http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-01-22

ทำไมกรุงเทพฯไม่แพ้สุเทพฯ โดย พิชญ พงษ์สวัสดิ์

.

ทำไมกรุงเทพฯไม่แพ้สุเทพฯ
โดย พิชญ พงษ์สวัสดิ์
madpitch@yahoo.com
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390312336
วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 08:02:02 น. 

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 21 มกราคม 2557 )


"ลักษณะสำคัญที่เป็นหัวใจของกรุงเทพฯคือความวุ่นวาย"
(RossKing-Reading Bangkok-National University of Singapore Press-2011)


ข้อเขียนของผมชิ้นนี้เขียนขึ้นในโอกาสครบรอบหกวันของการประกาศ "ปิดกรุงเทพฯ" ของ กปปส.
เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่าทำไม กปปส "ปิดกรุงเทพฯ" ไม่สำเร็จมาแล้วอย่างน้อยหกวัน


อนึ่งงานเขียนชิ้นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ "จุดยืนทางการเมือง" (political stand) หากแต่เป็นเรื่อง "การเมือง" (city affairs) ล้วนๆ (ฮา)


พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การปิดกรุงเทพฯ นั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไรนั้นก็สุดแท้แต่จะจินตนาการ เช่นเมืองเป็นอัมพาต ทหารต้องออกมาทำหน้าที่ "ทะลวงท่อ" (ศัพท์ที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ใช้บ่อยเพื่อเปรียบการรัฐประหารว่าเสมือนกับการแก้ทางตันทางการเมือง) หรือทำให้รัฐล้มเหลว ฯลฯ

แต่ที่น่าสนใจก็คือ การปิดกรุงเทพฯนั้นไม่ได้ทำให้กรุงเทพฯนั้นถูกปิดลงเลยในฐานะของ "มหานคร" ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและความพิศวงงงงวยและน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งของผู้คนทั่วโลก (แน่นอนว่าเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลกนั้นไม่ได้หมายความว่ากรุงเทพฯได้มาง่ายๆ หรอกครับ แต่เพราะกรุงเทพฯมันมีความมหัศจรรย์ "อย่างแรง" ต่างหาก)

พูดง่ายๆ ว่า ขนาดเราคิดกันแทบตายมาตั้งจะเกือบหกสิบปีแล้วว่าจะทำอย่างไรถึงจะ "วางแผน วางผัง" เมืองกรุงเทพฯให้ได้ เรายังทำไม่ได้เลย ดังนั้นเราจะปิดกรุงเทพฯจริงๆ นั้นจะทำได้ง่ายๆ เชียวหรือ?

แน่นอนว่า การสร้างผลกระทบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นต่อความวุ่นวายในกรุงเทพฯโดยรู้สึกว่าจะทำให้วุ่นวายมากขึ้นนั้นย่อมเป็นจินตนาการที่ไม่อาจห้ามได้แต่เอาเข้าจริงการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯนั้นทำได้ไม่ยาก แต่จะทำให้ความวุ่นวายดังกล่าวนั้นกลายเป็นเรื่องของการปิดกรุงเทพฯนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด

หุหุ ... ฟันธงเลยก็ได้ว่า ล้มรัฐบาลนั้นน่าจะง่ายกว่าล้มกรุงเทพฯหละครับ ... ไม่เชื่อถามผู้ว่าราชการกรุงเทพฯดูสิครับ ขนาดเป็นมาสองสมัยและพรรคตัวเองเป็นมาตั้งนานแล้ว สามารถบริหารกรุงเทพฯได้อย่างที่หวังไหมหล่ะครับผม?


เอาเป็นว่าทำไมกรุงเทพฯนั้นปิดไม่ได้ง่ายๆ? นี่ขนาดมวลมหาประชาชนที่ว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้วยังปิดกรุงเทพฯไม่ได้?

คำตอบประการที่หนึ่งก็คือ การปิดกรุงเทพฯมาหกวันแล้ว(ถึงวันอาทิตย์ที่ 19) นั้นสุดท้ายก็ไม่ต่างอะไรกับการที่พวกเขา "ปิดกรุงเทพฯอยู่ทุกวัน"


กล่าวง่ายๆ ก็คือ มายาคติที่ว่าคนที่ทำให้กรุงเทพฯวุ่นวายนั้นคือพวกที่มาจากต่างจังหวัด พวกคนจน คนไม่มีระเบียบ ซึ่งควรจะส่งพวกเขากลับไปต่างจังหวัด ดังที่คิดๆ กันอยู่ หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์เมื่อสาม-สี่ปีก่อนนั้น
เอาเข้าจริงก็พูดได้ยากว่า คราวนี้การปิดกรุงเทพฯเป็นเรื่องของม็อบผู้ดีมีมารยาทเท่านั้น เพราะสุดท้ายคนดีมีมารยาททั้งจากกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเองนั้นก็ยังทำกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวายบนท้องถนนต่อไป

กล่าวง่ายๆก็คือการเข้าไปสกัดขัดขวางความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯจากคนมากหน้าหลายตาด้วยคนมากหน้าหลายตา ที่ออกมายืนบนท้องถนน หรือเคลื่อนตัวบนท้องถนนนั้นก็กลายเป็นกิจกรรมของความปกติ ที่ไม่ว่าคนหน้าไหนก็ทำเหมือนๆ กัน


การปิดกรุงเทพฯในความหมายของการปิดสี่แยกนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะการทำให้รถติดนั้นเป็นเรื่องที่เจอกันบ่อยๆ ทั้งการปิดถนนชั่วคราว การมีเทศกาล และการที่ถนนปิดตัวเองเนื่องจากการจราจรติดขัดอย่างหนักหน่วงอยู่บ่อยๆ

"การปิดกรุงเทพฯอยู่ทุกๆ วัน" ของ "ผู้ที่ปิดกรุงเทพฯในช่วงนี้" นั้นยังสามารถขยายความเข้าใจเพิ่มเติมไปด้วยการสร้างเรื่องราวว่าถนนที่ถูกปิดนั้นจะเอาไปทำอะไรนอกจากการฟังปราศรัยและความบันเทิงจากดนตรีและการแสดงก็ด้วยการ "สร้างตลาดนัด" เล็กๆ ขึ้นในพื้นที่ที่ปิดนั่นแหละครับ

พูดง่ายๆ ก็คือ การทำให้เกิดความปกติของผู้ที่พยายามเชื่อว่าการปิดกรุงเทพฯนั้นเป็นเรื่องที่ผิดปกติมากๆ ก็คือ การทำให้เกิดการซื้อขายของในพื้นที่ที่ปิดตัวลง เพื่อให้รู้สึกถึงความสนุก ผ่อนคลาย และมีความเป็นชุมชนเดียวกัน และสร้างภาพของการปิดกรุงเทพฯที่ไม่รุนแรงและเป็นปกติ

ไม่นับรวมซุ้มกิจกรรมต่างๆ ของความบันเทิงเริงรมย์ ด้วยนะครับ


เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า การปิดกรุงเทพฯนั้นไม่ได้ปิดในแง่ไม่มีกิจกรรม แต่เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งและขัดกันเองว่าปิดกรุงเทพฯเพื่อสร้างกิจกรรมที่คนควรจะออกมาเข้าร่วมตามที่พวกเขาต้องการ
ดังนั้นการปิดกรุงเทพฯจึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องการ"สร้างที่ว่าง" แต่ต้องการเปลี่ยนความหมายของพื้นที่ และสร้างสถานที่แบบใหม่เสียมากกว่า (ตรงนี้ให้ดูความพิสดารของคำว่า space ที่หมายถึงทั้งที่ว่าง และพื้นที่ที่พร้อมจะถูกสร้างความหมายและกิจกรรมต่างๆ ลงไป และหมายถึงการสร้างสถานที่ - place making) ได้ด้วย


กล่าวโดยสรุป คนที่ปิดกรุงเทพฯวันนี้ เมื่อรู้สึกว่า (หรือถ้าเชื่อว่า) ตนนั้นปิดกรุงเทพฯสำเร็จ หรือได้เปลี่ยนกรุงเทพฯไปในทางที่ตนต้องการนั้น เขาอาจจะลืมไปว่าถ้าเขารู้สึกว่าเขาทำอะไรกับกรุงเทพฯก็ได้ตามที่เขาเชื่อ นั้นก็ย่อมหมายถึงว่าเขาเป็นผู้ที่มีอำนาจอยู่ในกรุงเทพฯในทุกๆ วันอยู่แล้และพวกเขานั่นแหละที่ปิดกรุงเทพฯอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และทำให้คนอื่นเดือดร้อนมิรู้จบอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ที่ผ่านมาเขาไม่ได้รู้สึกตัวว่าเขาสร้างปัญหาให้กับกรุงเทพฯมาโดยตลอดนั่นแหละครับ



เรื่องการปิดกรุงเทพฯยังมีประเด็นที่น่าสนใจต่อมาก็คือ เรื่องของการพิจารณาว่าตกลงปิดสำเร็จจริงไหมในแง่ของยุทธวิธีทางการเมือง
ซึ่งก็ขอตอบว่าไม่สำเร็จ

ถ้าเทียบกับการพยายามไปปิดสถานที่ราชการ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การปิดสี่แยกนั้นไม่สำเร็จเท่ากับปิดสถานที่ราชการต่างๆ ที่เชื่อว่าทำให้ "รัฐล้มเหลว" (failed state) แต่ในอีกทางหนึ่งนั้น การปิดกรุงเทพฯไม่ได้ทำให้ "เมืองล้มเหลว" (failed city)

ทั้งนี้ เพราะกรุงเทพฯนั้นมีหัวใจสำคัญที่ธุรกิจและความวุ่นวายที่ทุกคนสามารถปรับตัวดิ้นรนได้ ขณะที่ในมุมมองที่มีกับรัฐนั้น เราเชื่อว่ารัฐมีการ "สั่งการ" จากศูนย์กลาง และจากบนลงล่าง

กล่าวคือ เมื่อพยายามไปล้อมหรือปิดระบบราชการนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามที่จะจัดการกับตัวข้าราชการ ที่เชื่อว่าเป็นตัวแทนผู้รับคำสั่งจากรัฐ

แต่ในขณะเดียวกันถ้าจะปิดเมือง คุณจะไปสั่งใคร? คุณจะสั่งพลเรือนทั้งหมดของเมืองได้อย่างไร? และที่สำคัญเมื่อไม่ได้จัดการปิดธุรกิจโดยตรงแบบที่สั่งการรัฐ (และที่มากกว่านั้นจะต้องสร้างภาพว่าธุรกิจนั้นเปิดทำการได้ปกติ และมีกำไรมากขึ้น รวมทั้งเชื้อเชิญให้มาขายของในม็อบ รวมทั้งต้องไม่สร้างภาพม็อบให้น่าหวาดกลัว เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีคนมาร่วมม็อบ ที่ต้องการภาพความอลังการทางสายตา (spectacle) ของการเข้าร่วมเข้าไปด้วย)

หึหึ "ธุรกิจ" และ "ความไม่เป็นทางการ" (informality) ของชีวิตกรุงเทพฯนี่แหละครับที่จัดการยาก ไม่เชื่อลองไปจัดการมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่ให้ทำมาหากินตอนมีม็อบสิครับ ไม่ใช่แค่จัดการรถเมล์ รถตู้ และรถแท็กซี่เท่านั้น?


มิพักต้องพูดถึงว่า การจัดการชุมนุมที่ตอนแรกอ้างว่าจะมียี่สิบจุด และสุดท้ายกลายมาเป็นแค่สี่แยกไม่กี่แห่งในพื้นที่ที่เชื่อว่าเป็นใจกลางเมืองและศูนย์กลางเศรษฐกิจ เอาเข้าจริงก็ไม่ต้องการให้ปิดจริงๆ เพียงแต่ต้องการสร้างกิจกรรมให้เกิดการชุมนุมเท่านั้น ยังหลงลืมไปว่า กรุงเทพฯนั้นมีการใช้พื้นที่ที่ผสมปนเป และมีความกระจัดกระจายสูง ซึ่งในแง่นี้จึงมีความคงทนที่จะอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตและความวุ่นวาย (ซึ่งก็มีทุกวันอยู่แล้ว)

คนจำนวนมากที่อยู่ในกรุงเทพฯจึงอาจจะไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องการปิดกรุงเทพฯบางส่วนดังที่เป็นอยู่และยิ่งเมื่อต้องการปิดกรุงเทพฯเพื่อให้มีการชุมนุมด้วยแล้วยิ่งจะต้องผ่อนปรนให้มีการเคลื่อนที่เพื่อมาชุมนุมอีกต่างหาก

ที่สำคัญ การจัดการปิดแยกปทุมวันนั้นจัดการง่ายกว่าการปิดแยกอื่นๆ ที่เป็นแยกธุรกิจเต็มตัว และพื้นที่ก็เล็กกว่า และเข้าถึงได้ไม่ยาก กล่าวคือแยกปทุมวันมีเจ้าของที่ต้องเคลียร์ไม่มาก และไม่ต้องมีภาพที่จะต้องขัดแย้งกับเอกชนเต็มตัวเหมือนแยกราชประสงค์ ที่มีสมาคมผู้ประกอบการอย่างชัดแจ้ง




นอกจากนี้ถ้าคนที่วางแผนจะปิดกรุงเทพฯได้มีความรู้เรื่องเมืองกรุงเทพฯอีกสักหน่อย หรืออ่านหนังสือที่วิเคราะห์กรุงเทพฯอย่างทะลุปรุโปร่ง เช่นงานของ Ross King อดีตศาสตราจารย์และคณบดีคณะสถาปัตย์ของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ก็คงจะเข้าใจอะไรๆ ได้มากขึ้น เว้นแต่ว่าต้องการปิดกรุงเทพฯเพื่อสร้างความกดดันไปสู่เงื่อนไขความรุนแรงทางใดทางหนึ่งนั่นแหละครับ
คิงชี้ให้เห็นว่าความวุ่นวายในกรุงเทพฯนั้นถูกผลิตขึ้นจากกระบวนการสำคัญสามกระบวนการ

กระบวนการที่หนึ่งก็คือการนำเอาของที่ไม่ลงรูปลงรอยและไม่เข้ากันมาอยู่ด้วยกัน (juxtapositions) ซึ่งความไร้ระเบียบพวกนี้ในโลกตะวันตกเขาพยายามจะหลีกเลี่ยง แต่เรื่องนี้กลับเป็นหัวใจของบ้านเราที่เจออะไรผสมปนเปกันไปหมด เสียจนกลายเป็นความวุ่นวายอันทรงเสน่ห์สำหรับนักท่องเที่ยวและนักวิชาการที่พยายามค้นหาและอธิบายกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในเรื่องของผังเมือง

กระบวนการผลิตความวุ่นวายในแบบที่สอง ก็คือเรื่องของการพยายามที่จะเอาอะไรมาทับซ้อนกันไปเรื่อยๆ (superimpositions) ในความหมายที่ว่ามี "ชั้น" (layers) ของกิจกรรมต่างๆ ที่ทับกันไปเรื่อยๆ เช่นมีการขายของซ้อนไปบนทางเท้า หรือมีแผงลอยหน้าตึกขายของปกติ รวมทั้งมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ซ้อนไปบนกิจกรรมอื่นๆ โดยในความหมายนี้ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เพียงแค่อยู่ร่วมกัน แต่อาจมีลักษณะของการกดทับกัน หรือซ่อนเร้นความหมายอื่นๆ เอาไว้ ซึ่งทำให้เราต้องมาเข้าใจว่ากิจกรรมบนพื้นที่ที่เกิดขึ้นนั้น มันปกปิดหรือกดทับความหมายหรือการใช้ประโยชน์อะไรอย่างอื่นอยู่

กระบวนการผลิตความวุ่นวายในแบบที่สามก็คือการมองว่าความวุ่นวายนั้นอาจเป็นสื่อกลางในการสร้างความคงทนและดิ้นรนเอาตัวรอด(resilience and survival) หรือแม้กระทั่งเป็นการต่อต้าน (resistance) ในความหมายทั้งการดิ้นรนในกระบวนการแห่งความวุ่นวาย (ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นความวุ่นวาย) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขึ้นรถลงเรือ หรือเข้าไปตามคูคลอง มอเตอร์ไซค์รับจ้างเพื่อไปให้ถึงที่หมายและที่ทำงาน หรือกลับบ้าน อาจจะเป็นชีวิตอันสุดแสนจะปกติของผู้คนในเมืองในแต่ละวันก็ได้

ที่สำคัญ คิง ชี้ว่าหัวใจสำคัญของความวุ่นวายในกรุงเทพฯที่ซ่อนอยู่ในสามกระบวนการก็คือรากฐานของกรุงเทพฯที่เติบโตขึ้นมาจากการสร้างอาณานิคมภายในหรือการยึดครองตัวเอง(self-colonization) ของกรุงเทพฯต่อส่วนอื่นๆ ของประเทศ และของผู้นำและคนชั้นกลางในเมืองที่มีต่อคนอื่นๆ ของประเทศ
และที่สำคัญ เมื่อดูจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อต่างๆ ในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ ย่อมชี้ให้เห็นถึงกระบวนการที่การเลือกตั้ง และการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ นอกกรุงเทพฯนั้นกำลังทำลายการครองความคิดและสถาปนา/ครองความเป็นเจ้า (hegemony) ของกรุงเทพฯและชนชั้นที่มีอำนาจในกรุงเทพฯให้เสื่อมถอยลงทุกวัน

ในหนังสือเรื่อง "อ่านกรุงเทพฯ" ของคิงนั้นยังพูดถึงพื้นที่กรุงเทพฯไว้น่าสนใจ ว่ามี "ภูมิทัศน์แห่งการครอบงำ (ตัวเอง)" (landscape of (self) - colonization) โดยเฉพาะอยู่ห้าพื้นที่หลัก นั่นก็คือ เมืองเก่า (ธนบุรี - เกาะรัตนโกสินทร์) พื้นที่สมัยใหม่ยุคแรก (เจริญกรุง สีลม และราชดำเนิน) พื้นที่แห่งธุรกิจและการบริโภค (สุขุมวิท) พื้นที่แห่งความเจริญที่เต็มไปด้วยความเสื่อมและความขัดแย้ง (รัชดา และ สลัมคลองเตย) และพื้นที่แห่งการครอบงำทางความคิด (มหาวิทยาลัย)

จะว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็กระไรอยู่ หากแต่การปักวางพื้นที่ไว้ครอบคลุมทั้งห้าพื้นที่นี้ในทางใดทางหนึ่งนั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าใจถึงความสำคัญต่อพื้นที่แห่งการครอบงำอยู่ไม่น้อย

หากแต่จะสะท้อนถึงความเข้าใจการผลิตความวุ่นวายในพื้นที่ในสามกระบวนการของพื้นที่ทั้งห้ามากน้อยแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง



ที่สำคัญเมื่อเข้าใจว่าสังคมไทยเป็นสังคมของการครอบงำต่อกันเป็นชั้นๆและการรักษาผิวหน้าของปรากฏการณ์ต่างๆ ให้ดูดี  คิง เองก็ไม่แปลกใจว่าทำไมนักวิชาการไทยโดยเฉพาะปัญญาชนสาธารณะถึงชอบพูดถึงการ "ปฏิรูปการเมือง" กันนัก เมื่อเทียบกับเรื่องหลักๆ ในระดับโครงสร้างที่สังคมกรุงเทพฯนั้นครอบงำส่วนอื่นๆ ของประเทศเอาไว้โดยตลอดอย่างยาวนานนับตั้งแต่การตั้งกรุงทพฯเมื่อสองร้อยกว่าปีนั่นแหละครับ

มาดูกันดีกว่าครับว่า ในระยะยาวนั้น รัฐจะล้มเหลว เมืองจะล้มเหลว หรือ ม็อบจะล้มเหลว ? 
ยิ่งกว่านั้นถ้าม็อบดันเกิดล้มเหลวขึ้นมา อะไรกันแน่ที่จะล้มเหลวและพังทลายตามมาอีกมากมายครับผม ...


_________________________________
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.