http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-13

ดัน‘กปปส.’คืนภาวะ‘ขาขึ้น’ ‘นิด้า-กลุ่ม MAN OF THE STATE’ออกโรงชูตั้ง ‘นายกฯ’วิธีพิเศษ

.
บทรายงาน2 - เป็นชุด จัดเต็ม ขบวนการคนดี จัดหนักรัฐบาล
......................................................................................................................................................................

ดัน‘กปปส.’คืนภาวะ‘ขาขึ้น’ ‘นิด้า-กลุ่ม MAN OF THE STATE’ออกโรงชูตั้ง ‘นายกฯ’วิธีพิเศษ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392220064
. . วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 23:02:07 น.

( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 7-13 ก.พ.2557 ปี34 ฉ.1747 หน้า11 )
( ภาพของเซีย จาก นสพ.ไทยรัฐ -ไม่มีแสดงในเวบเพจของมติชน )


หลังการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพียงวันเดียว

กลุ่มอาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกโรงจัดแถลงข่าว เรื่อง "นิด้า ผ่าทางตัน วิกฤตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง" ทันที

นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ซึ่งแสดงท่าทีสนับสนุน กลุ่ม กปปส. ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อย่างไม่ปิดบังอำพราง

ออกมาดิสเครดิต การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ส่อยืดเยื้อ ยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยไม่ลังเล

โดยนายบรรเจิดเปรียบเทียบว่า การเลือกตั้งปี 2549 ตนเป็นคนไปยื่นเรื่องให้การเลือกตั้งให้เป็นโมฆะเอง เพราะเรื่องการหันคูหาเลือกตั้งไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นแค่ประเด็นเดียวเท่านั้น การเลือกตั้งนั้นยังเป็นโมฆะ

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีปัญหามาก

อาทิ วันเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ แต่ปรากฏว่ามี 28 เขตที่ไม่มีการลงคะแนนเสียงครั้งแรก

อีกทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้า กลับไม่ใช่ "ล่วงหน้า" มาทำทีหลังการเลือกตั้งทั่วไป เพราะเมื่อถึงตอนนั้นก็จะรู้แล้วว่าพรรคใดได้คะแนนมากน้อยแค่ไหน ถือเป็นการชี้นำ   เป็นต้น

"การเลือกตั้งถ้ากลัดกระดุมผิดเม็ดแรกก็จะผิดไปเรื่อยๆ ดังนั้น หากการเลือกตั้งถ้าเป็นสะพานก็ไม่สามารถทอดปลายสะพานไปได้ อีกทั้งภายใน 6 เดือนก็มีแนวโน้มไม่สามารถเปิดสภาได้ รวมถึงรัฐบาลรักษาการก็ไม่สามารถกระทำการใดๆ ภายใต้ข้อจำกัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181" นายบรรเจิด ระบุ


ด้วยเหตุผลนี้เอง นายบรรเจิดจึงได้นำเสนอ

แถลงการณ์ข้อเสนอนิด้า "ทางออกจากวิกฤตของประเทศ"

ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า นี่เป็นจุดยืนของมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

หรือเป็นเพียงความเห็นของกลุ่มอาจารย์บางกลุ่มเท่านั้น

แต่กระนั้นก็คงต้องบันทึกความเคลื่อนไหวนี้ไว้เป็นหลักฐาน

เพราะมีสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

แถลงการณ์ระบุว่า

"จากสภาพปัญหาที่เป็นวิกฤตทางการเมืองของประเทศถือเป็นวิกฤตการณ์ที่อาจนำประเทศไปสู่ความเสียหายหรือความสูญเสียที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น

ข้อเสนอของนิด้าวางอยู่บนหลักพื้นฐาน4 ประการ คือ เคารพการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งที่จะปรากฏผลออกมาในอนาคต หลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น สร้างกระบวนการในการปฏิรูปประเทศ และแก้วิกฤตปัญหาของชาวนา

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เห็นว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่จะมีข้อเสนอเพื่อออกจากวิกฤตของประเทศ 4 ข้อ ดังนี้

1.เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว แม้จะยังไม่สำเร็จผลเรียบร้อย แต่เพื่อให้กระบวนการการปฏิรูปประเทศได้เริ่มต้นโดยไม่ต้องผูกพันกับผลของการเลือกตั้ง เห็นควรให้มี "รัฐบาลเพื่อการปฏิรูปประเทศ" เป็นรัฐบาลคนกลางเข้ามาทำหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศ

2.รัฐบาลเพื่อการปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีที่สังคมยอมรับ และให้ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวงหรือบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรี โดยมีภาระหน้าที่หลักสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปประเทศ

โดยมีกระบวนการในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ดังนี้

2.1 ให้รองประธานวุฒิสภา (เนื่องจากประธานวุฒิสภาถูกกล่าวหาจากใช้อำนาจของประธานวุฒิสภามิชอบ) เป็นผู้กราบบังคมทูลเสนอชื่อบุคคลสมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อพระมหากษัตริย์

2.2 เมื่อพระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีเสนอรายชื่อปลัดกระทรวงหรือบุคคลที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงนั้นๆ เพื่อรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อการปฏิรูปประเทศต่อไป

3.แก้ไขปัญหาชาวนาเป็นการเร่งด่วน

4.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศโดยกำหนดให้มีองค์กรในการปฏิรูปประเทศและกระบวนการในการปฏิรูปประเทศต่อไป

โดยมีหลักการสำคัญดังนี้

4.1องค์กรในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ แบ่งออกเป็น สมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศไทย และคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ

4.2 ระยะเวลาในการปฏิรูปประเทศ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี




ท่าทีและจุดยืนของนิด้านี้ ดูจะบังเอิญไปสอดคล้องกับคลิปที่เผยแพร่ในยูทูบชื่อ "fmtv asoke" ของช่อง FMTV

เผยแพร่การประชุมของกลุ่มบุคคลที่เรียกชื่อตัวเองว่า

กลุ่มรัฐบุคคล หรือ MAN OF THE STATE

ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่สโมสรโปโลคลับ ลุมพินี พร้อมกับออกอากาศทางช่อง 13 สยามไท ในวันเดียวกัน

บุคคลที่เข้าร่วมประกอบด้วย สายทหาร คือ

พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีต ผบ.สส.

พล.อ.วิมล วงศ์วานิช อดีต ผบ.ทบ.

พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ อดีต ผบ.ทอ.

พล.ร.อ.วิเชษฐ การุณยวนิช อดีต ผบ.ทร.

พล.ร.อ.สุรวุฒิ มหารมณ์ อดีต เสธ.ทร.

พล.อ.อ.เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์ อดีต เสธ ทอ.

สายพลเรือน ประกอบด้วย

ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์

ศ.ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช

นายสุรพงษ์ ชัยนาม

ดูชื่อแล้ว มิใช่คนแปลกหน้า เป็นกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างใกล้ชิดมาก่อน

นอกจากนี้กลุ่มอดีตนายทหารเคยเป็นแนวร่วมสนับสนุน "กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" (กปท.) ที่มีบทบาทในการชุมนุมช่วงปลายปี 2556

มีจุดยืนที่ต้องการ "แช่แข็ง" ประเทศไทย


พล.อ.สายหยุด เกิดผล บอกว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะต้องเรียกร้องให้ทหารและสถาบันศาลออกมา เพื่อยุติปัญหาของชาติ

โดยวิธีนี้จะไม่ใช่การรัฐประหาร

เพราะจะยังคงให้รัฐธรรมนูญดำรงอยู่แต่จะให้มีการยกเว้นการใช้บางมาตรา

เช่น ยกเว้นให้นายกฯ ไม่ต้องมาจาก ส.ส.

จากนั้นจะเสนอให้ นายกฯ มาตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อปฏิรูปประเทศ ต่อไป

กลุ่ม MAN OF THE STATE ย้ำว่า เป้าหมายปัจจุบันไม่ใช่การเรียกร้องให้นายกฯ หรือรัฐบาลลาออกจากการรักษาการ เพราะถึงอย่างไร ก็จะไม่ลาออก

สิ่งที่จะต้องทำ คือ เรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบออกมาจัดการปัญหาบ้านเมืองซึ่งก็คือ ศาล และทหาร ไม่ควรกลัวหรือกังวลกับท่าทีต่างชาติจนเกินไป

เพราะนี่จะเป็นการแก้ไขปัญหาตามแนวทางของเราเอง

นั่นคือแนวทาง"ราชประชาสมาสัย"




เมื่อพิจารณาจุดยืนและความต้องการของกลุ่มอาจารย์นิด้า และกลุ่ม MAN OF THE STATE แล้ว จะเห็นว่าเป็น "จุดยืนเดียวกัน"

นั่นคือ ต้องการนายกฯ คนนอก เพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ

ซึ่งก็คือ ความปรารถนาเดียวกับนายสุเทพ และ กปปส. นั่นเอง


เพียงแต่ขณะนี้ นายสุเทพ รวมทั้ง กปปส. กำลังถูกจับตามองว่า อยู่ในภาวะยากลำบาก

ทั้งเรื่องท่อน้ำเลี้ยง

ทั้งความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการปรากฏตัวกลุ่มนักรบที่ออกมาปฏิบัติการที่หลักสี่ หักหลักการ สงบ สันติ อหิงสา ลงอย่างสิ้นเชิง

รวมไปถึงความยืดเยื้อของสถานการณ์ที่ไม่สามารถฟันธงได้สักทีว่าเมื่อไหร่ จะได้ชัยชนะ

นายสุเทพและม็อบ กปปส. ถูกประเมินว่าอยู่ในภาวะ "ขาลง"

หากไม่มีตัวช่วย ก็อาจประสบภาวะถดถอยได้

นี่เอง จึงนำไปสู่การคาดหมายว่า หลังจากนี้คงจะมีกลุ่ม องค์กร ต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อประคอง และดันให้นายสุเทพ และ กปปส. กลับไปอยู่ในสถานการณ์ขาขึ้นอีกครั้ง

โดยกลุ่มต่างๆ คงต้องออกมาเคลื่อนไหวสอดประสานกัน เพื่อกดดันให้การแก้ไขปัญหาของชาติไปสู่ "จุดหมายร่วม" นั่นคือล้มล้างระบอบทักษิณ

ด้วยการฉวยจังหวะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการดำเนินการ เป็นช่องเบียดแทรกเข้ามา


และแน่นอน ย่อมเป็นการเคลื่อนไหวเดียวกันกับฝ่ายที่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งนี้โมฆะ โดยเริ่มส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว

การต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐจึงยังเข้มข้นต่อไป

อันรวมถึงการปรากฏตัวของกลุ่มอาจารย์นิด้าและกลุ่มMAN OF THE STATE ที่คงต้องดันนายสุเทพ และ กปปส. กลับไป "ขาขึ้น" ให้ได้



อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลก็คงสู้สุดฤทธิ์ เนื่องจากการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ประชาชนกว่า 20 ล้านคนได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง อันแสดงให้เห็นว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องการให้แก้ปัญหาของบ้านเมืองไปตามระบบ

ไม่ใช่ไปพึ่งนายกฯ คนกลาง หรือสภาปฏิรูป ที่คัดเลือกกันมา โดยไม่มีหลักประกันว่าจะดำเนินไปตามระบอบประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน ก็คงพยายามให้เกิดภาวะ "โลกล้อมประเทศ" ให้ได้

โดยขับเน้นว่า ข้อเสนอของทั้งอาจารย์นิดา ทั้งกลุ่ม MAN OF THE STATE และกลุ่มอื่นๆ ที่กำลังจะตามออกมา ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งหากมีการปฏิวัติไม่ว่าจะโดยกองทัพ หรือใช้ "ตุลาการภิวัฒน์" ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับของโลก

ดังที่ ไฟแนนเชียล ไทมส์ สื่อทรงอิทธิพลของอังกฤษเตือนไว้

"หากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยังเดินหน้าขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยต่อไปทางออกที่เหลืออยู่ก็อาจจะมีเพียงรัฐประหารโดยทหาร หรือไม่ก็รัฐประหารโดยตุลาการ
หากการรัฐประหารเกิดขึ้นจริง บรรดาผู้สนุบสนุนรัฐบาลซึ่งได้แสดงความอดทนอดกลั้นเป็นส่วนใหญ่มาตลอดวิกฤตนี้ อาจจะตัดสินใจออกมาประท้วงบนถนนเสียเอง
นำไปสู่ความย่อยยับในที่สุด"




.............

เชิญอ่าน - ใครเป็นใคร? เปิดคลิป ประกาศจัดตั้งกลุ่ม ′รัฐบุคคล -Man of the State′ - อดีตบิ๊กถกหาทางออกประเทศ
ที่  www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391482142 . . ชมคลิป 
. . วันอังคารที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 09:42:04 น.
( ที่มา: เว็บสยามอินเทลลิเจนซ์ )



++

เป็นชุด จัดเต็ม ขบวนการคนดี จัดหนักรัฐบาล
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392277724
. . วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 15:05:00 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 13 กุมภาพันธ์ 2557 )


รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของบุคคลระดับ "ขาใหญ่" สำหรับการเมืองไทยเกิดขึ้นต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
เชิญสดับ


เริ่มต้นในวันศุกร์ที่ 6 ก.พ. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังเหตุการณ์ คมช.2549 เปิดแถลงว่า

ตนทำจดหมายเปิดผนึก 6 หน้ากระดาษส่งถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเตือนว่าหากรัฐบาลปัจจุบันยังรักษาการต่อไป สถานการณ์แย่ลงไปอีก

ส่งผลกระทบทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย นักท่องเที่ยวลดลง ความเชื่อมั่นนักลงทุนถึงขีดสุด และอัตราการว่างงานอาจเพิ่มสูงขึ้น

แม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเมื่อในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ได้ แต่ยังพบว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมทั้งเรียกความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจได้

นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศควรลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ และเสียสละให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้

นำคนกลางเข้ามาบริหารประเทศแทน เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับและปฏิรูปประเทศร่วมกัน




ตามมาติดๆ ในวันที่ 8 ก.พ. ในการสัมมนาเรื่อง "ธรรมราชา" ของสถาบันพระปกเกล้า นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ว่า เป็นยุคที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน มีความจลาจลวุ่นวายทั้งความคิดและการกระทำที่มีการปะทะกัน

เวลาจะเป็นส่วนช่วยแก้ไขปัญหาได้ แต่ระหว่างนี้ต้องมีวิธีการเข้ามาช่วยจัดการ ซึ่งทราบว่าขณะนี้มีหลายคนพยายามดำเนินการ โดยจะเรียกว่าคนกลางบ้างหรือมาตรการต่างๆ บ้าง

ตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการที่พยายามให้ทั้งสองฝ่ายมาร่วมเจรจากันอยู่

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าประชาธิปไตยกับรัฐธรรมนูญเป็นคนละส่วนกัน หากเรารักษาความเป็นประชาธิปไตย และให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญน้อยลง

อาจจะแก้ไขปัญหาได้



งานเดียวกัน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร่วมยุคนายวิษณุ เรียกร้องให้มีการปกครองแบบ "ธรรมรัฐ" ซึ่งเป็นการปกครองที่ถูกต้องเป็นธรรม ที่ไม่ใช่หมายถึงพระมหากษัตริย์เท่านั้น

แต่ให้นายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และข้าราชการทุกระดับประพฤติธรรมราชาด้วย และต้องการให้เกิดธรรมราษฎร์ ด้วยการให้ราษฎรมีธรรมในหัวใจ ตัดสินใจบนความถูกต้อง รู้เท่าทันนักการเมือง

การตัดสินใจทุกระดับไม่ต้องดูเสียงข้างมาก และไม่ต้องตัดสินใจบนความถูกใจ

การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ถูกจำกัดพระราชอำนาจ

จึงเกิดปัญหาว่านักการเมืองใช้อำนาจอย่างมีธรรมะหรือไม่




ตบท้ายด้วยบทสัมภาษณ์ต้นสัปดาห์ของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า รัฐบาลควรนำสิ่งที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวไปพิจารณา

เนื่องจากเศรษฐกิจอาจวิกฤตถึงขนาดทำให้ประเทศหายนะได้ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หากยังปล่อยให้วิกฤตการเมืองครั้งนี้ยืดเยื้อต่อไป คู่ขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่ายควรจะเจรจากันก่อนประเทศชาติจะฉิบหาย

เพราะปัจจุบันนี้ การลงทุนจากต่างประเทศไม่มีแล้ว ขณะที่การลงทุนในไทยเองก็ชะลอลง ส่วนเงินตราต่างประเทศที่จะเข้ามา ทั้งจากโดยการลงทุนหรือจากการท่องเที่ยวก็ดี หากปล่อยไปอีก 3-4 เดือน ทุกตัวจะหายหมด

ฉะนั้นต้องพักประเด็นที่ยังร้อน ที่มันยังจับไม่ได้ จับเข้าไปก็นิ้วไหม้ คือพักร้อนไม่ใช่ตลอดกาลนะ เพราะวันหนึ่งต้องกลับมา

แต่ประเด็นคือต้องพักร้อน




น่าสนใจและน่าคิด

น่าคิดว่า ในท่ามกลางความขัดแย้งที่มีคู่กรณีปรากฏชัดเจนอยู่อย่างน้อยสองฝ่าย
เสียงเรียกร้องหาความรับผิดชอบพุ่งเป้าปลายหอกเข้าไปที่ฝ่ายเดียว

แม้กระทั่งกติกาก็ยกเว้นให้ได้


เพื่อคนกลาง คนดี การปฏิรูป และการพักร้อน



.