.
เชิญอ่าน - พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แนะทางออกการเมือง"วิน-วิน"
ที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391009574
- มีชัย ฤชุพันธุ์: เราควรออกไปเลือกตั้งหรือไม่...
ที่ http://prachatai3.info/journal/2014/01/51492
_________________________________________________________
หยุดความรุนแรงและเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย
โดย ศยามล ไกยูรวงศ์
ใน http://blogazine.in.th/blogs/noksayamol/post/4581
. . 29 มกราคม, 2014 - 21:31 | โดย noksayamol
( ภาพของเซีย ไทยรัฐ ไม่เกี่ยวข้องกับผู้เขียน )
นับวันสถานการณ์บ้านเมืองเกิดความรุนแรงจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจ โดยมีประชาชนที่มาชุมนุมด้วยใจบริสุทธิ์เป็นกองกำลังสร้างความชอบธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย ประชาชนที่มาชุมนุมของทั้งสองฝ่ายต่างมีความหลากหลายทางชนชั้น คงไม่เพียงแต่ประชาชนของ กปปส. ที่มีแต่คนกรุงเทพฯ และคนใต้ หากแต่ยังรวมถึงเกษตรกร คนจนในชนบท ซึ่งก็มีกลุ่มประชาชนในลักษณะดังกล่าวมาร่วมชุมนุม การวิเคราะห์ทางชนชั้นแยกฐานะทางเศรษฐกกิจและแยกภาคแบบเหมาเข่ง เป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดและจะนำพาไปสู่การหาทางออกที่เหมาเข่งและไม่สอดคล้องกับความจริงเช่นกัน และการวิเคราะห์เช่นนี้ก็จะนำไปสู่ความแตกแยกที่เลวร้ายไปจากเดิม
รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังใช้อำนาจของตนเองสร้างความรุนแรงให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ กปปส. ก็ใช้ความรุนแรงไปละเมิดสิทธิของผู้ที่ต้องการไปเลือกตั้ง ทั้งสองการกระทำล้วนแต่ไม่เป็นผลดีต่อประชาชนที่บริสุทธิ์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องหยุดการใช้ความรุนแรง
และเชื่อมั่นว่าหากการชุมนุมของมวลมหาประชาชนใช้หลักอหิงสาสันติวิธีแล้ว การกระทำของคนพาลก็จะต้องพ่ายไปในที่สุด
การเดินหน้าเลือกตั้งของรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้ปรากฏว่ามีจำนวนกี่เสียงของคนไทยที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง หากคนใดไม่ต้องการเลือกตั้งก็ไม่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากคนใดต้องการไปเลือกตั้ง ก็ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้วยการเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคน จะได้รู้กันให้ชัดเจนว่าเสียงของคนไทยจำนวนกี่เสียงต้องการอย่างไร
ไม่ว่าปรากฏการณ์จะเกิดขึ้นอย่างไร แต่เราคนไทยต้องการให้มีการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย โดยไม่ต้องหวังรอนักการเมืองอีกต่อไป การได้นักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพ เป็นอันธพาลนักเลง ก็เนื่องมาจากวงจรอุบาทของวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกมายาวนานในสังคมไทย ระบบเจ้าขุนมูลนาย ระบบพรรคพวก ระบบการพึ่งพาซึ่งกันและกัน การออกแบบระบบเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ หรือระบบแบบเบอร์เดียวคนเดียว ไปจนถึงระบบการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัดและตำบล ก็ไม่สามารถที่จะได้นักการเมืองที่มีคุณภาพ การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 25557 เราก็ยังคงได้นักการเมืองแบบระบบพรรคพวกและไม่มีคุณภาพ ภาษีประชาชนที่เป็นเงินของเราก็จะถูกใช้ละลายไปอย่างไร้ค่า
นักกฎหมายในยุคเผด็จการ ทรราชย์ หรือยุคประชาธิปไตย ก็ยังคงใช้ความรู้ของตนให้มีอิทธิพลในการตีความตามลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัดแบบระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เรียนกันมา กฎหมายจึงเป็นเครื่องมือของรัฐาธิปัตย์เสมอ แต่กลับไม่ใช่เครื่องมือของประชาชนแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญสีเขียว สีเหลือง สีแดง ก็ตาม สัจธรรมบนโลกใบนี้ปรากฏชัดอยู่แล้วว่า ไม่ว่าเราจะเขียนกฎหมายให้ดีอย่างไร ผู้เขียนกฎหมายก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่ากฎหมายจะแก้ไขปัญหาทั้งหมดในอนาคตได้หรือไม่ เพราะต้องมีการปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายและต้องสรุปว่ากฎหมายยังมีข้อจำกัดและมีช่องว่างเสมอ
ระบบกฎหมายของไทยได้ออกแบบให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจและมีดุลยพินิจในการบังคับใช้กฎหมาย โดยที่ไม่ได้มีการออกแบบให้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบจากภาคประชาชนอย่างไร แม้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ก็ได้รับการกำกับควบคุมโดยสถาบันทางปกครองและหน่วยงานของรัฐเหมือนเดิม จึงทำให้ระบบรัฐราชการยังคงดำรงแนวคิดแบบอมาตยาธิปไตยที่พึ่งพากับนักการเมืองนายทุน ระบบการเลือกตั้งทุกวันนี้นำมาจากการเลือกตั้งในประเทศตะวันตกที่วัฒนธรรมของคนตะวันตกมีวัฒนธรรมการแสดงออก และเคารพในสิทธิและหน้าที่ของเขาเองอย่างเคร่งครัด แต่คนไทยยังไม่มีวัฒนธรรมแบบคนตะวันตก
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิรูประบบการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนเอเชียแบบสังคมไทย ด้วยการออกแบบกฎหมายที่ให้ประชาชนมีพื้นที่ของการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ และการปกป้องสิทธิของตนเองที่ถูกละเมิดโดยรัฐราชการ ...
ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปประเทศไทยโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระยะสั้น (หนึ่งปี) คือ การได้มาซึ่งอำนาจหน้าที่ของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร โดยการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง และการกระจายอำนาจให้มีการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นอย่างเป็นอิสระ ในระยะยาวให้มีการปฏิรูปประเทศไทยโดยการปฏิรูปกฎหมายทั้งหมดในระยะเวลาสองปี เนื่องจากมีกฎหมายที่มีความซ้ำซ้อน ไม่ทันสมัย ไม่กระจายอำนาจให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น ตลอดจนมีการบังคับใช้กฎหมายที่ขัดแย้งกันเอง
ข้อเสนอของระบบการเลือกตั้งควรมีการเลือกตั้งผู้แทนของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารออกจากกัน ควรให้มีเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและทีมงานบริหารโดยตรง ซึ่งต้องมีคุณสมบัติของการมีนโยบายการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน มีทีมงานบริหารที่เป็นมืออาชีพ และมีการบริหารประเทศที่มีวิสัยทัศน์ของหลักธรรมาภิบาล ในขณะที่การเลือกผู้แทนของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไปทำหน้าที่ออกกฎหมายกฎหมาย และตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาล คุณสมบัติของผู้แทนต้องมีความรู้และประสบการณ์ทักษะในการกลั่นกรองข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การออกกฎหมาย และการนำเสนอที่ทำให้สาธารณชนมีความรู้ความเข้าใจ และพร้อมที่จะร่วมตรวจสอบฝ่ายบริหาร ดังนั้นที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารต้องแยกขาดจากกัน และแยกคุณสมบัติที่ชัดเจน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน การไปเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่จึงเลือกตัวบุคคลเพราะรู้จักคนนั้นและช่วยเหลือกันมา มากกว่าการเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายและคุณสมบัติของนักการเมืองว่าเหมาะสมหรือไม่
รัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศในระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ โดยที่ไม่ต้องมีการปกครองส่วนภูมิภาค แต่ให้กระจายอำนาจไปที่ระดับจังหวัดเพื่อให้มีการบริหารจังหวัดและมีการออกกฎหมายของจังหวัดอย่างเป็นอิสระ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีความสำคัญ มีระยะเวลาการบริหารประเทศสี่ปี ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ดีกว่าการตรวจสอบนายกรัฐมนตรี และ สส.ที่เลือกตั้งขึ้นไป ดังคำกล่าวที่ว่า “ไปชุมนุมที่จังหวัดยังง่ายกว่าไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล ไปตามการแก้ไขปัญหากับผู้ว่าฯก็ยังง่ายไปกว่าไปตามให้แก้ไขปัญหากับนายกรัฐมนตรี ไปร่วมเสนอกฎหมายในระดับจังหวัดก็ยังมีข้อเสนอที่ดีกว่าเสนอที่รัฐสภา เพราะรู้ว่าบ้านตัวเองต้องการอย่างไร รัฐบาลจะทำโครงการเงินกู้สองล้านล้านบาท ไม่เห็นรู้เรื่อง แต่ถ้าบอกว่าจะให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านตัวเองหรือไม่ บอกได้ทันทีว่า ไม่”
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมีการดำเนินการแบบกรุงเทพมหานคร และมีสภาจังหวัด โดยใช้ระบบเดียวกันคือเลือกผู้ราชการจังหวัดโดยตรง และเลือกฝ่ายนิติบัญญัติในลักษณะเดียวกัน ขณะที่ยังคงการเลือกตั้งในระดับตำบล ซึ่งจะมีการยกระดับเป็นเทศบาลทั้งหมด กล่าวคือให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล ทั้งนี้โดยไม่ต้องมีการกำกับดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นการมอบอำนาจให้มีการบริหารจังหวัดอย่างเป็นอิสระ สำหรับข้าราชการท้องถิ่นให้มีการสอบคัดเลือกในระดับจังหวัด เพื่อได้บุคลากรที่เป็นคนในจังหวัดและตำบล ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งการบริหารงาน บุคคลากร งบประมาณ และการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรภายในจังหวัดได้อย่างเป็นอิสระ ในกรณีของกรุงเทพมหานคร ก็ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายที่ยังไม่กระจายอำนาจให้ กทม.อย่างเต็มรูปแบบเช่นกัน
การคืนอำนาจให้คนไทยได้ปกครองตนเอง จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องมีการปฏิรูปประเทศไทยทันที เพราะปัญหาหลายประการไม่สามารถรอคอยให้นักการเมืองระดับประเทศแก้ไขปัญหาได้อีกต่อไป ในสภาวะที่มีความขัดแย้ง แต่คนไทยกลับต้องรอว่านักการเมืองจะเลิกทะเลาะกันเมื่อไร เราจึงต้องเริ่มทันที
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย