http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-01-18

ข้อยกเว้นมีหรือไม่ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ข้อยกเว้นมีหรือไม่
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/01/51234
. . Sat, 2014-01-18 08:22

( เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17-23 มกราคม 2557 หน้า 30
ที่มา: www.sujitwongthes.com )



ถึงที่สุดของบทความนี้ ผมคงต้องตั้งคำถามเชยๆ อันหนึ่งแก่นักสันติวิธี นั่นคือคำถามที่ถามกันมานานแล้วว่า สันติวิธีนั้นใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายอันเป็นธรรมได้จริงหรือ
นักสันติวิธีตอบคำถามนี้ไปนานแล้ว ด้วยการยกกรณีของความสำเร็จซึ่งเกิดในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งในแอฟริกา เอเชีย และยุโรป ผมก็ไม่ได้ตามไปศึกษากรณีต่างๆ เหล่านั้น แต่ก็ยอมรับข้อถกเถียงของนักสันติวิธีอย่างง่ายๆ หรือมักง่าย

อย่างไรก็ตาม มีกรณีหนึ่งที่ผมพอจะรู้อะไรบ้างนิดๆ หน่อยๆ นั่นคือกรณีของคานธีและอินเดีย จริงอยู่หรอกครับที่คานธีและสันติวิธีมีความสำคัญที่สุดที่ทำให้อังกฤษหลังสงคราม เห็นว่าไม่คุ้มในทุกทาง (เศรษฐกิจ, การเมืองระหว่างประเทศ, การทหาร ฯลฯ) ที่จะรักษาอินเดียไว้เป็นอาณานิคมต่อไป จึงยอมให้เอกราชแก่อินเดีย แต่คานธีไม่ได้ดำเนินการสันติวิธีในสุญญากาศ หากดำเนินการอยู่ในความวุ่นวายปั่นป่วนและความรุนแรงหลายประเภทของสังคมอินเดีย (อังกฤษใช้คำว่า agitation ซึ่งกระทำโดยสันติวิธีก็ได้ โดยใช้ความรุนแรงก็ได้)

ทุกครั้งที่มีการประท้วงซึ่งนำโดยคานธี หรือกระทำในนามของคานธี แม้ว่าส่วนใหญ่ของผู้ประท้วงใช้สันติวิธี แต่อังกฤษใช้ตำรวจชาวอินเดียตอบโต้ด้วยความรุนแรง บาดเจ็บกันจำนวนมาก กลายเป็นภาพความทารุณโหดร้ายปรากฏในสื่อทั่วโลก และในขณะเดียวกัน ก็มีผู้ร่วมประท้วงอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งทนไม่ไหวกับการปราบปราม ลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงต่อสู้กับตำรวจบ้าง ยิ่งทำให้ตำรวจระแวงและยิ่งใช้ความรุนแรงโดยไม่จำเป็นมากขึ้น

ไม่มีหรอกครับ กระบวนการสันติวิธีที่ใช้กับคนจำนวนเป็นแสนเป็นล้าน จะสามารถรักษาแนวทางสันติวิธีได้ทั่วถึงและตลอดไป


นอกจากนี้ แนวทางสันติวิธีของคานธี ก็เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางอีกหลายชนิดที่นักชาตินิยมอินเดียใช้ในการขับไล่อังกฤษ วิธีที่ไม่ใช่อหิงสาก็มีอีกหลายแนว รวมทั้งการตั้งใจใช้ความรุนแรงโดยตรง ผู้นำที่รู้จักชื่อกันดีซึ่งเลือกใช้วิธีนี้ก็เช่น สุภาส จันทรโบส ซึ่งไปร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อใช้กำลังทหารขับไล่อังกฤษ ที่จริงยังมีผู้นำชาวเบงกอลีอีกหลายคน ทั้งก่อนและหลังสุภาสที่เลือกใช้ความรุนแรง

อังกฤษต้องเลือกระหว่างแนวสันติวิธีของคานธีกับแนวความรุนแรงของผู้นำคนอื่น การตัดสินใจในที่สุดที่จะจำนนต่อแนวของคานธี ทำให้เมื่ออินเดียเป็นเอกราชแล้ว อินเดียก็ยังสมัครใจอยู่ในเครือจักรภพ ตัดสินใจที่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการอีกพักใหญ่ ตัดสินใจที่จะไม่ผนวกธุรกิจของอังกฤษทั้งหมดในอินเดียให้เป็นของชาติ ฯลฯ

ผมจึงคิดว่า เราไม่อาจมองความสำเร็จของคานธี โดยลืมปูมหลังความรุนแรงนานาชนิดที่เกิดในอินเดียไม่ได้
ความสำเร็จของคานธีคือสันติวิธี แต่ความสำเร็จของอินเดียที่กู้เอกราชได้ ไม่ใช่สันติวิธีล้วนๆ แน่
และกระแสความรุนแรงเหล่านั้นก็มาปรากฏอย่างชัดเจนแพร่หลายไปทั่วหลังจากได้เอกราช แม้แต่คานธีเองก็คานไม่อยู่

อีกทั้งต้องจบชีวิตลงเพราะความรุนแรงนั้น



ในกรณีเหตุการณ์ซึ่งเกิดในประเทศไทยเวลานี้ ผมมีปัญหามากกับการเรียกร้องให้ใช้สันติวิธีจัดการ หรือเรียกร้องให้ไม่ใช้ความรุนแรง

เริ่มต้นจาก เรียกร้องใคร ทุกกลุ่มที่เรียกร้องก็อ้างว่าเรียกร้องทั้งสองฝ่าย คือทั้งผู้ประท้วงและรัฐบาล แต่การเป่านกหวีดใส่ฝ่ายตรงข้าม, การยึดสถานที่ราชการจนข้าราชการไม่อาจเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้, การไม่อำนวยความสะดวกแก่การจราจร โดยเฉพาะกรณีเด็กไปโรงเรียน หรือคนป่วยจะเข้าโรงพยาบาล, การปิดหน่วยรับสมัครเลือกตั้ง, การลุกขึ้นสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยกำลังอาวุธ, การกล่าวร้ายผู้อื่นโดยปราศจากความจริง, การปิดกรุงเทพฯ, การตั้งข้อเรียกร้องที่ไม่อนุญาตให้ต่อรอง, ความพยายามสร้างเงื่อนไขให้กองทัพออกมายึดอำนาจ, การละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างโจ่งแจ้ง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความรุนแรงหรอกหรือ

หากใช่ สิ่งแรกที่องค์กรต่างๆ ควรเรียกร้อง คือให้กลุ่มประท้วงหยุดใช้ความรุนแรงลงทันทีไม่ใช่หรือ แน่นอนก็ควรเตือนฝ่ายรัฐบาลด้วยว่า อย่าใช้ความรุนแรงจัดการกับการประท้วง แต่อย่างไรเสียก็ต้องทำให้ฝ่ายที่กำลังใช้ความรุนแรงอยู่ ยุติการกระทำนั้นเสียก่อน

และที่ผ่านมาจนถึงนาทีนี้ ผมเห็นว่ารัฐบาลใช้สันติวิธีในการจัดการกับการประท้วงมาโดยตลอด แต่ผลของสันติวิธีตามนโยบายของรัฐบาลก็คือ รัฐไทยกำลังล้มเหลวลงเป็นครั้งแรก น่าประหลาดที่คนซึ่งได้ประโยชน์จากรัฐไทยมากกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ, ปัญญาหมอทั้งหลาย, ผู้บริหารมหาวิทยาลัย, นักธุรกิจระดับสูง, และคนชั้นกลางในเขตเมือง กลับไม่วิตกกังวลกับความเป็นรัฐล้มเหลวแต่อย่างไร

(ผมก็อยากเตือนนอกเรื่องไว้ด้วยว่า ความเป็นรัฐล้มเหลวนั้นไม่อาจกู้คืนได้ง่ายๆ เพียงเพราะทหารยึดอำนาจนะครับ กระบวนการกู้คืนรัฐที่ล้มเหลวไปแล้วนั้น ใช้เวลาเป็นสิบปีทั้งนั้น ในหลายกรณีกู้คืนเองก็ไม่ได้ ต้องอาศัยแรงกดดันและการจัดการจากนานาชาติเช่นสหประชาชาติ ทั้งในกระบวนการล้มเหลวและกู้คืน ยังต้องเสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็นอีกมาก กรณีกัมพูชาเสียไปถึงเกือบ 2 ล้านชีวิต)


แม้กระนั้น หากถามว่า รัฐจะแก้ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้โดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ไหม ตามทฤษฎีก็ต้องตอบว่าได้ เช่น ปล่อยให้ยึดที่ทำการของกระทรวงไป แต่รักษาการทำงานของรัฐให้ดำเนินสืบไปได้ เช่น กระทรวงการคลังถูกยึด แต่จ่ายเงินเดือนข้าราชการได้ จ่ายหนี้ของรัฐได้ ฯลฯ เป็นต้น ถึงจะขัดขวางมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็เปลี่ยนวิธีรับสมัครโดยวิธีออนไลน์ สถานีตำรวจบางแห่งถูกยึด ก็ประกาศรับแจ้งความในท้องที่นั้นได้ทุกสถานี ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็คอยปลอบใจประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิทั้งหลาย ให้อดกลั้นเพื่อรักษาเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกัน

แต่ในทางปฏิบัติ รัฐไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีอำนาจนอกระบบหลากหลายชนิดซึ่งคอยกำกับควบคุมรัฐอยู่อย่างอิสระ เรื่องนี้ก็รู้กันอยู่ทั่วไป เช่น กองทัพ, ตุลาการและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด, องค์กรอิสระ ฯลฯ รัฐไม่ได้เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง หาก กกต. ไม่ยอมร่วมมือด้วย (เพราะเหตุใดก็แล้วแต่) การสมัครรับเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากรัฐไม่ปกป้องความปลอดภัยของผู้สมัครด้วยการป้องกันมิให้ฝูงชนบุกเข้าไปทำลายกระบวนการรับสมัคร

และจะป้องกันได้อย่างไร หากไม่ให้ใช้ความรุนแรงเลย (แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง) ผมคิดว่าการเรียกร้องมิให้ฝ่ายใดใช้ความรุนแรงโดยไม่ปรามฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงเลยเช่นนี้ ก็เท่ากับห้ามมิให้รัฐใช้ความรุนแรงเพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่ปล่อยให้ฝ่ายประท้วงใช้ความรุนแรงอย่างไรก็ได้

การเรียกร้องเช่นนี้ก็ไม่ผิดนะครับ เพราะรัฐมีศักยภาพจะใช้ความรุนแรงได้ฉกาจฉกรรจ์กว่าฝ่ายประท้วงหลายสิบเท่า จึงต้องปรามรัฐไว้ก่อน
แต่ขอโทษเถิดครับ หากคิดอย่างนี้ก็พูดมาตรงๆ สิครับ อย่าทำเนียนเหมือนว่าเป็นกลาง ลูบหน้าแล้วไม่ปะจมูก


กลับมาสู่ปัญหาสันติวิธี เหมือนกับ “วิธี” อื่นๆ ในโลกบ้างไหมครับ คือใช้ได้เฉพาะในบางเงื่อนไข แต่ใช้ไม่ได้ในบางเงื่อนไข (ผมยังไม่พูดถึงว่า ไม่ควรใช้ในบางเงื่อนไข) วิธีรุนแรงก็เหมือนกัน ใช้ได้เฉพาะบางเงื่อนไข เหมือนกัน เช่น หากมีกรณีพิพาทกับจีนหรือสหรัฐ อย่าได้คิดแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงเป็นอันขาด

แต่ผมก็ยอมรับนะครับว่า ปัญหาจำนวนมากในโลกนี้อาจแก้ได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ซ้ำจะได้ผลดีกว่าเสียด้วย แต่มนุษย์เราเคยชินกับการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหามานาน หรือบางกลุ่มบางเหล่าสืบทอดวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหามานาน (เช่น คนไทยซึ่งมีประเพณีประหารชีวิตด้วยวิธีโหดร้ายหลายอย่างมาแต่โบราณ) จึงมักถนัดจะหันเข้าหาความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาอยู่เสมอ แม้กระนั้นผมยังสงสัยว่า ไม่มีกรณีใดบ้างเลยหรือ ที่หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงไม่ได้เลย เช่น กรณีที่รัฐไทยกำลังเผชิญอยู่เวลานี้เป็นต้น

หากนักสันติวิธียอมรับว่า อาจมีบ้างเหมือนกัน (แต่ไม่ใช่กรณีของรัฐไทยในเวลานี้) สิ่งที่น่าจะคิดควบคู่กันไปกับสันติวิธีก็คือ เราจะจำกัดความรุนแรงได้อย่างไร เช่น การควบคุมฝูงชนที่ถูกปลุกระดมจนบ้าคลั่ง โดยไม่ใช้กระสุนจริง ทำอย่างไรได้บ้าง ทำแต่ละอย่างแล้วมักให้ผลอย่างไร เป็นต้
ลองคิดถึงกลไกสันติภาพที่ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสิครับ มีมากมายเหลือคณานับ ตั้งแต่สมัยที่มี Holy Alliance สืบมาจนองค์กรโลกในปัจจุบันหลายชนิด แม้แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธ ก็ยังพยายามสร้างกฎกติกาที่จะกำกับความรุนแรงในการสงครามอีกหลายอย่าง เปรียบเทียบกับความขัดแย้งภายใน กลไกในการควบคุมการใช้ความรุนแรงมีน้อยและไม่ค่อยเข้มแข็งเท่าไรนัก

มันมีเหตุผลหรือไม่ครับ ที่ผู้รังเกียจการใช้ความรุนแรง จะต้องคิดถึงกลไกและกลวิธีกำกับควบคุมการใช้ความรุนแรงไปพร้อมกัน (คือไม่ปฏิเสธเด็ดขาดว่า วิธีรุนแรงใช้ไม่ได้เลยในทุกกรณี)

หากสังคมไทยต้องตกอยู่ในสภาพจลาจลจนถึงสงครามกลางเมือง นอกจากผมจะโทษศาลรัฐธรรมนูญ, ป.ป.ช., กกต., กสม., ทปอ., สื่อ ฯลฯ แล้ว ผมคงอดโทษนักสันติวิธีไม่ได้ด้วย



.