.
เลื่อนเลือกตั้ง : ทางออก หรือทางตัน
โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ www.facebook.com/verapat
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390570600
วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 20:29:53 น.
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญรับตีความคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งร้องที่ว่า 1.สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้หรือไม่ และ2.องค์กรใดมีอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้ง และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้ และมติ 7 ต่อ 1 ว่า ให้นายกรัฐมนตรีและประธาน กกต. หารือกันเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้ง
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ได้แสดงความคิดเห็น โดยเขียนเป็นบทความ ดังนี้ ...
เลื่อนเลือกตั้ง : ทางออก หรือทางตัน โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ช่องให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งได้นั้นมีประเด็นทางกฎหมายที่ต้องพิจารณาดังนี้
ประเด็นที่ 1 คำวินิจฉัยมีฐานทางรัฐธรรมนูญรองรับหรือไม่ ?
ในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลได้อ้างอำนาจจาก รัฐธรรมนูญมาตรา 214ซึ่งบัญญัติว่า
"ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภาคณะรัฐมนตรีหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไปให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้นเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย"
ถ้อยคำใน มาตรา 214บัญญัติชัดเจนว่าจะต้องมีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หมายความว่า จะต้องมีการโต้แย้งกันว่าอำนาจหน้าที่เป็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายข้อใดที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งโดยอ้าง"ความกังวล" ว่าจะจัดเลือกตั้งไม่สำเร็จ
ตรงกันข้าม รัฐธรรมนูญและกฎหมายได้เล็งเห็นอยู่แล้วว่าการเลือกตั้งอาจมีปัญหาได้จึงมีบทบัญญัติที่สามารถตีความต่อไปได้ว่า หากการเลือกตั้งมีปัญหาและส่งผลให้ได้ส.ส.ไม่ครบ 95%ก็ต้องเลือกตั้งใหม่ในเขตที่มีปัญหาให้ได้ครบจำนวนภายใน 180วันและหากเขตใดมีปัญหาสุดวิสัย ก็ดำเนินการแก้ไขเฉพาะในเขตนั้น
ดังนั้น กฎหมายจึงได้กำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาไว้อยู่แล้วและไม่มีประเด็นความขัดแย้งของอำนาจหน้าที่ใดที่ต้องตีความประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความสงสัยและนึกขึ้นเอาเองของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งแม้อาจจะหวังดีก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เหตุในการให้ศาลต้องชี้ขาด แต่หากกรณี ′นึกเอาเอง′แบบนี้ศาลรับมาชี้ขาดได้ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐาน ′เปิดประตูอภินิหาร′ให้ศาลกลายเป็นผู้เพิ่มและลดอำนาจองค์กรอื่นได้ตามใจปรารถนา
ยิ่งไปกว่านั้นการที่ศาลได้อธิบายว่าอำนาจในการเลื่อนวันเลือกตั้งเป็นอำนาจซึ่ง คณะรัฐมนตรีต้องหารือกับ คณะกรรมการการเลือกตั้งก็เท่ากับเป็นกรณีที่ศาลได้สารภาพในคำวินิจฉัยเองว่าคดีนี้ไม่มีความขัดแย้งหรือแย่งชิงอำนาจหน้าที่เพราะศาลยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายมีอำนาจร่วมกันและไม่มีอำนาจที่เป็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่งที่จะโต้แย้งกันได้
