.
ทำไปทำไม
โดย วีรพงษ์ รามางกูร
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391077945
. . วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 07:06:00 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 30 มกราคม 2557 )
เหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา คงเห็นได้ชัดว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ คงจะไม่มีทางเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯและจังหวัดในภาคใต้ แล้วเหตุการณ์จะพัฒนาไปในทางใด จะเป็นอย่างไรต่อไปก็คงไม่มีใครเดาได้
หากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. มีเหตุการณ์ที่ทำให้การเลือกตั้งในกรุงเทพฯต้องเลือกตั้งซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ก็คงเป็นเรื่องที่แปลก ไม่เป็นไปตามปกติ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ไปเรื่อยๆ จนครบ 180 วัน แล้วจึงมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้จะถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นไปอย่างนั้นได้หรือไม่ ก็น่าคิด
หากไม่ทำตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หลังจากการประกาศยุบสภา แต่ไปตกลงกับคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ยกเลิกกระบวนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งเริ่มเดินหน้าแล้วทั้งการลงคะแนนเสียงของคนไทยในต่างประเทศและการเลือกตั้งล่วงหน้า แม้ว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ" จะทำตัวเป็น "รัฐธรรมนูญ" เสียเอง ก็เท่ากับรัฐบาลร่วมมือกับกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญทำการฉีกรัฐธรรมนูญเสียเอง แล้วบ้านเมืองจะยึดหลักอะไร พรรคการเมืองอื่นๆ ที่เขาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.เขต ไปแล้วจะว่าอย่างไร
บรรยากาศการเมืองหลายปีมานี้บางทีเราก็ลืมไป นึกว่าประเทศไทยมีพรรคการเมืองเพียง 2 พรรค คือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น
การที่ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง องค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ที่จัดม็อบชุมนุมต่อต้านการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย พยายามร่วมมือกันให้เกิดภาวะทางตัน เพื่อเชิญทหารออกมาทำการปฏิวัติรัฐประหารซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีทั่วโลก ถึงแม้จะ "อาย" ไม่พูดตรงๆ แต่ "กรรมก็เป็นเครื่องชี้เจตนา"
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อทหารยังไม่ยอมปฏิวัติรัฐประหารตามสูตรเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา อาจจะเป็นเพราะ 3 เรื่อง
เรื่องแรกคือบัดนี้ประชาชนมิได้มีแต่เพียงฝ่ายเดียว กล่าวคือมิได้มีแต่ฝ่ายเหลืองในกรุงเทพฯและภาคใต้เท่านั้น แต่มีฝ่ายแดงในกรุงเทพฯและในต่างจังหวัดในภาคกลาง เหนือ อีสานและตะวันออก
เรื่องที่ 2 มีประเทศต่างๆ กว่า 60 ประเทศทั่วโลกไม่เห็นด้วยกับการมีรัฐบาลทหาร
เรื่องที่ 3 หากมีการบาดเจ็บล้มตายกันอีก บัดนี้มีศาลอาญาระหว่างประเทศเกิดขึ้นแล้ว แม้ประเทศไทยยังมิได้ให้รัฐสภาให้สัตยาบัน แต่ถ้ามีต่างชาติเข้าเกี่ยวข้องด้วย ศาลอาญาระหว่างประเทศอาจจะประทับรับฟ้องได้
ศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นน่ากลัวกว่าศาลไทยมากนัก ทหารคงจะทราบดีอยู่แล้วเพราะเรื่อง "ขอพื้นที่คืน" และ "กระชับพื้นที่" ในปี 2553 อาจจะไปโผล่ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้
เมื่อผิดแผนที่ทหารยังไม่ออกมาทำการปฏิวัติ แต่งตั้งสภานิติบัญญัติซึ่งจะเรียกชื่ออะไรก็แล้วแต่ แล้วออกประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางซึ่งที่จริงแล้ว "ไม่มี" ตั้งคณะทำงานทำการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากขบวนการบางส่วน เช่น การปลุกระดมมวลชนซึ่งคราวนี้ "จุดติด" เพราะประชาชนมีอารมณ์ค้างคามาจากการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย อารมณ์ค้างของผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้งที่มาเองและที่ "จัดตั้ง" มา จึงดำเนินการต่อเพื่อให้มี "สภาประชาชน" และ "รัฐบาลคนกลาง" เพื่อให้มีการ "ปฏิรูป" ก่อนการเลือกตั้ง
สมมุติว่าพรรคประชาธิปัตย์ผู้จัดการชุมนุมทำได้สำเร็จ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหันกลับไปร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์และผู้ชุมนุม ไม่ยอมอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังไม่มี "รัฏฐาธิปัตย์" หรือ หัวหน้าคณะ "รัฐประหารที่ทำการสำเร็จ" แล้วใครจะเป็นผู้สถาปนาสภาประชาชน ถ้ากรรมการอะไรก็ไม่ทราบแต่งตั้งตัวเอง โดยไม่มีปากกระบอกปืนกับรถถังออกมาตั้งจังก้าอยู่ใครจะไปยอม แล้ววุฒิสภาที่มีอยู่จะให้เป็นอะไร คงยังอยู่คู่กับสภาประชาชนหรือจะถูกยุบไป
อยากจะรู้ว่าผู้ที่เป็น "นายกรัฐมนตรีคนกลาง" ตามมาตรา 7 จะเป็นใคร เห็นมีรายชื่ออยู่ 2-3 ชื่อ ดูก็เข้าทีดีอยู่เหมือนกันก็น่าจะลองดู แล้วหัวหน้าม็อบกับแกนนำการชุมนุมจะเอาท่านไปไว้ที่ไหน ท่านนายกฯคนกลางก็คงต้องคิดหนัก ว่าจะจัดการกันอย่างไร หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีก็พบปัญหานี้กับผู้นำนักศึกษาซึ่งใหญ่โตคับบ้านคับเมืองมาแล้ว จนต้องลาออกแล้วตั้งรัฐบาลใหม่คลอดรัฐธรรมนูญปี 2517 ออกมาได้ แต่คราวนี้สถานการณ์ไม่เหมือนกับคราวนั้น
นึกไม่ออกว่าถ้ามีเว้นวรรคแล้วนายกรัฐมนตรีคนกลางจะทำอะไร จะบริหารราชการเพื่อทำการปฏิรูปการเมือง ก็ยังนึกไม่ออกอีกเหมือนกันว่าจะปฏิรูปอะไรแบบไหน จะได้ใครมาเป็น "สถาปนิกการเมือง" หรือ "Political Architect" หรือวิศวกรการเมือง "Political Engineer" เพราะอย่างไรเสีย รูปแบบของรัฐก็ดี รูปแบบของรัฐบาล รูปแบบของรัฐสภา ก็คงเหมือนเดิม จะกลับไปให้วุฒิสภาแต่งตั้งทั้งสภา มีอำนาจเท่ากับสภาผู้แทนราษฎรหรือให้มีสมาชิกสภาประเภทสอง เหมือนอย่างที่เคยทำก็คงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว จะจัดรูปแบบการเมืองให้กองทัพกับรัฐสภาคานอำนาจกัน อย่างที่เคยเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบก็คงทำไม่ได้อีกแล้ว จะให้สภากับนายกรัฐมนตรีแบ่งแยกอำนาจกันเด็ดขาดโดยทั้ง 2 ฝ่ายให้ประชาชนเลือกมาโดยตรงก็ทำไม่ได้
เราเคยรณรงค์ว่า จะใช้ระบบพรรคการเมืองเป็นแกนกลางของระบอบการปกครองโดยรัฐสภา โดยยึดถือคำขวัญที่ว่า "พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค" หรือ "เลือกพรรคเหมือนฟังดนตรีทั้งคณะ" บัดนี้ประชาชนเขาก็เลือกผู้แทนราษฎรเป็นพรรคอย่างที่รณรงค์กันมา มีปัญหาก็เพราะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งเกินไป ถ้าจะกลับไปอย่างเดิมว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยอิสระก็ได้ ก็จะเกิดปัญหาเดิมอีกคือพรรคควบคุม ส.ส.ของตนไม่ได้ ส.ส.วิ่ง "ขายตัว" ให้กับฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ จนรัฐบาลอ่อนแอเกินไปทำงานไม่ได้ จึงได้เขียนรัฐธรรมนูญว่า ผู้สมัครเป็นผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง
ที่ปลุกระดมกันไปต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านทักษิณ ให้ไปเลือก "คนดี" เข้าไปเป็นสมาชิกสภา จะเลือกอย่างไร คนดีก็ต้องสังกัดพรรค ทั้ง 2 พรรคใหญ่ก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น ตกลงจะเอาอย่างไรดีหรือเลือกปนๆ กันไปในแต่ละเขต ช่วยบอกทีจะได้ทำถูก
เมื่อพรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้นแต่ก็เข้มแข็งไม่เท่ากัน พรรคการเมืองหนึ่งชนะการเลือกตั้งติดต่อกัน 2 ครั้ง และทำท่าจะชนะการเลือกตั้งอีก บัดนี้ก็มีการรณรงค์ให้ "เลือกคนดีให้เข้ามาทำงานให้บ้านเมือง" ซึ่งไม่แน่ใจว่าหมายความว่าอย่างไร ไม่ควรเลือกพรรคหรืออย่างไร ฟังๆ ดูไม่ทราบว่าจะเอาอย่างไร ก็ในเมื่อมีระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต้องเลือกพรรคอยู่แล้ว ส่วน ส.ส.เขตให้เลือกคน หรืออย่างไร
ฟังดูจุดหมายปลายทางการปฏิรูปการเมืองก็คือ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง โดยมีสมมติฐานว่า ถ้าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงแล้วพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้รับเลือกมาเป็นพรรคใหญ่ สภาจะมีพรรคเล็กหัวแหลกหัวแตกอย่างนั้นหรือ แล้วการมีการเมืองหลายพรรคแบบหัวแหลกหัวแตกจะดีกว่าการเมืองระบบพรรคใหญ่ 2 พรรคอย่างนั้นหรือ เมื่อปฏิรูปการเมืองโดยเว้นวรรคสักปีสองปีแล้วกลับมาเลือกตั้งกันใหม่จะได้สภาผู้แทนราษฎรที่บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงอย่างนั้นหรือ ยังนึกไม่ออก ฟังดูก็สับสน ท่านผู้นำประเทศทั้งหลาย ท่านจะเอาอย่างไรก็แถลงมา จะได้ปฏิบัติตนได้ถูก
จะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร จะเขียนกฎหมายเลือกตั้งอย่างไร จึงจะได้สภาผู้แทนในอุดมคติ แล้วสภาผู้แทนในอุดมคติรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร อยากจะเห็นจริงๆ คนกรุงเทพฯจะได้พ้นวัยฮอร์โมนเสียที
ผู้แทนราษฎรต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่อยู่ในอาณัติของผู้ใด ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ ก็ขัดกับธรรมชาติของการเมืองระบบพรรคอีกนั่นแหละ เพราะถ้าสมาชิกพรรคไม่ปฏิบัติตามมติพรรค พรรคการเมืองก็ไม่เป็นพรรคการเมือง ตราบใดที่ประชาชนเลือกพรรคหาก ส.ส.ผู้ใดย้ายพรรคก็จะไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.แนวโน้มที่ว่านี้เกิดขึ้นแล้ว
เมื่อพรรคเข้มแข็งขึ้น พรรคมีจำนวนมากขึ้น อันสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้ลงคะแนนเสียงนิยมเลือกพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล ก็ขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองจะยอมทำตามคำชี้นำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ ขณะเดียวกัน การยอมอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใดบุคคลหนึ่งจนเป็นที่ปรากฏ ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองนั้น จะยังยินยอมเลือกพรรคการเมืองนั้นหรือไม่ ถ้ายินยอมลงคะแนนเสียงให้อยู่ แล้วจะทำอย่างไร จะมีมาตรการปฏิรูปอย่างไร มีคำพูดอยู่คำหนึ่งว่า "ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนเป็นอย่างไรก็ได้รัฐบาลเป็นอย่างนั้น"
หรือ "people deserve their own government" ไม่ใช่ของแปลกประหลาดอะไร มีแต่การปกครองระบอบอื่นเท่านั้นที่ได้รัฐบาลที่ดีกว่าหรือเลวกว่าประชาชน
จึงไม่ค่อยจะเข้าใจนักว่า ศาลก็ดี องค์กรอิสระก็ดี ทำตัวเป็นกฎหมายเสียเองทำไม เพราะเมื่อไหร่มีเลือกตั้ง ผลก็ออกมาเหมือนเดิม
แล้วทำไปทำไม
++
อวสานพรรคประชาธิปัตย์
โดย วีรพงษ์ รามางกูร
ใน www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1390812383
. . updated: 27 ม.ค. 2557 เวลา 15:39:34 น.
( ที่มา: คอลัมน์ คนเดินตรอก นสพ.ประชาชาติธุรกิจ )
อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย เคยประกาศว่า "ผมเชื่อในระบอบรัฐสภา" ก็เลยเชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคที่เชื่อมั่น เคารพ และศรัทธาในประชาธิปไตย และเป็นสถาบันการเมืองที่จะพาประเทศชาติสู่ความเป็นชาติผู้นำประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ชาติเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นระบบการเมืองพรรคใหญ่2พรรค เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
เคยฝันหวานว่า เราจะมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอนุรักษนิยม ตัวแทนของคนชั้นกลางและคนชั้นสูง ขณะเดียวกันก็มีพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เป็นตัวแทนของฝ่ายก้าวหน้า และจะเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางระดับล่างและคนในระดับรากหญ้าที่ต่างช่วยกันนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศชาติทั้ง2พรรคจะต่อสู้ แข่งขันกัน ในกรอบของประชาธิปไตย ในสนามเลือกตั้ง ผลัดกันแพ้เป็นฝ่ายค้าน ผลัดกันชนะเป็นรัฐบาล ตามแต่กระแสโลกาภิวัตน์ของสังคมโลก
การเป็นพรรคอนุรักษนิยมไม่ได้เสียหายอะไร เพราะคนจำนวนมากที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองทุกแห่งในโลกก็มีความเป็นอนุรักษนิยมเป็นจำนวนมาก ไม่แต่คนในเมือง คนต่างจังหวัดก็มีจำนวนไม่น้อยไปกว่าพวกหัวก้าวหน้าที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่จิตวิญญาณของนักการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น
แต่บัดนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ล้มเลิกความคิด วิสัยทัศน์ ทัศนคติ วาทกรรม และการกระทำ กลายเป็นพรรคที่สนับสนุนทหาร สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและต่อต้านประชาธิปไตยไปเสียหมด
เริ่มจากเป็นพรรคนำ พรรคแรกของการเป็นพรรคภูมิภาคหรือพรรคภูมิภาคนิยม หาเสียงในภาคใต้โจมตีคู่ต่อสู้ โดยการปลุกเร้าภูมิภาคนิยม ดูถูกดูหมิ่นคู่แข่งทางภาคอีสานและเหนือว่าเป็น "ลาว" ดูถูกหัวหน้าพรรคชาติไทยว่าเป็นจีนเกิดในเมืองจีน ดูถูกว่าหัวหน้าพรรคความหวังใหม่เป็น "ลาว" ใช้การดูหมิ่น "เชื้อชาติ" เป็นยุทธวิธีในการหาเสียง
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ทำสำเร็จเป็นพรรคของคนภาคใต้ พรรคเพื่อไทยก็ทำตามและทำได้สำเร็จเป็นพรรคภาคอีสานและภาคเหนือ พรรคชาติไทยเป็นพรรคภาคกลาง ซึ่งเป็นอันตรายต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง
ความที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งมาโดยตลอด30ปี และแพ้หนักมากในยุคนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งที่มีกองทัพและอำนาจเก่ารวมทั้งสื่อมวลชนหลักในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นตัวช่วยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเอาชนะในการเลือกตั้งไม่ได้สักที เพราะความเป็นอนุรักษนิยมของกลุ่มผู้นำพรรคที่ล้าสมัย ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานจริงมาก่อนประชาธิปัตย์จึงกลัวการเลือกตั้ง
การเป็นพรรคการเมืองที่กลัวการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่ฝรั่งเขาเรียกว่าเป็น Paradoxy เมื่อกลัวการเลือกตั้งก็ตั้งป้อมหาเรื่อง ติเตียนประณามการเลือกตั้ง เห็นการเลือกตั้งเป็นศัตรูของพรรค พฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นพฤติกรรมที่พยายามหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งอย่างที่สุด
เมื่อต่อต้านหลีกเลี่ยงประณามการเลือกตั้งตนก็ไม่มีทางเลือก ต้องทำตัวไปสู่การเป็นผู้สนับสนุนระบอบการปกครองที่ใช้การแต่งตั้ง หรือไม่ก็ใช้วิธีสรรหา ซึ่งเป็นลูกเล่นอย่างหนึ่งของระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หันไปสู่การสนับสนุนทหาร พูดจาสนับสนุนองค์กรอิสระที่ใคร ๆ ก็รู้กันทั่วว่า องค์กรอิสระเหล่านี้มีที่มาจากการรัฐประหารของทหาร หรือกระแสกลุ่มอำนาจเดิมซึ่งไม่ต้องการประชาธิปไตยแทนที่จะปฏิรูปตัวเองที่เป็นพรรคอนุรักษนิยม แต่ขณะเดียวกันก็ก้าวหน้าได้ ด้วยการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของประชาคมโลก ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของคนในต่างจังหวัด เลิกใช้วาทกรรมบิดเบือน กล่าวเท็จในเรื่องข้อกฎหมายและหลักการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีตัวอย่างให้ยกมาเทียบเคียงได้มากมาย หากต้องการ
ทำไปทำมา "ศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือประชาธิปไตย" นั่นเอง หนังสือพิมพ์ Washington Post ของอเมริกาพาดหัวตัวใหญ่ว่า "The Enemy of the Democrat party of Thailand is Democracy" ซึ่งเป็นความจริง แม้ว่าแฟนคลับของประชาธิปัตย์อย่างหนังสือพิมพ์กลุ่มเดอะเนชั่นจะออกมาแก้ตัวให้ก็ตาม
การที่พรรคประชาธิปัตย์จัดชุมนุมใหญ่ต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยโดยวิธีฉ้อฉลของพรรคเพื่อไทยใคร ๆ ก็เห็นด้วยจนรัฐบาลต้องถอย แต่กลับฉกฉวยโอกาสชุมนุมขับไล่รัฐบาลต่อ โดยอ้างประชาชนจำนวนมากในกรุงเทพฯว่าเป็น "มวลมหาประชาชน" ขับไล่รัฐบาลโดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งไม่จริง ผู้ชุมนุมบุกเข้ายึดสถานที่ราชการ ขโมยสิ่งของของราชการ บังคับขู่เข็ญไม่ให้ข้าราชการทำงาน ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ทำการ ข่มขู่ คุกคาม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เสนอตั้งองค์กรทางการเมืองที่ไม่อยู่ในกรอบของกฎหมายและกรอบของประชาธิปไตย สร้างสถานการณ์รุนแรง ยั่วยุให้มีความรุนแรงเพื่อกรุยทางให้ทหารทำการปฏิวัติรัฐประหาร
การดำเนินการชุมนุมครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้เลย เพราะดำเนินการโดยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นสุเทพ ชวน อภิสิทธิ์ ชินวร ถาวร และผู้นำพรรคคนอื่นที่ยึด "ข้างถนน" เป็นเวทีอภิปราย โจมตีด้วยคำหยาบคายกักขฬะ ใช้วาทกรรมที่โกหกมดเท็จซ้ำ ๆ ซาก ๆปั้นน้ำเป็นตัวครั้งแล้วครั้งเล่าโดยมิได้เกรงใจสมาชิกประชาธิปัตย์ที่เขาเป็น "ผู้ดี" มีจิตใจเป็นธรรมและเป็นนักประชาธิปไตยแม้แต่น้อย
การที่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เกรงกลัวการ "เลือกตั้ง" และยอมรับว่า "ศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์คือประชาธิปไตย" อย่างที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์พาดหัวข่าว ประชาธิปัตย์ไม่อาจแก้ตัวได้เลย พฤติกรรมที่แสดงว่ากลัวการเลือกตั้งซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็คือการประกาศ "คว่ำบาตร" การเลือกตั้ง
ปฏิรูปอย่างไร ถ้าประชาชนเขาไม่เลือก ประชาธิปัตย์ก็แพ้อยู่ดี ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้จัดการเลือกตั้ง หรือกฎหมายเลือกตั้ง
ปัญหาอยู่ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเขาไม่เลือกมากกว่า จะให้แก้กฎหมายเลือกตั้งอย่างไรก็ยังแพ้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังถูกเกาะกุมโดยกลุ่มผู้นำเก่าที่ล้าสมัย ยังคิดแบบเดิม ๆ ยังใช้วิธีเดิม ๆ ในการแข่งขัน ที่สำคัญ เมื่อครั้งเป็นรัฐบาลโดยการช่วยเหลือของกองทัพ ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าทำงานไม่เป็น คิดไม่เป็น เป็นแค่ทำความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างต่างประเทศ ทั้งกับเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ภาพพจน์ของประเทศเสียหายเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ
พรรคการเมืองนั้นต้องเอาดีในกรอบของระบอบประชาธิปไตย เงื่อนไขสำคัญของระบอบประชาธิปไตยก็คือการเลือกตั้ง การมีการเลือกตั้งอาจจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่การไม่มีการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นของแท้
ถ้าประชาธิปัตย์เห็นการเลือกตั้งเป็นศัตรูและพยายามต่อสู้ขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง โดยการออกตัวไปเป็น "เครื่องมือรับใช้สนับสนุนฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" แต่มีอำนาจแฝง เช่น กองทัพ องค์กรอิสระ รวมทั้งการได้ขายจิตวิญญาณประชาธิปไตย เพื่อแลกกับการได้เป็นนายกรัฐมนตรีในระยะเวลาสั้น ๆ ที่ไม่สง่างาม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทำลายพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้วในระยะยาว
การ "คว่ำบาตร" การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ เป็นการบังคับตัวเองให้ต่อต้านการเลือกตั้ง ซึ่งถูกประณามไปทั่วโลก จะมีชมเชยบ้างก็สื่อมวลชนที่ล้าหลังภายในประเทศ
การที่พรรคคว่ำบาตร ทำให้ผู้นำพรรคก็ดี สมาชิกที่ภักดีต่อพรรคก็ดี ถูก "บังคับ" ให้ทำตัวเป็นนักต่อต้านประชาธิปไตยไปโดยปริยาย ดังจะเห็นได้จากวาทกรรมต่อต้านการเลือกตั้ง ต่อต้านประชาธิปไตยไปโดยปริยาย วาทกรรมดังกล่าวอย่างไรเสียก็ต้องเป็นวาทกรรมที่เป็นเท็จทั้งในด้านหลักวิชาและข้อเท็จจริง ที่สำคัญก็คือบังคับตัวเองให้ขัดขวางต่อต้านองค์กรที่จัดเลือกตั้งคือ กกต.และกลุ่มชุมนุมต่าง ๆ ให้ต่อต้านขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการต่อต้านประชาธิปไตยโดยตรง แม้จะพยายามหาเหตุผลมาบิดเบือน
อย่างไรก็ตามถ้า กกต.เกิดถูกบังคับ จะโดยกฎหมาย หรือความกดดันจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่อย่างหนักจนต้องจัดการเลือกตั้งนี้ไปได้ ก็จะไม่มีประชาธิปัตย์อยู่ในสภา จะมีพรรคอื่นมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านแทน และถ้าฝ่ายค้านนั้นมีวิสัยทัศน์ มีทัศนคติ มีวาทกรรมที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย อยู่ในกรอบของประชาธิปไตย เลือกตั้งคราวต่อไป อย่างน้อยคนกรุงเทพฯอาจจะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อีกเลยก็ได้ ถึงเมื่อนั้นประชาธิปัตย์อาจจะกลายเป็นพรรคต่ำสิบไปก็ได้
ถ้ายังยืนกรานไม่เปลี่ยนตัวผู้นำในพรรคที่เกาะกุมอำนาจในพรรคมากว่า40ปี ยังมีความคิดเดิม ๆ ทำงานไม่เป็นเหมือนเดิม คิดอะไรไม่เป็นเหมือนเดิม เอาแต่คิดว่าจะพูดจาถากถางเหน็บแนมปั้นน้ำเป็นตัวทำลายผู้อื่นเพื่อให้ถูกใจแฟนคลับ ซึ่งแก่ตัวอายุมากขึ้นทุกวัน ก็เชื่อได้ว่าเลือกตั้งอีกไม่กี่ครั้ง นอกจากจะไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ผู้นำฝ่ายค้านก็อาจจะไม่ได้เป็น
ถ้ายังเป็นพรรคที่เชื่อในตัวบุคคล หรือลัทธิบุคลาธิษฐานอยู่ ไม่ได้เชื่อในระบบ เหมือน ๆ กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งสังคมไทยในขณะนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ แต่ในอนาคตข้างหน้า สังคมไทยน่าจะกำลังเปลี่ยนไป อีกไม่นานความเชื่อในลัทธิบุคลาธิษฐานจะคลายความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ เพราะบุคคลไม่อาจดำรงคงอยู่ตลอดกาล และเมื่อถึงจุดนั้น การชูบุคคลเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ก็น่าจะลดความสำคัญลง พรรคการเมืองทั้ง 2 ขั้ว ควรจะคิดถึงเรื่องนี้ไว้เสียแต่เนิ่น ๆ
การใช้กลเม็ดในการหาเสียงหรือดำเนินการทางการเมืองด้วยการไม่ลงแข่งขันเลือกตั้ง เป็นยุทธวิธีนอกกรอบประชาธิปไตย นอกระบบพรรคการเมือง เท่ากับเป็นการต่อต้านพลวัตทางการเมือง เพราะการเลือกตั้งเป็นบทเรียนและประสบการณ์ของพรรคการเมือง เป็นวิธีการรับ "ความรู้สึก" ของประชาชนฐานเสียงของตัวเองอย่างแท้จริงว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
แล้วอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย