http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-10

เรียกร้องการปฏิรูป เริ่มจากปฏิรูปตัวเองก่อนดีไหม..โดย วรรณภา ติระสังขะ

.

เรียกร้องการปฏิรูป เริ่มจากปฏิรูปตัวเองก่อนดีไหม เพื่อสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย
โดย ดร.วรรณภา ติระสังขะ

อาจารย์ประจำสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392015722
. . วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 14:15:09 น.



ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องการปฏิรูปจากหลากหลายกลุ่มเพื่อให้สังคมเป็นประชาธิปไตย (อย่างสมบูรณ์) และต่อต้านคอรัปชั่น มีการเรียกร้องให้มีโครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่ดี
แต่สิ่งหนึ่งที่เราคงยังเห็นภาพอย่างลางเลือนของข้อเสนอการปฏิรูป คือ ใคร องค์กรใด (ที่เป็นกลางและมีความชอบธรรม) ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการปฏิรูปนี้

หากเราคงยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและเชื่อมั่นในอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน การร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแข็งแรง (Healthy Democracy) อาจไม่จำเป็นต้องเรียกร้อง อ้อนวอนใครหรือรออัศวินขี่ม้าขาวมาช่วย เราเริ่มจากตัวเองดีกว่าไหม ?


 การปกครองที่ประชาธิปไตยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ การที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน มีรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน (ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง) มีการปกครองด้วยเสียงส่วนใหญ่และเคารพสิทธิของเสียงส่วนน้อย มีการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (ซึ่งอย่างน้อยต้องมี เสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการรวมกลุ่ม สิทธิในการได้รับการปกป้องดูแลอย่างเท่าเทียมต่อหน้ากฎหมาย สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม)
นอกจากนี้ ความเป็นประชาธิปไตยยังเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม มีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย อยู่ภายใต้ระบบนิติรัฐ (ที่กฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่คนเป็นใหญ่) มีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดที่จำกัดการใช้อำนาจและมีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีสังคมระบบเศรษฐกิจที่หลากหลายเสรีเป็นธรรม และที่สำคัญประชาธิปไตยสร้างวัฒนธรรมที่เรียกร้องให้เราเห็นและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ยอมรับความขัดแย้ง เท่าๆกับยอมรับคุณค่าหรือความจำเป็นของความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง


 นอกจากนี้ องค์ประกอบหรือปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้สังคมใดสังคมหนึ่ง มีความเป็นประชาธิปไตยได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ

 1. สภาพทางสังคมเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาสังคมที่เป็นประชาธิปไตย คือมีเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง สังคมมีความเป็นชุมชนเข้มแข็ง มีความตื่นตัวทางการเมือง มีระดับการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีสื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

 2. โครงสร้างทางการเมืองที่มีการออกแบบอย่างเหมาะสมกับสังคม โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ประมุขของรัฐ รัฐสภา รัฐบาล ตุลาการ องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม ที่มีการออกแบบอย่างสอดคล้อง ตรวจสอบซึ่งกันและกัน และมีโครงสร้างระบบกฎหมายภายใต้ระบบ “นิติรัฐ”

 3. มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย คำว่า “วัฒนธรรม” (culture) นั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะ ศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี แต่หากหมายรวมถึง ลักษณะอุปนิสัย(behaviors) การปฏิบัติของคนในสังคม (practices) บรรทัดฐานทางสังคม (norms) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันของเราทุกคนที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้สังคมนั้นเป็นประชาธิปไตยได้อย่างแข็งแรง


 แน่นอนว่า “วัฒนธรรมทางการเมือง” ที่ยังคงอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบันจำเป็นจะต้องให้นักการเมือง ข้าราชการ ประชาชนปรับเปลี่ยนจากวัฒนธรรมแบบไพร่-ฟ้า (Subject Political Culture) ระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ (Patron-client relationship) ที่มีอยู่ทั้งในระบบการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ระบบราชการและพรรคการเมือง มาสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย (Democratic Political Culture)


 แต่ขณะเดียวกัน เราในฐานะประชาชนก็สามารถ “ปฏิรูป” ด้วยตัวเองได้ หากเพียงแต่เรายอมรับและเข้าใจวัฒนธรรมประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น

- คนเท่ากัน มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน แน่นอนว่าสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เพศสภาพ เชื้อชาติ ลักษณะภายนอกทำให้เรามีความแตกต่างกัน แต่เราทุกก็มีศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์เท่าๆกัน เราทุกๆคนต่างมีหน้าที่ในสังคมที่แตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะมีอาชีพอะไร มันจึงรวมกันประกอบสร้างเป็นสังคม
ดังนั้น เริ่มปฏิรูปง่ายๆ จากการที่เลิกดูถูกคนอื่นโดยมองเพียงแค่จากฐานะ การศึกษา หรือเพศสภาพแต่เพียงอย่างเดียว เพราะทุกๆ คนในสังคม ต่างมีสิทธิมีเสียงและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและประเทศนี้เช่นเดียวกับทุกๆ คน

- การคิดถึงประโยชน์สาธารณะร่วมกัน (common interest/public interest) ร่วมสร้างวัฒนธรรมที่เคารพการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน เช่นทางเท้า ทางสาธารณะที่เราทุกคนต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน เราเคารพกฎกติกามารยาทของการใช้ถนนร่วมกันไหม เราติดเครื่องยนต์ขณะอยู่ในที่จอดรถไหม เรามีการเคารพการใช้พื้นที่สาธารณะบนสื่อสาธารณะต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ไม่สร้างให้เกิดความเกลียดชังหรือยัง

-  การเคารพความแตกต่างหลากหลายและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง  ทุกวันนี้เราเห็นสภาพของการที่เมื่อไรมีคนที่เห็นต่างจากเรา เราก็จะผลักคนนั้นออกจากพวกของเราและชี้นิ้วว่าเขาเป็นคนเลว ไม่รักชาติ ฯลฯ อีกมากมาย   โดยแท้จริงแล้ววัฒนธรรมประชาธิปไตยเรียกร้องให้เราเคารพซึ่งกันและกันในความคิดที่แตกต่างและอดทนอดกั้นที่จะฟังกันและกัน  เพราะแน่นอนว่าไม่มีใครคิดเหมือนกันไปทั้งหมด หากเราอยากให้ใครเคารพเราอย่างไร เราก็ควรจะให้เกียรติและเคารพคนอื่นไหม เราคิดไหมว่าเรามีสิทธิที่จะพูดเท่าๆ กับที่มีหน้าที่จะต้องฟังคนอื่น สังคมประชาธิปไตยเป็นการฝึกให้เรารู้จักมองจากมุมและจากใจของคนอื่นเท่าๆ กับที่เรามองจากมุมของตัวเอง

-  สร้างความเข้าใจว่าความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แน่นอนว่าเราไม่สามารถบังคับใครให้คิดและทำเหมือนกันได้หมด นั่นไม่ใช่สังคมประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ความขัดแย้งทั้งหลาย ความไม่เห็นฟ้องต้องกันในสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่เกิดขึ้นระหว่าง ถูกหรือผิด (clear-cut / right-wrong) แต่เพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้จากมุมมองของแต่ละคนที่มีการตีความและมองประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของปัจเจกชนหรือประโยชน์ของตนอย่างไร

-  เรียนรู้ที่จะอดทนอดกลั้น และโต้แย้งด้วยเหตุและผลอย่างสันติ ไม่ใช้ความรุนแรงต่อคนที่เห็นต่างจากเรา เพราะเราไม่มีสิทธิไปทำร้ายใครเพราะเขาคิดเห็นไม่เหมือนเรา และเราต้องเรียนรู้ยอมรับที่จะอยู่ในโลกนี้ที่มีความแตกต่างหลากหลายให้ได้



จะ “ปฏิรูป” ง่ายนิดเดียว เริ่มจากตัวเองดีกว่าไหม ปรับวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตของตัวเองที่ไม่เอื้อต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตย ร่วมสร้างวัฒนธรรมที่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยเพื่อให้การ “ปฏิรูป” ประเทศเป็นไปได้ และเราก็จะเป็นส่วนหนึ่งด้วยเช่นกันในการ “ปฏิรูป” ประเทศไทย



.