http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-10

ท้องถิ่นนิยม-ราชาชาตินิยม เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ปะทะ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (1,2)โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

บทความของเดือน มิ.ย.2554 มาโพสต์ใหม่


ท้องถิ่นนิยม-ราชาชาตินิยม เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ปะทะ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (1)
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1610 หน้า 77


เดือนมิถุนายนนี้เป็นเดือนเกิดของบุคคลสำคัญระดับชาติ ที่มีส่วนสร้าง "ชาติ" ต่างหนทางต่างวิถีตามอุดมคติที่ตั้งธงไว้ ตราบที่ชาวล้านนาไม่เคยลืมว่าวันที่ 11 มิถุนายนของทุกปี แทบทุกวัดสำคัญต่างประกอบพิธี "ไหว้สาป๋าระมี" นบบูชาครูบาเจ้าศรีวิชัย ฉันใด

นักโบราณคดีและมัคคุเทศก์ต่างก็ไม่เคยหลงเลือนว่าวันที่ 21 มิถุนายนคือวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งในฐานะพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์โบราณคดีสยาม และในฐานะผู้บุกเบิกงานด้านมัคคุเทศก์ของไทย ฉันนั้น

ปริศนาโบราณคดีฉบับนี้ จึงขอร่วมรำลึกถึงท่านทั้งสอง ในฐานะที่เป็นบุคคลร่วมสมัยกัน คือระหว่างสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 8 และต่างก็เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนรัฐสยามและล้านนาในยุคเปลี่ยนผ่าน

ครูบาเจ้าศรีวิชัย คือสัญลักษณ์ของนักบุญที่ถูกเรียกว่า นักปฏิวัติหรือกบฏผีบุญ รวมไปถึงการเป็นนักอนุรักษ์โบราณสถานตัวยง เป็นภาพแทนของนักต่อสู้เพื่อ "ท้องถิ่นล้านนา" ตราบลมหายใจสุดท้าย

ในขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็คือสัญลักษณ์ของนักปฏิรูปการปกครองผู้ปราดเปรื่อง เป็นผู้หวงแหนพิทักษ์ศิลปโบราณวัตถุยิ่งชีพ แต่ในฐานะตัวแทนของ "รัฐสยามยุคราชาชาตินิยม"

ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด ไม่มีใครเป็นโจทก์เป็นจำเลย หรือกล่าวในมุมกลับกัน ท่านทั้งสองต่างผลัดกันเป็นโจทก์และเป็นจำเลยของกันและกัน

บางคนมองว่าทั้งคู่เกิดมาเพื่อเป็น "ไม้เบื่อไม้เมา" ซึ่งกันและกัน หากในสายตาของดิฉันถือเป็นปราชญ์คู่เอกที่แม้จะมีความขัดแย้งกันอย่างอุกฤษฏ์ แต่ท่านทั้งสองคือผู้มีคุณูปการต่อสยามและล้านนาเกินจะประมาณ



ปูมชีวิตของสองปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประสูติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2405 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม

ส่วนครูบาเจ้าศรีวิชัยเกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2421 มีโยมพ่อชื่อนายควาย และโยมแม่ชื่อนางอุสา เกิดที่กระท่อมกลางป่าในหุบเขา ณ หมู่บ้านเล็กๆ แสนกันดาร ชื่อบ้านปาง ปัจจุบันอยู่ในเขต ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน ขณะฝนตกฟ้าคะนองอย่างไม่ยั้ง เมื่อแรกคลอดจึงได้ชื่อว่า "ฟ้าร้อง" (ภาษาเหนืออ่าน "ฟ้าฮ้อง")

ท่านหนึ่งเป็นถึงโอรสกษัตริย์และยังเป็นพระอนุชาของกษัตริย์ลำดับถัดมา (รัชกาลที่ 5) เกิดในวัง โตในวัง ร่ำเรียนหนังสือสูง มีฐานันดรเป็นถึง "พระองค์เจ้า"

ส่วนอีกท่านหนึ่ง เกิดแบบไพร่ในตระกูลยาจกเข็ญใจ พบแต่ความทุกข์ จน เจ็บ เห็นสัจธรรมชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ จนต้องหนีพ่อแม่ไปบวช อาศัยร่มกาสาวพัสตร์เป็นเรือนตาย

ในความต่างของชาติตระกูล แต่ทั้งคู่มีความเหมือนในด้าน "ขัตติยมานะ" คือต่างก็เป็นคนรักศักดิ์ศรีมีอุดมการณ์เจตจำนงอันมุ่งมั่น มีศักยภาพในฐานะผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมรอบข้าง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีหูตากว้างไกล เหตุเพราะภาระหน้าที่ที่ท่านทรงรับผิดชอบในฐานะเสนาบดีหลายกระทรวง นายกสภาหลายองค์กร ทำให้ชีพจรลงเท้าต้องเดินทางไปตรวจราชการตามมณฑลต่างๆ ทั่วสยามตลอดละแวกอุษาคเนย์ ผสานกับจิตวิญญาณของความเป็นนักคิดนักวิพากษ์สังคมที่ติดตัวมาแต่ทุนเดิม ยิ่งทำให้ท่านกลายเป็น "คุรุ" ผู้รอบรู้สรรพวิชาชนิดหาตัวจับได้ยากยิ่ง

นอกเหนือจากนักรัฐศาสตร์แล้ว ท่านยังเป็นนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักภาษาศาสตร์ มัคคุเทศก์ ฯลฯ ทรงกล้าวินิจฉัยในเรื่องที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง แสดงออกถึงภูมิธรรมและภูมิปราชญ์ทุกผลึกความคิดอย่างเปิดเผยด้วยลายลักษณ์อักษร ผลงานหนังสือ บทความ ปกิณกะต่างๆ ของท่านถือว่าทรงคุณค่ามีความเป็นอมตะ

ส่วนท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้สัมผัสความหลากหลายทางประสบการณ์ไม่แตกต่างกัน เหตุที่ได้ธุดงค์ไปหาสถานที่ภาวนาสั่งสอนคนทุกข์คนยากคนด้อยโอกาสทั้งในเมืองและบนดอยสูง ท่านต้องแรมรอนจาริกไปทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านในเขตล้านนา หากแต่มีจริตเป็นคนพูดน้อย ไม่เน้นการบันทึกความคิดด้วยการเขียน เรื่องราวอัตชีวประวัติทั้งหมดที่เรารับรู้เกี่ยวกับตัวท่าน ล้วนแต่ได้มาจากการเก็บตกคำบอกเล่าของลูกศิษย์ลูกหาทั้งสิ้น

บั้นปลายชีวิต ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพด้วยวัย 60 พรรษา เพราะใช้ร่างกายอย่างหักโหมด้วยการ "นั่งหนัก" คือต้องนั่งปฏิบัติธรรมตามวัดต่างๆ ที่ทุรกันดาร หลายแห่งนั่งกรรมฐานนานต่อเนื่องบนก้อนหินโดยไม่มีอาสนะ ทำให้ก้นกบอักเสบเสียชีวิตด้วยโรคริดสีดวงทวาร

ส่วนสมเด็จในกรม ทรงมีพระชนมายุยืนถึง 80 ชันษาเศษ วินาทีสุดท้ายก่อนสิ้นลม ยังหูตาแจ่มแจ๋ว เสียงดังฟังชัด ยังคงมีรับสั่งให้โอรสธิดาจดบันทึกพระนิพนธ์ตามคำบอกโดยไม่มีอาการหลงลืมแม้แต่วลีเดียว

ชะตากรรมที่ทำให้ท่านทั้งสองต้องโคจรมาพัวพันกัน เพราะต่างมีหัวใจของนักอนุรักษ์โบราณสถานโบราณวัตถุอย่างแรงกล้า

แต่ต่างก็เป็นนักอนุรักษ์ที่มีวิธีคิดและมุมมองต่างขั้วกันโดยสิ้นเชิง


ปราชญ์สยามพบนักบุญล้านนาที่ดอยเกิ้ง

ประวัติศาสตร์ต้องจารึก จะว่าเป็นเรื่องบังเอิญก็ใช่ ที่จอมปราชญ์แห่งสยามกับนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาได้พบกันแล้วตัวเป็นๆ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2464 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6

จากบันทึกในหนังสือชื่อ "มัคคุเทศก์" พระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในคราวที่เสด็จมาส่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเยี่ยมนครเชียงใหม่ และหลังจากนั้นต้องเดินทางกลับไปยังกรุงเทพฯ โดยล่องแม่น้ำปิง ระบุว่าเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ได้แวะนมัสการ พระธาตุดอยเกิ้ง (ในยุคที่สมเด็จฯ เสด็จนั้นยังอยู่ในเขตพื้นที่ของ อ.ฮอด แต่ปัจจุบันถูกแบ่งมาขึ้นกับ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่) ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของน้ำแม่ปิง ขณะนั้นกำลังมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุบนยอดดอย และทำทางขึ้นดอยเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร โดยการนำของ "พระศรีวิชัย" (คือชื่อที่สมเด็จฯ ท่านเรียก แต่ชาวล้านนานิยมเรียกว่า "ครูบาเจ้าศรีวิชัย")

กรมพระยาดำรงราชานุภาพพรรณนาว่ามีผู้คนมาช่วยกันสร้างทางเป็นอันมาก มีทับกระท่อมร้านตลาดตั้งเต็มตลอดฝั่งลำน้ำ เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยทราบว่าสมเด็จในกรมเสด็จมา ก็ให้การต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี และนำสมเด็จฯ เข้าไปยังศาลารับรองพร้อมกับมี "ของดี" จะมอบให้

"ของดี" ที่ว่านั้น ครูบาเจ้าศรีวิชัยเลี่ยงที่จะมอบให้ตรงๆ แต่ให้สมเด็จฯ เสี่ยงทายเลือกเอาเอง ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า

"เห็นจัดที่บูชาตั้งพระพุทธรูปปิดทองใหม่ๆ เรียงกันไว้ 3 องค์ บอกให้ข้าพเจ้าองค์ 1 แล้วแต่จะเลือกองค์ไหนตามชอบใจ เป็นทำนองจะทดลองความรู้หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง"

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเลือกพระพุทธรูปอินเดียโบราณแทนที่จะเลือกพระพุทธรูปแบบเชียงแสนพื้นๆ อีกสององค์ ซึ่งก็ "ถูกองค์ที่พระศรีวิชัยหมายไว้" นอกจากพระพุทธรูปอินเดีย (ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นพุทธศิลปะของสกุลช่างใด) แล้ว สมเด็จฯ ยังได้รับพระพิมพ์ลำพูนจากครูบาเจ้าศรีวิชัยอีกองค์หนึ่งด้วย

บรรยากาศครั้งนั้น ถือเป็นมิตรภาพที่งดงามท่ามกลางแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ "พระธาตุดอยเกิ้ง" ที่ฟ้าดินดลใจให้สองผู้ยิ่งใหญ่โคจรมาพบกันเป็นครั้งแรก ส่วนจะมีครั้งอื่นๆ อีกบ้างไหมยังไม่พบหลักฐานแน่ชัด เชื่อว่าก่อนหน้านั้นทั้งคู่ซึ่งเป็นคนดังแห่งยุคสมัย ต่างก็เคยได้ยินชื่อเสียงกิตติศัพท์ของกันและกันมานานแล้ว



เพียงแต่ให้นึกฉงนว่า ครั้งนั้นไฉนสมเด็จในกรมมิได้ทรงวิจารณ์ถึงปัญหาด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้นำของใหม่ครอบทับองค์เดิม ซึ่งอย่างน้อยที่สุดต้องเป็นศิลปกรรมสมัยล้านนาอายุไม่ต่ำกว่า 500 ปี หรือหากเชื่อตามตำนานก็อาจเก่าแก่กว่านั้นไปถึงยุคพระนางจามเทวีสมัยหริภุญไชย

เป็นเพราะสมเด็จฯ มิเคยเห็นรูปแบบดั้งเดิมองค์ในของพระธาตุดอยเกิ้งมาก่อน จึงมิอาจวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มปากเต็มคำนัก

หรือเป็นเพราะทรงประทับใจภาพที่ชาวบ้านหลั่งไหลกันมาจากทั่วทุกสารทิศ เพื่อร่วมแรงบูรณะพระธาตุด้วยความศรัทธา

ภาพความยากลำบากของครูบาเจ้าศรีวิชัยขณะขลุกกายอยู่ท่ามกองปูนกองทรายเหงื่อไหลไคลย้อยเช่นนี้ น่าจะมีมนต์สะกดมากพอที่จะทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมองข้ามเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมไปได้บ้างกระมัง

ตอนหน้าอ่าน ใครเป็นโจทก์ ใครเป็นจำเลย การปะทะทางความคิดกรณีวัดจามเทวี



++


ท้องถิ่นนิยม - ราชาชาตินิยม เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ปะทะ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (จบ)
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1611 หน้า 77


ใครเป็น "โจทก์" ใครเป็น "จำเลย"
การปะทะทางความคิดกรณีวัดจามเทวี

หลังจากการพบกันระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่ดอยเกิ้งผ่านไป 5 ปี เข้าสู่ปี พ.ศ.2469 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระองค์ท่านโปรดฯ ให้ก่อตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้น และทรงแต่งตั้งให้สมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเป็นนายกสภา ดำเนินการออกกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับคือ พระราชบัญญัติจัดตั้งพิพิธภัณฑสถาน และพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุออกนอกประเทศ

ในปีเดียวกันนั้นเอง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ ท่านได้แวะดูเจดีย์สององค์ที่เมืองลำพูน ณ วัดร้างย่านบ้านสันมหาพน (ปัจจุบันคือวัดจามเทวี) องค์หนึ่งเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ และอีกองค์เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมมีขนาดย่อมกว่า ซึ่งทั้งคู่สร้างสมัยหริภุญไชยอายุร่วมพันปี

เราต้องยอมรับกันก่อนว่า ขณะนั้นยังไม่เคยมีนักวิชาการด้านโบราณคดีชาวสยาม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอยู่ในฐานะ "นักโบราณคดีจำเป็น" คนแรกๆ ของประเทศนี้ ในฐานะนายกราชบัณฑิตยสภา ท่านได้ถ่ายภาพเจดีย์ร้างนี้นำมาวินิจฉัยในหนังสือ "สาส์นสมเด็จ" เล่มที่ 20 ซึ่งทรงตอบโต้ทรรศนะกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน


จนต่อมาวัดร้างสันมหาพนได้รับการเผยแพร่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง โดยพระองค์ท่านสันนิษฐานว่า หนึ่งในสองของเจดีย์นั้นคงต้องมีองค์ที่บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี และนี่คือที่มาของการเรียกชื่อเจดีย์เหลี่ยมองค์ใหญ่ ว่า "เจดีย์สุวรรณจังโกฏ" แต่ชาวบ้านเรียก "กู่กุด" เหตุเพราะยอดด้วน

ในขณะที่สมเด็จฯ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าชื่อเดิมน่าจะเป็น "กู่กุฏิ" มากกว่าเหตุเพราะมีพระพุทธรูปประทับยืนในซุ้มกุฏาคาร แต่ชาวบ้านเข้าใจผิดเพี้ยนไปตามรูปทรง

ที่พวกเราเฝ้าใจจดใจจ่อก็คืออยากรู้ว่า แล้วครั้งนี้ สมเด็จฯ ได้พบกับครูบาเจ้าศรีวิชัยอีกเป็นคำรบสองใช่หรือไม่

คำตอบก็คือทั้งคู่ไม่ได้พบกัน หากแต่ปะทะกันทางความคิดที่ขัดแย้ง เพราะต่างเกิดความหวาดระแวงไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน



ครูบาเจ้าศรีวิชัยเริ่มหวั่นเกรงว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะมาทำการขนย้ายพระพุทธรูปโบราณจากเมืองลำพูนไปไว้ที่กรุงเทพฯ อีก เพราะจากประสบการณ์ในคราวเสด็จมาตรวจโบราณสถานโบราณวัตถุคราวนั้นได้มีการโยกย้ายพระประธานองค์งามจากวัดต่างๆ ทั่วล้านนาไปเก็บรวบรวมไว้ที่ระเบียงคดวัดเบญจมบพิตรจำนวนหลายร้อยชิ้น ทั้งจากวัดพระธาตุหริภุญไชย วัดพระบาทตากผ้า วัดพระคงฤาษี เป็นต้น

ยิ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยทราบจากพลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย ว่าได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระราชประสงค์จะเสด็จประพาสลำพูนเพื่อทอดพระเนตรโบราณวัตถุสถานด้วยแล้ว

ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงต้องรีบเข้ามาเฝ้าระวังพื้นที่บริเวณวัดร้างสันมหาพน โดยทำการแผ้วถางเถาวัลย์รกเรื้อจนโล่งเตียนมองเห็นซากโบราณสถานได้ชัดเจนขึ้น จนกระทั่งรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้เสด็จทอดพระเนตรและนิวัติกลับพระนครแล้ว

ผ่านมาถึงปี พ.ศ. 2479 เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ได้อาราธนาครูบาเจ้าศรีวิชัยให้มาช่วยก่อสร้างโบสถ์ วิหาร กุฏิ ตลอดจนบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุและปูชนียสถาน เพื่อสถาปนาวัดจามเทวีขึ้นมาใหม่

ข่าวนี้ร้อนมาถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งก่อนหน้านั้นก็เคยมีผู้รายงานว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเพิ่งทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ที่วัดกู่ละมัก จังหวัดลำพูนมาแล้วหมาดๆ ด้วยการนำสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ครอบทับพระธาตุองค์ดั้งเดิมที่สร้างโดยพระนางจามเทวีอายุพันกว่าปี สมเด็จฯ ทรงมีพระปริวิตกเกรงว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยจักทำลายหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญที่หาค่ามิได้ซ้ำรอยเดิม

สมเด็จฯ จึงรีบออกหนังสือสั่งการแบบสายฟ้าแลบ คล้ายกับขอบิณฑบาตกลายๆ ขอร้องให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยระงับยับยั้งการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ทั้งสององค์เป็นการด่วนที่สุด โดยแนบท้ายว่า "พระศรีวิชัยจะสร้างเสนาสนะใดๆ ก็ได้ภายในวัดนี้ ยกเว้นห้ามแตะต้องตัวโบราณสถานสององค์นี้เป็นอันขาด เพราะอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร" (กรมศิลป์ก็คงเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานนัก)

ยังมิทันได้ผสมปูน ก็ต้องรื้อนั่งร้านลงเสียแล้ว ด้วยการรับบิณฑบาตอย่างมีสัจจะตาม "สัญญาของสุภาพบุรุษ"

วัดจามเทวีวันนี้จึงยังคงหลงเหลือสถาปัตยกรรมสมัยหริภุญไชยให้ชาวลำพูน ชาวล้านนา ชาวไทย ไว้อวดชาวโลกอย่างหวุดหวิด ไม่เหมือนกับสภาพของวัดกู่ละมักหรือพระธาตุดอยเกิ้งที่ "เก่าแต่ในตำนาน" ทว่าภายนอกถูกพอกทับจนดูใหม่



ครูบาเจ้าศรีวิชัยเปรียบเสมือนจำเลยในสายตาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ข้อหาชอบเอาสถาปัตยกรรมแปลกปลอมมาสวมทับหลักฐานดั้งเดิม

ส่วนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้นเล่า ก็ใช่จะรอดพ้นการตกเป็นจำเลยของครูบาเจ้าศรีวิชัยและชาวล้านนาไปได้ไม่ โทษฐานที่ชอบนำเอาโบราณวัตถุล้ำค่าไปเก็บรวบรวมไว้ที่ส่วนกลาง ทั้งที่วัดเบญฯ วัดพระแก้ว และพิพิธภัณฑ์พระนคร

การครอบพระธาตุเจดีย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยกระทำไปด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์เพราะไม่รู้จักวิชาโบราณคดีเมื่อครั้งกระโน้น ทั้งหมดคือความจำเป็นของยุคสมัยหนึ่งที่ช่วยพยุงให้ปูชนียสถานยังคงอยู่ไม่ถล่มทลายหายสูญ จริงอยู่แม้เราไม่พอใจในรูปโฉมที่ถูกปรับเปลี่ยน แต่หนทางของวันนี้ก็มิได้ตีบตัน หากเจดีย์องค์ใดพบรอยร้าวปริแยกอยากบูรณะใหม่ ไยจึงไม่เลือกที่จะหวนกลับไปใช้รูปแบบดั้งเดิมข้างในที่พอจะสมมติฐานได้ด้วยวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ

คุณูปการของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงขนย้ายโบราณวัตถุจากภูมิภาคต่างๆ มาเก็บรักษาไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ก็อาจเคยช่วยพิทักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติเหล่านั้นให้รอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกาของโจรผู้ร้ายไปได้ในยุคที่ยังไม่มีกฎหมายห้ามค้าโบราณวัตถุมารองรับ หรือแม้กระทั่งยับยั้งการถูกปู้ยี่ปู้ยำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวบ้านที่ขนเอาศิลาจารึกไปทำหินลับมีดเป็นว่าเล่น



แต่ ณ วันนี้ กระแสการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นกำลังมาแรง เร่งเร้าการสลายขั้วอำนาจของรัฐบาลกลางที่ผูกขาดรวมศูนย์ไว้อย่างท้าทาย

ไม่เพียงแต่ชาวล้านนา หากคนในชนบททั้งประเทศกำลังรณรงค์เรียกร้องให้ภาครัฐราชการแสดงความเคารพต่อคนในท้องถิ่น ด้วยการส่งมอบโบราณวัตถุนั้นกลับคืนสู่มาตุคาม

คำถามที่เรามักได้ยินส่วนกลางย้อนศรกลับมาทิ่มแทงก็คือ คนท้องถิ่นนั้นเล่า มีความพร้อมแล้วล่ะหรือที่จักอ้าแขนรับการถ่ายโอนอำนาจในการบริหารจัดการดูแลมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของตนตาม "หลักการ" มาตรฐานสากล โดยไม่ใช่ "หลักกู" คือทำอะไรตามใจฉัน

ดวงวิญญาณของปราชญ์สยามและนักบุญล้านนา เฝ้ารอวันที่จะเป็นอิสระหลุดพ้นจากพันธนาการแห่งความกังวล ต่อมรดกแผ่นดินที่ท่านทั้งสองอุตส่าห์ปกป้องรักษาเอาไว้ โดยที่คนรุ่นหลังต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของ "ทิฐิมานะ" ด้วยความไม่เข้าใจไม่รู้เท่าทัน



.