.
‘ณัฐพล ใจจริง’เปิดสูตร ‘ล้มเลือกตั้ง’ปูทางรัฐประหาร พิทักษ์‘รธน.ประชาธิปไตยต่ำ’
สัมภาษณ์พิเศษโดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว มติชนทีวี
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1390297622
วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 09:35:01 น.
“ณัฐพล ใจจริง” อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ผู้เขียน “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” พูดคุยวิเคราะห์ปัญหาการเมืองปัจจุบัน ผ่านบทเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วง พ.ศ. 2500 กับบทบาทพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ ที่อยู่ในองค์ประกอบความเปลี่ยนแปลงอันหมุนกลับสู่การรัฐประหารและพิทักษ์รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยต่ำมาหลายยุคสมัย
www.youtube.com/watch?v=TGm9GlfrKVw
"ณัฐพล ใจจริง" วิเคราะห์ปัญหาการเมืองไทยผ่านบทเรียนช่วง พ.ศ. 2500
-การบอยคอตเลือกตั้ง2 ก.พ. 57 มีความคล้ายกับเหตุการณ์ใดในประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น
สำหรับการบอยคอตการเลือกตั้ง2ก.พ.57 มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในอดีตในแง่ของบทบาทพรรคประชาธิปัตย์ในการบอยคอตการเลือกตั้ง2ก.พ.57นี่ไม่ใช่ครั้งแรกแม้ว่าโดยทั่วไปเรามักคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้ง เพียง 2 ครั้ง คือ 2 เม.ย. 2548 และ 2 ก.พ. 2557 แต่จริงๆ แล้ว ในประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น มีบทบาทในการบอยคอตการเลือกตั้ง มาแล้ว 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือการเลือกตั้ง 26 ก.พ. 2495 ครั้งที่ 2 คือ 2 เม.ย.2549 และครั้งที่ 3 คือ 2 ก.พ. 2557 สาเหตุสำคัญ ในการบอยคอตการเลือกตั้งครั้งแรก เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจาก จอมพล ป. ทำการรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2492 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับรอยัลลิสต์” ให้อำนาจกับกลุ่มจารีต หรือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมค่อนข้างมากและให้อำนาจวุฒิสภาค่อนข้างเยอะ จึงทำให้การล้มรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 สร้างความไม่พอใจให้แก่พรรคประชาธิปัตย์และปฏิเสธการเลือกตั้งในคราวนั้น
หลังจากนั้นไม่นานเมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในปี2500พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายไม่เพียงรัฐบาลจอมพลป.เท่านั้นที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การเลือกตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์เอง ก็มีบทบาทในการสร้างปัญหาวิกฤตในคราวนั้นด้วย และท้ายที่สุดก็นำไปสู่การรรัฐประหาร
เฉกเช่นเดียวกับการบอยคอตการเลือกตั้งเมื่อ2เมษายน2549ซึ่งนำไปสู่การทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะและนำไปสู่การรัฐประหารในท้ายที่สุด
ดังนั้น การบอยคอตการเลือกตั้งครั้งนี้(2 ก.พ.57) จึงมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะว่ามันมีลักษณะที่เป็นแบบแผนคล้ายคลึงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ซึ่งเริ่มต้นจากการที่พรรคประชาธิปัตย์ บอยคอตการเลือกตั้ง และทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง มีการระดมมวลชนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในการสร้างความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองเช่นในปัจจุบัน
-เหตุการณ์อย่างเลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเป็นอย่างไร
ก็คือเกิดการรัฐประหารเพราะหลังบอยคอตการเลือกตั้งจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองการเลือกตั้งเป็นโมฆะก็เกิดการรัฐประหาร
-ในสมัยนั้นสามารถใช้เกมมวลชนได้มีอิทธิพลอย่างในปัจจุบันหรือไม่
เกมมวลชนที่มีอิทธิพลอย่างมากเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งในปี2500 คือ26ก.พ.2500ได้เกิดปัญหาวิกฤตการณ์การเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ฐานเสียงอย่างมากในกรุงเทพฯ และได้ปลุกเร้า ให้ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ตอนนั้น ลุกฮือขึ้น ต่อต้านการเลือกตั้งในปี 2500 และก็นำไปสู่ความวุ่นวายและท้ายที่สุดแล้ว กองทัพก็เข้าทำการยึดอำนาจ ในสมัยนั้น ยึดอำนาจโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ซึ่งแน่นอน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เราก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเคลื่อนไปสู่ทิศทางเช่นนั้นหรือเปล่า แต่ประวัติศาสตร์อย่างน้อยที่ผ่านมาทุกครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้ง ก็มักจะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองอยู่เสมอ
-สมัยนั้นประชาธิปัตย์ยังไม่มีมวลชนจากจังหวัดภาคใต้
ยังไม่มีเพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ตอนก่อตั้งขึ้นมาฐานของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ถูกจัดตั้งที่กรุงเทพฯคะแนนเสียงที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากกรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่ แล้วต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เสียงมากขึ้นในภาคอิสาน พรรคประชาธิปัตย์เพิ่งเริ่มเคลื่อนลงภาคใต้ประมาณสัก 40ปี มานี้เอง โดยพรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้งมาแล้ว อย่างน้อย 65 ปี มา 40 ปีหลังที่เคลื่อนลงทางใต้
-ก่อนจะมีประเด็นนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หลายคนมองว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถจะจุดกระแสต่อต้านได้ แต่ล่าสุดม็อบต่อต้านรัฐบาลมีอิทธิพลถึงขนาดไปปิดสถานที่ราชการ เป็นเพราะมีปัจจัยอะไร
พรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นพรรคที่มีฐานเสียงอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม ตั้งแต่หัวหน้าพรรคคนแรก คือ คุณควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม ดังนั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนั้น ก็มักจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมเป็นหลัก
เท่าที่ผมสังเกตมาในทางประวัติศาสตร์ด้วยเหตุที่เป็นนักประวัติศาสตร์การเมืองเห็นว่า พรรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทสำคัญทางการเมืองไทยทั้งส่วนที่สนับสนุนประชาธิปไตยและส่วนที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตยด้วย
เราคงจะต้องพูดถึงบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในมิติด้านที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตยตั้งแต่การจัดตั้งพรรคขึ้นมาไม่นานก็นำมาสู่การรัฐประหารปี2490 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีบทบาทอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารเช่นเดียวกัน และเมื่อรัฐประหารแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 ฉบับปี 2492 โดยแกนนำสำคัญของพรรคซึ่งมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นฉบับที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ คือ ม.ร.ว.เสนีย์ปราโมช พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ซึ่งมีส่วนสำคัญ ในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2490 และ 2492 ซึ่งบางคนเรียกว่า เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับรอยัลลิสต์” โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะให้ความสำคัญกับสถาบันจารีตประเพณีมาก รวมทั้งการยึดกุมอำนาจสภาเอาไว้ เช่น วุฒิสภาทั้งหมด มาจากการแต่งตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ส.ว. ทั้งหมด มาจากการแต่งตั้งโดยสถาบันทั้งหมด
ส่วนสภาล่าง พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เสียงค่อนข้างเยอะในสภา ดังนั้น พอรัฐบาลจอมพล ป. ขึ้นมาบริหารภายหลังการบังคับนายควงลงจากอำนาจ ก็บริหารด้วยความยากลำบาก เพราะไม่มีพันธมิตรในฝ่ายนิติบัญญัติเลย
พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มจารีตนิยมพอใจอย่างมากกับรัฐธรรมนูญปี2492 แต่เมื่อจอมพลป.ขึ้นมามีอำนาจก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ไม่อำนวยการบริหารงานให้กับฝ่ายรัฐบาล จึงนำมาสู่การรัฐประหารในปี 2494 ในตอนปลายปี และเมื่อเกิดการรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญ ฉบับรอยัลลิสต์ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่พรรคประชาธิปัตย์มีส่วนร่วมในการร่าง อันเป็น “รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยต่ำ” พรรคประชาธิปัตย์ ก็เลยบอยคอตการเลือกตั้ง นั่นคือการบอยคอตครั้งที่ 1 อีกหลายปีต่อมา ก็นำไปสู่การเลือกตั้ง ในปี 2500 พรรคประชาธิปัตย์ มีบทบาทอย่างยิ่งในการนำไปสู่การเลือกตั้งที่มีปัญหา
อีกส่วนหนึ่งที่อยากจะเปรียบเทียบวิกฤตการณ์ทางการเมืองช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 แน่นอนรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ก็มีข้อดีและข้อเสียเหมือนกัน แม้ว่าข้อดีจะค่อนข้างเยอะ แต่ปัญหาก็คือ ท้ายที่สุดแล้วก็นำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งพรรคก็มีบทบาทใกล้ชิดกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มของกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร 2549 พรรคก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ในความเห็นผม มีความเป็น“ประชาธิปไตยต่ำ” เพราะว่าผมดูจากวุฒิสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะแบ่งวุฒิสภาเป็น 2 ส่วนคือ เลือกตั้งส่วนหนึ่ง แต่งตั้งส่วนหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะให้อำนาจกลุ่มอนุรักษ์นิยมค่อนข้างมาก และทำให้ฝ่ายรัฐบาล มีความไม่เข้มแข็ง
ต่อมาเมื่อการเมืองคลี่คลายพัฒนาไป ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ พยายามแก้ไขปัญหารัฐธรรมนูญ แต่พรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมาตลอด บทบาทพรรคประชาธิปัตย์ 65 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยต่ำหลายครั้ง
-ถ้ามีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ภารกิจต่อไปคงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีความเป็นประชาธิปไตยต่ำ
ทิศทางที่พวกเขาต้องการคงเป็นแบบนี้แหละ ถ้าฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหว ก็คงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยความเป็นประชาธิปไตยต้องถูกควบคุมให้มากที่สุด อย่างที่เราอาจจะเรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด” มากยิ่งขึ้น คือพยายามควบคุมบทบาททางการเมืองของประชาชน ควบคุมสถาบันทางการเมืองที่มาจากประชาชนให้มากยิ่งกว่านี้
-อาจารย์คิดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายได้ที่สุดขนาดไหนจะเป็น Failed state หรือไม่
ผมคิดว่าคงไม่ไปถึงขนาด Failed state แต่ผมคิดว่า ครั้งนี้นั้นแตกต่างไปจากที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเพราะว่าในสมัยจอมพล ป. ก็เคยมีการสร้างความวุ่นวายแบบนี้ โดยพรรคประชาธิปัตย์ เช่น กรณีการจัดการเลือกตั้ 26 ก.พ. 2500 พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ระดมคนออกมาต่อต้านการเลือกตั้งอย่างมาก แต่กลไกรัฐขณะนั้น คือระบบราชการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายรัฐบาลอย่างเข้มงวด ดังนั้น ระบบราชการจึงไม่ออกมาต่อต้านรัฐบาลเลย ซึ่งแตกต่างไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ระบบราชการส่วนหนึ่งพยายามจะลอยตัว แล้วก็ไม่เชื่อฟังการบังคับบัญชาของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร ซึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหาได้
-การยึดสถานที่ราชการ ในยุคที่มีข้อมูลออนไลน์ จะมีผลกระทบต่อกลไกราชการจริงหรือไม่
แน่นอน มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน และอีกแง่หนึ่งมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ว่าเขาสามารถปิดการทำงานของระบบราชการได้ และอีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่น่าเชื่อที่ผู้บริหารสูงสุดระดับกระทรวง เช่น กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรม จะออกมาปฏิเสธอำนาจของรัฐบาล ซึ่งโดยหลักแล้วเป็นไปไม่ได้ เพราะกลไกของรัฐหรือระบบราชการต้องทำงานตามคำสั่งของฝ่ายบริหาร และฝ่ายบริหารก็มีความชอบธรรมจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้น กลไกของรัฐต้องเชื่อฟังมติของประชาชนที่ผ่านมายังฝ่ายรัฐบาล
เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นความล้มเหลวของระบบราชการด้วยเช่นเดียวกัน ที่ไม่สามารถทำงานตามการบังคับบัญชาของเจตนารมณ์ของประชาชนได้
-อาจารย์มองว่าสาเหตุเกิดจากอะไร
เพราะในยุคปัจจุบัน คนที่กุมอำนาจรัฐมีอยู่หลายส่วนไม่เฉพาะรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็นในการบังคับบัญชา และความเป็นอิสระของระบบราชการด้วย
-แนวโน้มในอนาคตในความไม่เป็นเอกภาพของกลไกรัฐจะเป็นอย่างไรต่อไป
ผมเชื่อว่าประชาชนไทยไม่ยินยอมกับการที่ระบบราชการทำตัวเช่นนั้นเพราะเขากินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ดังนั้นสายการบังคับบัญชาก็ต้องเป็นสายบังคับบัญชาตามระบบราชการ ซึ่งก็ต้องเชื่อฟังฝ่ายบริหาร ผมคิดว่าประชาชนจะไม่ยอมให้ระบบราชการทำตัวเช่นนั้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้คือ คนในระบบราชการส่วนใหญ่ เขาไม่สำนึกว่าเขาเป็น “ข้าราษฎร” ดังนั้นเขาจึงรู้สึกว่าเขามีอิสระในการตัดสินใจ เขาสามารถไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน ซึ่งสำนึกแบบนี้ เป็นสำนึกที่ไม่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย
-เหตุการณ์ระเบิดเป็นจุดๆ ที่เกิดขึ้นล่าสุด อาจารย์เห็นแล้วนึกถึงเหตุการณ์ใดในประวัติศาสตร์
เหตุการณ์ที่มีการระเบิดเยอะๆแบบนี้ผมนึกถึงช่วงปี2518-2519 คือมีการเดินขบวนเรียกร้องแล้วก็มีการวางระเบิดหรือเขวี้ยงระเบิดใส่ผู้ชุมนุม ผมคิดว่ามันเกิดปัญหาคือมีคนที่ท้าทายอำนาจรัฐค่อนข้างเยอะ ทำงานใต้ดินด้วยในการต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งก็อย่างที่เราทราบ พวกเขาเคลื่อนไหว เพื่อต้องการให้รัฐล้มเหลว แต่ผมเชื่อว่ารัฐล้มเหลวไม่ได้ เพราะว่ารัฐจะต้องตั้งและดำรงอยู่เสมอ แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปกี่ครั้งก็ตาม โดยหลักการแล้ว รัฐจะต้องรักษาความปลอดภัย และดำรงความเป็นรัฐเอาไว้อยู่เสมอ ดังนั้นระบบราชการจะต้องทำหน้าที่ในการจัดการกับความไม่สงบเหล่านี้
-สถานการณ์ตอนนี้มีอีกฝ่ายที่พยายามจะรักษา “ประชาธิปไตย” ต้องการการเลือกตั้ง แต่รู้สึกว่าฝ่ายตัวเองถูกกระทำ อาจารย์คิดว่าคนที่อยู่ในฝ่ายนี้ควรคิดอย่างไรในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความอึดอัด
ผมคิดว่า ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นมันแตกต่างจากยุคสมัยก่อนนะ เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ แม้ว่าเคยเกิดความวุ่นวายในปี 2500 ในตอนนั้นโลกต้องการระเบียบ โลกอยู่ในยุคสงครามเย็น แต่โลกทุกวันนี้ มันเป็นโลกของยุคประชาธิปไตย ผมคิดว่าสังคมโลก เขาคงไม่ยอมให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมีลักษณะเป็นเช่นนี้ เพราะทำให้ผลประโยชน์ของเขาลดน้อยลงอย่างที่เราทราบ
และเท่าที่ผมทราบตอนนี้มี ส.ส.ของสหรัฐอเมริกาได้ทำหนังสือเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโอบามา ให้ความสนใจกับการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยให้เดินหน้าไปในสังคมไทยมากขึ้น
ผมคิดว่าสังคมโลกจับตามากขึ้น ข่าวต่างประเทศก็พูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น รัฐบาลต่างๆก็พูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น ว่าเราต้องผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปและฝ่ายที่ต่อต้านประชาธิปไตยก็ควรจะต้องรับฟังกระแสของโลกด้วย มิเช่นนั้นคุณก็จะไม่สามารถอยู่กับโลกนี้ได้เพราะโลกทั้งหมดก็เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว
เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่ไม่ใช่เพียงแค่อเมริกา แต่ประเทศต่างๆสนใจเรามากขึ้น ปัญหาแบบนี้คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น มหาอำนาจมองว่า พวกต่อต้านรัฐบาลเป็นพวกคอมมิวนิสต์หรือพวกไม่นิยมประชาธิปไตย แต่คราวนี้มหาอำนาจกลับมองว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเขามองว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญ สถานการณ์เปลี่ยนไป แต่ฝ่ายอำนาจเก่าในไทยยังใช้วิธีการเดิม เพราะเขาเคยใช้วิธีการนี้สำเร็จมาตลอด ไม่เคยแพ้ ฉะนั้นครั้งนี้เป็นเกมเสี่ยงว่าจะสำเร็จหรือเปล่า
-แผนการชิงตัวผู้นำที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมีกี่ครั้งและการประกาศของ กปปส. ที่จะชิงตัว คุณยิ่งลักษณ์ จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
การพยายามจะจับกุมตัวนายกรัฐมนตรี สำหรับประวัติศาสตร์ไทย เกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ การจับกุมตัวจอมพล ป. พิบูลสงครามในปี 2495 ซึ่งเราเรียกว่า กบฏแมนฮัตตัน โดยกลุ่มทหารเรือจำนวนหนึ่ง และพรรคประชาธิปัตย์ ก็เกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เช่นเดียวกัน ผมทราบจากการที่ผมศึกษาเอกสารทางการทูตของสหรัฐได้รายงานว่า นายควง อภัยวงศ์ มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ได้บอยคอตการเลือกตั้งไปแล้ว นำไปสู่การพยายามจับกุมตัวนายกฯ และต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างตามที่พวกเขาต้องการ
การจับกุมตัวนายกฯ ทำสำเร็จ แต่ว่าก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เนื่องจากกองทัพเรือ ถูกโจมตีจากฝ่ายรัฐบาลจอมพล ป. อย่างหนัก ทำให้ประชาชนเสียชีวิตค่อนข้างมากประมาณ 100 กว่าคน บาดเจ็บร่วมร้อยคน และทหารตำรวจก็เสียชีวิตมาก นั่นคือราคาของสิ่งที่การจับกุมนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้น สรุปครั้งนั้นจับกุมนายกฯได้ แต่เปลี่ยนแปลงไม่สำเร็จ
อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี 2534 การรัฐประหาร พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ ซึ่งถูกจับกุมตัวบนเครื่องบิน ระหว่างพา พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม โดยคณะรัฐประหารขณะนั้นคือ คณะ รสช. ได้จับกุมตัว พล.อ.ชาติชายได้สำเร็จ และทำการรัฐประหารสำเร็จในครั้งนั้น ดังนั้น ถ้ามองในเชิงประวัติศาสตร์ไทย มีการพยายามจับกุมตัว 2 ครั้ง ไม่สำเร็จ 1 ครั้ง สำเร็จ 1 ครั้ง หมายถึงรัฐประหารสำเร็จ
-ปี 2557 คาดว่า จะเป็นอย่างไร
(หัวเราะ) ตอบไม่ได้ครับ
-ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง ดูจากประวัติศาสตร์แล้วพรรคนี้จะเคลื่อนไหวในสูตรใด
ด้วยความที่พรรคประชาธิปัตย์มีประวัติศาสตร์ยาวนานจึงได้สร้างอะไรต่างๆทั้งดีและไม่ดีเอาไว้เยอะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นๆของพรรคก็มีลักษณะที่ไม่ค่อยได้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเท่าไหร่ และสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ไม่ได้สอดคล้องกับทิศทางประชาธิปไตยของโลกเท่าไหร่
แต่แน่นอนสิ่งที่น่าชื่นชมก็คือพรรคประชาธิปัตย์ในยุคกลางๆ เพราะยังมีบทบาทที่สนับสนุนประชาธิปไตยอยู่ในช่วงปี2518-2519 ม.ร.ว.เสนีย์ปราโมช ยังมีความเห็นอกเห็นใจนักศึกษาที่ยังมีความคิดก้าวหน้า และ ส.ส.ในพรรค มีความคิดก้าวอยู่หลายคน เช่น คุณชวน หลีกภัย ตอนนั้นก็ก้าวหน้า แกหนีเข้าป่า เขียนเรื่องเย็นลมป่า แต่ว่าพอเวลาผ่านมา ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
พอยุคคุณอภิสิทธิ์ ผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์ เล่นบทคล้าย คุณควง อภัยวงศ์ คือเลือกเล่นเกมบอยคอตเลือกตั้งและมีความใกล้ชิดกลุ่มทหาร กลุ่มอนุรักษ์นิยม เล่นเกมบอยคอตเหมือนคุณควง ในสูตรการผนึกกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มอนุรักษ์นิยม และกองทัพ เมื่อรวมกันติดเมื่อไหร่ก็มีโอกาสปฏิบัติการรัฐประหารสำเร็จสูง เพราะตอนล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ กับนายปรีดี พนมยงค์ ก็ใช้สูตรนี้ ตอนล้มจอมพล ป. ก็ใช้สูตรนี้
การก่อตั้งของพรรคประชาธิปัตย์เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มอนุรักษ์นิยมพรรค จึงมีความใกล้ชิดกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกองทัพเมื่อไหร่รวมตัวกันติดก็นำไปสู่การรัฐประหาร เช่นรัฐประหารปี2490 รัฐประหารปี2500 รัฐประหารปี2549 ประชาธิปัตย์มีบทบาทสนับสนุนและปกป้องรัฐธรรมนูญที่เป็น "ประชาธิปไตยต่ำ" เช่น รัฐธรรมนูญ 2490 รัฐธรรมนูญ 2492 รัฐธรรมนูญ 2502 ซึ่งประชาธิปัตย์ก็มีส่วนร่วมร่างด้วย ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ
ผมยังไม่เห็นว่าประชาธิปัตย์ มีส่วนร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยดีๆ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี 2549 ก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยมาก แต่เป็นประชาธิปไตยต่ำ ถ้าไม่ร่างให้อำนาจกลุ่มอนุรักษ์นิยมเยอะก็ร่างให้อำนาจกับกลุ่มทหารเยอะ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2502 ก็ร่างให้ จอมพลสฤษดิ์ มีอำนาจเยอะ ฉบับ 2490 ฉบับ 2492 ก็ร่างให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมมีอำนาจเยอะ
-เป็นสูตรเดียวกัน
ใช่ เป็นพันธมิตรที่คล้ายกัน เมื่อไหร่ที่จับกันติดก็จะเกิดความสำเร็จ แต่ตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไป ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นการผนึกกันของพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มอนุรักษ์นิยม กองทัพ และสหรัฐอเมริกา แต่ตอนนี้แม้จะมีพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มอนุรักษ์นิยม และกองทัพ ที่อาจจะผนึกกันได้ แต่ที่แน่ๆ สหรัฐอเมริกาดูท่าทางจะไม่เห็นด้วย ดังนั้นตัวแปรไม่เหมือนเดิมแล้ว มหาอำนาจไม่หนุนแล้ว คือ อเมริกาไม่เห็นว่า สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการแล้วมันเกิดประโยชน์
ขณะที่ในยุคสงครามเย็น ต้องใช้เผด็จการปราบคอมมิวนิสต์ แต่ตอนนี้ไม่มีภัยคอมมิวนิสต์ให้ต้องปราบปราม อเมริกาก็หนุนเสรีนิยมเต็มรูป ไม่เหมือนเดิมแล้ว กระแสโลกไม่เอาด้วย
แม้ตัวแปรภายในประเทศ จะคล้ายๆ เดิม แต่โลกข้างนอกเปลี่ยนไปแล้ว จีนก็ต้องปกป้องผลประโยชน์เขา ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาก็กระทบการลงทุนของเขา กระแสโลกเปลี่ยนแปลงไป นโยบายมหาอำนาจก็เปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น ผมอยากให้พรรคประชาธิปัตย์กลับไปดูบทบาทของตัวเองในยุคกลางๆ ที่เป็นที่ชื่นชมของประชาชน และผมเชื่อว่าพรรคจะตั้งอยู่กับสังคมไทยได้อย่างยาวนาน ยุคเสนีย์ ปราโมช ปี 2518- 2519 ที่มีลักษณะเป็นเสรีนิยมสูง เป็นยุคที่มีนักการเมืองหัวก้าวหน้าหลายคน เช่น นายชวน หลีกภัย นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ช่วงปี 2518-2519 ที่มีความคิดก้าวหน้า แต่ตอนนี้ ทิศทางการดำเนินนโยบายของพรรคนั้นไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตยเท่าไหร่แล้ว
สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว มติชนทีวี
________________________________________
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย