http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-01-27

จำลอง: เลื่อนฟรี?, กกต.-บอร์ดประเทศ

.

เลื่อนฟรี?
โดย จำลอง ดอกปิก
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390812357
วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:01:26 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 27 มกราคม 2557 )
( ภาพจากเวบบอร์ด ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนหรือมติชน )


แนวโน้มความเป็นไปได้ในการเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปมีค่อนข้างสูง เมื่อนายกรัฐมนตรีมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลักพิง

หากสามารถทะลุข้อจำกัดรัฐธรรมนูญ กฎหมายเกี่ยวข้อง รวมถึงความหวั่นเกรง ผลอันอาจเกิดขึ้นตามมา จากการปฏิบัติตามคำตัดสินได้

และยิ่งถ้าพอมีหลักประกันบ้าง เมื่อเลื่อนวันออกไปแล้ว จะไม่ถูกยื่นร้องเอาผิด เหมือนกับที่เคยประสบมา

การยอมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ไม่น่ามีปัญหา


เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้มีการปฏิบัติตามคำแนะนำ คือแก้ไขรายมาตรา ในที่สุดก็ถูกร้อง และมีความผิด
จึงเป็นธรรมดาที่นายกรัฐมนตรีคิดหนัก ต้องสุขุม รอบคอบทุกย่างก้าว

ประเด็นปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการเลื่อนวันเลือกตั้งที่ยังคลุมเครือ มีข้อโต้แย้ง ไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจนในขณะนี้ น่าจะเป็นหัวข้อหลัก ถูกหยิบยกมาพูดคุยในการพบปะหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี และประธาน กกต.วันที่ 28 มกราคมนี้ ว่าจะเดินหน้าอย่างปลอดภัยได้อย่างไร เพื่อให้รัฐบาลอุ่นใจ ไม่พลาดตกหลุมพราง
หากมีข้อสรุปชัดเจน คงนำมาสู่การตัดสินใจในลำดับถัดไป


เรื่องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ดูจากถ้อยแถลงฝ่ายรัฐบาล และ กกต. ท่าทีสองฝ่ายค่อนข้างตรงกัน กกต.นั้นชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไร เรียกร้องต้องการเลื่อนวันเลือกตั้ง มาวันนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่งว่าต้องการใช้กระบวนการเลื่อนวันเลือกตั้งเป็นทางออกแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ฝ่ายรัฐบาลจับสัญญาณจากคำพูดวราเทพ รัตนากร ผู้ได้รับมอบหมายเป็นกระบอกเสียงนายกฯเรื่องนี้ ก็ไม่มีท่าทีขัดข้อง
อาจมีลีลา เงื่อนไขบ้าง เช่น ต้องไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง เลิกชุมนุม และไม่บอยคอต ถือว่าเป็นธรรมดาของนักการเมือง ยังเปิดกว้างให้ต่อรอง หารือแลกเปลี่ยนได้

วาระควรเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่นี้ ฝ่ายสนับสนุนเดินหน้าต่อ เคยตั้งคำถามกับ กกต.และกลุ่มผู้เรียกร้องให้เลื่อนมาแล้ว

มีหลักประกันคุ้มค่าอันใด เมื่อเลื่อนแล้ว จะไม่เกิดปัญหาวุ่นวายเหมือนที่เป็นอยู่เวลานี้ ถ้าไม่มี เลื่อนไปไม่มีประโยชน์

ก็แค่ซื้อเวลา เลื่อนปัญหาให้ยืดยาวออกไป
ขณะที่ผลเสียของการร้างไร้รัฐบาลตัวจริงมาบริหารประเทศนั้น มหาศาล



วันนี้ทุกฝ่ายน่าจะร่วมกันค้นหาคำตอบของคำถามหลักนั้น ก่อนคุยเลื่อนวันเลือกตั้ง คือถ้าเลื่อนฟรี ไม่ช่วยคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง อย่าเลื่อนดีกว่า ใครมีหน้าที่อย่างไร ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ติดขัดตรงไหนก็แก้กันไปตามอาการของโรค ตามกรอบกติกาที่กำหนดไว้ จนกว่าได้ ส.ส.ครบตามเกณฑ์

เว้นแต่ว่าเลื่อนแล้ว คลี่คลายปัญหาได้

อย่างที่ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ระบุไว้ว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ต้องมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ปัญหาคือระหว่างทางที่จะเลื่อนเลือกตั้งออกไป จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมยุติลงได้อย่างไร และเรื่องนี้ กกต.มีแนวคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเชิญทุกฝ่ายมาพูดคุย ถอยคนละก้าว

การคิดใช้กระบวนการเลื่อนการเลือกตั้งเป็นทางออกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวทางที่ธีรวัฒน์พูดไว้นี้ เป็นแนวทางหนึ่ง ของการไม่เลื่อนฟรี มีเหตุผลรับฟังได้


ถ้าเลื่อนแล้วคุ้มค่าเชื่อว่า แม้แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยากใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็คงเห็นดีเห็นงาม


ยกธงสนับสนุน อย่าเลื่อนฟรี




++

กกต.-บอร์ดประเทศ
โดย จำลอง ดอกปิก
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390211587
. . วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:00:08 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 20 มกราคม 2557 )


เมื่อยุบสภาแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อการประคับประคอง มิให้ประเทศต้องหยุดชะงัก ในยามไร้ผู้นำ-ฝ่ายบริหารมีอำนาจเต็ม
นอกจากภาระหน้าที่โดยตรง ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งแล้ว

ยังทำหน้าที่เสมือน ′ครม.′?!


กล่าวคือ เมื่อยุบสภาแล้ว ครม.ที่พ้นจากตำแหน่ง ไม่ได้อยู่ในฐานะตัวแทนผู้ถูกเลือกเข้าไปทำหน้าที่บริหาร ที่จะตัดสินใจอะไรก็ได้ในกรอบขอบเขตกฎหมายชนิดเต็มร้อยได้อีกต่อไป

หากอยู่ในตำแหน่ง เพียงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ระหว่างรอชุดใหม่จากการเลือกตั้งนี้ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไข

1.ไม่กระทำการ อันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้ง หรือโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับการเห็นชอบ จาก กกต.ก่อน

2.ไม่กระทำการ อันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน

3.ไม่กระทำการอันมีผล เป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

ชัดเจนเป็นที่ยิ่งว่า เมื่อยุบสภาแล้ว กกต.มีบทบาทสูงมาก เปรียบได้กับเป็นบอร์ด หรือคณะกรรมการประเทศไทยเลยทีเดียว


การใดก็ตามจะกระทำมิได้เลย หาก กกต.ไม่เห็นชอบ 
อย่างไรก็ตาม การจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างโปร่งใส ให้ ส.ส.มีที่มาชอบธรรม ตัดสินปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อย่างเที่ยงธรรม
การพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องต่างๆ ในกรอบที่ฝ่ายรัฐบาล จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจาก กกต.

ภาระรับผิดชอบหนักอึ้งของ กกต.เหล่านี้ จะบรรลุเป้าหมาย งานคุณภาพไม่ได้เลย หาก กกต.ไม่ตระหนักในบทบาทหน้าที่อย่างแท้จริง มีวาระแอบแฝง ไม่ดำรงความเป็นกลาง


ขณะนี้มีสัญญาณบางอย่างฟ้องการทำงานของ กกต.บางรายว่า อาจเป็นปัญหา

หากปล่อยไว้ไม่ปรับแก้ มีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่า จะบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือ คุณค่าองค์กรที่ทรงความหมายอย่างมากในระบอบประชาธิปไตย ในยามประเทศว่างเว้นจากรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม และในยามสถานการณ์ที่ประเทศต้องการ องค์กรที่เป็นหลักพิงอันมั่นคงของสังคมโดยรวมเช่นปัจจุบัน

เพราะเมื่อใครคนใดคนหนึ่ง เอนเอียง ฝักใฝ่ เอาตัวเองเข้าไปเป็นคู่กรณี ก็ย่อมไม่อยากทำหน้าที่ หรือทำอย่างเสียมิได้ มีแต่เงื่อนไข


และเมื่อไม่ตรงไปตรงมาเสียแล้ว การควบคุม จัดการเลือกตั้งก็อย่าได้หวังว่าจะมีการบริหาร จัดการให้เกิดปัญหาวุ่นวายน้อยที่สุด ให้ออกมามีคุณภาพมากที่สุด

เมื่อไม่ได้มาตรฐาน แน่นอน ย่อมเกิดผลกระทบ ความเสียหายอะไรต่อมิอะไรตามมา
ไม่เพียงเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น


หากแต่ประชาชนก็จะได้รับผลกระทบ ความเดือดร้อน ด้วยเช่นกันจากการทำหน้าที่ไม่ต่างกับบอร์ดประเทศ หากมีการนำปัจจัยทางการเมืองมาใช้ประกอบการพิจารณาเรื่องที่รัฐบาลเสนอให้พิจารณาเห็นชอบ แทนที่การพิจารณาด้วยเหตุผลความจำเป็นตามกรอบกฎหมาย

ในฐานะบอร์ดประเทศไทย กกต.เลือกได้ อยากให้ประชาชนจดจำแบบไหน


________________________________________
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline 




.