
สุเทพตอบว่า "เขาเข้าใจผิดครับ สื่อมวลชนหรือคนทางตะวันตกไม่รู้ข้อเท็จจริงในประเทศไทย...ไม่รู้ในรายละเอียดว่าในประเทศไทยนี้มันมีการโกงการเลือกตั้ง มันมีการซื้อเสียง"
ฉับพลัน ภาพตัดไปตอนที่สุเทพกำลังเอื้อมมือรับเงินที่ผู้คนสองข้างทางยื่นให้ ภาพจับไปที่ถุงกระสอบซึ่งภายในมีธนบัตรบรรจุอยู่
นี่คือ "ตลกร้าย" ที่ดูเหมือนว่ารายการ "Le Petit Journal" จงใจนำเสนอ
เพราะในขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมอ้างว่าไม่ยอมรับการเลือกตั้ง เลือกทีไรก็แพ้เพราะอีกฝ่ายใช้เงินซื้อเสียง หากแต่ภาพที่ปรากฏคือตนเองเดินรับเงิน
แต่พิธีกรภาคสนามก็ยังให้โอกาส เอกณัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. ได้อธิบายว่า ที่เดินรับเงินอย่างนี้ เพราะว่าบัญชีธนาคารของนายสุเทพ รวมถึงแกนนำคนอื่นๆ ได้ถูกอายัดไว้ไม่สามารถเบิกมาใช้ได้
มาร์ติล เวล์ล ยื่นไมโครโฟนไปถามผู้หญิงคนหนึ่งว่าจะให้เงินสุเทพเท่าไหร่ เธอตอบว่า 2,000 บาท เขาบอกว่าเป็นจำนวนเงินที่มาก เธอตอบกลับมาว่า ไม่มากหรอกสำหรับพวกเรา
ขณะที่ผู้หญิงซึ่งขับรถหรูมาร่วมชุมนุมบอกว่า "เราสู้เพื่อชาติค่ะ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บอกว่าจ้างเรามา 500 (บาท) เราไม่ใช่ 500 (บาท) ค่ะ เพราะเราขับปอร์เช่มา คุณก็รู้นี่คะว่าฐานะเราไม่ใช่ว่าจะมาเพื่อ 500 (บาท)"
คำตอบทำนองนี้ จึงไม่แปลกที่สื่อต่างชาติจะวิเคราะห์ไว้อย่างเข้าใจการเมืองไทยว่า นี่คือการต่อสู้ของคนชั้นกลาง ถึง ชนชั้นสูง
จากนั้นตัดภาพไปที่เหตุการณ์ระเบิดซึ่งเกิดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยพิธีกรภาคสนามบรรยายว่า เหตุการณ์แบบเทศกาลอย่างเมื่อครู่ (การเดินถนนเก็บเงินสนุกสนาน) ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา ยังมีด้านตึงเครียด เพราะในเวทีการชุมนุม ได้มีคนขว้างระเบิดใส่ ซึ่งตำรวจยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้
ตอนแรกของรายการ จบด้วยการที่ มาร์แต็ง แวย์ ตามตำรวจไปยังที่เกิดเหตุ เพื่อค้นหาความจริงต่อเหตุการณ์ระเบิด
รายงานเกี่ยวกับการชุมนุมในประเทศไทยตอนที่ 2 ออกอากาศในวันถัดมา
ยาน บาร์เตซ พิธีกรในห้องส่งเปิดรายงานด้วยการบอกเล่าถึงเหตุการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เหตุระเบิดที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บกว่า 50 คน และบอกว่า ประเทศไทยตอนนี้รัฐบาลเตรียมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งยังแสดงความเป็นห่วง มาร์แต็ง แวย์ ผู้สื่อข่าวภาคสนาม เกรงว่าจะกลับโรงแรมที่พักไม่ได้ แต่ทางภาคสนามตอบกลับไปว่า ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร
ยาน บาร์เตช : (กล่าวนำเข้าประเด็น) เมื่อวันก่อนคุณอยู่กับผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่ เป็นอย่างไรบ้าง?
ภาพตัดไปที่เหตุการณ์ตอนกลางวัน
มาร์แต็ง แวย์ : การชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ณ ใจกลางเมืองเป็นแบบนี้ มีคนประท้วงเยอะ มีคนรุ่นใหม่มาร่วมประท้วงด้วย
กล้องจับภาพไปที่ผู้ชุมนุมพบว่า บ้างกำลังหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป บ้างกำลังนั่งเล่นมือถือ (ไม่ได้สนใจฟังแกนนำบนเวที) จากนั้น มาร์แต็ง แวย์ ก็เข้าไปถามหญิงสาว 2 คนว่า คุณกำลังเล่นเฟซบุ๊ก เช็กอินแจ้งว่าคุณอยู่ที่นี่ใช่ไหม?
คำตอบคือ "ใช่ ฉันกำลังบอกให้คนรู้ว่าเราปิดกรุงเทพฯ บอกว่าวันนี้เราต้องออกมาประท้วง"
ขณะที่อีกคนอวดรูปถ่ายตนเองยืนถือธงชาติไทย อยู่ตรงแยกปทุมวัน พร้อมกับบอกว่า จะอยู่ที่นี่ไปจนกว่าจะชนะ
จากนั้นคนรุ่นใหม่ทั้งคู่ก็พาผู้สื่อข่าวภาคสนามเดินชมบรรยากาศการชุมนุม ตอนนี้เองที่ มาร์แต็ง แวย์ ถามคำถามที่ชาวต่างชาติหลายๆ คนสงสัย
มาร์แต็ง แวย์ : ทั้งคู่เป็นคนรุ่นใหม่ ทำไมถึงออกมาเคลื่อนไหวที่ใครต่อใครบอกว่า ต่อต้านประชาธิปไตย
หญิงสาว : ไม่ใช่ คุณต้องดูประชาธิปไตยที่เรามีตอนนี้ ประเทศนี้มีการคอร์รัปชั่น การเลือกตั้งก็มีการซื้อสิทธิขายเสียง เราต้องกวาดล้างให้หมดสิ้นไป
มาร์แต็ง แวย์ : คุณสุเทพ แกนนำของคุณก็โดนกล่าวหาว่ามีการคอร์รัปชั่นด้วย
หญิงสาว : ฉันคิดว่าเราต้องเลือก ระหว่าง...
มาร์แต็ง แวย์ : (พูดแทรก) 2 ความชั่วร้าย
หญิงสาว : ใช่ แต่ที่เป็นปัญหาสุดคือรัฐบาลปัจจุบัน
ฟังบทสนทนาตอนนี้แล้ว ไม่เรียกว่าเป็น "ตลกร้าย" ก็ไม่รู้จะวิเคราะห์เป็นอย่างอื่นได้ เพราะในขณะที่ผู้ชุมนุมยอมรับการคอร์รัปชั่นอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่สำหรับแกนนำของตัวเอง ซึ่งก็เต็มไปด้วยข้อครหาเรื่อง "คอร์รัปชั่น" เช่นเดียวกัน กลับยอมได้
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ "ปฏิกิริยา" จาก "สื่อต่างชาติ" ที่มีต่อการชุมนุมของ กปปส. ในประเทศไทย
กล่าวสำหรับรายการ "Le Petit Journal" เป็นรายการข่าวและวาไรตี้ที่นำเสนอเรื่องการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาหนักๆ ออกอากาศในช่วงหัวค่ำที่ถือว่าเป็น "ไพรม์ ไทม์" โดยเป็นรายการที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในหมู่ปัญญาชนหัวก้าวหน้าของฝรั่งเศส
ทั้ง 2 ตอนที่เป็นรายงานเกี่ยวกับการชุมนุมในประเทศไทย นำเสนอตอนละ 5 นาทีเท่านั้น
แต่เป็น 5 นาทีที่ชี้ให้เห็นว่า ในสายตาประชาคมโลก เขามองการชุมนุมของ กปปส. ว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจเข้าใจได้เลย
การอ้างว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่วิธีการที่ใช้ ไม่ได้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่อง "ไม่เอาเลือกตั้ง"
เป็น "ตลกร้าย" ที่ประชาคมโลก "ขำไม่ออก"
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย