http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-04

จากอากงถึงออตู่ โดย ใบตองแห้ง

.




จากอากงถึงออตู่
โดย ใบตองแห้ง
ใน www.voicetv.co.th/blog/657.html . . 3 ธันวาคม 2554 เวลา 12:58 น.


ตั้งชื่อให้สอดคล้องไปงั้น อันที่จริงไม่เกี่ยวกัน เพราะพรรคเพื่อไทยและ นปช.รูดซิปปากสนิทไม่หือไม่อือคดีอากง ไม่ยักโวยวายจะเป็นจะตายเหมือนกรณีที่ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของจตุพร พรหมพันธ์ (ทั้งที่สาเหตุที่จตุพรถูกคุมขังก็มาจากมาตรา 112 เหมือนกัน)

แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทั้งสองกรณี สะท้อนว่า ณ บัดนี้ การเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังกระแสข่าวมหาอุทกภัยเริ่มสร่างซาไป

กลางเดือนที่แล้วผมโทรคุยกับภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ภิญโญโอดครวญว่าบันทึกเทป อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กับ ส.ศิวรักษ์ อ.ไชยันต์ ไชยพร และคำนูณ สิทธิสมาน เกี่ยวกับข้อเสนอของนิติราษฎร์ไว้ กำลังจะเอาออกเจอสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เสียก่อน ดูเหมือนน้องน้ำจะกลบกระแสนิติราษฎร์ซะหมด ยังไม่รู้จะเอาออกตอนไหนดี

ที่ไหนได้ น้ำยังไม่ทันลด เจอ พรฎ.พระราชทานอภัยโทษ กับคดีอากง เอาเทปมาออกติดต่อกัน 3 วัน เก่าเป็นเดือนแล้วแฟนคลับยังซี้ดซ้าดกันเหมือนสดซดสด เหมือนน้ำไม่ได้ลดล้างความแตกแยกในสังคมไทยไปเลย

อย่างไรก็ดี การที่ข่าวน้ำท่วมลดระดับลงในหน้าสื่อ คนรับกรรมคือชาวชานกรุงที่ยังต้องผจญน้ำเน่า เพราะหลังจากมั่นใจว่าน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ ชั้นใน และหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก (อันที่จริงอภิปรายเก่ง การุณ ซะมากกว่า) ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทั้ง ศปภ.และ กทม.ก็ดูเหมือนจะลดความสนใจต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไปซะเฉยๆ ปล่อยให้คนปทุม คนบางกรวย บางบัวทอง นครปฐม ย่ำน้ำกันตามยถากรรม จนชาวบ้านต้องก่อม็อบที่นั่นที่นี่ หรือกระทั่งมีแกนนำเสื้อแดงนำมวลชนรื้อประตูระบายน้ำคลองอำมาตย์ (พระยาสุเรนทร์ ฮิฮิ)

การเมืองเรื่องน้ำท่วมจบแล้ว จบข่าว ไม่ได้ขึ้นพาดหัวใหญ่ ก็ไม่มีใครสนใจประชาชนส่วนน้อยที่ยังจมน้ำอยู่ แม้แต่พระเอกตัวเขียวเขียวของสลิ่ม หลังจากวางบิล 12,000 ล้าน (รวมค่าโฆษณา MV ด้วยหรือเปล่า) ก็ทยอยกลับกรมกอง วันก่อนดูข่าว 3 มิติชาวบ้านบางซอยโวยว่ารถทหารที่เคยรับส่งหายหมด ทั้งที่น้ำยังไม่ลด

การเมืองเรื่องน้ำท่วมจบเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือชาวบ้านก็ยังข้องใจเรื่องทุจริต แต่ ปชป.ก็ไม่มีน้ำยาพอจะจับให้มั่นคั้นให้ตายกลางสภา เพราะขุดคุ้ยไปมาก็ซื้อแพงทั้งสองรัฐบาล (แถมเจ้าของข้อมูลเด็ดก็ดันไม่ได้อภิปรายในสภา ต้องมาพูดนอกสภา ชวนให้กังขาว่ามันปาหี่อะไรกันวะ) ครั้นจะเล่นงาน ส.ส.เสื้อแดงแจกถุงยังชีพ ศปภ. ก็โดนแฉกลับซะอีกว่าอภิสิทธิ์ไปเบิกถุงยังชีพกระทรวงพลังงานแจกชาวบ้านเหมือนกัลล์

กระนั้น ไม่ใช่ว่ารัฐบาลผ่านมติแล้วจะนิ่งนอนใจ เรื่องทุจริตต้องสอบหาคนผิดให้ได้ก่อน ปปช. ไม่เช่นนั้นจะเป็นชนักย้อนมาปักภายหลัง เรื่องบริหารจัดการน้ำ ก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลสอบผ่าน และไม่ใช่ว่าฝ่ายค้านสอบผ่าน วิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ นักการเมืองสอบตกหมด เพียงแต่ความแตกแยกทางการเมืองส่งผลให้กองเชียร์ทั้งสองฝ่ายยังเลือกเชียร์พรรคของใครของมัน

อันที่จริง ก็ไม่ใช่แค่นักการเมืองสอบตก แต่เป็นรัฐทั้งรัฐที่สอบตก มหาอุทกภัยเป็นผลจากการปล่อยปละละเลยมาทุกรัฐบาล ขณะที่ระบบราชการทำงานแบบไร้ประสิทธิภาพ ตัวใครตัวมัน ไม่มีวิสัยทัศน์ บ้านนี้เมืองนี้ไม่เคยวางผังเมืองให้สอดคล้องกับภูมิประเทศภูมิอากาศ ไม่เคยขุดลอกคูคลอง แถมปล่อยให้มีการรุกล้ำ พื้นที่แก้มลิงก็ปล่อยให้เข้าไปทำโรงงานบ้านจัดสรรร หน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำร่วม 30 หน่วยงานต่างคนต่างทำ มวลน้ำมากมายมหาศาลไม่มีรู้ล่วงหน้า

ถ้าจะหาพระเอกตัวจริงจากมหาอุทกภัย ก็คือประชาชนและชุมชน ชุมชนหมู่บ้านหรือเทศบาลหลายแห่งรวมตัวสู้ภัยพิบัติได้อย่างเข้มแข็ง บางแห่งที่เอาอยู่ ก็กลายเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยประกอบอาหารแจกคนรายล้อม บางแห่งเอาไม่อยู่ ก็ยังดูแลไม่ทอดทิ้งกัน

รากฐานประชาธิปไตยอยู่ที่ความเข้มแข็งของชุมชน แม้การรับมือภัยพิบัติต้องมียุทธศาสตร์เป็นเอกภาพ กำหนดจากส่วนกลาง แต่บทเรียนครั้งนี้สอนว่าในแง่การป้องกันตัวเองและช่วยเหลือดูแลผู้ประสบภัย ชุมชนและท้องถิ่นทำได้ดีที่สุด



ไม้ขีดอากง

เป็นเรื่องสะเทือนใจไปทั้งโลกเมื่ออากงวัย 61 ถูกพิพากษาจำคุก 20 ปี ตามมาตรา 112 จากการส่ง SMS 4 ครั้งไปให้เลขานุการส่วนตัวอภิสิทธิ์

สื่อฝรั่งตีข่าวครึกโครม แต่สื่อไทยพากันเงียบกริบ มีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเว็บไซต์และเฟซบุค

เช่นกัน สหภาพยุโรป องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ออกมาแสดงความห่วงใยเรียกร้องให้แก้ไข ม.112 แต่ทั้งพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.รูดซิปปาก ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และสลิ่มรุกไล่ให้ปิดเว็บไซต์ รมว.ไอซีทีก็ดันไปขานรับ ขู่ถ้าใครกด like ก็อาจติดคุกไปด้วย 1 like 1 กระทง

นี่ถ้าผมกด like “ฝ่ามือคำ ผกา” แล้วกระทรวงไอซีทีตั้งข้อหา คำ ผกา ทำอนาจาร ผมก็คงโดนฐานเผยแพร่ภาพอนาจารไปด้วย 1 กระทง (แต่กดไปเรียบร้อยแล้ว มือไวกว่าความคิด คริคริ)


คดีอากงกำลังเป็นไม้ขีดก้านเดียว ที่ย้อนกลับทั้งสองด้าน ทั้ง ม.112 และผู้บังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.ที่ได้ดิบได้ดีมาจากชีวิตเลือดเนื้อประชาชน

ด้วยใจจริงผมไม่อยากเห็นอากงเป็นไม้ขีด อยากให้อากงได้กลับบ้านไปอยู่กับลูกหลาน แต่ทำไงได้ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

จุดสะเทือนใจในคดีอากง ต่างกับคดี ม.112 คดีอื่นๆ ตรงที่ข้อหนึ่ง แกเป็นคนแก่ ยากจน อยู่บ้านเช่า เจ็บป่วยด้วยมะเร็งช่องปาก ดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินที่ลูกให้ใช้จ่ายและช่วยส่งหลานไปโรงเรียน แม้เคยไปม็อบเสื้อแดงแต่ก็ไม่ได้มีพฤติกรรมฮาร์ดคอร์ แถมยังเคยพาลูกหลานไปลงชื่อถวายพระพรในวโรกาสมหามงคล

ข้อสองคือ ฝ่ายโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้สาธารณชนสิ้นสงสัยว่า อากงเป็นผู้ส่ง SMS จริงหรือไม่ ตั้งแต่การโต้แย้งกันเรื่องตัวเลขอีมี 14 หรือ 15 หลัก การที่ตัวเลขอีมีสามารถปลอมแปลงได้ง่าย (พยานโจทก์เจ้าหน้าที่ ปอท.ก็ยอมรับว่าหมายเลขอีมีสามารถให้ช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือที่เชี่ยวชาญเปลี่ยนได้) และการที่คนแก่ๆ จนๆ อยู่บ้านเลี้ยงหลาน จะไปรู้จักหมายเลขโทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของอภิสิทธิ์ได้อย่างไร

ทนายความยังบอกว่ามีการส่ง SMS ข้อความเดียวกันไปยังผู้มีชื่อเสียงอื่นๆ 70 ข้อความ แต่คนเหล่านั้นมิได้แจ้งความ ซึ่งยิ่งทำให้สงสัยว่า อากงรู้เบอร์คนเหล่านี้ได้อย่างไร (แต่น่าเสียดายที่ทนายความไม่ได้ร้องขอข้อมูลเปิดเผยชื่อคนเหล่านี้ในศาล ซึ่งจะเพิ่มน้ำหนักว่า อากงรู้เบอร์คนเหล่านี้ได้อย่างไร)

เอาละ ต่อให้อีมีเป็นสิ่งที่ปลอมแปลงไม่ได้ อีมีเป็นของอากงแน่นอน มันก็ยังไม่ 100% ว่าอากงคือคนส่ง SMS เพราะถ้าเปรียบเทียบคดีฆาตกรรม สมมติอีมีเป็นมีดในครัวที่บ้านคุณ ไม่รู้ใครเอาไปแทงคนข้างบ้านตาย แล้วเอากลับมาวางไว้ในตะกร้า ลายนิ้วมือก็ตรวจไม่พบ แน่นอน คุณเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง แต่การสรุปว่าคุณคือฆาตกร ยังต้องดูพยานหลักฐานแวดล้อม เช่น คุณกับคนที่ถูกฆ่าตายมีอริบาดหมางกันหรือไม่ วันเวลาเกิดเหตุคุณอยู่ที่ไหน ฯลฯ ไม่ใช่มีดเล่มเดียวทำให้คุณติดคุก 20 ปี


“แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุาการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน”

คำพิพากษาส่วนนี้ ผมคุยกับ อ.สาวตรี สุขศรี 1 ในนิติราษฎร์เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฝ่ายโจทก์คือผู้ที่ต้องนำสืบให้เห็นชัดแจ้ง ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่จะต้องพิสูจน์ หากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย ก็ต้องยกประโยชน์ให้จำเลย



อันที่จริงคดีนี้ ถ้าพวกเสื้อเหลืองหรือสลิ่มมีสติสักหน่อย มองข้ามการแบ่งสีแบ่งฝ่ายสักหน่อย ก็ควรตระหนักว่า ถ้าคุณยอมรับการใช้ตัวเลขอีมี 14 ตัวเป็นหลักฐานมัดว่าอากงคือผู้ส่ง SMS วันใดวันหนึ่งคุณก็อาจกลายเป็นอากงได้ เพราะคนที่รู้เทคโนโลยีสามารถปลอมอีมีคนอื่นมาใช้ไม่ยาก แล้วถ้ามาส่ง SMS ในเซลไซด์เดียวกับเรา ซึ่งมีรัศมีราว 10 กม.เราก็ซวย กระทงละ 5 ปี

หรือถ้าเปลี่ยนเป็นคดีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป เราก็อาจโดนฟ้องเรียกค่าเสียหาย SMS ข้อความละ 10 ล้าน

หมอประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ถึงได้บอกว่า พวกเธอว์จงอย่าปล่อยให้มือถือห่างตัว (ถึงไม่ปล่อยมันก็ปลอมของผมได้ครับ คุณหมอ)

มีบางคนโต้แย้งว่า คดีอากงไม่ใช่เรื่องของ 112 เสียทีเดียว เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่ความไม่สิ้นสงสัยว่าอากงส่ง SMS จริงหรือไม่ ต่างกับคดี 112 ส่วนใหญ่ที่พิสูจน์ได้ว่าจำเลยผิดจริงหรือจำเลยรับสารภาพ (แล้วก็ขอพระราชทานอภัยโทษ) คดีนี้ถ้าอากงยื่นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง พยายามหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์เพิ่มเติม ศาลอทธรณ์อาจยกฟ้องก็ได้

แต่อย่าลืมว่าอากงไม่ได้ประกันตัว ทั้งที่เป็นคนแก่อายุ 61 เจ็บป่วย ยากจน ไม่น่าเชื่อว่าจะมีปัญญาหลบหนีไปไหนได้ ก็ยังไม่ได้ประกันตัว นั่นแหละคือการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ที่มีปัญหาต่างจากคดีอื่นๆ


คดีอากงส่งผลสะเทือนจนอานันท์ ปันยารชุน ต้องออกมายอมรับว่ามาตรา 112 มีปัญหา ควรแก้ไขเรื่องกระบวนการฟ้องร้องที่ใครก็ฟ้องได้ และลดบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป ซึ่งน่าสังเกตวาครั้งก่อนอานันท์พูดเฉพาะเรื่องกระบวนการฟ้องร้อง ครั้งนี้เพิ่มขึ้นมาอีกประเด็น (โทษ 20 ปี)

แต่สำคัญคืออานันท์พูดครั้งก่อนพูดแล้วก็ลอยหายไป ครั้งนี้พูดอีกจะลอยหายไปอีกหรือไม่



อย่ามั่วให้บานปลาย

ประเด็นจตุพรผมเคยเขียนไว้แล้วในตอน “แจกใบแดง กกต.” สรุปอีกครั้งว่าเป็นปัญหาการตีความ พ.ร.บ.พรรคการเมืองขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 102 ไม่ห้ามจตุพรสมัคร ส.ส.เนื่องจากมาตรา 102 ระบุว่า

“บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
.........................
(3) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 100 (1) (2) หรือ (4)
(4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล”

โดยถ้ากลับไปดูมาตรา 100 ก็พบว่า

“บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
(1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(4) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ”

ชัดเจนว่ามาตรา 102 ไม่ห้ามผู้ที่ต้องคุมขังอยู่ เพราะอุตส่าห์ตัดมาตรา 100(3) ออกไป ส่วนที่ 102 (4) เขียนว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล” เป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุกแล้ว แต่คดียังไม่ถึงที่สุด อยู่ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา และศาลไม่ให้ประกันตัว

พูดง่ายๆ ว่าถ้ารัฐธรรมนูญเจตนาจะให้คนที่ถูกดำเนินคดีและคุมขังอยู่ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มาตรา 102(3) ก็คงบัญญัติว่า “เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 100” ซึ่งรวมทั้ง 4 ข้อ ไม่ต้องมาเขียน (1) (2) หรือ (4) ให้ยุ่งยากหรอก

แต่ พ.ร.บ.พรรคการเมืองซึ่งเป็นกฎหมายลูก ดันกำหนดว่า
“มาตรา 19 ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิก ต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง.....”

“มาตรา 8 ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ซึ่งได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มีจำนวนตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไปอาจรวมกันดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองได้”

แล้วก็ดันมีการตีความว่า “ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ” คือลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 100 ซึ่งเหมารวมมาตรา 100 (3) อยู่ด้วย ผมก็ไม่รู้ว่ามันมาจากไหน ใครเป็นผู้ตีความไว้ แต่ข้อบังคับพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ มีข้อหนึ่งที่กำหนดว่าสมาชิกต้องมีคุณสมบัติ “ไม่เป็นบุคคลต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย”

ถ้าเขียนอย่างนี้ ก็แปลว่าใครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดอยู่ โดนแจ้งความดำเนินคดี แล้วไม่ได้ประกันตัว ก็ต้องพ้นจากสมาชิกภาพทันที นอนห้องขังคืนเดียว เช้ามาต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่


มันประหลาดไหมล่ะ ถ้าคิดให้บ้าๆ แบบพวกชอบใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ใครไปแจ้งความจับ ส.ส.ในคดีอาญา นอกสมัยประชุม แล้วตำรวจหรือศาลไม่ยอมให้ประกันตัว ก็ต้องพ้นสมาชิกภาพพรรคการเมือง ส่งผลให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ต้องเลือกตั้งซ่อมกันระนาว


กรณีของจตุพร ถูกจับและคุมขังตั้งแต่ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง จึงถูกร้องว่าน่าจะขาดจากสมาชิกพรรคตั้งแต่ก่อนสมัคร แต่ กกต.ดูมาตรา 102 ของรัฐธรรมนูญแล้วชี้ว่ามีสิทธิสมัคร โดย กกต.ไม่ได้ดูมาตรา 19 และ 8 พ.ร.บ.พรรคการเมือง ประกอบข้อบังคับพรรคเพื่อไทย กระทั่งบุญยอด สุขถิ่นไทย ไปร้อง (เพราะ กกต.ก็เคยรับสมัคร ก่อแก้ว พิกุลทอง ลงสมัครเลือกตั้งซ่อม แต่ตอนนั้นไม่ยักมีใครโวย)

ถ้าตีความกันเป๊ะๆ แบบเถนกฎหมาย จตุพรก็ต้องขาดจากสมาชิกพรรค และหลุดจาก ส.ส. แต่ก่อนจะตีความอย่างนั้นก็โปรดคิดให้ดีก่อนนะครับ ว่าคุณจะยึดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือยึดข้อบังคับพรรคที่ออกตามกฎหมายลูก

รัฐธรรมนูญมาตรา 102 ตัดมาตรา 100(3) ออกไป ด้วยเจตนารมณ์ที่ป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจกลั่นแกล้งกันระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ฉะนั้น ถ้าผู้สมัครถูกจับกุมคุมขัง แม้ไม่ได้ประกันตัว แต่ถ้ายังไม่มีคำพิพากษาของศาล ก็ไม่ขาดคุณสมบัติ

แต่ถ้า กกต.และศาลรัฐธรรมนูญตีความตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย อ้างว่าใครถูกจับไม่ได้ประกันตัว ติดคุกคืนเดียว พ้นจากสมาชิกพรรคทันที พ้นจากความเป็นผู้สมัคร และพ้นจากความเป็น ส.ส.มันก็จะเป็นการเอาข้อบังคับพรรค และบทบัญญัติกฎหมายลูกมาตรา 19 มาตรา 8 มาลบล้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 102



ต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญมาตรา 131 วรรคห้า ที่บอกว่า “ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี ต้องสั่งปล่อยทันทีถ้าประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกร้องขอ”

เพราะถ้าถูกคุมขังแล้วพ้นจากสมาชิกพรรค พ้นจาก ส.ส.จะต้องมีมาตรานี้ไว้ทำไม ก็ตัดไปเหลือแต่สมาชิกวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญปกป้องทั้งผู้สมัคร และ ส.ส.ต่อให้ถูกคุมขังก็ยังไม่พ้นสมาชิกภาพ แต่ไหง พ.ร.บ.พรรคการเมืองกลับบัญญัติว่าเพียงถูกคุมขังก็พ้นจากสมาชิก ซึ่งมีผลย้อนกลับไปพ้นสภาพ ส.ส.

ถ้าตีความกันแบบนี้ ต่อไปเขตเลือกตั้งแห่งหนึ่งมี นาย ก.กับนาย ข.แข่งกัน นาย ก.เป็นพรรครัฐบาลใช้เส้นสายสั่งตำรวจยัดข้อหานาย ข.แล้วไม่ให้ประกัน แค่นั้นนาย ข.ก็จบเห่

คำว่า “คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” ไม่ใช่เฉพาะหมายศาลนะครับ แต่ตำรวจก็มีอำนาจควบคุมตัว 48 ชั่วโมง แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะตีความว่าขาดจากสมาชิกพรรค


ฉะนั้น กล่าวโดยสรุป ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจตุพรสิ้นสภาพสมาชิกพรรคการเมืองตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย ประกอบมาตรา 20(3) มาตรา 19 และมาตรา 8 พ.ร.บ.พรรคการเมือง รับประกันว่าสนุกแน่ครับ จะมีการเอากฎหมายมาเล่นงานกันทางการเมืองอย่างกว้างขวาง สมมติออเหลิมอยากเล่นงานบุญยอด สุขถิ่นไทย ก็สั่งตำรวจยัดข้อหาเอาเข้าห้องขัง 48 ชั่วโมงแล้วส่งศาลตีความว่าขาดจากสมาชิกพรรค ประชาธิปัตย์จะว่าไง

และถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจตุพรสิ้นสภาพ ไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส.ตั้งแต่แรก พรรคเพื่อไทยก็ควรยื่นถอดถอน กกต.โทษฐานรับรองก่อแก้ว พิกุลทอง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมเมื่อปี 53 ทั้งที่ขาดคุณสมบัติ

แต่ก่อนจะไปถึงตอนนั้น ผมเคยชี้โพรงให้จตุพรแล้วว่า เมื่อคดีขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ จตุพรมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านตุลาการเป็นรายๆ โดยอ้างว่าเป็นคู่พิพาทเคยมีเรื่องขัดแย้งกันส่วนตัว สืบเนื่องจากคดียุบพรรคประชาธิปัตย์และคลิปลับน้องปอย ขุดเรื่องเก่ามาเล่นใหม่ได้อีกรอบ


ใบตองแห้ง
3 ธันวาคม 2554



.