http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-27

นิธิ: กฎหมายและสี, นิติธรรม, นิติธรรมอีกที

.

กฎหมายและสี
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1634 หน้า 28


ผมต้องรีบบอกก่อนเลยว่า ที่จะนำมาคุยต่อไปนี้ ผมได้ทั้งข้อมูลและความคิดจากหนังสือของเพื่อนผมสองคน คือ อาจารย์เดวิด เองเกิลส์ และภรรยาของท่าน คือ อาจารย์จารุวรรณ เองเกิลส์ เป็นหนังสือซึ่งพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว ชื่อ Tort, Customs, and Karma : Globalization and Legal Consciousness in Thailand

ผมต้องสารภาพด้วยว่า ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง

ฉะนั้น ที่จะชวนท่านผู้อ่านคุยต่อไปนี้ เพื่อนผมซึ่งเป็นผู้เขียน ไม่ควรต้องรับผิดชอบใดๆ



คําว่า "กฎหมาย" ที่ใช้กันมาในภาษาไทยโบราณ ไม่ได้หมายถึงกฎหมายอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน แต่แปลว่าจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น

จดบันทึกไว้เป็นหลักฐานสำหรับกิจการของบ้านเมืองครับ เช่น จดบันทึกรายชื่อผู้ร้ายที่จับตัวได้ หรือจดบันทึกรับสั่งของพระเจ้าแผ่นดินไว้เป็นหลักฐาน

มองเห็นไม่ยากนะครับว่า ความหมายของคำว่ากฎหมายในภาษาไทยเก่าจะเลื่อนมาหมายถึงกฎหมายอย่างที่ใช้ในปัจจุบันได้อย่างไร แต่เลื่อนมาไม่หมดเท่ากับความหมายของคำว่า law ในภาษาอังกฤษหรอกครับ

คนไทยยังคิดว่ากฎหมายคือ "คำสั่ง" ของรัฐ ไม่ใช่ประเพณีที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของคน (อันเป็นคำที่ภาษาอีสานใช้ว่า "ฮีต-คอง") และแน่นอนว่า ไม่ใช่ข้อตกลงระหว่างพลเมืองด้วยกัน ว่าจะใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ดังนั้นดังนี้ในความสัมพันธ์กัน

คำว่า "ยุติธรรม" ก็เหมือนกัน ความหมายที่แท้จริงของคำนี้ในภาษาไทยคือเรื่องจบลงตามธรรม หรืออย่างเป็นธรรม ปัญหามาอยู่ที่ว่า "ธรรม" แปลว่าอะไร เพื่อไม่ให้เสียหน้ากระดาษมาก ผมขอนิยามง่ายๆ ว่าธรรมคือการบรรสานสอดคล้อง (harmony) ของสรรพสิ่ง (เช่น ระหว่าง คนกับคน หรือ คนกับสังคม)

คนละเรื่องกับ Justice ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่า สอดคล้องกับหลักเหตุผลหรือหลักกฎหมาย อะไรที่สอดคล้องกับกฎหมายอาจไม่ทำให้คนมีความสัมพันธ์กันอย่างบรรสานสอดคล้องก็ได้ (หรือไม่เป็นธรรมะ) การควักเนื้อลูกหนี้ออกมาหนึ่งปอนด์ ตามสัญญา เมื่อลูกหนี้ไม่อาจชำระหนี้ได้ อาจจะเป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย แต่ไม่ยุติธรรมตามความหมายในภาษาไทยแน่ เชคสเปียร์จึงกล่าวว่า "ในกระแสแห่งยุติธรรมา ยากจะหาความเกษมเปรมปรีดิ์"

ในหมู่บ้านไทยโบราณ เมื่อเกิดการละเมิดขึ้น (จับนมลูกสาวเขา, ปล่อยงัวควายไปย่ำนาที่ยังไม่ได้เกี่ยว, ทำเกวียนเขาหัก, ทำบ่อน้ำสาธารณะโสโครก ฯลฯ) การ "ชดใช้" ความเสียหายไม่ได้ทำโดยจ่ายเงินหรือแรงให้แก่ผู้ถูกละเมิดเท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงการทำพิธีกรรมบางอย่าง เช่น ทำขวัญหรือขอษมา ฯลฯ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมพิธีเดียวกัน สมานรอยร้าวที่เกิดจากการละเมิด ดึงเอาความบรรสานสอดคล้องในความสัมพันธ์ระหว่างกันกลับมาใหม่ อย่างนี้จึงเป็นยุติ "ธรรม"

ดังนั้น แค่รับระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของฝรั่งมาใช้ในเมืองไทย ก็ทำให้กฎหมายและความยุติธรรมอยู่ห่างไกลจากชีวิตจริงของชาวบ้านไปมากแล้ว เราทุกคนต่างหลีกเลี่ยงที่จะใช้กฎหมายมากำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกัน เรามักหันไปใช้วิธีอื่นๆ เป็นที่พึ่งมากกว่า เช่น ใช้ "เส้น", ใช้การเจรจา, ใช้หมอดูหรือหมอผี, ใช้การบนบาน, ฯลฯ แทนการฟ้องร้อง เป็นคดีความกันในศาล

ผมคิดว่าเราพูดกันไปอย่างนั้นเองว่า กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้าย เพราะในความเป็นจริงเราใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งน้อยมาก ยกเว้นแต่หมดหนทางจริงๆ และแม้แต่หมดหนทางอื่นแล้ว คนไทยอีกมากก็ยังไม่ได้ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอยู่นั่นเอง แต่หันไปหาเจ้าพ่อเจ้าแม่หรือศาสนาแทน

ร้ายไปกว่านั้น ผมเข้าใจว่าคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยเลยที่เห็นว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมนั้น ไม่ได้มีไว้ให้คนเบี้ยน้อยหอยน้อยได้ใช้หรอก มันแพงทั้งเงินและเวลาเกินกว่าคนทั่วไปจะใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งถ้าหันไปดูกระบวนการดังกล่าวตามความเป็นจริง ก็ดูจะเกินกำลังของคนไทยส่วนใหญ่จะใช้ประโยชน์ได้จริงเสียด้วย

แค่รับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมฝรั่ง ยังทำให้เกิดความสับสนได้ถึงเพียงนี้ ร้ายไปกว่านั้น ในระยะ 30-40 ปีที่ผ่านมา คนไทยยังต้องเผชิญโลกาภิวัตน์ระลอกใหม่ ซึ่งทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หากมองความเปลี่ยนแปลงในแง่ได้ ชีวิตของแต่ละคนก็หลุดออกมาจากหมู่บ้าน มีสายสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับเมืองและโลกกว้างภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากมองในแง่เสียก็คืออำนาจต่อรองซึ่งเขาพอมีอยู่บ้างในหมู่บ้าน ก็สูญสิ้นไปด้วย เพราะผีที่เคยคุ้มครองระเบียบกฏเกณฑ์และความยุติธรรมของหมู่บ้าน กลับป่ากลับดอยไปหมดแล้ว ขาดอำนาจที่จะจรรโลงกฎระเบียบของหมู่บ้านอีกต่อไป นอกจากกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมแบบฝรั่ง ซึ่งชาวบ้านรู้สึกว่าห่างไกลตัวจนสุดกู่

ในสภาพที่ค่อนข้างอับจนเช่นนี้ ทางเลือกของคนไทยมีเพียงสองอย่าง



หนึ่งคือ ช่วยกันปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (แบบฝรั่ง) ให้กลายเป็นสิ่งใกล้ตัว ใครๆ ก็เข้าถึงได้ โดยไม่ต้องข้ามกำแพงของเงินตราซึ่งต่างมีไม่เท่ากัน พร้อมกันไปนั้นก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับกฎหมายและความยุติธรรม ให้สอดคล้องกับระบบกฎหมาย (แบบฝรั่ง) อย่าไปสนใจว่าเมื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งแล้ว ยังจะมองหน้ากันต่อไปได้หรือไม่

มันจะบรรสงบรรสานกันในความสัมพันธ์หรือไม่ก็ช่างหัวมัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ยุติธรรมของเราจะไม่เกี่ยวกับธรรมอีกต่อไป

พร้อมกันไปนั้น ก็เลิกคิดเสียทีว่ากฎหมายคือคำสั่ง แต่ต้องคิดใหม่ว่ากฎหมายเป็นสัญญาหรือข้อตกลงร่วมกันว่าเราจะสัมพันธ์กันอย่างไร ยกเลิก, เปลี่ยนแปลง, ปรับปรุง, หรือตั้งกติกากันใหม่เมื่อไรก็ได้ เป็นเรื่องเล็กที่ต้องทำกันตลอดเวลา พูดอีกอย่างหนึ่งคือต้องหันมามองกฎหมายจากมุมมองของประชาธิปไตย ไม่ใช่คำสั่งของนายเหนือหัว

แต่ทางเลือกทางนี้ แค่ฟังก็รู้แล้วว่าเป็นไปได้ยาก แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ยอมเปลี่ยนเลยก็เป็นไปไม่ได้อีกนั่นแหละ พูดให้เข้าใจง่ายๆ กว่านี้ก็คือ จะให้เมืองไทยกลายเป็นสังคมประชาธิปไตยโดยฉับพลันย่อมเป็นเรื่องยาก แต่สังคมไทยไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามลู่ทางของประชาธิปไตยเลยก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน (ไม่ว่าเราจะมีลักษณะพิเศษจำเพาะที่ไม่เหมือนใครทั้งโลกอย่างไรก็ตาม)

เพราะการเป็นประชาธิปไตยแต่เปลือกอย่างที่เคยเป็นมา จะไม่มีวันนำความสงบสุขกลับคืนมาได้อีกแล้ว



ทางเลือกอย่างที่สองคือทางเลือกที่ประชาชนทั่วไปเลือก นั่นคือ หันไปใช้กระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายที่เป็นทางการก็ยังเข้าไม่ถึง หันกลับไปหากระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายที่เคยมีในหมู่บ้าน ก็หันกลับไปไม่ได้ เพราะมันพังไปหมดแล้ว

ฉะนั้น ก็ตัวใครตัวมันสิครับ ถ้ามีเส้นใหญ่พอก็ใช้เส้น แต่ประสิทธิภาพของเส้นในเมืองไทยนั้นกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะสื่อและบรรยากาศที่ปิดปากคนได้ยากขึ้น หากมีเงินก็ใช้เงิน ซึ่งต้นทุนสูงขึ้นตลอดมา ทำให้คนที่มีความสามารถจะใช้เงินเพื่อเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมีจำนวนน้อยลง

คนที่เหลือสิครับ คนที่เหลือจะทำอย่างไร

หนังสือเล่มที่ผมอ้างถึงบอกว่า สถิติคดีละเมิดในศาลกลับลดลงอย่างมากในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา หมายความ (ตามความเข้าใจของผมเอง) ว่า ในขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์ขยายตัวในเมืองไทย แทนที่คนจะหันมาสัมพันธ์กันแบบ "สุดแขน" คือ ใช้กฎหมายเป็นเกณฑ์ในการสัมพันธ์กัน อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์บางท่านเคยเสนอ คนไทยกลับไม่ได้สัมพันธ์กันผ่านกฎหมาย

แต่สัมพันธ์กันผ่าน "กฎแห่งกรรม" (ตามการตีความแบบไทยๆ) ครับ

จากการศึกษาเหยื่อของการละเมิดในเชียงใหม่ของสองสามีภรรยาเองเกิลส์ แทบจะไม่มีใครนำเรื่องขึ้นสู่ศาลเลย แม้ว่าตัวจะบาดเจ็บสาหัสจนถึงพิการ แต่กลับใช้วิธีต่างๆ จนสุดทางที่จะทำได้แล้ว ก็หันมาปลงว่าเป็นกรรมของตนแน่แท้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการละเมิด

ทั้งนี้ สะท้อนข้อสังเกตข้างบนว่า เมื่อคนขาดสังกัดชุมชน คนก็ถูกแบ่งแยกออกเป็นหน่วยเล็กๆ (atomization) ที่ต้องปกป้องตนเองไปตามแต่กำลังเฉพาะตน กฎแห่งกรรมที่สอนกันในเมืองไทยคือคำตอบให้แก่คนที่ถูกแบ่งย่อยออกเป็นหน่วยเล็กๆ อย่างนี้แหละครับ

ในทางตรงกันข้าม เมื่ออะตอมแต่ละหน่วยไม่สามารถใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของรัฐเพื่อปกป้องตนเองได้ อะตอมเหล่านี้ก็หันไปหาการสร้างสังกัดใหม่ที่จะเพิ่มอำนาจในการปกป้องตนเองได้มากขึ้น ท่ามกลางการล่มสลายพลังของกลุ่มตามจารีต เช่น ชุมชน, เครือญาติ, พระเดชพระคุณ, ฯลฯ

กลุ่มในสังคมสมัยใหม่ก็ไม่สู้จะให้พลังในการต่อรองนัก สหภาพแรงงานถูกรอนพลังลงด้วยเหตุต่างๆ ซ้ำแรงงานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สังกัดสหภาพใดๆ คนอีกมากที่ไม่ใช่แรงงานก็ไม่มีสหภาพของตนเอง เช่นเดียวกับเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้มีสหกรณ์ของตนเอง วัดหรือศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ฯลฯ

ขบวนการเสื้อเหลือง, เสื้อแดง, เสื้อสลิ่ม และเสื้ออื่นๆ อันอาจจะมีมาข้างหน้า จึงได้รับการตอบสนองจากผู้คนอย่างคึกคัก ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะการปลุกเร้าทางการเมืองหรือสถานการณ์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่มีสถานการณ์ทางสังคมช่วยหนุนอยู่ด้วย

คนไทยกลายเป็น "คนมีสี" มากกว่าผู้ที่สังกัดอยู่กับกองทัพและตำรวจ และก็เหมือน "คนมีสี" (ซึ่งแปลว่ามีสังกัดที่ทำให้ได้รับการปกป้องโดยไม่ต้องพึ่งกฎหมาย) ที่เคยมีมาแล้ว การมีสีเหลือง, แดง, สลิ่ม ก็ทำให้ปกป้องตนเองได้ระดับหนึ่งเหมือนกัน



++

นิติธรรม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:30:00 น.
บทความตอนแรกนี้เคยเสนอที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2011/11/ndham.html


ผมไม่ทราบว่าอะไรคือนิติธรรม แต่พอจะทราบว่าอะไรไม่ใช่นิติธรรม

นิติในคำนิติธรรม ไม่น่าจะหมายถึงกฎหมายหรือกระบวนการของกฎหมาย ไม่อย่างนั้นกฎหมายและกระบวนการทางกฎหมายทั้งหมดภายใต้ฮิตเลอร์หรือสตาลิน ย่อมเป็นนิติธรรมทั้งสิ้น กฎหมายที่ไม่เป็นนิติธรรมก็มี กระบวนการทางกฎหมายที่ไม่เป็นนิติธรรมก็มี และด้วยเหตุดังนั้น คำพิพากษาที่ไม่เป็นนิติธรรมก็ย่อมมีเหมือนกัน

ที่สัมพันธ์สืบเนื่องกับข้อสรุปอันแรกก็คือ นิติธรรมย่อมเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัยและสังคม การถือว่าภรรยาเป็นสมบัติของสามีก็ตาม การเอาคนเป็นทาสก็ตาม การเอาลูกหนี้ไปใส่ขื่อคาเพื่อเรียกหนี้ก็ตาม ฯลฯ ไม่เป็นนิติธรรมในสมัยนี้แน่ แต่คงเป็นนิติธรรมในเมืองไทยสมัยโบราณ เพราะสอดคล้องกับอุดมคติของระเบียบสังคมที่คนสมัยนั้นถือว่าดี

บนอุดมคติใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงประชาธิปไตย ซึ่งคนไทยจำนวนมาก (ผมไม่ทราบว่าเป็นข้างมากหรือไม่)ใฝ่ฝันอยู่ สิ่งที่เป็นนิติธรรมในยุคสมัยนี้ย่อมเปลี่ยนไป อย่างไรเสียก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเอามิติของประชาธิปไตย มาร่วมในการวินิจฉัยว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นนิติธรรม

บัดนี้ก็ประจักษ์ชัดแล้วว่า ร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ที่รัฐบาลเสนอในวาระฉลองพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ไม่ได้มีอะไรหมกเม็ดเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วย อย่างที่ คุณเฉลิม อยู่บำรุง กล่าวว่า แม้มีเจตนาจะช่วยคุณทักษิณ แต่ก็ไม่โง่พอที่จะทำอย่างนี้ เพราะหากคุณทักษิณกลับบ้าน ก็จะถูกจับกุมในคดีอื่นๆ ที่ยังค้างอยู่อีก 4 คดี


ปัญหาเรื่อง นิติธรรมในโลกยุคปัจจุบันก็คือ การกล่าวหาผู้อื่นถึงกับปลุกระดมคนขึ้นมาเคลื่อนไหว จนถึงบางคนเรียกร้องให้นายกฯลาออกบ้าง ให้ทหารยึดอำนาจเสียบ้างนั้น อาจกระทำได้โดยไม่ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง อาศัยเพียงการคิดเอาเอง คาดเดาเอาเองตามจริตของตน ยังจะทำให้คนเหล่านี้เรียกร้อง "นิติธรรม" จากคนอื่นได้อยู่อีกหรือ

ประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันนั้น ทำงานได้ด้วยข้อมูลข่าวสารที่ทุกฝ่ายสามารถรับได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่า สังคมไทยยังไม่บรรลุความเท่าเทียมในการรับรู้ข่าวสารข้อมูล ฉะนั้น การปั้นข้อมูลเท็จไปปลุกระดมจึงเป็นมหันตภัยของประชาธิปไตยไทย เพราะจะมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะรับข้อมูลที่อ้างว่าเป็น "ภายใน" ของผู้ให้ เพราะทำให้ตัวรู้สึกว่าได้อำนาจจากความรู้นั้น จึงพร้อมจะใช้อำนาจที่ได้มาอย่างไม่ยั้งคิด จนตกเป็นเครื่องมือของนักปั้นข้อมูลเท็จ

ผมแน่ใจว่าการกล่าวหาผู้อื่นอย่างเลื่อนลอยเช่นนี้ ไม่ใช่นิติธรรมแน่

แต่ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทุกกลุ่ม ต่างอ้าง "นิติธรรม" อยู่เป็นนิตย์ว่า หากคุณทักษิณได้รับการอภัยโทษ โดยยังไม่เคยรับโทษเลย ซ้ำไม่เคยแสดงให้เห็นว่าสำนึกผิด อำนาจตุลาการย่อมสั่นคลอน และทำลายระบอบ "นิติธรรม" ของบ้านเมือง

บางคนในกลุ่มเหล่านี้ ร่วมก่อการรัฐประหารกับกองทัพใน พ.ศ.2549 ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อันเป็นที่มาของกระบวนการทางกฎหมายซึ่งเพิ่งสถาปนาขึ้นจากอำนาจรัฐประหาร จนเป็นเหตุให้คุณทักษิณถูกฟ้องร้องในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี

การรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือนิติธรรมหรือ?

บาง คนในกลุ่มเหล่านี้เคยเป็นสมาชิกของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งคณะรัฐประหารตั้งขึ้น อันเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการทางกฎหมายที่เอาคุณทักษิณเข้าคุก กระบวนการทางกฎหมายที่เริ่มจากอำนาจเถื่อนเช่นนี้ เป็นนิติธรรมหรือ?

อีกบางคนเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารอย่างออกหน้า (และ อาจมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือในการสร้างบรรยากาศที่กองทัพสามารถอ้างไปก่อรัฐ ประหารได้ แต่ข้อนี้ผมไม่มีหลักฐานยืนยัน เพียงแต่หลักฐานแวดล้อม-circumstantial evidence-ชี้ให้เห็นชัดเท่านั้น) การกระทำเช่นนี้ ถือว่ากอปรด้วยนิติธรรมแล้วหรือ?

เราไม่อาจยกกฎหมาย, ยกคำพิพากษา, ยกพฤติกรรมของคน, ยกกระบวนการทางกฎหมาย อย่างโดดๆ ขึ้นมาชี้ว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นนิติธรรมได้ เพราะทุกอย่างเหล่านั้น ล้วนมีที่มาที่ไปทั้งสิ้น กฎหมายนั้นมีที่มาอย่างไร กระบวนการฟ้องร้องมีที่มาอย่างไร คำพิพากษามีที่มาอย่างไร การหลบหนีมีที่มาอย่างไร จะชอบหรือไม่ชอบด้วยนิติธรรมจึงสัมพันธ์กับที่มา-ที่ไปทั้งหมด ไม่ใช่การกระทำหรือไม่กระทำโดดๆ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ดังนั้น แม้ผมไม่ทราบว่านิติธรรมคืออะไร แต่ผมค่อนข้างจะแน่ใจเสียแล้วว่า นิติธรรมนั้นเป็น "กระบวนการ" ในตัวของมันเอง ผู้รู้ท่านใดก็ตามที่นิยามนิติธรรมให้หมายถึงอะไรโดดๆ โดยไม่สัมพันธ์กับส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องเลย ผมก็ออกจะสงสัยว่าผิด


ยังมีสิ่งที่ผมงงๆ เกี่ยวกับนิติธรรมในโลกยุคปัจจุบันอีกเรื่องหนึ่ง และส่วนหนึ่งของความงงนี้สัมพันธ์กับการพระราชทานอภัยโทษด้วย

พรรค พท.หาเสียงด้วยคำสัญญาอย่างชัดแจ้งว่า จะนำคุณทักษิณกลับบ้าน และพรรค พท.ได้คะแนนเสียง 15 ล้านจนจัดตั้งรัฐบาลได้ ผมไม่อาจอ้างได้ว่า มี "ประชามติ" ชัดเจนจากประชาชนแล้วว่า ให้นำ คุณทักษิณกลับบ้าน เพราะคงมีหลายคนใน 15 ล้านนั้นที่เลือก พท.โดยไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณเลย อย่างน้อยประเด็นนี้ไม่เคยถูกนำไปให้ออกเสียงลงประชามติอย่างจริงจัง จึงไม่ควรด่วนสรุปง่ายๆ เช่นนั้น

อีกทั้งการนำคุณทักษิณกลับบ้าน ก็ยังขึ้นอยู่กับว่าจะนำกลับมาอย่างไร วิธีการมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเป้าหมาย หากให้ทหารยึดอำนาจใหม่ แล้วมีประกาศ (ที่กลายเป็นกฎหมายถาวรใน "นิติธรรม" แบบที่เราเคยชิน) ยกเว้นโทษที่ผ่านมาทุกชนิดของคุณทักษิณ ผมก็จะเป็นคนหนึ่งที่ออกมาต่อต้านคณะรัฐประหารชุดนั้น และผมเชื่อว่าจะมีอีกหลายคนที่ทำอย่างเดียวกัน

ดังนั้น สมมุติให้คะแนนเสียงของ พท.เป็นประชามติ ก็ยังมีปัญหาอยู่อีกว่า การพระราชทานอภัยโทษไม่ใช่วิธีการที่อยู่ในประชามตินั้น จึงอาจไม่ชอบด้วยนิติธรรมได้อีก

คราวนี้สมมุติอีกทีว่า การนำคุณทักษิณกลับบ้าน ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งระบุไว้แน่ชัดเป็นญัตติของการลงประชามติ แล้วประชาชนเสียงข้างมาก ก็แสดงความเห็นด้วยกับประชามตินั้น รัฐบาลจึงออกกฎหมายผ่านสภาและทูลเกล้าฯถวายให้ลงพระปรมาภิไธย ถามว่ารัฐบาลได้ละเมิดพระราชอำนาจหรือไม่? และยังมีพระราชอำนาจที่จะทรงวินิจฉัยเองได้หรือไม่?

ตรงนี้แหละครับที่ผมคิดว่า ต้องเข้าใจบทบาท และหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยให้ดี


เรามักใช้คำง่ายๆ เพื่ออธิบายว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ แต่คำนี้แปลว่าอะไร? โดยทั่วไปก็เข้าใจเพียงว่าทรงเป็นตัวแทนของประเทศ เช่นลงพระปรมาภิไธยในพระราชสาส์นตราตั้งทูตไปประจำในต่างประเทศ หรือรับสาส์นตราตั้งจากทูตต่างประเทศ หรือลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่ง สาธารณะบางตำแหน่ง

แต่การที่สถาบันพระมหากษัตริย์อาจทำเช่นนี้ได้ ก็เพราะสถาบันนี้คือผู้ "ใช้" อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทยต่างหาก เมื่อลงพระปรมาภิไธยในพระราชสาส์นตราตั้ง ย่อมหมายความว่าทูตผู้นั้นไม่ใช่ตัวแทนของรัฐบาล ไม่ใช่ตัวแทนของพระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคล แต่เป็นตัวแทนของประชาชนไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศไทย คำพิพากษาต้องอยู่ในพระปรมาภิไธยก็เพราะคำพิพากษาย่อมละเมิดสิทธิเสรีภาพซึ่งรัฐธรรมนูญให้คำรับรองไว้แก่พลเมืองทุกคน ดังนั้นจึงต้องอาศัยอำนาจอธิปไตยของปวงชนเท่านั้น จึงจะสามารถละเมิดได้ (เพราะโดยตัวของมันเองย่อมเท่ากับเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง เพียงแต่ใช้บังคับแก่บุคคลเป็นคนๆ ไปเท่านั้น)

เช่นเดียวกับตำแหน่งสาธารณะซึ่งต้องใช้วิจารณญาณของตนในการปฏิบัติงาน จนอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมืองได้ ก็ต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ อำนาจหน้าที่ของตำแหน่งนั้นจะเป็นไปได้ ก็ด้วยความยินยอมของประชาชน ซึ่งย่อมแสดงออกได้ด้วยที่มาคืออธิปไตยของปวงชนชาวไทย

แต่ตำแหน่งสาธารณะซึ่งไม่มีอำนาจจะทำเช่นนั้นได้ เช่น ศาสตราจารย์ (ในความเห็นของผม) ไม่จำเป็นต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

ปัญหาอธิปไตยของปวงชน ประชามติ พระราชอำนาจ และพระราชวินิจฉัย เรื่องนี้คงยาว

ผมขอเก็บไว้พูดในครั้งต่อไป



++

นิติธรรมอีกที
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.


เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน ผมได้ตั้งคำถามในบทความชื่อ "นิติธรรม" ว่า หากมีการลงประชามติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างชัดเจน แล้วมีการร่าง พ.ร.บ.ตามประชามติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ลงพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ยังทรงพระราชอำนาจที่จะใช้พระบรมราชวินิจฉัยอยู่อีกหรือไม่ เพียงใด

แต่เนื่องจากความขัดข้องทางเทคนิคบางประการ ทำให้คำตอบของปัญหานี้ไม่อาจลงต่อเนื่องกันได้ ผมจึงขอนำกลับมาเสนอในครั้งนี้ และขอย้ำว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัวซึ่งอาจผิดหรือถูกก็ได้ ผู้รู้อาจกรุณาชี้แจงได้ในภายหลัง

.. ในประเทศอื่น นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ ..


แต่ก่อนจะตอบปัญหาว่า พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะใช้พระบรมราชวินิจฉัยหรือไม่ หากปวงชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แสดงเจตจำนงอย่างแน่ชัดแล้วผ่านการลงประชามติ ผมขอพูดถึงบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศอื่นก่อน

นอกจากเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน ซึ่งทำให้กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภาต้องประกาศใช้ในพระปรมาภิไธยแล้ว หลายประเทศยังให้พระราชอำนาจที่จะถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติระดับหนึ่ง (บางประเทศเช่นสวีเดน ไม่ได้ให้พระราชอำนาจนี้ไว้เลย บางประเทศให้ไว้มากหน่อย บางประเทศให้ไว้น้อย แต่ไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดที่ให้พระราชอำนาจนี้ไว้เด็ดขาด) การให้พระราชอำนาจนี้ไว้มาจากเหตุใด? ผมคิดว่ามาจากสองเหตุคือ

1.สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่สืบเนื่องที่สุดในระบอบประชาธิปไตย จึงอาจสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองได้มากที่สุด (ไม่ใช่สั่งสมไว้กับตัวบุคคลนะครับ แต่สั่งสมไว้กับสถาบัน) ด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า สถาบันอาจมองการณ์ไกลได้มากกว่าพรรคการเมือง การท้วงติงของสถาบัน จึงมีค่าในการที่นักการเมือง (ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ไม่ได้ถืออำนาจอธิปไตยแทนปวงชน) จะนำกลับไปไตร่ตรอง

2.ระบอบปกครองอะไรก็เกิดความผิดพลาดได้ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ จึงต้องมีอำนาจอะไรสักอย่างที่สามารถแก้ไขความผิดพลาดนั้นได้ โดยไม่ต้องไปรื้อระบบลงทั้งระบบ กรณีพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษนั้นเป็นตัวอย่างอันดี ผู้ต้องขังซึ่งถูกพิพากษาให้ต้องโทษ 20 ปี เมื่อแก่ชราลงจนอายุครบ 60 แล้ว ความจำเป็นที่จะแยกบุคคลผู้นั้นออกจากสังคมไม่มีอีกต่อไป จะปล่อยเขาได้อย่างไร โดยไม่ต้องไปรื้อกฎหมายและระบบตุลาการลงทั้งหมด ก็ให้อำนาจแก่สถาบันไว้ในการพระราชทานอภัยโทษ


ในต่างประเทศ สถาบันกษัตริย์ต้องใช้พระราชอำนาจนี้อย่างระมัดระวัง และหลักของการระมัดระวังคือยึดโยงกับอธิปไตยของปวงชน เช่นกฎหมายที่ผ่านประชามติแล้ว มักทรงลงพระปรมาภิไธยเกือบจะโดยอัตโนมัติ ไม่ทรงขัดขวาง ยกเว้นแต่การร่างกฎหมายนั้น ทำน้อยเกินกว่าหรือมากเกินกว่าประชามติ ก็อาจทรงทักท้วงได้

สถาบันกษัตริย์หรือพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียง "เจว็ด" แน่ แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้สติปัญญาอย่างสูง ในการใช้และไม่ใช้พระราชอำนาจ เพื่อให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวมในฐานะผู้ "ใช้" อำนาจอธิปไตยของปวงชน

เรากำลังพูดถึงสถาบันนะครับ ไม่ใช่บุคคล ฉะนั้นการละเมิดพระราชอำนาจจึงเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน และย่อมไม่ให้ผลดีแก่ผู้ตั้งใจจะละเมิด เช่นรัฐบาลที่ไม่ส่งร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านสภาแล้วไปให้ลงพระปรมาภิไธย ผลก็คือร่าง พ.ร.บ.นั้นไม่มีวันประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ จึงไม่มีประโยชน์แก่รัฐบาลที่อุตส่าห์เข็นร่างกฎหมายฉบับนั้นให้ผ่านสภามาได้ สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทุกแห่ง ย่อมมีกฎหมายที่กำหนดและธำรงพระราชอำนาจนี้ไว้อย่างละเอียดชัดเจน (บางประเทศอาจเป็นประเพณีที่มีสถานะเท่ากฎหมาย) ตราบเท่าที่ทำตามกฎหมายทั้งเจตนารมณ์และตัวอักษร ก็ไม่มีวันที่จะเกิดการละเมิดพระราชอำนาจของสถาบันได้อย่างแน่นอน

ยิ่งกว่านี้ หากเข้าใจได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ตราบเท่าที่การกระทำนั้นเป็นไปตามกระบวนการซึ่งมีฐานอยู่ที่อธิปไตยของปวงชน ย่อมจะละเมิดพระราชอำนาจไม่ได้ เพราะอธิปไตยของปวงชนจะขัดแย้งกันเองย่อมเป็นไปไม่ได้

การยกสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาต่อสู้กันทางการเมือง เป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้การใช้พระบรมราชวินิจฉัยเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน ทำได้ยาก เช่นจะทรงใช้ประสบการณ์ทางการเมืองที่สั่งสมมาอย่างยาวนานและสืบเนื่อง เพื่อลงหรือไม่ลงพระปรมาภิไธย ก็อาจถูกเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ลำเอียงเข้าข้างการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้

ทุกวันนี้ เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองแหลมคมขึ้น ใครๆ ต่างอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม แต่ส่วนใหญ่แล้วก็อ้างความจงรักภักดีโดยขาดหลักความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ เพราะมักพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนเป็นอีกสถาบันทางการเมืองหนึ่ง ที่ไม่สัมพันธ์ยึดโยงอยู่กับอธิปไตยของปวงชน แท้จริงแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอธิปไตยของปวงชน แยกออกจากกันไม่ได้



ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงความจงรักภักดีต่ออธิปไตยของปวงชน

ความจงรักภักดีใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้สองสิ่งนี้ขัดแย้งกัน คือการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ในทางตรงกันข้าม การทำให้สองสิ่งนี้ประสานสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว คือการจรรโลงให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่อย่างมั่นคงสืบไป เพราะเมื่อดูจากประวัติศาสตร์ทั่วโลกแล้ว สถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศได้อันตรธานไปจนเหลืออยู่ไม่เกิน 40 ประเทศทั่วโลก แต่ระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กลับแพร่หลายไปมากขึ้นในทุกประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ขั้วตรงข้ามที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว

การแสดงความจงรักภักดีที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นอีกอำนาจหนึ่งที่เป็นอิสระจากอธิปไตยของปวงชน จึงกลับบ่อนทำลายความมั่นคงของสถาบันเสียเอง



.