.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เมืองไทยหลังเลือกตั้ง
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/02/51729
. . Tue, 2014-02-11 16:44
( ที่มา: โลกวันนี้วันสุข 7 กุมภาพันธ์ 2557 )
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ในที่สุด การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ก็ผ่านพ้นไป แม้ว่าจะยังคงมีปัญหาการเลือกตั้งไม่สมบูรณ์อยู่บ้าง เพราะถูกขัดขวางจากผู้ชุมนุม กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ 8 จังหวัด และยังเกิดจากการปฏิบัติงานอันล้มเหลวของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ทำให้ประชาชนที่ต้องการเลือกตั้ง ไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่โดยทั่วไปถือว่า สถานการณ์ผ่านไปได้เรียบร้อยพอสมควร ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง และประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศได้ใช้สิทธิของตน ซึ่งเป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนส่วนข้างมากที่สนับสนุนประชาธิปไตย และไม่สนับสนุน กปปส.หรืออำนาจนอกระบบทั้งหลาย และจะมีส่วนทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยก้าวหน้าต่อไป
แต่กระนั้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า ความขัดแย้งระหว่างพลังฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยยังมิได้ยุติลง
ในขั้นตอนต่อมาจากนี้ ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยคงต้องหาทางดำเนินการให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ โดยหนทางที่เป็นไปได้ที่สุด คือ การดำเนินการผ่านศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะหาช่องในเรื่องความผิดพลาดในด้านธุรการของการจัดการเลือกตั้งมาเป็นเหตุล้มการเลือกตั้ง และอาจจะใช้คณะกรรมการ ปปช.ตัดสิทธิ์นักการเมืองฝ่ายพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อสร้างความวุ่นวายในประเทศต่อไป โดยมีเป้าหมายเฉพาะหน้าที่เห็นชัดเจนคือ การสกัดขัดขวางไม่ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีเสถียรภาพขึ้นบริหารประเทศ
ทั้งหมดนี้ ยังคงอยู่ในความพยายามเดิมของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย นั่นคือ การหาทาทางให้กองทัพก่อการรัฐประหารเพื่อโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรลงให้จงได้
ทั้งนี้ คงต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า ความพยายามในการเรียกร้องการรัฐประหารของกองทัพ เป็นความพยายามที่เห็นได้ตลอดมา จากการเคลื่อนไหวของฝ่ายม็อบ กปปส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นับตั้งแต่เริ่มแรกชุมนุมเมื่อวันที่ 31ตุลาคม เป็นต้นมา ทั้งที่การเมืองแบบรัฐประหารเป็นสิ่งที่ล้าสมัยอย่างมากในกระแสการเมืองโลกปัจจุบัน แต่กลุ่มชนชั้นนำไทยที่สนับสนุนฝ่าย กปปส.กลับเห็นว่า การรัฐประหารเป็นวิธีการอันเบ็ดเสร็จและฉับพลันที่สุดในการที่จะล้มล้างรัฐบาลที่ฝ่ายของตนไม่นิยม วิธีการก่อการรัฐประหารจึงอยู่ในความคิดจิตใจของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยไทยตลอดมา แต่ในครั้งนี้ ความพยายามในการเรียกร้องรัฐประหารของฝ่ายม็อบนายสุเทพ ยังไม่ประสบความสำเร็จด้วยปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ คือ การที่โลกนานาชาติต่างก็แสดงท่าทีชัดเจนที่จะสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนรัฐประหาร และจากการที่มีกระแสนักวิชาการและประชาชนจำนวนมากแสดงท่าทีสนับสนุนการเลือกตั้ง และต่อต้านรัฐประหาร จึงทำให้กองทัพไทยไม่สามารถที่จะตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของฝ่าย กปปส.ได้
เมื่อการรัฐประหารไม่เกิดขึ้น อำนาจการคุกคามทางการเมืองของ กปปส.ก็อ่อนแรงลงทุกที เพราะลำพังการเคลื่อนไหวชุมนุมประชาชนฝ่ายขวาแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะมีจำนวนมวลมหาประชาชนมากเพียงใด ก็ไม่สามารถจะทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกโค่นล้มลงได้ ยิ่งกว่านั้น ตั้งแต่ กปปส.เลือกใช้วิธีการปิดกรุงเทพฯตั้งแต่วันที่ 13 มกราคมเป็นต้นมา ก็ได้สร้างความเดือดร้อนอย่างสาหัสให้กับประชาชนชาวเมืองหลวง และยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศประสบความเสียหายอย่างมาก จึงกลายเป็นแรงปฏิกิริยาตีกลับ ทำให้ประชาชนจำนวนมากเอือมระอาและปฏิเสธการเคลื่อนไหวของฝ่ายนายสุเทพ และยิ่งเป็นการชี้ได้ชัดเจนว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนม็อบนายสุเทพนั้น เป็นคนส่วนข้างน้อยในสังคมไทย และวิธีการอันเป็นอันธพาลกวนเมือง ก่อความรุนแรงคุกคามประชาชนของฝ่ายคุณสุเทพ ไม่อาจจะทำให้ฝ่ายของตนบรรลุเป้าหมายทางการเมือง หรือได้รับชัยชนะได้
และเมื่อมาถึงวันนี้ เมื่อประชาชนส่วนใหญ่แสดงเจตนารมณ์โดยการไปเลือกตั้งแล้ว ฝ่ายม็อบ กปปส.จะเคลื่อนไหวอะไร ด้วยวิธีการอย่างไร จะยกกำลังไปปิดที่ไหน หน่วยราชการไหน ก็คงปราศจากผลสำเร็จทางการเมือง และที่น่าสนใจความตกต่ำทางการเมืองของ กปปส. ก็สะท้อนถึงความตกต่ำของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะด้วย ที่ตัดสินใจผิด คว่ำบาตรไม่เข้าร่วมในกระบวนเลือกตั้ง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์พ้นไปจากเวทีรณรงค์ทางการเมือง และในขณะนี้ ก็ยังมองไม่เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาสู่เวทีการเมืองปกติได้อย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็คงต้องนำพรรคให้สนับสนุนวิธีการแบบอันธพาลและก่อกวนแบบนายสุเทพ เทือกสุบรรณต่อไป นอกจากนี้คงต้องหาทางสนับสนุนศาลรัฐธรรมนูญและองค์การอิสระอื่นๆ ดำเนินการใช้วิธีนอกกฎหมาย เพื่อตอนสนองแนวคิดของฝ่ายปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย และนี่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยยังจบไม่ลง
สำหรับม็อบนายสุเทพ หลังจากการเลือกตั้ง ได้ประกาศลดการปิดกรุงเทพฯ 7 จุด ก็ประกาศให้ลดลงเหลือ 4 จุด โดยเลิกชุมนุมที่แยกลาดพร้าว และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อ้างกันว่าบรรลุชัยชนะแล้ว แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าม็อบนายสุเทพต้องลดขนาดการปิดกรุงเทพฯเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว ไม่มีกำลังประชาชนมาสนับสนุนการชุมนุมมากเพียงพอ และยุทธศาสตร์การปิดกรุงเทพฯเช่นนี้ก็ไร้ผลในการสร้างสถานการณ์ให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบ
ดังนั้น ม็อบนายสุเทพจึงต้องพยายามหาวิธีใหม่ และทางดิ้นรนล่าสุดของฝ่ายม็อบนายสุเทพ ที่เพิ่งจะประกาศในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คือ การจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ไปปิดหน่วยราชการในกรุงเทพที่จะเปิดทำงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า วิธีการที่กล่าวอ้างนี้ไม่ได้เป็นมุกใหม่อะไร เพราะม็อบนายสุเทพ พยายามจะปิดหน่วยราชการเพื่อให้การบริหารประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นอัมพาตมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ปิดแล้วเปิด เปิดแล้วปิดมาหลายครั้ง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยังไม่เคยเป็นอัมพาต การประกาศใช้วิธีแบบแบบนี้จึงสะท้อนการจนมุมสิ้นคิดของฝ่ายนายสุเทพนั่นเอง
สำหรับฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนี้ วิธีการที่ดีที่สุดก็คือเดินหน้าต่อไปโดยยึดหลักกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และยึดหลักการประชาธิปไตย อิงเสียงประชาชนเป็นกำลังสนับสนุน ดำเนินการตามขั้นตอนไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ให้สำเร็จ โดยอาศัยความร่วมมือจากพรรคการเมืองทั้งหลายที่ร่วมการเลือกตั้ง ยิ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ดำเนินการให้ถูกต้องตามครรลองแห่งกฏหมายและหลักความชอบธรรม ก็จะยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย และม็อบนายสุเทพให้อกแตกตายแล้วถลำตัวลงเหวมากยิ่งขึ้น
แต่ที่สำคัญรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่าไปยอมรับการเกี้ยเซียะประนีประนอมโดยละเมิดหลักการกับฝ่ายอำนาจนอกระบบอย่างเด็ดขาด แล้วการเมืองไทยจะพัฒนายกระดับไปสู่ความเป็นอารยะในระยะยาว
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย