http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-04

ประชาธิปไตยในสองพื้นที่ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ประชาธิปไตยในสองพื้นที่
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391425418
. . วันอังคารที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 08:32:48 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 3 กุมภาพันธ์ 2557 )


ในรัฐทุกรัฐ และในทุกรูปแบบ มีพื้นที่อยู่สองอย่างตั้งอยู่เคียงกันเสมอ นั่นคือพื้นที่การเมือง และพื้นที่อาญาสิทธิ์


พื้นที่ทางการเมือง คือพื้นที่ซึ่งคนนับตั้งแต่คนเดียวไปถึงกลุ่มในรูปแบบต่างๆ สามารถเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองอำนาจ, ผลประโยชน์, เกียรติยศ ระหว่างกันในสังคม หรือต่อรองกับรัฐ การเคลื่อนไหวนั้นอาจกระทำได้หลายอย่าง นับตั้งแต่นินทาไปจนถึงสร้างละครล้อเลียน ชุมนุมประท้วง โจมตีวิพากษ์วิจารณ์กันในสื่อหรือในที่สาธารณะ ฯลฯ

พื้นที่อาญาสิทธิ์ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีระเบียบกฎเกณฑ์บังคับ และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่ได้ให้เสรีภาพอย่างไม่มีขอบเขตแก่ทุกคน ในบางรัฐ พื้นที่อาญาสิทธิ์อาจใหญ่มากเสียจนแทบไม่มีพื้นที่ทางการเมืองเหลืออยู่เลย นอกจากระยะห่างของการกระซิบข้างหูเมีย


พื้นที่อาญาสิทธิ์ที่ใหญ่เสียจนแทบไม่มีพื้นที่การเมืองเหลือให้ใครเลยเช่นนี้ แทนที่จะทำให้อาญาสิทธิ์มีความมั่นคงสถาพร ตรงกันข้าม กลับทำให้อาญาสิทธิ์ขาดความมั่นคงอย่างมาก เพราะอิทธิพลของผู้นำแปรเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แม้แค่แก่ลงหรือตายลง ก็อาจทำให้อาญาสิทธิ์สั่นคลอนจนถึงล่มสลายลงได้ เราเห็นอาการของความไม่มั่นคงของอาญาสิทธิ์เช่นนี้ได้ นับตั้งแต่ในซ่องโจรไปจนถึงรัฐเผด็จการทุกรูปแบบ ใครจะคิดได้ว่า ครูสชอฟเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จะลุกขึ้นมาขุดศพสตาลินขึ้นประจาน หลังการตายของเขาไม่ทันถึงสองปีดี หลังมรณกรรมของจอมพลตีโต ยูโกสลาเวียก็แตกสลาย

การไม่มีพื้นที่ทางการเมืองเลย ทำให้อาญาสิทธิ์ขาดความมั่นคง แต่การไม่มีพื้นที่อาญาสิทธิ์เหลืออยู่เลย ก็ทำให้พื้นที่การเมืองเสื่อมโทรมลงจนกลายเป็นซ่องโจรเหมือนกัน เพราะการแข่งขันกันของกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่การเมือง จะกลายสภาพเป็นการใช้ความรุนแรงและอำนาจดิบเข้าใส่กัน ด้วยความหวังว่า จะสถาปนากลุ่มตนเองขึ้นเป็นอาญาสิทธิ์ได้ด้วยวิธีนี้ (และอันที่จริง ปราศจากพื้นที่อาญาสิทธิ์เลยในรัฐใด ก็ไม่เหลือวิธีอื่นในการสร้างอาญาสิทธิ์อีก นอกจากความรุนแรงป่าเถื่อน)



ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จะสถาปนาพื้นที่สองอย่างนี้ร่วมกันอย่างพอเหมาะในรัฐหนึ่งๆ ได้อย่างไร ประชาธิปไตยอ้างว่าคือระบอบปกครองที่เป็นคำตอบ โดยการกระทำสองอย่าง

หนึ่ง คือทำให้อาญาสิทธิ์ได้ต้องได้รับความชอบธรรมจากความเห็นชอบของประชาชน และความชอบธรรมนี้ต้องพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นจำนวนของมือที่ยกขึ้นในประชาธิปไตยทางตรง หรือเป็นคะแนนเสียงซึ่งนับได้จากหีบบัตรเลือกตั้งก็ตาม

สอง คือทำให้พื้นที่การเมืองและพื้นที่อาญาสิทธิ์ต้องได้รับความคุ้มครองและควบคุมจากกฎหมาย (ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากพลเมืองส่วนใหญ่อีกเช่นกัน)

ทั้งอาญาสิทธิ์และการเมือง ตั้งอยู่ร่วมกันในรัฐได้ โดยมีระเบียบกฎเกณฑ์หรือกฎหมายคุ้มครองและควบคุมอยู่ ดังนั้นทุกคนจึงมีสิทธิเสรีภาพเสมอหน้ากันในพื้นที่ทั้งสอง โดยอาญาสิทธิ์ไม่สามารถบีบให้พื้นที่ทางการเมืองหดแคบลง

เพราะมีกฎหมายควบคุมอยู่ ในขณะที่พื้นที่การเมืองก็ไม่สามารถบีบให้พื้นที่อาญาสิทธิ์หดแคบลงหรือสูญหายไป เพราะมีกฎหมายควบคุมอยู่เหมือนกัน


อาญาสิทธิ์ (ไม่ใช่นางสาวยิ่งลักษณ์) ก็จะมีความมั่นคง ในขณะที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะมั่นคงในรัฐประชาธิปไตย

ข้ออ้างเช่นนี้ เป็นการอ้างเอาเองของฝ่ายประชาธิปไตยใช่หรือไม่ ก็ใช่ในแง่หนึ่ง แต่ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์หักล้าง (disprove) ได้ว่าไม่จริง


อย่างไรก็ตาม ที่พรรณนามาทั้งหมดนี้เป็นไปตามทฤษฎี เมื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์รัฐประชาธิปไตยจริงๆ ก็จะพบข้อขัดข้องที่ทำให้ไม่ลงตัวหลายอย่าง ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะประเทศไทยปัจจุบัน

พื้นที่อาญาสิทธิ์ในประเทศไทยนั้นไม่มีความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน (monolithic) อย่างที่ทฤษฎีสมมุติ อันที่จริงแม้ในสังคมประชาธิปไตย-อื่นๆ พื้นที่อาญาสิทธิ์ก็หาได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันไม่ ซึ่งก็ถูกต้องแล้วที่อาญาสิทธิ์สมควรจะถูกถ่วงดุลจากหลายๆ ฝ่าย แต่กฎเกณฑ์การตรวจสอบถ่วงดุลของพื้นที่อาญาสิทธิ์ของไทยนั้น ไม่ได้เกิดจากความเห็นชอบของพลเมืองส่วนใหญ่ หากเกิดจากการต่อสู้ขัดแย้งกันโดยไม่เคารพกติกา เช่น บางฝ่ายร่วมกันใช้วิธีรัฐประหารเป็นเครื่องมือ บางฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญที่วางเงื่อนไขให้การตรวจสอบถ่วงดุลไม่สุจริตมาแต่ต้น แม้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นผ่านความเห็นชอบของพลเมืองส่วนใหญ่ในการลงประชามติที่ไม่ให้ทางเลือกอื่น

ดังนั้น ในพื้นที่อาญาสิทธิ์ของไทยจึงเต็มไปด้วยอำนาจอันหลากหลาย ซึ่งไม่ได้ถูกผูกโยงเข้าหากันด้วยระบบกฎหมายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่างก็อ้างอำนาจจากที่มาซึ่งแตกต่างกันมาก นับตั้งแต่ประเพณี, สถานะนักบวชในศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือ, อำนาจดิบ, ความเห็นชอบของพลเมืองส่วนใหญ่ผ่านการเลือกตั้ง, สถานะทางสังคมที่สูงเช่นนักวิชาการ, อาจารย์มหาวิทยาลัย, หรือปัญญาชน, นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ฯลฯ

อำนาจในพื้นที่อาญาสิทธิ์ของไทยเหล่านี้ แข่งขันแย่งชิงอำนาจนำกันอยู่เสมอมา



สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อาญาสิทธิ์ที่อ้างที่มาแห่งอำนาจจากความเห็นชอบของประชาชนนั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนของอาญาสิทธิ์ที่อ่อนแอที่สุดในการแย่งชิงอำนาจนำในพื้นที่อาญาสิทธิ์ แต่กลับเริ่มมีอำนาจที่ได้จากแหล่งความชอบธรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพื้นที่ทางการเมืองในสังคมไทยเองก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาเหมือนกัน คนชั้นกลางประสบความสำเร็จในการนำ "ปฏิรูปการเมือง" จนเป็นผลให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ประชาชนในชนบทรวมตัวกันต่อสู้ปกป้องสมบัติสาธารณะของชุมชนทั่วไปทั้งประเทศ บางครั้งก็สามารถครอบครองกระแสข่าวของส่วนกลางได้ เช่นกรณีสมัชชาคนจน หรือการประท้วงของสหภาพแรงงานบางแห่ง อีกทั้งประชาชนยังมีโอกาสเลือกตั้งใน อปท.อยู่อย่างสม่ำเสมอ


ในขณะที่ความเห็นชอบของพลเมืองเพิ่มอำนาจนำให้แก่บางสถาบันในพื้นที่อาญาสิทธิ์ ก็ลดอำนาจนำของสถาบันอื่นในพื้นที่เดียวกันไปพร้อมกัน และด้วยเหตุดังนั้น สถาบันที่อาศัยฐานแห่งความชอบธรรมจากสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ความเห็นชอบของประชาชน จึงต้องเข้ามาแย่งอำนาจนำในพื้นที่การเมืองเพิ่มมากขึ้น และถี่ขึ้น

การต่อสู้แย่งชิงอำนาจนำที่เคยซ่อนตัวอยู่หลังฉากในพื้นที่อาญาสิทธิ์ จึงออกมาปรากฏบนท้องถนน, ห้องพิจารณาคดีของศาลบางประเภท, หน้าสื่อทุกประเภท, ห้องแถลงข่าวของนักวิชาการ ฯลฯ



เรากำลังอยู่ในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจนำของสถาบันต่างๆ ในพื้นที่อาญาสิทธิ์ของรัฐ ซึ่งอาจสรุปให้เหลือสั้นๆ ได้เพียง การเพิ่มความสำคัญแก่ฐานความชอบธรรมที่มาจากความเห็นชอบของพลเมือง นี่คือเหตุผลที่เราได้เห็นความเป็นปฏิปักษ์ต่อความปลี่ยนแปลงอันนี้ในพื้นที่อาญาสิทธิ์อย่างล่อนจ้อนในครั้งนี้

รัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์จึงต้องตระหนักให้ชัดด้วยว่า การรักษาพื้นที่อาญาสิทธิ์ให้อยู่ภายใต้การคุ้มครองและควบคุมของกฎหมาย จึงไม่ใช่เพื่อรักษาตัวรอดทางการเมืองเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าคือการรักษาพื้นที่อาญาสิทธิ์ให้ดำรงอยู่อย่างมีความหมายในรัฐของเราต่อไป

การดำรงอยู่ของรัฐบาลรักษาการในสถานการณ์ของการแย่งชิงอำนาจนำในครั้งนี้ คืออนาคตของประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในชาติของเรา



.