http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-01-24

ทำไมต้องยกเลิก“องค์กรอิสระ” โดย บก.นสพ.เลี้ยวซ้าย

.

ทำไมต้องยกเลิก“องค์กรอิสระ”
โดย บก.นสพ.เลี้ยวซ้าย

ใน http://prachatai3.info/journal/2014/01/51385
. . Fri, 2014-01-24 21:05



บทบรรณาธิการ นสพ.เลี้ยวซ้าย

องค์กรอิสระในปัจจุบัน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. หรือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ล้วนแต่เป็นองค์กรเผด็จการ เพื่อลดพื้นที่ประชาธิปไตย

หลายคนคงแปลกใจที่เราฟันธงแบบนี้ เพราะในกระแสการปฏิรูปการเมืองที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญปี 40 นักวิชาการและขบวนการ NGO พยายามสร้างภาพว่าองค์กรอิสระ มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและคานอำนาจทางการเมืองเพื่อทำให้ประชาธิปไตยดีขึ้น อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ และ แนวคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ล้วนแต่เป็นลัทธิทางการเมืองของพวกเสรีนิยมฝ่ายขวา และ แนวเสรีนิยมนี้ เป็นแนวคิดของชนชั้นนายทุน

แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังผู้ที่ผลักดันเรื่ององค์กรอิสระ  เป็นแนวคิดที่ดูถูกประชาชนส่วนใหญ่ มองว่าเขาไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะเลือกผู้แทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อเขา นอกจากนี้มันเป็นแนวคิดที่มีอคติต่อกระบวนการประชาธิปไตย เพราะไม่ไว้ใจระบบการเลือกตั้ง


ตุลาการรัฐธรรมนูญ กกต. และ สว. ลากตั้ง ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากชนชั้นปกครองหรือทหาร พลเมืองธรรรมดาไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบ ถอดถอน หรือ ปลดพวกเผด็จการเหล่านี้ได้เลย  แต่ตุลาการรัฐธรรมนูญ บังอาจมองว่าตนเองมีสิทธิที่จะห้ามไม่ให้รัฐบาลหรือรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งออกนโยบายเศรษฐกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างต่างๆ ของสังคม พวกนี้บังอาจคัดค้านโครงการรถไฟความเร็วสูง และ บังอาจบอกว่าเราไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ สว. ทุกคนมาจากการเลือกตั้งได้

ผู้ที่ถูกแต่งตั้งโดยชนชั้นปกครองเพื่อให้ดำรงตำแหน่งใน กกต. แทนที่จะมองว่าหน้าที่ของตนเอง คือ การจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ ท่ามกลางความวุ่นวายที่มาจากการกระทำของอันธพาลที่ต่อต้านประชาธิปไตย กลับมองว่าหน้าที่ของตนเองคือการเลื่อนวันเลือกตั้ง เพื่อเปิดทางให้พวกที่ต้องการลดพื้นที่ประชาธิปไตยได้ประโยชน์

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ถูกแต่งตั้งมาโดยชนชั้นปกครอง พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นคณะกรรมการสิทธิของอภิสิทธิชนเท่านั้น เข้าข้างม๊อบสุเทพ สนับสนุนการใช้กฎหมายเผด็จการ 112 และ เพิกเฉยต่อการเข่นฆ่าคนเสื้อแดงที่เรียกร้องประชาธิปไตย


พวกนักเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยมขวาจัด ที่คลั่งระบบกลไกตลาดของนายทุน เช่น ในสถาบันวิจัย TDRI มองว่านักเศรษฐศาสตร์ผู้ที่ไม่เคยได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ควรมีสิทธิที่จะจำกัดนโยบายของรัฐบาลในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป พวกนี้มองว่าตัวเองควรมีอำนาจเหนือผู้แทนที่มาจาการเลือกตั้งโดยประชาชน เขาขยันด่าสิ่งที่เขาเรียกผิดๆ ว่า “ประชานิยม” แต่เงียบเฉยต่อการใช้งบประมาณรัฐมหาศาลเพื่อทหาร หรือ เพื่อพิธีกรรมฟุ่มเฟือย เขาอ้างประโยชน์ชาติเพราะเขาคิดว่าเขาเป็นตัวแทนของชาติและชาติของเขาไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ ยิ่งกว่านั้นพวกนี้โกหกว่าเศรษฐศาสตร์มีแค่แนวเดียว แนวของเขา อ้างว่าเป็นแค่ “เทคนิค” เหมือนการซ่อมเครื่องจักร แทนที่จะเป็นเรื่องถกเถียงทางการเมือง

สังคมไทยมีพื้นที่ประชาธิปไตยน้อยเกินไป และ พื้นที่ประชาธิปไตยอันมีค่าที่เรามีอยู่ ถูกจำกัดโดยองค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  ถ้าเราจะปฏิรูปการเมืองไทยให้มีประชาธิปไตยมากขึ้นเราต้องยกเลิกองค์กรอิสระทั้งหมดและเคารพวุฒิภาวะของประชาชนส่วนใหญ่


การตรวจสอบหรือคานอำนาจของรัฐบาลและรัฐสภา ถ้าจำเป็น ต้องมาจากการกระทำขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น  เช่น สภาที่เลือกมาจากท้องถิ่นพื้นที่ 4 ภาค หรือ ตุลาการที่ได้รับการเลือกตั้ง
นอกจากนั้นควรมีการใช้ประชามติเพื่อให้ “มวลมหาประชาชน” ที่แท้จริง ตัดสินกรณีที่มีความขัดแย้งหรือเห็นต่าง


พวกที่สนับสนุนอำนาจขององค์กรที่อิสระจากกระบวนการประชาธิปไตย และพวกที่ต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยประนีประนอมกับอันธพาลเผด็จการของสุเทพ เป็นเพียงคนที่ต้องการถ่มน้ำลายใส่พลเมืองส่วนใหญ่ และสร้างระบบกึ่งเผด็จการนั่นเอง เขาไม่ใช่นักปฏิรูปแต่อย่างใด



.