http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-01-20

เมื่อนักปรัชญา; “การเลือกตั้ง = ทำให้ไม่มีสิทธิ์ต่อรอง”

.

เมื่อนักปรัชญามองว่า “การเลือกตั้ง = ทำให้ไม่มีสิทธิ์ต่อรอง”
โดย นักปรัชญาชายขอบ

ใน http://prachatai3.info/journal/2014/01/51284
. . Mon, 2014-01-20 18:49



ผมแปลกใจมากที่ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งยืนยันว่า “ปรัชญาคือการคิดประเด็นปัญหาพื้นฐานสำคัญๆให้ตลอดสาย” แต่วันนี้ท่านโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Wannee Wannee ดังต่อไปนี้

    ประชาธิปไตยในสายลม

    อีกไม่กี่วัน หากรัฐบาลรักษาการณ์ยังสามารถยื้อการชุมนุมไปจนถึงวันเลือกตั้ง ผมก็คงไปที่คูหาเลือกตั้ง

    ณ ที่แห่งนั้น ผมคงเก้ๆกังๆ ไม่รู้จะทำอะไร พรรคการเมืองเท่าที่ผมนึกออกเวลานี้ไม่มีสักพรรคเดียวที่ผมสามารถกัดฟันกาเครื่องหมายเลือกได้

    นี่คือสิ่งที่ประชาธิปไตยมอบให้ผม

    เขาเรียกมันว่าเสรีภาพ

    ครับ.. เสรีภาพที่จะต้องออกจากบ้านมาทั้งที่เหนื่อยหน่ายเพื่อมากาเครื่องหมายบอกว่า ไม่ประสงค์เลือกใคร แล้วกลับบ้านไปด้วยความรู้สึกเหมือนตนเป็นซอมบี้ ที่ถึงเวลาสี่ปีเขาก็เคาะระฆังนามว่าประชาธิปไตย ปลุกผมจากหลุม เดินกระโผลกกระเผลกมายังวิหารศักดิ์สิทธิ์ แล้วทำเครื่องหมายลงบนแผ่นกระดาษที่เขาเตรียมไว้ให้ เพื่อแลกกับของกินที่เขาเตรียมไว้ให้ มีรายชื่อของกินที่เรียกว่าปาร์ตี้ลิสต์และที่เป็นคนตัวเป็นๆ เขาบอกผมโชคดีนะ เลือกได้ตั้งสองรายการเลย

    ผมยินดีเป็นซอมบี้ที่ถูกปลุก ขอเพียงมีของที่ไม่เน่าเสียให้ผมกินบ้างที่นั่น

    แต่ผมก็ไม่มีสิทธิ์ต่อรอง เขาให้อะไรมาก็ต้องกิน หรือไม่ก็กลับบ้านไปทั้งที่หิว

    โอ.. นี่แหละเสรีภาพ.. เสรีภาพ..

    สมภาร พรมทา
    ๒๐ มกราคม ๒๕๕๗

    ที่มา: Wannee Wannee



หากนี่เป็น “ความรู้สึกส่วนตัว” ผมก็เคารพครับ แต่ความจริงอาจารย์สมภารกำลังพูดถึง “ประเด็นสาธารณะ” คือปัญหาการเลือกตั้ง และพูดว่าประชาธิปไตยและการเลือกตั้งทำให้อาจารย์มีสภาพเหมือน “ซอมบี้” ที่ถูกบังคับ ไม่มีสิทธิ์ต่อรองใดๆ

ฉะนั้น นี่จึงไม่ใช่ความรู้สึกส่วนตัวแบบ “คิดถึงแฟน” แต่เป็นการสะท้อนความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อส่วนรวมโดยมองว่าประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่เป็นอยู่ทำให้อาจารย์ในฐานะ “ปัจเจกบุคคล” ในฐานะ "ประชาชน" กลายเป็นซอมบี้ที่ไม่มีสิทธิ์ต่อรอง ซึ่งความหมายสำคัญก็คือ “การเลือกตั้งและประชาธิปไตยตามที่เป็นอยู่ทำให้ประชาชนกลายเป็นซอมบี้ ไม่มีสิทธิ์ต่อรอง”


แต่ความหมายดังกล่าวนี้จะจริงก็ต่อเมื่อ
1) ประชาชนทุกคนคิดแบบอาจารย์สมภาร 
2) ต่อให้ประชาชนคิดแบบอาจารย์สมภารก็ต้องดูข้อเท็จจริงว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2 กุมภานี้ล้วนแต่เป็นบุคคลที่ไม่สมควรเลือก 

และ 3) ระบบการเลือกตั้งในตัวมันเองไม่ใช่ระบบที่ให้เสรีภาพในการต่อรอง
ซึ่งสมมติฐาน 3 ข้อนี้ไม่จริงแน่ๆ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะคิดแบบอาจารย์สมภารทั้งหมด ไม่เป็นความจริงว่านักการเมือง และพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจะไม่มีใครเลยที่มีคุณสมบัติควรถูกเลือก และสมมติฐานตามข้อ 3 ก็ไม่จริง


ต่อให้เราไม่ชอบใครเลย เราก็ยังมีสิทธิ์เลือกกาโหวตโน มันไม่ใช่ว่า “ผมก็ไม่มีสิทธิ์ต่อรอง เขาให้อะไรมาก็ต้องกิน หรือไม่ก็กลับบ้านไปทั้งที่หิว” อย่างที่อาจารย์สมภารพูด และอันที่จริงการที่อาจารย์สมภารไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่ว่าจะเลือกพรรคไหน หรือกาโหวตโน นั่นคืออาจารย์ “กำลังใช้สิทธิ์ต่อรอง” กับทุกคนที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งในที่สุดแล้วฝ่ายที่ชนะการต่อรองผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งก็คือเสียงข้างมาก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เสียงข้างน้อยหมดอำนาจในการต่อรองหลังจากลงคะแนนไปแล้ว ทุกคนยังมีสิทธิ์ต่อรองผ่านช่องทางการตรวจสอบต่างๆ ที่กฎหมายเปิดให้



มันจึงไม่ใช่อย่างที่อาจารย์สมภารเขียนว่า “...ถึงเวลาสี่ปีเขาก็เคาะระฆังนามว่าประชาธิปไตย ปลุกผมจากหลุม เดินกระโผลกกระเผลกมายังวิหารศักดิ์สิทธิ์ แล้วทำเครื่องหมายลงบนแผ่นกระดาษที่เขาเตรียมไว้ให้...” ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ประชาชนใช้สิทธิ์ต่อรองตรวจสอบ แม้กระทั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูประบบที่เป็นอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

คำรำพึงรำพันที่ว่า “โอ.. นี่แหละเสรีภาพ.. เสรีภาพ..” ที่ออกมาจากความรู้สึกว่า “...ไม่มีสักพรรคเดียวที่ผมสามารถกัดฟันกาเครื่องหมายเลือกได้…” เพื่อที่จะสรุปว่า “นี่คือสิ่งที่ประชาธิปไตยมอบให้ผม” ฟังแล้วก็เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคนที่คิดเพียงแค่นั้น (คิดว่าประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ให้ได้แค่นี้)




แต่ผมเชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากในประเทศนี้ที่เขาเชื่อว่าการเลือกตั้ง 2 กุมภามีความหมายเป็นการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ระหว่างฝ่ายที่ยืนยันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติตามวิถีทางประชาธิปไตย กับฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีทางนอกระบบอันเป็นเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงนองเลือด

และแน่นอนว่า ย่อมมีประชาชนอีกจำนวนมากที่เขาเชื่อว่ามีพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เขาอยากเลือก การเลือกตั้งของพวกเขาจึงมีความหมาย เสรีภาพของพวกเขาจึงเป็นสิ่งที่มีค่า

ที่สำคัญการเลือกตั้งและเสรีภาพเป็นของทุกคน ต่อให้เราไม่เห็นด้วยเราก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปลดทอนคุณค่าของมันลงอย่างเกินความเป็นจริง จนกลายเป็นว่า “การเลือกตั้ง= ทำให้ไม่มีสิทธิ์ต่อรอง” ซึ่งผิดจากหลักการ เหตุผล และข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง!



.