http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-01-10

คนกลางที่ไม่เลือกข้าง โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

.

คนกลางที่ไม่เลือกข้าง
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1389265389
วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 07:45:30 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 9 มกราคม 2557 )


ในขณะที่สังคมแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย เป็นเหลืองเป็นแดง เป็นคนในกรุง เป็นคนบ้านนอกต่างจังหวัด ในขณะที่สื่อกระแสหลัก สื่อสังคมออนไลน์ คอลัมนิสต์ทุกสื่อต่างก็เสนอข่าว ต่างก็ลงรูปภาพการเดินขบวนของ "มวลมหาประชาชน" กันอย่างครึกโครม

การที่คนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าในกรุงนอกกรุง ในป่าในเขา หรือแม้แต่พำนักอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย จะรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของการเสพข่าวของสื่อมวลชนต่างๆ ก็คงจะเป็นไปได้ยาก

ในบรรดาผู้คนที่จำเป็นต้องเสพข่าวหรือเสพติดข่าวเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะนิ่งเป็น "อริยบุคคล" วาง "อุเบกขา" ได้ เพียงแต่หลายคนใช้ความอดทนอดกลั้น ไม่แสดงออกทั้งทางกายวาจา ส่วนใจนั้นคงทำยากที่จะไม่เลือกข้าง

คนที่จำเป็นต้องไม่เลือกข้างเห็นจะมีแต่แรงงานต่างชาติ อันได้แก่ คนกะเหรี่ยง มอญ พม่า ไทยใหญ่ ลาว เขมร ซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนกว่า 5-6 ล้านคนเท่านั้น เพราะไม่กล้าคิดไม่กล้าพูด กลัวจะผิดใจกับนายจ้างหรือไม่ก็รู้สึกว่า "ธุระไม่ใช่" เพราะพวกเขาเข้ามาทำงานหาเงินกลับบ้านเท่านั้นเอง


คนไทยที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่ผูกอนาคตไว้กับชะตากรรมของประเทศ หรือรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของแผ่นดิน จะทำใจให้เป็นอุเบกขา จิตว่าง ไม่เลือกข้างคงจะทำได้ยาก แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าก็คงจะหลีก "อุปาทาน" ที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้ จะเลือกข้างไหนก็คงจะผูกกับผลประโยชน์ของตัว อยู่กับความรู้สึกทางชนชั้นว่าตนสังกัดชนชั้นใด หรือถูกอบรมถูกล้างสมองมาอย่างไร

ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ สโมสรสมาคมต่างๆ เช่น สโมสรกอล์ฟต่างๆ ที่สมาชิกล้วนแต่เป็นผู้ "คนชั้นสูง" หรือ "elite class" ทั้งนั้น ความรู้สึกก็จะไปทางหนึ่งไม่ไปทางเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ปฏิเสธ "ระบบ" แต่จะยึดบุคลาธิษฐาน" หรือ personality cult ไม่ว่าจะ "รัก" หรือ "เกลียด" ใคร

ถ้า "รัก" เสียแล้วทำอะไรก็ถูกก็ดีก็น่ารักไปหมด จะเอาให้ได้ แต่ถ้า "เกลียด" แล้วก็จะขจัดไปให้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใด แม้ว่าจะผิดกฎหมาย ผิดตรรกะ ผิดจารีตประเพณีหรือแม้แต่ศีลธรรมก็ตาม

ส่วนพนักงานของสโมสรเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นยาม พนักงานบริการ ภารโรงเช็ดถูพื้น แคดดี้ในสนามกอล์ฟ หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ สอบถามดูแล้วก็เลือกข้างทั้งนั้น ไม่สามารถทำ "จิตอุเบกขา" ได้เหมือนกัน แต่เลือกคนละข้างกับ "มวลมหาสมาชิก"

เวลาจะคุยกับเพื่อนฝูงคนรู้จัก ต้องไม่ชวนคุยเรื่องของประเทศชาติ เรื่องการเมือง เรื่องรัฐบาล เรื่องการชุมนุม มิฉะนั้นอาจจะเสียเพื่อน อาจจะเสียญาติพี่น้องได้ง่ายๆ

ถ้าออกไปต่างจังหวัด ถ้าเป็นจังหวัดภาคใต้ บรรยากาศก็คล้ายๆ กับไป "ไชน่าทาวน์" ในกรุงเทพฯเพราะเต็มไปด้วยผู้คนที่เลือกข้างข้างหนึ่ง

แต่พอออกไปนอกเมืองในภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือภาคกลาง ภาคตะวันออก ก็จะมีบรรยากาศอีกอย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนกรุงเทพฯ ไม่เหมือนภาคใต้ ผู้คนก็เลือกข้างเหมือนกันแต่เลือกอีกข้างหนึ่ง

เหตุการณ์ครั้งนี้ ความจริงก็มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงของสังคม ทำให้ผู้คนทุกชนชั้นได้แสดงออกชัดเจนว่าตนมีความคิดอย่างไร มีเหตุผลไม่มีเหตุผลอย่างไร ปล่อยอารมณ์ที่เปลือยเปล่าของตนว่าอยู่ข้างไหน เลือกข้างไหน

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่กระจายและการเสพข่าวสารที่เปิดเสรี ย่อมไม่มีทางที่ผู้หนึ่งผู้ใดในสังคมหากเป็นคนมีความรู้สึกนึกคิดมีอารมณ์ยากจะหลีกเลี่ยง "การเลือกข้าง" ได้ คงจะมีแต่พระอิฐพระปูนเท่านั้นที่สามารถวางอุเบกขาได้เพราะท่านไม่มีชีวิตจิตใจ

ทุกคนจึงเป็นเหยื่อของการถูกยัดเยียดข้อมูลข่าวสารจากทั้งพรรคการเมืองและจากชนชั้นนำ ผ่านทางสื่อพื้นฐาน เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์


น่าสังเกตว่าบรรดาบุคลากรของสื่อมวลชนเองก็ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลข่าวสารที่ตนเองสร้างขึ้นมาด้วย ทั้งๆ ที่บุคลากรสื่อมวลชนถ้าไม่นับเจ้าของสื่อนั้นๆ ต่างก็มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "ชนชั้นกลาง" ในเมืองด้วยซ้ำ แต่ถูกผลักให้เลือกข้างคนชั้นสูงในกรุงเทพฯ อาจจะเป็นเพราะโดยอาชีพที่ต้องติดตามหาข่าวกับคนชั้นสูง มีบางคนถึงกับคุยอวดว่าตนเป็น "ลูกเลี้ยง" ของเจ้านายก็มี เมื่อมีการติดต่อกับคนชั้นสูงอยู่เป็นประจำในฐานะแหล่งข่าวก็เลยลืมไปว่าตนมาจากไหน อย่างไร บางทีในฐานะสื่อมวลชนก็ไม่เคยมีความสัมพันธ์คบหาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนชั้นล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนต่างจังหวัดคนชนบทเลย

ถ้าตั้งสติ พิจารณาด้วยความเป็นธรรม ไม่ใช้ "จิตวิสัย" ใช้ตรรกะเหตุผลและข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของความเป็นอารยะ แต่ความเป็นผู้มีสติ ผู้เปิดหูเปิดตาดูชาวโลกก็จะถูกบังคับให้ "เลือกข้าง" อยู่ดี เพราะฝ่ายหนึ่งยึดถือหลักการประชาธิปไตย ยึดถือกฎหมายรัฐธรรมนูญที่สภาแต่งตั้งโดยทหารเป็นผู้ร่าง ซึ่งเป็นที่รังเกียจเพราะมีที่มาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้ดิบได้ดีเพราะการปฏิวัติรัฐประหารและสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาโดยตลอด กลับไปร่วมมือกับนายทหารนอกราชการระดับ พล.อ. 2-3 นาย ซึ่งใครๆ ก็รู้ จัดการชุมนุมเรียกร้องให้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยอาศัย "มวลมหาประชาชน" โดยไม่ต้องทำการปฏิวัติรัฐประหาร

แต่ที่ยังชะงักอยู่ก็เพราะบัดนี้ได้มีศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ International Criminal Court ประเทศไทยได้สมัครเป็นสมาชิกโดยรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่มีรัฐบาลใดกล้าส่งให้รัฐสภาให้สัตยาบัน แต่ไม่ว่ารัฐสภาจะให้สัตยาบันหรือไม่ก็ตาม ถ้าเกิดมีกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศและกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ได้ ก็อาจจะมีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้ กรณี 99 ศพอันเนื่องมาจากการ "ขอพื้นที่คืน" หรือการ "กระชับพื้นที่" จากการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ "ยุบสภา" ถ้าอัยการไม่ส่งฟ้องศาลก็จะเป็นเงื่อนไขให้ศาลอาญาระหว่างประเทศรับฟ้องได้ จึงไม่แน่ใจว่าที่อัยการสั่งฟ้องเป็น "การฟ้องจริง" หรือเป็น "การช่วยเหลือ" ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมโดยเฉพาะในเขต "อภัยทาน" วัดปทุมวนารามหรือไม่

การมีเสื้อแดงกับการมีศาลอาญาระหว่างประเทศ น่าจะมีส่วนให้นายทหารที่ยังอยู่ในราชการต้องยับยั้งชั่งใจยอมขัดใจนายเก่าก็ได้ โลกทุกวันนี้นอกจากมีความเจริญมากขึ้นแล้ว ยังมีองค์กรที่จะดูแลให้ "ชนชั้นปกครอง" ในประเทศ ด้อยพัฒนาทางการเมืองในเอเชียและแอฟริกา ได้มีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น การปฏิวัติรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.49 เป็นอุทาหรณ์เป็นอย่างดี ใครจะไปรู้ว่าในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีคดีที่ศาลอาญาระหว่างประเทศรับไว้พิจารณาก็ได้ ถึงเมื่อนั้นชนชั้นปกครองของเราซึ่งยังเต็มไปด้วย "อวิชชา" อาจจะไม่มีอะไรเหลือเลยก็ได้


ดังนั้น การเรียกร้องรัฐบาล "คนดีที่เป็นกลาง" จึงเป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น เพราะคนดีที่เป็นกลางในเมืองไทยขณะนี้นั้น "ไม่มี" มีแต่คนที่มีอารมณ์รุนแรงจนไม่อาจใช้ตรรกะและเหตุผล ไม่สนใจระบบ ไม่สนใจคนอื่น คนที่มีสติมองเห็นว่าอะไรคือ "อันตราย" ในภายภาคหน้า ซึ่งอาจจะไม่นานนี้นักก็ได้

หลายคนที่ประกาศว่าตนไม่เลือกข้าง ไม่อยู่ข้างใคร จึงเป็นการหลอกตนเองหรือหลอกคนอื่น หรือไม่ก็เป็นคนเฉพาะร่างกายเท่านั้น เพราะทั้ง 2 ฝ่ายเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน 180 องศา "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" หรือ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" นั้นไม่มี มีประชาธิปไตยจริงกับไม่จริงแต่อยู่ในเสื้อคลุมประชาธิปไตยเท่านั้น ทุกวันนี้ก็เป็นประชาธิปไตยในคัมภีร์ของคณะรัฐประหาร 2549 เท่านั้น

คนกลางที่ไม่เลือกข้างไม่มี

................



.