http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-01-23

เอกสิทธิ์: วิกฤตการเมืองกับความหวาดกลัวของชนชั้นนำของไทย

.

วิกฤตการเมืองกับความหวาดกลัวของชนชั้นนำของไทย
โดย เอกสิทธิ์ หนุนภักดี

ใน http://prachatai3.info/journal/2014/01/51353 
. . Thu, 2014-01-23 19:41



คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. เป็นชนชั้นนำของไทย เมื่อประเมินจากความสามารถในการเข้าถึงอำนาจและทรัพย์สินในครอบครอง ความพยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คัดค้าน ถ่วงเวลา โจมตีผู้สนับสนุนการเลือกตั้งและการปฏิเสธการเลือกตั้งของคุณสุเทพและบรรดาแกนนำทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย สะท้อนความหวาดกลัวประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทย

ชนชั้นนำไทยมีความพยายามคุมความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่จะส่งผลให้อำนาจและทรัพย์สินของพวกเขาลดลงด้วยวิธีการต่าง ๆ เสมอมา ทั้งในทางกฎระเบียบ กฎหมาย อุดมการณ์ วัฒนธรรม ประเพณี หรือด้วยกำลังเพื่อมิให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจจนโครงสร้างนั้นหลุดจากการกำกับของตนเอง
เพียงแต่วิธีการควบคุมดังกล่าวนี้ จำนวนมากถูกใช้อย่างแนบเนียน แม้เป็นความรุนแรงก็เป็นความรุนแรงในที่ลับ


ดังนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่ความรุนแรงอย่างอุจาดในที่สาธารณะ จึงสะท้อนความหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงในระดับสูงของชนชั้นนำ ซึ่งอาจจะเกิดจากการตื่นตระหนกกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อับจนปัญญาที่จะเหนี่ยวรั้งสังคมไว้เช่นเดิม หรืออยู่ในสภาพสิ้นหวังไม่เห็นอนาคตจนตรอก จึงมุ่งเป้าหมายไม่เลือกวิธีการกระทั่งยินยอมใช้ความรุนแรง


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยเผชิญความขัดแย้งและวิกฤตทางการเมืองบ่อยครั้ง บางส่วนยุติลงด้วยการรัฐประหาร ส่วนที่ขัดแย้งลึกซึ้งมักเกิดความรุนแรง ในจำนวนนี้มีความขัดแย้งทางการเมืองที่เดิมพันคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจอย่างน้อย 2 ครั้งใหญ่ คือ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับพลังปฏิรูปสังคมที่ก่อตัวในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา19 และความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับพลังประชาธิปไตยโดยมีเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 49 เป็นหมุดหมายสำคัญ

ความขัดแย้งทั้งสองครั้งนี้แม้ได้เกิดความรุนแรงขึ้นแล้วก็ยังไม่สามารถยุติปัญหาลงได้ ก่อนและหลังเหตุการณ์รุนแรงครั้งใหญ่ในที่สาธารณะก็ยังปรากฏความรุนแรงในระดับต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนในปี พ.ศ. 2514 กระแสปฏิรูปสังคมของนักศึกษาปัญญาชนช่วงปี พ.ศ. 2516 การโค่นระบอบกษัตริย์ของลาวในปี พ.ศ. 2519 ทำให้ชนชั้นนำวิตกและหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสังคม ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 - เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จึงมีการจัดตั้งหน่วยงานและกลุ่มพลังตอบโต้การเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสังคมด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและอบรมอุดมการณ์รักชาติ-ศาสน์-กษัตริย์อย่างเข้มข้น มีการคุกคาม ทำร้ายและลอบสังหารนักศึกษา ผู้นำชาวนา ผู้นำสหภาพแรงงาน นักวิชาการและนักการเมืองผู้ชูธงปฏิรูปสังคม ก่อนจะนำไปสู่การปิดล้อมสังหารหมู่นักศึกษาจำนวนหลายร้อยคนกลางเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ผลักไสขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนชั้นแนวหน้าของไทยเข้าป่าอีกจำนวนนับพัน
ตามมาด้วยสงครามระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อนที่ความขัดแย้งนี้จะยุติลงในปี พ.ศ. 2523 ด้วยการนิรโทษกรรมให้กับ ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ กลับจากป่าคืนสู่เมือง


หากยึดโครงสร้างทางสังคมที่ยังสามารถผลิตความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องเป็นเกณฑ์ก็อาจจะสรุปได้ว่า ชนชั้นนำคือผู้ชนะในความขัดแย้งครั้งนี้


วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ที่พยายามสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง การชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายติดต่อกันของพรรคไทยรักไทยนับจากปี พ.ศ. 2544 และพฤติกรรมอำนาจนิยมอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งของอดีตนายกฯทักษิณ ทำให้ชนชั้นนำตระหนักถึงภัยคุกคามของประชาธิปไตยต่อพวกเขา
หลังจากการรัฐประหาร 19 กันยา 49 และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าฉบับ ‘หมายจับทักษิณ’ ที่ติดตั้งกลไกถ่วงดุลอำนาจเสียงข้างมากด้วยเสียงข้างน้อยที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง สร้างตุลาการภิวัตน์และตุลาการธิปไตย ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของชนชั้นนำด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถกำกับประชาธิปไตยได้

การเมืองไทยในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าความพยายามดังกล่าวนั้นสูญเปล่า นอกจากชนชั้นนำจะไม่สามารถกำกับประชาธิปไตยได้อย่างเด็ดขาดแล้ว กระบวนการในการกำกับประชาธิปไตยของชนชั้นนำมีแนวโน้มที่จะเพิ่มระดับความรุนแรงและความอุจาดมากขึ้น กล่าวคือ เพื่อที่จะจำกัดประชาธิปไตยลง

ชนชั้นนำไทยเลือกใช้รูปแบบและวิธีการที่สังคมกังขามากขึ้นกระทั่งบางครั้งยอมละเมิดหลักการ เปิดเปลือยตัวตนด้านอุจาดโจ่งแจ้งในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการให้ทหารปราบปรามประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งด้วยกระสุนจริงในปี พ.ศ. 2553 การเข้ามาก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติของฝ่ายตุลาการ การตัดสินคดีปกครองและการตีความกฎหมายอย่างน่าฉงนในหลักกฎหมายหลายครั้งหลายครา รวมถึงการให้ความเห็นด้วยถ้อยคำปลุกปั่นยุยงสร้างความเกลียดชังกระทั่งหยาบช้าเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทั้งหมดนี้สะท้อนความหวาดกลัวประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทย



ความหวาดกลัว ความอับจนปัญญาและความสิ้นหวังมีโอกาสที่จะนำไปสู่ความรุนแรงและพฤติกรรมอุจาดแต่ไม่ประกันว่าวิธีการดังกล่าวจะนำไปสู่ชัยชนะของชนชั้นนำ เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับพลังปฏิรูปสังคมในพุทธทศวรรษที่ 2510 และ 2520 แตกต่างไปจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับประชาธิปไตยในปัจจุบันด้วย อย่างน้อย 4 ประการ คือ

ประการแรก ความขัดแย้งในรอบนี้ชนชั้นนำไทยไม่มีความเป็นปึกแผ่นเช่นเดียวกับในอดีต นักวิชาการหลายท่านสรุปว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบันเป็นผลมาจากความขัดแย้งของชนชั้นนำที่เอามวลชนเป็นเครื่องมือเท่านั้น

ประการที่สอง ฐานกำลังของคู่ขัดแย้งหลักของชนชั้นนำในปัจจุบันนั้นขยายออกไปกว้างขวาง มีจำนวนมาก มีการจัดตั้งรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเหนียวแน่นกว่ากลุ่มนักศึกษาปัญญาชน

ประการที่สาม อุดมการณ์ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับชนชั้นนำในปัจจุบันคืออุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น เป็นอุดมการณ์ที่ลงหลักปักฐานมั่นคงในระดับสากลและในประเทศไทยแล้ว แตกต่างจากอุดมการณ์ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับชนชั้นนำในอดีตคือ ‘อุดมการณ์คอมมิวนิสต์’ หรือ ‘อุดมการณ์สังคมนิยม’ ที่ในขณะนั้นเป็นกระแสทางเลือกหนึ่งท่ามกลางตัวเลือกอื่น ๆ ก่อนจะมีผลยุติเด็ดขาดด้วยชัยชนะของอุดมการณ์ประชาธิปไตยหลังสงครามเย็น

ประการที่สี่ การขัดแย้งกับประชาธิปไตยทำให้ชนชั้นนำขาดพันธมิตรนอกประเทศสนับสนุน ในทางกลับกันมิตรประเทศเช่น สิงคโปร์และพม่า และประเทศมหาอำนาจใกล้ชิดกับไทยทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป ต่างติเตียนและเห็นพฤติกรรมต้านประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทยเป็นอันตรายต่อการเมืองและเศรษฐกิจของโลก


อีกนัยหนึ่งคือ ความขัดแย้งกับประชาธิปไตยที่กลายเป็นความหวาดกลัวประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทยผลักดันพวกเขาไปสู่
หนึ่ง ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำด้วยกัน
สอง ขัดแย้งกับประชาชนจำนวนมาก
สาม  ขัดแย้งกับอุดมการณ์และแนวทางพัฒนาหลักของสังคมโลก
ไปจนถึง สี่ ขัดแย้งกับมิตรประเทศและประเทศมหาอำนาจ


การต่อสู้ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้อาจทำให้พวกเขาต้องใช้ความรุนแรงและพฤติกรรมอุจาดเหมือนที่เคยกระทำมา แต่จะสามารถรักษาสถานะทางอำนาจของตนเองได้ดังเช่นในอดีตหรือ?

ประชาธิปไตยอาจสร้างความหวาดกลัวให้ชนชั้นนำ แต่ในโลกปัจจุบันดูเหมือนว่า พวกเขาจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องอยู่กับประชาธิปไตยต่อไป



.