http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-01-14

ส่วนรวมกับประชาธิปไตย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ส่วนรวมกับประชาธิปไตย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1389610748
วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 08:29:02 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 13 มกราคม 2557)


ในรายการทีวีหนึ่ง ผู้ดำเนินรายการเชิญแขกต่างประเทศมาร่วมรายการ แขกผู้นั้นอยากเสนอประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง "พลเมือง" เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก คนถือสัญชาติอื่นจำนวนมากเข้าไปมีชีวิตในอีกประเทศหนึ่งเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะในอียูที่ผู้คนเดินทางตั้งภูมิลำเนาข้ามไปข้ามมาอยู่มากและสม่ำเสมอ

พลเมืองมากับสิทธิการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งเป็นผลให้จัดการทรัพยากรด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง อันย่อมมีผลกระทบต่อชีวิตของทุกคนในดินแดนนั้น ไม่ว่าจะถือสัญชาติอะไร ด้วยเหตุดังนั้น เธอจึงเสนอว่าสิทธิการเลือกตั้งควรขยายออกไปจากพลเมือง ไปสู่คนต่างด้าวที่อยู่ประจำและอยู่นานในระดับหนึ่ง


ผู้ดำเนินรายการท้วงว่า ในประเทศไทย แม้แต่พลเมืองที่ถือสัญชาติไทยยังกำลังถูกกีดกันจากสิทธิเลือกตั้ง จะมาพูดถึงคนต่างด้าวอย่างแขกรับเชิญให้มาร่วมกำหนดชะตากรรมของประเทศไทยได้อย่างไร
ผมรู้สึกตัวว่าได้ความกระจ่างใจบางอย่างขึ้นมาทันที เมื่อแขกรับเชิญซึ่งเป็นชาวตะวันตกคิดถึงสิทธิเลือกตั้ง (หรือประชาธิปไตย) เขากำลังคิดถึงสิทธิและส่วนได้ส่วนเสียของปัจเจกบุคคล การเมืองของประชาธิปไตยคือการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันแก่ทุกคน ในการต่อรองในเรื่องการจัดการทรัพยากรของส่วนรวม เพื่อเขาจะได้ปกป้องผลประโยชน์ของเขาด้วยตัวเขาเอง หากจำเป็นต้องประนีประนอม (ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อทุกคนมีสิทธิต่อรองเท่าเทียมกัน) ก็ประนีประนอมเท่าที่เขาพอจะรับได้



แต่คนไทยไม่ได้คิดอย่างนั้น คนไทยคิดว่าประชาธิปไตยคือเรื่องของส่วนรวม เรื่องของชะตากรรมบ้านเมือง ไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะรักษาผลประโยชน์ที่ดีสุดของบ้านเมืองได้อย่างไร กลุ่มหนึ่งคิดว่าต้องมีคนเก่งคนดีมาจัดการบริหารทรัพยากรอย่างฉลาดและมีประสิทธิภาพ อีกกลุ่มหนึ่งคิดว่า คนอย่างนั้นไม่มี ถึงมีก็อาจเสียคนได้ในภายหลัง จึงสู้การเปิดให้ทุกคนได้เข้ามาช่วยกันคิดช่วยกันต่อรองไม่ได้

เวลาเราพูดถึง "กัมมันตพลเมือง" ดูเหมือนเรากำลังคิดถึงคนที่ใส่ใจจะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ โดยเฉพาะเข้ามาทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม (ที่เรียกกันว่ามีจิตสาธารณะ) และด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ใส่ใจเรียนรู้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาวัฒนธรรม ฯลฯ ที่สังคมของตนกำลังเผชิญอยู่ ยิ่งกว่านั้นยังต้องใช้เวลาครุ่นคิดว่า "กัมมันตพลเมือง" ในฐานะปัจเจกบุคคล จะมีส่วนเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร หนึ่งในสิ่งที่พูดกันเสมอก็คือต้องรวมกลุ่ม

"กัมมันตพลเมือง" เช่นนี้มีที่ไหนในโลกหรือครับ ผมมีประสบการณ์ต่างประเทศน้อย อาจมีจริงที่ไหนสักแห่งนอกจินตนาการของนักปราชญ์ไทยก็ได้ แต่สมัยที่ผมเรียนในสหรัฐ มีฝรั่งถามผมว่าไทยแลนด์คือไต้หวันใช่ไหมอยู่เสมอ คนอเมริกันชอบคิดว่าเขาคือผู้จัดระเบียบของโลกทั้งใบ แต่มีพลเมืองที่คิดไม่ออกว่าไทยแลนด์อยู่ที่ไหน ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงสงครามเวียดนามด้วย ดังนั้น ส่วนใหญ่ของชาวบ้านอเมริกันก็ไม่ใช่ "กัมมันตพลเมือง" แน่

และนักคิดของ กปปส.คงไม่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่เขา จะให้คนเช่นนี้มาร่วมกำหนดชะตากรรมของชาติได้อย่างไร

แต่ถ้าคิดแบบชาวตะวันตก (สมัยใหม่) คือคิดจากปัจเจกบุคคล แม้ว่านายแจ๊คซึ่งรับจ้างเลี้ยงวัวอยู่ชายทุ่งไม่ใช่ "กัมมันตพลเมือง" อีกทั้งไม่มีความรู้เกี่ยวกับส่วนรวมมากไปกว่าเพื่อจะหากินดำรงชีวิตไปวันๆ ใครจะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์และความอยู่ดีมีสุขของเขาได้ดีไปกว่าตัวเขาเอง หากพรรคการเมืองหนึ่งหาเสียงว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแก่แรงงานรับจ้างในไร่นา แจ๊คจะไม่ต้องใช้ความรู้อะไรมากนักเพื่อวิเคราะห์ว่าเขาควรสนับสนุนนโยบายนั้นหรือไม่

แน่นอนว่า แจ๊คย่อมคิดโดยอาศัยผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง
แต่ผลประโยชน์ส่วนตัวของคนหลากหลายประเภท (plurality) ย่อมคานกันเอง ฉะนั้นผลประโยชน์ส่วนตัวจึงไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความพินาศของผลประโยชน์ส่วนรวมเสมอไป เช่นแจ๊คในฐานะลูกจ้างเลี้ยงวัวมานาน ย่อมรู้ดีว่า หากขึ้นค่าแรงของเขามากเกินไป ผลก็คือจะไม่มีผู้ลงทุนเลี้ยงวัวอีกต่อไป (เพราะนายทุนย่อมขนทุนไปเลี้ยงวัวในประเทศที่ค่าจ้างแรงงานถูกกว่า) ตัวเขาก็จะตกงาน พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จึงต้องเสนอแต่พอที่จะเป็นผลดีในระยะยาวแก่ทั้งนายทุนเจ้าของไร่ปศุสัตว์และแรงงานรับจ้างในไร่ หากเสนอมากเกินไป นอกจากจะไม่สามารถส่งมอบผลได้ในทางปฏิบัติแล้ว ยังอาจทำให้เสียคะแนนเสียงไปด้วย


ประโยชน์ส่วนตนนี่แหละครับ หากเปิดให้คนหลากหลายประเภทได้เข้ามาต่อรองอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ก็จะเกิดผลดีแก่ประโยชน์ส่วนรวมไปด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือประโยชน์ส่วนตัว หากเปิดโอกาสทางการเมืองที่เสมอภาคจริงแล้วไซร้ ก็คือประโยชน์ส่วนรวม

การเมืองประชาธิปไตยที่มุ่งรับใช้ประโยชน์ส่วนตัวของปัจเจกบุคคล จึงไม่ได้หมายความว่าประโยชน์ส่วนรวมถูกละเลยไป


ผมทราบดีว่า ผมกำลังพูดอะไรเหมือนทฤษฎีที่ว่า ประชาธิปไตยคือระบอบปกครองของตลาดเสรี ผมยอมรับว่าผมก็เห็นด้วยกับทฤษฎีนี้อยู่ไม่น้อย แต่ไม่ทั้งหมด เพราะยังตะขิดตะขวงใจว่า ประชาธิปไตยมีอะไรที่มากกว่าตลาดเสรี เช่นคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่ขอไม่อธิบายล่ะครับ ตรงกันข้ามกลับจะเปรียบให้เห็นความละม้ายกันของประชาธิปไตยกับตลาดเสรีมากกว่า

โดยปราศจากความรู้และห่างไกลจากความเป็น "กัมมันตพลเมือง" ใครๆ ก็เข้าสู่ตลาดเสรีได้โดยมีอำนาจต่อรองใกล้เคียงกัน ผู้ซื้อรักษาประโยชน์ของตนเองด้วยการต่อรอง และหากไม่สำเร็จ ก็เปลี่ยนไปซื้อเจ้าอื่น ซึ่งมีเสรีภาพที่จะเปิดกิจการแข่งขัน ในที่สุดราคาของสินค้าเช่นก๋วยเตี๋ยว ก็จะลงตัวอยู่ที่ (สมมุติว่า) 25 บาท อันเป็นราคาที่คนส่วนใหญ่ในละแวกนั้นกินได้ แต่ในตลาดชนบท กำลังซื้อมีน้อยกว่า พลังต่อรองที่เท่าเทียมกันกำหนดให้ก๋วยเตี๋ยวมีราคาเพียง 15 บาท ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ในละแวกนั้นกินได้เหมือนกัน

25 บาทและ 15 บาท คือประโยชน์ส่วนรวม ราคาที่ "เป็นธรรม" เกิดขึ้นมาเอง โดยไม่มีใครกำหนด คนขายก็คิดถึงประโยชน์ส่วนตน เพราะขืนเอากำไรมากกว่านี้ก็จะไม่มีคนกินจนเจ๊ง คนซื้อก็ต่อรองโดยคิดถึงประโยชน์ส่วนตัว คืออยากกินก๋วยเตี๋ยวด้วยราคาที่ทรัพย์ในกระเป๋าอนุญาต เกิดราคาที่ "เป็นธรรม" ขึ้นโดยอัตโนมัติ


จะเกิดประโยชน์ส่วนรวมในแง่นี้ขึ้นมาได้ ตลาดต้องมีสองอย่างคือ ต้องมีเสรีภาพ (ในการซื้อและในการขาย) และต้องมีความเสมอภาค ทั้งผู้ซื้อก็เสมอภาค คนอื่นกิน 15 บาท เขาก็ได้กินในราคาเดียวกัน ตรงกันข้ามหากบางคนได้กิน 15 บาท แต่เขาไม่ได้กิน พลังต่อรองในตลาดก็ลดลง จนทำให้อาจไม่เกิดราคาที่ "เป็นธรรม" ขึ้น ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ขายก็ต้องเสมอภาค มีสิทธิเท่ากันที่จะเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวแข่งขัน มีสิทธิที่จะตั้งราคาได้เองตามใจชอบเพื่อแข่งขันกับเจ้าอื่น แต่เพื่อจะอยู่รอดได้ ในที่สุดก็ไม่ใช่ราคาตามใจชอบ ต้องลงมาสู่ราคาที่ "เป็นธรรม" จนได้ มิฉะนั้นก็จะเจ๊งไปเอง

การเมืองประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องอาศัยความรู้พิเศษของพลเมือง (โดยเฉพาะความรู้ของดอกเตอร์และศาสตราจารย์ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับประชาธิปไตยเลย) แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเมืองประชาธิปไตยคือ เสรีภาพและเสมอภาคต่างหาก

และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงออกจะระแวงการเรียกร้องผลประโยชน์ส่วนรวมของทุกคน เพราะฟังดูเหมือนมีอะไรศักดิ์สิทธิ์ ลี้ลับซึ่งต้องอาศัยญาณวิทยาล้ำลึกของบางคนเท่านั้น จึงจะมองเห็นและจัดการให้บรรลุผลประโยชน์ส่วนรวมได้ อีกทั้งยังฟังเหมือนการดูถูกธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งมีความเห็นแก่ตัวเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญอยู่เสมอ เห็นแก่ตัวและเห็นแก่ส่วนรวมเป็นสองอย่างที่ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน ตราบเท่าที่ยังมีเสรีภาพและเสมอภาคอยู่ในสังคมนั้น


เสรีภาพและเสมอภาคยังไม่เพียงแต่บันดาลให้ประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมกลืนเข้าหากันเท่านั้น แต่เสรีภาพและเสมอภาคยังบันดาลให้เกิดภราดรภาพขึ้นได้ เพราะที่จริงภราดรภาพก็คือประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมในอีกรูปหนึ่งนั่นเอง

ในรายการทีวีที่กล่าวถึงนั้น แขกชาวยุโรปของรายการถามว่า คำ solidarity ในภาษาอังกฤษนั้นแปลเป็นไทยว่าอย่างไร ผู้ดำเนินรายการให้คำแปลว่า ความสามัคคี ผมเองเคยแปลคำนี้ว่า ความเป็นปึกแผ่น

ไม่ว่าจะแปลว่าอย่างไร แขกชาวยุโรปอธิบายว่า solidarity ของเขา หมายถึงความรู้สึกร่วมชะตากรรมกับคนอื่นในสังคม นับตั้งแต่การเห็นคนแก่ข้ามถนนไม่ได้ ก็ยินดีให้ความช่วยเหลือ ไปจนถึงสมทบทุนช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากในที่ห่างไกล การกระทำเหล่านี้ดูเหมือนไม่ตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตัวเลย แต่ที่จริงแล้วตอบสนองอยู่มากในส่วนลึกของจิตใจ นั่นคือสร้างความมั่นใจแก่ตนเองว่า กำลังอยู่ในสังคมที่มีผู้คนคอยดูแลกันและกัน เป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของตนเอง ทั้งในปัจจุบัน คือทำให้จิตใจมีความสงบสุข และทั้งในอนาคตที่คาดเดาไม่ได้

ในทรรศนะของเขา ภราดรภาพเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีความเสมอภาค เพราะต่างรู้สึกว่าคนอื่นทั้งเหมือนและเท่าเทียมกับตนต่างหาก จึงสามารถใช้ความรู้สึกของตนเองไปประเมินสถานการณ์ของคนอื่นได้ เมื่อรัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ไม่ห่วงแต่เพียงว่า ใครๆ จะย้ายทุนหนีไปทำธุรกิจในประเทศอื่นหมด นั่นเป็นปัญหาที่ต้องคิดแก้กันต่อไป แต่สุขภาพอนามัยและความก้าวหน้าของชีวิตแรงงานระดับล่างและครอบครัวของเขา เป็นสิ่งที่ต้องรีบแก้ไขทันที อีกทั้งไม่มีทางแก้ไขด้วยวิธีอื่นนอกจากเพิ่มรายได้แก่เขา ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่หากมองแรงงานระดับล่างว่าเป็นเพียง "ส่วนเกิน" ที่อาจเคาะกะลาเรียกมาจากไหนก็ได้ (superfluous - ตามสำนวนของ Hannah Arendt) มองแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตไม่ใช่มนุษย์เหมือนตัวเอง ก็ไม่มีทางจะเกิดภราดรภาพขึ้นในสังคมนั้นได้




ความไม่เคารพต่อประโยชน์ส่วนตัวในหมู่ชนชั้นนำไทยนั้นแหละ ที่ทำให้การเมืองประชาธิปไตยไม่มีวันงอกงามขึ้นได้ ตรงข้ามกับชาวชนบทไทยที่ไร้วุฒิบัตรทั้งหลาย อยู่กันมาได้โดยยอมรับผลประโยชน์ส่วนตัวของทุกคน แต่กลับรักษาทรัพยากรของส่วนรวมไว้ได้อย่างยั่งยืนตลอดมา เพราะสังคมชนบทไทยมีเสรีภาพและเสมอภาคสูงกว่าสังคมเมืองของชนชั้นนำ และด้วยเหตุดังนั้นจึงมีภราดรภาพที่เห็นได้ชัดเจนสืบมา

ในฐานะที่ไม่คุ้นเคยกับประชาธิปไตย ถอนสิทธิเลือกตั้งของชนชั้นนำและสาวกคนชั้นกลางของเขาเสีย ดีไหมเอ่ย

.............

______________________________________
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.