ส่วนการที่ศาลได้อ้างตัวอย่างการเลือกตั้งในปี 2549ที่เคยถูกศาลวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะและต้องจัดการเลือกตั้งใหม่นั้นก็ไม่อาจรับฟังได้ เพราะเป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงต่างกัน เนื่องจากเป็นกรณีที่ในปี2549ได้มีการจัดการเลือกตั้งไปแล้ว และถูกประกาศให้เป็นโมฆะ แต่กรณีปัจจุบันยังไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นและไม่มีเหตุใดที่จะอ้างให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ดังนั้น คำวินิจฉัยนี้จึงตั้งอยู่บนความเข้าใจผิดพลาดในหลักกฎหมายและมีความขัดแย้งเชิงเหตุผลอยู่ในตัวเองจนไม่อาจยอมรับว่าถูกต้องได้ในทางนิติศาสตร์และหากมีการยอมรับเป็นบรรทัดฐานก็จะเป็นการเปิดช่องการใช้อำนาจผ่านมาตรา 214ให้ศาลสามารถเพิ่มหรือลดอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นได้อย่างไร้เหตุผลและตามอำเภอใจ อันเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจอันเป็นหัวใจของหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญในที่สุด
นอกจากนี้แม้จะสมมติว่าคำวินิจฉัยนี้มีฐานทางรัฐธรรมนูญรองรับ แต่ก็ยังทำให้เกิด ′คำถามทางกฎหมาย′ตามมาอีกว่า หากคณะรัฐมนตรี และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตัดสินใจตรา ′พระราชกฤษฎีกา′ฉบับใหม่เพื่อเลื่อนวันเลือกตั้งตามแนวทางของคำวินิจฉัยแล้วไซร้จะสามารถเลื่อนออกไปได้นานเพียงใดจะมีผลต่อการรับสมัครที่ดำเนินการไปแล้วอย่างไรและจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่?
ประเด็นที่ 2 หากจะมีการเลื่อนวันเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปได้นานเพียงใด ?
รัฐธรรมนูญ มาตรา 108วรรคสอง บัญญัติว่า
"การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร..."
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ยุบสภา คือวันที่ 9ธันวาคม2556ดังนั้น หากจะตีความว่าเลื่อนได้ ก็ต้องเลื่อนไม่เกิน 60วันจากวันที่ 9ธันวาคม 2556ซึ่งเท่ากับว่าเลื่อนออกไปได้เพียงเล็กน้อยจากวันที่2กุมภาพันธ์ 2557
คำถามก็คือ การเลื่อนเช่นนี้ จะทำให้แก้ปัญหาได้หรือไม่ ?และหากจะเลื่อนไกลกว่านี้จะมีกรอบกำหนดเพียงใดในเมื่อรัฐธรรมนูญบังคับว่าไม่ให้เกิน 60วันจากวันยุบสภา ?
ประเด็นที่ 3 หากมีการเลื่อนวันเลือกตั้ง จะต้องเริ่มต้นการรับสมัครใหม่หรือไม่ ?
มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2550บัญญัติว่า
เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปแล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้งดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งซึ่งต้องกำหนดให้มีการเริ่มรับสมัครไม่เกินยี่สิบวันนับจากวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้บังคับและต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน
(๒) กำหนดวันที่พรรคการเมืองจะยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งต้องกำหนดให้เป็นวันก่อนวันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตาม(๑)และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน
...
ดังนั้น หากตีความ มาตรา 7อย่างตรงไปตรงมา หากมีการตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งกฎหมายก็จะบังคับให้ต้องมีการประกาศการรับสมัครและยื่นบัญชีรายชื่อในราชกิจจานุเบกษาใหม่เช่นกัน
ผลที่อาจตามมาก็คือ ความสูญเปล่าของกระบวนการรับสมัครตลอดจนการดำเนินการอื่นที่ได้ดำเนินการมา รวมไปถึงการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรซึ่งไม่ได้เกิดความเสียหายเฉพาะภาครัฐหรือตัวผู้สมัครเท่านั้นและความเสียหายจะเกิดต่อประชาชนไทยในแต่ละประเทศที่ได้มีต้นทุนในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้วด้วย
ประเด็นที่ 4: การเลื่อนวันเลือกตั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ ?
ประเด็นแห่งปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาสู่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ความกังวลว่าการเลือกตั้งอาจประสบปัญหาจากการชุมนุมประท้วงและการปิดล้อมสถานที่เลือกตั้งจนทำให้เลือกตั้งไม่สำเร็จลุล่วง
ด้วยเหตุนี้ การเลื่อนวันเลือกตั้ง (ซึ่งศาลเองก็มิได้บังคับ) นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มเติมตามมาดังที่ได้อธิบายไปแล้วยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดอีกด้วยเพราะแม้จะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปทางฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วงก็จะยังปฏิเสธการเจรจาหารือใดๆ และวันเลือกตั้งที่เลื่อนออกไปก็จะยังมีปัญหาอยู่ดี
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดจึงไม่ใช่การเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ต้องแก้ไขที่ "ต้นเหตุ" ของปัญหานั่นก็คือการจัดการกับผู้ชุมนุมประท้วงที่อ้างเสรีภาพจนเกินเลยขอบเขตตามรัฐธรรมนูญเพื่อปิดกั้นไม่ให้มีการเลือกตั้ง อันเท่ากับเป็นการมุ่งหมายให้มีการเปลี่ยนวิธีการได้อำนาจการปกครองให้ผิดไปจากวิถีทางตามรัฐธรรมนูญอาทิ
-อัยการสูงสุดควรเร่งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา68สั่งห้ามการกระทำเพื่อปิดกั้นการเลือกตั้งดังกล่าว
-ประชาชนทั่วไปผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิการเลือกตั้งที่ถูกกระทบกระเทือนก็ควรดำเนินการทางศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิในการไปเลือกตั้งของตน
-เจ้าหน้าที่ทหารต้องสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มความสามารถ
เมื่อได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้หากการเลือกตั้งจะยังมีปัญหาอยู่แต่ก็ยังแก้ไขได้โดยการจัดการเลือกตั้งใหม่เฉพาะในเขตที่มีปัญหา มิใช่คาดเดาและเหมารวมว่าปัญหาจะต้องเกิดขึ้นในทุกเขตประหนึ่งว่ารัฐไทยเป็นรัฐล้มเหลวที่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้แต่อย่างใด
ในขณะเดียวกัน รัฐบาล พรรคการเมือง แกนนำผู้ชุมนุมและทุกฝ่าย ควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมหารือถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้อย่างจริงใจและจริงจัง ซึ่งย่อมต้องรวมไปถึงการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน.
__________________________________________________________________________________
โพสต์เพิ่มจาก www.facebook.com/verapat
# วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
ตรรกะพิสดารจริง ๆ ... การพยายามขอให้ศาล "เลื่อนวันเลือกตั้ง" โดยอ้างเหตุว่ามีการชุมนุมปิดล้อมสถานที่เลือกตั้ง ...
คือแทนที่ศาลต้องมาคิด "เลื่อนวันเลือกตั้ง" เหตุใดศาลไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการ "สั่งห้ามการชุมนุมปิดล้อมสถานที่เลือกตั้ง" ละครับ ? อำนาจตาม มาตรา 68 ก็มีอยู่ ...
นั่งคิดแล้วก็ได้แต่เศร้าแบบขำ ๆ ...
# วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
หาก 'กปปส.' ยืนยันชัดเจนและจริงใจว่า มีมติ "ไม่ขัดขวาง" การเลือกตั้ง เพียงแต่จะนำมวลชนไปแสดงออก "คัดค้าน" ตามสิทธิเสรีภาพที่พึงมี...
ผมเสนอให้ กปปส. ประกาศทำข้อตกลงกับสังคมไทยว่า การ "แสดงออกคัดค้าน" นั้น จะจำกัดอยู่แค่การเดินขบวน ชูป้าย ปราศรัย และเป่านกหวีดในบริเวณที่ไม่รบกวนผู้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะไม่ปิดถนนและทางสัญจรที่ประชาชนจะไปเลือกตั้ง และจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐในการดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่เข้าไปก่อกวน หรือสร้างความลำบากใจให้กับผู้อื่นในบริเวณสถานที่เลือกตั้ง
ถ้า กปปส. ประกาศตกลงได้เช่นนี้ ผมก็ขอชื่นชมครับ.
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย