http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-01-14

วิจักขณ์ พานิช เขียน สันติภาพบนความขัดแย้ง

.

สันติภาพบนความขัดแย้ง
โดย วิจักขณ์ พานิช

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1389669261 
วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 10:30:20 น.

( ที่มา : คอลัมน์ ธรรมนัว นสพ.มติชนรายวัน )


อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมไปร่วมงานจุดเทียนสันติภาพ ที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ มาครับ

แม้จะเป็นกลุ่มมิตรสหายที่คุ้นหน้าคุ้นตากันในแวดวงสันติวิธี แต่พอเห็นว่าเป็นกิจกรรมจุดเทียน ผมก็แอบชะงักไปเล็กน้อย เพราะโดยส่วนตัวไม่ค่อยชื่นชอบการจุดเทียนสักเท่าไหร่ ครั้งหนึ่งยังเคยวิจารณ์กลุ่มสันติวิธีที่ออกมารณรงค์จุดเทียนสันติภาพระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในปี 2553 เสียด้วยซ้ำ ยิ่งได้เห็นชื่องาน "พอกันที : หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง" ยิ่งทำให้นึกย้อนอดีตไปถึงกลุ่ม "หยุดทำร้ายประเทศไทย หยุดใช้ความรุนแรง" ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อหยุดยั้งการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในปี 2553 เช่นกัน ซึ่งในครั้งนั้นผมมีความชัดเจนว่าไม่สนใจที่จะออกไปร่วมรณรงค์กับทั้งสองกลุ่ม


แล้วทำไมครั้งนี้ผมจึงเอาด้วย? ทำไมในสถานการณ์ตอนนี้ผมจึงเห็นว่าการจุดเทียนเป็นกิจกรรมที่ใช้ได้?


ประการแรก ผมมองว่าการจุดเทียนไม่ได้มีความหมายหรือความเหมาะสมในตัวมันเองหรอกนะครับ แต่ความหมายหรือความชอบธรรมของการจุดเทียนน่าจะขึ้นอยู่กับ "พลังของสถานการณ์" หรือ "บริบททางการเมือง" ในขณะนั้นมากกว่า

สำหรับผมแล้ว การจุดเทียนคือเครื่องมือการต่อสู้อย่างหนึ่ง เป็นสันติวิธีทางการเมือง ไม่ใช่สันติวิธีแบบศาสนา การจุดเทียนไม่ได้บ่งบอกว่าเรากำลังทำสิ่งดีๆ ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นกลางทางการเมือง หรือลอยตัวอยู่เหนือสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่การจุดเทียนเป็นเครื่องมือในการสื่อสารทางการเมืองอย่างหนึ่ง ของคนกลุ่มหนึ่ง ในบริบทเฉพาะบริบทหนึ่ง การจุดเทียนในวันนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้คนมารักกัน เข้าใจกัน สงบสันติ หรือสามัคคีกัน ไม่ใช่เลยครับ... แต่เราแค่เรียกร้องให้ "เคารพกันบ้าง" เพราะการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ได้ดำเนินมาจนถึงจุดที่คนจำนวนมากรู้สึกว่ากำลังถูกลิดรอนสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐาน การจุดเทียนจึงถูกนำมาใช้ในฐานะเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อปกป้องสิทธิที่เราหวงแหน

ณ สถานกาณ์ตอนนี้ "แสงเทียน" ถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายในการต่อสู้กับ "เสียงนกหวีด" ที่ดังอื้ออึงได้ดีอย่างหนึ่ง การจุดเทียนร่วมกันของผู้คนจะส่องสว่างให้อีกฟากฝั่งทางการเมืองได้ตระหนักว่ามีคนจำนวนมากในประเทศนี้ที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงนกหวีดที่คุณเป่า แต่เราจะไม่ไปทำร้ายคุณ เราจะไม่เกลียดชังคุณ เราแค่ต้องการยืนยันในสิทธิทางการเมืองที่เรามี เมื่อคุณเลือกที่จะปิดหูไม่ฟัง ส่งเสียงดังกลบเสียงคนอื่น เราก็ขอเลือกที่จะใช้แสงสว่างในการต่อสู้

แม้ไม่ได้ยินเสียงของเรา แต่โปรดเห็นแสงเทียนของเรา



ประการที่สอง ผมมองว่าการจุดเทียนครั้งนี้ไม่ได้มีขึ้นอย่างลอยๆ แต่มีการส่งสารที่ชัดเจนแนบไปด้วยครับ นั่นคือขอให้ทุกฝ่ายเคารพการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ในฐานะวิธีการที่ดีที่สุด เป็นอารยะที่สุดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติ ดังนั้น แสงเทียนที่ถูกจุดขึ้นจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่รวมตัวกันตามที่ต่างๆ โดยไม่มีการจัดตั้ง จึงหมายถึงแสงสว่างแห่งประชาธิปไตยในพื้นที่ทางการเมืองอันมืดมิดในตอนนี้


ประการที่สาม คำว่า "หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง" หรือแม้แต่ "หยุดทำร้ายประเทศไทย" ในบริบทปัจจุบันกับในปี 2553 นั้น สำหรับผมแล้ว มีความแตกต่างกันมากครับ

การชุมนุมจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ ไม่ใช่แค่ดูกันว่ามีอาวุธหรือไม่มีอาวุธเท่านั้น แต่น่าจะดูจากข้อเรียกร้องของการชุมนุมเป็นสำคัญด้วย

การชุมนุมของเสื้อแดงปี 2553 แม้จะดูดุดันน่ากลัวสำหรับคนกรุงเทพฯบางกลุ่ม แต่ข้อเรียกร้องของพวกเขา พื้นฐานมากๆ คือเรียกร้องให้มีการยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ ความรุนแรงที่เริ่มเกิดขึ้นมาจากการนำกองกำลังทหาร รถถัง พร้อมอาวุธสงครามออกมาสู้กับพวกเขา ดังนั้น หากมองจากข้อเรียกร้องของการชุมนุม การชุมนุมของเสื้อแดงไม่ใช่การชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง

ตรงข้ามกับการชุมนุมของ กปปส.ในปัจจุบัน ที่ข้ามเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปนานแล้ว ข้ามการล้มรัฐบาลไปนานแล้ว ...และจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเป้าหมายของ กปปส.จะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหน แม้ยุบสภาแล้วก็ไม่ยุติ การเคลื่อนไหวของคุณสุเทพและ กปปส.ไม่มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนและปฏิเสธการเจรจากับรัฐบาลรักษาการในทุกกรณี ข้อเรียกร้อง "ล้มระบอบทักษิณให้สิ้นซาก" "ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง" หรือทำทุกวิถีทางเพื่อกดดันไม่ให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นนั้น ไม่เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงของคนทั้งประเทศ ที่สำคัญคือพยายามกดดันให้มีอำนาจนอกระบบ โดยเฉพาะกองทัพให้ออกมาแก้ปัญหานอกกติกาประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา


ดังนั้น เมื่อมองจากการไม่มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนของการชุมนุม นอกเสียจากการกำจัดฝั่งตรงข้ามทางการเมืองโดยทุกวิถีทาง ยิ่งถึงขั้นพยายามล้มการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ด้วยแล้ว การชุมนุมของ กปปส.จึงเป็นการชุมนุมที่กำลังเหยียบหัวคนจำนวนมาก และพร้อมสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ตลอดเวลา

การที่มีกลุ่มสันติวิธีออกมาพูดคำว่า "เรียกร้องให้ยุติการชุมนุมที่มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรง" ในวันนี้ กับในปี 2553 จึงแตกต่างกันมากครับ และก็ไม่น่าแปลกใจเลย หากในบริบทที่ต่างกัน กลุ่มที่ออกมาจุดเทียน หรือกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง จะเป็นคนละกลุ่มกันโดยสิ้นเชิง แม้จะใช้เครื่องมือเดียวกัน คำพูดเดียวกัน แต่เมื่อบริบททางการเมืองต่างกันย่อมส่งผลต่อแรงจูงใจทางการเมืองของประชาชนคนละกลุ่มกัน สารที่ถูกส่งออกไปผ่านเครื่องมือนั้นก็เป็นคนละสารกันด้วย

และนี่คือความหมายของสันติวิธีที่มีความเป็นการเมือง สะท้อนการต่อสู้ทางการเมืองของสามัญชนในกรอบกติกาประชาธิปไตย ไม่ใช่สันติวิธีวิถีธรรมอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของนักศีลธรรม นักบวช นักบุญ อย่างที่มักเข้าใจกัน




การจุดเทียนครั้งนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความปรารถนาดีต่อประเทศชาติของเพื่อนร่วมชาติ "ชาติ" ที่ไม่ควรถูกยึดไปเป็นสมบัติส่วนตัวของคนบางกลุ่มที่อ้างว่าตนรักชาติเหนือคนอื่น

น่าเศร้าครับที่ผู้เข้าร่วมกับการชุมนุม กปปส.ตอนนี้ ไม่รู้ตัวว่าการเคลื่อนไหวเพื่อล้มการเลือกตั้งของพวกเขากำลังผลักผู้คนจำนวนมากออกไป และบีบคั้นสถานการณ์จนใครก็ตามที่สนับสนุนประชาธิปไตยแทบไม่มีที่ให้ยืนในชาตินี้ กระทั่งหลังๆ ผมเริ่มก็ได้ยินคำถามประมาณว่า...


"ระหว่างการจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กับการยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตย ถ้าต้องให้เลือก คุณจะเลือกอย่างไหน?"

คำถามที่ประชาชนผู้เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยไม่รู้จะตอบยังไง เพราะมันเป็น false question นั่นคือเมื่อถามคำถามแบบนี้ คนตอบไม่สามารถตอบเป็นอย่างอื่นได้
ส่วนคนถามก็มีคำตอบในใจที่อยากให้คนตอบตอบอยู่แล้ว ดังนั้น จึงถาม


ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในสภาวะปกติที่สำนึกประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานให้กับความจงรักภักดี พูดง่ายๆ คือ เป็นสังคมที่มีเหตุผลอยู่เหนืออารมณ์ คำถามแบบนี้ไม่จำเป็นต้องถูกถามครับ อีกทั้งคนตอบก็ไม่ต้องถูกบังคับให้ตอบด้วย คือเราสามารถเฉยๆ กับมันได้ เพราะคำถามแบบนี้เป็น false question และไม่ใช่คำถามที่สำคัญอะไรกับชีวิตเรา

ปัญหาใหญ่มากๆ ของการเคลื่อนไหวของ กปปส.ในตอนนี้ คือ การทำให้ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กลายมาเป็นขั้วตรงข้ามกับประชาธิปไตย...การจงรักภักดีกลายมาเป็นขั้วตรงข้ามกับการเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค จนในที่สุด กลายเป็นว่าเมื่อคุณยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตย คุณจะกลายเป็นพวกไม่จงรักภักดี...

ซึ่งอันตรายมากๆ ครับ

เพราะเมื่อใดก็ตามที่ความจงรักภักดีถูกทำให้กลายเป็นขั้วตรงข้ามกับประชาธิปไตย นอกจากผู้คนจำนวนมากที่ยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยจะถูกทำให้กลายเป็นพวกไม่จงรักภักดีแล้ว ขบวนการใดก็ตามที่กระทำการในนามความจงรักภักดี ก็จะกลายเป็นขบวนการทำลายประชาธิปไตยไปพร้อมกันด้วย

แน่ใจเหรอครับว่าจะต้องให้เลือกกันแบบนี้จริงๆ


การจุดเทียนในวันนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานของ "เพื่อนร่วมชาติ" ความรักชาติร่วมกันโดยการยืนยันสิทธิในการเลือกอย่างมีอารยะ เลือกตามกติกา ตามระบอบที่เคารพการเลือกและเคารพทุกคนที่เลือก ไม่ใช่ระบอบที่ต้องถูกบังคับให้เลือกหรือเลือกให้
เป็นการจุดเทียนเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย ให้การใช้เหตุและผลเป็นรากฐานที่แข็งแรงมั่นคงให้กับศรัทธาและความรัก


เทียนเล่มนี้ในมือผม คือเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมืองอย่างสันติ ผมจุดมันชูขึ้น เพื่อส่องแสงสว่างน้อยๆ สื่อข้อความสำคัญแห่งสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของคนในชาติไปยังกลุ่ม กปปส.

"พอเถอะครับ... ช่วยเคารพสิทธิทางการเมืองของเราบ้าง เราก็เป็นประชาชนคนหนึ่งในประเทศนี้เหมือนกับคุณ คนทุกคนควรได้รับการเคารพเสมอเหมือนกัน เพราะคนทุกคนเท่ากัน ทางออกที่ดีที่สุดของประเทศคือการเคารพเสียงของประชาชนทุกคนผ่านการเลือกตั้ง เราไม่อยากเห็นใครต้องมาสังเวยชีวิตให้กับการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรงเช่นนี้อีก"

ขอให้สังคมไทยมีพื้นที่ให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ



.