.
สงครามกลางเมือง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390230939
วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 22:30:02 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 20 มกราคม 2557 )
หลายคนพูดว่า สถานการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ มีทางที่จะพัฒนาไปเป็นสงครามกลางเมือง หนึ่งในคนที่เตือนเรื่องนี้คือ ผบ.ทบ.
ผมสนใจว่า มันจะเป็นไปได้หรือไม่ และหากเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศไทยขึ้นจริง จะมีลักษณะอย่างไร
สงครามกลางเมืองนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคู่ปรปักษ์มีการจัดองค์กรเพื่อการทำสงคราม จนถึงนาทีนี้ ผมยังมองไม่เห็นว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จัดองค์กรเพื่อทำสงคราม ยกเว้นแต่นับเอากองทัพเข้าไปเป็นคู่ปรปักษ์ด้วยเท่านั้น แต่กองทัพเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ (แม้พยายามจะอยู่เหนือรัฐตลอดมา) ฉะนั้นจึงขอเก็บเรื่องนี้ไปพูดถึงความเป็นไปได้ เมื่อรัฐได้เคลื่อนเข้ามาเป็นคู่ปรปักษ์แล้ว ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาไปทางแนวนั้น หากเกิดการรัฐประหารขึ้น
หากรัฐสามารถยืนอยู่นอกความขัดแย้งได้ต่อไปในระยะยาว คู่ปรปักษ์จะสามารถพัฒนาการจัดองค์กรของตนเองเพื่อทำสงครามได้หรือไม่ เรื่องนี้ไปสัมพันธ์กับเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่งของสงครามกลางเมือง จึงต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน
ความขัดแย้งกันภายในรัฐ จะกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้ นอกจากต้องมีการจัดองค์กรเพื่อทำสงครามแล้ว คู่ปรปักษ์ยังต้องมีกองกำลังของตนเองที่สามารถปฏิบัติการได้เหมือนประจำการ ดังเช่น พคท.มีหน่วยทหารป่าของตนเอง ผู้ก่อการในสามจังหวัดภาคใต้ มี RKK เป็นต้น
ในกรณี พคท.ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ทำให้สามารถติดอาวุธที่จำเป็นแก่กองกำลังได้ ผมไม่คิดว่าคู่ปรปักษ์ในครั้งนี้จะได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ฉะนั้นถึงจะมีกองกำลังของตนเอง ก็คงไม่มีสมรรถภาพเท่ากับกองทัพของรัฐโดยทั่วไป และหากรัฐกลายเป็นคู่ปรปักษ์เสียเอง ก็คงไม่สามารถทำสงครามในแบบกับรัฐได้แน่
แต่สงครามกลางเมืองในโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้แปรเปลี่ยนจากสงครามกลางเมืองในสมัยก่อนหน้านั้นไปมาก แม้ไม่ทำสงครามในแบบ กองกำลังของคู่ปรปักษ์ (ไม่ว่าจะมีรัฐร่วมอยู่ด้วยหรือไม่) ก็อาจต่อสู้รบพุ่งกันได้ โดยวิธีอื่นๆ ที่ผมอยากจะยกตัวอย่างมีสองกรณีคือพม่าและไอร์แลนด์
กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเคยได้รับความช่วยเหลือจากจีน กลายเป็นกองกำลังขนาดใหญ่ที่คุกคามรัฐบาลพม่ามากที่สุด แต่ก็สลายตัวลงเพราะการปราบปรามของกองทัพพม่า อาวุธส่วนหนึ่งกระจัดกระจายไปยังกองกำลังของชนส่วนน้อย แม้กระนั้นก็ไม่สามารถรวบรวมและใช้ประโยชน์ได้เท่ากองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลทหารพม่าสามารถจัดการได้ แม้ไม่เด็ดขาด
แต่ภูมิภาคแถบนี้ รวมทั้งประเทศไทย คือตลาดใหญ่ของการค้าอาวุธเถื่อน ฉะนั้นหากกองกำลังใดที่ไม่ใช่ของรัฐ มีเงินพอ ก็ย่อมเข้าถึงอาวุธสงครามได้หลายชนิด พอที่จะทำสงครามนอกแบบสืบเนื่องไปได้ในระยะยาว ชนส่วนน้อยในพม่ามีเงินที่ได้มาจากยาเสพติด บางกลุ่มผลิตและค้าเอง บางกลุ่มเรียกเก็บเฉพาะค่าผ่านแดน, การเก็บค่าต๋งจากผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐ, หรือเก็บค่าผ่านแดนของสินค้าเข้าและออก และแน่นอนในบางครั้ง ก็ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ (เช่นในขณะที่กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่ายังเข้มแข็ง ไทยย่อมสนับสนุนกองกำลังของชนส่วนน้อยบางกลุ่ม เพื่อเป็นกำลังกันกระทบ)
ความยั่งยืนของสงครามกลางเมืองในพม่านั้น ส่วนหนึ่งมาจากภูมิประเทศและระบบสื่อสารคมนาคมที่ยังไม่พัฒนา ทำให้อำนาจรัฐไม่เข้มแข็ง -- ทั้งเพราะรัฐคุมการกดขี่ข่มเหงประชาชนของข้าราชการตนเองไม่ได้ และทั้งเพราะกองกำลังของชนส่วนน้อยอาจโจมตีรัฐได้ง่าย -- ปัจจัยแง่นี้ไม่มีในประเทศไทย หากจะมีสงครามกลางเมืองในประเทศไทย คงไม่ออกมาในลักษณะการยึดพื้นที่บางส่วนเป็นฐานที่มั่นอย่างถาวร ดังเช่นที่เกิดในพม่า
กองกำลังของไออาร์เอฝังตัวอยู่ในชุมชน ได้รับความสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากผู้นับถือศาสนาเดียวกัน ในขณะที่ได้ทุนจากการระดมจากชาวไอริชที่ไปตั้งรกรากในต่างประเทศ ปฏิบัติการคือการลอบสังหารด้วยวิธีต่างๆ และการก่อวินาศกรรมอย่างไม่มีขอบเขตต่อสังคมอังกฤษ เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนกดดันรัฐบาลประชาธิปไตยของตนให้เปลี่ยนนโยบายจากการทหารมาสู่การเจรจา (คืออาจไปจุดระเบิดในลอนดอนซึ่งอยู่นอกพื้นที่ความขัดแย้งโดยตรง)
มีอะไรบางอย่างที่คล้ายกันระหว่างการปฏิบัติการของไออาร์เอ และกลุ่มผู้ก่อการในภาคใต้ เพียงแต่กลุ่มผู้ก่อการนับวันก็ต้องพึ่งพาทุนจากการค้าที่ผิดกฎหมายมากขึ้น และปฏิบัติการมุ่งกระทำต่อรัฐไทยโดยตรง (สังหารเจ้าหน้าที่รัฐ และศัตรูของขบวนการในพื้นที่) ไม่มุ่งจะเปลี่ยนทัศนคติของสาธารณชนไทยโดยรวม
หากเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศไทย โดยที่รัฐไม่เข้ามาร่วมเป็นคู่ปรปักษ์ ผมอยากเดาว่า ความรุนแรงในการลอบสังหารและก่อวินาศกรรมไม่น่าจะรุนแรงเท่า เพราะการต่อสู้ของคู่ปรปักษ์ต้องกระทำโดยเรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง ส่วนใหญ่ของการลอบสังหารไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ของคนส่วนใหญ่ การก่อวินาศกรรมมักกระทบถึงคนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย สถานการณ์อย่างนี้พึงระวังการก่อวินาศกรรมปลอมหรือการลอบสังหารปลอม เพื่อกล่าวโทษฝ่ายตรงข้ามมากกว่า
แต่หากรัฐเข้ามาเป็นคู่ปรปักษ์ สถานการณ์จะเปลี่ยนไปทันที เช่นหากกองทัพทำรัฐประหาร กองทัพย่อมรู้ดีว่า ฝ่ายที่คัดค้านหรือจนถึงต่อต้านการรัฐประหารย่อมมีมาก เป็นธรรมดาที่กองทัพต้องขยายการคุมออกไปให้เห็นอย่างชัดเจน ยิ่งขยายมากกำลังก็ยิ่งบางลง ตกเป็นเหยื่อของการต่อต้านได้มากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยซึ่งอาจยับยั้งการใช้ความรุนแรง (คือการแข่งขันทางการเมืองระหว่างสองกลุ่ม) หายไปเสียแล้ว เพราะการรัฐประหาร โอกาสที่จะต่อต้านการรัฐประหารด้วยความรุนแรงจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
ผมควรกล่าวด้วยว่า สันติวิธีในการต่อต้านการรัฐประหารหรือรัฐที่ไม่ชอบธรรมนั้นมีมากและหลากหลายชนิด แต่สังคมไทยมีประสบการณ์อยู่เพียงอย่างเดียวคือการชุมนุมโดยสงบ เมื่อทำไม่ได้ ก็ไม่ช่ำชองพอจะใช้ยุทธวิธีของสันติวิธีอย่างอื่น ความเสี่ยงในการต่อต้านรัฐประหารที่นำไปสู่การเสียเลือดเสียเนื้อ (ไม่ว่าของฝ่ายใด) จึงมีมากขึ้น
แม้ไม่เกิดการรัฐประหาร รัฐก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปัจจุบันรัฐบาลพยายามถอยออกไปโดยยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่สถานการณ์ก็บานปลายออกไปไม่หยุด จนทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลกลายเป็นคู่ปรปักษ์กับฝ่ายต่อต้านแทนรัฐบาลไปเสียเอง หากการเลือกตั้งนำมาซึ่งรัฐบาลใหม่ (จะช้าหรือเร็วหลังการเลือกตั้งก็ตาม) รัฐบาลใหม่จะปล่อยให้สถานการณ์กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนตน และฝ่ายประท้วง โดยรัฐไม่เกี่ยวเลยเช่นนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะโอกาสที่สองฝ่ายจะปะทะกันด้วยความรุนแรงย่อมเกิดได้เสมอ และที่จริงตอนนี้ก็มีการปะทะกันด้วยความรุนแรงอยู่บ้างแล้ว
รัฐต้องเป็นรัฐ ที่รักษาเวทีซึ่งมีกติกาแห่งความสงบสุขไว้ให้ได้ ไม่ว่าทั้งสองฝ่ายจะขัดแย้งกันอย่างไร ใครก็ตามที่ขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล จะปล่อยให้รัฐง่อยเปลี้ยเสียขาไปเรื่อยๆ เช่นนี้ไม่ได้
ดังนั้น หากพรรค พท.สามารถจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งได้ จึงควรพิจารณาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ดี หากคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถรับผิดชอบฟื้นฟูรัฐให้เป็นกรรมการกลางที่เที่ยงธรรมได้ (ด้วยเหตุใดก็ตามที และผมออกจะเชื่อว่าคุณยิ่งลักษณ์ทำไม่ได้) พรรคเพื่อไทยควรพิจารณาหานายกรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีนามสกุลเดิมหรือสัมพันธ์กับนามสกุลเดิม บุคคลผู้นั้นควรเป็นที่ยอมรับในสังคมวงกว้างกว่าพรรคเพื่อไทย
ในส่วน ครม. ครึ่งหนึ่งหรือกว่านั้นควรเป็นคนนอกพรรคเพื่อไทย แต่เป็นคนที่สังคมวงกว้างยอมรับในความรู้ความสามารถ ไม่จำเป็นว่าเขาต้องมีภาพพจน์ที่เป็นกลาง เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งคนในสังคมวงกว้างเห็นว่ามีความรู้ความสามารถ (ไม่ว่าจะเห็นถูกหรือเห็นผิด) ก็ไม่ได้มีภาพพจน์ที่เป็นกลางแต่อย่างใด หรือคุณวีรชัย พลาศรัย ซึ่งมีความสามารถเป็นที่ยอมรับ และยังไม่มีภาพพจน์ที่เอียงข้างฝ่ายใด คนเหล่านี้ควรได้รับเชิญให้ไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย เพื่อบริหารประเทศไปได้อย่างราบรื่น
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรเลือก ครม.จากการเสนอของพรรค ปชป.หรือคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เพราะรัฐบาลใหม่ไม่ใช่รัฐบาลประนีประนอม แต่ต้องเป็นรัฐบาลที่จะฟื้นฟูความเป็นรัฐที่สามารถรักษาเวทีกลางของความขัดแย้งให้สงบสันติได้ การเลือกคนมาเป็นรัฐมนตรี เป็นภาระหน้าที่ของพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล แต่ต้องเลือกให้เข้ามาบริหารความเจริญก้าวหน้าได้จริง โดยไม่ถูกขัดขวางอย่างไร้เหตุผลโดยศาลรัฐธรรมนูญ, องค์กรอิสระ, ม็อบ, demagogue และนักวิชาการบางกลุ่ม
หรือแม้แต่ใครที่อยู่เบื้องหลังม็อบสุเทพ ก็ไม่ต้องไปถามให้เขาเสนอชื่อใครเป็นอันขาด พอกันทีสำหรับเส้นสายเครือข่ายของพวกเขา ที่บ้านเมืองเละเป็นวุ้นอยู่ในทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะเส้นสายเครือข่ายเหล่านี้หรอกหรือ
รัฐอย่าได้ทำสงครามกลางเมืองเป็นอันขาด ใช้กฎหมายและเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่เพื่อรักษาอำนาจของรัฐเท่านั้น อย่าได้ตามไปแก้แค้นใครเกินกฎหมาย อย่าปราบปรามแบบปูพรม เมินเสียได้ก็พึงเมิน การกบฏกลางเมืองที่เผยตัวแกนนำชัดเจนอย่างนี้ รัฐไหนๆ ก็จัดการได้ง่ายทั้งสิ้น
แม้กระนั้น การต่อต้านรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงจะมีอยู่ต่อไป ทั้งข้างถนนไปจนถึงองค์กรอิสระ แต่รัฐบาลเพื่อไทยต้องยึดความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ไว้ให้ได้ ไม่ใช่โดยผ่านชื่อทักษิณ ชินวัตร แต่ผ่านนโยบาย, โครงการ, การกระทำให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย