http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-01-22

คำ ผกา: ขอฝากให้พิ′นา

.

คำ ผกา : ขอฝากให้พิ′นา
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390400273
วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:50:03 น.

( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ประจำวันที่ 17- 23 ม.ค. 2557 ปี34 ฉ.1744 หน้า20 )


"ปิดปรับปรุงประเทศชั่วคราว"
"ล้างโกงก่อนเลือกตั้ง"
"ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง"
"รู้ว่าถ้าเลือกตั้งแล้วจะนองเลือดยังจะยืนยันจัดการเลือกตั้งอีกหรือ"



จะขอสมมุติว่าเราคนไทยทุกคนอยู่ในภพภูมิเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน
และเห็นตรงกันว่าพระอาทิตย์นั้นขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก

บนสมมุติฐานนี้ฉันพยายามจะชี้แจงว่าถ้อยแถลงของกลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมกับ"กำนันสุเทพ"นั้นตั้งอยู่บนตรรกะที่ผิดพลาดอย่างไรบ้าง



"ปิดปรับปรุงประเทศชั่วคราว"

ประโยคนี้ล้อกับประโยคที่เราคุ้นเคยว่า"ปิดปรับปรุงร้านชั่วคราว" เช่นร้านอาหารอาจจะปิดร้านไป1เดือน เพื่อซ่อมแซมร้าน เปลี่ยนโต๊ะ เก้าอี้ ปรับปรุงหลังคา ล้างแอร์ renovate แต่งร้านใหม่ให้สวยกว่าเดิม
การปิดปรับปรุงร้านชั่วคราว เจ้าของร้านยอมเพิ่มเงินลงทุน ยอมสูญเสียรายได้ในช่วงที่ปิดร้าน ด้วยคิดคำนวณแล้วว่า หากเปิดร้านมาอีกครั้งในโฉมใหม่ที่สดใสกว่าเดิม จะเรียกลูกค้าได้มากขึ้น กิจการจะดีขึ้น

คำถามคือ เราสามารถปิดประเทศเพื่อปรับปรุงชั่วคราวแล้วค่อยเปิดใหม่ได้หรือไม่?
คำตอบ "ไม่ได้"
เพราะว่า ประเทศชาติ ไม่ใช่ร้านอาหารที่มีเจ้าของ 1 คน หรือ 4 คน 5 คน 10 คน หลายคนในนามของหุ้นส่วน ที่สามารถตกลงยินยอมพร้อมใจกันว่า "โอเค เราปิดร้านกันชั่วคราว" หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้ใกล้เคียง สมมุติว่า มีหุ้นส่วน 10 คน, 3 คนบอกว่า อยากปิดร้านเพื่อปรับปรุงชั่วคราว แต่อีก 7 คนเห็นว่า ยังไม่จำเป็นต้องปิด, การประชุมหุ้นส่วนก็คงต้องฟังเสียงข้างมาก หรือมิเช่นนั้นก็ต้องฟังหุ้นส่วนที่ถือหุ้นในสัดส่วนที่มากที่สุด

แต่สำหรับประเทศชาติ ไม่สามารถ "ปิดชั่วคราวได้" เพราะเจ้าของประเทศไทยคือคนไทยเจ็ดสิบกว่าล้านคน

ถ้าคุณคือเจ้าของประเทศจำนวนสิบสองล้านคนอยากปิดประเทศ แต่มีคนไทยอีกสิบห้าล้านคนไม่อยากปิดประเทศคุณจะจัดการอย่างไรกับคนไทยอีกสิบห้าล้านคนนั้นที่เขามีสิทธิความเป็นเจ้าของประเทศเท่าๆกันกับคุณ?

ยิ่งไปกว่านั้น"ประเทศชาติ"ไม่ใช่ร้านอาหาร ไม่ใช่บริษัท ไม่ใช่กิจการ ที่จะปิดไปชั่วคราวแล้วเปิดใหม่ได้

แต่ "ประเทศชาติ" คือหน่วยของสังคมการเมืองที่มีชีวิตมนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาและกฎหมายของรัฐชาติสมัยใหม่ที่ยึดถือคุณค่าว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานร่วมกัน

นั่นคือให้เป็นหน่วยของสังคมการเมืองที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะมีชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ว่าจะยากดีมีจนจะมีงานทำหรือจะตกงาน จะเป็นหญิงชายเกย์ เลสเบี้ยน จะแต่งงานหรือจะไม่แต่งงาน จะร่ำรวยหรือยากจน พวกเขามีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าๆ กับมนุษย์คนอื่นๆ มีเสรีภาพในการเดินทาง ในการพูด คิด เขียน แสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก

การปิดประเทศจึงไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกับการปิดกิจการชั่วคราวได้
เพราะประเทศชาติไม่ใช่ธุรกิจแต่เป็นหน่วยทางการเมืองที่มีเพื่อ"โอบอุ้ม"มนุษย์ทุกคนที่เป็นสมาชิกของสังคมการเมืองนั้นๆให้ได้มีชีวิตที่ดีตามอัตภาพของพวกเขามีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินตามหลักประกันว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นนั่นเอง(รวมไปถึงคนต่างชาติผู้อพยพ คนเถื่อน หรือแม้กระทั่งอาชญากร คนชายขอบทุกประเภท)


เพราะฉะนั้น การลุกขึ้นมา "ปิดประเทศ" โดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะกระทำผ่านการใช้อำนาจของกองกำลังที่มีอาวุธอยู่ในมือ หรือมีกองกำลังปัญญาชนเผด็จการอยู่ในมือ จึงเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เป็นการ "ปล้น" สิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น


หาใช่เป็นการ "ปิดชั่วคราวเพื่อปรับปรุง"



ประโยคถัดมา "ล้างโกงก่อนเลือกตั้ง"

ประโยคนี้ก็เป็นประโยคชวนฝัน ทว่า เป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง
เพราะในระบบการบริหารไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชนย่อมมีสิ่งที่เรียกว่าการโกงและการคอร์รัปชั่นในระดับที่ต่างๆกัน
เท่าที่เติบโตมาและอ่านหนังสือได้ ยังไม่เคยอ่านพบว่ามีรัฐบาลของประเทศไหน"ปลอด"การโกงหรือการคอร์รัปชั่นสะอาดพิสุทธิ์ดั่งสาวพรหมจรรย์เลยแม้แต่รัฐบาลเดียว

หากจะมีรัฐบาลไหนที่อวดอ้างได้ว่าเป็นรัฐบาลใจซื่อมือสะอาดปราศจากคอร์รัปชั่นได้เต็มปากเต็มคำก็คงมีแต่รัฐบาลเผด็จการเท่านั้นเพราะเป็นรัฐบาลที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้

เมื่อตรวจสอบไม่ได้จึงไม่รู้ว่ามีคอร์รัปชั่น
เมื่อไม่รู้ว่า"มี"จึงเชื่อไปได้ว่ามัน"ไม่มี"


ในทางตรงกันข้ามระบอบประชาธิปไตยต่างหากที่ทำให้เราจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นได้ดีขึ้น

เมื่อเป็นประชาธิปไตยมาก ตรวจสอบได้มาก จึงพบว่ามีการคอร์รัปชั่นมาก


มองดูอย่างผิวเผินจึงชวนให้ท้อใจว่า-ว้า ประชาธิปไตยนี่แย่จัง นักการเมืองนี่เลวจริง เอามือควานไปเรื่องไหนก็เจอแต่เรื่องคอร์รัปชั่นเยอะแยะไปหมด-ก็คงต้องค่อยอธิบายให้พ่อเจ้าประคุณ แม่เจ้าประคุณทั้งหลายฟังว่า

"ใจเย็นๆ นะจ๊ะ ที่เราเจอเคสโกงเยอะแยะไปหมด ก็เพราะเราตรวจสอบได้มาก มีอำนาจจับผิดได้เยอะไง อย่าตกใจไป พอเจอเคสเยอะๆ ก็ค่อยๆ ตั้งหลักแก้ปัญหาในระบอบประชาธิปไตยนี่แหละ
และทางแก้คอร์รัปชั่นที่ได้ผลกันมากคือ การกระจายอำนาจ เพื่อให้หน่วยการบริหารเล็กลง เมื่อเล็กลง ประชาชนก็ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ใกล้ชิดขึ้น รวดเร็วขึ้น ไม่ใช่โกงในระดับหมู่บ้านแล้วมาตรวจสอบกันในระดับประเทศ กว่าเรื่องจะมาถึง กว่าตีกลับ กว่าจะอะไรต่อมิอะไร ทั้งคนโกงคนถูกโกงก็พากันตายไปหมดแล้ว   การแก้ไขปัญหาการโกงการคอร์รัปชั่นก็เหมือนเราเจอหนูในบ้าน วิธีที่จะกำจัดหนู ไม่ใช่การเผาบ้านทิ้ง ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่การปิดไฟ เพื่อจะได้ไม่ต้องเห็นหนู เลยคิดว่าไม่มีหนู"


เพราะฉะนั้น คำตอบคือ ล้างโกงก่อนเลือกตั้งไม่ได้ เพราะล้างโกงก่อนเลือกตั้งคือการปิดไฟ คือการเผาบ้าน เราต้องเลือกตั้งค่ะ เพื่อเป็นการเปิดไฟ หาหนูให้เจอ แล้วกำจัดมัน"



"ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง"


คำถามคือทำไมต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง?
ทำไมถึงเลือกตั้งแล้วปฏิรูปไม่ได้?


คำตอบวนไปที่ต้องล้างบางนักการเมืองชั่วก็ต้องถามต่อไปว่าล้างบางนักการเมืองชั่วด้วยวิธีไหน?
และใครเข้าข่ายนักการเมืองชั่วบ้าง?
ใช้วิธีไหนล้าง?
ล้างแล้วหมดประเทศเลยจริงหรือไม่? 
แล้วหากล้างจนหมดจด มีการเลือกตั้งอีก คนหน้าใหม่ที่เข้ามาเป็นนักการเมืองก็ชั่วอีก เรามิได้ต้องปิดประเทศกันไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุดหรือ?

ถามต่อไปได้อีกว่าหากบอกว่านักการเมืองชั่วแล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่า คนที่จะ "สรรหา" มาบริหารประเทศในระหว่างที่ล้างบางนักการเมืองชั่ว นั้นคือคนดี และรักษาความดีได้ตลอดสมัยการบริหารประเทศ และหากต่อมาเราพบว่าเขาไม่ใช่คนดีอีกต่อไป เราจะจัดการกับเขาได้อย่างไร เอาอำนาจอะไรมาจัดการ?

ถามต่อไปว่าเราต้องปฏิรูปนานเท่าไหร่?
ใครกำหนดระยะเวลา?
และระยะเวลาที่กำหนดนั้นทำอย่างไรจะให้เป็นฉันทานุมัติของสังคม?

ถ้าสังคมไม่มีฉันทานุมัติในประเด็นกรอบของเวลาการปฏิรูปเช่นบ้างก็เห็นว่าหกเดือนบ้างก็เห็นว่าแปดเดือนบ้างเห็นว่าสามปี ฯลฯ เมื่อเห็นไม่ตรงกันเช่นนี้ใครจะเป็นคนเลือกรอบของเวลา?

แล้วหากเลือกมาแล้วมีคนจำนวนมากไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร
หรือหากกำหนดกรอบเวลาแล้วทำไม่ได้อย่างราคาคุย ใครจะเป็นคนรับผิดชอบต่อความเสียหายทางเวลาที่เกิดขึ้น ไม่นับค่าเสียหายทางโอกาสของประเทศชาติ

สุดท้ายประชาชนในประเทศจะมีอะไรมาการันตีว่า ปฏิรูปแล้วจะได้เลือกตั้ง
ทั้งไม่มีอะไรมาการันตีว่า ในระหว่างที่ปฏิรูปโดยคณะปฏิรูปที่ไม่มีอำนาจยึดโยงกับประชาชน จะกระทำการละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนหรือไม่


โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการปฏิรูป ถามต่อไปได้อีกว่าแล้วประชาชนมีสิทธิไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปได้หรือไม่?
หากไม่เห็นด้วยมีสิทธิออกมาก่อม็อบประท้วงหรือไม่?
และมีอะไรมารับประกันว่าคณะปฏิรูปจะไม่ใช้อาวุธและอำนาจที่เด็ดขาดมาปราบปรามประชาชนที่ขัดแย้งกับคณะปฏิรูปฯลฯ


ต่อประเด็นนี้สามารถถามต่อไปได้อีกหลายสิบคำถามต่อความชอบธรรมของกระบวนการปฏิรูปที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน

ยิ่งไปกว่านั้นมีใครปฏิเสธได้บ้างว่า การปฏิรูปคือ "กระบวนการ" ไม่ใช่ "ผลงานสำเร็จรูป"


การปฏิรูปนั้นเป็นกระบวนการที่ไม่มีจุดจบ ไม่มีคำว่าสำเร็จ แต่มันคือพลวัตของระบอบประชาธิปไตยที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับวุฒิภาวะของประชาชน สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม

การปฏิรูปคือกระบวนการของการปะทะ ขัดแย้ง รอมชอม สังสรรค์กันของคนที่แตกต่างกัน ของผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน ของความเชื่อที่หลากหลาย ของอุดมคติ และความฝันที่แตกต่างกันไปของคนในสังคม

ทั้งหมดนี้ปะทะ ขัดแย้ง รอมชอม ยอมแพ้บ้าง ถอยบ้าง สู้กลับบ้าง ต่อรองบ้างทั้งในพื้นที่การเมือง และพื้นทางวัฒนธรรม ในกรอบประชาธิปไตย จึงเรียกว่าการปฏิรูป


การปฏิรูปไม่อาจเกิดขึ้นในสังคมที่ถูกแช่แข็ง ในสังคมฟาสซิสต์ที่หล่อหลอมให้คนคิดเหมือนกัน เชื่อเหมือนกัน ศรัทธาในสิ่งเดียวกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา หากเป็นเช่นนั้นมันก็เป็นแค่การล้างสมองที่ถูกแปะฉลากว่าการปฏิรูป



สุดท้าย
"รู้ว่าถ้าเลือกตั้งแล้วจะมีแต่เหตุการณ์วุ่นวายนองเลือดยังจะเลือกตั้งอีกหรือ ทำไมไม่ลาออก ทำไมต้องรีบร้อนเลือกตั้ง"

สำหรับผู้ที่กล่าวถ้อยคำเช่นนี้ออกมาเราก็คงต้องเริ่มต้นทบทวนให้ทราบว่ารัฐบาลนี้ยุบสภา เป็นแค่รัฐบาลรักษาการ ลาออกไม่ได้ ถ้าลาออกเท่ากับละเลยการปฏิหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ส่วนวันเลือกตั้งนั้น กำหนดตามกฎหมาย ตามข้อบังคับ ไม่ได้กำหนดเอาตามอำเภอใจ

ส่วนเรื่องความรุนแรงที่บอกว่าจะเกิดขึ้นหากไม่ยอมเลื่อนเลือกตั้งนั้น ผู้พูดต้องไปทบทวนว่าใครเป็นผู้เริ่มจุดชนวนความรุนแรง?

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามครรลองของกฎหมายถูกขัดขวางโดยผู้ที่ไม่ยอมทำตามกฎหมาย



พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งโดยอ้างเรื่องกติกาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งฟังไม่ขึ้นเพราะกติกานี้เป็นกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญปี2550ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำไป ไม่นับกฎหมายการเลือกตั้งที่ถูกแก้ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล

ล่าสุดยังมีผู้กล่าวอ้างไปได้อีกว่า "เกรงว่ารัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งที่เป็นธรรมได้" ก็คงต้องตอบว่า ผู้จัดการเลือกตั้งคือ องค์กรอิสระที่ชื่อว่า กกต.
หากไม่เชื่อมั่นใน กกต. ก็คงต้องยุบองค์กรอิสระ มิใช่ยุบหลักการประชาธิปไตย หรือยุบรัฐบาลรักษาการ

ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย มีเพียง 8 จังหวัดเท่านั้นที่ไม่สามารถจัดการรับสมัคร ส.ส. ได้ ซึ่งเรื่องนี้องค์กรที่ต้องพิจารณาความบกพร่องของตนเองมากที่สุดก็หนีไม่พ้น กกต.

หากจะมีความวุ่นวายเพราะการเลือกตั้ง กลุ่มคนที่พึงถูกตั้งคำถามมากที่สุดก็คือกลุ่มคนที่ไม่ต้องการเลือกตั้ง ขัดขวางการเลือกตั้ง มิใช่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ทำตามกฎหมาย ไปใช้สิทธิของตนเองเพื่อเลือกผู้แทนฯ ของตนเอง


การกล่าวว่าต้องเลื่อนเลือกตั้งเพราะกลัวความรุนแรง จึงคล้ายเป็นการกล่าวว่า "อย่าสร้างบ้านเลย นอนข้างถนนดีกว่า เพราะมีบ้านแล้วเดี๋ยวโจรจะมาปล้นบ้าน"


ปัญหาโจรปล้นบ้านคงไม่ได้อยู่ที่คนมีบ้าน แต่อยู่ที่โจร-ไม่ใช่หรือ?

และการแก้ปัญหาโจรปล้นบ้านก็ต้องไปแก้ที่การใช้กฎหมายรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ใช่เผาบ้านทิ้งหรือไปนอนข้างถนนแทนการสร้างบ้าน

ขอฝากไว้แต่เพียงเท่านี้

.............


________________________________________________
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly




.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย