http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-18

กบฏกระฎุมพี (2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
อ่านตอนแรก - กบฏกระฎุมพี (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์  http://botkwamdee.blogspot.com/2014/02/n1bourgeoisie.html
......................................................................................................................................................................................

กบฏกระฎุมพี (2)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392649284
. . วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 08:00:03 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 17 ก.พ.2557 )


( ต่อ )

ในทางการเมือง กระฎุมพีอาจเคยต่อสู้กับเผด็จการทหารมาแล้ว ทั้งใน 14 ตุลาและพฤษภามหาโหด แต่เผด็จการทหารที่กระฎุมพีไทยรับไม่ได้ คือเผด็จการทหารแบบอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างระบอบสฤษดิ์ หรือความพยายามจะรื้อฟื้นระบอบนั้นกลับคืนมาใหม่ของ รสช. เพราะเผด็จการแบบนั้นไม่เอื้อต่อการเติบโตอย่างอิสระของกระฎุมพี ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม หรือการเมือง แต่กระฎุมพีไทยไม่รังเกียจระบอบปกครองที่อยู่ภายใต้การชี้นำและกำกับของทหาร ในทรรศนะของพวกเขา ระบอบนี้เท่านั้นที่จะดำรงรักษาระเบียบสังคมที่เอื้อต่อความเจริญก้าวหน้าของพวกเขา เพราะเป็นระบอบที่เปิดให้ปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพได้มาก ตราบเท่าที่ไม่ใช้เสรีภาพไปบั่นรอนโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ของสังคม ทุกคนมีตำแหน่งแหล่งที่ของตนเอง และตำแหน่งแหล่งที่ของกระฎุมพี ก็หาใช่ตำแหน่งแหล่งที่อันต้อยต่ำแต่อย่างใด ทั้งยังสามารถเขยิบขึ้นได้อีกด้วย (หากใช้เส้นสายให้เป็นและถูก) คนอย่างทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละคือวีรบุรุษ "อัศวินคลื่นลูกที่สาม" ของพวกเขา เพราะใช้เส้นสายเป็นและถูกจนเขยิบขึ้นมาเป็นอภิมหาเศรษฐี

กระฎุมพีไทยคือผู้ต้องการรักษาสถานะเดิม(status quo) ซึ่งทำให้เขาได้เปรียบ จึงพร้อมจะต่อสู้อย่างไม่คิดชีวิตและกฎกติกาใดๆ เพื่อรักษาสถานะเดิมไว้

ในคำว่าสถานะเดิมนี้ หมายถึงระเบียบสังคมประเภทใด สรุปให้เหลือสั้นๆ คือความลดหลั่นเป็นช่วงชั้นของสังคมนั่นเอง คนมีสถานะที่สูงต่ำโดยกำเนิด โดยการศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือโดยทรัพย์สมบัติ เพราะทรัพย์สมบัติคือตัวกลางความสัมพันธ์ทางสังคมที่สำคัญที่สุดที่กระฎุมพีรู้จักและคุ้นเคย

และด้วยเหตุดังนั้นกระฎุมพีไทยจึงมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์สูง(ส่วนจะจงรักภักดีหรือไม่เป็นคนละเรื่อง) เราต้องไม่ลืมว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีบทบาทและอิทธิพลสูงมากขึ้น อย่างรวดเร็วหลังการรัฐประหารใน พ.ศ.2500 เป็นต้นมา (ไม่เฉพาะในทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงด้านวัฒนธรรม, สังคม และเศรษฐกิจด้วย) อันเป็นช่วงที่กระฎุมพีขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าคนไทยที่เกิดก่อน 2500 และหลัง 2500 มีญาณทัศน์ (perception) ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต่างกันอย่างมาก

สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของระเบียบสังคมหรือสถานะเดิมที่กระฎุมพีไทยส่วนใหญ่ต้องการเหนี่ยวรั้งไว้ให้ดำรงอยู่สืบไป



นับตั้งแต่ 14 ตุลาเป็นต้นมา กระฎุมพีมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงขึ้นอย่างชัดเจน เพราะกระฎุมพีคือลูกค้าของสื่อหลักแบบเดิม (หนังสือพิมพ์กระดาษ, ทีวีเสาอากาศ, วิทยุเสาอากาศ) กระจุกตัวในพื้นที่แคบๆ คือเมือง จึงอาจถูกกระตุ้นให้รวมตัวกันแสดงพลังต่อรองทางการเมืองได้ง่ายและเร็ว เมื่อดึงความร่วมมือจากกลุ่มอื่นในเขตเมืองด้วยกันมาได้ เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรม, สื่อ, นักวิชาการ และปัญญาชน ก็อาจกำหนดวิถีทางการเมืองและนโยบายสาธารณะได้เกือบเด็ดขาด

น่าสังเกตด้วยว่า การเลือกตั้งหรือการรณรงค์เพื่อสนับสนุนนโยบายสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เคยเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมืองของกระฎุมพี (ก่อน 2540 สถิติผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของกรุงเทพฯ มักต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด)

การเป็นคนฉลาดจำนวนน้อยที่คอยดูแลปกครองคนโง่จำนวนมาก จึงรู้สึกเป็นภาระหน้าที่ของกระฎุมพี และเป็นความมีระเบียบของสังคมไปพร้อมกัน (นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งหลัง 6 ตุลา คิดว่าเพลโตคือผู้วางรากฐานประชาธิปไตย สะท้อนว่า "ประชาธิปไตย" ในทรรศนะของกระฎุมพีคือระบอบปกครองของคนฉลาด โดยคนฉลาด เพื่อประชาชน)



ผมควรกล่าวด้วยว่า ทัศนคติของกระฎุมพีเช่นนี้ไม่ได้เกิดกับกระฎุมพีไทยเพียงฝ่ายเดียว แต่เคยเกิดแก่กระฎุมพีอังกฤษ, ฝรั่งเศส, สหรัฐ, ฯลฯ มาแล้ว เดอ ต๊อคเคอวิลล์ ผู้ให้อรรถาธิบายแก่ประชาธิปไตยอเมริกันที่ดีที่สุดคนหนึ่ง เคยแสดงความวิตกว่า เมื่อประชาธิปไตยอเมริกันซึ่งมีแนวโน้มพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยมวลชนมากขึ้น ข้อดีและพลังของประชาธิปไตยอเมริกันที่เขาชื่นชมก็จะเสื่อมลงไป แต่ในยุโรปตะวันตกและสหรัฐ กระฎุมพีสามารถก้าวข้ามปรัชญา "คนไม่เท่ากัน" ไปได้ เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ช่วยสนับสนุน ผมอยากพูดถึงปัจจัยเหล่านี้ในเมืองไทย

หลายคนมักนึกถึงเศรษฐกิจที่พัฒนาได้ทั่วถึงจนฐานะทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ดีขึ้นแต่ความจริงแล้วนี่คือสิ่งที่เกิดในเมืองไทยเวลานี้ซึ่งกลับทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองมากขึ้น ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจสืบเนื่องมาหลายปี ทำให้คนจำนวนมากต้องเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มตัวมากขึ้นแม้อย่างเสียเปรียบ แต่ก็ทำให้รายได้ของเขาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเข้าสู่ตลาดบังคับให้เขาต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง เพราะนโยบายสาธารณะของรัฐกระทบชีวิตของเขา

ตรงกันข้ามกับที่เห็นในเมืองไทย ประชาธิปไตยอังกฤษและฝรั่งเศสขยายตัวไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนวงกว้างขึ้น (แม้ไม่ใช่ผ่านสิทธิเลือกตั้ง) ในขณะที่สังคมอังกฤษและฝรั่งเศสยังมีความข้นแค้น (pauperism) อยู่ดาษดื่นด้วยซ้ำ การต่อสู้เพื่อล้มเลิกกฎหมาย The Poor Law และ Corn Law ในอังกฤษนั้น แม้มีกระฎุมพีเป็นผู้นำ (เพราะกฎหมายเหล่านี้กีดกันมิให้แรงงานกลายเป็นสินค้าเต็มตัว จึงขัดขวางความก้าวหน้าของทุนนิยม) แต่ก็มีคนจนและคนข้นแค้นจำนวนมากหนุนช่วยอยู่เบื้องหลัง ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา (เช่นก่อจลาจลด้วยความหิวอยู่บ่อยๆ)

เหตุใดในที่สุดแล้วกระฎุมพีอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐจึงยอมรับความเสมอภาคทางการเมืองของเพื่อนๆ โอลิเวอร์ ทวิสต์, พวก sans coulotte, และ hilly-billy ในเคนตักกี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเด็ดขาดเพียงปัจจัยเดียวอย่างแน่นอน

ผมอยากให้คำตอบโดยสรุปแก่คำถามข้างต้นว่าปัจจัยสำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่สองด้าน
หนึ่งคือการลดความแปลกแยกของกระฎุมพีกับสังคมลง และอีกด้านหนึ่งคือการยอมให้ชนชั้นล่างได้เคลื่อนไหวเพื่อต่อรองทางการเมืองได้



การขยายการศึกษาคงมีส่วนสำคัญในการลดความแปลกแยกทางสังคมของกระฎุมพีลูกหลานของชนชั้นล่างได้เรียนหนังสือที่มีคุณภาพไม่ด้อยกว่ากันจนจำนวนไม่น้อยมีโอกาสได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับสูง กระฎุมพีและคนอื่นสามารถพูดภาษาเดียวกันได้ ในเมืองไทยแม้มีการขยายการศึกษาตลอดมา แต่เรามักเอาเป้าหมายทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำ เช่นผลิตแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้น จึงแยกการศึกษาระหว่างลูกหลานกระฎุมพีไว้ในโรงเรียนดังเพื่อเตรียมนักบริหาร ส่วนคนอื่นเรียนในโรงเรียนทั่วไปซึ่งด้อยคุณภาพกว่ากันมาก ถูกเตรียมเพื่อเป็นแค่แรงงานฝีมือ กระฎุมพีไทยจึงยังแปลกแยกจากสังคมเหมือนเดิม

การศึกษากำหนดประสบการณ์ของกระฎุมพีให้ต้องมีวิถีชีวิตที่แปลกแยกต่อไปเพราะแทบไม่ได้สัมพันธ์กับคนต่างสถานภาพอื่นอีกนอกจากในฐานะนาย-บ่าว คำพูดของปัญญาชนกระฎุมพีคนหนึ่งที่ว่า คนอีสานเป็นได้แค่เด็กปั๊มและคนรับใช้สะท้อนประสบการณ์แห่งความแปลกแยกทางสังคมที่ชัดเจนที่สุด

นอกจากวิถีชีวิตแล้วอุดมการณ์ชีวิตในวัฒนธรรมไทยก็ไม่ส่งเสริมสำนึกความเสมอภาคมากนัก เช่นพุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปในสมัย ร.5 เป็นต้นมา เน้นหลักบุญทำกรรมแต่งซึ่งทำให้ต้องยอมรับความไม่เสมอภาคของบารมีหรือความดีที่ได้สั่งสมมาในอดีตชาติของแต่ละคนในขณะที่หลักของพุทธศาสนาที่เน้นศักยภาพของมนุษย์ทุกคนซึ่งสามารถเข้าถึงสิ่งสูงสุดในชีวิตได้เหมือนกัน ไม่เคยถูกเน้นเลยจนถึงคำสอนของท่านพุทธทาส

อาจเป็นเพราะความแปลกแยกดังกล่าวนี้ ทำให้กระฎุมพีไทยไม่เป็นปราการให้แก่สิทธิการเคลื่อนไหวต่อรองของชนชั้นล่าง รัฐทุนนิยมไทยใช้กำลังและมาตรการนอกกฎหมายนานาชนิดในการปราบปรามการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านที่ต่อต้านทุนในการแย่งยื้อทรัพยากร หรือทำลายทรัพยากรท้องถิ่น เกษตรกรที่เรียกร้องราคาผลผลิตที่เป็นธรรม ฯลฯ ในขณะที่กระฎุมพีไทย ไม่รู้สึกหวงแหนสิทธิเสรีภาพของชนชั้นล่างเหล่านั้น ตรงกันข้ามเสียอีก กระฎุมพีไทยอาจรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นที่มีรัฐคอยรักษาระเบียบสังคมของความไม่เท่าเทียมหรือสถานะเดิมไว้ให้อย่างเข้มแข็ง

และแล้ววันหนึ่งโลกทรรศน์และจินตนาการทางการเมืองเช่นนี้ก็เป็นไปไม่ได้ในสังคมไทยอีกต่อไปเพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดขึ้น โลกที่ปลอดภัยมั่นคงของกระฎุมพีกำลังสลายลงต่อหน้า จะหยุดยั้งความแปรเปลี่ยนของระเบียบสังคมที่กระฎุมพีไทยคุ้นเคยได้อย่างไร ดูจะไม่มีวิธีอื่นเลยนอกจากสองทาง หนึ่งคือปรับตัวเองให้เข้ากับระเบียบสังคมใหม่ที่ต้องยอมเปิดพื้นที่ให้แก่คนแปลกหน้าจำนวนมากเข้ามาต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน(ซึ่งผมก็ยอมรับว่าประสบการณ์และทักษะของกระฎุมพีไทยในด้านนี้มีไม่มากนัก ทั้งๆ ที่กระฎุมพีมี "ทุน" ทางการเมือง, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมสูงกว่าคู่แข่งมาก) หรือสองคือหยุดยั้งความแปรเปลี่ยนของระเบียบสังคมนี้ทุกวิถีทาง

น่าเศร้าที่กระฎุมพีไทยเลือกหนทางที่สอง และนี่คือ ที่มาของกบฏกระฎุมพีที่เรากำลังเผชิญอยู่


.............



.