http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-15

เมื่อมากผู้เชี่ยวชาญ ก็มากความ (ด้วยเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน) จาก พิพัฒน์ สุยะ

.
เช่นเดียวกับบทความนี้ . . มีบทความที่สะท้อนความย้อนแย้งdilemma ; >>ปลูกฝัง 'รัก' แต่กลับเกลียดจนฆ่า 'คนที่ไม่รักเหมือนตนเอง 'ได้ เชิญอ่านที่ www.prachatai.com/journal/2011/12/38323 " ความเกลียดชังจากสังคมที่บูชาความรัก โดย ตาวัน รัตนประภาพร "

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


เมื่อมากผู้เชี่ยวชาญ ก็มากความ (คิดเห็น)
โดย พิพัฒน์ สุยะ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
บทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1634 หน้า 89


บ่อยครั้งเมื่อเกิดวิกฤติปัญหาขึ้นมา เรามักจะเรียกหาผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาแก้ปัญหาให้เราเสมอ แต่ก็บ่อยครั้งเช่นกันที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นได้สร้างปัญหาให้กับเรา

ไม่ว่าจะเป็นการมีผู้เชี่ยวชาญมากกว่าสองคนขึ้นไปให้ความเห็นที่แตกต่างกัน หรือการที่วิศวกรให้ความเห็นว่ามีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนในจังหวัดหนึ่ง แต่ชาวบ้านในจังหวัดนั้นบอกว่าไม่สามารถสร้างได้ เพราะถ้าสร้างแล้วจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบริเวณนั้น

หรือการวินิจฉัยโรคและแนวทางการรักษาของแพทย์สองคนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงซึ่งเราไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี

หรือนักรัฐศาสตร์ออกมาอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองได้แตกต่างกันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แล้วเราจะเชื่อใครได้บ้าง

ล่าสุดก็จะเห็นได้จากกรณีอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็จะมีบรรดาผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ที่พาเหรดกันออกมาเสนอความคิดเห็นกันต่างๆ นานา

บางครั้งความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นไม่เพียงแต่จะมีจำนวนมากมายแต่ยังแตกต่างกันไปคนละทิศละทางหรือถึงขั้นสวนทางกันเลยก็มี ไม่ว่าจะเป็นคำอธิบายเรื่องสาเหตุของน้ำท่วม แนวทางการป้องกันและจัดการแก้ไขระบายน้ำ หรือแม้กระทั่ง การใช้อีเอ็มบอลจะมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าหรือไม่นั้นก็ยังเป็นปัญหาว่าจะเชื่อใครได้

คนที่กุมขมับก็คงไม่แคล้วเป็นประชาชนคนทั่วไปอย่างเราๆ ที่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครดี ในเมื่อรัฐบาลก็มีผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลเอง ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสถาบันการศึกษาก็มีมากมายเสียเหลือเกิน ยังไม่นับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานราชการ มูลนิธิ องค์กรเอกชนต่างๆ เมื่อมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหามากมายอย่างนี้

เราจะทำอย่างไร



โดยทั่วไปสิ่งที่มาพร้อมกับฉลาก "ผู้เชี่ยวชาญ" ก็คือความน่าเชื่อถือ

ยิ่งถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีขั้นสูงหรือศาสตร์อื่นๆ ก็ตามอันเป็นความรู้เชิงทฤษฎีที่ซับซ้อน หรือความรู้ที่เป็นเทคนิคเฉพาะทาง คนตัวเล็กตัวน้อยทั่วไปอย่างเรา ตัวก็ยิ่งหดเล็กลงเข้าไปอีก

เพราะฉลาก "ผู้เชี่ยวชาญ" นั้นจะขยายใหญ่ท่วมทับตัวเราจนไม่กล้าขยับทำอะไรได้ และทำให้เราต้องปิดกั้นความคิดของตัวเองไปโดยปริยาย พร้อมกับบริกรรมคาถาว่า "เราไม่รู้จริง ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า" เมื่อเป็นเช่นนี้เราแทบจะไม่สามารถเข้าไปถกเถียงโต้แย้งกับผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นได้เลย

ในปรัชญาวิทยาศาสตร์ ก็มีการถกเถียงเรื่องบทบาทของผู้เชี่ยวชาญกันไว้พอสมควร มีนักปรัชญาวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจคือ นักปรัชญาชาวออสเตรียผู้มีนามว่า พอล คาร์ล ฟายอาร์เบินด์ (Paul Karl Feyerabend : 1924-1994)

ฟายอาร์เบินด์ได้วิพากษ์สถานะของวิทยาศาสตร์ว่าเป็นผู้ผูกขาดความรู้และความจริง ไม่ต่างอะไรจาก ศาสนจักร หรือรัฐ ที่ผ่านมาในอดีต

ที่สำคัญเขายังได้โจมตีทั้งแนวคิดแบบ "ปฏิฐานนิยม" (positivism) และ "เหตุผลนิยม" (rationalism) ที่พยายามที่จะวางแนวทางหรือค้นหาวิธีการทางวิทยาศาสตร์และยึดถือว่าเป็นวิธีการแสวงหาความรู้ที่แน่นอนที่สุดของมนุษย์

เพราะฟายอาร์เบินด์เห็นว่าแท้จริงแล้วไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "วิธีการทางวิทยาศาสตร์" (scientific method)

กล่าวคือ เขาเห็นว่า ในประวัติของวิทยาศาสตร์พิสูจน์ให้เราเห็นชัดว่า การค้นพบความรู้ ทฤษฎีหรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ของนักวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้มีแบบแผนเดียวกันไปเสียทั้งหมด และบางครั้งก็ต้องยอมรับทฤษฎีก่อนที่จะมีการพิสูจน์ด้วยซ้ำ

ภาพของวิทยาศาสตร์จึงมีวิธีการแสวงหาความรู้ที่ไม่ต่างจากการแสวงหาความรู้แบบอื่น

นั่นคือไม่ได้มีความแน่นอนอย่างที่เรามักจะกล่าวอ้างกัน


ในหนังสือ Against Method (1975) ของฟายอาร์เบินด์จึงเสนอภาพของความรู้สำหรับมนุษย์นั้นควรจะ "เป็นอะไรก็ได้" (Anything goes) เพราะว่าสภาวะ "เป็นอะไรก็ได้" นั้นจะกระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้าในการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ ไม่ยึดติดอยู่กับความรู้แบบใดแบบหนึ่งซึ่งนั่นอาจทำให้เราหลงทางหรือไม่สามารถหาทางออกสำหรับมนุษย์ได้

กล่าวให้เห็นภาพมากกว่านั้นก็คือ ฟายอาร์เบินด์จะเห็นว่า ความรู้แบบโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ การแพทย์แผนจีนหรือไทย ภูมิปัญญาชาวบ้าน ฯลฯ ความรู้เหล่านี้ไม่ได้มีสถานะที่ด้อยไปกว่าความรู้แบบวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด

สำหรับฟายอาร์เบินด์นั้น รัฐควรให้สิทธิแก่ความรู้เหล่านั้นได้แสดงถึงศักยภาพให้ถึงที่สุดได้อย่างทัดเทียมกัน และญาณทัศน์ที่เขาเห็นว่าเหมาะสมสำหรับมนุษย์ก็คือการเป็นสิ่งที่ฟายอาร์เบินด์เรียกว่า "นักอนาธิปัตย์ทางญาณวิทยา" (epistemology anarchist)

กล่าวคือ มันไม่มีวิธีการวิทยาแบบใดแบบหนึ่งที่จะเป็นกฎควบคุมความก้าวหน้าหรือการพอกพูนความรู้ของมนุษย์ได้ เพราะสิ่งที่จะกระตุ้นเร้าให้เกิดความก้าวหน้าในการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ก็คือ "อะไรก็ได้"

กล่าวอีกอย่างได้ว่า ไม่มีการแสวงหาความรู้ใดของมนุษย์มีสิทธิหรืออำนาจเหนือกว่าความรู้อีกแบบหนึ่ง



ฟายอาร์เบินด์ในหนังสือ Science in a Free Society (1978) เห็นว่าเราควรแยกวิทยาศาสตร์ออกจากรัฐดังเช่นที่เราทำกับศาสนา เพื่อที่เราจะบรรลุถึงความเป็นมนุษย์อันแท้จริงได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นก็แต่ในสังคมเสรีเท่านั้น

และในสังคมเสรี จารีตต่างๆ ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันและสามารถเข้าถึงศูนย์กลางของอำนาจได้เสมอภาคกัน

แน่นอนว่าวิทยาศาสตร์ก็เป็นจารีตหนึ่งในบรรดาจารีตต่างๆ ที่มีในสังคมเสรี ฟายอาร์เบินด์ยังเห็นว่าวิทยาศาสตร์นั้นคุกคามประชาธิปไตย เพราะว่าวิทยาศาสตร์มักจะสร้างความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ และใช้อำนาจรัฐสถาปนาความรู้ของตนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และมักจะกีดกันความรู้จากจารีตแบบอื่นๆ ออกไปในนามของผู้เชี่ยวชาญ (experts)

โดยปกติ เมื่อผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นหรือเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา เราก็มักจะพร้อมรับข้อเสนอนั้นไปอย่างง่ายดาย

ไม่ว่าจะเป็นข้อวินิจฉัยของแพทย์ในการรักษาความป่วยไข้ของเรา ความเห็นจากวิศวกรในเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การรับรองว่าพืชที่ตัดแต่งพันธุกรรมไม่มีอันตรายจากนักเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ

เพราะความเห็นเหล่านี้ได้รับการเสนอในนามของ "ผู้เชี่ยวชาญ" เสมอ

แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า ในทุกสาขาจะมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก และผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นก็มักจะให้ความเห็นไม่ตรงกัน

หากองค์ความรู้ที่มีความแน่นอน มีวิธีการแสวงหาความรู้ที่ชัดเจนแล้ว ผู้ที่คร่ำหวอดหรือผ่านการฝึกฝนในวิธีการเหล่านั้นมาอย่างดี ก็น่าจะให้ความเห็นเป็นอย่างเดียวกัน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือตรงกันข้าม ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นที่แตกต่างกันออกไป บางครั้งขัดแย้งกันด้วยซ้ำ

นั่นก็เพียงพอแล้วที่เราจะเข้าใจว่าความเห็นของผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ถูกต้องแม่นยำเสมอไป


ฟายอาร์เบินด์เสนอทางออกสำหรับปัญหาของผู้เชี่ยวชาญไว้อย่างน่าสนใจว่า เราควรให้วิทยาศาสตร์ได้รับการควบคุมแบบประชาธิปไตย

วิทยาศาสตร์จะต้องอยู่ภายใต้การกำหนดจากความต้องการของสังคมและชุมชน และเราจะต้องตั้งข้อสงสัยต่อผู้เชี่ยวชาญให้มากที่สุด

การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญนั้นจะได้รับการควบคุมแบบประชาธิปไตยโดยการตัดสินจากคนส่วนใหญ่

แน่นอนว่าผู้เชี่ยวชาญย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็น แต่การตัดสินใจต้องไม่ขึ้นอยู่กับผู้เชี่ยวชาญ หากจะต้องอยู่กับกลุ่มคนที่ได้รับการเลือกขึ้นมาอย่างเป็นประชาธิปไตย

คำถามที่เกิดขึ้นตรงนี้ก็คือ แล้วประชาชนคนทั่วไปอย่างเราจะตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางได้หรือ

ฟายอาร์เบินด์บอกว่าได้ เพราะประชาธิปไตยคือระบอบของคนที่มีเหตุมีผล (rationality) ซึ่งการมีเหตุมีผลนี้จะเกิดจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ

เขายังเห็นต่อไปว่า ความมีเหตุมีผลนี้สำคัญกว่าความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และสำคัญกว่าความก้าวหน้าใดๆ ของวิทยาศาสตร์ เราต้องไตร่ตรองตัดสินว่าเราจะเชื่อถือความรู้ความเชี่ยวชาญต่างๆ นั้นได้มากน้อยแค่ไหน สามารถนำมันมาใช้ได้หรือไม่

ความรู้ความเชี่ยวชาญเหล่านั้นสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับความเป็นมนุษย์อย่างไร ประชาชนคนทั่วไปจึงต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจขั้นพื้นฐานในเรื่องต่างๆ ถึงแม้กระบวนการดังกล่าวนี้จะทำให้ความสำเร็จของการตัดสินใจนั้นล่าช้าออกไปก็ตาม

นอกจากนี้ ฟายอาร์เบินด์ยังเชื่อว่า เราไม่สามารถสรุปได้แน่นอนหรอกว่า ถ้าปล่อยให้ประชาชนคนทั่วไปตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตนเองโดยไม่ให้ผู้เชี่ยวชาญผูกขาดแล้ว เราจะประสบความสำเร็จน้อยลง

เขายังเห็นต่อไปว่า ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องที่สำคัญและส่งผลต่อคนกลุ่มหนึ่งหรือสังคมส่วนใหญ่แล้ว เราจะยิ่งต้องตรวจสอบความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียดทุกแง่มุม และในทุกครั้งที่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย จะต้องไม่ขึ้นอยู่กับผู้เชี่ยวชาญ แต่จะต้องขึ้นอยู่กับประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลจากการตัดสินใจนั้นโดยตรง

ผู้เชี่ยวชาญจึงมีหน้าที่เพียงแค่การเสนอความคิดเห็นหรืออธิบายความรู้เชิงเทคนิคให้เป็นภาษาที่สามารถเข้าใจได้ทั่วไปว่าหากยอมรับข้อเสนอนี้แล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง หากไม่ทำตามจะเกิดผลกระทบอะไรตามมา แล้วมีทางเลือกอื่นๆ หรือไม่

หลังจากนั้น ให้เป็นหน้าที่ของประชาชนเองว่าจะตัดสินอย่างไรกับชีวิตของเขา



อันที่จริง หากเราสังเกตจะพบได้ว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหรือการเสนอคำตอบของผู้เชี่ยวชาญนั้นอยู่บนฐานของทฤษฎีที่ผู้เชี่ยวชาญยึดถือ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็มักจะมีทฤษฎีที่แตกต่างกันออกไป

นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงเป้าหมาย คุณค่าต่างๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นมี

เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงควรให้ความสำคัญหรือผลประโยชน์ด้านอื่นๆ ของสังคมด้วย นอกเหนือจากความชำนาญเฉพาะทางของตน

กล่าวคือ โดยทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญมักจะให้ความสำคัญหรือมุ่งความสนใจไปที่ปัญหาทางเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียว โดยมักจะหลงลืมว่า มนุษย์ยังมีมิติต่างๆ ที่สำคัญสำหรับชีวิตมากไปกว่าการหาทางออกเชิงเทคนิคเท่านั้น

ฉะนั้น ภาพของประชาชนที่รวมกลุ่มกันมารื้อบิ๊กแบ็กหรือคันกั้นน้ำของรัฐบาลที่ดำเนินไปตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หรือปรากฏการณ์ของตัวแทนชุมชนยื่นข้อเสนอมาตรการการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณชุมชนของพวกเขาขึ้นมาเอง

หรือข่าวของบางหมู่บ้านที่น้ำไม่สามารถไหลบ่าเข้ามาท่วมหมู่บ้านของพวกเขาได้เนื่องจากวิธีการที่พวกเขาร่วมกันตกลงคิดค้นขึ้นมา ฯลฯ คงเป็นภาพในฝันที่ฟายอาร์เบินด์ก็คงนึกไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นในสังคมไทย สังคมที่จะไม่ยอมให้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นประกาศิตที่แตะต้องไม่ได้อีกต่อไป

และนั่นย่อมรวมไปถึงการยอมรับความแตกต่างหลากหลายที่อยู่บนพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยอีกด้วย



.