.
“รวย-จน” “พอเพียง-ขาดแคลน” “ความดี-บาปกิเลส” และความขัดแย้งทางการเมือง
โดย SUJINTRA
ใน http://blogazine.in.th/blogs/sujintra/post/4594
. . 12 กุมภาพันธ์, 2014 - 10:12
( ภาพของเซีย จาก นสพ.ไทยรัฐ -ไม่มีในบล็อกผู้เขียน )
ขณะที่สื่อประโคมวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง หวังจะให้ประชาชนชาวไทยรู้จักอยู่อย่างพอเพียงเคียงคู่ไปกับการอนุรักษ์พัฒนาที่ยั่งยืน ในทางกลับกัน หากไม่นับรวมด้วยว่าชาติไทยเป็นเมืองเปิด สื่อเองก็มิวายที่จะนำเสนอภาพงามๆ ของความเป็นทุนนิยมอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นความขัดกันกับความพอเพียงอย่างเด่นชัด โดยนำเสนอผ่านละครโทรทัศน์ ที่โดยมากมักนำเสนอแต่เรื่องของคนร่ำรวยมีกิน มีบริษัทห้างร้าน เป็นนักธุรกิจ มีบ้านหลังใหญ่ มีรถหรูขับ ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย แต่งตัวดี มีชาติตระกูล เสกทุกอย่างได้ด้วยเงิน นอกจากนั้นแล้ว การผลิตโฆษณาชวนเชื่อสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ล้วนเป็นการโฆษณาที่มีฐานมาจากกระแสทุนนิยมทั้งสิ้น
ฉันจึงไม่แน่ใจว่าสังคมไทยต้องการอะไรกันแน่ ระหว่างต้องการที่จะให้พลเมืองอยู่อย่างพอเพียง พึงใจกับวิถีดั้งเดิม ใช้ชีวิตอย่างอนุรักษ์ เรียบง่าย จำนนอยู่กับความข้นแค้นอันเป็นสถานะเดิมที่ติดมาแต่รากแห่งความเป็นชนบท หรือต้องการจะให้พลเมืองเกิดความฟุ้งซ่าน วิ่งเต้นแสวงหาวัตถุเงินทองมาสนองความต้องการ ทั้งความต้องการพื้นฐานและความต้องการอื่นๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
อันที่จริง มันก็ไม่แปลกหากสังคมจะเต็มไปด้วยความขัดกันของตัวแปรนานับประการ และเป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้นในสังคม หากพลเมืองทั้งหลายจะเปิดกว้างให้พลเมืองอื่นๆ เลือกวิถีทางของตัวเองในการอยู่ในการเป็นอย่างอิสระ
แต่ก็มิวาย ที่ข้อจำกัดต่อประเด็นนี้ยังคงมีให้เห็นอยู่เกลื่อนกลาด ด้วยเหตุปัจจัยบางประการ
ประการแรก คนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ไม่มีทางออกสำหรับความต้องการพื้นฐานของตัวเอง แต่ตกเป็นเหยื่อโดยตรงของการปลุกปั่นจากกระแสทุนนิยมที่ปลุกเร้าให้ต้องแสวงหา พวกเขาจะสนองความต้องการของตนเองได้อย่างอิสระเสรีได้อย่างไร ในเมื่อข้อจำกัดในการสนองความต้องการพื้นฐานก็จำกัดพวกเขามากพออยู่แล้ว พวกเขายังถูกกระตุ้นให้อยากเป็นคนมีกินที่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในวิถีทางทุนนิยม ขณะเดียวกันก็ยุยงส่งเสริมให้พวกเขาจำยอมอย่างจำนนให้เลือกวิถีทางแบบพอเพียง ให้ยินยอมและมีความสุขอยู่ในวิถีทางพอเพียง ด้วยเช่นนี้ คนจนที่จนอยู่แล้วย่อมหมดสิ้นอิสรภาพในการดำเนินชีวิต ลืมตาอ้าปากได้อย่างยากลำบากไปอีกชั่วลูกชั่วหลาน ชั่วกัลปาวสานเลยทีเดียว
ประการที่สอง การเลือกที่จะอยู่อย่างพอเพียง หรือการเลือกที่จะอยู่อย่างหรูหราในกระแสทุนนิยม ดูเหมือนว่าจะเป็นความขัดแย้งทางความคิดอีกประเด็นหนึ่งในสังคมไทย เนื่องจากพลเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจต่อการเคารพในความต่างของปัจเจก ไม่ได้เข้าใจในปัจจัยปลีกย่อยที่กระทบกระเทือนชีวิตของแต่ละปัจเจก เท่าที่สังเกตพบ คนรวยมักชื่นชอบชื่นชมในวิถีพอเพียง หลายคนอาจถึงขั้นปรารถนาอยากผันตัวไปทำนาหาเลี้ยงตัวเองและยังชีพแบบพอเพียงเสียด้วยซ้ำ ขณะที่คนจนนั้นเอือมระอากับการเป็นชาวนาและหวังจะถีบตัวเองไปเป็นอย่างอื่นที่ร่ำรวยกว่า และไม่อยากจมตัวเองอีกต่อไปในวิถีพอเพียง ซึ่งแท้แล้วสำหรับพวกเขานั้นเป็นเพียงความขาดวิ่นแหว่งเว้าในคุณภาพชีวิตอย่างเลี่ยงไม่ได้
เหล่าพลเมืองจะอยู่อย่างเคารพความต่างในการเลือกวิถีชีวิตของตัวเองได้อย่างไร การเลือกที่จะอยู่อย่างพอเพียง ไม่แสวงหาอะไรอีก ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของคนที่ปรารถนาจะอยู่เช่นนั้น และการเลือกที่จะละทิ้งวิถีพอเพียงไปแสวงหาความต้องการที่กว้างไกลกว่า ก็ย่อมควรเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่จะไม่ถูกเหยียดหยามด้วยเช่นกัน ใช่หรือไม่
แต่เมื่อไตร่ตรองมองดูสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ วิถีที่ขัดแย้งกันอันเนื่องมาจากสถานะ รวย-จน อันแตกต่างของพลเมือง มีส่วนเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ สะท้อนออกมาจากค่านิยมในการนิยามคุณงามความดีของแต่ละฝั่งฝ่าย เมื่อฝ่ายหนึ่งดี อีกฝ่ายหนึ่งก็ชั่วช้า ตัดสินแบ่งค่ากันโดยอ้างอิงเอาจากการเลือกวิถีทางที่แตกต่างเท่านั้นเอง
ในบทความนี้ ฉันเพียงอยากยกตัวอย่างการเหยียดหยามทางเลือกที่คนรวยมีต่อคนจนให้เห็นเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น ด้วยยอมรับว่ามีใจเอนเอียงเลือกข้างคนจนอย่างเลี่ยงไม่ได้
ฝ่ายแรกมีความพึงใจและน้อมรับต่อวิถีพอเพียงมากกว่า ขณะที่ฝ่ายหลังปรารถนาจะปลดตัวเองออกจากวิถีเช่นนั้น ด้วยไม่เคยพบว่าความพอเพียงได้ปรากฏขึ้นจริงในชีวิตอันขื่นเข็ญ
มองไปที่การแบ่งข้างทางการเมือง อาจแบ่งอย่างหยาบๆ ได้ สองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มเสื้อแดงซึ่งส่วนมากเป็นคนจนมาจากชนบท และนิยมรัฐบาล กับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งบรรจุชนชั้นนำทางเศรษฐกิจไว้ในจำนวนที่มากกว่า และเกลียดชังรัฐบาล
พูดให้ง่ายขึ้น กลุ่มแรกมีคนจนมากกว่า และกลุ่มหลังมีคนรวยมากกว่า ก็ไม่น่าจะผิดนัก...
ต่อประเด็นนี้ เมื่อคนรวยไม่เคยทราบว่าความจนนั้นขื่นขมอย่างไร ย่อมไม่เข้าใจความหมายของการเรียกร้องในนโยบายที่มุ่งให้ผลประโยชน์กระจายตัวไปถึงพวกเขาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่ช่วยให้พวกเขามีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นหรือง่ายขึ้น นโยบายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่ถูกลง หรือนโยบายเกี่ยวกับการกู้เงิน เป็นต้น ซึ่งได้ยินกันหนาหูว่าเป็นนโยบายประชานิยม
ขณะที่คนรวยมุ่งไปที่ความไม่เป็นธรรมในเรื่องของการจ่ายภาษี เจ็บแค้นเดือดร้อนกับผลประโยชน์ทางภาษีที่ตัวเองสูญเสียไปซึ่งไม่ได้เทียบเท่ากับภาษีที่อดีตผู้นำรัฐบาลได้ฉ้อฉล แต่คนรวยก็ไม่เคยเข้าใจว่า แม้คนจนจะไม่ได้จ่ายภาษีในจำนวนที่มากเท่ากับพวกเขา แต่คนจนก็ไม่เคยได้รับประโยชน์อะไรจากภาษีอันเล็กน้อยที่พวกคนจนก็ได้จ่ายไปเช่นกัน
ดูเหมือนว่าความทุกข์ของคนจนจะเป็นอะไรที่สาหัสสากรรจ์กว่า และสมควรจะได้รับการเยียวยาก่อนประเด็นอื่น ทั้งนี้ย่อมมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว
คนรวยมองว่าวิถีพอเพียงเป็นวิถีงดงามที่ตนอยากใช้ชีวิตอยู่ ขณะที่คนจนมองไม่เห็นความงามใดๆ ในวิถีพอเพียง แต่กลับโหยหาจะเติมเต็มส่วนที่ตัวเองขาดตลอดเวลา
คนรวยเหยียดหยามคนจนว่าหวังผลประโยชน์ ไม่รู้จักคุณค่าของความพอเพียง มีแต่ความอยากได้อยากมี ทั้งที่คนรวยอาจไม่เคยสัมผัสถึงความขาดแคลนเหมือนอย่างที่คนจนได้สัมผัสมา
คนรวยเสียภาษีมากกว่าคนจน ขณะเดียวกันก็ยังดำรงชีพในรูปแบบที่หรูหรากว่า สุขสบายกว่า เป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยเข้าใจว่าการเป็นชนชั้นล่างที่ล้าหลังทางเศรษฐกิจนั้นทรมานเพียงใด การปรารถนาในวัตถุในหมู่คนจนนั้นเป็นเพียงเรื่องธรรมดา ไม่ใช่บาปกิเลสเลวร้ายแต่อย่างใด แต่คนรวยหลายคนก็ประณามว่านั่นเป็นสิ่งที่คนจนไม่ควรปรารถนา
การนิยามคุณงามความดีและบาปกิเลสได้เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการเลือกวิถีทางที่แตกต่าง ร้อยรัดเชื่อมโยงไปถึงการเลือกรัฐบาล กระทั่งเมื่อพบว่ารัฐบาลได้สร้างความเสียหายบางประการก็ยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมให้การเลือกรัฐบาลกลายเป็นความชั่วช้า
กล่าวก็คือ โดยที่มีการเปรียบเปรยกับความศักดิ์สิทธิ์ของวาทกรรม “พอเพียง” ความปรารถนาในวัตถุเงินทองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเหล่าคนจนจึงกลายเป็นเรื่องชั่วช้าในชั้นต้น และค่อยๆ ขยับขยายกลายเป็นเป็นความชั่วช้าขั้นรุนแรง เมื่อพวกเขาจงใจเลือกรัฐบาลที่ตอบสนองต่อความปรารถนาของพวกเขา แต่มีมลทินในเรื่องของการ “คอร์รัปชั่น” อย่างพรรคเพื่อไทย
น่าเศร้าเหลือเกินที่เกิดการก่อรูปฝังรอยของการเหมารวมเช่นนี้ในสังคมไทยเข้าเสียแล้ว ตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้...
เมื่อคนรวยไม่เคยขาด พวกเขาจึงไม่ได้รู้สึกอยากแสวงหา ขณะเดียวกันอาจเอือมระอาต่อความอยากได้อยากมีของคนจน แม้ความอยากได้อยากมีของคนจนนั้นอาจเป็นเพียงเรื่องความต้องการพื้นฐานทั่วไปเท่านั้น
การนิยมรัฐบาลของคนจนส่วนใหญ่ ถือเป็นเพียงความปรารถนาในการเลือกวิถีชีวิตของตนเองเท่านั้น มิได้ถือว่าเป็นการทำลายชาติแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นที่รู้ๆ กันดีว่า นโยบายเมื่อครั้งที่ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรกนั้น ได้นำพาให้คนจนสามารถเอื้อมมือเข้าถึงความต้องการพื้นฐาน และความต้องการทางวัตถุบางอย่างได้ เช่น การกู้เงินไปซื้อตู้เย็น โทรทัศน์ มอร์เตอร์ไซค์ แม้ว่าจะเป็นการแสวงในวัตถุ แต่ก็ล้วนมีส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย
หากคนรวยเปิดใจสักนิด มองคนจนอย่างเข้าใจในความขาดแคลนซึ่งกระทบกระเทือนโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา คนจนย่อมเป็นเพียงผู้บริสุทธิ์และสมควรมีสิทธิในการได้รับโอกาสเช่นนั้นผ่านเจตจำนงของพวกเขาเอง
การมองว่าคนที่นิยมรัฐบาลเป็นควายโง่ เป็นพวกเห็นแก่ตัว เป็นพวกสนับสนุนผู้ทำลายชาตินั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นความเห็นที่ดูจะคับแคบเกินไป และไม่ได้สอดคล้องกับศีลธรรมดีงามอะไร เนื่องจากเป็นการเหยียดหยามผู้บริสุทธิ์ที่มีสิทธิเลือกทางเดินชีวิตของพวกเขาผ่านการเลือกรัฐบาลโดยการกากบาทในบัตรเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีผลประโยชน์จากนโยบาย(ที่มีมลทินติดตราว่าชั่วช้า) เป็นตัวชักนำก็ตาม
การปลดรัฐบาลออกโดยการขับไล่อย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่ยอมปล่อยวาง และเชื่อมั่นเด็ดเดี่ยวอยู่เช่นนั้นว่าเป็นความดีงามที่จะต้องเอาชนะคะคานความชั่วช้านั้น ดูจะไม่ใช่ทางออกของปัญหา แม้จะเป็นการแก้ปัญหาแต่ก็มิใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ไม่ได้มีผลต่อการพัฒนาประเทศ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่ากระทบกระเทือนต่อหลักการประชาธิปไตยหรือหลักสิทธิมนุษยชนอย่างไร
แต่มันเป็นการสร้างบาดแผลความขัดแย้งให้เน่าเปื่อยยิ่งขึ้นอย่างไร้จุดหมาย ไร้การเยียวยา เนื่องจากคนจนที่นิยมรัฐบาลก็ไม่ได้เปลี่ยนอกเปลี่ยนใจอะไร หนำซ้ำความเกลียดชังในกันและกันโดยไม่จำเป็นและโดยไร้ตรรกะก็กระจายตัวมากขึ้น ท้ายสุดย่อมสร้างสังคมที่ขาดสันติภาพอันเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อความก้าวหน้าเติบโตของประเทศ
ที่เขียนมาทั้งหมดไม่ได้หวังจะตำหนิติเตียนทางเลือกของคนรวยว่าชั่วช้าแต่อย่างใด เพียงหวังจะให้เปิดใจสักนิด และคิดดูใหม่ว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นและการพัฒนาประเทศนั้นมิใช่อาศัยการพังครืนลงของรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ใช่การก้าวเข้ามามีอำนาจของพรรคประชาธิปปัตย์ ไม่ใช่การชุมนุมขับไล่อย่างเอาเป็นเอาตาย
หากมันคือการเข้าอกเข้าใจกันของประชาชน การไม่เหยียดหยันทางเลือกของคนจน การเคารพในหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ยอมรับนายกที่มาจากการเลือกตั้งเสียก่อน แล้วค่อยให้ตัวแทนทางการเมืองเข้าไปมีบทบาทคัดค้านในสภา
ประชาชนในฐานะปัจเจกต้องเลิกเป็นหมากเบี้ย เริ่มตื่นรู้ป้องกันภัยการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดของฝ่ายที่คิดต่างด้วยข้อมูล ค่อยๆ ส่งต่อความคิด ให้ประชาชนเลือกเองอย่างอิสระ ประชาชนควรเรียนรู้ที่จะตรวจสอบรัฐบาลแต่ละชุดร่วมกัน ที่สำคัญต้องใช้เวลา มากกว่าใช้อารมณ์
หากไม่มองในแง่ของหลักการประชาธิปไตยอันใด การปลดนายกที่คนจนเลือกมา เป็นการเหยียบย่ำคนจนไม่ให้ผุดเกิด และเหยียบย่ำโดยปราศจากสำนึกโอบอุ้มที่แท้จริง เนื่องจากการปลดออกไม่ได้ทำให้คนจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ได้ทำให้พวกเขาเกลียดกลัวรัฐบาลแต่อย่างใด หนำซ้ำยังเป็นการแสดงความไม่เชื่อมั่นว่าคนจนมีเจตจำนงที่บริสุทธิ์เท่าเทียมกับตนในการเลือกนายกรัฐมนตรี
จริงหรือไม่ คนรวยบางกลุ่มอาจไม่ได้รู้สึกสะทกสะท้านอะไรกับความข้นแค้นของชาวนา หากไม่มีประเด็นเรื่องจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์...
ฉันก็ได้แต่หวังว่าจะเป็นความห่วงใยที่แท้จริง มากกว่าห่วงใยเพราะเกลียดรัฐบาลเท่านั้น เพราะนั่นมิใช่ความห่วงใยที่ยั่งยืน เกรงว่าหากมีการเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อใด ชาวนาอาจไม่มีค่าความหมายอะไร เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา
( บล็อกของ SUJINTRA ; เสี้ยวแสงแห่งกาลเวลา without the light, never know how dark is )
. . .มีความคิดเห็นของผู้อ่านท้ายบท
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย