.
ปฏิรูปการปฏิรูป
โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390820438
วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 07:15:07 น.
( ที่มา: มติชนรายวัน 27 มกราคม 2557 )
แม้มีการ "ปฏิรูป" ในเมืองไทยมาหลายครั้งแล้ว แต่การตอบรับอย่างกว้างขวางในครั้งนี้ ดูเหมือนจะสะท้อนสำนึกของคนหลายกลุ่มหลายเหล่าว่า เมืองไทยต้องเปลี่ยนแปลง แม้ว่าผู้นำกลุ่ม กปปส.ซึ่งเป็นผู้เรียกร้องในระยะแรก อาจไม่ได้คิดอะไรมากกว่ายุทธวิธีทางการเมือง ในการให้ความชอบธรรมแก่การประท้วงของตน
แต่การตอบรับของคนหลายกลุ่มหลายเหล่าให้เปลี่ยนประเทศไทยนั้น อาจมาจากแรงจูงใจที่ต่างกัน
บางกลุ่มอาจต้องการเพียงควบคุมทิศทางความเปลี่ยนแปลงให้เอื้อต่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของตนยิ่งขึ้น บางกลุ่มอาจต้องการควบคุมทิศทางความเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับอุดมคติบางด้าน เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, การกลับคืนสู่สังคมอดีตในอุดมคติ, การมีอำนาจต่อรองของประเทศเพิ่มขึ้นในกระบวนการโลกาภิวัตน์ ฯลฯ
แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ รวมทั้งคนที่อยู่ในการชุมนุมของ กปปส.ด้วย อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยจริง และอย่างกว้างขวางกว่านั้นมาก
อันที่จริง คนไทยจำนวนมากถูกทำให้เข้าใจผิดตลอดมาว่า การเปลี่ยนประเทศมีสูตรสำเร็จ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เท่านั้นที่รู้ว่าควรจะเปลี่ยนอะไรและอย่างไร ความจริงแล้ว เมื่อสังคมจะถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างไร ย่อมมีคนได้และมีคนเสียในความเปลี่ยนแปลงนั้นเสมอ แต่ "การเมือง" ของความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ไม่เคยเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ได้เข้ามาต่อรอง เสนอแนะ ทัดทาน ควบคุม หรือประนีประนอมกัน ในทิศทางของความเปลี่ยนแปลงเลย
การเมืองของความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย นับตั้งแต่การ "ปฏิรูป" ของ ร.5 เป็นต้นมา คือการแย่งชิงความชอบธรรมของความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกำหนดความเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งของกระบวนการแย่งชิงนี้คือการใช้กำลังในการสถาปนาอำนาจนำทางการเมือง แต่กำลังอย่างเดียวไม่พอ ยังมีการแย่งชิงในเชิงวัฒนธรรม, วิชาการ และการสร้างพันธมิตรทางการเมืองด้วยการกระจายผลประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงไปสู่พันธมิตรอีกด้วย
เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ชัดเจนในการ "ปฏิรูป" ของ ร.5 และการ "พัฒนา" ของสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงที่ตามมาหลังการอภิวัฒน์ใน 2475 ต้องเสียไปกับการแย่งชิงและครอบครองอำนาจนำทางการเมืองกับฝ่ายเจ้า จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านอื่นได้จำกัด
ตรงกันข้ามกับการ "ปฏิรูปการเมือง" ในปลายทศวรรษ 2530 อันนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ฝ่ายปฏิรูปแทบจะกุมอำนาจนำทางการเมืองไม่ได้เลย ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องของการต่อรองกันเฉพาะในกลุ่มนักการเมืองเท่านั้น โดยมีกรอบใหม่ของการแย่งชิงอำนาจตามรัฐธรรมนูญใหม่คอยกำกับ เนื้อหาทางการเมืองเปลี่ยนไปก็จริง แต่ไม่ใช่ในทิศทางที่นักปฏิรูปต้องการ
แต่สิ่งที่ตรงกันอยู่อย่างหนึ่งในการเปลี่ยนประเทศไทยทุกครั้งที่ผ่านมาก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปแต่อย่างใด มีคนเสียเป็นอันมากโดยไม่มีโอกาสต่อรอง ไม่ว่าต่อรองกระบวนการเปลี่ยนหรือจังหวะการเปลี่ยน ยังไม่พูดถึงต่อรองเนื้อหาการเปลี่ยน
กระแสปฏิรูปในครั้งนี้ ขยายตัวอย่างกว้างขวางกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา (หรือไม่น้อยกว่าเมื่อครั้งปลายทศวรรษ 2530) จากคนหลายสีทางการเมือง และหลายสถานภาพ อย่างไรเสียผู้กุมอำนาจนำทางการเมืองได้ก็ต้องตอบสนอง
แต่น่าเสียดายที่ กลุ่มที่แย่งชิงอำนาจทางการเมืองในเวลานี้ (ทั้งด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญและนอกวิถีทาง) ยังเห็นกระบวนการเปลี่ยนประเทศในลักษณะที่ไม่เปิดโอกาสให้คนทั้งหมดในสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่เปิดโอกาสของการต่อรองแก่คนทุกกลุ่ม
วิธีการสุดโต่งคงเป็นของ กปปส. ซึ่งจะตั้งสภาประชาชนขึ้นมาเอง โดยไม่ผูกโยงกับประชาชนส่วนใหญ่ แล้วให้อำนาจสภาประชาชนตั้งคณะกรรมการ หรือสภาปฏิรูปขึ้นเองเหมือนกัน
วิธีที่รัฐบาลรักษาการทำก็ไม่สู้จะต่างกันนักในแง่วิธีการ คือเชิญกลุ่มที่มีเสียงดังทางการเมืองเข้าไปหารือเพื่อกำหนดเนื้อหาของการปฏิรูป
แต่ปัญหาของการปฏิรูปหรือเปลี่ยนประเทศทุกครั้งที่ผ่านมาในประเทศไทยคือ คนไม่มีเสียงหรือเสียงไม่ดังซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมต่างหาก เขากลับเป็นผู้เสียในการเปลี่ยนแปลงที่คนเสียงดังผลักดันผ่านการ "ปฏิรูป" หรือการ "พัฒนา" เสมอมา
เนื้อหาของการปฏิรูป ไม่ได้ถูกผลักดันเข้าไปเป็นญัตติในการเลือกตั้ง (ฝ่าย กปปส.ไม่ต้องการให้มีเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปด้วยซ้ำ) พรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคมีข้อเสนอด้านความเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่มีพรรคใดที่เสนออย่างเป็นระบบเท่าพรรคคนธรรมดา ซึ่งด้วยเหตุผลใดไม่ทราบได้ ไม่มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้ง (หรือมีโอกาสแต่ไม่มีทุนหาเสียงก็ไม่ทราบได้) อย่างไรก็ตามพรรคเล็กมีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล
น่าตลกที่สุดคือ พรรคที่มี "พิมพ์เขียว" การปฏิรูปพร้อมมูลที่สุด กลับตัดสินใจไม่ลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ก็ไม่ทราบว่าเขาจะเสนอ "พิมพ์เขียว" ของเขาสู่การพิจารณาตัดสินใจของประชาชนได้อย่างไร หรือเขาต้องการเสนอ "พิมพ์เขียว" แก่อำนาจนอกระบบพิจารณาเท่านั้น หากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับย้อนกลับไปเปลี่ยนประเทศด้วยวิธีการอย่างที่ผ่านมาแล้วทุกครั้ง
ส่วนภาคเอกชนที่รวมตัวกันเสนอการปฏิรูป ก็มีแต่องค์กรธุรกิจและเครือข่ายของตน ไม่แปลกที่ข้อเสนอของพวกนี้แคบอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะคนเหล่านี้ย่อมไม่อยากเปลี่ยนประเทศมากนัก ในเมื่อสภาวะทุกอย่างในประเทศไทยขณะนี้เอื้อต่อผลประโยชน์ของพวกเขาเต็มที่อยู่แล้ว เนื้อหาการปฏิรูปของพวกเขาจึงชูอยู่เรื่องเดียวคือการปราบคอร์รัปชั่นคนอื่น โดยไม่มีวาระการปราบคอร์รัปชั่นในวงการธุรกิจด้วยกันเอง ไม่ว่าคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย หรือคอร์รัปชั่นเชิงผูกขาด หรือคอร์รัปชั่นเชิงการค้าที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีเรื่องของสวัสดิการแรงงาน, การปรับโครงสร้างภาษี, โอกาสทางเศรษฐกิจและการศึกษาที่เท่าเทียมกัน, การกำหนดนโยบายสาธารณะที่เปิดกว้างแก่คนทุกกลุ่ม ฯลฯ
ได้ยินข่าวว่า เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมก็กำลังจะจัดสภาปฏิรูปของตนเองขึ้นด้วย ซึ่งก็มีประโยชน์แน่หากเสนอแผนปฏิรูปเป็นสาธารณะ และผลักดันไปสู่การแข่งขันกันทางการเมืองในการเลือกตั้ง ไม่ใช่ขอทำปฏิรูปก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง
โดยสรุปก็คือ สังคมไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้ว แผนปฏิรูปไม่ว่าจะแคบหรือกว้างอย่างไร ต้องกระทำภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และทำโดยผ่านกระบวนการประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หมดเวลาที่จะมีผู้เชี่ยวชาญสรุปแผนปฏิรูปในห้องปิด แล้วบังคับให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากเบื้องบน
ดังนั้น การปฏิรูปและการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องเดียวกัน เราจะผลักดันแผนปฏิรูปของตนได้อย่างไร หากไม่ผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง คนส่วนใหญ่จะอาศัยช่องทางอะไรในการต่อรองแผนปฏิรูป หากไม่มีรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อประชาชน คนที่สามารถล็อบบี้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือจากสภาประชาชนซึ่งแต่งตั้งกันเอง มีจำกัดอยู่ในกลุ่มคนหน้าเดิมไม่กี่กลุ่ม (รวมคนในตระกูลชินวัตรด้วย) แต่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงรัฐบาลประเภทนั้น
ปฏิรูปของ กปปส.และบริษัทของตน เป็นเพียงยุทธวิธีทางการเมือง เพื่อทำลายล้างกระบวนการประชาธิปไตย และระบอบประชาธิปไตย จึงเสนอให้ปฏิรูปก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง
นี่เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะอาจทำให้การปฏิรูปที่มีผู้ตอบรับเสียงเรียกร้องจำนวนมาก กลายเป็นการเลือกข้างทางการเมือง และเมื่อกลายเป็นการเลือกข้าง ก็เท่ากับทำให้คนอีกมากหมดความสนใจเกี่ยวกับการปฏิรูปไปเสีย
หรือถึงสนใจการปฏิรูปต่อไป ก็กลับไปฝากการปฏิรูปของตนไว้กับอำนาจ แทนที่จะฝากไว้กับระบอบประชาธิปไตย และกระบวนการประชาธิปไตย ในที่สุดการปฏิรูปก็จะเป็นการกระทำจากบนลงล่างอย่างที่ผ่านมาอีก ซึ่งในครั้งนี้จะประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่ากว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะสังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
กลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวผลักดันการปฏิรูปด้วยความบริสุทธิ์ใจ จึงควรตั้งสติให้ดี อย่ามักง่ายอาศัยอำนาจเถื่อนของ กปปส.เพื่อผลักดันการปฏิรูป แต่ควรหันมายึดกติกาประชาธิปไตยอย่างมั่นคง เดินหน้าสู่การเลือกตั้งโดยไม่ทิ้งวาระการปฏิรูปของตน ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ผลักดันประเด็นการปฏิรูปของตนอย่างเข้มแข็ง แสวงหาพันธมิตรและร่วมกันทำให้ข้อเสนอของตนเป็นวาระแห่งชาติ ที่ดึงความสนใจจากสังคมในวงกว้าง จนรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ต้องระดมทรัพยากรมาทำการปฏิรูปภายใต้กระบวนการประชาธิปไตย กล่าวคือมีคนอื่นเข้ามาคัดค้าน ตรวจสอบ และต่อรองในประเด็นนั้นๆ อย่างกว้างขวาง
ปฏิรูปด้วยวิธีนี้เท่านั้น จึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่มีการรอมชอมกันได้ ระหว่างผู้ที่ได้กับผู้ที่เสีย ไม่มีใครเสียหมด และไม่มีใครได้หมด คนเสียมีโอกาสได้ในวันหน้า คนได้ก็จะได้โดยไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย